ประเทศเปรู
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
|
|||||
คำขวัญ: ไม่มี | |||||
เพลงชาติ: Somos libres, seámoslo siempre "We are free, let's always be" |
|||||
เมืองหลวง | ลิมา |
||||
เมืองใหญ่สุด | ลิมา | ||||
ภาษาราชการ | ภาษาสเปน[1] | ||||
รัฐบาล | สาธารณรัฐภายใต้รัฐธรรมนูญ | ||||
- ประธานาธิบดี | อะลัน การ์ซีอา | ||||
- นายกรัฐมนตรี | คอร์เค เดล กัสตีโย | ||||
เอกราช ประกาศ |
จาก สเปน 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2364 |
||||
เนื้อที่ - ทั้งหมด - พื้นน้ำ (%) |
1,285,220 กม.² (อันดับที่ 20) 496,226 ไมล์² 8.80% |
||||
ประชากร - ก.ค. 2551 ประมาณ - 2548 - ความหนาแน่น |
29,180,899 (อันดับที่ 43) 26,152,266 21.7/กม² (อันดับที่ 183) 56.2/ไมล์² |
||||
GDP (PPP) - รวม - ต่อประชากร |
พ.ศ. 2551 ค่าประมาณ 217.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 50th) 7,600 ดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 113) |
||||
HDI (2546) | 0.762 (อันดับที่ 79) – กลาง | ||||
สกุลเงิน | นวยโบซอล (PEN ) |
||||
เขตเวลา | (UTC-5) | ||||
รหัสอินเทอร์เน็ต | .pe | ||||
รหัสโทรศัพท์ | +51 |
||||
|
เปรู (Peru) หรือชื่อทางการคือ สาธารณรัฐเปรู (Republic of Peru) (สเปน: República del Perú) ตั้งอยู่ทางส่วนตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ มีพรมแดนทางทิศเหนือติดกับประเทศเอกวาดอร์ และ ประเทศโคลอมเบียทิศตะวันออกติดกับประเทศบราซิล และ ประเทศโบลิเวีย ทางทิศใต้ติดกับประเทศชิลี และทิศตะวันตกติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก มีขนาดประมาณ 2.5 เท่าของประเทศไทย
ประเทศเปรู เป็นที่ตั้งของนครคุสโค เมืองหลวงของอาณาจักรอินคา ซึ่งเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกา[1] ภายหลังตกเป็นอาณานิคมของประเทศสเปน และได้รับเอกราชในปี พ.ศ. 2364
เนื้อหา |
[แก้] ประวัติศาสตร์
[แก้] ยุคก่อนอินคา
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่หลงเหลืออยู่มากมายในประเทศเปรู แสดงให้เห็นว่ามีอารยธรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นในประเทศเปรูก่อนอารยธรรมอินคา [2] [3]ได้แก่
- อารยธรรมชาวิน (ประมาณ 400 ปีก่อนพุทธศักราช ถึง พ.ศ. 350)
- อารยธรรมโมเช (ประมาณ พ.ศ. 650 ถึง พ.ศ. 1350) พัฒนาขึ้นบริเวณชายฝั่งตอนเหนือของเปรู
- อารยธรรมนาซคา (ประมาณ พ.ศ. 800 ถึง พ.ศ. 1300) เป็นอารยธรรมที่เจริญขึ้นในช่วงเดียวกับอารยธรรมโมเช มีศูนย์กลางอยู่บริเวณชายฝั่งตอนใต้ เส้นนาซคาที่มีชื่อเสียงก็ถูกสร้างขึ้นในยุคนี้
- อารยธรรมทิวานาโค (ประมาณ พ.ศ. 1050 ถึง พ.ศ. 1450) โบราณสถานที่ถูกสร้างในยุคทิวานาโคอยู่ในทางตะวันตกของเมืองลาปาซ ในประเทศโบลิเวีย
- อารยธรรมวาริ (ประมาณ พ.ศ. 1100 ถึง พ.ศ. 1650)
- อารยธรรมชิมู (ประมาณ พ.ศ. 1450 ถึง พ.ศ. 2000)
[แก้] ยุคอินคา
ดูเพิ่มที่ อาณาจักรอินคา |
