See also ebooksgratis.com: no banners, no cookies, totally FREE.

CLASSICISTRANIERI HOME PAGE - YOUTUBE CHANNEL
Privacy Policy Cookie Policy Terms and Conditions
ภาษาสเปน - วิกิพีเดีย

ภาษาสเปน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ภาษาสเปน
español เอสปันโญล /
castellano กัสเตยาโน 
เสียงอ่าน: /espa'ɲol/, /kaste'ʎano/ หรือ /kaste'ʝano/
พูดใน: สเปน เม็กซิโก และในส่วนใหญ่ของอเมริกากลาง ประเทศส่วนมากและประชากรจำนวนครึ่งหนึ่งของอเมริกาใต้ กว่าครึ่งของแคริบเบียน อันดอร์รา และอิเควทอเรียลกินี ส่วนในสหรัฐอเมริกามีผู้พูดร้อยละ 12
จำนวนผู้พูด: ประมาณ 420 ล้านคน (รวมการใช้เป็นภาษาที่สอง) 
อันดับ: 3–4 (ขึ้นอยู่กับการประมาณ)
ตระกูลภาษา: อินโด-ยูโรเปียน
 อิตาลิก
  โรมานซ์
   อิตาโล-เวสเทิร์น
    กัลโล-ไอบีเรียน
     อิเบโร-โรมานซ์
      ไอบีเรียตะวันตก
       ภาษาสเปน 
ระบบการเขียน: อักษรละติน 
สถานะทางการ
ภาษาทางการใน: กัวเตมาลา คอสตาริกา คิวบา โคลอมเบีย ชิลี นิการากัว นิวเม็กซิโก (สหรัฐฯ) โบลิเวีย ปานามา ปารากวัย เปรู เปอร์โตริโก (สหรัฐฯ) เม็กซิโก เวเนซุเอลา สเปน สาธารณรัฐโดมินิกัน อาร์เจนตินา อิเควทอเรียลกินี อุรุกวัย เอกวาดอร์ เอลซัลวาดอร์ และฮอนดูรัส

สหภาพยุโรป ตลาดร่วมอเมริกาใต้ (เมร์โกซูร์) องค์การรัฐอเมริกา และสหประชาชาติ
องค์กรควบคุม: สมาคมบัณฑิตยสถานภาษาสเปน (ราชบัณฑิตยสถานสเปนและบัณฑิตยสถานภาษาสเปนในประเทศอื่น ๆ อีก 21 ประเทศ)
รหัสภาษา
ISO 639-1: es
ISO 639-2: spa
ISO 639-3: spa
สารานุกรมภาษา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมภาษา

ภาษาสเปน (Spanish, Castilian; Español, Castellano) เป็นภาษาในกลุ่มภาษาไอบีเรียนโรมานซ์ ที่มีคนพูดมากเป็นอันดับ 3 หรือ 4 ของโลก โดยที่มีคนพูดเป็นภาษาแรกประมาณ 352 ล้านคน และมากถึง 417 ล้านคน เมื่อรวมคนที่ไม่ได้พูดเป็นภาษาแรกด้วย (จากการประมาณเมื่อปี พ.ศ. 2542) ประชากรส่วนใหญ่ที่พูดภาษาสเปนจะอาศัยอยู่แถบลาตินอเมริกา

เนื้อหา

[แก้] ชื่อภาษาและที่มา

ชาวสเปนมักเรียกภาษาของตนว่า ภาษาสเปน (español) เมื่อนำภาษานี้ไปเปรียบเทียบกับภาษาของชาติอื่น เช่น ภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษ แต่จะเรียกว่า ภาษาคาสตีล (castellano) [= ภาษาของแคว้นคาสตีล] เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับภาษาในประเทศสเปนภาษาอื่น ๆ (เช่น ภาษากาลิเซีย ภาษาบาสก์ และภาษาคาตาลัน) หรือแม้กระทั่งการนำไปเทียบกับบรรดาภาษาพื้นเมืองของประเทศในลาตินอเมริกาบางประเทศ ด้วยวิธีนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสเปน ค.ศ. 1978 จึงใช้คำว่า "ภาษาคาสตีล" (castellano) เพื่อนิยามภาษาราชการของประเทศ ซึ่งตรงข้ามกับ "ภาษาของสเปนภาษาอื่น ๆ" (las demás lenguas españolas) ตามมาตรา 3 ดังนี้

El castellano es la lengua española oficial del Estado. (…) Las demás lenguas españolas serán también oficiales en las respectivas Comunidades Autónomas…
ภาษาคาสตีลเป็นภาษาสเปนทางการของทั้งรัฐ (…) ภาษาสเปนภาษาอื่น ๆ จะมีสถานะทางการเช่นกันในแคว้นปกครองตนเองตามลำดับ (ต่อไปนี้…)

นักนิรุกติศาสตร์บางคนใช้ชื่อ "Castilian" เมื่อกล่าวถึงภาษาที่ใช้กันในภูมิภาคคาสตีลสมัยกลางเท่านั้น โดยเห็นว่า "Spanish" ควรนำมาใช้เรียกภาษานี้ในสมัยใหม่จะดีกว่า ภาษาถิ่นย่อยของภาษาสเปนที่พูดกันทางตอนเหนือของแคว้นคาสตีลในปัจจุบันเอง บางครั้งก็ยังเรียกว่า "Castilian" ภาษาถิ่นนี้แตกต่างจากภาษาถิ่นในภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศสเปน (เช่นในแคว้นอันดาลูเซียหรือกรุงมาดริดเป็นต้น) โดยในประเทศสเปนถือว่าเป็นภาษาเดียวกับภาษาสเปนมาตรฐานอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม คำ castellano ยังใช้กันเป็นวงกว้างเพื่อเรียกภาษาสเปนทั้งหมดในลาตินอเมริกา เนื่องจากผู้พูดภาษาสเปนบางคนจัดว่า castellano เป็นคำกลาง ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการเมืองหรือลัทธิใด (เหมือนกับ "Spanish" ในฐานะคำหนึ่งของภาษาอังกฤษ) ชาวลาตินอเมริกาจึงมักใช้ตำนี้ในการแบ่งแยกความหลากหลายของภาษาสเปนในแบบของพวกเขาว่า ไม่เหมือนกันกับความหลากหลายของภาษาสเปนที่ใช้กันในประเทศสเปนเอง

คำว่า español ที่ถูกนำมาเปลี่ยนแปลงรูปตามกฎทางไวยากรณ์และสัทวิทยา (การศึกษาเกี่ยวกับเสียงในภาษา) ของแต่ภาษาเพื่อใช้เรียกชาวสเปนและภาษาของพวกเขานั้น มีรากศัพท์มาจากคำในภาษาละตินว่า "ฮิสปานีโอลุส" (Hispaniolus) [= ชาวฮิสปาเนียน้อย] รูปคำดังกล่าวได้วิวัฒนาการมาเป็น Spaniolus (ในช่วงเวลานั้น ตัว H ในภาษาละตินจะหายไปในการสนทนาปกติ คำนี้จึงออกเสียงว่า "อิสปานีโอลู" [ispa'niolu]) และสระ [i] (ใช้ในภาษาพูดของละตินเพื่อความรื่นหู) ก็ถูกเปิดเป็นสระ [e] จึงทำให้คำนี้มีรูปเขียนอย่างที่เห็นในปัจจุบัน[1]

[แก้] ประวัติ

Cantar de Mio Cid บทกวีสดุดีวีรกรรมของเอลซิด (วีรบุรุษคนหนึ่งของสเปน) ในช่วงพิชิตดินแดนคืน เป็นเอกสารแรกสุดที่เขียนเป็นภาษาคาสตีลเก่า และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ภาษานี้เป็นเอกเทศจากละติน
Cantar de Mio Cid บทกวีสดุดีวีรกรรมของเอลซิด (วีรบุรุษคนหนึ่งของสเปน) ในช่วงพิชิตดินแดนคืน เป็นเอกสารแรกสุดที่เขียนเป็นภาษาคาสตีลเก่า และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ภาษานี้เป็นเอกเทศจากละติน

ภาษาสเปนพัฒนาขึ้นในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 8-9 โดยมีรากฐานจากภาษาละตินสามัญ (Vulgar Latin)[2] ที่ใช้สื่อสารกันในแถบภูเขากันตาเบรีย บริเวณจังหวัดกันตาเบรีย บูร์โกส และลารีโอคา ทางตอนเหนือของประเทศสเปนปัจจุบัน โดยได้รับอิทธิพลจากภาษาบาสก์และภาษาเคลติเบเรียน

ภาษาที่เกิดขึ้นนี้มีลักษณะเฉพาะทางสัทวิทยาที่เปลี่ยนแปลงไปจากภาษาละตินเดิม ได้แก่ การกลายเสียงพยัญชนะให้อ่อนลง (เช่น จาก vita ในภาษาละติน เป็น vida ในภาษาสเปน) การทำให้เป็นเสียงเพดานแข็ง (เช่น จาก annum [-นน-] เป็น año [-นย-] และจาก anellum [-ลล-] เป็น anillo [-ลย-]) และการทำสระเดี่ยวให้กลายเป็นสระประสม (การเปลี่ยนต้นเค้าศัพท์) ของสระ e และ o (เช่น จาก terra เป็น tierra และจาก novus เป็น nuevo) ปรากฏการณ์ที่คล้ายคลึงกันนี้สามารถพบได้ในประวัติของภาษากลุ่มโรมานซ์ภาษาอื่นเช่นกัน โดยเฉพาะหลังจากที่จักรวรรดิโรมันล่มสลายลงในคริสต์ศตวรรษที่ 4 ซึ่งได้ลดการติดต่อทางวัฒนธรรมระหว่างดินแดนต่าง ๆ กับกรุงโรมลงด้วย

ในช่วงการพิชิตดินแดนคืนจากพวกมุสลิม (Reconquista เริ่มตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7) ภาษาท้องถิ่นทางเหนือภาษานี้ก็ถูกนำลงมาทางใต้ โดยเข้าไปแทนที่หรือส่งอิทธิพลต่อภาษาในท้องถิ่นต่าง ๆ ซึ่งในขณะเดียวกันก็ได้ยืมศัพท์เป็นจำนวนมากจากภาษาอาหรับของพวกมัวร์ (ชาวมุสลิมที่เคยปกครองคาบสมุทรไอบีเรีย) รวมทั้งรับอิทธิพลจากภาษาของชาวคริสต์และชาวยิวที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของพวกมัวร์ด้วย (แต่ภาษาเหล่านี้ได้สูญไปจากคาบสมุทรไอบีเรียตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16)

ก้าวแรกของการทำให้ภาษาเขียนมีความเป็นมาตรฐานนั้นเริ่มต้นในคริสต์ศตวรรษที่ 13 โดยพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 (พระเจ้าอัลฟอนโซนักปราชญ์) พระองค์ทรงรวบรวมนักเขียนและปราชญ์จากที่ต่าง ๆ มาประชุมกันในราชสำนัก และทรงอำนวยการตรวจตรางานเขียนของปราชญ์เหล่านั้นซึ่งมักเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ดาราศาสตร์ และกฎหมาย ต่อมาในปี ค.ศ. 1492 เอเลียว อันโตเนียว เด เนบรีคา (Elio Antonio de Nebrija) ก็ได้แต่งตำราไวยากรณ์ภาษาสเปนขึ้นที่เมืองซาลามังกา มีชื่อว่า Gramática de la Lengua Castellana ซึ่งถือเป็นตำราไวยากรณ์ภาษาแรกของกลุ่มโรมานซ์ด้วย

ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ภาษาสเปนก็ได้ถูกนำเข้าสู่ดินแดนทวีปอเมริกาและสแปนิชอีสต์อินดีสโดยผ่านนักสำรวจและนักล่าดินแดนเป็นอาณานิคม ภาษาสเปนกลายเป็นภาษาหลักทางศิลปะ การเมือง และการค้าของทวีปยุโรป (จนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ภาษาฝรั่งเศสจึงเข้ามามีอิทธิพลอย่างสูงแทน) และในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ภาษาสเปนก็ได้รับการแนะนำในประเทศอิเควทอเรียลกินี ดินแดนเวสเทิร์นสะฮารา และพื้นที่หลายแห่งในสหรัฐอเมริกาซึ่งไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิสเปนมาก่อนเลย เช่น ในย่านสแปนิชฮาร์เล็มของนครนิวยอร์ก

[แก้] การจำแนกและภาษาร่วมตระกูล

ภาษาสเปน/ภาษาคาสตีลมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับกลุ่มภาษาโรมานซ์ไอบีเรียนตะวันตก ได้แก่ ภาษาอัสตูเรียส (asturianu) ภาษากาลิเซีย (galego) ภาษาลาดิโน (Djudeo-espanyol, sefardí) และภาษาโปรตุเกส (português) เช่นเดียวกับที่มีความสัมพันธ์บางประการกับภาษาอารากอน (aragonés) และภาษาคาตาลัน (català)

ภาษาคาตาลันซึ่งเป็นภาษาไอบีเรียนตะวันออกและมีลักษณะหลายประการของกลุ่มภาษากัลโล-โรมานซ์ มีความใกล้เคียงกับภาษาข้างเคียงอย่างภาษาอ็อกซิตัน (occitan) มากกว่าที่ภาษาสเปนใกล้เคียงกับภาษาโปรตุเกส ภาษาสเปนและภาษาโปรตุเกสมีไวยากรณ์และคำศัพท์ส่วนใหญ่คล้ายคลึงกัน เช่นเดียวกับที่มีประวัติความเป็นร่วมกันในเรื่องอิทธิพลที่ได้รับจากภาษาอาหรับในขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของคาบสมุทรอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของชาวมุสลิม (ภาษาทั้งสองขยายตัวเหนือดินแดนอิสลาม) ความใกล้เคียงของศัพท์ของทั้งคู่อยู่ที่ประมาณร้อยละ 89[3]

[แก้] ลาดิโน

ดูบทความหลักที่ ภาษาลาดิโน

ภาษาลาดิโนได้รับอิทธิพลมาจากภาษาสเปนโบราณ และมีความใกล้เคียงกับภาษาสเปนมากกว่าภาษาอื่น ๆ ผู้พูดภาษานี้เป็นผู้ที่สืบทอดเชื้อสายมาจากชาวยิวเซฟาร์ดี (Sephardic Jews) ที่ถูกขับไล่ออกจากสเปนไปในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ภาษาลาดิโนมีลักษณะหลายประการที่ทำให้ไม่ได้รับการจัดเป็นภาษาเอกเทศ หากแต่เป็นภาษาถิ่นของภาษาคาสตีล ภาษานี้ไม่มีคำศัพท์อเมริกันพื้นเมืองซึ่งมีอิทธิพลอยู่ในช่วงอาณานิคม แต่ก็ยังมีคำศัพท์จากภาษาตุรกี ภาษาฮีบรู และจากภาษาอื่น ๆ ในที่ที่ชาวยิวเซฟาร์ดีเข้าไปตั้งถิ่นฐานปะปนอยู่ด้วย

[แก้] การเปรียบเทียบคำศัพท์

ภาษาสเปนและภาษาอิตาลีมีระบบสัทวิทยาที่คล้ายคลึงกันมากและไม่มีความแตกต่างกันมากในเรื่องไวยากรณ์ ปัจจุบัน ความใกล้เคียงของศัพท์กับภาษาอิตาลีนั้นอยู่ที่ประมาณร้อยละ 82[3] ซึ่งเป็นผลให้ภาษาสเปนและภาษาอิตาลีสามารถเป็นที่เข้าใจระหว่างกันได้ในหลายระดับ ความเข้าใจได้ระหว่างภาษาสเปนกับภาษาฝรั่งเศสและภาษาโรมาเนียมีน้อยกว่า (ความใกล้เคียงของศัพท์อยู่ที่ร้อยละ 75 และร้อยละ 71 ตามลำดับ[3]) และความเข้าใจภาษาสเปนของผู้พูดภาษาฝรั่งเศส (ซึ่งไม่รู้ภาษาสเปน) ตกอยู่ที่ประมาณร้อยละ 45 เท่ากับภาษาอังกฤษ อย่างไรก็ตาม ระบบการเขียนที่มีลักษณะร่วมกันของกลุ่มภาษาโรมานซ์นั้น ทำให้การสื่อสารระหว่างภาษาต่าง ๆ (ในกลุ่มเดียวกันนี้) ด้วยวิธีการอ่านเอาความมีมากกว่าวิธีการใช้คำพูดสนทนา

ละติน สเปน โปรตุเกส คาตาลัน อิตาลี ฝรั่งเศส โรมาเนีย ความหมาย
nos nosotros nós nosaltres noi (noi altri
ในภาษาถิ่นอิตาลีใต้)
nous (nous autres
ในภาษาฝรั่งเศสแบบควิเบก)
noi พวกเรา
frater germānum
(ตรงตัว: พี่ชายแท้)
hermano irmão germà fratello frère frate พี่ชาย
dies Martis
(ชั้นสูง)
martes terça-feira dimarts martedì mardi marţi วันอังคาร
cantiōnem canción canção cançó canzone chanson cântec เพลง
magis หรือ plus más
(พบน้อย: plus)
mais
(คำโบราณ: chus)
més più plus mai มากขึ้น
manūm sinistram mano izquierda

(คำโบราณ: siniestra)

mão esquerda
(คำโบราณ: sẽestra)
mà esquerra mano sinistra main gauche mâna stângă มือซ้าย

[แก้] ลักษณะเฉพาะ

สิ่งหนึ่งที่บ่งชี้ลักษณะเฉพาะของภาษาสเปนคือ การทำให้สระสั้นของละตินอย่างสระเอ (e) และสระโอ (o) เป็นสระประสมสองเสียง (diphthong) คือ สระเอีย (ie) และสระอวย (ue) ตามลำดับ เมื่อสระเหล่านี้อยู่ในตำแหน่งที่ลงเสียงหนัก การกลายเสียงที่คล้ายกันนี้ยังสามารถพบได้ในภาษาโรมานซ์อื่น ๆ แต่ในภาษาสเปน ลักษณะเหล่านี้มีความสำคัญเป็นพิเศษ ดังตัวอย่าง:

  • ละติน petra > สเปน piedra, อิตาลี pietra, ฝรั่งเศส pierre, โปรตุเกส/กาลิเซีย pedra "ก้อนหิน"
  • ละติน moritur > สเปน muere, อิตาลี muore, ฝรั่งเศส meurt / muert, โรมาเนีย moare, โปรตุเกส/กาลิเซีย morre "เขาตาย"

ความประหลาดอีกอย่างหนึ่งของภาษาสเปนยุคแรก (เช่นใน ภาษาถิ่นกาสกองของอ็อกซิตัน) และเป็นไปได้ว่ามาจากภาษาบาสก์ซึ่งเป็นภาษาถิ่นเดิม คือการกลายจาก f- ที่อยู่ต้นคำ เป็น h- เมื่อ f- นี้ตามด้วยสระที่ไม่ประสมสองเสียง ดังตัวอย่าง

  • ละติน filium > อิตาลี figlio, โปรตุเกส filho, ฝรั่งเศส fils, อ็อกซิตัน filh (แต่ กาสกอง hilh) สเปน hijo (แต่ ลาดิโน fijo) "ลูกชาย"
  • ละตินช่วงหลัง *fabulare > ลาดิโน favlar, โปรตุเกส falar, สเปน hablar "พูด"
  • แต่ ละติน focum > อิตาลี fuoco, โปรตุเกส fogo, สเปน/ลาดิโน fuego "ไฟ"

พยัญชนะควบกล้ำบางตัวของละตินยังทำให้เกิดผลแตกต่างกันอย่างเป็นเอกลักษณ์ในภาษาเหล่านี้ ได้แก่

  • ละติน clamare flammam, plenum > ลาดิโน lyamar, flama, pleno; สเปน llamar, llama, lleno (แต่ภาษาสเปนก็มีรูป clamar, flama, pleno ด้วยเช่นกัน); โปรตุเกส chamar, chama, cheio
  • ละติน octo, noctem, multum > ลาดิโน ocho, noche, muncho; สเปน ocho, noche, mucho; โปรตุเกส oito, noite, muito

[แก้] การกระจายตามเขตภูมิศาสตร์

     ประเทศที่ใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาทางการ      ภูมิภาคที่มีการใช้ภาษาสเปนอย่างมากแต่ไม่ได้กำหนดให้เป็นภาษาทางการ รวมทั้งพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาหรืออารยธรรมสเปนอย่างเข้มข้น
     ประเทศที่ใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาทางการ      ภูมิภาคที่มีการใช้ภาษาสเปนอย่างมากแต่ไม่ได้กำหนดให้เป็นภาษาทางการ รวมทั้งพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาหรืออารยธรรมสเปนอย่างเข้มข้น

ภาษาสเปนเป็นหนึ่งในภาษาราชการขององค์การรัฐอเมริกา สหประชาชาติ สหภาพชาติอเมริกาใต้ และสหภาพยุโรป

ผู้พูดภาษาสเปนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในประเทศสเปนและในซีกโลกตะวันตก โดยเม็กซิโกเป็นประเทศที่มีผู้พูดภาษาสเปนมากที่สุดในโลก มีจำนวนผู้พูดภาษานี้เป็นภาษาแรกและเป็นภาษาที่สองถึงประมาณ 106 ล้านคน รองลงมาได้แก่โคลอมเบีย สเปน และอาร์เจนตินา

[แก้] ทวีปอเมริกา

ในระดับชาติแล้ว ภาษาสเปนเป็นภาษาทางการของประเทศเอกราช 20 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา โบลิเวีย (ร่วมกับภาษาเกชัวและภาษาไอย์มารา) ชิลี โคลอมเบีย คอสตาริกา คิวบา สาธารณรัฐโดมินิกัน เอกวาดอร์ เอลซัลวาดอร์ อิเควทอเรียลกินี (ร่วมกับภาษาฝรั่งเศสและภาษาโปรตุเกส) กัวเตมาลา ฮอนดูรัส เม็กซิโก นิการากัว ปานามา ปารากวัย (ร่วมกับภาษากวารานี) เปรู (ร่วมกับภาษาเกชัวและภาษาไอย์มาราในบางพื้นที่) สเปน (ร่วมกับภาษาคาตาลัน ภาษากาลิเซีย และภาษาบาสก์ในบางพื้นที่) อุรุกวัย และเวเนซุเอลา เป็นภาษาทางการ (ร่วมกับภาษาอังกฤษ) ในเครือรัฐเปอร์โตริโก นอกจากนี้ ภาษาสเปนยังใช้อย่างเป็นทางการและได้รับการรับรองในระดับรัฐร่วมกับภาษาอังกฤษในรัฐนิวเม็กซิโกของสหรัฐอเมริกา แม้ว่าทางรัฐจะไม่ได้ระบุ "ภาษาทางการ" ไว้ก็ตาม โดยผู้พูดภาษาสเปนในรัฐนี้จำนวนมีประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด

[แก้] ประเทศที่ไม่ใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาหลัก

ภาษาสเปนไม่มีสถานะเป็นภาษาทางการในเบลีซ อดีตอาณานิคมของสหราชอาณาจักร แต่ก็เป็นภาษาแม่ของประชากรในประเทศประมาณร้อยละ 40 และอีกร้อยละ 15 ใช้เป็นภาษาที่สอง[4][5] ซึ่งมักเป็นผู้ที่สืบเชื้อสายจากชาวสเปนที่ยังหลงเหลืออยู่ตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 อย่างไรก็ตาม ภาษาอังกฤษก็เป็นภาษาทางการเพียงภาษาเดียวในประเทศนี้[6]

ภาษาสเปนมีความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ ในบราซิล เนื่องจากความใกล้ชิดและการค้าที่ขยายตัวขึ้นระหว่างบราซิลกับประเทศเพื่อนบ้านที่พูดภาษาสเปน เช่น ในฐานะสมาชิกกลุ่มการค้าเมร์โกซูร์[7] ในปี ค.ศ. 2005 รัฐสภาบราซิลได้อนุมัติร่างกฎหมายซึ่งลงนามโดยประธานาธิบดี ให้มีการสอนภาษาสเปนเป็นภาษาต่างประเทศในโรงเรียนมัธยมศึกษา [8] ตามเมืองและหมู่บ้านตามเขตแดนหลายแห่ง (โดยเฉพาะแถบพรมแดนอุรุกวัย-บราซิล) มีผู้ใช้ภาษาผสมซึ่งรู้จักกันทั่วไปในชื่อภาษาปอร์ตูญอล (Portuñol)[9]

จากการสำรวจสำมะโนประชากรในปี ค.ศ. 2005 ในสหรัฐอเมริกา มีประชากร 42.7 ล้านคนสืบเชื้อสายมาจากชาวสเปน ประมาณ 32 ล้านคนหรือร้อยละ 12 ของจำนวนประชากรทั้งหมดที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปจะใช้ภาษาสเปนเมื่ออยู่ที่บ้าน[10] ภาษาสเปนมีประวัติความเป็นมาอันยาวนานในสหรัฐอเมริกา แต่เพิ่งได้รับการฟื้นฟูให้เป็นที่นิยมจากการอพยพขนานใหญ่ของชาวลาตินอเมริกา นอกจากนี้ ภาษาสเปนยังเป็นภาษาต่างประเทศที่ได้รับการสอนอย่างกว้างขวางที่สุดในสหรัฐอเมริกาด้วย[11] โดยรวมแล้ว สหรัฐอเมริกาจึงเป็นประเทศที่มีพูดใช้ภาษาสเปนมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก[12]

[แก้] ทวีปยุโรป

ภาษาสเปนเป็นภาษาทางการของสหภาพยุโรป ส่วนประเทศอื่น ๆ ในทวีปยุโรปนอกเหนือจากสเปนแล้ว ก็ยังใช้สื่อสารกันในชุมชนหลายแห่งในสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเยอรมนี และเป็นภาษาสำคัญในการติดต่อทางธุรกิจของประเทศเหล่านี้ด้วย[13][14] ในสวีเดนมีผู้พูดภาษานี้อยู่ประมาณ 35,000 คน ซึ่งถือเป็นภาษาที่มีผู้พูดเป็นอันดับที่ 5 ในประเทศ[15] ภาษานี้ยังมีผู้ใช้กันอย่างกว้างขวางในยิบรอลตาร์ แม้ว่าจะมีภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการก็ตาม[16] เช่นเดียวกับในอันดอร์ราที่มีผู้พูดภาษานี้อยู่ด้วย ในขณะที่ภาษาคาตาลันมีฐานะเป็นภาษาทางการของประเทศ[17][18] ภาษาสเปนมีความคล้ายคลึงอย่างมากในด้านคำศัพท์กับภาษาพี่น้องในกลุ่มภาษาโรมานซ์ด้วยกันอย่างภาษาอิตาลีและภาษาโปรตุเกส จึงอาจพอเป็นที่เข้าใจร่วมกันได้เล็กน้อยกับภาษาดังกล่าวในประเทศอิตาลีและประเทศโปรตุเกสเอง[19]

[แก้] ทวีปเอเชีย

แม้ว่าภาษาสเปนจะเคยเป็นภาษาทางการของฟิลิปปินส์อยู่เป็นเวลากว่าสี่ศตวรรษ แต่ประชากรส่วนใหญ่กลับไม่ได้ใช้ในการสื่อสาร ความสำคัญของภาษาสเปนก็ลดลงในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 หลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้เข้าครอบครองและบริหารหมู่เกาะแห่งนี้ การนำภาษาอังกฤษมาใช้ในหน่วยงานต่าง ๆ ของฟิลิปปินส์ได้นำมาสู่จุดสิ้นสุดของภาษาสเปนในฐานะภาษาทางการเมื่อปี ค.ศ. 1987 ระหว่างที่นางโกราซอน อากีโนดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี จากการสำรวจสำมะโนประชากรในปี ค.ศ. 1990 มีชาวพื้นเมือง 2,658 คนที่พูดภาษาสเปน[20] อย่างไรก็ตาม จำนวนดังกล่าวก็ยังไม่แน่นอนในการสำรวจครั้งต่อ ๆ มาทั้งในปี ค.ศ. 1995 และในปี ค.ศ. 2000 ซึ่งจากการสำรวจในปี ค.ศ. 2000 นั้น พบว่ามีชาวพื้นเมืองกว่า 600,000 คนในเมืองกาวีเตและเมืองซัมโบวังกาที่พูดภาษาชาวากาโน (Chavacano) ซึ่งเป็นภาษาครีโอลภาษาหนึ่งที่มีรากมาจากภาษาสเปน ทั้งนี้ ภาษาในประเทศฟิลิปปินส์หลาย ๆ ภาษายังมีคำยืมจากภาษานี้อยู่เป็นจำนวนมากอีกด้วย

[แก้] ทวีปแอฟริกา

ในแอฟริกา ก็มีการใช้ภาษาสเปนกันในดินแดนต่าง ๆ ได้แก่ โขดหินอาลูเซมัส เกาะเปเรคิล เซวตา หมู่เกาะชาฟารีนัส เมลียา โขดหินเบเลซเดลาโกเมรา และหมู่เกาะคะเนรี รวมทั้งใช้สื่อสารกันในชุมชนชาวสเปนเล็ก ๆ ในเวสเทิร์นสะฮารา รวมทั้งคนในชุมชนชาวคิวบาหลายคนในแองโกลาและไนจีเรีย ภาษาสเปนยังเป็นภาษาราชการร่วมกับภาษาฝรั่งเศสและภาษาโปรตุเกสในอิเควทอเรียลกินี ประเทศเล็ก ๆ ที่มีประชากร 500,000 คน ซึ่งใช้ภาษาสเปนในการสื่อสารมากที่สุด[21] ในโมร็อกโกซึ่งเป็นอดีตรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสและสเปน และยังมีความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์กับสเปนด้วยนั้น มีประชากรเกือบ 20,000 คนที่ใช้ภาษาสเปน[22]

[แก้] เขตโอเชียเนีย

ในบรรดาประเทศและดินแดนต่าง ๆ ในโอเชียเนีย ภาษาสเปนมีผู้ใช้อยู่ประมาณ 3,000 คนในเกาะอีสเตอร์ซึ่งเป็นดินแดนของชิลี จากการสำรวจสำมะโนประชากรในปี ค.ศ. 2001 มีผู้ใช้ภาษาสเปนประมาณ 95,000 คนในออสเตรเลีย ซึ่ง 44,000 คนจากจำนวนดังกล่าว อาศัยอยู่ในเขตนครเมืองซิดนีย์

ในเกาะกวม หมู่เกาะปาเลา หมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา หมู่เกาะมาร์แชลล์ และหมู่เกาะไมโครนีเซียเคยมีผู้พูดภาษาสเปน เนื่องจากในอดีต หมู่เกาะมาเรียนาและหมู่เกาะคาโรไลน์อยู่ภายใต้ครอบครองของสเปนจนกระทั่งถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อสเปนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามกับสหรัฐอเมริกา ภาษาสเปนจึงถูกลืมในดินแดนเหล่านี้มานานแล้ว ปัจจุบันปรากฏว่ามีอิทธิพลในภาษาท้องถิ่นบางภาษาเท่านั้น

[แก้] จำนวนผู้พูดภาษาสเปน

ประเทศสำคัญ ๆ ที่มีประชากรพูดภาษาสเปน
เรียงตามตัวอักษรภาษาอังกฤษ เรียงตามจำนวนผู้พูดเป็นภาษาหลัก
  1. ธงของราชรัฐอันดอร์รา อันดอร์รา (40,000)
  2. ธงของประเทศอาร์เจนตินา อาร์เจนตินา (41,248,000)
  3. ธงของอารูบา อารูบา (105,000)
  4. ธงของประเทศออสเตรเลีย ออสเตรเลีย (150,000)
  5. ธงของประเทศออสเตรีย ออสเตรีย (1,970)
  6. ธงของประเทศเบลีซ เบลีซ (130,000)
  7. ธงของประเทศโบลิเวีย โบลิเวีย (7,010,000)
  8. Flag of the Netherlands โบแนร์ (5,700)
  9. ธงของประเทศบราซิล บราซิล (19,700,000)
  10. ธงของประเทศแคนาดา แคนาดา (272,000)
  11. ธงของประเทศชิลี ชิลี (15,795,000)
  12. ธงของสาธารณรัฐประชาชนจีน จีน (250,000)
  13. ธงของประเทศโคลอมเบีย โคลอมเบีย (45,600,000)
  14. ธงของสาธารณรัฐคอสตาริกา คอสตาริกา (4,220,000)
  15. ธงของประเทศคิวบา คิวบา (11,285,000)
  16. Flag of the Netherlands คูราเซา (112,450)
  17. ธงของสาธารณรัฐโดมินิกัน สาธารณรัฐโดมินิกัน (8,850,000)
  18. ธงของประเทศเอกวาดอร์ เอกวาดอร์ (10,946,000)
  19. ธงของประเทศเอลซัลวาดอร์ เอลซัลวาดอร์ (6,859,000)
  20. ธงของสาธารณรัฐอิเควทอเรียลกินี อิเควทอเรียลกินี (447,000)
  21. ธงของประเทศฟินแลนด์ ฟินแลนด์ (17,200)
  22. ธงของประเทศฝรั่งเศส ฝรั่งเศส (2,100,000)
  23. ธงของเฟรนช์เกียนา เฟรนช์เกียนา (13,000)
  24. ธงของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เยอรมนี (410,000)
  25. ธงของประเทศกัวเตมาลา กัวเตมาลา (8,163,000)
  26. ธงของสาธารณรัฐสหกรณ์กายอานา กายอานา (198,000)
  27. ธงของประเทศเฮติ เฮติ (1,650,000)
  28. ธงของประเทศฮอนดูรัส ฮอนดูรัส (7,267,000)
  29. ธงของประเทศอิสราเอล อิสราเอล (160,000)
  30. ธงของประเทศอิตาลี อิตาลี (455,000)
  31. ธงของประเทศญี่ปุ่น ญี่ปุ่น (500,000)
  32. ธงของประเทศคูเวต คูเวต (1,700)
  33. ธงของประเทศเลบานอน เลบานอน (2,300)
  34. ธงของประเทศเม็กซิโก เม็กซิโก (106,255,000)
  35. ธงของราชอาณาจักรโมร็อกโก โมร็อกโก (960,706)
  36. ธงของประเทศเนเธอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ (17,600)
  37. ธงของประเทศนิวซีแลนด์ นิวซีแลนด์ (26,100)
  38. ธงของสาธารณรัฐนิการากัว นิการากัว (5,503,000)
  39. ธงของประเทศปานามา ปานามา (3,108,000)
  40. ธงของประเทศปารากวัย ปารากวัย (4,737,000)
  41. ธงของประเทศเปรู เปรู (26,152,265)
  42. ธงของประเทศฟิลิปปินส์ ฟิลิปปินส์ (2,900,000)
  43. ธงของสาธารณรัฐโปรตุเกส โปรตุเกส (1,750,000)
  44. ธงของเปอร์โตริโก เปอร์โตริโก (4,017,000)
  45. ธงของประเทศโรมาเนีย โรมาเนีย (7,000)
  46. ธงของสหพันธรัฐรัสเซีย รัสเซีย (1,200,000)
  47. ธงของประเทศสเปน สเปน (44,400,000)
  48. ธงของประเทศเกาหลีเหนือ เกาหลีเหนือ (90,000)
  49. ธงของประเทศสวีเดน สวีเดน (39,700)
  50. ธงของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ (172,000)
  51. ธงของประเทศตรินิแดดและโตเบโก ตรินิแดดและโตเบโก (32,200)
  52. ธงของประเทศตุรกี ตุรกี (29,500)
  53. ธงของสหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกา (41,000,000)
  54. ธงของสหราชอาณาจักร สหราชอาณาจักร (900,000)
  55. ธงของประเทศอุรุกวัย อุรุกวัย (3,442,000)
  56. ธงของหมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐอเมริกา หมู่เกาะเวอร์จิน (สหรัฐอเมริกา) (3,980)
  57. ธงของประเทศเวเนซุเอลา เวเนซุเอลา (26,021,000)
  58. ธงของเวสเทิร์นสะฮารา เวสเทิร์นสะฮารา (341,000)
  1. ธงของประเทศเม็กซิโก เม็กซิโก (106,255,000)
  2. ธงของประเทศโคลอมเบีย โคลอมเบีย (45,600,000)
  3. ธงของประเทศสเปน สเปน (44,400,000)
  4. ธงของประเทศอาร์เจนตินา อาร์เจนตินา (41,248,000)
  5. ธงของสหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกา (41,000,000)
  6. ธงของประเทศเปรู เปรู (26,152,265)
  7. ธงของประเทศเวเนซุเอลา เวเนซุเอลา (26,021,000)
  8. ธงของประเทศบราซิล บราซิล (19,700,000)
  9. ธงของประเทศชิลี ชิลี (15,795,000)
  10. ธงของประเทศคิวบา คิวบา (11,285,000)
  11. ธงของประเทศเอกวาดอร์ เอกวาดอร์ (10,946,000)
  12. ธงของสาธารณรัฐโดมินิกัน สาธารณรัฐโดมินิกัน (8,850,000)
  13. ธงของประเทศกัวเตมาลา กัวเตมาลา (8,163,000)
  14. ธงของประเทศฮอนดูรัส ฮอนดูรัส (7,267,000)
  15. ธงของประเทศโบลิเวีย โบลิเวีย (7,010,000)
  16. ธงของประเทศเอลซัลวาดอร์ เอลซัลวาดอร์ (6,859,000)
  17. ธงของสาธารณรัฐนิการากัว นิการากัว (5,503,000)
  18. ธงของประเทศปารากวัย ปารากวัย (4,737,000)
  19. ธงของสาธารณรัฐคอสตาริกา คอสตาริกา (4,220,000)
  20. ธงของเปอร์โตริโก เปอร์โตริโก (4,017,000)
  21. ธงของประเทศอุรุกวัย อุรุกวัย (3,442,000)
  22. ธงของประเทศปานามา ปานามา (3,108,000)
  23. ธงของประเทศฟิลิปปินส์ ฟิลิปปินส์ (2,900,000)
  24. ธงของประเทศฝรั่งเศส ฝรั่งเศส (2,100,000)
  25. ธงของสาธารณรัฐโปรตุเกส โปรตุเกส (1,750,000)
  26. ธงของประเทศเฮติ เฮติ (1,650,000)
  27. ธงของสหพันธรัฐรัสเซีย รัสเซีย (1,200,000)
  28. ธงของราชอาณาจักรโมร็อกโก โมร็อกโก (960,706)
  29. ธงของสหราชอาณาจักร สหราชอาณาจักร (900,000)
  30. ธงของประเทศญี่ปุ่น ญี่ปุ่น (500,000)
  31. ธงของประเทศอิตาลี อิตาลี (455,000)
  32. ธงของสาธารณรัฐอิเควทอเรียลกินี อิเควทอเรียลกินี (447,000)
  33. ธงของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เยอรมนี (410,000)
  34. ธงของเวสเทิร์นสะฮารา เวสเทิร์นสะฮารา (341,000)
  35. ธงของประเทศแคนาดา แคนาดา (272,000)
  36. ธงของสาธารณรัฐประชาชนจีน จีน (250,000)
  37. ธงของสาธารณรัฐสหกรณ์กายอานา กายอานา (198,000)
  38. ธงของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ (172,000)
  39. ธงของประเทศอิสราเอล อิสราเอล (160,000)
  40. ธงของประเทศออสเตรเลีย ออสเตรเลีย (150,000)
  41. ธงของประเทศเบลีซ เบลีซ (130,000)
  42. Flag of the Netherlands คูราเซา (112,450)
  43. ธงของอารูบา อารูบา (105,000)
  44. ธงของประเทศเกาหลีเหนือ เกาหลีเหนือ (90,000)
  45. ธงของราชรัฐอันดอร์รา อันดอร์รา (40,000)
  46. ธงของประเทศสวีเดน สวีเดน (39,700)
  47. ธงของประเทศตรินิแดดและโตเบโก ตรินิแดดและโตเบโก (32,200)
  48. ธงของประเทศตุรกี ตุรกี (29,500)
  49. ธงของประเทศนิวซีแลนด์ นิวซีแลนด์ (26,100)
  50. ธงของประเทศเนเธอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ (17,600)
  51. ธงของประเทศฟินแลนด์ ฟินแลนด์ (17,200)
  52. ธงของเฟรนช์เกียนา เฟรนช์เกียนา (13,000)
  53. ธงของประเทศโรมาเนีย โรมาเนีย (7,000)
  54. Flag of the Netherlands โบแนร์ (5,700)
  55. ธงของหมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐอเมริกา หมู่เกาะเวอร์จิน (สหรัฐอเมริกา) (3,980)
  56. ธงของประเทศเลบานอน เลบานอน (2,300)
  57. ธงของประเทศออสเตรีย ออสเตรีย (1,970)
  58. ธงของประเทศคูเวต คูเวต (1,700)

[แก้] ระบบการเขียน

ภาษาสเปนใช้อักษรละตินในการเขียนเช่นเดียวกับภาษาส่วนใหญ่ในยุโรป แต่จะมีอักขระเพิ่มขึ้นมาหนึ่งตัวคือ "ñ" หรือเรียกว่า eñe (เอเญ) ใช้แทนหน่วยเสียง /ɲ/ และถือเป็นตัวอักษรตัวหนึ่งที่แยกต่างหากจาก n ส่วนทวิอักษร "ch" (che) [เช] และ "ll" (elle) [เอเย] เดิมจัดเป็นตัวอักษรต่างหากด้วยเช่นกัน โดยมีชื่อเรียกและตำแหน่งเป็นของตนเองในชุดตัวอักษร เนื่องจากต่างก็แทนหน่วยเสียงหนึ่ง ๆ เหมือนกัน (คือหน่วยเสียง /tʃ/ และ /ʎ/ ตามลำดับ) อย่างไรก็ตาม ทวิอักษร "rr" (ere doble [เอเรโดเบล] หรือเรียกง่าย ๆ ว่า erre [เอร์เร] ซึ่งเป็นคนละตัวกับ "r" (ere) [เอเร]) ที่แม้จะแทนหน่วยเสียงโดดเช่นกันคือ /r/ แต่ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นตัวอักษรแยกต่างหากเหมือน ch และ ll ข้างต้น ดังนั้น ชุดตัวอักษรดั้งเดิมในภาษาสเปนจึงมี 28 ตัว (หรือ 29 ตัว หากนับ "w" ซึ่งใช้ในการเขียนชื่อภาษาต่างประเทศและคำยืมเท่านั้น) ได้แก่

a, b, c, ch, d, e, f, g, h, i, j, k, l, ll, m, n, ñ, o, p, q, r, s, t, u, v, w, x, y, z

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994 ทวิอักษรทั้งสองตัวไม่ถูกจัดเป็นตัวอักษรโดด ๆ อีกต่อไป แต่ถูกลดฐานะลงเป็นเพียงพยัญชนะซ้อนแทน เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบและการเรียงลำดับ คำต่าง ๆ ที่ขึ้นต้นด้วย ch (เซอาเช) จึงถูกนำไปจัดเรียงอยู่ระหว่างคำที่ขึ้นต้นด้วย ce และ ci แทน ต่างจากเดิมที่ถูกจัดไว้ต่อจากคำที่ขึ้นต้นด้วย cu ส่วนคำที่ขึ้นต้นด้วย ll (โดเบลเอเล) ก็ถูกจัดอยู่ระหว่างคำที่ขึ้นต้นด้วย li และ lo เช่นกัน แต่ในภาษาพูดก็ยังมีการเรียกชื่อเรียกตัวอักษรทั้งสองว่า "เช" และ "เอเย" อยู่

ปัจจุบันตัวอักษรภาษาสเปนจึงมีดังต่อไปนี้

A a a อา J j jota โคตา/โฮตา R r ere เอเร
B b be เบ
be alta เบอัลตา (เบสูง)
be grande เบกรันเด (เบใหญ่)
be larga เบลาร์กา (เบยาว)
K k ka กา S s ese เอเซ
C c ce เซ L l ele เอเล T t te เต
D d de เด M m eme เอเม U u u อู
E e e เอ N n ene เอเน V v uve อูเบ
ve เบ
ve baja เบบาคา/เบบาฮา (เบต่ำ)
ve chica เบชีกา (เบเล็ก)
ve corta เบกอร์ตา (เบสั้น)
F f efe เอเฟ Ñ ñ eñe เอเญ W w uve doble อูเบโดเบล
doble ve โดเบลเบ
doble u โดเบลอู
G g ge เค/เฮ O o o โอ X x equis เอกีส
H h hache อาเช P p pe เป Y y i griega อีกริเอกา (อีกรีก)
ye เย/เช
I i i อี
i latina อีลาตีนา (อีละติน)
Q q cu กู Z z zeta, ceta เซตา
zeda, ceda เซดา
  • ชื่อเรียกที่อยู่ลำดับบนสุดหรือแรกสุด เป็นชื่อเรียกมาตรฐาน
  • c (+e, i) และ z ในสำเนียงภาคเหนือและภาคกลางของสเปน ออกเสียง /θ/ เหมือนกับ th (ไม่ก้อง) ในภาษาอังกฤษ แต่ในสำเนียงภาคใต้ของสเปนรวมทั้งส่วนใหญ่ในทวีปอเมริกาจะออกเสียงเหมือน ซ ในภาษาไทย และ s ในภาษาอังกฤษ
  • j และ g (+e, i) ออกเสียง /x/ ซึ่งไม่เหมือนทั้งเสียงของ ค ในภาษาไทย และ k ในภาษาอังกฤษ แต่ในบางสำเนียงออกเสียงเหมือน ฮ ในภาษาไทย และ h ในภาษาอังกฤษ
  • ñ ออกเสียง /ɲ/ คือเป็นเสียงกึ่ง น และ ย ขึ้นจมูก คล้ายกับเสียงของ ญ ในบางภาษาถิ่นของไทย
  • w ไม่ใช่พยัญชนะที่มีมาแต่เดิมในภาษาสเปน (เช่นเดียวกับในภาษาฝรั่งเศสและภาษาอิตาลี) โดยใช้เขียนคำยืมหรือชื่อเฉพาะจากภาษาอื่น เช่น ภาษาอังกฤษ
  • x หากอยู่ต้นคำจะออกเสียง /s/ แต่หากอยู่ในคำจะออกเสียง /ks/ ยกเว้นในบางคำ เช่น México x จะออกเสียง /x/ [เหมือน j และ g (+e, i) ดังกล่าว] และ x ในคำที่มาจากภาษานาอวตล์ (ใช้ในเม็กซิโก) จะออกเสียง /ʃ/ เหมือนกับ sh ในภาษาอังกฤษ
  • y โดยทั่วไปออกเสียง /ʝ/ ซึ่งคล้ายกับเสียง ย ในภาษาไทย และ y ในภาษาอังกฤษ แต่บางส่วนของอาร์เจนตินาและอุรุกวัยจะออกเสียง /ʒ/ ซึ่งจะเหมือนกับเสียง s ในคำว่า leisure, measure, pleasure ของภาษาอังกฤษ

คำในภาษาสเปนส่วนใหญ่จะมีการลงน้ำหนัก (stress) ที่พยางค์ก่อนพยางค์สุดท้ายของคำ หากคำนั้นลงท้ายด้วยสระ (ไม่รวม y) หรือลงท้ายด้วยพยัญชนะ n หรือ s เช่น copa, cine, todo, imagen และ gracias (ลงน้ำหนักที่พยางค์ที่เป็นตัวหนา) ส่วนคำที่ลงท้ายด้วยพยัญชนะอื่น ๆ (ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่า) จะลงน้ำหนักที่พยางค์สุดท้าย เช่น Madrid, reloj, igual, llamar และ veraz แต่ถ้าตำแหน่งที่ลงน้ำหนักในคำไม่เป็นไปตามกฎดังกล่าว สระในพยางค์ที่ถูกเน้นก็จะมีเครื่องหมายลงน้ำหนักเด่นชัด (acute accent) กำกับไว้ เช่น gina, cimo, jamón, tailandés, árbol และ suéter

นอกจากนี้ ยังมีการใช้เครื่องหมายลงน้ำหนักเด่นชัดเพื่อแยกความแตกต่างระหว่างคำพ้องเสียง โดยเฉพาะเมื่อหนึ่งในนั้นเป็นคำที่ถูกเน้นและอีกคำหนึ่งเป็นรูปติด (clitic) ตัวอย่างเช่น ระหว่าง el (คำกำกับนามชี้เฉพาะ) กับ él ("เขา" สรรพนามบุรุษที่ 3 เอกพจน์ รูปประธาน) หรือระหว่าง te ("เธอ" สรรพนามบุรุษที่ 2 เอกพจน์ รูปกรรม) de ("แห่ง" หรือ "จาก" บุพบท) และ se (สรรพนามสะท้อน) กับ ("ชา") ("ให้") และ ("ฉันรู้" หรือ "จงเป็น...")

สรรพนามคำถาม เช่น qué, cuál, dónde, quién และอื่น ๆ ต่างก็ได้รับการลงน้ำหนักเช่นกันทั้งที่อยู่ในประโยคคำถามตรง (direct questions) และประโยคคำถามอ้อม (indirect questions) ส่วนคำระบุเฉพาะ (demonstratives) อย่างเช่น ése, éste, aquél และอื่น ๆ จะได้รับการลงน้ำหนักเมื่อถูกใช้เป็นสรรพนาม

คำสันธาน o ("หรือ") จะเขียนโดยใส่เครื่องหมายลงน้ำหนักเมื่ออยู่ระหว่างจำนวนที่เป็นตัวเลข เพื่อไม่ให้สับสนกับเลขศูนย์ เช่น 10 ó 20 อ่านจะอ่านว่า diez o veinte ไม่ใช่ diez mil veinte ("10,020") แต่เครื่องหมายลงน้ำหนักมักจะถูกละบ่อยครั้ง เมื่อคำที่มันกำกับเสียงหนักอยู่เป็นตัวพิมพ์ใหญ่ (เนื่องจากคอมพิวเตอร์บางเครื่องสามารถพิมพ์ได้เฉพาะตัวพิมพ์เล็กที่มีเครื่องหมายนี้กำกับเท่านั้น) แม้ว่าทางราชบัณฑิตยสถานสเปนจะแนะนำว่าไม่ควรทำก็ตาม

ในกรณีที่พบได้น้อยนั้น u อาจมีเครื่องหมายเสริมสัทอักษรกำกับอยู่เป็น "ü" เมื่ออยู่ระหว่างพยัญชนะ g กับสระ e หรือ i เพื่อบอกว่าต้องออกเสียงตัว u นี้ด้วย แทนที่จะไม่ออกเสียง (อย่างปกติ) เช่น cigüeña ("นกกระสา") จะออกเสียงว่า /θi'ɰweɲa/ [ซีกูเอญา] แต่ถ้าสะกดว่า cigueña จะต้องออกเสียงเป็น /θi'ɰeɲa/ [ซีเกญา]

อีกประการหนึ่ง ประโยคคำถามในภาษาสเปนจะขึ้นต้นด้วยปรัศนีหัวกลับ "¿" ส่วนประโยคแสดงความตกใจก็จะขึ้นต้นด้วยอัศเจรีย์หัวกลับ "¡"

[แก้] เสียง

[แก้] เสียงสระ

ภาษาสเปนมีเสียงสระ 5 เสียง คือ

สระ หน้า กลางลิ้น หลัง
ลิ้นยกสูง     /i/    /u/
ลิ้นระดับกลาง    /e/    /o/
ลิ้นลดต่ำ    /a/

นอกจากนี้ยังมีสระประสมเน้นเสียงแรก (falling diphthong) 6 ตัว และสระประสมเน้นเสียงหลัง (rising diphthong) 8 ตัว คือ

ตารางสระประสมในภาษาสเปน[23]
สัทอักษรสากล คำอ่านในภาษาไทย
(ที่ใกล้เคียง)
รูปเขียน ตัวอย่างคำ คำอ่านในภาษาไทย
(ที่ใกล้เคียง)
ความหมาย
เน้นเสียงแรก
/ei/ เอย์ ei, ey rey เรย์ กษัตริย์
/ai/ ไอย์ ai, ay aire ไอย์เร อากาศ
/oi/ โอย oi, oy hoy โอย วันนี้
/eu/ เอว eu neutro เนวโตร เป็นกลาง
/au/ เอา au pausa เปาซา หยุด
/ou/ โอว์ ou bou โบว์ แห
เน้นเสียงหลัง
/je/ เอีย (อี+เย) ie Tierra เตียรา โลก
/ja/ เอีย (อี+ยา) ia hacia อาเซีย ไปทาง
/jo/ เอียว (อี+โย) io radio ราเดียว วิทยุ
/ju/ อิว (อี+ยู) iu ciudad ซิวดัด, ซิวดา เมือง
/wi/ อุย (วี) ui, uy fuimos ฟุยโมส, ฟฺวีโมส พวกเราไป [อดีตกาล]
/we/ อวย (เว) ue fuego ฟวยโก, เฟฺวโก ไฟ
/wa/ อัว (วา) ua cuadro กัวโดร, กฺวาโดร รูปภาพ
/wo/ โว uo cuota โกฺวตา ส่วนแบ่ง

[แก้] เสียงพยัญชนะ

นักภาษาศาสตร์ส่วนมากจะจัดให้ภาษาสเปนมาตรฐานมีหน่วยเสียงพยัญชนะอยู่ 19 หน่วยเสียง ได้แก่ [ p  b  t  d  k  ɡ  m  n  ɲ  f  θ  s  ʝ  x  ʧ  r  ɾ  l  v  ʎ ] โดยรายการสัทอักษรในตารางข้างล่างนี้จะแสดงหน่วยเสียงในภาษามาตรฐานเท่านั้น ส่วนอักษรไทยที่ปรากฏอยู่ทางขวานั้นแสดงการเปรียบเทียบหน่วยเสียงที่ปรากฏทั้งในภาษาสเปนและในภาษาไทย (มาตรฐาน)

ตารางหน่วยเสียงพยัญชนะสเปน
ฐานริมฝีปาก ฐานริมฝีปาก
กับฟัน
ฐานฟัน ฐานปุ่มเหงือก ฐานเพดานแข็ง
ปุ่มเหงือก
ฐานเพดานแข็ง ฐานเพดานอ่อน
เสียงหยุด /p/ - ป /b/ - บ /t/ - ต /d/ - ด /k/ - ก /ɡ/
เสียงนาสิก /m/ - ม /n/ - น /ɲ/
เสียงเสียดแทรก /f/ - ฟ /θ/ /s/ - ซ /ʝ/ /x/
เสียงกักเสียดแทรก /ʧ/
เสียงเปิด
เสียงรัว /r/ - ร
เสียงลิ้นกระทบ /ɾ/
เสียงข้างลิ้น /l/ - ล /ʎ/

การออกเสียงในภาษาสเปนสามารถทราบได้จากตัวสะกด คือ พยัญชนะ/สระหนึ่งตัวส่วนใหญ่จะแทนเสียงเพียงเสียงเดียว ไม่ว่าจะปรากฏอยู่ในตำแหน่งใดหรือกับพยัญชนะ/สระใดก็ตาม ยกเว้นบางหน่วยเสียงที่หากเกิดในตำแหน่งที่ต่างกันออกไปก็จะกลายเป็นหน่วยเสียงย่อย ซึ่งก็ยังมีความใกล้เคียงกับหน่วยเสียงหลัก อย่างไรก็ตาม การออกเสียงพยัญชนะและเสียงสระแต่ละตัวยังอาจแตกต่างกันออกไปอย่างหลากหลายตามแต่ละพื้นที่ ดังกล่าวไปบ้างแล้วในหัวข้อระบบการเขียน

[แก้] ไวยากรณ์

ภาษาสเปนเป็นภาษาที่มีวิภัตติปัจจัย คือมีการผันคำไปตามลิงก์ (gender) พจน์ (number) กาล (tense) และการก (case) โดยมีระบบลิงก์ (เพศทางไวยากรณ์) 2 ประเภท คือชายและหญิง รวมทั้งมีรูปผันประมาณ 50 รูปต่อคำกริยาหนึ่งตัว แต่สำหรับคำนาม คำคุณศัพท์ และตัวกำหนด (determiners) แล้ว จะมีการลงวิภัตติปัจจัยที่น้อยและจำกัดกว่า

ภาษาสเปนมีโครงสร้างแตกกิ่งไปทางขวา มีการใช้คำบุพบท และในประโยคส่วนใหญ่จะวางคำคุณศัพท์ไว้หลังคำนาม (แม้จะไม่เสมอไป) ลักษณะทางวากยสัมพันธ์โดยรวมแล้วจะเป็นแบบประธาน-กริยา-กรรม นอกจากนี้ ภาษาสเปนยังเป็นภาษาละสรรพนาม คือสามารถละประธานของประโยคไปได้ในการสนทนาเมื่อไม่จำเป็น เนื่องจากรูปการผันของคำกริยาที่แตกต่างกันไปตามประธานแต่ละตัวนั้นสามารถบอกให้ทราบได้อยู่แล้ว

[แก้] คำศัพท์

ตัวอย่างคำในภาษาสเปนที่มีที่มาจากภาษาอาหรับ
คำสเปน คำอาหรับ ความหมาย
aceite az zeit น้ำมัน
aceituna az zeituna มะกอก
alcalde al qaddi (= ผู้พิพากษา) นายกเทศมนตรี
aldea ad dday’ah หมู่บ้าน
almohada al mukhadda หมอน
alquiler al kiraa การเช่า
alubia al lubiya ถั่ว
hasta hatta จนกระทั่ง
majara majnoun บ้า
marfil azzm-al-fil งาช้าง
rehén rihaan ตัวประกัน, เชลย
zanahoria safunariya แครอต

ประมาณร้อยละ 90 ของคำในภาษาสเปนมีที่มาจากภาษาละติน อีกร้อยละ 8 มาจากภาษาอาหรับ ที่เหลือมาจากภาษาในกลุ่มภาษาเยอรมนิก กลุ่มภาษาเคลติก หรือภาษาต่าง ๆ จากโลกใหม่ เช่น ภาษาเกชัว ภาษานาอวตล์ และภาษาแคริบ

หลายคำที่ขึ้นต้นด้วย al- จะมาจากภาษาอาหรับ คนที่คุ้นชินกับภาษาฝรั่งเศสและภาษาอิตาลีอาจเข้าใจว่าคำสเปนคำหนึ่ง ๆ มีที่มาจากคำอาหรับ เมื่อคำสเปนคำนั้นสะกดไม่เหมือนกับคำที่มีความหมายเดียวกันในภาษาเหล่านั้น (ซึ่งมาจากภาษาละติน) แต่คำนั้นอาจมีรากศัพท์จากคำในภาษาละตินที่แตกต่างออกไปก็ได้ เช่น

คำว่า "พี่ชาย/น้องชาย" ในภาษาสเปนใช้ว่า "hermano" ซึ่งสะกดไม่เหมือนกับ "frère" ในภาษาฝรั่งเศส และ "fratello" ในภาษาอิตาลี (ทั้งสองรูปมาจากคำว่า "frater" ในภาษาละติน) แต่คำนี้ก็ไม่ได้มาจากภาษาอาหรับ เพราะมีที่มาจากคำละตินเช่นกัน กล่าวคือ

สเปน "hermano" < ละติน germanus < ละติน germen < โพรโต-อินโด-ยุโรเปียน gen- ("เกี่ยวดอง, เป็นญาติสนิท")
คำร่วมเชื้อสายของคำนี้ในภาษาต่าง ๆ ได้แก่ ฝรั่งเศส - germain; โปรตุเกส - irmão; คาตาลัน - germà

บางคำก็เกิดจากการหดตัว (contraction) หรือการเปลี่ยนไปของรูปคำประสมเดิม เช่นคำว่า "semana" ("สัปดาห์") เป็นรูปเขียนที่ย่อมาจาก '"siete mañanas" ("เจ็ดเช้า/เจ็ดวันใหม่") หรือคำว่า "cómo" ("อย่าง/ด้วยวิธี") ก็มาจากภาษาละตินว่า "quo modo"

ผู้เรียนภาษาสเปน (ซึ่งพูดภาษาอังกฤษเป็นหลัก) หลายคนจะสับสนกับการใช้คำกริยา "ser" และ "estar" ซึ่งแปลว่า "to be" ในภาษาอังกฤษทั้งคู่ แต่ในภาษาสเปนนั้นทั้งสองคำมีความหมายและลักษณะการใช้แตกต่างกันมาก ต้นกำเนิดของทั้งสองคำนี้สามารถให้ความกระจ่างเกี่ยวกับความหมายได้บ้าง คือ 'ser' มาจาก คำในภาษาละตินว่า "esse" ("เป็นแก่นหรือมีแก่นของ...") ส่วน "estar'" มาจากคำว่า '"stare" ("ยืน/อยู่ในสถานะหนึ่ง ๆ")

เราอาจเห็นและรู้สึกได้ว่าคำสเปนหลายคำมีความแตกต่างอย่างเด่นชัดจากรากศัพท์เดิมของตัวมันเอง ซึ่งเป็นผลจากกระบวนการที่เกิดขึ้นขณะภาษาสเปนกำลังวิวัฒนาการจากภาษาละติน ตัวอย่างเช่น คำ "milagro" [มีลาโกร] ซึ่งแปลว่า "อัศจรรย์" ในภาษาสเปน (มาจากคำละตินว่า "miraculum" [มีลากูลุม]) สามารถแสดงให้เห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1. ปัจจัยหรือหน่วยคำเติมหลัง (Suffix) หน่วยคำเติมหลังที่แสดงเพศกลาง เอกพจน์ ของคำนามในภาษาละติน (-um) ถูกเปลี่ยนเป็น -o (ซึ่งคำนามที่ลงท้ายด้วย -o ในภาษาสเปนส่วนใหญ่จะเป็นเพศชาย)

2. สัทสภาพ (Voice Quality) พยัญชนะ c ซึ่งแทนเสียงไม่ก้อง /k/ ในคำ miraculum กลายเป็นพยัญชนะ g ซึ่งเป็นเสียงก้อง /ɡ/ ใน 'milagro' การเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยมาก โดยเฉพาะเมื่อพยัญชนะเสียงไม่ก้องจากภาษาเดิมนั้นปรากฏอยู่ระหว่างสระ

3. การสลับเสียง (Metathesis) พยัญชนะเหลวสองตัว คือ l และ r ในคำ miraculum สลับตำแหน่งกันเมื่อกลายเป็นคำว่า milagro แม้ว่าจะมีพยัญชนะหลายตัวที่สามารถสลับเสียงกันได้ในลักษณะดังกล่าว แต่ส่วนใหญ่คู่พยัญชนะที่สลับกันนั้นจะมีความเหมือนกันหรือมีลักษณะร่วมกันอยู่ (เช่น เป็นพยัญชนะเหลวหรือพยัญชนะนาสิกทั้งคู่)

4. การตัดเสียงกลางคำ (Syncope) คำว่า milagro เป็นคำสามพยางค์ซึ่งมีที่มาจากคำสี่พยางค์ ซึ่งสระ (ในที่นี้คือ u จากพยางค์รองสุดท้ายในคำ 'miraculum') มักจะถูกตัดเสียงด้วยหลายสาเหตุ เช่น เพื่อความเรียบง่าย ความไพเราะรื่นหู หรือเพื่อความสะดวกต่อการออกเสียง เป็นต้น ในภาษาสเปนมีอยู่หลายคำที่เป็นตัวอย่างของการตัดเสียงกลางคำ โดยกระบวนการนี้เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติในหลาย ๆ ภาษา แต่ในกลุ่มภาษาโรมานซ์ตะวันตก (เช่น ภาษาสเปน ภาษาโปรตุเกส และภาษาฝรั่งเศส) ก็เกิดขึ้นค่อนข้างช้าและไม่กว้างขวางเท่าในกลุ่มภาษาโรมานซ์ตะวันออก (เช่น ภาษาโรมาเนีย)

[แก้] การแปร

แผนที่ภาษาถิ่นของภาษาคาสตีลและภาษาอื่น ๆ ในประเทศสเปน
แผนที่ภาษาถิ่นของภาษาคาสตีลและภาษาอื่น ๆ ในประเทศสเปน

ในบรรดาแคว้นต่าง ๆ ของประเทศสเปนและทั่วทุกดินแดนที่พูดภาษาสเปนจะปรากฏการแปรของภาษาอย่างมีนัยสำคัญ ในสเปนเอง การออกเสียงของภาษาถิ่นคาสตีลถือเป็นมาตรฐานระดับชาติ แต่ภาษาถิ่นนี้ก็มีการใช้กรรมตรง la ให้ทำหน้าที่เป็นกรรมรองแทน le [ลักษณะนี้เรียกว่า ลาอิสโม (laísmo) ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับอย่างมาก] ซึ่งสำหรับชาวสเปนเกือบทุกคนนั้น "ภาษาสเปนมาตรฐาน" หมายถึง "การออกเสียงทุกอย่างให้ตรงกับที่เขียน" แต่ไม่มีภาษาถิ่นใดที่มีลักษณะสอดคล้องกับอุดมคติดังกล่าวเลย แม้ว่าภาษาถิ่นทางเหนือจะมีความใกล้เคียงที่สุดแล้วก็ตาม ในทางปฏิบัติสำหรับสื่อต่าง ๆ ในการสร้างมาตรฐานของภาษาพูดสเปนก็คือการใช้ "ภาษาเขียนสเปน" สำหรับวัจนกรรมที่เป็นทางการ และการใช้ "ภาษาถิ่นมาดริด" (หนึ่งในรูปแปรระหว่างภาษาถิ่นคาสตีลกับภาษาถิ่นอันดาลูเซีย) สำหรับวัจนกรรมไม่เป็นทางการ

ภาษาสเปนมีสรรพนามบุรุษที่ 2 เอกพจน์สามตัว ได้แก่ , usted และตัวที่ใช้กันในหลายส่วนของลาตินอเมริกา คือ vos [การใช้สรรพนามตัวนี้เรียกว่า โบเซโอ (voseo)] โดยทั่วไปนั้น และ vos เป็นสรรพนามที่ไม่เป็นทางการ (= เธอ) คือผู้พูดจะใช้กับเพื่อนหรือคนในครอบครัว ทั้งที่จริง ๆ แล้วในประเทศสเปนถือว่า vos เป็นสรรพนามที่ดั้งเดิมใช้กับบุคคลสำคัญหรือบุคคลชั้นสูง และปัจจุบันใช้ในพิธีสวดมนต์ต์ต์เป็นหลัก ส่วน usted (= คุณ/ท่าน บางครั้งใช้รูปย่อ Vd.) เป็นสรรพนามที่ถือว่าเป็นทางการในทุกที่ (มาจากคำว่า vuestra merced "your grace") และใช้เป็นเสมือนเครื่องหมายแสดงความนับถือเมื่อพูดกับคนที่มีอายุมากกว่าหรือคนที่ไม่สนิทสนม

ประเทศที่มีลักษณะโบเซโอ สีน้ำเงินคือประเทศที่มีการใช้ vos เป็นหลัก ส่วนสีเขียวคือประเทศที่มีการใช้ในบางพื้นที่หรือไม่ใช้เป็นกระแสหลัก
ประเทศที่มีลักษณะโบเซโอ สีน้ำเงินคือประเทศที่มีการใช้ vos เป็นหลัก ส่วนสีเขียวคือประเทศที่มีการใช้ในบางพื้นที่หรือไม่ใช้เป็นกระแสหลัก

การใช้สรรพนาม vos ในฐานะรูปภาษาพูดหลักของสรรพนามบุรุษที่ 2 เอกพจน์ เป็นไปอย่างกว้างขวางและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในหลายประเทศของภูมิภาคลาตินอเมริกา ได้แก่ อาร์เจนตินา คอสตาริกา เอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส นิการากัว ปารากวัย อุรุกวัย แถบเทือกเขาตอนกลางของเอกวาดอร์ จังหวัดอันตีโอเกียและจังหวัดบาเยเดลเกากาของโคลอมเบีย และรัฐซูเลียของเวเนซุเอลา ในอาร์เจนตินา อุรุกวัย และปารากวัย vos เป็นรูปมาตรฐานที่ใช้กันในสื่อของประเทศดังกล่าว แต่สื่อในประเทศอื่น ๆ ที่มีโบเซโอยังคงใช้ usted หรือ กันทั่วไปยกเว้นในโฆษณาเป็นต้น ส่วนในระดับภูมิภาคหรือท้องถิ่นแล้ว การจะถือว่าโบเซโอเป็นมาตรฐานหรือด้อยการศึกษาอย่างไรนั้นก็ต่างกันออกไปตามการตัดสินของผู้คน

