มอซิลลา ไฟร์ฟอกซ์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
-
สำหรับความหมายอื่น ดูที่ ไฟร์ฟอกซ์ (แก้ความกำกวม)
Mozilla Firefox | |
ภาพหน้าจอของ ไฟร์ฟอกซ์ 3.0 |
|
ผู้พัฒนา: | บริษัทมอซิลลา / มูลนิธิมอซิลลา |
---|---|
รุ่นล่าสุด: | 3.0 / 17 มิถุนายน 2551 |
รุ่นทดสอบ: | 3.0 RC3 / 11 มิถุนายน 2551 |
ระบบปฏิบัติการ: | หลายระบบปฏิบัติการ |
แพลตฟอร์ม: | เกกโก |
ภาษาที่ใช้ได้: | มากกว่า 45 ภาษา |
ประเภท: | เว็บเบราว์เซอร์ ไคลเอนต์เอฟทีพี ไคลเอนต์โกเฟอร์ |
ลิขสิทธิ์: | MPL /GPL/LGPL/Mozilla EULA |
เว็บไซต์: | www.firefox.com |
มอซิลลา ไฟร์ฟอกซ์ (Mozilla Firefox) รู้จักในชื่อ ไฟร์ฟอกซ์ เป็นเว็บเบราว์เซอร์ และไคลเอนต์สำหรับโกเฟอร์และเอฟทีพี ที่สามารถใช้ได้ในหลายระบบปฏิบัติการ พัฒนาโดยมูลนิธิมอซิลลาและอาสาสมัครอีกหลายร้อยคน ปัจจุบันอยู่ใต้การดำเนินงานของบริษัทมอซิลลา ปัจจุบันไฟร์ฟอกซ์เป็นเว็บเบราว์เซอร์ที่นิยมอันดับ 2 รองจากอินเทอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์ ไฟร์ฟอกซ์มีส่วนแบ่งในตลาดเว็บเบราว์เซอร์ร้อยละ 16.80 (ข้อมูลเมื่อธันวาคม 2550)[1]
ไฟร์ฟอกซ์ใช้เกกโกตัวเรนเดอริงเอนจินโอเพนซอร์ซซึ่งจัดการตามมาตรฐานเว็บสอดคล้องกับทางดับเบิลยูธรีซีกำหนดไว้ และเพิ่มคำสั่งพิเศษเข้าไป คำสั่งไฟร์ฟอกซ์เป็นซอฟต์แวร์ที่เปิดให้โปรแกรมเมอร์ที่เรียกว่า "แอด-ออนส์" ทำงานร่วมกับตัวโปรแกรม โดยปัจจุบันมีมากกว่า 2,000 ตัว[2] โดยตัวที่นิยมมากที่สุดตามลำดับคือ ฟอกซีทูนส์ (ควบคุมโปรแกรมเล่นเพลง) สตัมเบิลอัปออน (ค้นหาเว็บไซต์) แอดบล็อกพลัส (บล็อกโฆษณา) ดาวน์เดมออล! (ดาวน์โหลด) และเว็บเดเวลอปเปอร์ (เครื่องมือสำหรับทำเว็บ)[3]
ไฟร์ฟอกซ์ทำงานได้ในหลายระบบปฏิบัติการรวมถึง วินโดวส์ แมคโอเอสเท็น ลินุกซ์ รุ่นปัจจุบันคือรุ่น 3.0 ออกเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 ตัวโค้ดโปรแกรมเขียนขึ้นในภาษา C++ XUL XBL และ จาวาสคริปต์ โดยโค้ดทั้งหมดเปิดให้ใช้ฟรีภายใต้ลิขสิทธิ์ MPL GPL / LGPL และ Mozilla EULA
ไฟร์ฟอกซ์ในปัจจุบันรับรองการใช้ 44 ภาษาที่พร้อมใช้งาน 1 ภาษาที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา และแพ็กภาษาแยกต่างหากอีก 5 ภาษา[4] โดยภาษาไทยอยู่ในระหว่างการพัฒนา ยังไม่มีการบรรจุอย่างเป็นทางการ
เนื้อหา |
[แก้] ประวัติ
