เฮลซิงกิ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Helsingin kaupunki – Helsingfors stad เมืองเฮลซิงกิ |
|||||
---|---|---|---|---|---|
|
|||||
ก่อตั้ง | 1550 | ||||
ประเทศ | ฟินแลนด์ | ||||
จังหวัด | ฟินแลนด์ใต้ | ||||
ภูมิภาค | อูสิมา | ||||
อนุภูมิภาค | เฮลซิงกิ | ||||
พื้นที่[1] - แผ่นที่ - อันดับ |
185.32 กม.² 184.47 กม.² อันดับที่ 342 |
||||
ประชากร - ความหนาแน่น - ความเปลี่ยนแปลง (ปี) - อันดับ |
564,908 (31 มกราคม 2550)[2] 3,062.3 คน/กม.² + 0.63% (จาก 2549) อันดับที่ 1 |
||||
ภาษาราชการ | ฟินแลนด์, สวีเดน | ||||
การว่างงาน | 8.9% | ||||
ผู้จัดการเมือง | Jussi Pajunen | ||||
เว็บไซต์ | http://www.hel.fi/ |
เฮลซิงกิ (ฟินแลนด์: Helsinki ฟังเสียง ; สวีเดน: Helsingfors ฟังเสียง ) เป็นเมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศฟินแลนด์ ตั้งอยู่ทางใต้ของประเทศ ริมชายฝั่งอ่าวฟินแลนด์ ตัวเมืองมีประชากรประมาณ 560,000 คน เฮลซิงกิอยู่ติดกับเมืองวันตาและเอสโปซึ่งรวมตั้งเป็นเขตเมืองหลวงหรือมหานครเฮลซิงกิ มีประชากรเกือบหนึ่งล้านคน และถ้านับเขตที่อยู่อาศัยในปริมณฑลด้วยจะมีประชากรมากกว่า 1.2 ล้านคน
เฮลซิงฟอร์สเป็นชื่อเมืองดั้งเดิม และยังคงเป็นชื่อเมืองในภาษาสวีเดนในปัจจุบัน ในอดีตเป็นชื่อที่ใช้ในระดับนานาชาติด้วย
เนื้อหา |
[แก้] ประวัติ
ในปีพ.ศ. 2093 พระเจ้ากุสตาฟที่ 1 แห่งสวีเดน ทรงก่อตั้งเมืองเฮลซิงกิขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการค้า แข่งกับเมืองทาลลินน์ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของอ่าวฟินแลนด์ จากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญทางการทหาร เฮลซิงกิจึงตั้งอยู่ที่ปากแม่น้ำวันตา ได้รับการปกป้องจากบรรดาเกาะเล็กๆทั้งหลาย[3] ในช่วงแรกเฮลซิงกิไม่ประสบความสำเร็จมากนัก 90 ปีต่อมา สมเด็จพระราชินีคริสตินา ทรงดำริให้ย้ายเมืองไปทางใต้ 5 กิโลเมตร ซึ่งเป็นที่ตั้งปัจจุบันของเมือง เฮลซิงกิได้รับสถานะเป็นเมืองสำคัญ สามารถทำการค้าขายกับต่างประเทศได้ แต่ในเวลานี้สวีเดนได้ครอบครองทางใต้ของอ่าวฟินแลนด์แล้ว เฮลซิงกิจึงไม่มีความสำคัญมากนัก และยังคงเป็นเมืองเล็กๆอยู่[4]
ในปีพ.ศ. 2291 เริ่มมีการสร้างฐานทัพ Suomenlinna บนหมู่เกาะบริเวณปากอ่าวของเฮลซิงกิ การก่อสร้างนี้ส่งผลต่อเฮลซิงกิจากการที่คนงานนับพันคนเข้ามาทำให้การค้าเจริญเติบโตขึ้น รวมถึงทหารประจำการที่มาพร้อมกับครอบครัวและวัฒนธรรมแบบชาวสวีเดนชั้นสูง[5]
พ.ศ. 2351-52 เกิดสงครามระหว่างรัสเซียและสวีเดน ดินแดนฟินแลนด์ตกเป็นส่วนหนึ่งของสวีเดนในฐานะราชรัฐปกครองตนเองฟินแลนด์ ชาวฟินแลนด์บางส่วนเริ่มสนับสนุนความคิดการตั้งเฮลซิงกิเป็นเมืองหลวงของราชรัฐ ความคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจากฝั่งรัสเซียเช่นกัน เนื่องจากเฮลซิงกิอยู่ใกล้กับเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กมากกว่า และมีอิทธิพลของสวีเดนน้อยกว่าตุรกุซึ่งเป็นเมืองหลวงเดิม ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 จึงตั้งเฮลซิงกิเป็นเมืองหลวงของฟินแลนด์แทนที่ตุรกุในปีพ.ศ. 2355[6] จากการที่เฮลซิงกิถูกทำลายด้วยไฟในปี 2351 ทำให้ซาร์วางแผนที่จะสร้างเมืองขึ้นใหม่ ได้มีการแต่งตั้งวิศวกรชาวฟินแลนด์ให้ออกแบบเมืองใหม่ และเชิญสถาปนิกชาวเยอรมันมาร่วมงาน มีการสร้างอาคารใหม่จำนวนมาก รวมถึงการย้ายมหาวิทยาลัยมาจากตุรกุด้วย สถาปัตยกรรมที่สร้างใหม่นี้มีรูปแบบนีโอคลาสสิกตามแบบเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เฮลซิงกิได้กลายมาเป็นศูนย์กลางทางการปกครองและวัฒนธรรม
ในช่วงสงครามกลางเมืองฟินแลนด์ พ.ศ. 2461 เฮลซิงกิถูกยึดโดยฝ่ายแดงในเดือนมกราคม วุฒิสภาย้ายไปประจำการที่เมืองวาซา กองทัพฝ่ายขาว ร่วมกับทหารเยอรมันสามารถยึดเฮลซิงกิกลับมาได้ในเดือนเมษายน เฮลซิงกิได้รับความเสียหายไม่มากนัก ในช่วงสงครามฤดูหนาวและสงครามต่อเนื่อง (ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง) เฮลซิงกิถูกโจมตีทางอากาศจากสหภาพโซเวียต อย่างไรก็ตาม เฮลซิงกิได้รับความเสียหายไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองสำคัญอื่นๆในยุโรป เฮลซิงกิยังเป็นหนึ่งในสามเมืองหลวงของประเทศในทวีปยุโรปที่เข้าร่วมสงครามที่ไม่ถูกยึดครองโดยฝ่ายศัตรู (อีกสองเมืองคือลอนดอนและมอสโก)
[แก้] สถาปัตยกรรม
หลังจากเฮลซิงกิถูกตั้งเป็นเมืองหลวง เฮลซิงกิก็ถูกแปรสภาพจากเมืองเล็กๆที่มีประชากรเพียง 4,000 คนเป็นศูนย์กลางการปกครองของฟินแลนด์ สถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ได้รับอิทธิพลจากจักรวรรดิรัสเซีย โดยเฉพาะรูปแบบนีโอคลาสสิกตามแบบเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก คาร์ล ลุดวิก เองเกล ชาวเยอรมัน ทำหน้าที่เป็นสถาปนิกใหญ่ในโครงการสร้างเมืองใหม่นี้ ศูนย์กลางของแผนอยู่ที่จัตุรัสวุฒิสภา (Senaatintori; Senatstorgot) ซึ่งมีขนาดใหญ่รองรับคนได้หลายหมื่นคน สิ่งก่อสร้างสำคัญบริเวณจัตุรัสนี้คือมหาวิหาร (ในอดีตเรียกโบสถ์นิโคลัส) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจัตุรัส ทางทิศตะวันออกและตะวันตกเป็นทำเนียบรัฐบาลและอาคารหลักของมหาวิทยาลัยตามลำดับ อาคารสองหลังนี้มีขนาดใกล้เคียงกัน ทำเนียบรัฐบาลมีเสาหินแบบคอรินเธียน ในขณะที่อาคารมหาวิทยาลัยเป็นแบบไอออนิก[7] สิ่งก่อสร้างทั้งสามนี้เป็นผลงานของเองเกล เช่นเดียวกับสิ่งก่อสร้างอีกหลายแห่ง อาคารที่มีชื่อเสียงของเองเกลอีกแห่งหนึ่งคือห้องสมุดมหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับการยกย่องในเรื่องความงดงาม อิทธิพลของรัสเซียอีกอย่างหนึ่งคือโบสถ์ออร์โธดอกซ์ ซึ่งแห่งที่สำคัญของเฮลซิงกิคือมหาวิหารอุสเปนสกี ก่อสร้างในช่วงปีพ.ศ. 2405-2411[8]
เฮลซิงกิยังมีชื่อเสียงในด้านสถาปัตยกรรมแบบอาร์ตนูโว (Jugenstil) โดยมีสถาปนิกคนสำคัญคือเอเลียล ซาริเนน ในช่วงแรกซาริเนนร่วมงานกับสถาปนิกอีกสองคนในบริษัท Gesellius, Lindgren & Saarinen ผลงานที่สำคัญในเฮลซิงกิคือพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ออกแบบในปีพ.ศ. 2445 ผลงานสำคัญของซาริเนนอีกอย่างหนึ่งคือสถานีรถไฟกลางเฮลซิงกิ
อาคารรัฐสภา (Eduskuntatalo) เป็นผลงานนีโอคลาสสิกชิ้นสำคัญของฟินแลนด์ยุคหลังประกาศเอกราช ออกแบบโดยโยฮัน ซิกฟริด ซิเรน ในปีพ.ศ. 2467 และสร้างเสร็จในปีพ.ศ. 2474 ภายหน้าอาคารเป็นเสาหินแบบคอรินเธียน 14 ต้น[9]
สถาปัตยกรรมแบบประโยชน์นิยม (อังกฤษ: functionalism) ได้รับความนิยมในฟินแลนด์ยุคใหม่ อัลวาร์ อาลโต เป็นสถาปนิกชาวฟินแลนด์ที่มีชื่อเสียงในด้านนี้ โดยมีสิ่งก่อสร้างในเฮลซิงกิคือหอฟินแลนเดีย
[แก้] อ้างอิง
- ^ http://www.mapsofworld.com/cities/finland/helsinki/ (อังกฤษ)
- ^ ศูนย์ทะเบียนประชากรฟินแลนด์ Väestörekisterikeskus,Kuntien väestömäärä aakkosjärjestyksessä 31.1 2007 (ประชากรในแต่ละเขตเทศบาลตามลำดับตัวอักษร 31.1 2007) (ฟินแลนด์)
- ^ Bell & Hietala p.19
- ^ Bell & Hietala p.20
- ^ Bell & Hietala p.21
- ^ Bell & Hietala p.22
- ^ Roininen p.18
- ^ Roininen p.44-47
- ^ Finland & Morris p.66
[แก้] บรรณานุกรม
- Bell, M., & Hietala, M. (2002). Helsinki: the innovative city ; historical perspectives. Helsinki: Suomalaisen Kirjallisuuden Seura [u.a.]. ISBN 951-746-359-6 (อังกฤษ)
- Roininen, V., Ekbom, M., & Miller, E. (2003). Vanha, kaunis Helsinki = Det gamla, vackra Helsingfors = Beautiful old Helsinki. Jyväskylä: Atena. ISBN 951-796-309-2 (ฟินแลนด์ สวีเดน อังกฤษ)
- Finland, & Morris, D. (2000). The Finnish parliament. Helsinki: Finnish Parliament : Edita. ISBN 951-37-3228-2(อังกฤษ)
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- แผนที่เมืองเฮลซิงกิ (ฟินแลนด์)
- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ (อังกฤษ)
- Helsinki.fi City Portal (อังกฤษ)