คำในภาษาสเปนยังมีความแตกต่างในเรื่องของสรรพนามบุรุษที่ 2 พหูพจน์ ภาษาท้องถิ่นของลาตินอเมริกามีสรรพนามประเภทดังกล่าวเพียงรูปเดียวที่ใช้ในชีวิตประจำวัน คือ ustedes (บางครั้งย่อเป็น Vds.) ซึ่งใช้ทั้งในเชิงทางการและเชิงไม่ทางการ (= พวกคุณหรือพวกเธอ) ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และบางครั้ง vosotros (= พวกเธอ) อาจปรากฏในบทร้อยกรองหรือวรรณกรรมที่ใช้สำนวนโวหารต่าง ๆ ส่วนในสเปนจะแบ่งออกเป็น ustedes (ทางการ) และ vosotros (ไม่เป็นทางการ) โดยสรรพนาม vosotros เป็นรูปพหูพจน์ของสรรพนาม นั่นเอง แต่ในทวีปอเมริกา รวมทั้งบางเมืองทางภาคใต้ของสเปน (เช่น กาดิซหรือเซบียา) และหมู่เกาะคะเนรี สรรพนามนี้จะถูกแทนด้วย ustedes ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าการใช้ ustedes ในความหมายว่า "พวกเธอ" ทางภาคใต้ของสเปนนั้นไม่เป็นไปตามกฎการผันกริยา (ซึ่งแสดงความสอดคล้องระหว่างสรรพนามกับกริยา) เช่น ขณะที่ประโยค ustedes van ("พวกคุณไป") ใช้รูปผันกริยาสำหรับประธานสรรพนามบุรุษที่ 3 พหูพจน์ (เป็นกฎการผันกริยาตามปกติ) แต่ในเมืองกาดิซและเซบียาเมื่อพูดว่า "พวกเธอไป" จะใช้ ustedes vais ซึ่งเป็นรูปผันกริยาที่ตามกฎแล้วจะใช้เฉพาะกับสรรพนาม vosotros ส่วนในหมู่เกาะคะเนรีนั้นการผันกริยาจะเป็นไปตามปกติคือ ustedes van

ยังมีคำภาษาสเปนอีกเป็นจำนวนมากที่มีความหมายและรูปแบบการใช้แตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ ผู้พูดภาษาสเปนส่วนมากจะรู้จักคำที่มีความหมายอย่างเดียวกันในรูปเขียนอื่นแม้จะเป็นคำที่ไม่ได้ใช้กันทั่วไปก็ตาม แต่ชาวสเปนส่วนใหญ่มักไม่เข้าใจการใช้คำ (ที่มีรูปเขียนเดียวกัน) ในความหมายอื่น ๆ ของผู้พูดภาษาสเปนในทวีปอเมริกา ตัวอย่างเช่น คำสเปน mantequilla, aguacate และ albaricoque (แปลว่า "เนย" "อะโวคาโด" และ "แอพริคอต" ตามลำดับ) มีความหมายตรงกับ manteca, palta และ damasco ในอาร์เจนตินา ชิลี และอุรุกวัย นอกจากนี้คำที่ใช้กันตามปกติในสเปน เช่น coger ("เก็บ/หยิบ"), pisar ("เหยียบ") และ concha ("เปลือกหอย") กลายเป็นคำที่มีความหมายหยาบโลนในหลายส่วนของลาตินอเมริกา ซึ่งทั้ง coger และ pisar แปลว่า "มีเพศสัมพันธ์" ส่วน concha แปลว่า "อวัยวะเพศหญิง" คำว่า pinche ในเปอร์โตริโกแปลว่า "กิ๊บติดผม" แต่ถือเป็นคำไม่สุภาพในเม็กซิโก (ความหมายทำนองเดียวกับ "damn" ในภาษาอังกฤษ) และในนิการากัวแปลว่า "ขี้เหนียว" ตัวอย่างอื่น ๆ เช่น taco ซึ่งแปลว่า "คำสบถ" ในสเปน แต่ทั่วโลกรู้จักคำนี้ในฐานะชื่ออาหารเม็กซิโกชนิดหนึ่ง ส่วน coche ซึ่งแปลว่า "รถ" ในสเปนนั้น แปลว่า "หมู" ในกัวเตมาลา ในขณะที่ carro แปลว่า "รถ" ในลาตินอเมริกาบางประเทศและแปลว่า "เกวียน" ในสเปนและประเทศอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม ราชบัณฑิตยสถานสเปน (Real Academia Española) ได้ร่วมกับบัณฑิตยสถานภาษาสเปนในชาติที่ใช้ภาษานี้เป็นหลักอีก 21 แห่ง ใช้อำนาจที่มีในการสร้างมาตรฐานของภาษาผ่านสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ทั้งพจนานุกรม ตำราไวยากรณ์ และหลักเกณฑ์การใช้ภาษา ประกอบกับเหตุผลทางสังคมวิทยาและประวัติศาสตร์ จึงทำให้ภาษาสเปนมาตรฐาน (Standard Spanish; Neutral Spanish) ได้รับการยอมรับอย่างเป็นวงกว้างทั้งในการผลิตงานวรรณกรรม บทความวิชาการ และสื่อหลายแขนง

[แก้] ภาษาสเปนในประเทศไทย

การเรียนการสอนภาษาสเปนในหลักสูตรระดับปริญญาตรี ปัจจุบันสามารถเรียนได้ที่

  1. คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  2. คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  3. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  4. คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ Rafael Cano (coord.). Historia de la lengua española Barcelona: Ariel Lingüística, 2005.
  2. ^ Vulgar Latin เป็นภาษาละตินแบบที่พูดกันในหมู่ชาวบ้านและทหารของจักรวรรดิโรมัน ไม่ใช่แบบที่ชนชั้นสูงในกรุงโรมใช้ในการพูดสื่อสารหรือเขียนวรรณกรรม ซึ่งเรียกว่า Classical Latin
  3. ^ 3.0 3.1 3.2 Spanish. ethnologue.
  4. ^ http://www.cso.gov.bz/publications/MF2000.pdf
  5. ^ Belize Population and Housing Census 2000
  6. ^ CIA World Factbook — Belize
  7. ^ MERCOSUL, Portal Oficial (Portuguese)
  8. ^ BrazilMag.com, August 08 2005.
  9. ^ Lipski, John M. (2006). "Too close for comfort? the genesis of “portuñol/portunhol”". Selected Proceedings of the 8th Hispanic Linguistics Symposium. ed. Timothy L. Face and Carol A. Klee, 1-22. Somerville, MA: Cascadilla Proceedings Project.
  10. ^ U.S. Census Bureau. Percent of People 5 Years and Over Who Speak Spanish at Home: 2005
  11. ^ Foreign Language Enrollments in United States Institutions of Higher LearningPDF (129 KiB), MLA Fall 2002.
  12. ^ Facts, Figures, and Statistics About Spanish, American Demographics, 1998.
  13. ^ BBC Education — Languages, Languages Across Europe — Spanish.
  14. ^ Elucidate — Business Communication Across Borders: A Study of Language Use and Practice in European Companies Edited by Professor S Hagen © InterAct International, 1997]
  15. ^ http://www.ethnologue.com/show_country.asp?name=SE
  16. ^ CIA World Factbook — Gibraltar
  17. ^ http://encarta.msn.com/encyclopedia_761554662/Andorra.html#s3
  18. ^ http://www.state.gov/r/pa/ei/bgn/3164.htm
  19. ^ Ethnologue Gordon, Raymond G., Jr. (ed.), 2005. Ethnologue: Languages of the World, Fifteenth edition. Dallas, Tex.: SIL International. Online version: http://www.ethnologue.com/.
  20. ^ Ethnologue. Ethnologue Report for the Philippines.
  21. ^ CIA World Factbook, Equatorial Guinea.
  22. ^ Morocco.com, The Languages of Morocco.
  23. ^ Martínez-Celdrán, Eugenio; Ana Ma. Fernández-Planas & Josefina Carrera-Sabaté (2003), "Castilian Spanish", Journal of the International Phonetic Association 33 (2): 256

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

Wikibooks
วิกิตำรา มีคู่มือ ตำรา หรือวิธีการเกี่ยวกับ:
ภาษาสเปน

ภาษาอื่น


aa - ab - af - ak - als - am - an - ang - ar - arc - as - ast - av - ay - az - ba - bar - bat_smg - bcl - be - be_x_old - bg - bh - bi - bm - bn - bo - bpy - br - bs - bug - bxr - ca - cbk_zam - cdo - ce - ceb - ch - cho - chr - chy - co - cr - crh - cs - csb - cu - cv - cy - da - de - diq - dsb - dv - dz - ee - el - eml - en - eo - es - et - eu - ext - fa - ff - fi - fiu_vro - fj - fo - fr - frp - fur - fy - ga - gan - gd - gl - glk - gn - got - gu - gv - ha - hak - haw - he - hi - hif - ho - hr - hsb - ht - hu - hy - hz - ia - id - ie - ig - ii - ik - ilo - io - is - it - iu - ja - jbo - jv - ka - kaa - kab - kg - ki - kj - kk - kl - km - kn - ko - kr - ks - ksh - ku - kv - kw - ky - la - lad - lb - lbe - lg - li - lij - lmo - ln - lo - lt - lv - map_bms - mdf - mg - mh - mi - mk - ml - mn - mo - mr - mt - mus - my - myv - mzn - na - nah - nap - nds - nds_nl - ne - new - ng - nl - nn - no - nov - nrm - nv - ny - oc - om - or - os - pa - pag - pam - pap - pdc - pi - pih - pl - pms - ps - pt - qu - quality - rm - rmy - rn - ro - roa_rup - roa_tara - ru - rw - sa - sah - sc - scn - sco - sd - se - sg - sh - si - simple - sk - sl - sm - sn - so - sr - srn - ss - st - stq - su - sv - sw - szl - ta - te - tet - tg - th - ti - tk - tl - tlh - tn - to - tpi - tr - ts - tt - tum - tw - ty - udm - ug - uk - ur - uz - ve - vec - vi - vls - vo - wa - war - wo - wuu - xal - xh - yi - yo - za - zea - zh - zh_classical - zh_min_nan - zh_yue - zu -