โครงการไฟร์ฟอกซ์ริเริ่มโดย เดฟ ไฮแอตต์ และ เบลก รอสส์ จากแนวความคิดการสร้างซอฟต์แวร์แยกย่อยมาจากโครงการมอซิลลา โดยตั้งใจพัฒนาโปรแกรมเดี่ยวที่ทำงานมุ่งเน้นสำหรับเป็นเว็บเบราว์เซอร์แยกออกมาจากโปรแกรมชุดมอซิลลา (Mozilla Suite) โดยในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2546 มูลนิธิมอซิลลาได้ประกาศแผนการพัฒนามุ่งเน้นไปที่ไฟร์ฟอกซ์และทันเดอร์เบิร์ดแทนที่โปรแกรมชุดมอซิลลา[5]
ชื่อโครงการได้มีการเปลี่ยนชื่อหลายครั้งกว่าจะมาเป็นไฟร์ฟอกซ์ ซึ่งเริ่มต้นที่ชื่อ "ฟีนิกซ์" (Phoenix) ต่อมาได้ถูกเปลี่ยนภายหลังจากมีปัญหาในด้านเครื่องหมายการค้ากับบริษัทฟีนิกซ์เทคโนโลยีผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ไบออส โดยเปลี่ยนมาเป็นชื่อ "ไฟร์เบิร์ด" (Firebird) และอีกครั้งได้มีปัญหาชื่อซ้ำซ้อนกับระบบจัดการฐานข้อมูลไฟร์เบิร์ด และในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 ทางมูลนิธิมอซิลลาได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งมาเป็น "ไฟร์ฟอกซ์" (Firefox) โดยใช้ชื่อย่อว่า Fx หรือ fx[6]
ไฟร์ฟอกซ์ 1.0 ได้เปิดให้ใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 โดยระหว่างนั้นได้มีการปรับแก้ตลอดเวลารวมถึงเพิ่มระบบความปลอดภัยให้กับตัวซอฟต์แวร์ โดยรุ่นถัดมาคือ ไฟร์ฟอกซ์ 1.5 ที่ออกมาเมื่อ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 และตามมาด้วย ไฟร์ฟอกซ์ 2 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งในปัจจุบันไฟร์ฟอกซ์ 3 กำลังอยู่ในขั้นทดสอบ
ผู้นำโครงการปัจจุบันคือ เบน กูดเจอร์ (Ben Goodger - ปัจจุบันเป็นพนักงานของกูเกิล แต่ยังคงทำหน้าที่นี้อยู่) ปัจจุบันมีผู้ดาวน์โหลดไปมากกว่า 100 ล้านชุด และปริมาณการใช้ในแถบยุโรปสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศฟินแลนด์
[แก้] สัญลักษณ์
สัญลักษณ์ของไฟร์ฟอกซ์ออกแบบโดย จอน ฮิกส์ ถึงแม้ว่าตัวโปรแกรมจะเป็นซอฟต์แวร์เสรีและโอเพนซอร์ส แต่สัญลักษณ์นี้เป็นเครื่องหมายการค้าของมูลนิธิมอซิลลา ดังนั้นผู้อื่นที่เผยแพร่ซอฟต์แวร์นี้จึงไม่สามารถใช้สัญลักษณ์นี้ได้ (เช่น ไฟร์ฟอกซ์ของโครงการเดเบียน เป็นต้น)
[แก้] รุ่นการพัฒนา
ชื่อเบราว์เซอร์ | รุ่นเกกโก | รุ่น | ชื่อรหัส | วันที่ออก |
---|---|---|---|---|
ฟีนิกซ์ (Phoenix) |
1.2 | 0.1 | Pescadero (เปสกาเดโร) | 23 กันยายน พ.ศ. 2545 |
0.2 | Santa Cruz (ซานตาครูซ) | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2545 | ||
0.3 | Lucia (ลูเชีย) | 14 ตุลาคม พ.ศ. 2545 | ||
1.3 | 0.4 | Oceano (โอเชียโน) | 19 ตุลาคม พ.ศ. 2545 | |
0.5 | Naples (เนเปิลส์) | 7 ธันวาคม พ.ศ. 2545 | ||
มอซิลลา ไฟร์เบิร์ด (Mozilla Firebird) |
1.5 | 0.6 | Glendale (เกลนเดล) | 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 |
0.7 | Indio (อินดีโอ) | 15 ตุลาคม พ.ศ. 2546 | ||
มอซิลลา ไฟร์ฟอกซ์ (Mozilla Firefox) |
1.6 | 0.8 | Royal Oak (รอยัลโอ๊ก) | 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 |
1.7 | 0.9 | One Tree Hill (วันทรีฮิลล์) | 15 มิถุนายน พ.ศ. 2547 | |
1.0 | Phoenix (ฟีนิกซ์) | 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 | ||
1.8 | 1.5 | Deer Park (เดียร์พาร์ก) | 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 | |
มอซิลลา ไฟร์ฟอกซ์ 2 (Mozilla Firefox 2) |
1.8.1 | 2.0 | Bon Echo (บงเอโก) | 24 ตุลาคม พ.ศ. 2549 |
มอซิลลา ไฟร์ฟอกซ์ 3 (Mozilla Firefox 3) |
1.9 | 3.0 | Gran Paradiso (กรันปาราดีโซ) | 17 มิถุนายน พ.ศ. 2551 |
มอซิลลา ไฟร์ฟอกซ์ 3.1 (Mozilla Firefox 3.1) |
1.9.1 | 3.1 | Shiretoko (ชิเระโตะโกะ) | |
มอซิลลา ไฟร์ฟอกซ์ 4 (Mozilla Firefox 4) |
2.0 | 4.0 |
รุ่นเก่า | รุ่นปัจจุบัน | รุ่นทดลอง | รุ่นในอนาคต |
[แก้] ไฟร์ฟอกซ์กับภาษาไทย
ปัจจุบันยังไม่มีไฟร์ฟอกซ์ภาษาไทยอย่างเป็นทางการ [4] อย่างไรก็ตามตัวโปรแกรมสามารถใช้งานได้ดี ทั้งการเข้ารหัสแบบยูนิโคดและรหัสแบบธรรมดาคือ TIS-620 และ ISO-8859-11 เหมือนเว็บเบราว์เซอร์อื่นทั่วไป แต่ไฟร์ฟอกซ์ไม่ได้รองรับการตัดคำท้ายประโยคของภาษาไทยโดยตรง (เนื่องจากอาสาสมัครในทีมงานมอซิลลา มีกลุ่มคนไทยไม่เพียงพอ และการตัดคำนั้นทำให้ขนาดโปรแกรมใหญ่ขึ้น) กลุ่มลีนุกซ์ไทยและอาสาสมัครอิสระ ได้พัฒนาไฟร์ฟอกซ์แยกออกมา ที่รับรองการตัดคำภาษาไทย (ยังไม่ได้รับรองโดย มูลนิธิมอซิลลา)
[แก้] ความสามารถของไฟร์ฟอกซ์
ไฟร์ฟอกซ์ มีความสามารถที่แตกต่างจากเบราว์เซอร์ตัวอื่น ในขณะเดียวกันก็ขาดคุณสมบัติบางประการที่มีในเบราว์เซอร์ตัวอื่น ๆ เช่นกัน เพื่อให้ขนาดไฟล์มีขนาดเล็ก นอกจากความสามารถหลัก ไฟร์ฟอกซ์สนับสนุนความสามารถเสริมอื่น ๆ ด้วยกัน 3 ส่วนที่พัฒนาแยกออกมาจากตัวโปรแกรมไฟร์ฟอกซ์ ได้แก่ เอกซ์เทนชัน (extension) , ธีม (theme) , ปลั๊กอินส์ (plugin) โดยความสามารถเสริมนี้ ผู้ใช้แต่ละคนสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้ หรือสามารถพัฒนาของตัวเองได้
[แก้] ไลฟ์บุกมาร์ก
ไลฟ์บุกมาร์ก (Live Bookmarks) เป็นบุกมาร์กที่มีการอัปเดตตลอดเวลา ใช้สำหรับในการอ่านข้อมูลจาก RSS หรือ อะตอม ได้โดยตรง โดยข้อมูลดังกล่าวจะมีการอัปเดตอยู่ตลอดเวลา โดยไม่ต้องเข้าไปอ่านในเว็บนั้น ๆ ข้อมูลต่อไปนี้ได้แก่ ข้อมูลข่าวจากเว็บต่างๆ ข้อมูลพยากรณ์อากาศ ข้อมูลจากบล็อก หรือข้อมูลจาก เว็บบอร์ด โดยในแต่ละเว็บที่มีการให้บริการจะมีสัญลักษณ์ RSS หรือ Atom ปรากฏไว้ในเว็บนั้น
ตัวอย่างการใช้งานเช่นการฟีดข้อมูลจากเว็บข่าว เว็บบอร์ด หรือเว็บใดก็ตามที่สนับสนุนระบบ RSS หรือ อะตอม โดยเมื่อใส่ข้อมูลเข้าไปในบุกมาร์กแล้ว เวลาเรียกใช้เพียงกดเข้าไปที่บุกมาร์กนั้น และหัวข้อของเว็บปลายทางจะปรากฏ
[แก้] เสิร์ชเอนจินในตัว
สามารถใช้ความสามารถของเสิร์ชเอนจิน ได้โดยผ่านทางไฟร์ฟอกซ์โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปในเว็บนั้นๆ เอนจินหลักที่เห็นได้แก่ กูเกิล, ยาฮู! วิกิพีเดีย, IMDB นอกจากนี้เสิร์ชเอนจินในไฟร์ฟอกซ์สามารถดาวน์โหลดเพิ่มเติมได้
[แก้] แท็บด์เบราว์ซิง
ด้วยความสามารถของแท็บด์เบราว์ซิง (tabbed browsing) ผู้ใช้สามารถเปิดหน้าเว็บเพจได้หลาย ๆ หน้า ภายในหน้าจอเดียวกัน (โดยใช้เมาส์ปุ่มกลาง) ในแต่ละหน้าจะแบ่งแยกเป็นแท็บ โดยความสามารถนี้ ผู้ใช้สามารถเปิดเว็บเพจหลายหน้าพร้อมกันจากบุคมาร์ก ในทีเดียวนอกจากในไฟร์ฟอกซ์ แท็บด์เบราว์ซิงยังมีใน ซาฟารี เนตสเคป นาวิเกเตอร์ รุ่น 8.0 และในอินเทอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์ 7.0
[แก้] กันป๊อปอัพ
ความสามารถในการบล็อกป๊อปอัพ (การป้องกันไม่ให้เว็บเพจเปิดหน้าต่างใหม่เองโดยไม่ได้รับอนุญาต) โดยไม่ต้องใช้โปรแกรมเสริม เริ่มมีในไฟร์ฟ็อกซ์รุ่นเบต้า ความสามารถนี้สามารถเลือกที่จะใช้กับทุกเว็บไซต์ หรือแค่บางเว็บไซต์ได้ ซึ่งต่อมาอินเทอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์ในวินโดวส์เอกซ์พี SP2 ได้เพิ่มความสามารถนี้เข้าไปด้วยเช่นกัน
[แก้] การจัดการดาวน์โหลด
ผู้จัดการดาวน์โหลด (Download manager) จัดการไฟล์ที่ดาวน์โหลดทั้งหมด สามารถเลือกได้ระหว่างการเปิดใช้ หรือว่าการจัดเก็บลงในเครื่อง และสามารถดูย้อนหลังได้โดยว่า ไฟล์อะไรบ้างที่ได้ดาวน์โหลดมา และจัดเก็บไว้ที่ใด
[แก้] เอกซ์เทนชัน
เอกซ์เทนชัน (Extension) เป็นความสามารถเพิ่มเติม ที่ผู้พัฒนาอื่น ๆ สร้างขึ้นเพื่อเสริมความสามารถของไฟร์ฟอกซ์ ตัวอย่างของส่วนขยายได้แก่
- Customized Google Extension หรือ ตัวปรับแต่งกูเกิล - ช่วยเพิ่มความสามารถของกูเกิลที่ใช้ในไฟร์ฟอกซ์หลายอย่าง เช่น แนะนำคำสำคัญสำหรับการค้นหา ค้นหาคำเดียวกันจากเว็บอื่น ๆ เช่น ยาฮู หรือ เอ็มเอสเอ็น หรือปิดการแสดงโฆษณา
- Gmail Notifier Extension หรือ ตัวแจ้งจีเมล - ช่วยเช็คอีเมลจากบริการจีเมล ซึ่งเป็นอีเมลฟรีบริการโดยกูเกิล โดยเมื่อมีอีเมลใหม่เข้ามา ก็จะมีข้อความบอก
- พยากรณ์อากาศ - แสดงการพยากรณ์พร้อมสภาพอากาศปัจจุบัน ของสถานที่ที่กำหนด
- วิกิพีเดีย - ช่วยให้เขียนและแก้ไขวิกิพีเดียได้โดยสะดวก โดยเตรียมฟังก์ชันสร้าง/แก้ไข ตาราง ภาพและคำอธิบาย รูปแบบตัวอักษร อักษรพิเศษ ไว้ให้เรียกใช้ได้ง่าย ๆ
- ตัวช่วยในการดาวน์โหลดสิ่งต่าง ๆ ที่เราต้องการดาวน์โหลดได้ โดยการใช้ไฟร์ฟอกซ์ เอกซ์เทนชัน (FireFox Extension) ที่ชื่อ Flashgot เป็นตัวที่เชื่อมต่อระหว่างเบราซ์เซอร์ไฟร์ฟอกซ์กับโปรแกรมช่วยดาวน์โหลดที่ชื่อ FlashGet หรือ Mass Downloader
- Locationbar² - ช่วยถอดรหัสให้สามารถแสดงยูอาร์แอลเป็นอักษรภาษาต่าง ๆ เช่นในเว็บไซต์วิกิพีเดีย
- นอกจากนี้ยังมีความสามารถอื่น ๆ เพิ่มเติม ดูได้ที่เว็บของไฟร์ฟอกซ์
[แก้] ธีม
ธีม (theme) เป็นลักษณะหน้าตาของไฟร์ฟอกซ์ โดยบางคราวจะเรียกว่า สกิน (skin) หรือ หน้ากากของเว็บเบราว์เซอร์ ซึ่งมีให้ดาวน์โหลดได้
[แก้] มาตรฐานเว็บ
มูลนิธิมอซิลลายึดถือมาตรฐานเว็บโดยองค์กร W3C โดยในโปรแกรมไฟร์ฟอกซ์ ได้ยึดมาตรฐาน HTML, XML, XHTML, CSS, JavaScript, DOM, MathML, XSL และ XPath ซึ่งเป็นมาตรฐานหลัก นอกจากนี้ยังมีมาตรฐานอื่น ๆ ที่ไฟร์ฟอกซ์สนับสนุน ได้แก่ RDF, XUL, XBL และ XTF
สำหรับรูปภาพ ไฟร์ฟอกซ์รับรองลักษณะไฟล์ภาพมาตรฐานที่แพร่หลายเช่น JPG GIF รวมถึง PNG ที่สนับสนุนภาพที่มีฉากหลังโปร่ง ซึ่งปัจจุบันใช้แทนที่ภาพแบบ GIF กันมากขึ้น (เนื่องจาก GIF มีปัญหาด้านสิทธิบัตร)
สำหรับมาตรฐานอื่นที่ไฟร์ฟอกซ์รุ่นปัจจุบันยังไม่รองรับเต็มที่ แต่มีโครงการพัฒนาในรุ่นต่อไป ได้แก่ SVG, APNG และ XForms
[แก้] ระบบปฏิบัติการ
ไฟร์ฟอกซ์สามารถทำงานได้กับหลายระบบปฏิบัติการ ได้แก่
- ไมโครซอฟท์ วินโดวส์ ตั้งแต่วินโดวส์ 98 เป็นต้นไป สำหรับ วินโดวส์ 95 สามารถใช้งานได้แต่ต้องมีโปรแกรมเสริมช่วย
- แมคโอเอสเท็น
- ลินุกซ์ สำหรับระบบปฏิบัติการที่ใช้ X.Org Server หรือ XFree86
เนื่องจากไฟร์ฟอกซ์เป็นซอฟต์แวร์แบบโอเพนซอร์ส ทำให้ผู้ใช้และนักพัฒนาสามารถปรับแต่งให้ไฟร์ฟอกซ์ใช้ได้กับระบบปฏิบัติการต่าง ๆ ได้แก่ โซลาริส (ทั้ง x86 และ SPARC) , OS/2, AIX, FreeBSD
[แก้] ดูเพิ่ม
[แก้] อ้างอิง
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- มอซิลลา ไฟร์ฟอกซ์
- ที่มาของชื่อและสัญลักษณ์ ไฟร์ฟอกซ์
- ไฟร์ฟอกซ์ภาษาไทย การพัฒนาไฟร์ฟอกซ์ให้สนับสนุนการตัดคำไทย จากเว็บลีนุกซ์ไทย
- บล็อกไฟร์ฟอกซ์ภาษาไทย ข่าวสารและเทคนิคการใช้งานโปรแกรมไฟร์ฟอกซ์ อย่างไม่เป็นทางการ (ภาษาไทย)