See also ebooksgratis.com: no banners, no cookies, totally FREE.

CLASSICISTRANIERI HOME PAGE - YOUTUBE CHANNEL
Privacy Policy Cookie Policy Terms and Conditions
ประเทศฟินแลนด์ - วิกิพีเดีย

ประเทศฟินแลนด์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

Suomen tasavalta
ซัวเมน ตาซาวัลตา
Republiken Finland
เรพูบลิเคน ฟินลานด์

สาธารณรัฐฟินแลนด์
ธงชาติฟินแลนด์ ตราแผ่นดินของฟินแลนด์
ธงชาติ ตราแผ่นดิน
คำขวัญ: ไม่มี
เพลงชาติ: Maamme (ภาษาฟินแลนด์) / Vårt land (ภาษาสวีเดน)
แผนที่แสดงที่ตั้งของประเทศฟินแลนด์
เมืองหลวง เฮลซิงกิ
60°10′N 24°56′E
เมืองใหญ่สุด เฮลซิงกิ
ภาษาราชการ ภาษาฟินแลนด์ และ ภาษาสวีเดน
รัฐบาล ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
 - ประธานาธิบดี ตาเรีย ฮาโลเนน
 - นายกรัฐมนตรี มัตติ วันฮาเนน
ประกาศเอกราช จากสหภาพโซเวียต
 - ประกาศ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2460 
 - เป็นที่ยอมรับ 3 มกราคม พ.ศ. 2461 
เนื้อที่
 - ทั้งหมด
 
 - พื้นน้ำ (%)
 
338,145 กม.² (อันดับที่ 63)
130,558 ไมล์² 
9.4%
ประชากร
 - 2549 ประมาณ
 - 2543

 - ความหนาแน่น
 
5,274,820[1] (อันดับที่ 112)
5,181,115

16/กม² (อันดับที่ 190)
{{{population_densitymi²}}}/ไมล์² 
GDP (PPP)
 - รวม
 - ต่อประชากร
2548 ค่าประมาณ
171.7 พันล้านดอลลาร์[2] (อันดับที่ 52)
32,800 ดอลลาร์ (อันดับที่ 13)
HDI (2546) 0.941 (อันดับที่ 13) – สูง
สกุลเงิน ยูโร (€ €)1 (EUR)
เขตเวลา
 - ฤดูร้อน (DST)
EET (UTC+2)
EEST (UTC+3)
รหัสอินเทอร์เน็ต .fi2
รหัสโทรศัพท์ +358
1 ก่อนพ.ศ. 2542: มาร์กฟินแลนด์ เงินยูโรเป็นหน่วยเงินของธนาคารตั้งแต่พ.ศ. 2542 มีอยู่ทั่วไปในพ.ศ. 2545
2 มีการใช้.euร่วมกับรัฐสมาชิกสหภาพยุโรปอื่นๆด้วย

ประเทศฟินแลนด์ ( ) หรือสาธารณรัฐฟินแลนด์ (ฟินแลนด์: Suomen tasavalta; สวีเดน: Republiken Finland) เป็นประเทศในกลุ่มนอร์ดิก ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปยุโรป เขตแดนด้านตะวันตกเฉียงใต้จรดทะเลบอลติก ทางด้านใต้จรดอ่าวฟินแลนด์ ทางตะวันตกจรดอ่าวบอทเนีย ประเทศฟินแลนด์มีชายแดนติดกับประเทศสวีเดน นอร์เวย์ และรัสเซีย สำหรับหมู่เกาะโอลันด์ที่อยู่ห่างจากชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้นั้น อยู่ภายใต้การปกครองของฟินแลนด์ แต่เป็นเขตปกครองตนเอง

ฟินแลนด์มีประชากรเพียง 5 ล้านคน ในพื้นที่ 330,000 ตารางกิโลเมตร นับว่ามีประชากรที่เบาบาง แต่มีดัชนีการพัฒนามนุษย์ ตามสถิติของสหประชาชาติ พ.ศ. 2549 อยู่ในลำดับที่ 11[3] ฟินแลนด์เคยเป็นส่วนหนึ่งของสวีเดนหลายศตวรรษ หลังจากนั้นก็อยู่ภายใต้จักรวรรดิรัสเซียจนถึงปี พ.ศ. 2460 ปัจจุบันฟินแลนด์เป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตย

ภาษาฟินแลนด์เป็นหนึ่งในภาษาราชการไม่กี่ภาษาของสหภาพยุโรป ที่ไม่ได้มีต้นกำเนิดเป็นกลุ่มภาษาอินโด-ยูโรเปียน ร่วมกับภาษาเอสโตเนีย ภาษาฮังการี และภาษามอลตา

เนื้อหา

[แก้] ประวัติศาสตร์

[แก้] ยุคก่อนประวัติศาสตร์

หลักฐานทางโบราณคดีบ่งชี้ว่ามีการตั้งถิ่นฐานในดินแดนที่เป็นประเทศฟินแลนด์ปัจจุบัน ย้อนกลับไปได้ถึงราว 8,000 ปีก่อนพุทธกาล ซึ่งเป็นช่วงหลังการสิ้นสุดลงของยุคน้ำแข็ง โดยคนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งอาศัยอยู่น่าจะเป็นพวกล่าสัตว์-เก็บของป่า เริ่มมีการใช้เครื่องปั้นดินเผาในฟินแลนด์ราวเกือบห้าพันปีก่อนพุทธกาล[4] ในช่วงหนึ่งพันปีหลังจากนั้น ปรากฏการติดต่อและแลกเปลี่ยนกับยุโรปตอนเหนือ และเชื่อว่ามีการพูดภาษายูราลิกในฟินแลนด์แล้วในยุคนี้

ตั้งแต่ประมาณ 2,700 ปีก่อนพุทธกาล ดินแดนฟินแลนด์ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากทางใต้ของอ่าวฟินแลนด์ โดยเข้ามาทางตะวันตกเฉียงใต้ของฟินแลนด์ มีหลักฐานของเครื่องปั้นดินเผาที่มีลักษณะเฉพาะ ต่อมาในยุคสำริด พื้นที่ทางชายฝั่งของฟินแลนด์ได้รับอิทธิพลจากสแกนดิเนเวียและยุโรปกลาง ในขณะที่พื้นที่ที่อยู่ห่างจากทะเลเข้าไป ได้รับอิทธิพลการใช้สำริดมาจากทางตะวันออกมากกว่า[5]

ในพุทธศตวรรษที่ 5 พบว่ามีการค้าขายแลกเปลี่ยนกับสแกนดิเนเวียมากขึ้น และการค้นพบวัตถุแบบโรมันจากยุคนี้ด้วย ปรากฏการกล่าวถึงชาวฟินแลนด์ในเอกสารของชาวโรมันในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 7[6]

[แก้] ภายใต้การปกครองของสวีเดน

เชื่อกันว่าจุดเริ่มต้นของความเกี่ยวพันระหว่างสวีเดนกับฟินแลนด์เริ่มต้นในปี พ.ศ. 1698[7] ในสงครามเผยแผ่คริสต์ศาสนา ปลายพุทธศตวรรษที่ 18 เริ่มมีการตั้งเมืองขึ้นในทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศที่โอบู (Åbo) หรือตุรกุ(Turku) โดยตุรกุเป็นหนึ่งในเมืองที่ใหญ่ที่สุดของราชอาณาจักรสวีเดนในยุคนั้น ในช่วงศตวรรษนี้ มีชาวสวีเดนจำนวนมากที่เข้ามาตั้งรกรากบริเวณชายฝั่งทางใต้และตะวันตกเฉียงเหนือ บนหมู่เกาะโอลันด์ และหมู่เกาะอื่น ๆ ใกล้เคียง ซึ่งทำให้ภาษาสวีเดนยังคงเป็นภาษาหลักของภูมิภาคนี้มาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ภาษาสวีเดนได้กลายมาเป็นภาษาของชนชั้นสูงในภาคอื่น ๆ ของฟินแลนด์ในยุคนั้นด้วย