อาณาจักรอินคาก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 18 แต่เริ่มมีอำนาจขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 1981 ในสมัยของพาชาคูติ กษัตริย์องค์ที่ 9 อินคาค่อย ๆ ขยายอาณาเขตออกไปจากศูนย์กลางที่เมืองคุสโคโดยการสู้รบ อาณาจักรขยายใหญ่จนถึงที่สุดในยุคของฮวยนา คาแพก กษัตริย์องค์ที่ 11 ครอบคลุมบริเวณชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ ตั้งแต่บริเวณตอนใต้ของประเทศโคลอมเบียไปจนถึงตอนกลางของประเทศชิลี รวมทั้งบริเวณประเทศโบลิเวีย และตอนเหนือของประเทศอาร์เจนตินา
ก่อนที่ฮวยนา คาแพกจะสวรรคตทรงแบ่งดินแดนอินคาให้แก่อตาฮวลปาและฮัวสคาร์ พระราชโอรสทั้งสอง แต่พระราชโอรสทั้งสองไม่พอพระทัย ต้องการปกครองแผ่นดินแต่เพียงพระองค์เดียว จึงเกิดการสู้รบเพื่อแย่งแผ่นดินกันขึ้น ในที่สุดอตาฮวลปาก็เป็นฝ่ายชนะ
ในขณะที่ดินแดนอินคากำลังวุ่นวายด้วยสงครามแย่งชิงอำนาจและโรคระบาด ฟรานซิสโก ปิซาร์โร นักผจญภัยชาวสเปนกับกำลังพล 180 คน ได้เดินทางมาเข้าพบอตาฮวลปาและจับพระองค์เป็นตัวประกัน ชาวอินคามอบทองคำและเงินเป็นจำนวนมากให้แก่ปิซาร์โรเพื่อเป็นค่าไถ่ให้ปล่อยตัวกษัตริย์ของตน แต่ปิซาร์โรกลับไม่ยอมรักษาคำพูดและประหารพระองค์ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2076
[แก้] การปกครองของสเปน
[แก้] สาธารณรัฐเปรู
[แก้] การปกครอง
ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ โดยมีประธานาธิบดีเป็นผู้นำสูงสุด ฝ่ายบริหาร เปรูมีประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขและหัวหน้าฝ่ายบริหาร โดยมาจากการเลือกตั้ง และอยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี และห้ามดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 1 สมัย ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นายอะลัน การ์ซีอา ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 28 กรกฎาคม 2549
[แก้] การแบ่งเขตการปกครอง
ดินแดนของสาธารณรัฐเปรูตามกฎหมายซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 แบ่งออกเป็น 25 แคว้น (regions - regiones) แคว้นเหล่านี้แบ่งย่อยออกเป็น จังหวัด (provinces) ซึ่งประกอบด้วย อำเภอ (districts) ทั้งประเทศมีทั้งหมด 194 จังหวัด และ 1,821 อำเภอ
จังหวัดลิมา ตั้งอยู่ริมชายฝั่งตอนกลางของประเทศมีฐานะเป็นเอกเทศไม่ขึ้นกับแคว้นใด ๆ กรุงลิมาซึ่งเป็นรู้จักกันในชื่อ มหานครลิมา (Metropolitan Lima) หรือ ลีมาเมโตรโปลีตานา (Lima Metropolitana) เมืองหลวงของประเทศก็ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดนี้
แคว้นต่าง ๆ ของเปรู ได้แก่
- อามาโซนัส (ชาชาโปยัส)
- อังกัช (วารัซ)
- อาปูรีมัก (อาบังไกย์)
- อาเรกีปา (อาเรกีปา)
- อายากูโช (อายากูโช)
- กาคามาร์กา (กาคามาร์กา)
- กายาโอ (กายาโอ)
- คุสโค (คุสโค)
- วันกาเบลีกา (วันกาเบลีกา)
- วานูโก (วานูโก)
- อีกา (อีกา)
- คูนิง (วันกาโย)
