See also ebooksgratis.com: no banners, no cookies, totally FREE.

CLASSICISTRANIERI HOME PAGE - YOUTUBE CHANNEL
Privacy Policy Cookie Policy Terms and Conditions
สงครามโลกครั้งที่สอง - วิกิพีเดีย

สงครามโลกครั้งที่สอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สงครามโลกครั้งที่สอง
สภาพของเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ หลังการทิ้งระเบิดปรมาณู ในวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1945
วันที่ ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1930 หรือ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 - 2 กันยายน ค.ศ. 1945
สถานที่ ยุโรป, แปซิฟิก, เอเชียอาคเนย์, ตะวันออกกลาง, เมดิเตอร์เรเนียน และแอฟริกา
ผลการรบ ฝ่ายสัมพันธมิตรชนะสงคราม; การก่อตั้งสหประชาชาติ; สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในสงครามเย็น
...ดูเพิ่ม
ผู้ร่วมรบ
ฝ่ายสัมพันธมิตร ฝ่ายอักษะ
ผู้บัญชาการ
ผู้นำฝ่ายสัมพันธมิตร ผู้นำฝ่ายอักษะ
ความสูญเสีย
ทหารเสียชีวิต:
อย่างต่ำ 14,000,000 นาย
พลเรือนเสียชีวิต:
อย่างต่ำ 36,000,000 คน
เสียชีวิตทั้งหมด:
อย่างต่ำ 50,000,000 คน
...ดูเพิ่ม
ทหารเสียชีวิต:
อย่างต่ำ 8,000,000 นาย
พลเรือนเสียชีวิต:
อย่างต่ำ 4,000,000 คน
เสียชีวิตทั้งหมด:
อย่างต่ำ 12,000,000 คน
...ดูเพิ่ม

สงครามโลกครั้งที่สอง (ภาษาอังกฤษ: World War II หรือ Second World War)[1] เป็นความขัดแย้งในวงกว้าง ครอบคลุมทุกทวีปและประเทศส่วนใหญ่ในโลก สามารถแบ่งความขัดแย้งได้เป็นสองภูมิภาค ทวีปเอเชียเริ่มขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1937 (พ.ศ. 2480) ในสงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ส่วนในทวีปยุโรปเริ่มต้นเมื่อ ค.ศ. 1939 (พ.ศ. 2482) จากการรุกรานโปแลนด์ และดำเนินไปจนกระทั่งสิ้นสุดในปี ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488) คาดว่ามีผู้เสียชีวิตในสงครามครั้งนี้มากกว่า 60 ล้านคน นับเป็นสงครามที่ก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตมนุษย์มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ[2]

ผู้เข้าร่วมสงครามแบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายสัมพันธมิตร เดิมประกอบด้วย อังกฤษ ฝรั่งเศสและสหภาพโซเวียต ส่วนฝ่ายตรงข้ามเรียกว่า ฝ่ายอักษะ นำโดย เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ซึ่งนับแล้วได้มีการระดมกำลังทหารทั้งหมดมากกว่า 100 ล้านนาย นับเป็นสงครามที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา และเป็น "สงครามเบ็ดเสร็จ" ซึ่งได้นำทรัพยากรต่าง ๆ ไปใช้ในการสงครามโดยไม่เลือกว่าเป็นของพลเรือนหรือทหาร สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ยังได้ส่งผลกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และวิทยาศาสตร์ของชาติ เพื่อนำไปใช้ในการทำสงคราม ประมาณกันว่าสงครามโลกครั้งนี้มีค่าใช้จ่ายเป็นมูลค่าราวหนึ่งล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามค่าเงินในปี 1944[3][4] ยังผลให้เป็นสงครามที่ใช้เงินทุนและชีวิตมากที่สุดด้วยเช่นกัน

สงครามครั้งนี้ฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับชัยชนะ แต่ว่าชาติตะวันตกในทวีปยุโรปก็อ่อนกำลังลงอย่างมาก ส่งผลให้สหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต กลายเป็นประเทศมหาอำนาจและนำไปสู่สงครามเย็นที่ดำเนินต่อมาอีก 45 ปี สหประชาชาติได้รับการสถาปนาขึ้น ด้วยความหวังว่าจะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งเช่นที่เกิดขึ้นนี้ได้อีก ภายหลังสงครามมีการเคลื่อนไหวในทวีปเอเชียและแอฟริกาเพื่อเรียกร้องเอกราชจากการตกเป็นอาณานิคมของประเทศในยุโรป ขณะเดียวกัน ยุโรปตะวันตกได้พยายามรวมตัวกัน ดังจะเห็นได้จากการก่อตั้งสหภาพยุโรป เป็นต้น[5]

เนื้อหา

[แก้] ภูมิหลัง

ดูเพิ่มที่ เหตุการณ์ภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง, สาเหตุของสงครามโลกครั้งที่สอง, สาธารณรัฐไวมาร์ และ นาซีเยอรมนี

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จักรวรรดิเยอรมันซึ่งเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ได้ถูกบังคับให้ลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายส์[6] เป็นผลให้เยอรมนีต้องจำกัดขนาดกองทัพและการขยายอาณาเขตของตน ทั้งยังต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามเป็นจำนวนมหาศาล ส่วนในรัสเซียนั้น ได้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์ในนามประเทศสหภาพโซเวียต ซึ่งต่อมาไม่นานประเทศนี้ก็อยู่ภายใต้การปกครองของโจเซฟ สตาลิน ที่ประเทศอิตาลี เบนิโต มุสโสลินีได้ยึดอำนาจปกครองประเทศแล้วตั้งตนเป็นผู้เผด็จการฟาสซิสต์ พร้อมให้คำสัญญาต่อประชาชนว่าจะสร้างจักรวรรดิโรมันใหม่[7] ด้านประเทศจีน รัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งได้เริ่มแผนการรวมชาติ เพื่อต่อต้านเหล่าขุนศึกก๊กต่าง ๆ ที่ตั้งตนเป็นอิสระในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษที่ 1920 แต่หลังจากนั้นไม่นาน รัฐบาลจีนกลับต้องเข้าไปพัวพันกับสงครามกลางเมืองเพื่อต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งเป็นพันธมิตรเก่า ขณะที่ในปี ค.ศ. 1931 จักรวรรดิญี่ปุ่นซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากในจีน ได้เพิ่มกำลังทหารในจีนอย่างขนานใหญ่ เพื่อเป็นแผนการขั้นแรกในการเข้าปกครองทั้งทวีปเอเชีย โดยใช้กรณีมุกเดน (Mukden Incident) เป็นสาเหตุในการรุกรานแมนจูเรีย หลังจากนั้นทั้งสองชาติเกิดการรบขนาดย่อยขึ้นหลายครั้ง จนกระทั่งถึงการพักรบตางกู (Tanggu Truce) ในปี ค.ศ. 1933[8]

เดือนมกราคม ค.ศ. 1933 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำพรรคสังคมนิยมชาตินิยมกรรมกรเยอรมัน หรือ พรรคนาซี ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศเยอรมนีและเริ่มเสริมสร้างกำลังทางทหารของประเทศอีกครั้ง[9] สร้างความกังวลให้แก่ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับความสูญเสียจากสงครามครั้งที่แล้วเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับประเทศอิตาลี ที่วิตกกังวลว่าแผนการขยายดินแดนของเยอรมนีนั้น จะกระทบต่อแผนการเดียวกันของฝ่ายตน[10] ฝรั่งเศสจึงยอมให้อิตาลีเข้าแทรกแซงเหตุการณ์ในเอธิโอเปีย ซึ่งอิตาลีต้องการที่จะยึดครองอยู่แล้ว เพื่อรักษาสภาพความเป็นพันธมิตรของทั้งสองชาติ เหตุการณ์เริ่มเลวร้ายยิ่งขึ้นเมื่อถึงช่วงต้นปี ค.ศ. 1935 ซาร์แลนด์ได้ถูกยุบรวมเข้ากับเยอรมนีโดยชอบธรรม และฮิตเลอร์ได้ฉีกสนธิสัญญาแวร์ซายส์โดยการฟื้นฟูกองทัพและเริ่มมีการเกณฑ์ทหารอย่างรวดเร็ว ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และอิตาลีจึงพยายามก่อตั้ง "แนวสเตรซา" (Stresa Front) ขึ้น เพื่อจำกัดการกระทำของฝ่ายเยอรมนี[11] ด้านสหภาพโซเวียตก็วิตกต่อแผนการขยายดินแดนสู่ยุโรปตะวันออกของเยอรมนีเช่นกัน จึงลงเอยกันที่การทำสัญญาช่วยเหลือซึ่งกันและกันทั้งสองฝ่ายกับฝรั่งเศส[12]

การทำสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรดังกล่าวมานี้ไม่มีค่าอะไรมากนัก สนธิสัญญาฝรั่งเศส-โซเวียตในการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันนั้นไม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากจำเป็นจะต้องผ่านการพิจารณาของสันนิบาตชาติก่อนจึงจะมีผลบังคับใช้ได้[13][14] และในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1935 สหราชอาณาจักรได้ทำสนธิสัญญาการเดินเรืออย่างอิสระกับเยอรมนีโดยผ่อนปรนต่อข้อบังคับต่าง ๆ ส่วนชาติที่โดดเดี่ยวอย่างสหรัฐอเมริกาก็เป็นกังวลกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในยุโรปและเอเชีย จึงได้ผ่านรัฐบัญญัติว่าด้วยความเป็นกลาง (Neutrality Act) ในเดือนสิงหาคม[15] ในเดือนตุลาคม อิตาลีได้เข้ารุกรานเอธิโอเปีย จึงถูกโดดเดี่ยวทางการเมืองในเวทีสันนิบาตชาติ โดยเยอรมนีเป็นเพียงชาติเดียวที่สนับสนุนการรุกรานของอิตาลี กลุ่มประเทศพันธมิตรต่างผลักความรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ พร้อมกับการที่อิตาลียกเลิกการคัดค้านเยอรมนีในการยึดครองออสเตรียเป็นรัฐบริวาร[16]

เดือนมีนาคม ค.ศ. 1936 ฮิตเลอร์ได้ส่งกองทัพเข้ายึดครองไรน์แลนด์ อันเป็นการฝ่าฝืนสนธิสัญญาแวร์ซายส์และสนธิสัญญาโลคาร์โนโดยตรง โดยได้รับเสียงสนับสนุนน้อยมากจากกลุ่มประเทศยุโรปอื่น ๆ[17] การกระทำดังกล่าวเป็นแผนการของเยอรมนีในการใช้ความก้าวร้าวต่อประเทศอื่น โดยหวังที่จะต้องการให้ชาติอื่น ๆ ยอมทำการประนีประนอมกับฝ่ายตนเอง เพื่อให้ได้มาซึ่งสันติภาพ เมื่อสงครามกลางเมืองสเปนปะทุขึ้นในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน ทั้งฮิตเลอร์และมุสโสลินีได้ให้ความสนับสนุนแก่จอมพลฟรันซิสโก ฟรังโก ผู้นำฝ่ายฟาสซิสต์ เพื่อต่อต้านรัฐบาลสาธารณรัฐสเปนที่สอง[18] ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต ทั้งสองฝ่ายต่างใช้สงครามครั้งนี้เป็นสนามทดสอบอาวุธและยุทธวิธีในการทำสงครามที่คิดค้นขึ้นใหม่ด้วย[19][8] จนกระทั่งฝ่ายชาตินิยมสเปนได้รับชัยชนะเมื่อต้นปี ค.ศ. 1939

จากความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความพยายามเสริมสร้างความแข็งแกร่งหรือการรวมกลุ่มประเทศขึ้น เยอรมนีได้ร่วมมือกับอิตาลีก่อตั้งแกนโรม-เบอร์ลินขึ้นในเดือนตุลาคม และทำสนธิสัญญาต่อต้านโคมินเทิร์นกับญี่ปุ่นในเดือนถัดมา[8] โดยต่างฝ่ายต่างมีความเห็นตรงกันว่า ลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ สหภาพโซเวียตนั้น เป็นภัยคุกคามต่อตนเอง ซึ่งภายหลังอิตาลีก็ได้เข้าร่วมด้วยในปีต่อมา ในประเทศจีน กองกำลังของพรรคก๊กมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ทำการตกลงหยุดยิงต่อกัน เพื่อร่วมกันสร้างแนวร่วมต่อต้านกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น[20][21]

[แก้] เส้นทางของสงคราม

ดูเพิ่มที่ เส้นเวลาของสงครามโลกครั้งที่สอง

[แก้] สงครามปะทุ

กองทัพญี่ปุ่นในการรบที่เมืองอู่ฮั่น
กองทัพญี่ปุ่นในการรบที่เมืองอู่ฮั่น

กลางปี ค.ศ. 1937 ตามข้อตกลงหยุดยิงที่สะพานมาร์โค โปโล ญี่ป่นเริ่มการรุกรานจีนอย่างเต็มตัว สหภาพโซเวียตได้รีบให้ความช่วยเหลือแก่จีน เพื่อยุติความร่วมมือกับเยอรมนีที่มีอยู่ก่อนหน้า กองทัพญี่ปุ่นได้ผลักดันกองทัพจีนให้ล่าถอย โดยเริ่มจากที่เมืองเซี่ยงไฮ้ และสามารถยึดนานกิง อันเป็นเมืองหลวงในขณะนั้นได้ในเดือนธันวาคม ถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1938 กองทัพจีนสามารถยับยั้งการรุกคืบของกองทัพญี่ปุ่นได้จากเหตุอุทกภัยที่แม่น้ำฮวงโห ในช่วงเวลานี้พวกเขาก็ได้เตรียมการป้องกันที่เมืองอู่ฮั่น แต่ก็ยังถูกตีแตกในเดือนตุลาคม[22] ระหว่างนั้น กองทัพญี่ปุ่นและกองทัพสหภาพโซเวียตได้มีการปะทะกันประปรายที่ทะเลสาบคาซานในช่วงเดือนพฤษภาคม 1939 ต่อมาจึงบานปลายเป็นสงครามตามแนวชายแดนที่ร้ายแรง[23]

ด้านทวีปยุโรป บทบาทของเยอรมนีและอิตาลีเริ่มเด่นชัดขึ้น ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1938 เยอรมนีก็ได้ผนวกเอาออสเตรียเข้ากับอาณาจักรของตน ซึ่งเป็นอีกครั้งเช่นที่ชาติตะวันตกอื่น ๆ มีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้เพียงเล็กน้อย[24] ด้วยความฮึกเหิม ฮิตเลอร์จึงได้เริ่มการอ้างสิทธิครอบครองซูเดเตนแลนด์ ฝรั่งเศสและอังกฤษยินยอมให้เยอรมนียึดครองซูเดนเตแลนด์ได้ โดยแลกกับการหยุดแสวงหาดินแดนเพิ่มเติม แต่เยอรมนีปฏิเสธทันที [25] และในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1939 เยอรมนีก็ได้ครอบครองเชโกสโลวาเกียอย่างสมบูรณ์

นายทหารเยอรมนีและโซเวียตหารือกันระหว่างการรบในโปแลนด์
นายทหารเยอรมนีและโซเวียตหารือกันระหว่างการรบในโปแลนด์