พ.ศ. 2093 กษัตริย์ของสวีเดน สมเด็จพระราชาธิบดีกุสตาฟที่ 1 ได้ทรงก่อตั้งเมืองเฮลซิงกิขึ้นในชื่อ "เฮลซิงฟอร์ส" (Helsingfors)[8] แต่เมืองนี้คงสภาพเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงกว่าสองร้อยปี ชื่อเฮลซิงฟอร์สยังคงเป็นชื่อเมืองเฮลซิงกิในภาษาสวีเดนในปัจจุบัน

ดินแดนฟินแลนด์ถูกยึดครองโดยรัสเซียสองครั้งในพุทธศตวรรษที่ 23

การประชุมรัฐสภาครั้งแรก พ.ศ. 2449
การประชุมรัฐสภาครั้งแรก พ.ศ. 2449

[แก้] ราชรัฐฟินแลนด์ ภายใต้จักรวรรดิรัสเซีย

พ.ศ. 2352 ในช่วงสงครามระหว่างสวีเดนและรัสเซีย กองทัพของจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 1 ก็สามารถยึดดินแดนฟินแลนด์ได้อีกครั้ง ฟินแลนด์ดำรงสถานะเป็นดินแดนปกครองตนเอง ราชรัฐฟินแลนด์ ภายใต้จักรวรรดิรัสเซีย (ฟินแลนด์: Suomen suuriruhtinaskunta; สวีเดน: Storfurstendömet Finland; รัสเซีย: Великое княжество Финляндское) จนกระทั่งถึงการประกาศเอกราชในปี พ.ศ. 2460 ในยุคของราชรัฐฟินแลนด์ ภาษาฟินแลนด์ได้รับความสำคัญมากขึ้นในฟินแลนด์ อันเป็นผลมาจากความเคลื่อนไหวของขบวนการชาตินิยม จนกระทั่งได้รับสถานะเดียวกับภาษาสวีเดนใน พ.ศ. 2435[9] ต่อมาในปี พ.ศ. 2449 ฟินแลนด์เริ่มมีการให้สิทธิเลือกตั้งอย่างเท่าเทียม (ผู้ใหญ่ทุกคนมีสิทธิกันเท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ เพศ หรือสถานะทางสังคม) โดยฟินแลนด์เป็นชาติแรกในโลก ที่ให้สิทธิทั้งการเลือกตั้งและการลงเลือกตั้งแก่สตรี[10]

ทหารเด็กวัยสิบสามปี ของฝ่ายขาวใน สงครามกลางเมือง
ทหารเด็กวัยสิบสามปี ของฝ่ายขาวใน สงครามกลางเมือง

[แก้] หลังการประกาศเอกราช

หลังจากการปฏิวัติบอลเชวิกในรัสเซียประสบความสำเร็จ รัฐสภาของฟินแลนด์ลงมติเห็นชอบในเรื่องการประกาศเอกราชของฟินแลนด์ ในวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2460 และรัฐบาลบอลเชวิกรัสเซีย ยอมรับการประกาศเอกราชในเกือบหนึ่งเดือนถัดมา ซึ่งเยอรมนีและชาติสแกนดิเนเวียอื่น ๆ ก็ยอมรับการประกาศเอกราชตามมาในทันที หลังจากการประกาศเอกราช ฟินแลนด์ก็ตกอยู่ในสภาวะสงครามกลางเมือง โดยเกิดการต่อสู้ระหว่างฝ่าย"ขาว" ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากจักรวรรดิเยอรมนี และฝ่าย"แดง" ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียบอลเชวิก ฝ่ายขาวนั้นประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่มีฐานะค่อนข้างดี มีความเห็นทางการเมืองค่อนไปทางขวา ในขณะที่ฝ่ายแดงส่วนใหญ่ ซึ่งค่อนข้างจะเป็นฝ่ายซ้ายจะเป็นกลุ่มแรงงาน ฝ่ายขาวชนะสงครามนี้ในเวลาต่อมา ก่อตั้งสาธารณรัฐฟินแลนด์เป็นผลสำเร็จ

หลังจากสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง รัฐสภาของฟินแลนด์ ซึ่งไม่มีสมาชิกของพรรคสังคมประชาธิปไตยซึ่งสนับสนุนสาธารณรัฐอยู่เลย ได้ประกาศตั้งราชอาณาจักรฟินแลนด์ขึ้น โดยเลือกเจ้าชายเฟเดอริก ชาลส์ แห่งแฮสส์ของเยอรมนี ขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของฟินแลนด์ แต่เมื่อเยอรมนีแพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ความคิดนี้จึงต้องยกเลิกไป และฟินแลนด์ก็ประกาศเป็นสาธารณรัฐ โดยมีคาร์โล ยุโฮ สโตห์ลเบิร์ก เป็นประธานาธิบดีคนแรก[5]

[แก้] สงครามโลกครั้งที่สอง

เครื่องบินฟอกเกอร์ ดีสิบเอ็ด ของกองทัพอากาศฟินแลนด์ ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง
เครื่องบินฟอกเกอร์ ดีสิบเอ็ด ของกองทัพอากาศฟินแลนด์ ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง

ฟินแลนด์ต่อสู้กับสหภาพโซเวียตสองครั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ในสงครามฤดูหนาว ระหว่างปี พ.ศ. 2482-2483 และสงครามต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. 2484-2487 โดยร่วมมือกับนาซีเยอรมนี (อาณาจักรไรช์ที่สาม) ในยุทธการบาร์บารอสซา ทำให้สหราชอาณาจักรประกาศสงครามกับฟินแลนด์ และฟินแลนด์มีสถานะเป็นประเทศฝ่ายอักษะในสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างไรก็ตาม ฟินแลนด์เปลี่ยนฝ่ายในปี พ.ศ. 2487 เมื่อต่อสู้ขับไล่นาซีเยอรมนีออกจากตอนเหนือของฟินแลนด์ในสงครามแลปแลนด์ หลังจากที่เซ็นสัญญาสงบศึกกับโซเวียต ชาวฟินแลนด์ประมาณ 86,000 คนเสียชีวิตในสงครามสองครั้งกับโซเวียต ในขณะที่อีกห้าหมื่นคนได้รับบาดเจ็บและทุพพลภาพถาวร[11]

[แก้] ยุคหลังสงคราม

จากสนธิสัญญาสันติภาพหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ฟินแลนด์ต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาลให้กับสหภาพโซเวียต รวมถึงเสียดินแดนถึงร้อยละ 12 ของดินแดนทั้งหมด ทำให้ต้องหาที่อยู่ใหม่ให้กับชาวฟินแลนด์ถึง 420,000 คน[11] อย่างไรก็ตาม ฟินแลนด์ไม่เคยถูกครอบครองเลยในช่วงสงคราม โดยเฮลซิงกิเป็นหนึ่งในสามเมืองหลวงของประเทศยุโรปที่เข้าร่วมสงครามที่ไม่ถูกยึดครองโดยฝ่ายศัตรู[11] (อีกสองเมืองคือลอนดอนและมอสโก)

ในยุคสงครามเย็น ฟินแลนด์ได้รับอิทธิพลจากโซเวียตอย่างมาก ฟินแลนด์จ่ายค่าปฏิกรรมสงครามงวดสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 2495 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่เฮลซิงกิเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก ซึ่งช่วยฟื้นฟูกำลังใจของชาวฟินแลนด์หลังสงคราม[5] ปีเดียวกันนี้ ฟินแลนด์และประเทศในคณะมนตรีนอร์ดิกเข้าร่วมเปิดเสรีหนังสือเดินทางในปี โดยอนุญาตให้ประชาชนของชาติสมาชิกข้ามพรมแดนโดยไม่ต้องมีหนังสือเดินทาง (ขณะนั้นฟินแลนด์ยังไม่ได้เข้าร่วมคณะมนตรี) โดยฟินแลนด์เข้าร่วมคณะมนตรีนอร์ดิกในปี พ.ศ. 2498