- ลาลีเบร์ตัด (ตรูคีโย)
- ลัมบาเยเก (ชีกลาโย)
- ลิมา (วาโช)
- ลีมาเมโตรโปลีตานา (ลิมา)
- โลเรโต (อีกีโตส)
- มาเดรเดดีโอส (ปวยร์โตมัลโดนาโด)
- โมเกกวา (โมเกกวา)
- ปัสโก (เซร์โรเดปัสโก)
- ปิวรา (ปิวรา)
- ปูโน (ปูโน)
- ซันมาร์ติง (โมโยบัมบา)
- ตักนา (ตักนา)
- ตุมเบส (ตุมเบส)
- อูกายาลี (ปูไกย์ปา)
(ในวงเล็บคือชื่อเมืองหลวงของแต่ละแคว้น)
[แก้] ภูมิศาสตร์
[แก้] ภูมิประเทศ
ภูมิประเทศแบ่งออกเป็น 3 แบบใหญ่ ๆ คือชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิค เทือกเขาแอนดีส และบริเวณลุ่มแม่น้ำแอมะซอน
[แก้] เศรษฐกิจ
[แก้] สภาวะเศรษฐกิจโดยรวม
เปรูเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางด้านเศรษฐกิจเนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ เขตภูเขาอุดมไปด้วยทรัพยากรแร่ธาตุสำคัญหลายชนิด เปรูจึงเป็นผู้ผลิตแร่ธาตุรายใหญ่ของโลก เช่นทองแดง (อันดับ 3 ของโลก) ตะกั่ว (อันดับ 4 ของโลก) เงิน (อันดับ 1 ของโลก) สังกะสี (อันดับ 3 ของโลก) ดีบุก (อันดับ 3 ของโลก)[4] น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ส่วนทางชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิคมีสภาพเอื้ออำนวยต่อการประมง[5] ผลิตภัณฑ์การเกษตรที่สำคัญได้แก่มันฝรั่ง[6] ข้าวโพด ผลไม้ ต้นโคคา และการปศุสัตว์[5] นอกจากนี้ ทรัพยากรการท่องเที่ยวของเปรู เช่นมาชู ปิคชู เมืองคุสโคและป่าดิบชื้นบริเวณแม่น้ำแอมะซอนสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมาก[7] [8]
- ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (PPP) 217.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สามารถแยกเป็นภาคบริการ ร้อยละ 66 อุตสาหกรรม ร้อยละ 25.6 และเกษตรกรรม ร้อยละ 8.4
- อัตราเงินเฟ้อ (Consumer Prices) ยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำคือ ร้อยละ 3.5
- สินค้าเข้า มูลค่า 18.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ เครื่องจักรอุตสาหกรรม ยานพาหนะ อาหาร ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เหล็กและเหล็กกล้า พลาสติก ผลิตภัณฑ์เคมีและยา
- สินค้าออก มูลค่า 27.14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ ปลาและผลิตภัณฑ์จากปลา ทองคำ ทองแดง สังกะสี ปิโตเลียม ตะกั่ว กาแฟ มันฝรั่ง ผ้า
- ประเทศคู่ค้าสำคัญ สหรัฐอเมริกา จีน บราซิล สวิตเซอร์แลนด์ เอกวาดอร์ แคนาดา โคลอมเบีย ชิลี ญี่ปุ่น[5]
[แก้] สภาวะในปัจจุบัน
หลังจากที่เศรษฐกิจถดถอยในช่วง พ.ศ. 2541 ถึง พ.ศ. 2544 อดีตประธานาธิบดี อะเลฮันโดร โทเลโด (พ.ศ. 2544-2549)ก็ดำเนินนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยวางนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม มุ่งเน้นการเปิดเสรีทางการค้าและเศรษฐกิจ เพื่อดึงดูดการค้าและการลงทุนจากต่างชาติ โดยรัฐบาลเปรูได้เสนอโครงการแปรรูป หน่วยงานรัฐวิสาหกิจหลายโครงการ ปรับปรุงและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบภาษี ปรับลดภาษีนำเข้า และแก้ไขปัญหาในระบบยุติธรรม โดยเชื่อว่าจะสามารถช่วยกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจถดถอยภายในประเทศ และในระยะยาว การเติบโตทางเศรษฐกิจจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างงานและแก้ปัญหาความยากจน
