See also ebooksgratis.com: no banners, no cookies, totally FREE.

CLASSICISTRANIERI HOME PAGE - YOUTUBE CHANNEL
Privacy Policy Cookie Policy Terms and Conditions
วิกิพีเดีย - วิกิพีเดีย

วิกิพีเดีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วิกิพีเดีย (Wikipedia)
หน้ารวมโครงการทุกภาษาในวิกิพีเดีย
เว็บไซต์ http://www.wikipedia.org
เชิงพาณิชย์? ไม่ใช่
ประเภทเว็บไซต์ สารานุกรมออนไลน์
เจ้าของ มูลนิธิวิกิมีเดีย
ผู้ก่อตั้ง จิมมี เวลส์, แลร์รี แซงเจอร์
วันที่เปิดตัว 15 มกราคม พ.ศ. 2544
สถานะปัจจุบัน เปิดให้บริการ

วิกิพีเดีย (Wikipedia) คือสารานุกรมออนไลน์หลายภาษาที่แจกจ่ายในลักษณะเนื้อหาเสรี บริหารงานโดยมูลนิธิวิกิมีเดีย คำว่า "วิกิพีเดีย" มีที่มาของชื่อการผสมคำของคำว่า "วิกิ" ซึ่งเป็นลักษณะของการสร้างเว็บไซต์ที่ร่วมกันปรับปรุง และคำว่า "เอนไซโคลพีเดีย" ที่แปลว่าสารานุกรม เว็บไซต์ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2544 โดย จิมมี เวลส์ และ แลร์รี แซงเจอร์ โดยในปัจจุบันวิกิพีเดียเป็นเว็บไซต์สารานุกรมออนไลน์ที่ใหญ่และเติบโตเร็วที่สุดในโลก[1]

ข้อมูลเดือนธันวาคม 2550 วิกิพีเดียมีเนื้อหากว่า 9 ล้านบทความใน 253 ภาษา ประกอบด้วยข้อความกว่า 17,400 ล้านคำ เฉพาะในวิกิพีเดียภาษาอังกฤษ มีเนื้อหามากกว่า 2,000,000 เรื่อง เนื้อหาในวิกิพีเดียเกิดขึ้นโดยการร่วมเขียนจากอาสาสมัครจากทั่วโลก โดยเว็บไซต์เปิดให้ทุกคนสามารถร่วมแก้ไขได้อย่างอิสระ ซึ่งในปัจจุบันวิกิพีเดียได้รับความนิยมเป็น 1 ใน 10 เว็บที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดในโลก[2]

วิกิพีเดียถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องความน่าเชื่อถือและความถูกต้องอยู่เสมอ เนื่องจากวิกิพีเดียเปิดโอกาสให้ทุกคนแก้ไขโดยไม่จำเป็นต้องทำการล็อกอิน ซึ่งส่งผลให้วิกิพีเดียถูกก่อกวนได้ตลอดเวลา ไม่ว่าการใส่คำหยาบสอดแทรก การใส่ข้อความที่คลาดเคลื่อน การลบข้อมูลสำคัญออกไป รวมถึงการใส่ความเห็นลงในตัวบทความ

นอกเหนือจากการเป็นข้อมูลอ้างอิงในด้านสารานุกรมแล้ว วิกิพีเดียได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน เมื่อปี 2549 นิตยสารไทม์ได้มีการกล่าวถึง "บุคคลสำคัญประจำปี" ซึ่งกล่าวออกมาว่าคือ "ตัวคุณเอง" (You) โดยอ้างถึงถึง วิกิพีเดีย ยูทูบ และมายสเปซ ในลักษณะของการสร้างเว็บ 2.0 ซึ่งสำเร็จขึ้นได้จากการร่วมมือของบุคคลหลายล้านคนทั่วโลก[3]

วิกิพีเดียทำงานด้วยซอฟต์แวร์ชื่อมีเดียวิกิ และจัดเก็บในเซิร์ฟเวอร์สามแห่งทั่วโลก โดยมีเซิร์ฟเวอร์ใหญ่อยู่ที่รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา และเซิร์ฟเวอร์ย่อยตั้งอยู่ที่อัมสเตอร์ดัมในเนเธอร์แลนด์ และโซลในเกาหลีใต้