ด้วยความตื่นตัวและด้วยเหตุที่ฮิตเลอร์มีความต้องการยึดครองนครเสรีดานซิก ฝรั่งเศสและอังกฤษจึงรับประกันความเป็นเอกราชของโปแลนด์หากถูกเยอรมนีโจมตี และเมื่ออิตาลีสามารถครอบครองอัลแบเนียได้ในเดือนเมษายน ฝรั่งเศสและอังกฤษก็ให้คำมั่นเช่นเดียวกันนี้แก่โรมาเนียและกรีซด้วย[26] สหภาพโซเวียตได้พยายามเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับอังกฤษและฝรั่งเศสเช่นกัน แต่ทั้งสองชาติก็บอกปฏิเสธ ด้วยความแคลงใจในเจตนาและความสามารถของสหภาพโซเวียต[27] หลังจากการประกันเอกราชโปแลนด์ไม่นานนัก เยอรมนีกับอิตาลีก็ได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรกันภายใต้สนธิสัญญาเหล็ก (Pact of Steel) หลังจากนั้น เยอรมนีกับสหภาพโซเวียตได้สร้างความตกตะลึงให้แก่ชาติมหาอำนาจอื่น ๆ ด้วยการทำกติกาสัญญาไม่รุกรานต่อกัน อันรวมถึงข้อตกลงลับระหว่างทั้งสอง ที่จะแบ่งกันครอบครองโปแลนด์และกลุ่มประเทศในยุโรปตะวันออก[28]

ต้นเดือนกันยายน กองทัพโซเวียตตีกองทัพญี่ปุ่นแตกพ่าย ส่วนกองทัพเยอรมนีเริ่มการรุกรานโปแลนด์ ฝรั่งเศส อังกฤษ และบรรดาประเทศในเครือจักรภพ จึงประกาศสงครามกับเยอรมนี แต่ก็ได้ให้ความช่วยเหลือโปแลนด์เพียงแค่การส่งกองทหารฝรั่งเศสขนาดเล็กเข้าไปปฏิบัติการในซาร์แลนด์เท่านั้น[29] กลางเดือนกันยายน หลังจากทำสัญญาสงบศึกชั่วคราวกับญี่ปุ่นแล้ว สหภาพโซเวียตจึงเริ่มแผนการรุกรานโปแลนด์ของตนเอง[30] ถึงต้นเดือนตุลาคม โปแลนด์จึงถูกแบ่งเป็นเขตยึดครองของทั้งเยอรมนีและสหภาพโซเวียต ระหว่างที่กำลังเกิดการรบในโปแลนด์อยู่นั้น กองทัพญี่ปุ่นก็เปิดฉากการโจมตีเมืองฉางซา ซึ่งเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของจีนเป็นครั้งแรก แต่ก็ถูกตีพ่ายในตอนต้นเดือนตุลาคม[31]

[แก้] ฝ่ายอักษะเคลื่อนทัพ

เชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร หลังการรบในฝรั่งเศส
เชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร หลังการรบในฝรั่งเศส

หลังจากการรบในโปแลนด์ สหภาพโซเวียตก็ได้ส่งกองทัพเข้าไปในเขตบอลติก แต่ก็ถูกต้านทานอย่างหนักในสงครามฤดูหนาวช่วงเดือนพฤศจิกายนปีนั้น และจบลงด้วยสนธิสัญญาสันติภาพมอสโก[32] ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรได้มองว่าสหภาพโซเวียตพยายามจะเข้าสู่สงครามโลกโดยอยู่ฝ่ายเดียวกับเยอรมนี[33] และได้ขับสหภาพโซเวียตออกจากสันนิบาตชาติ[33] และแม้ว่าจีนจะมีอำนาจในการยับยั้งการกระทำดังกล่าว แต่ว่าเพื่อป้องกันให้เกิดความบาดหมางกับประเทศตะวันตกและสหภาพโซเวียตจึงไม่ออกเสียงแทน[33] สหภาพโซเวียตไม่พอใจต่อการตัดสินใจของจีนเป็นอย่างมาก จึงยกเลิกความช่วยเหลือทางการทหารทุกอย่างแก่จีน ในกลางปี 1940 สหภาพโซเวียตก็สามารถยึดครองเขตบอลติกรวมไปถึงสามารถจัดตั้งรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในประเทศบริวารได้สำเร็จ[34]

ในยุโรปตะวันตก อังกฤษได้ส่งทหารของตนเพื่อช่วยฝรั่งเศส แต่มันก็เป็นเพียงสงครามลวงเท่านั้น ในเดือนเมษายน เยอรมนีก็โจมตีเดนมาร์กและนอร์เวย์เพื่อความปลอดภัยในการขนส่งเหล็กและโลหะจากสวีเดน ซึ่งก็ได้รับการต่อต้านจากฝ่ายสัมพันธมิตร เดนมาร์กได้ยอมจำนนอย่างรวดเร็ว และถึงแม้ว่านอร์เวย์จะได้รับความช่วยเหลือจากฝ่ายสัมพันธมิตรแล้ว แต่ก็ถูกเยอรมนีพิชิตใน 2 เดือน[35] และเนื่องจากชาวอังกฤษไม่พอใจต่อผลลของการทัพนอร์เวย์ก็นำไปสู่การเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี จากเนวิลล์ เชมเบอร์แลน เป็นวินสตัน เชอร์ชิลล์ในวันที่ 10 พฤษภาคม[36]

ในวันเดียวกัน กองทัพเยอรมันก็โจมตีฝรั่งเศสและกลุ่มประเทศต่ำ โดยการใช้การโจมตีสายฟ้าแลบติดต่อกันหลายครั้ง ปลายเดือนพฤษภาคม เนเธอร์แลนด์และเบลเยี่ยมก็พ่ายแพ้ อังกฤษจำเป็นต้องถอยร่นออกจากฝรั่งเศสและเสียยุทโธปกรณ์เป็นจำนวนมาก[37] ในวันที่ 10 มิถุนายน อิตาลีโจมตีฝรั่งเศส และประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร[37] 12 วันให้หลังฝรั่งเศสยอมจำนน ฝรั่งเศสจึงถูกแบ่งเป็นเขตยึดครองของเยอรมนีและอิตาลี และรัฐฝรั่งเศสวิชี[38] ตอนต้นของเดือนกรกฎาคม กองทัพเรืออังกฤษก็ทำลายกองทัพเรือฝรั่งเศสในแอลจีเรีย เพื่อป้องกันมิให้กองทัพเยอรมนีนำไปใช้[39]

เครื่องบินทิ้งระเบิดเยอรมัน ระหว่างยุทธการแห่งบริเตน
เครื่องบินทิ้งระเบิดเยอรมัน ระหว่างยุทธการแห่งบริเตน

เมื่อฝรั่งเศสหลุดจากสงคราม ฝ่ายอักษะก็มีกำลังยิ่งขึ้น กองทัพอากาศเยอรมนีเริ่มการรบในยุทธการแห่งบริเตน เพื่อเตรียมการรบภาคพื้นในอังกฤษ (ปฏิบัติการสิงโตทะเล)[40] และประสบความสำเร็จในยุทธการแอตแลนติกจากการจมเรือรบราชนาวีอังกฤษด้วยเรืออู[41] อิตาลีก็เริ่มการปฏิบัติการทางทะเลของตนในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ด้วยการปิดล้อมเมืองมอลต้าในเดือนมิถุนายน และสามารถพิชิตโซมาลิแลนด์ในเดือนสิงหาคม และเปิดฉากการรบในแนวรบทะเลทรายในตอนต้นของเดือนกันยายน ทางด้านญี่ปุ่นก็เพิ่มการปิดล้อมจีนโดยการโจมตีอินโดจีนฝรั่งเศส[42]

ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว ฝ่ายสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นกลางก็ได้ออกมาตรการในการช่วยเหลือจีนและฝ่ายสัมพันธมิตร ในเดือนพฤศจิกายน 1939 สหรัฐอเมริกาก็ขายอาวุธและยานพาหนะจำนวนมากให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร[43] ระหว่างปี 1940 สหรัฐอเมริกาก็สนับสนุนการห้ามขนส่งสินค้า รวมไปถึงน้ำมัน เหล็ก เหล็กกล้า และชิ้นส่วนของเครื่องจักรแก่ญี่ปุ่น[44] และในเดือนกันยายน สหรัฐอเมริกาก็ตกลงขายเรือประจัญบานเพื่อแลกกับฐานทัพเรือโพ้นทะเลกับอังกฤษ[45]

ในตอนปลายเดือนกันยายน เยอรมนี อิตาลีและญี่ปุ่นก็ได้ทำสนธิสัญญาสามฝ่ายรวมตัวกันเป็นฝ่ายอักษะ ด้วยการเตือนของสหรัฐอเมริกา สนธิสัญญาดังกล่าวกำหนดเงื่อนไขซึ่งทุกประเทศ ยกเว้นสหภาพโซเวียต ที่ยังไม่อยู่ในภาวะสงครามและถูกฝ่ายอักษะโจมตีนำไปสู่สงครามกับประเทศทั้งสาม[46] สหภาพโซเวียตยังแสดงโดยนัยว่ามีความสนใจจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาดังกล่าวอีกด้วย โดยในเดือนพฤศจิกายน สหภาพโซเวียตก็ได้ส่งข้อเสนอทางเศรษฐกิจที่เยอรมนีประทับใจมาก[47] ขณะที่เยอรมนียังคงปิดเงียบในตอนแรกและก็ตอบตกลงในตอนหลัง[48] โดยเพิกเฉยต่อสนธิสัญญาดังกล่าว สหรัฐอเมริกายังคงสนับสนุนสหราชอาณาจักรและจีนต่อไป โดยนโยบายให้กู้-ยืม[49] และก็ยังได้สร้างพื้นที่ปลอดภัยแบบหยาบ ๆ มีพื้นที่เป็นครึ่งหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาจะคอยคุ้มกันกองเรือสินค้าของอังกฤษ[50]

ไม่นานหลังจากสนธิสัญญาดังกล่าว โชคก็มิได้เข้าข้างอิตาลีอีก ในเดือนตุลาคม อิตาลีรุกรานกรีซ แต่ภายในไม่กี่วันก็ถูกขับไล่และถูกตีจนต้องถอยร่นเข้าไปในอัลแบเนีย ซึ่งก็ถูกรุกจนมุม[51] หลังจากนั้นไม่นาน ในทวีปแอฟริกา กองทัพกลุ่มประเทศเครือจักรภพอังกฤษก็ได้โจมตีลิเบียในปฏิบัติการเข็มทิศและดินแดนแอฟริกาตะวันออกของอิตาลี ในตอนต้นของปี 1941 เมื่อกองทัพอิตาลีนั้นถูกผลักให้เข้าไปสู่ดินแดนลิเบียโดยกองทัพกลุ่มประเทศเครือจักรภพ นายกรัฐมนตรีเชอร์ชิลล์ก็ได้ออกคำสั่งให้ส่งกองทัพเข้าไปช่วยเหลือกรีซในปฏิบัติการแสงเหลือบ กองทัพเรืออิตาลีได้พบกับความปราชัยครั้งสำคัญ เมื่อราชนาวีอังกฤษสามารถทำลายเรือประจัญบานของอิตาลีไป 3 ลำในยุทธนาวีตารันโต และเรือรบอีกหลายลำระหว่างยุทธนาวีแหลมมะตะปัน[52]

ไม่นานนัก เยอรมนีก็ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออิตาลี ฮิตเลอร์ได้ส่งกองทัพของเขาสู่ลิเบียในปฏิบัติการดอกทานตะวันในเดือนกุมภาพันธ์ และภายในเดือนมีนาคม กองทัพฝ่ายอักษะก็ทำการรุกหนักกับกองทัพของกลุ่มเครือจักรภพที่ลดจำนวนลงไป และภายในหนึ่งเดือน กองทัพเครือจักรภพก็ถูกตีถอยร่นกลับสู่อียิปต์ เว้นแต่ท่าเรือโทบรุค กองทัพเครือจักรภพพยายามจะขับไล่กองทัพอักษะออกไปในปฏิบัติการรวบรัด และอีกครั้งในปฏิบัติการขวานศึกระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน แต่ก็ล้มเหลวทั้งสองครั้ง ตอนต้นของเดือนเมษายน กองทัพเยอรมันก็โจมตีกรีซและยูโกสลาเวีย และในท้ายที่สุด กองทัพสัมพันธมิตรก็ต้องอพยพหลังจากความพ่ายแพ้ในยุทธการเกาะครีตในตอนสิ้นเดือนพฤษภาคม[53]

พลร่มเยอรมันระหว่างการรุกรานเกาะครีต
พลร่มเยอรมันระหว่างการรุกรานเกาะครีต

แต่ในขณะเดียวกัน ฝ่ายสัมพันธมิตรก็ประสบความสำเร็จในช่วงเวลานี้เช่นกัน ในตะวันออกกลาง กองทัพเครือจักรภพก็ได้รับชัยชนะในสงครามอังกฤษ-อิรัก ซึ่งอิรักได้รับการสนับสนุนโดยกองทัพอากาศเยอรมัน ซึ่งมีฐานทัพอากาศในซีเรียในอาณัติฝรั่งเศส[54] จากนั้น ด้วยความช่วยเหลือของขบวนการฝรั่งเศสเสรี ฝ่ายสัมพันธมิตรก็ประสบความสำเร็จในการรบในซีเรียและเลบานอน ในมหาสมุทรแอตแลนติก ประชาชนอังกฤษมีขวัญและกำลังใจเพิ่มขึ้นจากการที่ราชนาวีอังกฤษสามารถจมเรือธงเยอรมัน บิสมาร์กลงสู่ก้นทะเลได้สำเร็จ[55] และที่สำคัญที่สุด กองทัพอากาศอังกฤษสามารถต้านทานการโจมตีของลุควาฟเฟิลในยุทธการบริเตนได้สำเร็จ และฮิตเลอร์ต้องยกเลิกการทิ้งระเบิดเหนือเกาะอังกฤษไป[56]

ในทวีปเอเซีย หลังการรุกของทั้งสองฝ่าย สงครามจีน-ญี่ปุ่นได้ถูกรุกจนมุมในปี 1940 ในเดือนสิงหาคม ปีเดียวกัน คอมมิวนิสต์จีนก็ได้โจมตีจีนกลางในการรุกทหารร้อยกรม และในการแก้แค้น ญี่ปุ่นก็มีมาตรการรุนแรงออกมา นั่นคือ การฆ่าชาวจีนในดินแดนยึดครอง เพื่อลดจำนวนคนและปัจจัยการผลิตของคอมมิวนิสต์จีน[57] และความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนและกองทัพชาตินิยมจีน ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายสิ้นสุดลงอย่างสิ่นเชิงในเดือนมกราคม 1941 อันทำให้ปฏิบัติการทางทหารที่กระทำร่วมกันยุติลงด้วย[58]

ด้วยสถานการณ์ในยุโรปและเอเชียนั้นค่อนข้างมั่นคงแล้ว เยอรมนี ญี่ปุ่นและสหภาพโซเวียตก็ได้ตระเตรียมการ ด้านทางสหภาพโซเวียตนั้นเบื่อหน่ายกับความตึงเครียดที่เพิ่มมาขึ้นจากเยอรมนี และความพยายามของญี่ปุ่นที่จะหาผลประโยชน์จากสงครามในทวีปยุโรป โดยการยึดเอาอาณานิคมของยุโรปในเอเชียอาคเนย์ ขณะที่ญี่ปุ่นและสหภาพโวเวียตก็ได้ตกลงทำสนธิสัญญาความเป็นกลางโซเวียต-ญี่ปุ่นในเดือนเมษายน 1941[59] ตรงกันข้ามกับเยอรมนีที่ตั้งใจอย่างไม่ลดละที่จะวางแผนทำสงครามในสหภาพโซเวียต และระดมพลประชิดชายแดนสหภาพโซเวียต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฟินแลนด์และโรมาเนีย[60]

[แก้] สงครามลุกลามทั่วโลก

ทหารเยอรมันขณะทำการรบในสหภาพโซเวียต
ทหารเยอรมันขณะทำการรบในสหภาพโซเวียต

ปลายเดือนมิถุนายน เยอรมนีรวมไปถึงกลุ่มประเทศฝ่ายอักษะในยุโรปและฟินแลนด์ ได้โจมตีสหภาพโซเวียตในยุทธการบาร์บารอสซา เนื่องจากมีความต้องการในการครอบครองดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาล และแหล่งทรัพยากรในสหภาพโซเวียต อันทำให้เกิดความสูญเสียอย่างหนักต่อทั้งสองฝ่าย กองทัพฝ่ายอักษะประสบชัยชนะหลายครั้ง ต้นเดือนธันวาคม ระหว่างยุทธการมอสโก กองทัพฝ่ายอักษะเกือบจะเข้าพิชิตกรุงมอสโกแล้ว เหลือเพียงสองเมืองหลังแนวหน้าด้านตะวันออก คือ เมืองที่ถูกล้อม เลนินกราดและซาเวสโตปอลที่ยังไม่ถูกพิชิต[61] แต่เมื่อฤดูหนาวอันโหดร้ายในสหภาพโซเวียตมาถึง กองทัพของฝ่ายอักษะก็ต้องหยุดชะงัก[62] และกองทัพโซเวียตก็ทำการโจมตีกลับ โดยใช้กองหนุนที่ระดมมาจากพรมแดนด้านตะวันออกซึ่งติดกับเขตแมนจูกัวของญี่ปุ่น[63]

หลังการโจมตีสหภาพโซเวียตของเยอรมนี สหราชอาณาจักรก็ได้รวบรวมทัพใหม่ ในเดือนกรกฎาคม สหราชอาณาจักรและสหภาพโซเวียตก็ได้รวมตัวกันจัดตั้งพันธมิตรทางทหารในสนธิสัญญาอังกฤษ-โซเวียต[64] และในช่วงเวลาสั้นๆ ระหว่าง อังกฤษ-โซเวียตโจมตีอิหร่านเพื่อรักษาฉนวนเปอร์เซียและแหล่งน้ำมันในอิรัก[65] ในเดือนสิงหาคม สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาได้ร่วมมือกันตั้งกฏบัตรแอตแลนติก[66] และในเดือนพฤศจิกายน กองทัพเครือจักรภพที่ทำการโจมตีโต้กลับในแนวรบทะเลทราย ปฏิบัติการนักรบศักดิ์สิทธิ์ และสามารถตีได้ดินแดนที่เคยถูกยึดครองโดยกองทัพฝ่ายอักษะทั้งหมด[67]

กองทัพอังกฤษยอมจำนนหลังยุทธการสิงคโปร์
กองทัพอังกฤษยอมจำนนหลังยุทธการสิงคโปร์

ในทวีปเอเชีย ญี่ปุ่นได้เตรียมตัวทำสงคราม แผนของกองบัญชาการกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น นั่นคือ การสร้างแนวป้องกันขนาดใหญ่ซึ่งลากยาวผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำสงครามป้องกันประเทศ ขณะแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรในเอเชียอาคเนย์ และเพื่อการป้องกันการเข้าแทรกแซงของภายนอก ญี่ปุ่นจึงพยายามวางแผนที่จะทำลายกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาเป็นแผนขั้นแรก[68] ในการเตรียมการ ญี่ปุ่นได้ครอบครองทางทหารในคาบสมุทรอินโดจีนตอนใต้ในเดือนกรกฎาคม การกระทำของสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรและรัฐบาลของประเทศตะวันตกอื่นๆ ได้ตอบโต้โดยการอายัดทรัพย์สินต่างๆ ของญี่ปุ่น[69] ในวันที่ 7 ธันวาคม ญี่ปุ่นได้โจมตีดินแดนของอังกฤษ เนเธอร์แลนด์และสหรัฐอเมริกา และในเวลาเดียวกันนั้นญี่ปุ่นโจมตีเอเชียอาคเนย์และมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง รวมไปถึงการโจมตีที่เพิร์ล ฮาเบอร์[70]

จากการโจมตีครั้งนี้ ทำให้สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร จีนและฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกประกาศสงครามกับญี่ปุ่นทันที ส่วนทางด้านเยอรมนี อิตาลีและกลุ่มประเทศตามสนธิสัญญาสามฝ่าย ก็ได้ตอบสนองโดยการประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา ในเดือนมกราคม 1942 สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สหภาพโซเวียตและจีน ร่วมด้วยยี่สิบสองรัฐบาลซึ่งเป็นประเทศเล็กหรือเป็นรัฐบาลพลัดถิ่น ได้ร่วมกันก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ รวมไปถึงการรับรองกฏบัตรแอตแลนติก[71] เป็นการสร้างพันธมิตรเพื่อต่อต้านอำนาจของฝ่ายอักษะ แต่สหภาพโซเวียตมิได้ยึดมั่นตามการเปิดเผยใดๆ และการคงความเป็นกลางกับญี่ปุ่น[72] รวมไปถึงการตัดสินใจตามหลักการของตนเพียงฝ่ายเดียว[66]

อำนาจอักษะยังคงสามารถทำการรุกต่อไปได้ ญี่ปุ่นเกือบจะสามารถครอบครองเอเชียอาคเนย์ทั้งหมดได้ โดยมีความสูญเสียเพียงเล็กน้อยในตอนปลายเดือนเมษายน 1942 ญี่ปุ่นยึดพม่าจากอังกฤษ และได้รับนักโทษสงครามฝ่ายสัมพันธมิตรจำนวนมากจากยุทธการฟิลิปปินส์ ยุทธการมาลายา การรบในอินโดเนเซียและยุทธการสิงคโปร์[73] ต่อมา ได้เคลื่อนมาทิ้งระเบิดที่ฐานทัพเรือดาร์วิน และจมเรือรบฝ่ายสัมพันธมิตรอีกหลายแห่งนอกจากที่อ่าว เพิร์ล ฮาเบอร์ แต่ในทะเลจีนใต้ ทะเลชวาและมหาสมุทรอินเดีย[74] แต่ความสำเร็จที่แท้จริงเพียงอย่างเดียวก็คือที่ยุทธการชิงชาครั้งที่สองในตอนต้นของเดือนมกราคม 1942 เท่านั้น[75] และก็ยังถูกทิ้งระเบิดโดยกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ณ กรุงโตเกียวในเดือนเมษายน[76]

ทางด้านเยอรมนีก็สามารถทำการรุกต่อได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากทหารเรือสหรัฐอเมริกาไม่ค่อยมีประสบการณ์จากการบังคับเรือดำนำ กองทัพเรือเยอรมนีสามารถทำลายทรัพยากรฝ่ายสัมพันธมิตรใกล้ชายฝั่งด้านตะวันออกของสหรัฐอเมริกาได้[77] ทางด้านแนวรบทะเลทราย ฝ่ายอักษะได้ทำการบุกอีกครั้งในเดือนมกราคม 1942 เป็นการผลักดันให้กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร (อังกฤษและเครือจักรภพ) กลับไปยังแนวกาซาลาในตอนต้นเดือน[78] ส่วนในแนวรบด้านตะวันออก การตีโต้ของกองทัพโซเวียตได้ยุติลงเมื่อเดือนมีนาคม[79] ทั้งแนวรบทะเลทรายและแนวรบด้านตะวันออก เยอรมนียุติการรบชั่วคราว ซึ่งใช้เวลาเพื่อวางแผนในการโจมตีในครั้งหน้าต่อไป[80][81]

[แก้] จุดเปลี่ยนของสงคราม

เครื่องบินรบอเมริกันขณะโจมตีเรือลาดตระเวนหนักญี่ปุ่นมิกูม่าระหว่างยุทธนาวีมิดเวย์
เครื่องบินรบอเมริกันขณะโจมตีเรือลาดตระเวนหนักญี่ปุ่นมิกูม่าระหว่างยุทธนาวีมิดเวย์

ในตอนต้นเดือนพฤษภาคม ญีปุ่นได้เริ่มวางแผนยึดท่ามอร์ซบี้ในปฏิบัติการโม โดยการทำศึกแบบสะเทินน้ำสะเทินบก เพื่อเป็นการตัดเส้นทางการติดต่อสื่อสารระหว่างสหรัฐอเมริกากับออสเตรเลีย ในขณะที่ฝ่ายสัมพันธมิตรเข้าขัดขวางและโจมตีทัพเรือญี่ปุ่นได้หลังยุทธนาวีทะเลคอรอล และสามารถป้องกันตนเองจากการโจมตีได้[82] โดยแผนต่อไปของญี่ปุ่น - อันเกิดจากการกระตุ้นหลังกรุงโตเกียวถูกทิ้งระเบิด - เป็นการยึดครองหมู่เกาะมิดเวย์เพื่อเป็นการปิดช่องโหว่ในแนวป้องกันทั้วมหาสมุทรแปซิฟิกของญี่ปุ่น และเป็นฐานปฏิบัติการสำหรับแผนขั้นต่อไป รวมไปถึงการทำลายเรือบรรทุกเครื่องบินอเมริกันที่ยังคงเหลืออยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อทำตามแผน ญี่ปุ่นได้ส่งกองทัพไปยึดครองหมู่เกาะอลูเตียน[83] ในต้นเดือนมิถุนายน ญี่ปุ่นก็ได้งัดเอาแผนของตัวเองออกมาใช้แต่ก็ถูกสกัดกั้น เนื่องจากกองทัพสหรัฐอเมริกาสามารถถอดรหัสลับของกองทัพเรือญี่ปุ่นได้เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม กองทัพเรือสหรัฐอเมริกาจึงได้เตรียมตัวรับมือกับการบุกของญีปุ่น และจัดวางกำลังพล รวมไปถึงใช้ความรู้ดังกล่าวจนได้รับชัยชนะเด็ดขาดในยุทธนาวีมิดเวย์เหนือกองทัพเรือญีปุ่น[84] และเนื่องจากกองทัพเรือญี่ปุ่นสูญเสียทรัพยากรสำหรับการรบแบบสะเทินน้ำสะเทินบก ญี่ปุ่นจึงเปลี่ยนเป้าหมายไปทำการรบที่ศึกโคโคดาบนดินแดนปาปัวในความพยายามอีกครั้งหนึ่งในการยึดพอร์ตมอรส์บี้[85] สำหรับฝ่ายอเมริกัน ก็ได้วางแผนที่จะโจมตีครั้งต่อไปในบริเวณหมู่เกาะโซโลมอน โดยเริ่มต้นจากเกาะกัวดาคาแนล อันเป็นก้าวแรกของการเข้ายึดราบูล ซึ่งเป็นฐานทัพเรือหลักของกองทัพญี่ปุ่นในเอเชียอาคเนย์[86] แผนทั้งสองเริ่มต้นขึ้นในเดือนกรกฎาคม แต่ในกลางเดือนกันยายนยุทธการกัวดาคาแนลนั้น ญีปุ่นเป็นฝ่ายได้เปรียบ และกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรในเกาะนิวกินีนั้นได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังออกจากพื้นที่เขตพอร์ต มอร์สบี้ไปยังทางตอนเหนือของเกาะ[87] (ปัจจุบันคือจังหวัดโอโร) กัวดาคาแนลได้กลายเป็นจุดยุทธศาตร์สำคัญสำหรับทั้งสองฝ่าย ทำให้เกิดการเรียกระดมคนและเรือรบมาเป็นจำนวนมากในการรบแบบล้างผลาญ ในตอนต้นของปี 1943 กองทัพญี่ปุ่นก็พ่ายแพ้บนเกาะกัวดาคาแนลและล่าทัพกลับไปในปฏิบัติการคี[88]

ในประเทศพม่า กองทัพเครือจักรภพได้รบในสองปฏิบัติการ หนึ่ง คือการรุกเข้าไปในแคว้นอาระกันระหว่างศึกพม่าในปลายปี 1942 ซึ่งก็ประสบหายนะอย่างร้ายแรง และจำเป็นต้องถอยทัพกลับเข้าสู่อินเดียในเดือนพฤษภาคม 1943[89] และปฏิบัติการที่สอง ก็คือ ปฏิบัติการผืนผ้ายาว ด้านหลังแนวรบของญี่ปุ่นในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเมื่อปลายเดือนเมษายน ก็ได้รับผลที่ไม่น่าไว้วางใจเท่าใดนัก[90]

ทหารโซเวียตสู้รบอย่างโหดร้ายในยุทธการสตาลินกราด
ทหารโซเวียตสู้รบอย่างโหดร้ายในยุทธการสตาลินกราด

ขณะที่เหตุการณ์ในแนวรบด้านตะวันออก กองทัพเยอรมันและพันธมิตรฝ่ายอักษะ ยังคงเอาชนะกองทัพโซเวียตที่ยุทธการคาบสมุทรเคิร์ชและยุทธการคาร์คอฟครั้งที่สอง[91] ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้เปิดฉากรุกหนักในฤดูร้อนในกรณีน้ำเงินในแถบสหภาพโซเวียตตอนใต้ ระหว่างเดือนมิถุนายน 1942 เพื่อยึดครองแหล่งขุดเจาะน้ำมันทุกแห่งในแถบคอเคซัส กองทัพโซเวียตได้ตัดสินใจที่จะตั้งรับที่สตาลินกราด ซึ่งอยู่ในเส้นทางเดินทัพของฝ่ายอักษะพอดี ตอนกลางเดือนพฤศจิกายน กองทัพอักษะเกือบจะพิชิตสตาลินกราดในการรบในเมืองอันขมขื่นได้แล้ว แต่กองทัพโซเวียตก็ทำการตีโต้อย่างหนัก โดยเริ่มจากการล้อมกองทัพเยอรมันที่สตาลินกราดในปฏิบัติการยูเรนัส[92] ตามด้วยการโจมตีสันเขา Rzhev ใกล้กรุงมอสโกในปฏิบัติการมาร์ส แม้ว่าในภายหลังจะปราชัยย่อยยับก็ตาม[93] ในตอนต้นของเดือนกุมภาพันธ์ กองทัพเยอรมันและพันธมิตรฝ่ายอักษะประสบกับความสูญเสียมหาศาล กองทัพเยอรมันในสตาลินกราดถูกบีบบังคับให้ยอมจำนน จึงทำให้แนวรบด้านตะวันออกผลักดันไปยังจุดก่อนการรบในฤดูร้อน กลางเดือนกุมภาพันธ์ 1943 ภายหลังจากการโจมตีโต้กลับของโซเวียตหยุดชะงัก กองทัพเยอรมันได้โจมตีที่ยุทธการคาร์คอฟครั้งที่สาม สร้างเป็นแนวรบที่ยื่นเข้าไปในดินแดนของโซเวียต รอบๆ เมืองเคิร์สก์[94]

ทางด้านทิศตะวันตก ด้วยความวิตกกังวลว่าญี่ปุ่นอาจใช้เกาะมาดากัสการ์ ซึ่งเป็นฐานทัพของวิชี่ฝรั่งเศส กองทัพอังกฤษจึงสั่งดำเนินการโจมตีเกาะมาดากัสการ์ในเดือนพฤษภาคม 1942[95] และทางด้านแนวรบทะเลทรายการโจมตีครั้งล่าสุดของฝ่ายอักษะที่ยุทธการกาซาลา ได้ผลักดันให้กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรให้กลับเข้าสู่อียิปต์ จนกระทั่งการบุกต้องหยุดชะงักในยุทธการเอล อาลาเมนครั้งแรก[96] ระหว่างการรบในช่วงนี้ หน่วยคอมมานโดของฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถทำการโจมตีก่อกวนและทำลายเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ได้ดี และถึงที่สุดที่การปล้นป้อมดิเอปเป[97] ในเดือนสิงหาคม กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถผลักดันแนวรบฝ่ายอักษะให้ถอยไปในยุทธการเอล อาลาเมนครั้งที่สอง และด้วยการสิ้นเปลืองทรัพยากรอย่างสูงลิบ ก็สามารถขนทรัพยากรที่ต้องการไปให้เมืองมอลต้าที่ถูกปิดล้อมเอาไว้ได้ในปฏิบัติการฐานเสาหิน[98] จากนั้น ไม่กี่เดือนหลังจากยุทธการเอล อาลาเมนครั้งที่สองในอียิปต์ สหรัฐอเมริกาได้ยกพลขึ้นบกในทวีปแอฟริกาเหนือซึ่งเป็นการเปิดแนวรบที่สองในปฏิบัติการคบเพลิงซึ่งก็ได้ชัยชนะ[99] ทางด้านอังกฤษและประเทศเครือจักรภพก็เริ่มเคลื่อนทัพไปทางทิศตะวันตกสู่ประเทศลิเบีย[100] ฮิตเลอร์ได้ตอบสนองต่อการเอาใจออกห่างของวีชี่ฝรั่งเศสโดยการออกคำสั่งกรณีแอนตอน[99] แต่กระทรวงทหารเรือของวิชีฝรั่งเศสได้วางแผนจมกองทัพเรือของตนเพื่อมิให้ตกอยู่ในมือของฝ่ายเยอรมนี[101] ขณะที่การตีกระหนาบแบบก้ามปูของฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้กองทัพฝ่ายอักษะต้องถอยร่นไปตั้งรับในตูนิเซีย ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรได้ชัยชนะหลังศึกตูนิเซียเมื่อเดือนพฤษภาคม 1943 ในที่สุด[102]

[แก้] ฝ่ายสัมพันธมิตรตั้งหลักได้

กองทัพสหรัฐอเมริกาพยายามขับไล่กองทัพญี่ปุ่นออกจากหมู่เกาะโซโลมอน
กองทัพสหรัฐอเมริกาพยายามขับไล่กองทัพญี่ปุ่นออกจากหมู่เกาะโซโลมอน

ภายหลังจากศึกบนเกาะกัวดาร์คาแนล ก็เกิดปฏิบัติการทางทหารมากมาย ในเดือนพฤษภาคม 1943 กองทัพอเมริกันถูกส่งออกไปโจมตีกองทัพญี่ปุ่นในศึกหมู่เกาะอลูเตียน[103] และปฏิบัติการหลักในการยึดครองเกาะรอบราบูล เพื่อตัดขาดกำลังสนับสนุน ชื่อว่าปฏิบัติการล้อเกวียน และการแหกช่องโหว่ในแนวป้องกันในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง ศึกหมู่เกาะกิลเบิร์ตและหมู่เกาะมาร์แชล[104] เมื่อสิ้นเดือนมีนาคม 1944 กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรก็สามารถประสบความสำเร็จทั้งในสองปฏิบัตการ และยังสามารถทำลายฐานทัพเรือหลักของกองทัพเรือญี่ปุ่นบิรเวณหมู่เกาะแคโรไลน์ในปฏิบัติการลูกเห็บ เมื่อถึงเดือนเมษายน กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรก็ได้เริ่มศึกเกาะนิวกินีตะวันตก[105]

ทางภาคพื้นทวีปเอเชีย ญี่ป่นได้ออกการโจมตีครั้งใหญ่สองครั้ง ครั้งแรก เริ่มในเดือนมีนาคม 1944 เป็นการโจมตีรัฐอัสลัม ประเทศอินเดีย ปฏิบัติการยู-โก[106] และในไม่นานก็สามารถล้อมตำแหน่งของกองทัพเครือจักรภพได้ที่เมืองอิมพัลและเมืองโคฮีมา[107] อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคม กองทัพญี่ปุ่นอีกแห่งหนึ่งถูกล้อมไว้ที่เมืองมิตจีนาโดยกองทัพจีนซึ่งเข้าโจมตีพม่าตอนเหนือเมื่อปลายปี 1943[108] ส่วนครั้งที่สองเกิดขึ้นในประเทศจีน โดยมีเป้าหมายที่จะทำลายกำลังคนของจีน ให้ความปลอดภัยแก่รางรถไฟระหว่างดินแดนในยึดครองของญี่ปุ่น และตีฐานบินของฝ่ายสัมพันธมิตรกลับคืน ทั้งหมดรวมกันอยู่ในปฏิบัติการไอชิ-โก[109] ส่วนในเดือนมิถุนายน กองทัพญี่ปุ่นสามารถพิชิตมณฑลเหอหนานและเข้าโจมตีฉางชาอีกครั้งในมณฑลหูหนาน[110]

ด้านทะเลเมดิเตอร์เรเนี่ยน กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรได้โจมตีเกาะซิซิลี เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 1943 การโจมตีบนแผ่นดินของอิตาลี่สามารถมาเฉลี่ยกับความล้มเหลวหลายครั้งก่อนหน้าได้ ภายหลังจากการโจมตีเกาะซิซิลีเพียงเวลาไม่นาน ผลปรากฏว่าชนชั้นต่างๆ รวมไปถึงกษัตริย์อิตาลีได้ขับไล่และเข้าจับกุมตัวมุสโสลินี[111] กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรก็ได้เข้าโจมตีแผ่นดินใหญ่อิตาลีเมื่อตอนต้นของเดือนกันยายน ตามด้วยการหย่าศึกระหว่างอิตาลีกับกองทัพสัมพันธมิตร[112] โดยเมื่อหลังจากสนธิสัญญาดังกล่าวถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชนชาวอิตาลีเมื่อวันที่ 8 กันยายน ฮิตเลอร์ได้ตอบสนองโดยการส่งกองทัพเข้าไปช่วยเหลืออิตาลี แต่ปลดอาวุธกองทัพอิตาลี และทำลายอำนาจทางทหารของอิตาลีทั้งหมด[113] จากนั้นก็ได้สร้างแนวป้องกันขึ้นมาหลายชั้นด้วยกัน[114] เมื่อวันที่ 12 กันยายน ฮิตเลอร์ได้ส่งกองกำลังพิเศษเข้าไปช่วยเหลือมุสโสลินี จากนั้นก็ได้สร้างสาธารณรัฐสังคมนิยมอิตาลีขึ้นเป็นรัฐบริวารในการปกครองของเยอรมนนี[115] ทางด้านกองทัพสัมพันธมิตรก็ได้ทะลวงผ่านแนวป้องกันเยอรมันได้จนมาถึงแนวป้องกันหลัก แนวฤดูหนาว เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน[116] ในเดือนมกราคม 1944 กองทัพสัมพันธมิตรได้โจมตีหลายครั้งที่ยุทธการมอนเต คาสสิโน และพยายามตีโอบด้วยการยกพลขึ้นบกที่อันซิโอ จนกระทั่งปลายเดือนพฤษภาคม การโจมตีทั้งสองครั้งประสบความสำเร็จ จากความสูญเสียอย่างหนัก ทำให้กองทัพเยอรมันต้องถอนกำลังออกไป และในวันที่ 4 มิถุนายน โรมก็ตกอยู่ในมือของฝ่ายสัมพันธมิตร[117]

รถถังโซเวียตระหว่างยุทธการเคิร์สก์
รถถังโซเวียตระหว่างยุทธการเคิร์สก์

ทางด้านการรบทางทะเลในมหาสมุทรแอตแลนติก กองทัพเรือเยอรมันประสบความสูญเสียอย่างหนักในเดือนพฤษภาคม 1943 ถูกเรียกว่า "พฤษภาอนธการ" ความสูญเสียกองเรือดำน้ำของฝ่ายเยอรมนี ทำให้การดักทำลายกองทัพเรือฝ่ายสัมพันธมิตรประสบความล้มเหลวเมื่ออีกฝ่ายโต้กลับ[118]

ทางด้านสหภาพโซเวียต ฝ่ายเยอรมนีได้ตระเตรียมแผนการมานานมากในฤดูใบไผลิและฤดูร้อนของปี 1943 สำหรับการบุกเมืองเคิร์สก์ของโซเวียต ส่วนทางด้านฝ่ายโซเวียตเองก็ได้เสริมการป้องกันเมืองอย่างแข็งแกร่ง[119] เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม กองทัพเยอรมันก็พร้อมทำการโจมตีแล้ว แต่ฮิตเลอร์กลับต้องยกเลิกแผนการนี้แม้ว่าจะผ่านไปเพียงเจ็ดวัน[120] หลังจากนั้น สหภาพโซเวียตก็ได้โจมตีกลับครั้งใหญ่ และเมื่อถึงเดือนมิถุนายน 1944 กองทัพโซเวียตก็สามารถขับไล่กองทัพฝ่ายอักษะทั้งหมดออกจากมาตุภูมิโซเวียตได้สำเร็จและยังเคลื่อนทัพไปถึงโรมาเนียด้วยในยุทธการทาร์กูล ฟรูมอส[121]

ในเดือนพฤศจิกายน 1943 แฟรงกลิน รูสเวลล์และวินสตัน เชอร์ชิลล์ ได้เดินทางไปพบกับ เจียง ไค-เช็คระหว่างการประชุมกรุงไคโร และอีกครั้งกับโจเซฟ สตาลินระหว่างการประชุมกรุงเตหะราน และผลจากการประชุมได้ข้อสรุปว่า ฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกจะทำการรบในทวีปยุโรปภายในปี 1944 และสหภาพโซเวียตจะประกาศสงครามกับญี่ปุ่นภายในเวลาสามเดือนหลังจากเยอรมนียอมแพ้เรียบร้อยแล้ว

[แก้] ฝ่ายสัมพันธมิตรรุกคืบ

การยกพลขึ้นบกที่หาดโอมาฮ่าในแคว้นนอร์มังดีระหว่างปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ด
การยกพลขึ้นบกที่หาดโอมาฮ่าในแคว้นนอร์มังดีระหว่างปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ด

เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1944 ฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกได้ยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มังดี และหลังจากดำเนินการกับกองทัพสัมพันธมิตรหลายกองพลในอิตาลีแล้ว จึงรุกเข้าสู่ฝรั่งเศสตอนใต้ในเดือนสิงหาคม [122] จนสามารถปลดปล่อยกรุงปารีสได้ในวันที่ 25 สิงหาคม [123] ต่อมาจนถึงสิ้นปี ค.ศ. 1944 กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรได้ผลักดันให้กองทัพเยอรมันในยุโรปตะวันตกถอยร่นไปเรื่อยๆ ส่วนกองทัพเยอรมันในอิตาลีก็ถูกตีจนถอยร่นไปยังแนวป้องกันสุดท้าย

ที่แนวรบด้านตะวันออก กองทัพโซเวียตได้กระหน่ำโจมตีเป็นชุดอย่างหนักต่อเยอรมนี โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน ไล่ตั้งแต่การบุกฟินแลนด์ เบลารุส ยูเครนและโปแลนด์ตะวันออก โรมาเนีย และฮังการี [124] สหภาพโซเวียตได้รับชัยชนะอย่างใหญ่หลวงจากการโจมตีข้างต้นทั้งหมด พร้อมด้วยการยอมเซ็นสัญญาสงบศึกในการสงบศึกกรุงมอสโกกับสหภาพโซเวียตของ บัลแกเรีย โรมาเนีย รวมไปถึงฟินแลนด์ จากนั้นก็ได้ทำการกระตุ้นให้ขบวนการกู้ชาติโปแลนด์ก่อการลุกฮือในโปแลนด์ขึ้น โดยเกิดการรบครั้งใหญ่ที่สุดในกรุงวอร์ซอว์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสหภาพโซเวียตปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือ ทำให้ขบวนการกู้ชาติของโปแลนด์ถูกฝ่ายเยอรมันปราบปรามลงได้ [125]

ถึงต้นเดือนกรกฎาคม กองทัพเครือจักรภพ ซึ่งตั้งมั่นอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถคลายวงล้อมของกองทัพญี่ป่นที่รัฐอัสลัมลงได้ และสามารถผลักดันให้กองทัพญี่ปุ่นถอยไปได้จนถึงแม่น้ำชินด์วินด์ [126] ขณะที่กองทัพจีนสามารถยึดเมืองมิตจีนาในประเทศพม่าได้ ส่วนทางด้านประเทศจีน กองทัพญี่ปุ่นเริ่มได้รับชัยชนะอย่างมาก จากการยึดเมืองฉางชาไว้ได้ในที่สุดในตอนกลางเดือนมิถุนายน และยึดเมืองเหิงหยางได้เมื่อต้นเดือนสิงหาคม จากนั้นจึงได้เคลื่อนทัพต่อไปยังมณฑลกวางสี สามารถเอาชนะกองกำลังหลักของจีนได้ที่กุ้ยหลินและหลิวโจวเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน [127] และประสบความสำเร็จในการเชื่อมต่อกองทัพญี่ปุ่นในจีนและในคาบสมุทรอินโดจีนในกลางเดือนธันวาคม [128]

ด้านสมรภูมิมหาสมุทรแปซิฟิก กองทัพอเมริกันยังคงกดดันแนวป้องกันของญี่ปุ่นตามหมู่เกาะต่างๆ ต่อไป กลางเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1944 กองทัพอเมริกันได้ทำการโจมตีหมู่เกาะมาเรียน่าและปาเลา และได้รับชัยชนะเด็ดขาดต่อจักรพรรดินาวีญี่ปุ่นในยุทธนาวีทะเลฟิลิปปินส์ภายในเวลาไม่กี่วันตอน ปลายเดือนตุลาคมกองทัพอเมริกันยกพลขึ้นบกที่เกาะเลเต และหลังจากนั้นไม่นาน กองทัพเรือของสัมพันธมิตรก็ได้รับชัยชนะครั้งใหญ่ต่อกองทัพญี่ปุ่นอีกครั้งในยุทธนาวีอ่าวเลเต [129]

[แก้] ฝ่ายอักษะล่มสลาย ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ชัย

ทหารอเมริกันพบกับทหารโซเวียตทางตะวันออกของแม่น้ำเอลเบ้
ทหารอเมริกันพบกับทหารโซเวียตทางตะวันออกของแม่น้ำเอลเบ้

วันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1944 กองทัพเยอรมันทำการตีโต้ที่ป่าอาร์เดนเนอร์กับฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตก ซึ่งกินเวลาไปหกสัปดาห์จนกระทั่งกองทัพเยอรมันถูกตีจนพ่ายแพ้กลับไป ส่วนในแนวรบด้านตะวันออก กองทัพโซเวียตโจมตีถึงฮังการี และกองทัพเยอรมันจำเป็นต้องทิ้งกรีซและยูโกสลาเวีย ขณะที่ในอิตาลี กองทัพสัมพันธมิตรยังคงยันกัน ไม่สามารถตีผ่านแนวป้องกันของเยอรมันได้

กลางเดือนมกราคม ค.ศ. 1945 สหภาพโซเวียตโจมตีโปแลนด์ สามารถผลักดันกองทัพเยอรมันจากแม่น้ำวิซตูล่าถึงแม่น้ำโอเดอร์ และยึดครองปรัสเซียตะวันออก [130]

4 กุมภาพันธ์ ผู้นำของสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสหภาพโซเวียต ได้เข้าร่วมการประชุมที่ยอลต้า ซึ่งได้ข้อสรุปถึงการแบ่งปันดินแดนของเยอรมนีภายหลังสงคราม [131] และกำหนดเวลาที่สหภาพโซเวียตจะเข้าโจมตีญี่ปุ่น [132]

ในเดือนกุมภาพันธ์ กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกได้เข้าสู่แผ่นดินของเยอรมนีและเข้าประชิดแม่น้ำไรน์ ขณะที่กองทัพโซเวียตโจมตีโพเมอราเนียตะวันออก ถึงเดือนมีนาคม กองทัพสัมพันธมิตรตะวันตกได้ข้ามแม่น้ำไรน์ทั้งทางเหนือและทางใต้ของแคว้นไรน์-รูร์ และสามารถล้อมกองทัพเยอรมันขนาดใหญ่ไว้ในกระเป๋าแห่งรูร์ ส่วนด้านกองทัพโซเวียตสามารถรุกเข้าถึงกรุงเวียนนา ในที่สุดกองทัพสัมพันธมิตรตะวันดกก็สามารถตีฝ่าแนวป้องกันของเยอรมันได้ และกวาดมาจากเยอรมนีตะวันตกในตอนต้นของเดือนเมษายน ค.ศ.1945 ขณะที่ปลายเดือนเดียวกัน กองทัพโซเวียตเข้าถล่มกรุงเบอร์ลิน กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกและกองทัพสหภาพโซเวียตได้มาบรรจบกันเมื่อวันที่ 26 เมษายน

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 12 เมษายน ประธานาธิบดีแฟรงกลิน รูสเวลล์ถึงแก่อสัญกรรม ผู้ที่มารับตำแหน่งต่อก็คือ แฮร์รี เอส. ทรูแมน ขณะที่เบนิโต มุสโสลินีถูกสังหารโดยขบวนการกู้ชาติอิตาลีในวันที่ 28 เมษายน [133] และอีกสองวันให้หลังฮิตเลอร์ก็ยิงตัวตาย[134] กองทัพเยอรมันในอิตาลีได้ยอมแพ้ในวันที่ 29 เมษายน ส่วนเยอรมนียอมแพ้เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ซึ่งได้ถือว่าเป็นวันแห่งชัยชนะในทวีปยุโรป [135]

ระเบิดปรมาณูซึ่งถูกทิ้งที่เมืองนางาซากิ
ระเบิดปรมาณูซึ่งถูกทิ้งที่เมืองนางาซากิ

ทางด้านมหาสมุทรแปซิฟิก กองทัพสหรัฐอเมริกาได้รุกเข้าสู่ฟิลิปปินส์ หลังจากได้ชัยในเกาะเลเตเมื่อปลายปี 1944 จากนั้นก็ยกพลขึ้นบกที่ลูซอนเมื่อเดือนมกราคม 1945 และที่เกาะมินดาเนาเมื่อเดือนมีนาคม [136] ขณะที่กองทัพผสมอังกฤษและจีนสามารถเอาชนะกองทัพญี่ปุ่นได้ในพม่าตอนเหนือ ตั้งแต่เดือนตุลาคมจนถึงเดือนมีนาคม จากนั้นก็รุกถึงเมืองย่างกุ้งในวันที่ 3 พฤษภาคม [137]

กองทัพอเมริกันยังคงมุ่งหน้าเข้าสู่ญี่ปุ่น สามารถยึดเกาะอิโวจิมาในเดือนมีนาคม และเกาะโอกินาวาในเดือนมิถุนายน [138] ขณะที่เครื่องบินทิ้งระเบิดของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาได้ทำลายเมืองต่างๆ ของญี่ป่น และเรือดำน้ำอเมริกันก็เข้าปิดล้อมเกาะญี่ปุ่น ทำให้เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคมในญี่ปุ่น [139] แต่เหล่าผู้นำของญี่ปุ่นได้ตัดสินใจที่จะสู้ต่อไป และหวังว่าความพ่ายแพ้อันนองเลือดจะเกิดแก่กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร และจากนั้นก็จะจบลงด้วยการเจรจาสันติภาพ

วันที่ 11 กรกฎาคม เหล่าผู้นำของฝ่ายสัมพันธมิตรได้เข้าประชุมกันที่เมืองพอตสดัม ประเทศเยอรมนี ได้ข้อสรุปว่าที่ประชุมให้การรับรองเกี่ยวกับข้อตกลงต่างๆ กับเยอรมนี [140] และย้ำถึงความจำเป็นของญี่ปุ่นที่จะต้องยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำกล่าวในตอนต้นว่า "อีกทางเลือกหนึ่งของญี่ปุ่นก็คือหายนะเหลือแสน" ("the alternative for Japan is prompt and utter destruction") [141] ภายหลังจากการประชุมนี้ สหราชอาณาจักรได้มีการเลือกตั้งทั่วไปปี 1945 และคลีเมนต์ แอตลีย์ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรแทน วินสตัน เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีคนเดิม

ญี่ปุ่นได้ปฏิเสธข้อเสนอที่พอตสดัม สหรัฐอเมริกาจึงตัดสินใจทิ้งระเบิดปรมาณูทั้งสองลูกบนแผ่นดินญี่ปุ่น ที่เมืองฮิโรชิมา (6 สิงหาคม) และเมืองนางาซากิ (9 สิงหาคม) ด้านสหภาพโซเวียตก็ประกาศสงครามกับญี่ปุ่น และโจมตีแมนจูเรียของญี่ปุ่นระหว่างปฏิบัติการพายุสิงหาคมในวันที 8 สิงหาคม ซึ่งเป็นผลมาจากการประชุมที่ยอลต้า เนื่องจากญี่ปุ่นเกรงกลัวต่ออำนาจของสหภาพโซเวียต ญี่ปุ่นจึงตัดสินใจยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข ในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1945 หลังจากนั้นในวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945 ญี่ปุ่นได้เซ็นสัญญายอมจำนนอย่างเป็นทางการ ในวันนี้จึงถือได้ว่าเป็นจุดจบของสงครามโลกครั้งนี้อย่างแท้จริง[135]

[แก้] ประเทศไทยกับสงครามโลกครั้งที่สอง

ดูบทความหลักได้ที่ สงครามโลกครั้งที่สองในประเทศไทย

เส้นทางการโจมตีประเทศไทยของญี่ปุ่นในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เส้นทางการโจมตีประเทศไทยของญี่ปุ่นในสงครามมหาเอเชียบูรพา

ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล จอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร ลัทธิชาตินิยมได้ถูกปลูกฝังในใจของประชาชนไทย

วันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ. 1940 (พ.ศ. 2483) คณะนิสิตและนักศึกษาได้เดินขบวนและเรียกร้องให้รัฐบาลเรียกร้องดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงคืนจากฝรั่งเศส ซึ่งเสียไปหลังวิกฤตการณ์ ร.ศ.112[142] จากการสนับสนุนอย่างท่วมท้นของประชาชนไทย รัฐบาลจึงได้ส่งกองทัพข้ามแม่น้ำโขงไปโจมตีประเทศลาวและกัมพูชา ซึ่งขณะนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของอินโดจีนฝรั่งเศส[143] การรบที่เป็นที่กล่าวขานมาก คือ ยุทธนาวีเกาะช้าง[144] ซึ่งก็ทำให้เรือรบฝรั่งเศสไม่กล้าเข้ามาในอ่าวไทยอีก การสู้รบยังคงดำเนินต่อไป จนกระทั่งญี่ปุ่นเป็นผู้เข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยในการเจรจาสงบศึก[144] และภายหลังสงครามไทย-ฝรั่งเศสสิ้นสุดเมื่อ พ.ศ. 2484 ไทยก็ได้ดินแดนเพิ่มเข้ามาอีก 4 จังหวัด คือ จังหวัดนครจัมปาศักดิ์ จังหวัดลานช้าง จังหวัดพิบูลสงครามและจังหวัดพระตะบอง เหตุการณ์ครั้งนี้ภายหลังได้ชื่อว่า "กรณีพิพาทอินโดจีน"

หลังสงคราม ได้เป็นที่คาดหมายว่า ญี่ปุ่นจะตราทัพเข้าสู่ไทยในอนาคต รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามจึงมีการรณรงค์ให้ประชาชนทำงาน ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และเสริมสร้างเศรษฐกิจ โดยมีคำขวัญว่า "เงินคืองาน งานคือเงิน บันดาลสุข" และรัฐบาลยังได้เปิดเพลงปลุกใจซึ่งถูกกระจายเสียงโดยสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

วันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484) กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกในหลายจังหวัดของภาคกลางและภาคใต้ แต่ก็ได้รับการต้านทานอย่างหนักของทหารไทยและยุวชนทหาร[145] ทางด้านรัฐบาลได้รับคำขู่จากอัครราชทูตญี่ปุ่นให้เปิดดินแดน เนื่องจากมองเห็นว่ากองทัพไทยไม่อาจต้านกองทัพญี่ปุ่นไว้ได้นาน จึงยอมยุติการต่อสู้เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม[146] และได้ตกลงลงนามร่วมเป็นพันธมิตรของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ณ อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ขณะเดียวกัน ในต่างประเทศ มีผู้ที่ไม่อาจยอมรับต่อการตัดสินใจของรัฐบาล หนึ่งในนั้น คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้ประกาศขบวนการเสรีไทยขึ้นเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม เนื่องจากท่านมีความเห็นว่าสหรัฐอเมริกามีขีดความสามารถทางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสูงกว่า ทางด้านในประเทศเองก็มีบุคคลจากคณะราษฎรภายในประเทศไทยที่ดำเนินการต่อต้านญี่ปุ่นในทางลับ เช่น ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งต่อมาได้เกิดเป็นขบวนการเสรีไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ[146]

ทางด้านฝ่ายสัมพันธมิตรก็เริ่มเข้ามาทิ้งระเบิดภายในพระนครเมื่อย่างเข้า ค.ศ. 1942 (พ.ศ. 2485)[147] หลังจากนั้น รัฐบาลไทยก็ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร[148]

หลังจากญี่ปุ่นได้ยอมจำนนเมื่อ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488) นายควง อภัยวงศ์ซึ่งได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ออก "ประกาศสันติภาพ"[149] มีผลให้การประกาศสงครามของไทยต่อฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นโมฆะ ทำให้ประเทศไทยไม่ตกอยู่ในฐานะผู้แพ้สงคราม แต่ทางฝ่ายอังกฤษไม่ยอมรับ และเรียกร้องสิทธิจากไทยในฐานะของผู้แพ้สงคราม นายควง อภัยวงศ์ได้ลาออกจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี และร้องขอให้ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ด้านม.ร.ว.เสนีย์ก็สามารถเจรจากับอังกฤษและสามารถตกลงกันได้ในที่สุด[150]

[แก้] หลังสงคราม

ดูบทความหลักได้ที่ เหตุการณ์หลังสงครามโลกครั้งที่สอง และ สงครามเย็น

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรได้ก่อตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้น เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1945 ด้วยความพยายามที่จะรักษาสันติภาพทั่วโลก [151]

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างสัมพันธมิตรตะวันตกและสหภาพโซเวียตได้เสื่อมลงตั้งแต่ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่สองจะจบลง [152] และชาติมหาอำนาจแต่ละฝ่ายต่างก็เริ่มการขยายอิทธิพลของตนเองอย่างรวดเร็ว [153] ทวีปยุโรปได้ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ด้วยอิทธิพลของฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกและสหภาพโซเวียต ซึ่งวินสตัน เชอร์ชิลล์ได้ตั้งชื่อไว้ว่า "ม่านเหล็ก" (Iron Curtain) โดยม่านเหล็กดังกล่าวได้ลากผ่านประเทศเยอรมนีและประเทศออสเตรีย ที่เอเชีย สหรัฐอเมริกาได้เข้ายึดครองญี่ปุ่น และดำเนินการปกครองหมู่เกาะต่างๆ ของญี่ปุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก ขณะที่สหภาพโซเวียตก็เข้ายึดครองหมู่เกาะซาคาลินและหมู่เกาะคูริล ส่วนประเทศเกาหลีภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นนั้น ได้ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนโดยทั้งสองขั้วมหาอำนาจด้วยเช่นกัน ความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ทำให้สหรัฐอเมริกาได้ก่อตั้งพันธมิตรนาโต้ และทางสหภาพโซเวียตก็ได้ก่อตั้งสนธิสัญญาวอร์ซอขึ้น ทั้งสององค์การทางทหารนี้อาจถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเย็น [154]

ในพื้นที่หลายส่วนของโลก ความขัดแย้งต่างๆ ยังคงดำเนินต่อไปเป็นช่วงเวลาสั้นๆ หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองปิดฉากลง ในประเทศจีน พรรคชาตินิยมก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้กลับมาทำสงครามกลางเมืองอีกครั้ง ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์ผู้ชนะก็ได้ก่อตั้งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนบนจีนแผ่นดินใหญ่ ส่วนพรรคชาตินิยมผู้พ่ายแพ้ก็ได้ล่าถอยไปยังเกาะไต้หวันซึ่งยังอยู่ภายใต้การปกครองของตนเอง ที่ประเทศกรีซก็ได้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นเช่นกันระหว่างฝ่ายนิยมกษัตริย์ ซึ่งได้ความช่วยเหลือจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกา และฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์ โดยฝ่ายนิยมกษัตริย์เป็นฝ่ายได้ชัย หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นไม่นาน ก็เกิดสงครามเกาหลีขึ้น ระหว่างเกาหลีเหนือซึ่งได้รับการหนุนหลังโดยจีนและสหภาพโซเวียต กับเกาหลีใต้ภายใต้ความช่วยเหลือของชาติตะวันตก ซึ่งทึ่สุดแล้วจบลงด้วยสนธิสัญญาหยุดยิงและการแบ่งเขตแดนที่แนวเส้นขนานที่ 38 องศาเหนือ

หลายประเทศซึ่งถูกชาติตะวันตกยึดครองเป็นอาณานิคม ได้ประกาศเอกราชและแยกตัวออกมาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากความสูญเสียทรัพยากรของชาติตะวันตก ทำให้อิทธิพลจากภายนอกอ่อนแอลง โดยการแยกตัวดังกล่าวได้เกิดขึ้นอย่างสันติในหลายประเทศ ยกเว้นในเวียตนามซึ่งทำให้ฝรั่งเศสต้องกระโจนเข้าสู่สงครามเวียตนาม มาดากัสการ์อันนำไปสู่การจลาจลในมาดากัสการ์ อินโดนีเซียสู่การปลดแอกอินโดเนเซีย และแอลจีเรียขยายวงเป็นสงครามอัลจีเรีย ในอีกหลายพื้นที่ในโลก ก็ได้เกิดประเทศใหม่ขึ้นมามากมาย ด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรมและศาสนา โดยโดดเด่นมากในปาเลสไตน์ในอาณัติอังกฤษ อันนำไปสู่การก่อตั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์ และในอินเดียก็เกิดการแตกออกเป็นสองประเทศ คือ อินเดียและปากีสถาน

[แก้] ผลกระทบของสงคราม

ดูเพิ่มที่ ความสูญเสียหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อาชญากรรมสงครามระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และ ผลที่ตามมาหลังการแพร่ขยายของลัทธินาซี

[แก้] ความสูญเสียและความทารุณ

แผ่นภูมิแท่งแสดงจำนวนผู้เสียชีวิตของพลเรือนและทหารของฝ่ายสัมพันธมิตรและฝ่ายอักษะ
แผ่นภูมิแท่งแสดงจำนวนผู้เสียชีวิตของพลเรือนและทหารของฝ่ายสัมพันธมิตรและฝ่ายอักษะ

ได้มีการประมาณว่ามีผู้เสียชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่สองเป็นจำนวนมากกว่า 60 ล้านคน ประกอบไปด้วยทหารอย่างน้อย 22 ล้านคน และพลเรือนอย่างน้อย 40 ล้านคน[155][156][157] สาเหตุเสียชีวิตของพลเรือนส่วนใหญ่นั้นมาจากโรคระบาด การอดอาหาร การฆ่าฟัน และการทำลายพืชพันธุ์ ด้านสหภาพโซเวียตสูญเสียประชากรราว 27 ล้านคนระหว่างช่วงสงคราม คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของความสูญเสียทั้งหมดระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง[158] จากความสูญเสีย 85% เป็นของฝ่ายสัมพันธมิตร และ 15% เป็นของฝ่ายอักษะ มีการประมาณว่ามีพลเรือนราว 12 ล้านคนเสียชีวิตในค่ายล้างเผ่าพันธุ์ของนาซี 1.5 ล้านคนจากการทิ้งระเบิด และสาเหตุอื่นๆ ในยุโรปอีก 7 ล้านคน รวมไปถึงอีก 7.5 ล้านคนในจีน[159] ความสูญเสียนั้นไม่ปรากฏแน่ชัด เนื่องจากไม่ค่อยมีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร และจากความสูญเสียดังกล่าวนั้น 6 ล้านคนเป็นเชื้อชาติยิว ซึ่งถูกสังหารระหว่างการล้างชาติพันธุ์โดยนาซี[160] และด้านทหารญี่ปุ่นก็ได้สังหารพลเรือนราว 3 ล้านถึง 10 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ระหว่างสงครามโลกครั้งทีสอง[161]

ขณะที่การตัดสินคดีความอาชญากรรมสงครามของฝ่ายอักษะถูกชำระความ แต่ว่าอาชญากรรมของฝ่ายสัมพันธมิตรกลับตรงกันข้าม[162] ตัวอย่างอาชญากรรมสงคราม เช่น การถ่ายเทพลเรือนในสหภาพโซเวียต คำสั่งแผนกบริหารที่ 9066 การสังหารพลเรือนอย่างโหดร้ายของทหารโซเวียตในโปแลนด์ และการทิ้งระเบิดใส่เมืองเดรสเดนจนมีผู้เสียชีวิตในหลักแสน

นอกจากนั้น ยังมีความสูญเสียบางประการที่เป็นผลทางอ้อมของสงคราม อย่างเช่น ทุพภิกขภัยในแคว้นเบงกอล (1943)

[แก้] ดินแดนที่ถูกยึดครอง

ดูบทความหลักได้ที่ ผู้ที่ให้ความร่วมมือระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และ ขบวนการกู้ชาติระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

ในทวีปยุโรป การยึดครองถูกแบ่งออกเป็นสองประเภท บริเวณยุโรปตะวันตก ยุโรปเหนือและยุโรปกลาง เยอรมนีได้ออกนโยบายทางเศรษฐกิจซึ่งได้ผลตอบแทนกว่า 69.5 ล้านล้านไรซ์มาร์กจนกระทั่งสิ้นสุดสงคราม (ซึ่งยังไม่รวมถึง การปล้นของนาซี[163]) รายได้ของนาซีเยอรมนีในดินแดนยึดครองนั้นคิดเป็นกว่า 40% ของรายได้จากภาษีในแผ่นดินเยอรมนี และเป็นรายได้คงที่ตลอดช่วงเวลาของสงคราม[164]

ทางยุโรปตะวันออก ไม่เหมือนกับทางยุโรปตะวันตก นโยบายเชื้อชาติของพรรคนาซีนั้นได้ก่อให้เกิดความเลวร้ายต่างๆ กับ "ชนชั้นต่ำกว่ามนุษย์" ในแนวรบด้านตะวันออก จึงเต็มไปด้วยการฆาตกรรมและการสังหารหมู่[165] และถึงแม้ว่าจะมีขบวนการกู้ขาติเกิดขึ้นมากมายในประเทศที่ถูกยึดครอง แต่ก็ยังไม่สามารถก่อให้เกิดผลกระทบโดยรวมต่อการขยายตัวของนาซีเยอรมนีได้ จนกระทั่งถึงปี 1943[166][167]

ในทวีปเอเชีย ญี่ปุ่นได้พยายามจะสร้างวงไพบูลย์มหาเอเชียบูรพาขึ้น และมีจุดรปะสงค์ที่ตจะปลดปล่อยชาติที่ต้องตกเป็นอาณานิคมของชาติมหาอำนาจในทวีปยุโรป[168] ถึงแม้ว่ากองทัพญี่ปุ่นนั้นจะได้รับการต้อนรับจากนักต่อสู้เพื่อเอกราชในหลายดินแดน แต่ว่าเนื่องจากการกระทำที่โหดร้ายได้เปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อญี่ปุ่นไปเสีย[169] ระหว่างการทำการรบของญี่ปุ่นนั้นได้รับน้ำมันกว่า 4 ล้านแกลลอนจากการล่อถอยของฝ่ายสัมพันธมิตร ในปี 1943 ญี่ปุ่นได้ผลผลิตจากบริษัทอินเดียตะวันออกกว่า 50 ล้านแกลลอน ซึ่งมากกว่าผลผลิตในปี 1940 กว่า 76%.[169] นอกจากนั้นญี่ปุ่นยังได้เพิ่มผลผลิตของตนด้วยการใช้แรงงานทาสชาวจีนกว่า 10 ล้านคนในแมนจูกัว[170] และชาวอินโดเนเซียอีกระหว่าง 4 ถึง 10 ล้านคน[171]

[แก้] แนวหลังและอุตสาหกรรม

ดูบทความหลักได้ที่ อุตสาหกรรมสงครามระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และ แนวหลังในสงครามโลกครั้งที่สอง

กราฟเปรียบเทียบอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมของฝ่ายอักษะเมื่อเทียบกับฝ่ายสัมพันธมิตรระหว่างปี 1938-1945
กราฟเปรียบเทียบอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมของฝ่ายอักษะเมื่อเทียบกับฝ่ายสัมพันธมิตรระหว่างปี 1938-1945

ในทวีปยุโรป ตอนช่วงเวลาเริ่มต้นของสงคราม ฝ่ายสัมพันธมิตรนั้นมีความได้เปรียบทั้งทางด้านจำนวนประชากรและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ในปี 1938 ฝ่ายสัมพันธมิตรมีประชากรมากกว่าฝ่ายอักษะ 30% และอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศมากกว่าฝ่ายอักษะ 30% ซึ่งทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรได้เปรียบทางยุทธศาสตร์มากกว่า 5:1 ในด้านจำนวนประชากรและอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมคิดเป็น 2:1[172]

ในทวีปเอเชีย จีนนั้นมีประชากรเป็นหกเท่าของญี่ปุ่น และมีอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศมากกว่าญี่ปุ่นไป 89% แต่ถ้าหากรวมเอาอาณานิคมของญี่ปุ่นเข้าไปด้วย ความแตกต่างของจำนวนประชากรจะลดลงเหลือเพียงสามเท่าและความก้าวหน้าของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศลดลงเหลือ 38%[172]

ช่วงท้ายสงคราม ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถช่วงชิงความได้เปรียบทางเศรษฐกิจได้ด้วยการเข้ายึดแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และปัจจัยอื่นๆ เยอรมนีและญี่ปุ่นจำเป็นต้องเกณฑ์สตรีเข้าใช้แรงงาน[173][174] เยอรมนีและญี่ปุ่นนั้นแท้จริงแล้วไม่ได้เตรียมการอย่างเหมาะสมสำหรับการรบแบบยืดเยื้อและไม่มีขีดความสามารถใดๆ เลยที่จะทำเช่นนั้น[175][176]

[แก้] ค่ายกักกันและการใช้แรงงานทาส

การล้างชาติพันธุ์โดยนาซีได้สังหารชาวยิวในทวีปยุโรปเป็นจำนวนอย่างน้อย 6 ล้านคน รวมไปถึงเชื้อชาติอื่นๆ อีกที่ถูกพวกนาซีลงความเห็นว่าเป็นพวกที่ "ไม่คู่ควร" หรือ "ต่ำกว่ามนุษย์" (รวมไปถึงผู้ที่ทุพพลภาพ ผู้ที่มีอาการป่วยทางจิต เชลยสงครามโซเวียต พวกรักร่วมเพศ สมาคมฟรีเมสัน ผู้นับถือลัทธิพยานพระเยโฮวาห์และชาวยิปซี) โดยเป็นส่วนหนึ่งของถอนรากถอนโคนอย่างจงใจ และได้รับการดำเนินการโดยรัฐบาลฟาสซิสต์นาซี นำโดยอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ มีกรรมกรและคนงานราว 12 ล้านคน - โดยส่วนมากมาจากยุโรปตะวันออก - ได้ถูกว่าจ้างให้มาทำงานให้เศรษฐกิจสงครามของนาซีเยอรมนี[177]

นอกเหนือจากค่ายกักกันของนาซีแล้ว ยังมีค่ายกูลัก หรือค่ายแรงงานของสหภาพโซเวียต ซึ่งได้นำไปสู่ความตายของพลเรือนจำนวนมากในดินแดนยึดครองของฝ่ายนาซีเยอรมนีและสหภาพโซเวียต ได้แก่ โปแลนด์ ลิธัวเนีย แลตเวียและเอสโตรเนีย รวมไปถึงเชลยสงครามของเยอรมัน และยังมีชาวโซเวียตบางส่วนที่คาดว่าเป็นผู้สนับสนุนของฝ่ายนาซี[178] จากหลักฐานพบว่าเชลยสงครามของโซเวียตกว่า 60% ของทั้งหมดได้เสียชีวิตระหว่างสงคราม[179] เชลยศึกโซเวียตที่รอดชีวิตและหลบหนีเข้าสู่มาตุภูมิจะถูกตราหน้าว่าเป็นคนทรยศ (ดูเพิ่ม: คำสั่งหมายเลข 270)[180]

ศพคนตายกองทับซ้อนกันในค่าย 731 ซึ่งเป็นหน่วยวิจัยพัฒนาอาวุธชีวภาพของญี่ปุ่น
ศพคนตายกองทับซ้อนกันในค่าย 731 ซึ่งเป็นหน่วยวิจัยพัฒนาอาวุธชีวภาพของญี่ปุ่น

ค่ายเชลยสงครามของญี่ปุ่นเองก็มีผู้เสีบชีวิตเป็นจำนวนมาก และยังมีการตั้งเป็นค่ายแรงงาน ภายหลังจากการตัดสินของศาลทหารพิเศษนานาชาติแห่งภาคพื้นตะวันออกไกล (เดิมชื่อ ศาลพิเศษโตเกียว) ได้ลงมติว่าอัตราการเสียชีวิตของเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรคิดเป็น 27.1% (ในจำนวนนี้เป็นทหารสหรัฐอเมริกา 37%)[181] คิดเป็นเจ็ดเท่าของอัตราเดียวกันของค่ายแรงงานของนาซีเยอรมนีและอิตาลี[182] แต่จำนวนดังกล่าวนั้นมีสูงมาก โดยเฉพาะกับเชลยสงครามชาวจีน[183] หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ทหารสหราชอาณาจักรได้รับการปล่อยตัว 37,853 นาย ทหารเนเธอร์แลนด์ 28,500 นาย ทหารสหรัฐอเมริกา 14,473 นาย แต่พบว่าทหารจีนถูกพบว่าได้รับการปล่อยตัวเพียง 56 นาย[184]

อ้างอิงจากการศึกษาร่วมกันของนักประวัติศาสตร์ ได้สรุปว่า มีชาวจีนมากกว่า 10 ล้านคนถูกเกณฑ์โดยกองทัพญี่ปุ่น และถูกใช้แรงงานอย่างทาส เพื่อวงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา ทั้งในแมนจูกัวและทางภาคเหนือของประเทศจีน[185] ห้องสมุดรัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกาได้ประมาณว่าในเกาะชวาว่าชาวอินโดนีเซียกว่า 4 ถึง 10 ล้านคนต้องถูกบังคับให้ทำงานแก่กองทัพญี่ปุ่นระหว่างสงคราม ชาวอินโดนีเซียบนเกาะชวากว่า 270,000 คนได้ถูกส่งไปทำงานในดินแดนที่ญี่ปุ่นยึดครองอยู่ในเอเชียอาคเนย์ ซึ่งมีเพียง 52,000 คนเท่านั้นที่สามารถกลับคืนสู่ถิ่นเดิมได้[186]

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 1942 ประธานาธิบดีรูสเวลล์ได้ลงนามในแผนการหมายเลข 9066 ซึ่งได้ทำการกักตัวชาวญี่ปุ่น ชาวอิตาลี ชาวเยอรมัน และผู้อพยพบางส่วนจากหมู่เกาะฮาวาย ซึ่งหลบหนีหลังจากการโจมตีที่ฐานทัพเรือเพริ์ล ฮาเบอร์ในช่วงเวลาระหว่างสงครามเป็นจำนวนมาก โดยตัวเลขของชาวญี่ปุนซึ่งถูกกักตัวโดยสหรัฐอเมริกาและแคนาดามีจำนวนกว่า 150,000 คน รวมไปถึงชาวเยอรมันและชาวอิตาลีซึ่งอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาเกือบ 11,000 คน

ขณะเดียวกัน ก็การใช้แรงงานโดยฝ่ายสัมพันธมิตรเช่นกัน ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นในดินแดนตะวันออก อย่างเช่นในโปแลนด์[2] แต่ยังมีผู้ใช้แรงงานอีกกว่าล้านคนในตะวันตก ในเดือนธันวาคม 1945 หลักฐานของฝรั่งเศสได้ระบุว่ามีเชลยสงครามชาวเยอรมันกว่า 2,000 คน ตายหรือพิการทุกเดือนในการอบัติเหตุการเก็บกวาดทุ่นระเบิด[187]

นักโทษผู้ทรมานในค่ายกักกันเมาน์ธิวเซน-กูเซนประเทศออสเตรีย ในปี 1945
นักโทษผู้ทรมานในค่ายกักกันเมาน์ธิวเซน-กูเซนประเทศออสเตรีย ในปี 1945

[แก้] อาวุธเคมีและอาวุธเชื้อโรค

แม้จะมีสนธิสัญญาระหว่างชาติที่คัดค้านต่อการใช้ก๊าซพิษของญี่ปุ่น และกองทัพแห่งจักรวรรดิญี่ปุ่นที่ใช้อาวุธเคมีหลายครั้ง ซึ่งถูกลงนามโดยสันนิบาตชาติเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 1938 แล้วก็ตาม แต่ว่ายังได้มีการใช้ก๊าซพิษและอาวุธชีวภาพกับพลเรือนชาวเอชียซึ่งถูกมองว่า "ต่ำกว่า" ตามคำโฆษณาของกองทัพญี่ปุ่น และจากการศึกษาของนักประวัติศาตร์พบว่าการจะใช้อาวุธเคมีจะต้องมีคำสั่งโดยตรง (rinsanmei) จากสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตเท่านั้น ดังตัวอย่างเช่นพระองค์ได้ทรงอนุญาตให้มีการใช้ก๊าซพิษกับค่าย 375 ระหว่างยุทธการอู่ฮั่น ระหว่างเดือนสิงหาคมจนถึงเดือนตุลาคม 1938[188] ทางด้านอิตาลีก็ได้มีการใช้ซัลเฟอร์มัสตาร์ด ระหว่างการรณรงค์ในเอธิโอเปีย

ส่วนอาวุธเชื้อโรคก็ได้ถูกทดลองกับมนุษย์ภายในค่ายกักกันของกองทัพแห่งจักรวรรดิญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก ดังเช่นภายในค่าย 731 และได้ถูกรวบรวมโดบพระราชกฤษฎีกาภายในกองทัพกุนทวงในปี 1936 อาวุธเหล่านี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายภายในจีน และทหารผ่านศึกชาวญี่ปุ่นบางคน ก็ได้ใช้กับทหารมองโกเลียและทหารโซเวียตช่วงปี 1939 ระหว่างยุทธการคัลคนิน กอล[189] และตามหลักฐานของออสเตรเลียได้ระบุไว้ว่ามีการทดลองก๊าซไซยาไนต์กับเชลยสงครามชาวออสเตรเลียและชาวดัตช์ระหว่างเดือนพฤษจิกายน 1944 บนหมู่เกาะไค[190]

[แก้] การทิ้งระเบิดตามยุทธวิธี

การทิ้งระเบิดตามยุทธวิธีระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองจำนวนมหาศาลโดยทั้งกองทัพอากาศฝ่ายอักษะและฝ่ายสัมพันธมิตรได้พรากเอาชีวิตของพลเรือนไปกว่าแสนคน ทางด้านการทิ้งระเบิดของกองทัพอากาศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาได้พรากเอาชีวตพลเรือนชาวเยอรมันไปกว่า 600,000 คนในการทิ้งระเบิดตามหัวเมืองของเยอรมนี[191] และที่สำคัญที่สุด คือ การทิ้งระเบิดที่เมืองเดรสเดน ทางด้านกรุงลอนดอนได้ถูกทิ้งระเบิดอย่างหนักจากลุควาฟเฟิล ช่วงเดือนกันยายน 1940 จนถึงเดือนพฤษภาคม 1941 ระหว่างการสงครามสายฟ้าแลบบนแผ่นดินบริเตน และเป็นครั้งแรกที่มีการใช้ระเบิดปรมาณูในการรบ โดยมีสองลูกที่ถูกทิ้งบนแผ่นดินญี่ปุ่น คือ เมืองฮิโรชิมา ("Little Boy") และอีกสามวันต่อมาที่เมืองนางาซากิ ("Fat Man") ระเบิดปรมาณูทั้งสองลูกได้คร่าชีวิตพลเรือนชาวญี่ปุ่นไปกว่า 200,000 คน[192]

[แก้] อาชญากรรมสงคราม

นับตั้งแต่ปี 1945 ถึง 1951 มีนายทหารเยอรมันและญี่ปุ่นจำนวนมากได้ถูกดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยอาชญากรรมสงคราม โดยถูกตั้งข้อหาว่าได้ก่ออาชญากรรมต่อต้านสันติภาพ ก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ การทำสงครามเพื่อการรุกราน และข้อหาอื่นๆ นายทหารอาวุโสเยอรมันจำนวนมากได้หลบหนีขณะที่ฝ่ายสัมพันธมิตรมีการพิจารณาจำเลยนูเริมเบิร์ก และนายทหารญี่ปุ่นในศาลทหารพิเศษนานาชาติแห่งภาคพื้นตะวันออกไกล รวมไปถึงอาชญากรรมอื่นๆ ในเขตเอเชียและมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนนายทหารชั้นผู้น้อยลงมาก็ถูกตัดสินว่าผิดในข้อหาที่เบาลงมา แต่กลับไม่มีการให้ความสำคัญกับการละเมิดกฎหมายนานาชาติกับฝ่ายสัมพันธมิตรใดๆ เลย (ดูตัวอย่าง การรุกรานโปแลนด์ของสหภาพโซเวียต ในปี 1941) รวมไปถึงอาญชากรสงครามฝ่ายสัมพันธมิตร และการทิ้งระเบิดตามหัวเมืองสำคัญของฝ่ายอักษะ หรือสหภาพโซเวียตในยุโรปตะวันออก

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ คำว่าสงครามโลกครั้งที่สองในภาษาอังกฤษนั้น ในเอกสารอย่างเป็นทางการของสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพใช้คำว่า "Second World War" ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกาใช้คำว่า "World War II" แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งสองคำนี้โดยทั่วไปแล้วสามารถใช้แทนกันได้
  2. ^ Jim Dunnigan|Dunnigan, James. Dirty Little Secrets of World War II: Military Information No One Told You About the Greatest, Most Terrible War in History, William Morrow & Company, 1994. ISBN 0-688-12235-3
  3. ^ Mayer, E. (2000) "World War II" course lecture notes on Emayzine.com (Victorville, California: Victor Valley College)
  4. ^ Coleman, P. (1999) "Cost of the War," World War II Resource Guide (Gardena, California: The American War Library)
  5. ^ "World War II". The Columbia Encyclopedia (6th). (2007). เรียกข้อมูลวันที่ 2008-03-10. 
  6. ^ Hakim, Joy (1995). A History of Us: War, Peace and all that Jazz. New York: Oxford University Press. ISBN 0-19-509514-6. 
  7. ^ Shaw, Anthony. World War II Day by Day, pg. 35
  8. ^ 8.0 8.1 8.2 ธนู แก้วโอภาส, เหตุการณ์สำคัญในศตวรรษที่ 20, ฝ่ายโรงพิมพ์ บริษัท ตภาตา พับลิเคชั่น จำกัด, 2549, หน้า 137
  9. ^ Wouk, Herman. The Winds of War, pg. 72
  10. ^ Brody, J. Kenneth. The Avoidable War: Pierre Laval and the Politics of Reality, 1935-1936, pg. 4
  11. ^ ธนู แก้วโอภาส, เหตุการณ์สำคัญในศตวรรษที่ 20, ฝ่ายโรงพิมพ์ บริษัท ตภาตา พับลิเคชั่น จำกัด, 2549, หน้า 131
  12. ^ ธนู แก้วโอภาส, เหตุการณ์สำคัญในศตวรรษที่ 20, ฝ่ายโรงพิมพ์ บริษัท ตภาตา พับลิเคชั่น จำกัด, 2549, หน้า 133
  13. ^ เจฟเฟอรี เรคคอร์ด. Appeasement Reconsidered: Investigating the Mythology of the 1930s, น. 50
  14. ^ ไมเคิล แมนเดลบอม. The Fate of Nations: The Search for National Security in the Nineteenth and Twentieth Centuries, น. 96
  15. ^ เดวิด เอฟ. ชมิทซ์. Henry L. Stimson: The First Wise Man, น. 124
  16. ^ อลิสัน คิตสัน. Germany 1858-1990: Hope, Terror, and Revival, น. 231
  17. ^ แอนโทนี พี. อดัมทไวท์. The Making of the Second World War, น. 52
  18. ^ ธนู แก้วโอภาส, เหตุการณ์สำคัญในศตวรรษที่ 20, ฝ่ายโรงพิมพ์ บริษัท ตภาตา พับลิเคชั่น จำกัด, 2549, หน้า 135
  19. ^ เฮเลน เกรแฮม. The Spanish Civil War: A Very Short Introduction, น. 110
  20. ^ โดนัลด์ เอฟ. บัสกี. Communism in History and Theory: Asia, Africa, and the Americas, น. 10
  21. ^ ธนู แก้วโอภาส, เหตุการณ์สำคัญในศตวรรษที่ 20, ฝ่ายโรงพิมพ์ บริษัท ตภาตา พับลิเคชั่น จำกัด, 2549, หน้า 139
  22. ^ Twitchett, Denis; Fairbank, John K. The Cambridge history of China, pg. 566
  23. ^ Coox, Alvin D. Nomonhan: Japan Against Russia, 1939, pg. 189
  24. ^ Collier, Martin; Pedley, Philip. Germany 1919-45, pg. 144
  25. ^ Kershaw, Ian. Hitler, 1936-1945: Nemesis, pg. 173
  26. ^ Lowe, C. J.; Marzari, F. Italian Foreign Policy 1870-1940, pg. 330
  27. ^ Sharp, Alan; Stone, Glyn. Anglo-French Relations in the Twentieth Century, pg 195-197
  28. ^ Day, Alan J.; East, Roger; Thomas, Richard. A Political and Economic Dictionary of Eastern Europe, pg. 405
  29. ^ May, Ernest R. Strange Victory: Hitler's Conquest of France, pg. 93
  30. ^ Zaloga, Steven J. Poland 1939: The Birth of Blitzkrieg, pg. 80
  31. ^ Jowett, Philip S. The Japanese Army, 1931-45, pg. 14
  32. ^ Hanhimäki, Jussi M. Containing Coexistence: America, Russia, and the "Finnish Solution", หน้า 13
  33. ^ 33.0 33.1 33.2 Hsiung, James Chieh; Levine, Steven I. China's Bitter Victory: The War with Japan, 1937-1945, pg. 16
  34. ^ Bilinsky, Yaroslav. Endgame in NATO's Enlargement: The Baltic States and Ukraine, pg. 9
  35. ^ Commager, Henry Steele. The Story of the Second World War, pg. 30
  36. ^ Reynolds, David. From World War to Cold War: Churchill, Roosevelt, and the International History of the 1940s, pgs. 76, 77
  37. ^ 37.0 37.1 Kennedy, David M. Freedom from Fear: The American People in Depression and War, 1929-1945, pg. 439
  38. ^ Militärgeschichtliches Forschungsamt. Germany and the Second World War - Volume 2: Germany's Initial Conquests in Europe, pg. 311
  39. ^ Brown, David. The Road to Oran: Anglo-French Naval Relations, September 1939-July 1940, pg. xxx
  40. ^ Kelly, Nigel; Rees, Rosemary; Shuter, Jane. Twentieth Century World, pg. 38
  41. ^ Goldstein, Margaret J. World War II, pg. 35
  42. ^ Mercado, Stephen C. The Shadow Warriors of Nakano: A History of the Imperial Japanese Army's Elite Intelligence School, pg. 109
  43. ^ Brown, Robert J. Manipulating the Ether: The Power of Broadcast Radio in Thirties America, pg. 91
  44. ^ Morison, Samuel Eliot. History of United States Naval Operations in World War II, pg. 60
  45. ^ Maingot, Anthony P.The United States and the Caribbean: Challenges of an Asymetrical Relationship, pg. 52
  46. ^ Bilhartz, Terry D.; Elliott, Alan C.Currents in American History: A Brief History of the United States, pg. 179
  47. ^ Weinberg, Gerhard L. A World at Arms: A Global History of World War II, pg. 200
  48. ^ Weinberg, Gerhard L. A World at Arms: A Global History of World War II, pg. 201
  49. ^ Murray, Williamson; Millett, Allan Reed. A War to Be Won: Fighting the Second World War, pg. 165
  50. ^ Knell, Hermann. To Destroy a City: Strategic Bombing and Its Human Consequences in World War II, pg. 205
  51. ^ Clogg, Richard. A Concise History of Greece, pg. 118
  52. ^ Jackson, Ashley. The British Empire and the Second World War, pg. 106
  53. ^ Weinberg, Gerhard L. A World at Arms: A Global History of World War II, pg. 229
  54. ^ Watson, William E. Tricolor and Crescent: France and the Islamic World, pg. 80
  55. ^ Stewart, Vance. Three Against One: Churchill, Roosevelt, Stalin Vs Adolph Hitler, pg. 159
  56. ^ The London Blitz, 1940. Eyewitness to History (2001). เรียกข้อมูลวันที่ 2008-03-11
  57. ^ Joes, Anthony James. Resisting Rebellion: The History And Politics of Counterinsurgency, pg. 224
  58. ^ Fairbank, John King. China: A New History, pg. 320
  59. ^ Garver, John W. Chinese-Soviet Relations, 1937-1945: The Diplomacy of Chinese Nationalism, pg. 114
  60. ^ Weinberg, Gerhard L. A World at Arms: A Global History of World War II, pg. 195
  61. ^ Shukman, Harold. Stalin's Generals, pg. 113
  62. ^ Burroughs, William James. Climate: Into the 21st Century, pg. 115
  63. ^ Whymant, Robert. Stalin's Spy: Richard Sorge and the Tokyo Espionage Ring, pg. 314
  64. ^ Pravda, Alex; Duncan, Peter J. S. Soviet-British Relations Since the 1970s, pg. 29
  65. ^ Heptulla, Najma. The Logic of Political Survival, pg. 131
  66. ^ 66.0 66.1 Louis, William Roger. More Adventures with Britannia: Personalities, Politics and Culture in Britain, pg. 223
  67. ^ Gannon, James. Stealing Secrets, Telling Lies: How Spies and Codebreakers Helped Shape the Twentieth Century, pg. 76
  68. ^ Morgan, Patrick M. Strategic Military Surprise: Incentives and Opportunities, pg. 51
  69. ^ Ropp, Theodore. War in the Modern World, pg. 363
  70. ^ Thurman,M. J.; Sherman, Christine. War Crimes: Japan's World War II Atrocities, pg. 68
  71. ^ Mingst, Karen A.;Karns, Margaret P. United Nations in the Twenty-First Century, pg. 22
  72. ^ Dunn, Dennis J. Caught Between Roosevelt & Stalin: America's Ambassadors to Moscow, pg. 157
  73. ^ Klam, Julie. The Rise of Japan and Pearl Harbor, pg. 27
  74. ^ Hill, J. R.; Ranft, Bryan. The Oxford Illustrated History of the Royal Navy, pg. 362
  75. ^ Hsiung, James Chieh; Levine, Steven I. China's Bitter Victory: The War with Japan, 1937-1945, pg. 158
  76. ^ Chun, Clayton K. S. The Doolittle Raid 1942: America's First Strike Back at Japan, pg. 88
  77. ^ Gooch, John. Decisive Campaigns of the Second World War, pg.52
  78. ^ Molinari, Andrea. Desert Raiders: Axis and Allied Special Forces 1940-43, pg. 91
  79. ^ Welch, David. Modern European History, 1871-2000: A Documentary Reader, pg. 102
  80. ^ Mitcham, Samuel W.; Mitcham, Samuel W. Jr. Rommel's Desert War: The Life and Death of the Afrika Korps, pg. 31
  81. ^ Glantz, David M. From the Don to the Dnepr: Soviet Offensive Operations, December 1942-August 1943, pg. 215
  82. ^ Maddox, Robert James. The United States and World War II, pgs. 111-112
  83. ^ Salecker, Gene Eric. Fortress Against the Sun: The B-17 Flying Fortress in the Pacific, pg. 186
  84. ^ Ropp, Theodore. War in the Modern World, pg. 368
  85. ^ Weinberg, Gerhard L. A World at Arms: A Global History of World War II, pg. 339
  86. ^ Gilbert, Adrian. The Encyclopedia of Warfare: From Earliest Times to the Present Day, pg. 259
  87. ^ Swain, Bruce. A Chronology of Australian Armed Forces at War 1939-45, pg. 197
  88. ^ Hane, Mikiso. Modern Japan: A Historical Survey, pg. 340
  89. ^ Marston, Daniel. The Pacific War Companion: From Pearl Harbor to Hiroshima, pg. 111
  90. ^ Brayley, Martin. The British Army, 1939-45, pg. 9
  91. ^ Read, Anthony. The Devil's Disciples: Hitler's Inner Circle, pg. 764
  92. ^ Badsey, Stephen. The Hutchinson Atlas of World War II Battle Plans: Before and After, pgs. 235-236
  93. ^ Black, Jeremy. World War Two: A Military History, pg. 119
  94. ^ Shukman, Harold. Stalin's Generals, pg. 142
  95. ^ Paxton, Robert O. Vichy France: Old Guard and New Order, 1940-1944, pg. 313
  96. ^ Rich, Norman. Hitler's War Aims: Ideology, the Nazi State, and the Course of Expansion, pg. 178
  97. ^ Penrose, Jane. The D-Day Companion, pg. 129
  98. ^ Thomas, David Arthur. A Companion to the Royal Navy, pg. 265
  99. ^ 99.0 99.1 Ross, Steven T. American War Plans, 1941-1945: The Test of Battle, pg. 38
  100. ^ Thomas, Nigel. German Army 1939-1945 (2): North Africa & Balkans, pg. 8
  101. ^ Bonner, Kit; Bonner, Carolyn. Warship Boneyards, pg. 24
  102. ^ Collier, Paul. The Second World War (4): The Mediterranean 1940-1945, pg. 11
  103. ^ Thompson, John Herd; Randall, Stephen J. Canada and the United States: Ambivalent Allies, pg. 164
  104. ^ Freedom from Fear: The American People in Depression and War, 1929-1945, pg. 610
  105. ^ Rottman, Gordon L. World War II Pacific Island Guide: A Geo-Military Study, pg. 228
  106. ^ Lightbody, Bradley. The Second World War: Ambitions to Nemesis, pg. 224
  107. ^ Zeiler, Thomas W. Unconditional Defeat: Japan, America, and the End of World War II, pg. 60
  108. ^ Craven, Wesley Frank; Cate, James Lea. The Army Air Forces in World War II, Volume Five - The Pacific, Matterhorn to Nagasaki, pg. 207
  109. ^ Hsiung, James Chieh; Levine, Steven I. China's Bitter Victory: The War with Japan, 1937-1945, pg. 163
  110. ^ Coble, Parks M. Chinese Capitalists in Japan's New Order: The Occupied Lower Yangzi, 1937-1945, pg. 85
  111. ^ O'Reilly, Charles T. Forgotten Battles: Italy's War of Liberation, 1943-1945, pg. 32
  112. ^ McGowen, Tom. Assault From The Sea: Amphibious Invasions in the Twentieth Century, pgs. 43-44
  113. ^ Lamb, Richard. War in Italy, 1943-1945: A Brutal Story, pgs. 154-155
  114. ^ Hart, Stephen; Hart, Russell. The German Soldier in World War II, pg. 151
  115. ^ Blinkhorn, Martin. Mussolini and Fascist Italy, pg. 52
  116. ^ Read, Anthony; Fisher, David. The Fall of Berlin, pg. 129
  117. ^ Havighurst, Alfred F. Britain in Transition: The Twentieth Century, pg. 344
  118. ^ Read, Anthony. The Devil's Disciples: Hitler's Inner Circle, pg. 804
  119. ^ Glantz, David M. From the Don to the Dnepr: Soviet Offensive Operations, December 1942-August 1943, pgs. 216-217
  120. ^ Glantz, David M. From the Don to the Dnepr: Soviet Offensive Operations, December 1942-August 1943, pgs. 216-217
  121. ^ Chubarov, Alexander. Russia's Bitter Path to Modernity: A History of the Soviet and Post-Soviet Eras, pg. 122
  122. ^ Zaloga, Steven J. US Armored Units in the North African and Italian Campaigns 19422-45, pg. 81
  123. ^ Badsey, Stephen. Normandy 1944: Allied Landings and Breakout, pg. 91
  124. ^ Wiest, Andrew A.; Barbier, M. K. Strategy and Tactics Infantry Warfare pgs. 65, 66
  125. ^ Berend, Tibor Iván. Central and Eastern Europe, 1944-1993: Detour from the Periphery to the Periphery, pg. 8
  126. ^ Marston, Daniel. The Pacific War Companion: From Pearl Harbor to Hiroshima, pg. 120
  127. ^ Howard, Joshua H. Workers at War: Labor in China's Arsenals, 1937-1953, pg. 140
  128. ^ Drea, Edward J. In the Service of the Emperor: Essays on the Imperial Japanese Army, pg. 54
  129. ^ Cook, Chris; Bewes, Diccon. What Happened Where: A Guide to Places and Events in Twentieth-Century History, pg. 305
  130. ^ Glantz, David M. The Soviet-German War 1941-1945: Myths and Realities: A Survey Essay pg. 85
  131. ^ Solsten, Eric. Dwight Germany: A Country Study , pgs. 76-77
  132. ^ United States Dept. of State. The China White Paper, August 1949, pg. 113
  133. ^ O'Reilly, Charles T. Forgotten Battles: Italy's War of Liberation, 1943-1945, pg. 244
  134. ^ Kershaw, Ian. Hitler, 1936-1945: Nemesis, pg. 823
  135. ^ 135.0 135.1 Donnelly, Mark. Britain in the Second World War, pg. xiv
  136. ^ Chant, Christopher. The Encyclopedia of Codenames of World War II, pg. 118
  137. ^ Drea, Edward J. In the Service of the Emperor: Essays on the Imperial Japanese Army, pg. 57
  138. ^ Jowett, Philip S. The Japanese Army, 1931-45, pg. 6
  139. ^ Poirier, Michel Thomas (1999-10-20). Results of the German and American Submarine Campaigns of World War II. U.S. Navy. เรียกข้อมูลวันที่ 2008-04-13
  140. ^ Williams, Andrew J. Liberalism and War: The Victors and the Vanquished, pg. 90
  141. ^ Miscamble, Wilson D. From Roosevelt to Truman: Potsdam, Hiroshima, and the Cold War, pg. 201
  142. ^ ธนู แก้วโอภาส, เหตุการณ์สำคัญในศตวรรษที่ 20, ฝ่ายโรงพิมพ์ บริษัท ตภาตา พับลิเคชั่น จำกัด, 2549, หน้า 445
  143. ^ ธนู แก้วโอภาส, เหตุการณ์สำคัญในศตวรรษที่ 20, ฝ่ายโรงพิมพ์ บริษัท ตภาตา พับลิเคชั่น จำกัด, 2549, หน้า 447-449
  144. ^ 144.0 144.1 ธนู แก้วโอภาส, เหตุการณ์สำคัญในศตวรรษที่ 20, ฝ่ายโรงพิมพ์ บริษัท ตภาตา พับลิเคชั่น จำกัด, 2549, หน้า 449
  145. ^ ธนู แก้วโอภาส, เหตุการณ์สำคัญในศตวรรษที่ 20, ฝ่ายโรงพิมพ์ บริษัท ตภาตา พับลิเคชั่น จำกัด, 2549, หน้า 223,426
  146. ^ 146.0 146.1 ธนู แก้วโอภาส, เหตุการณ์สำคัญในศตวรรษที่ 20, ฝ่ายโรงพิมพ์ บริษัท ตภาตา พับลิเคชั่น จำกัด, 2549, หน้า 427
  147. ^ ธนู แก้วโอภาส, เหตุการณ์สำคัญในศตวรรษที่ 20, ฝ่ายโรงพิมพ์ บริษัท ตภาตา พับลิเคชั่น จำกัด, 2549, หน้า 434
  148. ^ ธนู แก้วโอภาส, เหตุการณ์สำคัญในศตวรรษที่ 20, ฝ่ายโรงพิมพ์ บริษัท ตภาตา พับลิเคชั่น จำกัด, 2549, หน้า 427-428
  149. ^ ธนู แก้วโอภาส, เหตุการณ์สำคัญในศตวรรษที่ 20, ฝ่ายโรงพิมพ์ บริษัท ตภาตา พับลิเคชั่น จำกัด, 2549, หน้า 429
  150. ^ ธนู แก้วโอภาส, เหตุการณ์สำคัญในศตวรรษที่ 20, ฝ่ายโรงพิมพ์ บริษัท ตภาตา พับลิเคชั่น จำกัด, 2549, หน้า 436
  151. ^ http://www.un.org/aboutun/history.htm
  152. ^ Kantowicz, Edward R. Coming Apart, Coming Together, pg. 6
  153. ^ A Constructed Peace: The Making of the European Settlement, 1945-1963, pg. 33
  154. ^ Leffler, Melvyn P.; Painter, David S. Origins of the Cold War: An International History, pg. 318
  155. ^ World War II: Combatants and Casualties (1937 — 1945). เรียกข้อมูลวันที่ 2007-04-20
  156. ^ Source List and Detailed Death Tolls for the Twentieth Century Hemoclysm. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-04-20
  157. ^ World War II Fatalities. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-04-20
  158. ^ Leaders mourn Soviet wartime dead.
  159. ^ J. M. Winter, "Demography of the War", in Dear and Foot, ed., Oxford Companion to World War, p 290.
  160. ^ Florida Center for Instructional Technology (2005). Victims. A Teacher's Guide to the Holocaust. University of South Florida. เรียกข้อมูลวันที่ 2008-02-02
  161. ^ Rummell, Statistics, [1]
  162. ^ Aksar, Yusuf. Implementing International Humanitarian Law: From the Ad Hoc Tribunals to a Permanent International Criminal Court, pg. 45
  163. ^ Liberman, Peter. Does Conquest Pay?: The Exploitation of Occupied Industrial Societies, pg. 42
  164. ^ Milward, Alan S. War, Economy, and Society, 1939-1945, pg. 138
  165. ^ Perrie, Maureen; Lieven, D. C. B.; Suny, Ronald Grigor. The Cambridge History of Russia, pg. 232
  166. ^ Hill, Alexander. The War Behind The Eastern Front: The Soviet Partisan Movement In North-West Russia 1941-1944, pg. 5
  167. ^ Christofferson, Thomas Rodney; Christofferson, Michael Scott. France During World War II: From Defeat to Liberation, pg. 156
  168. ^ Ikeo, Aiko. Economic Development in Twentieth Century East Asia: The International Context, pg. 107
  169. ^ 169.0 169.1 Militärgeschichtliches Forschungsamt. Germany and the Second World War - Volume VI: The Global War, pg. 266
  170. ^ Zhifen Ju, "Japan's atrocities of conscripting and abusing north China draftees after the outbreak of the Pacific war", 2002
  171. ^ Library of Congress, 1992, "Indonesia: World War II and the Struggle For Independence, 1942–50; The Japanese Occupation, 1942–45" Access date: February 9, 2007
  172. ^ 172.0 172.1 Harrison, Mark. The Economics of World War II: Six Great Powers in International Comparison, pg. 3
  173. ^ Hughes, Matthew; Mann, Chris. Inside Hitler's Germany: Life Under the Third Reich, pg. 148
  174. ^ Bernstein, Gail Lee. Recreating Japanese Women, 1600-1945, pg. 267
  175. ^ Lindberg, Michael; Daniel, Todd. Brown-, Green- and Blue-Water Fleets: the Influence of Geography on Naval Warfare, 1861 to the Present, pg. 126
  176. ^ Cox, Sebastian. The Strategic Air War Against Germany, 1939-1945, pg. 84
  177. ^ Final Compensation Pending for Former Nazi Forced Laborers.
  178. ^ Gulag: Understanding the Magnitude of What Happened.
  179. ^ Soviet Prisoners of War: Forgotten Nazi Victims of World War II.
  180. ^ The warlords: Joseph Stalin.
  181. ^ Japanese Atrocities in the Philippines.
  182. ^ Yuki Tanaka, Hidden Horrors, 1996, p.2,3.
  183. ^ Akira Fujiwara, Nitchû Sensô ni Okeru Horyo Gyakusatsu, Kikan Sensô Sekinin Kenkyû 9, 1995, p.22
  184. ^ Tanaka, ibid., Herbert Bix, Hirohito and the Making of Modern Japan, 2001, p.360
  185. ^ Zhifen Ju, "Japan's atrocities of conscripting and abusing north China draftees after the outbreak of the Pacific war", 2002
  186. ^ Zhifen Ju, "Japan's atrocities of conscripting and abusing north China draftees after the outbreak of the Pacific war", 2002
  187. ^ S. P. MacKenzie "The Treatment of Prisoners of War in World War II" The Journal of Modern History, Vol. 66, No. 3. (Sep., 1994), pp. 487-520.
  188. ^ Yoshiaki Yoshimi and Seiya Matsuno, Dokugasusen Kankei Shiryō II (Materials on poison gas Warfare), Kaisetsu, Jūgonen sensō gokuhi shiryōshū, Funi Shuppankan, 1997
  189. ^ Hal Gold, Unit 731 testimony, p.64–65, 1996.
  190. ^ Japan tested chemical weapon on Aussie POW: new evidence. The Japan Times (2007-07-27). เรียกข้อมูลเมื่อวันที่ 2007-06-10.
  191. ^ Germany's forgotten victims.
  192. ^ The Atomic Bombings of Hiroshima and Nagasaki.

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

รายชื่อ
ทั่วไป
สื่อ
เอกสารออนไลน์
เรื่องราว
  • WW2 People's War — โครงการรวบรวมเรื่องราวของผู้คนระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
สารคดี โทรทัศน์
  • The World at War (1974) ซีรี่ส์สงครามโลกครั้งที่สอง (Imdb link)
  • The Second World War in Colour (1999) (Imdb link)
  • Battlefield (documentary series) (1994–1995) รวบรวมยุทธการสำคัญระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
  • The War (2007)


aa - ab - af - ak - als - am - an - ang - ar - arc - as - ast - av - ay - az - ba - bar - bat_smg - bcl - be - be_x_old - bg - bh - bi - bm - bn - bo - bpy - br - bs - bug - bxr - ca - cbk_zam - cdo - ce - ceb - ch - cho - chr - chy - co - cr - crh - cs - csb - cu - cv - cy - da - de - diq - dsb - dv - dz - ee - el - eml - en - eo - es - et - eu - ext - fa - ff - fi - fiu_vro - fj - fo - fr - frp - fur - fy - ga - gan - gd - gl - glk - gn - got - gu - gv - ha - hak - haw - he - hi - hif - ho - hr - hsb - ht - hu - hy - hz - ia - id - ie - ig - ii - ik - ilo - io - is - it - iu - ja - jbo - jv - ka - kaa - kab - kg - ki - kj - kk - kl - km - kn - ko - kr - ks - ksh - ku - kv - kw - ky - la - lad - lb - lbe - lg - li - lij - lmo - ln - lo - lt - lv - map_bms - mdf - mg - mh - mi - mk - ml - mn - mo - mr - mt - mus - my - myv - mzn - na - nah - nap - nds - nds_nl - ne - new - ng - nl - nn - no - nov - nrm - nv - ny - oc - om - or - os - pa - pag - pam - pap - pdc - pi - pih - pl - pms - ps - pt - qu - quality - rm - rmy - rn - ro - roa_rup - roa_tara - ru - rw - sa - sah - sc - scn - sco - sd - se - sg - sh - si - simple - sk - sl - sm - sn - so - sr - srn - ss - st - stq - su - sv - sw - szl - ta - te - tet - tg - th - ti - tk - tl - tlh - tn - to - tpi - tr - ts - tt - tum - tw - ty - udm - ug - uk - ur - uz - ve - vec - vi - vls - vo - wa - war - wo - wuu - xal - xh - yi - yo - za - zea - zh - zh_classical - zh_min_nan - zh_yue - zu -