ในสมัยต่อมา (ประธานาธิบดีอะลัน การ์ซิอา) เปรูมีสภาพเศรษฐกิจดีที่สุดในรอบ 40 ปี[9] และเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในทวีป (ประมาณ 9.2% ใน พ.ศ. 2550) ซึ่งเป็นผลจากการที่ราคาแร่ธาตุสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ การลงทุนของภาคเอกชน และการบริโภคภายในประเทศยังเติบโตสูงขึ้นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม ความร่ำรวยและความเจริญกลับกระจายไม่ทั่วถึงประชากรทั้งประเทศ ในขณะที่เมืองที่ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิคและทางตอนเหนือของประเทศมีเศรษฐกิจที่เจริญเติบโต เมืองทางตอนใต้แถบเทือกเขาแอนดีสทีส่วนใหญ่ประกอบการเกษตรในพื้นที่ขนาดเล็กกลับมีอัตราประชากรยากจนสูงถึงร้อยละ 70[10]
[แก้] ประชากร
ประชากร 29,180,899 คน (ก.ค. 2551)
- เชื้อชาติอินเดียนพื้นเมือง ร้อยละ 45 เมสติโซ ร้อยละ 37 ผิวขาวร้อยละ 15 และอื่น ๆ ร้อยละ 3
- อัตราผู้รู้หนังสือ ร้อยละ 87.7
- อัตราการเติบโตของประชากร ร้อยละ 1.264
- ภาษา ภาษาสเปน และ ภาษาเคชัว เป็นภาษาราชการ นอกจากนี้ ยังมีการใช้ภาษาไอย์มารา
- ศาสนา ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ร้อยละ 90 และมีนับถือพุทธบ้างในชุมชนชาวจีน และญี่ปุ่น
[แก้] วัฒนธรรม
วัฒนธรรมโบราณของชาวอินคา ยังคงอยู่ในเปรูในปัจจุบัน ชาวเปรูยังคงใช้ชีวิตตามแบบบรรพบุรุษ เช่นการใช้ภาษาเคชัว การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
[แก้] อาหาร
อาหารจานหลักของเปรูมีความหลากหลายเพราะมีส่วนผสมที่สามารถหาได้ในประเทศหลายอย่าง เช่น อาหารทะเล เนื้อสัตว์ต่าง ๆ เช่น เนื้อวัว เนื้อไก่ เนื้ออัลปาคา และเนื้อกินนี่พิก นิยมรับประทานอาหารจานหลักกับมันฝรั่ง (ซึ่งกล่าวกันว่ามีมากถึง 3,500 ชนิด[6]) ข้าวโพด หรือข้าว ในเขตเทือกเขาชาวเปรูมักจะกินซุปเพื่ออบอุ่นร่างกายก่อนออกไปเผชิญความหนาวเย็น อาหารเปรูที่มีชื่อเสียงคือ เซวิเช่ ซึ่งมีลักษณะคล้ายสลัดทะเล โดยนำเนื้อปลาสดหรือกุ้งสดที่หมักในน้ำมะนาวและพริกไทย มาผสมกับหัวหอมซอย
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเปรูคือ พิสโกซาวร์ (Pisco sour) ซึ่งมีส่วนผสมของเหล้าพิสโก (บรั่นดีที่ทำจากองุ่น) น้ำมะนาว น้ำแข็ง ไข่ขาว และน้ำหวาน ชาวเปรูยังนิยมดื่มเครื่องดื่มจากข้าวโพดสีม่วงที่เรียกว่า ชิชาโมราดา (Chicha morada)อีกด้วย[11]
ชาวพื้นเมืองนิยมเคี้ยวใบโคคาตากแห้งและดื่มชาโคคามาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ปัจจุบันกำลังประสบปัญหาโดนต่อต้านจากนานาชาติ เนื่องจากใบโคคา(ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตโคเคน)ถูกสหประชาชาติกำหนดให้เป็นยาเสพติดตั้งแต่ พ.ศ. 2504[12]