แม้ว่าฟินแลนด์จะได้อิทธิพลจากโซเวียตเป็นอย่างมาก แต่ก็ยังคงรักษาประชาธิปไตยและเศรษฐกิจระบบตลาดเสรีไว้ได้ ซึ่งต่างจากประเทศส่วนใหญ่ที่อยู่ติดกับสหภาพโซเวียต ความเสียหายจากสงคราม การที่ต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสงครามและผลิตสินค้าเพื่อจ่ายหนี้ให้กับสหภาพโซเวียต ทำให้ฟินแลนด์พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจากกสิกรรมมาเป็นอุตสาหกรรม รวมถึงสร้างระบบสวัสดิการสังคมที่ดีได้ในเวลาไม่กี่สิบปี

หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายลง ฟินแลนด์ก็ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจจากการที่การค้าทวิภาคีจำนวนมหาศาลหายไปอย่างรวดเร็ว ฟินแลนด์ยื่นใบสมัครเข้าร่วมสหภาพยุโรปในปี พ.ศ. 2535 หลังจากที่สวีเดนยื่นไปก่อนหน้านั้นและโซเวียตล่มสลายลง ฟินแลนด์เข้าร่วมสหภาพพร้อมกับสวีเดนและออสเตรียในปี พ.ศ. 2538

[แก้] การเมืองการปกครอง

ฟินแลนด์ปกครองในระบอบสาธารณรัฐ โดยใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน มีรัฐสภา และใช้ระบอบกึ่งประธานาธิบดี ประมุขของประเทศคือประธานาธิบดีมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องของนโยบายต่างประเทศ อำนาจบริหารส่วนใหญ่จะอยู่ที่คณะรัฐมนตรี นำโดยนายกรัฐมนตรี

[แก้] รัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญของประเทศฟินแลนด์ (ฟินแลนด์: Suomen perustuslaki; สวีเดน: Finlands grundlag) ฉบับแรกมีใช้เมื่อ พ.ศ. 2462 ไม่นานหลังจากประกาศอิสรภาพจากรัสเซีย และไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตลอด 50 ปีแรกของการใช้รัฐธรรมนูญ การปฏิรูปรัฐธรรมนูญครั้งสำคัญเริ่มในปี พ.ศ. 2526 หลังจากนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง รวมถึงการเริ่มใช้ระบบเลือกตั้งประธาธิบดีโดยตรง[12]

พ.ศ. 2538 ฟินแลนด์เริ่มตั้งคณะทำงานรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2543 เพื่อศึกษาการปรับปรุงรัฐธรรมนูญ และต่อมาก็ตั้งคณะกรรมการรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2543 เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คณะกรรมการเสร็จสิ้นการทำงานในปี พ.ศ. 2541 ในรูปของร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้น คณะกรรมการกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ทำการพิจารณาร่าง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภาในผ่านการอนุมัติจากประธานาธิบดีของสาธารณรัฐ ในปี พ.ศ. 2542 เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2543 และยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน[13]

ในฟินแลนด์ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญและฝ่ายตุลาการไม่มีอำนาจในการประกาศว่ากฎหมายใดขัดรัฐธรรมนูญ อำนาจในการตีความว่ากฎหมายนั้นสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่อยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภาเท่านั้น[14]

[แก้] ฝ่ายบริหาร

ตาเรีย ฮาโลเนน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของฟินแลนด์
ตาเรีย ฮาโลเนน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของฟินแลนด์

อำนาจบริหารของฟินแลนด์อยู่ที่ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ (ฟินแลนด์: Suomen Tasavallan Presidentti; สวีเดน: Republiken Finlands President) ซึ่งเป็นประมุขของประเทศ และคณะรัฐมนตรี (ฟินแลนด์: Valtioneuvosto; สวีเดน: Statsrådet) ประธานาธิบดีได้รับเลือกโดยตรง ดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 6 ปี มีหน้าที่รับผิดชอบนโยบายต่างประเทศ รับรองกฎหมาย แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีของฟินแลนด์และรัฐมนตรีอื่นๆอย่างเป็นทางการ และดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลังของฟินแลนด์ด้วย อย่างไรก็ตาม กิจการภายในสหภาพยุโรปไม่รวมอยู่ในอำนาจหน้าที่ของประธานาธิบดี แต่เป็นของคณะรัฐมนตรี

ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น จะต้องเป็นชาวฟินแลนด์โดยกำเนิด ในปัจจุบัน ประธานาธิบดีไม่สามารถดำรงตำแหน่งมากกว่าสองสมัย[15] ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือตาเรีย ฮาโลเนน ซึ่งเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศ เริ่มดำรงตำแหน่งในปี พ.ศ. 2543 และได้รับเลือกอีกครั้งในปี 2549

ในคณะรัฐมนตรีจะมีตำแหน่งผู้ตรวจการ (ฟินแลนด์: Oikeuskansleri; สวีเดน: Justitiekanslern) ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ เช่น ประธานาธิบดี คณะรัฐมนตรี รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐการทั่วไป ผู้ตรวจการจะเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีในฐานะสมาชิกที่ไม่มีสิทธิออกเสียง ตำแหน่งนี้และผู้ช่วยแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี[16]

[แก้] ฝ่ายนิติบัญญัติ

อาคารรัฐสภาของฟินแลนด์
อาคารรัฐสภาของฟินแลนด์

รัฐสภาของฟินแลนด์ (ฟินแลนด์: Eduskunta; สวีเดน: Riksdag) เป็นระบบสภาเดี่ยว มีสมาชิก 200 คน ภายใต้รัฐธรรมนูญของฟินแลนด์ รัฐสภามีอำนาจนิติบัญญัติสูงสุด รัฐสภามีหน้าที่ผ่านกฎหมาย กำหนดงบประมาณรัฐ ยอมรับสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และดูแลการดำเนินงานของรัฐบาล รัฐสภาสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถอดถอนคณะรัฐมนตรี และดำเนินการหลังการใช้สิทธิยับยั้ง (วีโต้) ของประธานาธิบดีได้ การตรากฎหมายสามารถเริ่มโดยคณะรัฐมนตรี หรือสมาชิกของรัฐสภา การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาสองครั้ง โดยสภาสองสมัยติดต่อกัน (หมายความว่า เห็นชอบโดยรัฐสภาชุดปัจจุบัน และชุดหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า)[17]

สมาชิกรัฐสภาดำรงตำแหน่งเป็นเวลาสี่ปี การเลือกตั้งในฟินแลนด์จะแบ่งออกเป็น 15 เขตเลือกตั้ง[18] โดยจำนวนสมาชิกสภาของแต่ละเขตขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรในเขตนั้นๆ สมาชิกของแต่ละเขตได้รับเลือกโดยแบ่งตามอัตราส่วนตามระบบบัญชีรายชื่อแบบเปิด หมู่เกาะโอลันด์จะมีตัวแทนในรัฐสภาหนึ่งที่เสมอ โดยทั่วไปการเลือกตั้งจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่สามของเดือนมีนาคม[18]

สมาชิกรัฐสภาประชุมกันที่อาคารรัฐสภา (ฟินแลนด์: Eduskuntatalo; สวีเดน: Riksdagshuset) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเฮลซิงกิ

[แก้] พรรคการเมือง

โปสเตอร์ของพรรคการเมืองต่างๆ ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปปี 2550
โปสเตอร์ของพรรคการเมืองต่างๆ ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปปี 2550

ในยุคแรกๆ พรรคการเมืองของฟินแลนด์นั้นแบ่งตามพื้นฐานทางภาษา และต่อมาตามทัศนคติที่มีต่อความพยายามรวมฟินแลนด์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย[11] การปฏิรูปรัฐสภาในปี พ.ศ. 2449 สร้างระบบพรรคการเมืองสมัยใหม่ให้กับฟินแลนด์

ในฟินแลนด์พรรคฝ่ายซ้าย (สังคมนิยม) ค่อนข้างแข็งแกร่ง พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยแห่งฟินแลนด์ (ฟินแลนด์: Suomen Sosialidemokraattinen Puolue) ได้รับถึง 80 จาก 200 ที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งแรก พรรคนี้ยังคงเป็นหนึ่งในสามพรรคใหญ่ในปัจจุบัน

อีกสองพรรคสำคัญของฟินแลนด์ได้แก่พรรคพันธมิตรแห่งชาติ (ฟินแลนด์: Kansallinen Kokoomus) ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2461 โดยกลุ่มอนุรักษ์นิยม และพรรคกลาง (ฟินแลนด์: Keskusta) หรือในอดีตคือพรรคเกษตรกร (ฟินแลนด์: Maalaisliitto) สำหรับพรรคประชากรสวีเดน (สวีเดน: Svenska folkpartiet) เป็นพรรคเก่าแก่อีกพรรคหนึ่ง ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างสม่ำเสมอจากเขตประชากรที่พูดภาษาสวีเดน

ในช่วงทศวรรษ 2510 และ 2520 เสียงสนับสนุนของพรรคซ้ายจัด (เช่นพรรคคอมมิวนิสต์) เริ่มลดลง เช่นเดียวกับบรรดาพรรคเสรีนิยมหรือพรรคก้าวหน้า พรรคใหม่หลายพรรคเริ่มเข้ามามีบทบาท เช่นพรรคคริสเตียนเดโมแครต พรรคกรีน และพรรคพันธมิตรซ้าย

โดยทั่วไปแล้ว ไม่มีพรรคใดได้เสียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว และจะต้องร่วมมือกับพรรคอื่นในการจัดตั้งรัฐบาลผสม พรรคการเมืองที่มีสมาชิกในรัฐสภาในปัจจุบัน จากการเลือกตั้งในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2550 ได้แก่[19]

ชื่อ ชื่อภาษาฟินแลนด์ ชื่อภาษาสวีเดน จำนวนสมาชิกในรัฐสภา ความเปลี่ยนแปลง
พรรคกลาง Keskusta Centern i Finland
51
-4
พรรคพันธมิตรแห่งชาติ Kansallinen Kokoomus Samlingspartiet
50
+10
พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยแห่งฟินแลนด์ Suomen Sosialidemokraattinen Puolue Finlands Socialdemokratiska Parti
45
-8
พรรคพันธมิตรซ้าย Vasemmistoliitto Vänsterförbundet
17
-2
พรรคกรีน Vihreä liitto Gröna förbundet
15
+1
พรรคประชากรสวีเดน Ruotsalainen kansanpuolue Svenska folkpartiet
9
+1
พรรคคริสเตียนเดโมแครต Kristillisdemokraatit Kristdemokraterna
7
-
พรรคชาวฟินน์รากฐาน Perussuomalaiset Sannfinländarna
5
+2

[แก้] ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

นโยบายการต่างประเทศของฟินแลนด์โดยหลักแล้วมีพื้นฐานอยู่ที่การเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ฟินแลนด์ยังเป็นสมาชิกของคณะมนตรีนอร์ดิก และมีความร่วมมือระหว่างประเทศในกลุ่มนอร์ดิกมาอย่างยาวนาน ฟินแลนด์มีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน สวีเดน นอร์เวย์ รัสเซีย และเอสโตเนีย และไม่มีปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศหรือตามแนวชายแดน ฟินแลนด์วางสถานะเป็นกลางและไม่เข้าร่วมในพันธมิตรทางการทหารใด รวมถึงองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ การค้าระหว่างประเทศมีความสำคัญต่อฟินแลนด์ โดยมีผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศถึงหนึ่งในสาม และฟินแลนด์ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ

[แก้] การแบ่งเขตการปกครอง

[แก้] ชุมชนและภูมิภาค

ฟินแลนด์มีการแบ่งการปกครองเป็นสองระดับ ได้แก่ รัฐ และเทศบาล (ฟินแลนด์: kunta; สวีเดน: kommun) โดยเทศบาลนั้นอยู่ในระดับการปกครองเดียวกับเมือง เว้นแต่ว่าเทศบาลในเขตชนบทจะไม่เรียกว่าเป็นเมือง ในปีพ.ศ. 2550 มีเขตเทศบาลทั้งหมด 416 เขต[20] แม้ว่าทุกเทศบาลจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายของรัฐ แต่จะสามารถกระทำการตัดสินใจเองได้ นั่นหมายความว่า หากการตัดสินใจของสภาเทศบาลไม่ผิดกฎหมายแล้ว ก็จะไม่สามารถขัดได้

เทศบาลต่าง ๆ จะประสานงานกันในระดับอนุภูมิภาค(ฟินแลนด์: seutukunta; สวีเดน: ekonomist region) และภูมิภาค (ฟินแลนด์: maakunta; สวีเดน: landskap) โดยมี 74 อนุภูมิภาคและ 20 ภูมิภาคในฟินแลนด์ อนุภูมิภาคและภูมิภาคปกครองโดยเทศบาลที่เป็นสมาชิก ภูมิภาคโอลันด์มีสภาเทศบาลถาวรที่มาจากการเลือกตั้ง จากการที่เป็นเขตปกครองตนเอง

[แก้] จังหวัด

ฟินแลนด์ยังมีการแบ่งการปกครองออกเป็น 6 จังหวัด (ฟินแลนด์: läänit; สวีเดน: län)และ 90 เขตปกครองท้องถิ่นของรัฐ โดยที่เจ้าหน้าที่จังหวัดเป็นเจ้าหน้าที่แต่งตั้งจากรัฐบาลกลาง การแบ่งจังหวัดนั้นเป็นเรื่องของการปกครองเท่านั้น ไม่ได้สะท้อนการแบ่งเขตทางภาษาและวัฒนธรรมแต่อย่างใด จังหวัดของฟินแลนด์ได้แก่ (เรียงลำดับตามภาพด้านขวา)

  1. ฟินแลนด์ใต้
  2. ฟินแลนด์ตะวันตก
  3. ฟินแลนด์ตะวันออก
  4. โอวลุ
  5. แลปแลนด์ (ลัปปิ)
  6. โอลันด์


[แก้] ภูมิศาสตร์

แผนที่ประเทศฟินแลนด์
แผนที่ประเทศฟินแลนด์

[แก้] ภูมิประเทศ

ทะเลสาบไซมา มีขนาดใหญ่เป็นอันดับห้าของยุโรป
ทะเลสาบไซมา มีขนาดใหญ่เป็นอันดับห้าของยุโรป

ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีทะเลสาบและเกาะเป็นจำนวนมาก โดยมีทะเลสาบถึง 187,888 แห่ง[21][7] (ที่มีเนื้อที่มากกว่า 500 ตารางเมตร) และมีเกาะถึง 179,584 เกาะ[7] โดยทะเลสาบไซมา ซึ่งเป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในฟินแลนด์ เป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับห้าของยุโรป ภูมิประเทศทั่วไปของฟินแลนด์มีลักษณะเป็นที่ราบ ไม่มีภูเขามากนัก จุดสูงสุดของประเทศอยู่ที่ภูเขาฮัลติ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเขตแลปแลนด์ โดยมีความสูง 1,328 เมตร[22] นอกจากทะเลสาบแล้ว พื้นที่ส่วนใหญ่ของฟินแลนด์ปกคลุมด้วยป่าสน และมีพื้นที่เพาะปลูกไม่มากนัก ฟินแลนด์มีเกาะที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ บริเวณหมู่เกาะโอลันด์ และตลอดแนวชายฝั่งทางใต้ในอ่าวฟินแลนด์ ฟินแลนด์เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศของโลกที่ยังคงมีขนาดใหญ่ขึ้น จากการยกตัวของแผ่นดินที่มีผลมาตั้งแต่ยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้าย

[แก้] ภูมิอากาศ

ภูมิอากาศทางตอนใต้ของฟินแลนด์เป็นแบบเขตอบอุ่น ทางตอนเหนือ โดยเฉพาะในเขตจังหวัดแลปแลนด์ มีภูมิอากาศแบบป่าสนหรือกึ่งอาร์กติก ซึ่งโดยทั่วไปจะหนาวเย็น มีฤดูหนาวที่รุนแรงในบางครั้ง และมีฤดูร้อนที่ค่อนข้างอบอุ่นโดยเปรียบเทียบ ฟินแลนด์ได้รับอิทธิพลจากกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมเพราะอยู่ใกล้มหาสมุทรแอตแลนติก ทำให้มีภูมิอากาศที่ค่อนข้างอบอุ่นเมื่อเปรียบเทียบกับละติจูดที่อยู่สูงมาก

เนื้อที่ราวหนึ่งในสี่ของประเทศฟินแลนด์ตั้งอยู่เหนืออาร์กติกเซอร์เคิล ทำให้เกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์เที่ยงคืนได้ ในจุดที่เหนือที่สุดของฟินแลนด์ พระอาทิตย์ไม่ตกดินเป็นเวลา 73 วันในช่วงฤดูร้อน และไม่ขึ้นเลยเป็นเวลา 51 วันในช่วงฤดูหนาว[7][23]

[แก้] เศรษฐกิจและอุตสาหกรรม

[แก้] ภาพรวม

สำนักงานใหญ่ของโนเกียในเมืองเอสโป (Espoo)
สำนักงานใหญ่ของโนเกียในเมืองเอสโป (Espoo)

ในอดีต นโยบายการค้าขายของฟินแลนด์อยู่ในกรอบของการรักษาสัมพันธภาพกับเพื่อนบ้านมหาอำนาจจักรวรรดิรัสเซีย และต่อมา สหภาพโซเวียต ถึงกระนั้นก็ตาม ฟินแลนด์ได้กลายเป็นประเทศที่แผ่ขยายอำนาจทางเศรษฐกิจได้กว้างไกลที่สุดประเทศหนึ่งของโลกในเวลาต่อมา

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ฟินแลนด์พัฒนาไปเป็นประเทศอุตสาหกรรมและเป็นตลาดเสรี ซึ่งมีผลผลิตต่อประชากรสูงไม่ต่างจากเศรษฐกิจในโลกตะวันตกอื่นๆ ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่การผลิตไม้ โลหะ วิศวกรรม โทรคมนาคม และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การค้าระหว่างประเทศของฟินแลนด์มีส่วนมากกว่าหนึ่งในสามของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ[24] นอกจากป่าไม้และแร่ธาตุบางอย่างแล้ว ฟินแลนด์ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบและพลังงาน รวมถึงส่วนประกอบของสินค้าอุตสาหกรรมบางอย่าง ภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของฟินแลนด์คือการบริการ ในขณะที่การผลิตปฐมภูมิมีส่วนเพียงร้อยละ 2.9 ของจีดีพี[25]

เหรียญมาร์กฟินแลนด์ ก่อนที่จะมีการใช้เงินยูโร
เหรียญมาร์กฟินแลนด์ ก่อนที่จะมีการใช้เงินยูโร

พ.ศ. 2534 ฟินแลนด์ประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการสิ้นสุดลงของการค้าขายแบบแลกเปลี่ยนกับสหภาพโซเวียต ก่อนปี 2534 การค้าขายมากกว่าหนึ่งในห้าของฟินแลนด์เกิดขึ้นกับสหภาพโซเวียต[26] ในปี 2534 ฟินแลนด์ลดค่าเงินมาร์กเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ส่งผลให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพมากขึ้น[27] ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำถึงจุดต่ำสุดในปี 2536 จากนั้นก็มีการเจริญเติบโตขึ้นจนถึงปี 2538 ตั้งแต่นั้นมา ฟินแลนด์ก็อยู่ในกลุ่มที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดในประเทศสมาชิก องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี)[28]

เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่ไม่เหมาะสม ทำให้การทำเกษตรกรรมถูกจำกัดอยู่เพียงการผลิตเพื่อเพียงพอต่อการบริโภคเท่านั้น การทำป่าไม้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการส่งออก จึงเป็นอุตสาหกรรมอันดับสองของประเทศ[29] ฟินแลนด์เป็นหนึ่งใน 11 ประเทศที่ร่วมใช้ระบบเงินยูโรในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2542 แทนสกุลเงินมาร์กฟินแลนด์

ฟินแลนด์ได้รับการประกาศให้เป็นประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุดในโลกสามปีติดต่อกัน คือระหว่าง 2546-2548 โดยเวิลด์อิโคโนมิกฟอรั่ม (World Economic Forum)[30][31] ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีความสนใจไปที่การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ[32] กล่าวได้ว่าบริษัทโนเกียของฟินแลนด์เป็นส่วนประกอบสำคัญในสาขาสำคัญของอุตสาหกรรมนี้ นั่นคือภาคโทรคมนาคม

[แก้] การคมนาคม

ท่าอากาศยานเฮลซิงกิ-วันตา
ท่าอากาศยานเฮลซิงกิ-วันตา

จากข้อมูลถึงปี พ.ศ. 2548 ถนนสาธารณะทั้งหมดของประเทศมีความยาว 78,189 กิโลเมตร[33] ทางรถไฟทั้งประเทศมีความยาว 5,741 กิโลเมตร[33] โดยในเฮลซิงกิมีระบบรถไฟในเมือง และในปัจจุบันกำลังมีโครงการสร้างไลท์เรลในเมืองตัมเปเร และตุรกุ ฟินแลนด์มีสนามบิน 148 แห่ง[2]โดยสนามบินที่ใหญ่ที่สุดคือท่าอากาศยานเฮลซิงกิ-วันตา

ระบบรถไฟในฟินแลนด์ให้บริการโดยรัฐวิสาหกิจ "เวแอร" (VR) โดยให้บริการรถไฟเชื่อมต่อเมืองต่างๆทั่วประเทศ เส้นทางรถไฟส่วนใหญ่จะเริ่มต้นหรือสิ้นสุดทางที่สถานีรถไฟกลางเฮลซิงกิ มีบริการรถไฟความเร็วสูงเพนโดลีโน เชื่อมต่อเมืองหลักของประเทศ โดยเฉพาะตัมเปเรและตุรกุ ท่าอากาศยานเฮลซิงกิ-วันตา เป็นประตูสู่เมืองหลักๆของโลกหลายแห่ง โดยมีเที่ยวบินตรงไปยังกรุงเทพฯ ปักกิ่ง เดลี กวางเจา นาโกย่า นิวยอร์ก โอซะกะ เซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง และโตเกียว

[แก้] ประชากร

การแต่งการแบบชาวซามิ
การแต่งการแบบชาวซามิ

ฟินแลนด์มีประชากรประมาณ 5 ล้านคน และมีความหนาแน่นของประชากรอยู่ที่ราว 17 คนต่อตารางกิโลเมตร ประชากรของฟินแลนด์กระจุกตัวอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ ในจังหวัดอูซิมาซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงมีความหนาแน่น 30 คนต่อตารางกิโลเมตร (ในส่วนของตัวเมืองเฮลซิงกิมีความหนาแน่นถึงสามพันคนต่อตารางกิโลเมตร) ในขณะที่ทางตอนเหนือในเขตแลปแลนด์ มีประชากรเพียงสองคนต่อตารางกิโลเมตรเท่านั้น[34] เมืองใหญ่อื่นๆนอกจากในเขตมหานครเฮลซิงกิ (ซึ่งรวมถึงเมืองวันตาและเอสโป) ได้แก่ตัมเปเร ตุรกุ และโอวลุ

[แก้] ภาษา

ร้อยละ 92 ของประชากรฟินแลนด์พูดภาษาฟินแลนด์เป็นภาษาแม่ รองลงมาคือภาษาสวีเดน (ร้อยละ 5.5)[1] ซึ่งสองภาษานี้เป็นภาษาราชการของประเทศ ภาษาอื่นที่มีการพูดการในฟินแลนด์ได้แก่ภาษารัสเซีย และภาษากลุ่มซามิ ภาษาและวัฒนธรรมของชาวซามิ ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองในเขตแลปแลนด์ ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย[35]

[แก้] ศาสนา

มหาวิหารของเมืองมิกเกลิ
มหาวิหารของเมืองมิกเกลิ

ชาวฟินแลนด์ประมาณร้อยละ 83 นับถือศาสนาคริสต์นิกายลูเธอรัน[1][36] และมีส่วนหนึ่ง (ร้อยละ 1.1) นับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกส์ สองนิกายนี้เป็นศาสนาประจำชาติของฟินแลนด์ นอกจากนี้ ศาสนาอื่นๆที่มีนับถือในฟินแลนด์ได้แก่นิกายโปรเตสแทนท์อื่นๆ คาทอลิก อิสลาม และยูดาย นอกเหนือจากประชากรร้อยละ 14.7 ที่ไม่นับถือศาสนาใดๆ อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา (เช่นการเข้าโบสถ์) นั้นน้อยกว่าที่เป็นตามตัวเลขนี้พอสมควร ชาวฟินแลนด์ส่วนใหญ่จะเคยเข้าโบสถ์น้อยครั้งมาก ส่วนใหญ่จะเป็นงานพิธีต่างๆเช่นการแต่งงาน[37]

[แก้] การศึกษา

ระบบการศึกษาของฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับความเสมอภาค โดยไม่มีการเก็บค่าเล่าเรียนสำหรับนักเรียนเต็มเวลา ฟินแลนด์มีการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ตั้งแต่อายุ 7-16 ปี โรงเรียนทุกแห่งจะมีอาหารกลางวันบริการฟรี การเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายไม่บังคับ โดยมีทั้งการเรียนเตรียมอุดมศึกษาสายสามัญ และอาชีวศึกษา และในระดับอุดมศึกษาก็จะมีทั้งมหาวิทยาลัยและโรงเรียนอาชีวศึกษาขั้นสูง จากโครงการเพื่อประเมินศักยภาพเด็กนักเรียนสากลขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ประจำปี พ.ศ. 2549 นักเรียนอายุ 15 ปีของฟินแลนด์นั้นทำคะแนนสูงสุดในด้านความสามารถในด้านวิทยาศาสตร์[38] เวิลด์อิโคโนมิกฟอรัมจัดอันดับการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้เป็นอันดับหนึ่งของโลก[39] ประชากรที่อายุเกิน 15 ปีมีความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ 100 เปอร์เซ็นต์[2]

[แก้] วัฒนธรรม

[แก้] วรรณกรรม

การจารึกตัวอักษรของชาวฟินแลนด์ปรากฏพบเห็นนับแต่ยุคที่มิคาเอล อกริโคลา แปลหนังสือพระคริสต์ธรรมคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาใหม่ไปเป็นภาษาฟินแลนด์ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นยุคก่อตั้งนิกายโปรเตสแตนต์ แต่กลับไม่พบเห็นงานเขียนอื่นๆ มากนักจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 19 เอเลียส เลินน์รูต ได้รวบรวมบทกวีพื้นบ้านของฟินแลนด์และคาเรเลีย เรียบเรียงเข้าด้วยกันและนำเสนอเป็นผลงานชื่อ กาเลวาลา อันเป็นมหากาพย์แห่งชาติของฟินแลนด์ หลังจากยุคนั้นจึงมีกวีและนักเขียนเพิ่มมากขึ้น ที่มีชื่อเสียงเช่น อะเลกซิส กิวิ และ เอย์โน เลย์โน นักเขียนชาวฟินแลนด์ชื่อ ฟรันส์ เอมิล ซิลลันแป ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี พ.ศ. 2482 และเป็นชาวฟินแลนด์ผู้เดียวที่ได้รับรางวัลนี้นับถึงปัจจุบัน[40]

[แก้] ซาวน่า

การซาวน่าแบบฟินแลนด์ เป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมฟินแลนด์ ในฟินแลนด์มีซาวน่าถึงกว่าสองล้านแห่ง[41] เทียบกับจำนวนประชากรห้าล้านคนของประเทศ โดยเฉลี่ยแล้วจะมีซาวน่าหนึ่งแห่งต่อครัวเรือน สำหรับชาวฟินแลนด์แล้ว ซาวน่าเป็นสถานที่สำหรับผ่อนคลายกับครอบครัวและเพื่อนฝูง และผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ

[แก้] อาหาร

พายคาเรเลีย (karjalanpiirakka) เป็นอาหารพื้นบ้านของฟินแลนด์ มีต้นกำเนิดจากเขตคาเรเลียทางตะวันออกของฟินแลนด์
พายคาเรเลีย (karjalanpiirakka) เป็นอาหารพื้นบ้านของฟินแลนด์ มีต้นกำเนิดจากเขตคาเรเลียทางตะวันออกของฟินแลนด์

อาหารฟินแลนด์มักมีลักษณะเรียบง่าย และมักได้รับการกล่าวถึงในด้านความเป็นมิตรต่อสุขภาพ[42][43] ส่วนประกอบที่สำคัญคือปลา เนื้อสัตว์ เบอร์รี และผักต่างๆ ในขณะที่การใช้เครื่องเทศต่างๆมีไม่มากนัก ตัวอย่างอาหารที่สำคัญของฟินแลนด์ที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ได้แก่ ruisleipä (ขนมปังข้าวไรย์ เป็นขนมปังที่มีสีเข้มและมีรสเปรี้ยว[42]) และ karjalanpiirakka (พายคาเรเลีย แป้งกรอบสอดไส้ข้าว) เป็นต้น

[แก้] ดนตรี

คอนเสิร์ตของวงลอร์ดิในกรุงเฮลซิงกิ หลังจากชนะการประกวดเพลงยูโรวิชัน‎
คอนเสิร์ตของวงลอร์ดิในกรุงเฮลซิงกิ หลังจากชนะการประกวดเพลงยูโรวิชัน‎

ดนตรีของฟินแลนด์ได้รับอิทธิพลจากดนตรีดั้งเดิมของคาเรเลีย วัฒนธรรมคาเรเลียเป็นสิ่งสื่อถึงการแสดงออกของตำนานเทพนิยายและความเชื่อของชาวฟินนิก ดนตรีพื้นบ้านของฟินแลนด์ ได้ถูกนำมาทำใหม่โดยวงดนตรีสมัยใหม่ และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของดนตรียอดนิยมในปัจจุบัน ชาวซามิในตอนเหนือของฟินแลนด์มีดนตรีดั้งเดิมของตนเอง

ส่วนหนึ่งของดนตรีฟินแลนด์สมัยใหม่ของฟินแลนด์ที่มีชื่อเสียงคือดนตรีเดธเมทัล เช่นเดียวกับวงดนตรีร็อก นักดนตรีแจ๊ซ และนักแสดงฮิปฮอป ดนตรีที่เป็นที่นิยมของฟินแลนด์ยังรวมไปถึงอุปรากร และดนตรีแดนซ์ วงดนตรีจากฟินแลนด์หลายวงประสบความสำเร็จในวงการดนตรีเฮฟวีเมทัลและดนตรีร็อกของยุโรปและญี่ปุ่น เช่น วงไนท์วิช อะมอร์ฟิส วัลตาริ เป็นต้น พ.ศ. 2548 วงดนตรีลอร์ดิ (Lordi) จากฟินแลนด์ ชนะการประกวดเพลงยูโรวิชัน‎ 2005 โดยเป็นชัยชนะครั้งแรกของฟินแลนด์ตลอดยี่สิบปีที่ส่งประกวด เพลงที่ใช้ในการประกวดคือเพลง"ฮาร์ดร็อกฮัลเลลูยา" (Hard Rock Halleluja)[44]

[แก้] กีฬา

การแข่งขันฟลอร์บอล ระหว่างทีมชาติฟินแลนด์และสวีเดน
การแข่งขันฟลอร์บอล ระหว่างทีมชาติฟินแลนด์และสวีเดน

ประชากรของฟินแลนด์มีความนิยมในกีฬาสูง กีฬาประจำชาติของฟินแลนด์คือ pesäpallo ซึ่งเป็นกีฬาที่มีลักษณะคล้ายเบสบอล[45][46] นอกจากนี้ กีฬาที่ได้รับความนิยมสูง โดยเฉพาะในแง่ของการชมทางโทรทัศน์ ได้แก่กีฬาฮอกกี้น้ำแข็ง และการแข่งรถสูตรหนึ่ง ในอดีต ฟินแลนด์เคยมีชื่อเสียงในเรื่องนักวิ่งระยะกลาง ในกีฬาโอลิมปิก 1924 (พ.ศ. 2467)ที่ปารีส ปาโว นุรมิ คว้าถึงสี่เหรียญทอง[5] ฟินแลนด์เป็นบ้านเกิดของนักกีฬาระดับโลกในปัจจุบันหลายคน เช่น มิกะ แฮกกิเนน กิมิ ไรก์เกอเนน (นักแข่งรถสูตรหนึ่ง) ซามิ ฮูเปีย ยาริ ลิตมาเนน (นักฟุตบอล) นอกจากนี้ยังมีนักกีฬาอีกหลายชนิดที่ประสบความสำเร็จในระดับโลก กีฬาหรือกิจกรรมนันทนาการที่เป็นที่นิยมในฟินแลนด์ได้แก่ ฟลอร์บอล สกี และ sauvakävely (การเดินด้วยแท่งไม้สกี) ฟินแลนด์เคยเป็นเจ้าภาพกีฬากีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในปี พ.ศ. 2495

[แก้] การจัดอันดับนานาชาติ

  • ฟินแลนด์มีดัชนีการพัฒนามนุษย์ พ.ศ. 2549 ของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติอยู่ในลำดับที่ 11 จากทั้งหมด 177 ประเทศ[3]
  • ฟินแลนด์อยู่ในอันดับ 5 จาก 169 ประเทศ ในการจัดอันดับเสรีภาพสื่อขององค์กรนักข่าวไร้พรมแดน ประจำปีพ.ศ. 2550 ก่อนหน้านี้ฟินแลนด์ได้อันดับ 1 ตั้งแต่เริ่มจัดอันดับเมื่อปีพ.ศ. 2545 จนถึงปีพ.ศ. 2549[47]
  • ฟินแลนด์ได้รับอันดับสูงสุดร่วมกับเดนมาร์กและนิวซีแลนด์ ในการจัดอันดับการปลอดคอร์รัปชันโดยองค์กรแทรนส์แพเรนซีอินเตอร์เนชันแนล (Transparency International) ประจำปี พ.ศ. 2550 จากทั้งหมด 183 ประเทศ[48] โดยฟินแลนด์เป็นประเทศที่ได้รับอันดับต้นๆในการจัดอันดับทุกครั้ง
  • จากการจัดอันดับของเวิลด์ออดิต (World Audit) ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีการคอร์รัปชันต่ำสุด และเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในโลก[49]
  • ฟินแลนด์ได้รับอันดับสองในการจัดอันดับประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงสุด โดยเวิลด์อิโคโนมิกฟอรัม (World Economic Forum) ประจำปี 2006-2007[50][51] ก่อนหน้านี้ฟินแลนด์ได้รับอันดับหนึ่งมาสามปีติดต่อกัน[30][31]
  • ฟินแลนด์อยู่ในลำดับที่ 16 จาก 157 ประเทศในดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ โดยเดอะเฮอริทิจฟาวน์เดชันและเดอะวอลล์สตรีตเจอร์นัล[52]
  • ฟินแลนด์อยู่ในอันดับที่หนึ่งของดัชนีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม[1] พ.ศ. 2548 ในการวิจัยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเยลและมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย[53]
  • ฟินแลนด์อยู่ในอันดับที่ 6 ของดัชนีสันติภาพโลก[2] โดย The Economist Intelligence Unit[54]

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ 1.0 1.1 1.2 Population. สำนักงานสถิติฟินแลนด์. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-03-31 (อังกฤษ)
  2. ^ 2.0 2.1 2.2 เวิลด์แฟกต์บุ๊ก เรียกข้อมูลวันที่ 2007-03-31 (อังกฤษ)
  3. ^ 3.0 3.1 Human Development Report 2006. สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-03-31 (อังกฤษ)
  4. ^ Uino, Pirjo. Prehistory. Virtual Finland. กระทรวงการต่างประเทศ ฟินแลนด์. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-03-31 (อังกฤษ)
  5. ^ 5.0 5.1 5.2 5.3 Kirby, David (2006). A Concise History of Finland. Cambridge, UK: Cambridge University Press. ISBN 0-521-53989-7.  (อังกฤษ)
  6. ^ Kallio, Veikko (1994). Finland: A Cultural Outline. Porvoo: WSOY. ISBN 951-0-19421-2.  (อังกฤษ)
  7. ^ 7.0 7.1 7.2 7.3 Finland at a glance. Virtual Finland. กระทรวงการต่างประเทศ ฟินแลนด์. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-03-31 (อังกฤษ)
  8. ^ "Helsinki - History". Encyclopædia Britannica. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-03-31.  (อังกฤษ)
  9. ^ Finnish (suomi). Omniglot.com. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-03-31 (อังกฤษ)
  10. ^ "Finland's trailblazing path for women", บีบีซีนิวส์, 2006-06-01. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-03-31 (อังกฤษ)
  11. ^ 11.0 11.1 11.2 11.3 Zetterberg, Seppo; Malcolm Hicks (1991). Finland After 1917. Helsinki: Otava. ISBN 951-1-11724-6.  (อังกฤษ)
  12. ^ History of the Finnish Parliament. รัฐสภาฟินแลนด์. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-05-30 (อังกฤษ)
  13. ^ Tiitinen, Seppo. Reform of the constitution. Virtual Finland. กระทรวงการต่างประเทศ ฟินแลนด์. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-05-30 (อังกฤษ)
  14. ^ Finland: Politics. K-12. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-05-30 (อังกฤษ)
  15. ^ Election of the President. สำนักงานประธานาธิบดีฟินแลนด์. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-03-31 (อังกฤษ)
  16. ^ The Chancellor of Justice. Oikeuskanslerinvirasto. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-05-30 (อังกฤษ)
  17. ^ Legislative work of Parliament. รัฐสภาฟินแลนด์. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-05-30 (อังกฤษ)
  18. ^ 18.0 18.1 Parliamentary Elections. รัฐสภาฟินแลนด์. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-05-30 (อังกฤษ)
  19. ^ "Finnish General Election 2007- Results by parties", YLE.fi. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-03-31 (อังกฤษ)
  20. ^ Kunnat. Kuntaaliitto. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-05-30 (ฟินแลนด์)
  21. ^ Lakes in Finland. สถาบันสิ่งแวดล้อมฟินแลนด์. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-03-31 (อังกฤษ)
  22. ^ Environment and Natural Resources. สำนักงานสถิติฟินแลนด์. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-03-31 (อังกฤษ)
  23. ^ Heino, Raino. Finland's climate. Virtual Finland. กระทรวงการต่างประเทศ ฟินแลนด์. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-03-31 (อังกฤษ)
  24. ^ Finland in the World Economy. กระทรวงการต่างประเทศฟินแลนด์. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-03-31 (อังกฤษ)
  25. ^ National Accounts. สำนักงานสถิติฟินแลนด์. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-03-31 (อังกฤษ)
  26. ^ "Finland - International trade". National Economies Encyclopedia. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-05-31.  (อังกฤษ)
  27. ^ The growing years of Finland's industrial production. สำนักงานสถิติฟินแลนด์. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-05-31 (อังกฤษ)
  28. ^ Economic Survey of Finland 2004. OECD. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-10-19 (อังกฤษ)
  29. ^ Forest Finland. สถานทูตฟินแลนด์ ลอนดอน. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-05-31 (อังกฤษ)
  30. ^ 30.0 30.1 "Finland beats US competitiveness", BBC News, 2003-10-30. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-05-28 (อังกฤษ)
  31. ^ 31.0 31.1 "ความ​สามารถ​ใน​การแข่งขัน", ผู้​จัดการรายสัปดาห์, 2006-07-20. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-05-28
  32. ^ Sipilä, Kari. A country that innovates. Virtual Finland. กระทรวงการต่างประเทศ ฟินแลนด์. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-03-31 (อังกฤษ)
  33. ^ 33.0 33.1 Transport and Tourism. สำนักงานสถิติฟินแลนด์. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-03-31 (อังกฤษ)
  34. ^ Peltonen, Arvo. The Population in Finland. Virtual Finland. กระทรวงการต่างประเทศ ฟินแลนด์. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-05-31 (อังกฤษ)
  35. ^ Country Reports on Human Rights Practices in Finland. สำนักงานประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (2007-03-06). เรียกข้อมูลวันที่ 2007-05-31 (อังกฤษ)
  36. ^ Kirkon väestötilastot tarkentuneet - Suomalaisista 82,4 prosenttia kuuluu luterilaiseen kirkkoon. คริสตจักรเอวาเจลิคัลลูเธอรันแห่งฟินแลนด์. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-03-31 (ฟินแลนด์)
  37. ^ Finland. International Religious Freedom Report 2004. สำนักงานประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-03-31 (อังกฤษ)
  38. ^ "โออีซีดีเผย เด็กฟินแลนด์เก่งที่สุดในโลก", โพสต์ทูเดย์, 2007-12-05
  39. ^ Finland. Country/Economy Profile. World Economic Forum. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-03-31 (อังกฤษ)
  40. ^ Frans Eemil Sillanpää : The Nobel Prize in Literature 1939. Nobelprize.org. เรียกข้อมูลวันที่ 2008-02-27 (อังกฤษ)
  41. ^ Finnish Sauna. A-Sauna.com. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-03-31 (อังกฤษ)
  42. ^ 42.0 42.1 Finnish Food. SIFCO. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-03-31 (อังกฤษ)
  43. ^ Tanttu, Anna-Maija. The gastronomy of Finland. Virtual Finland. กระทรวงการต่างประเทศ ฟินแลนด์. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-03-31 (อังกฤษ)
  44. ^ "Finland celebrates Eurovision win", BBC News, 2006-05-21. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-03-31 (อังกฤษ)
  45. ^ Introduction to the game. Pesäpalloliitto. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-03-31 (อังกฤษ)
  46. ^ Brady, Joe. On sport in Finland. Virtual Finland. กระทรวงการต่างประเทศ ฟินแลนด์. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-03-31 (อังกฤษ)
  47. ^ Worldwide Press Freedom Index 2007. องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-10-19 (อังกฤษ)
  48. ^ Corruption Perceptions Index 2007. Transparency International. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-10-19 (อังกฤษ)
  49. ^ Finland. World Democracy Profile. World Audit. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-03-31 (อังกฤษ)
  50. ^ "สวิตเซอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และ สวีเดน ติด 3 อันดับแรกประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุดในโลก", ThaiEurope.net, 2006-09-27. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-03-31
  51. ^ "US loses top competitiveness spot", BBC News, 2006-09-26. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-05-28 (อังกฤษ)
  52. ^ Index of Economic Freedom 2007. The Heritage Foundation. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-05-31 (อังกฤษ)
  53. ^ 2005 Environmental Sustainability Index (PDF). เรียกข้อมูลวันที่ 2007-05-31 (อังกฤษ)
  54. ^ Global Peace Index Rankings. The Economist Intelligence Unit. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-10-19 (อังกฤษ)

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

คุณสามารถหาข้อมูลภาษาอังกฤษเกี่ยวกับ ประเทศฟินแลนด์ ได้โดยค้นหาจากโครงการพี่น้องของวิกิพีเดีย:
หาความหมาย จากวิกิพจนานุกรม
หนังสือ จากวิกิตำรา
คำคม จากวิกิคำคม
ข้อมูลต้นฉบับ จากวิกิซอร์ซ
ภาพและสื่อ จากคอมมอนส์
เนื้อหาข่าว จากวิกิข่าว
ฟลิคเกอร์
ฟลิคเกอร์ มีรูปภาพเกี่ยวกับ:
ประเทศฟินแลนด์
Wikitravel
วิกิท่องเที่ยว มีไกด์ท่องเที่ยวภาษาอังกฤษของ: ประเทศฟินแลนด์

ภาษาอื่น


aa - ab - af - ak - als - am - an - ang - ar - arc - as - ast - av - ay - az - ba - bar - bat_smg - bcl - be - be_x_old - bg - bh - bi - bm - bn - bo - bpy - br - bs - bug - bxr - ca - cbk_zam - cdo - ce - ceb - ch - cho - chr - chy - co - cr - crh - cs - csb - cu - cv - cy - da - de - diq - dsb - dv - dz - ee - el - eml - en - eo - es - et - eu - ext - fa - ff - fi - fiu_vro - fj - fo - fr - frp - fur - fy - ga - gan - gd - gl - glk - gn - got - gu - gv - ha - hak - haw - he - hi - hif - ho - hr - hsb - ht - hu - hy - hz - ia - id - ie - ig - ii - ik - ilo - io - is - it - iu - ja - jbo - jv - ka - kaa - kab - kg - ki - kj - kk - kl - km - kn - ko - kr - ks - ksh - ku - kv - kw - ky - la - lad - lb - lbe - lg - li - lij - lmo - ln - lo - lt - lv - map_bms - mdf - mg - mh - mi - mk - ml - mn - mo - mr - mt - mus - my - myv - mzn - na - nah - nap - nds - nds_nl - ne - new - ng - nl - nn - no - nov - nrm - nv - ny - oc - om - or - os - pa - pag - pam - pap - pdc - pi - pih - pl - pms - ps - pt - qu - quality - rm - rmy - rn - ro - roa_rup - roa_tara - ru - rw - sa - sah - sc - scn - sco - sd - se - sg - sh - si - simple - sk - sl - sm - sn - so - sr - srn - ss - st - stq - su - sv - sw - szl - ta - te - tet - tg - th - ti - tk - tl - tlh - tn - to - tpi - tr - ts - tt - tum - tw - ty - udm - ug - uk - ur - uz - ve - vec - vi - vls - vo - wa - war - wo - wuu - xal - xh - yi - yo - za - zea - zh - zh_classical - zh_min_nan - zh_yue - zu -