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

วิกิพีเดียเริ่มต้นเมื่อ 15 มกราคม พ.ศ. 2544 โดยเริ่มต้นโครงการจากชื่อสารานุกรมนูพีเดียที่เขียนโดย ผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขาบริหารโดยโบมิส ซึ่งมี จิมมี เวลส์ เป็นผู้บริหารขณะนั้นโดยในช่วงแรกได้ใช้ลิขสิทธิ์เสรีเฉพาะของนูพีเดียเอง และภายหลังได้เปลี่ยนมาเป็นสัญญาอนุญาตเอกสารเสรีของกนูภายหลังจากการผลักดันของริชาร์ด สตอลล์แมน[4]

[แก้] ลักษณะสารานุกรม

สารานุกรมวิกิพีเดียได้รับการยอมรับจากนักวิชาการและสื่อมวลชน เนื่องจากเนื้อหาเปิดเสรีให้สามารถนำไปใช้ได้ รวมถึงเปิดเสรีที่ให้ทุกคนแก้ไข รวมถึงนโยบายมุมมองที่เป็นกลางจากทุกฝ่ายที่เขียนในสารานุกรม อย่างไรก็ตามการนำไปใช้อ้างอิงในเอกสารทางวิชาการยังคงเป็นข้อถกเถียงเนื่องจากการเปิดโอกาสให้ทุกคนแก้ไข ซึ่งง่ายต่อการปรับเปลี่ยนข้อมูลทุกเมื่อ

ผู้ประสงค์ร้ายที่มือบอนเข้าไปทำลายข้อมูลหรือสิ่งดีๆ ในวิกิพีเดีย ยังเป็นปัญหาที่เกิดบ่อย แม้ว่าส่วนใหญ่ผู้ก่อการร้ายเหล่านั้นจะถูกจับได้ และมีการเข้าไปแก้ไขเนื้อหาเพิ่มเติมที่ไม่ถูกต้องเหล่านั้นอย่างรวดเร็ว โดยผู้ใช้วิกิพีเดียที่ทำหน้าที่ตรวจสอบติดตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นล่าสุด

การตรวจสอบเนื้อหาในวิกิพีเดีย ใช้วิธีอ้างอิงจากงานที่ได้รับการตีพิมพ์ (peer-reviewed publications) แทนที่จะเป็นบุคคลผู้เชี่ยวชาญ วิกิพีเดียไม่เรียกร้องให้ผู้ร่วมสมทบงานให้ชื่อสกุลจริงหรือข้อมูลอื่นใดเพื่อสร้างตัวตนในวิกิพีเดีย และแม้ว่าผู้สมทบงานบางรายจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาของตน วิกิพีเดียก็ยังต้องการให้งานสมทบของเขาสนับสนุนโดยแหล่งอ้างอิงที่ตีพิมพ์แล้วและตรวจสอบได้

ความน่าเชื่อถือของวิกิพีเดียได้ถูกทำการทดสอบ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2548 ได้มีทีมนักวิจัยทดสอบความถูกต้องของวิกิพีเดียฉบับภาษาอังกฤษ เปรียบเทียบกับสารานุกรมบริเตนนิกา สารานุกรมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก โดยนำเรื่องราวเกี่ยวกับด้านวิทยาศาสตร์ไปทดสอบ ผลลัพธ์ที่ออกมาสรุปว่าความถูกต้องใกล้เคียงกัน โดยมีการผิดพลาดทางข้อมูลและการใช้ภาษาใกล้เคียงกัน[5]

วิกิพีเดียถูกกล่าวหาว่านำเสนอเนื้อหาที่มีความลำเอียงอย่างเป็นระบบ (systemic bias) และมีความไม่สอดคล้องกัน[6] นักวิจารณ์ให้เหตุผลว่า ธรรมชาติที่เปิดของวิกิพีเดียและการไม่มีแหล่งข้อมูลอ้างอิงในเนื้อหาจำนวนมาก ทำให้มันไม่น่าเชื่อถือ[7] นักวิจารณ์อีกกลุ่มแนะว่า โดยปกติแล้ววิกิพีเดียนั้นเชื่อถือได้ แต่มันไม่แน่ชัดเท่าไรนักว่าน่าเชื่อถือแค่ไหน[8] มหาวิทยาลัยและอาจารย์จำนวนมากไม่สนับสนุนให้นักเรียนอ้างอิงสารานุกรมใด ๆ ในงานวิชาการ และชอบที่จะให้ใช้งานจากแหล่งปฐมภูมิมากกว่า[9] บางรายระบุเป็นการเฉพาะว่าห้ามอ้างอิงวิกิพีเดีย[10] ผู้ร่วมก่อตั้งวิกิพีเดีย จิมมี่ เวลส์ เน้นว่าสารานุกรมชนิดใด ๆ นั้นโดยปกติแล้วไม่เหมาะสมสำหรับใช้เป็นแหล่งข้อมูลปฐมภูมิ และไม่ควรไว้วางใจมันว่าเป็นแหล่งที่เชื่อถือได้[11]

[แก้] เนื้อหาเสรี และการอนุญาตให้ใช้แบบเสรี

เนื้อหาข้อความทั้งหมดในวิกิพีเดียเป็นเนื้อหาเสรี งานสมทบที่ส่งมายังวิกิพีเดียทุกชิ้นถูกคุ้มครองโดย สัญญาอนุญาตเอกสารเสรีของกนู ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญญาอนุญาตชนิด "copyleft" ที่ให้สิทธิ์นำเนื้อหาไปแจกจ่ายซ้ำ ดัดแปลงต่อยอด และนำไปใช้งานได้อย่างเสรี ทั้งนี้รวมถึงการใช้งานเชิงพาณิชย์ด้วย สัญญาอนุญาตตัวนี้ อนุญาตให้ผู้ร่วมเขียนวิกิพีเดียแต่ละคนยังคงมีสิทธิ์ในงานที่ตนเองสร้างสรรค์ขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังอนุญาตให้ผู้อื่นนำงานนั้นไปต่อยอดและแจกจ่ายงานต่อยอดนั้นต่อได้ เพียงมีเงื่อนไขว่าจะต้องให้เครดิตกับเจ้าของงานดั้งเดิม และงานต่อยอดนั้นจะต้องใช้สัญญาอนุญาต GFDL เช่นเดียวกัน ด้วยสัญญาอนุญาตตัวนี้ ทำให้รับประกันได้ว่าวิกิพีเดียจะถูกแก้ไขได้อย่างเสรีและอย่างเท่าเทียมกัน การสมทบงานของผู้เขียนแต่ละคน จะถูกบันทึกไว้ในฐานข้อมูลตราบนานเท่านาน แลร์รี แซงเจอร์ เคยกล่าวถึงการใช้ GFDL ไว้ว่า “การรับประกันเสรีภาพ เป็นแรงจูงใจสำคัญในการทำงานสารานุกรมเสรี”[12]

วิกิพีเดียนั้นยังประกอบด้วยภาพและสื่ออื่น ๆ ที่ไม่ได้สร้างสรรค์โดยผู้ร่วมแก้ไข โดยสื่อเหล่านั้นอาจจะเป็นสาธารณสมบัติ หรือใช้สัญญาอนุญาตแบบ copyleft อื่น หรือสัญญาอนุญาตที่เข้ากันได้กับ GFDL เช่นสัญญาอนุญาตประเภท ครีเอทีฟคอมมอนส์ อย่างไรก็ตามยังคงมีชิ้นงานอื่น ๆ เช่น ตราประจำบริษัท ตัวอย่างเพลง ภาพข่าวที่มีลิขสิทธิ์ ฯลฯ ที่นำออกแสดงในวิกิพีเดีย ด้วยการอ้างสิทธิ์การใช้งานโดยชอบธรรม ภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกา (เครื่องแม่ข่ายที่เก็บเนื้อหาของวิกิพีเดียนั้น โดยส่วนใหญ่รวมถึงวิกิพีเดียภาษาไทย ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา)

[แก้] อคติและการโอนเอียงของข้อมูล

อคติในระบบของวิกิพีเดีย เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าเรื่องราวบางเรื่องมีข้อมูลลงลึกมากกว่าเรื่องอื่น ๆ ซึ่งข้อวิพากษ์วิจารณ์นี้ แม้กระทั่งผู้เสนอโครงการวิกิพีเดียเองก็ยอมรับ

[แก้] ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์

วิกิพีเดียทำงานด้วยซอฟต์แวร์ชื่อมีเดียวิกิที่เป็นซอฟต์แวร์ในลักษณะโอเพนซอร์ซทำงานผ่านการบริหารเว็บไซต์ที่เรียกว่าวิกิ ตัวซอฟต์แวร์เขียนขึ้นด้วยภาษาพีเอชพีที่ทำงานร่วมกับฐานข้อมูลมายเอสคิวแอล ในช่วงเริ่มต้น ในระยะที่หนึ่งวิกิพีเดียทำงานด้วยซอฟต์แวร์ชื่อยูสม็อดวิกิที่เขียนขึ้นในภาษาเพิร์ล จนกระทั่งเดือนมกราคม 2545 วิกิพีเดียเริ่มโครงการระยะที่ 2 ได้เปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ชื่อพีเอชพีวิกิร่วมกับฐานข้อมูลมายเอสคิวแอล และต่อมาในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน วิกิพีเดียได้มาใช้ซอฟต์แวร์มีเดียวิกิ ซึ่งเป็นโครงการระยะที่ 3 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

วิกิพีเดียทำงานและเก็บข้อมูลเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการลินุกซ์เนื้อหาทั้งหมดจัดเก็บไว้ที่รัฐฟลอริดาในสหรัฐอเมริกา และอีก 2 เซิร์ฟเวอร์ย่อยที่อัมสเตอร์ดัมในเนเธอร์แลนด์ และโซลในเกาหลีใต้ สำหรับจัดการบริหารและดูแลรักษาข้อมูล[13] ในช่วงระยะแรกวิกิพีเดียเก็บข้อมูลในเซิร์ฟเวอร์เดี่ยวจนกระทั่งได้มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และเมื่อ เดือนมกราคม 2548 โครงการทั้งหมดได้ทำงานบนเครื่องเซิร์ฟเวอร์ 39 เครื่องที่ตั้งในรัฐฟลอริดา และต่อมาในเดือนกันยายนปีเดียวกันจนกระทั่งปัจจุบัน ได้มีการเพิ่มเซิร์ฟเวอร์กว่า 100 เครื่อง โดยตั้งอยู่ที่เมืองแทมปาในรัฐฟลอริดา อัมเสตอร์ดัม และโซล

วิกิพีเดียมีการเรียกใช้งานประมาณ 10,000 ถึง 35,000 หน้าต่อวินาที ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของแต่ละวัน[14] โดยทางระบบจะส่งข้อมูลเก่าที่เป็นแคชจากเซิร์ฟเวอร์สควิดแคชเลเยอร์ชั้นบนสุดไปให้ผู้เข้าชมเว็บ ซึ่งถ้าข้อมูลนั้นไม่มีในแคชข้อมูลจากเซิร์ฟเวอร์หลักจะถูกส่งมาแทนที่เพื่อลดการทำงานของเซิร์ฟเวอร์หลัก อย่างไรก็ตามข้อมูลในเซิร์ฟเวอร์แคชจะถูกล้างเป็นระยะเพื่อพัฒนาข้อมูลใหม่ ในทางตรงข้ามผู้ร่วมเขียนบทความจะได้ข้อมูลตรงจากทางเซิร์ฟเวอร์หลักแทนที่สควิดแคชเสมอ

[แก้] รุ่นภาษา

ดีวีดี วิกิพีเดียภาษาโปแลนด์
ดีวีดี วิกิพีเดียภาษาโปแลนด์

ปัจจุบันวิกิพีเดียมีทั้งหมด 253 ภาษา โดยมีวิกิพีเดีย 15 ภาษาที่มีเนื้อหามากกว่า 100,000 เรื่อง ซึ่งวิกิพีเดียภาษาอังกฤษเป็นรุ่นที่มีเนื้อหามากที่สุด รองลงมาด้วย เยอรมัน ฝรั่งเศส โปแลนด์ และญี่ปุ่น

เนื่องจากผู้ใช้วิกิพีเดียสามารถร่วมสร้างจากทั่วโลกผ่านทางเว็บไซต์ทำให้ ทำให้เกิดมีความขัดแย้งเกิดขึ้นจากผู้เขียนที่ใช้ภาษาถิ่นแตกต่างกัน โดยปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยปรากฏในวิกิพีเดียภาษาอังกฤษ ตัวอย่างเช่น ภาษาถิ่นสำเนียง อังกฤษบริติช และอังกฤษอเมริกันส่งผลให้มีการสะกดหลายแบบ (ตัวอย่างเช่น colour และ color) รวมไปถึงเนื้อหาที่ถูกสร้างขึ้นจากมุมมองที่ต่างกัน

อย่างไรก็ตามแม้ว่าวิกิพีเดียในแต่ละภาษาได้มีการบริหารแยกจากกันต่างหาก ทางมูลนิธิได้มีการตั้งเว็บไซต์เมต้าวิกิใช้เป็นศูนย์กลางในการประสานงานของวิกิพีเดียแต่ละภาษา เช่นการให้บริการข้อมูลด้านสถิติ แสดงรายชื่อบทความพื้นฐานที่แต่ละวิกิพีเดียควรมี รวมถึงการเชื่อมโยงบทความในแต่ละภาษาเข้าด้วยกันผ่านทางลิงก์ที่เรียกว่า "อินเตอร์วิกิ"

วิกิพีเดียยังมีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางสื่ออื่นนอกเหนือจากทางเว็บไซต์ วิกิพีเดียในหลายภาษาได้มีการนำข้อมูลบรรจุลงในแผ่นดีวีดี เช่นในวิกิพีเดียภาษาอังกฤษ วิกิพีเดียภาษาโปแลนด์[15] และวิกิพีเดียภาษาเยอรมัน[16] นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาข้อมูลวิกิพีเดียเพื่อนำไปใช้ในเครื่องไอพ็อด [17]

[แก้] โครงการอื่น

คุณสามารถหาข้อมูลภาษาอังกฤษเกี่ยวกับ วิกิพีเดีย ได้โดยค้นหาจากโครงการพี่น้องของวิกิพีเดีย:
หาความหมาย จากวิกิพจนานุกรม
หนังสือ จากวิกิตำรา
คำคม จากวิกิคำคม
ข้อมูลต้นฉบับ จากวิกิซอร์ซ
ภาพและสื่อ จากคอมมอนส์
เนื้อหาข่าว จากวิกิข่าว

มูลนิธิวิกิพีเดียยังได้จัดตั้งโครงการอื่นที่ใช้ซอฟต์แวร์เดียวกันนอกเหนือจากการจัดทำสารานุกรม โดยมีโครงการแรกคือ "In Memoriam: September 11 Wiki" ที่เริ่มสร้างเมื่อเดือนตุลาคม 2545 รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ วินาศกรรม 11 กันยายน พ.ศ. 2544 แต่ได้ปิดตัวลงเมื่อเดือนตุลาคม 2549 โครงการวิกิพจนานุกรมที่ยังคงใช้งานจนถึงปัจจุบัน จัดการข้อมูลในลักษณะพจนานุกรมเริ่มเปิดตัวเมื่อธันวาคม 2545 และตามด้วยโครงการวิกิคำคม วิกิตำรา วิกิข่าว วิกิวิทยาลัย และโครงการอื่นตามมา

นอกจากนี้แล้วได้มีหลายหน่วยงานสร้างโครงการสารานุกรมในลักษณะคล้ายกัน โดยคัดลอกข้อมูลจากวิกิพีเดียที่เปิดให้คัดลอกเสรีไปพัฒนาต่อยอดในเว็บไซต์ภายใต้ รูปแบบและนโยบายที่ต่างกัน ตัวอย่างเช่นโครงการ ซิติเซนเดียม ไป่ตู้ไป่เคอ หรือ คลังปัญญาไทย

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ Look Who's Using Wikipedia ข่าวจากนิตยสารไทม์
  2. ^ การจัดอันดับเว็บยอดนิยมทั่วโลก จัดทำโดยอเล็กซา
  3. ^ Time's Person of the Year: You ข่าวจากนิตยสารไทม์
  4. ^ The Free Encyclopedia Project
  5. ^ Wikipedia as accurate as Britannica ข่าวจากเว็บซีเอ็นเอ็นกล่าวถึงการทดสอบวิกิพีเดียเปรียบเทียบกับสารานุกรมอื่น
  6. ^ Simon Waldman, Who knows?, The Guardian, 26 ตุลาคม พ.ศ. 2547
  7. ^ Stacy Schiff, Know It All, The New Yorker, 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2549
  8. ^ Danah Boyd, Academia and Wikipedia, Many-to-Many, 4 มกราคม พ.ศ. 2548.
  9. ^ Wide World of WIKIPEDIA, The Emory Wheel, 21 เมษายน พ.ศ. 2549, เรียกดู 25 มกราคม 2550
  10. ^ Scott Jaschik, A Stand Against Wikipedia, Inside Higher Ed, 26 มกราคม 2550, เรียกดู 27 มกราคม 2550
  11. ^ Burt Helm, Wikipedia: "A Work in Progress", BusinessWeek, 14 ธันวาคม พ.ศ. 2548, เรียกดู 29 มกราคม 2550
  12. ^ แลร์รี แซงเจอร์, "Britannica or Nupedia? The Future of Free Encyclopedias", Kuro5hin, 25 ก.ค. พ.ศ. 2544.
  13. ^ เซิร์ฟเวอร์ของวิกิพีเดีย
  14. ^ สถิติการเรียกใช้งานวิกิพีเดีย
  15. ^ /en ดีวีดีวิกิพีเดียภาษาโปแลนด์
  16. ^ ดีวีดีวิกิพีเดียภาษาเยอรมัน
  17. ^ วิกิพีเดียสำหรับไอพอด

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

ภาษาอื่น


aa - ab - af - ak - als - am - an - ang - ar - arc - as - ast - av - ay - az - ba - bar - bat_smg - bcl - be - be_x_old - bg - bh - bi - bm - bn - bo - bpy - br - bs - bug - bxr - ca - cbk_zam - cdo - ce - ceb - ch - cho - chr - chy - co - cr - crh - cs - csb - cu - cv - cy - da - de - diq - dsb - dv - dz - ee - el - eml - en - eo - es - et - eu - ext - fa - ff - fi - fiu_vro - fj - fo - fr - frp - fur - fy - ga - gan - gd - gl - glk - gn - got - gu - gv - ha - hak - haw - he - hi - hif - ho - hr - hsb - ht - hu - hy - hz - ia - id - ie - ig - ii - ik - ilo - io - is - it - iu - ja - jbo - jv - ka - kaa - kab - kg - ki - kj - kk - kl - km - kn - ko - kr - ks - ksh - ku - kv - kw - ky - la - lad - lb - lbe - lg - li - lij - lmo - ln - lo - lt - lv - map_bms - mdf - mg - mh - mi - mk - ml - mn - mo - mr - mt - mus - my - myv - mzn - na - nah - nap - nds - nds_nl - ne - new - ng - nl - nn - no - nov - nrm - nv - ny - oc - om - or - os - pa - pag - pam - pap - pdc - pi - pih - pl - pms - ps - pt - qu - quality - rm - rmy - rn - ro - roa_rup - roa_tara - ru - rw - sa - sah - sc - scn - sco - sd - se - sg - sh - si - simple - sk - sl - sm - sn - so - sr - srn - ss - st - stq - su - sv - sw - szl - ta - te - tet - tg - th - ti - tk - tl - tlh - tn - to - tpi - tr - ts - tt - tum - tw - ty - udm - ug - uk - ur - uz - ve - vec - vi - vls - vo - wa - war - wo - wuu - xal - xh - yi - yo - za - zea - zh - zh_classical - zh_min_nan - zh_yue - zu -