[แก้] งานเทศกาล
เปรูมีเทศกาลมากมายตลอดทั้งปี ซึ่งมีทั้งเทศกาลทางศาสนา เทศกาลเกี่ยวกับประเพณีของอินคา เทศกาลเกี่ยวกับการเกษตร และเทศกาลเพื่อเฉลิมฉลอง งานเทศกาลที่สำคัญของเปรูได้แก่[13]
- คาร์นิวอล (เดือนกุมภาพันธ์) งานคาร์นิวอลมีจัดขึ้นทั่วทั้งประเทศ แต่งานที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่เมืองกาคามาร์กา มีจุดเด่นที่การละเล่นสาดน้ำ
- อินทิ เรย์มี (เทศกาลดวงอาทิตย์; วันที่ 24 มิถุนายน) เป็นพิธีเพื่อบูชาพระอาทิตย์ซึ่งสืบต่อมาจากยุคอินคา มีการฉลองเป็นเวลา 1 สัปดาห์ในเมืองคุสโค และในวันที่24 มิถุนายน มีพิธีใหญ่ที่แซกซายฮัวมาน
[แก้] อ้างอิง
- ^ Civilizations in America.Washington State University(อังกฤษ)
- ^ South American Sites & Culures.Minnesota State University Mankato(อังกฤษ)
- ^ Secret Civilizations Timeline.NHK(ญี่ปุ่น)
- ^ The Economist, Pocket World in Figures 2007 Edition, 2549(อังกฤษ)
- ^ 5.0 5.1 5.2 ข้อมูลประเทศเปรูจากเวิลด์แฟกต์บุก. CIA.เรียกข้อมูลวันที่ 2008-05-21(อังกฤษ)
- ^ 6.0 6.1 Llamas and mash. The Economist (2008-02-28).(อังกฤษ)
- ^ Ecotourism in Peru. The Economist (2008-04-10).(อังกฤษ)
- ^ Tourism in Peru. The Economist (2001-07-19).(อังกฤษ)
- ^ Background of Peru. The Economist.เรียกข้อมูลวันที่ 2008-05-20(อังกฤษ)
- ^ Poverty amid progress. The Economist (2008-05-08). เรียกข้อมูลวันที่ 2008-05-20 (อังกฤษ)
- ^ Rob Rachowiecki and Charlotte Beech, Peru, Lonely Planet, 2004, หน้า 42-43(อังกฤษ)
- ^ Fighting for the Right to Chew Coca. Time (2008-03-17).(อังกฤษ)
- ^ Festivals in Peru. Peru Tourism Bureau.(อังกฤษ)
|
||
---|---|---|
ประเทศ | กายอานา · โคลอมเบีย · ชิลี · ซูรินาเม · ตรินิแดดและโตเบโก* · บราซิล · โบลิเวีย · ปานามา* · ปารากวัย · เปรู · ฝรั่งเศส (เฟรนช์เกียนา) · เวเนซุเอลา · อาร์เจนตินา · อุรุกวัย · เอกวาดอร์ |
|
ดินแดน | อารูบา* (เนเธอร์แลนด์) · เนเธอร์แลนด์แอนทิลลิส* (เนเธอร์แลนด์) · หมู่เกาะฟอล์กแลนด์ (สหราชอาณาจักร) · เกาะเซาท์จอร์เจียและหมู่เกาะเซาท์แซนด์วิช (สหราชอาณาจักร) |
|
*เป็นประเทศหรือดินแดนที่มักจะถูกจัดให้อยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ |
|
|
---|---|
เกาหลีใต้ • แคนาดา • จีน • ชิลี • ญี่ปุ่น • นิวซีแลนด์ • บรูไนดารุสซาลาม • ปาปัวนิวกินี • เปรู • ไทย • ฟิลิปปินส์ · มาเลเซีย • เม็กซิโก • รัสเซีย • เวียดนาม ·สิงคโปร์ • ออสเตรเลีย • อินโดนีเซีย • สหรัฐอเมริกา • จีนไทเป • ฮ่องกง |
ประเทศเปรู เป็นบทความเกี่ยวกับ ประเทศ เมือง หรือเขตการปกครองต่าง ๆ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ ประเทศเปรู ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ |