See also ebooksgratis.com: no banners, no cookies, totally FREE.

CLASSICISTRANIERI HOME PAGE - YOUTUBE CHANNEL
Privacy Policy Cookie Policy Terms and Conditions
ทักษิณ ชินวัตร - วิกิพีเดีย

ทักษิณ ชินวัตร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

บทความนี้ถูกล็อกเนื่องจากถูกก่อกวนหลายครั้งติดต่อกัน ผู้ใช้ที่ไม่ได้ลงทะเบียน หรือผู้ใช้ใหม่ จะไม่สามารถแก้ไขได้
คุณสามารถเสนอข้อความเพื่อปรับปรุงบทความ หรือขอให้ยกเลิกการป้องกันได้ในหน้าอภิปราย อย่างไรก็ตามบทความนี้สามารถแก้ไขได้ตามปกติสำหรับผู้ใช้ทั่วไป

พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร
ทักษิณ ชินวัตร

ดำรงตำแหน่ง
9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 – 19 กันยายน พ.ศ. 2549 (รัฐประหาร)
สมัยก่อนหน้า ชวน หลีกภัย
สมัยถัดไป พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์

เกิด 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 (อายุ 58 ปี)
อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่, ประเทศไทย
สังกัดพรรค พรรคพลังธรรม (พ.ศ. 2537)
พรรคไทยรักไทย (พ.ศ. 2541)
สมรสกับ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร
ศาสนา พุทธ
ลายมือชื่อ

พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร (26 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 — ปัจจุบัน ) เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย (ดำรงตำแหน่ง 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 254419 กันยายน พ.ศ. 2549) เป็นผู้ก่อตั้ง และหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เป็นนักธุรกิจ ผู้ก่อตั้งกลุ่มชิน คอร์ปอเรชั่น และปัจจุบันเป็นประธานสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี้

พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ขณะกำลังร่วมการประชุมสหประชาชาติ ที่ นครนิวยอร์ก

พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร ด้วยสายการบินไทย เที่ยวบินที่ TG603 ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อเวลา 9.40 น. ก่อนที่จะเดินทางไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อมอบตัวในคดีทุจริตที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษก และเดินทางไปสำนักงานอัยการสุงสุดเพื่อมอบตัวในคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัทเอสซีแอสเซทในเครือชิน คอร์ปอเรชั่น[1]

เนื้อหา

ชีวประวัติในช่วงแรก

พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ เกิดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 ที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวน 10 คนของ นายเลิศ และนางยินดี ชินวัตร จบการศึกษาจาก โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย และศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ที่โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 10 (พ.ศ. 2512) และ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 26 (พ.ศ. 2516) โดยสอบได้คะแนนเป็นที่หนึ่งของรุ่น

ต่อมา พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้ศึกษาต่อ ในระดับปริญญาโท โดยได้รับทุน ก.พ. ศึกษาต่อสาขากระบวนการยุติธรรม ที่มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเคนทักกี สำเร็จการศึกษา ในปี พ.ศ. 2518 และ ได้ศึกษาต่อ ในระดับปริญญาเอก ในสาขาเดียวกัน ที่ มหาวิทยาลัยแซมฮิวสตันสเตต ได้รับ ดุษฎีบัณฑิต ในปี พ.ศ. 2521

พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้เริ่มทำงาน โดยเป็น หัวหน้าแผนกแผน 6 กองวิจัยและวางแผน กองบัญชาการตำรวจนครบาล รองผู้อำนวยการศูนย์ประมวลข่าวสาร กองบัญชาการตำรวจนครบาล และ อาจารย์ประจำ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ตามลำดับ

ธุรกิจ

จนกระทั่ง ในปี พ.ศ. 2523 พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้เริ่มต้นทำธุรกิจส่วนตัวหลายอย่าง ควบคู่ไปกับการรับราชการตำรวจ เช่น ค้าขายผ้าไหม ซื้อภาพยนตร์ฉาย กิจการโรงภาพยนตร์ ธุรกิจคอนโดมิเนียม แต่กลับประสบความล้มเหลว เป็นหนี้สินล้นพ้นตัว ระหว่างนั้นได้ลาออกจากราชการ

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2526 พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้ก่อตั้ง และเป็น ประธานกรรมการ บริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ จำกัด (ชื่อเดิม ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไอซีเอสไอ (ICSI) ปัจจุบันได้เข้าจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มี นายบุญคลี ปลั่งศิริ เป็นประธานคณะกรรมการบริหาร) ดำเนินธุรกิจ ให้เช่าคอมพิวเตอร์แก่สำนักงานต่างๆ และได้ขยายกิจการไปสู่ การให้บริการ วิทยุติดตามตัว โทรศัพท์เคลื่อนที่ ดาวเทียม และ โทรคมนาคม ครบวงจร นำไปสู่การชำระหนี้สินในช่วงแรกของการทำธุรกิจ และประสบผลสำเร็จทางธุรกิจในที่สุด

การเมือง

ในปี พ.ศ. 2537 พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้ลาออกจากตำแหน่ง ประธานกรรมการ และ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยได้โอนหุ้นให้ คุณหญิงพจมาน นายพานทองแท้ นางสาวพิณทองทา นางสาวแพทองธาร และ คนรับใช้ คนสนิทถือแทน

จากนั้นไม่นาน ก็เข้าดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในสมัย รัฐบาล นายชวน หลีกภัย และ ในปีต่อมา (พ.ศ. 2538) ได้เข้ารับตำแหน่ง หัวหน้าพรรคพลังธรรม ต่อจาก จำลอง ศรีเมือง และ ดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี ในสมัย รัฐบาล นายบรรหาร ศิลปอาชา ในปี พ.ศ. 2539 ดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี ในสมัย รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้ก่อตั้ง พรรคไทยรักไทย และ ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าพรรค จนในที่สุด ได้ขึ้นสู่ตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ใน วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544.

นายกรัฐมนตรีสมัยแรก

พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร บนปกนิตยสารไทม์
พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร บนปกนิตยสารไทม์

ในช่วงแรกที่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี ป.ป.ช.ได้มีมติว่า บัญชีทรัพย์สินที่แจ้งเป็นเท็จ [2] ซึ่ง ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิด ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ประเด็นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติพิพากษา ด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 7 ให้ยกคำร้องดังกล่าว ในจำนวนเสียงข้างมากนี้ มี 4 ท่านมีความเห็นว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ไม่ถือว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ภายใต้ข้อบังคับดังกล่าว [3]

นอกจากนี้ ยังถูกกล่าวหาประเด็นเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน จากตำแหน่งทางการเมือง อาจเอื้อผลประโยชน์ต่อธุรกิจของครอบครัว โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัมปทานจากรัฐ ซึ่งคล้ายคลึงกับกรณีของ ซิลวีโอ แบร์ลุสโกนี นายกรัฐมนตรีของอิตาลี

รัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ในสมัยแรก ดำเนินนโยบายต่างๆ ที่ได้รับความนิยมจากประชาชน เช่น การพักชำระหนี้เกษตรกร, โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค, โครงการบ้านเอื้ออาทร เป็นต้น โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้ออกโฆษณาโครงการต่างๆ ที่ได้มอบหมายให้ไปดำเนินการตามนโยบาย ผ่านสื่อของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ก็ยังได้รับความนิยมจากกลุ่มเกษตรกร และประชาชนในชนบททั่วไปอย่างมาก หากแต่มีเสียงวิจารณ์จากหลายฝ่ายว่า เป็นการดำเนินนโยบายแบบประชานิยม

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2546 ได้มีนโยบายทำสงครามปราบปรามผู้ค้ายาเสพติดอย่างรุนแรง ระยะเวลา 3 เดือน และถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีการฆ่าตัดตอนผู้กระทำความผิด เพื่อไม่ให้สืบสวนไปถึงผู้บงการรายใหญ่ และยังเป็นการตัดตอนกระบวนการยุติธรรม โดยไม่ให้โอกาสผู้กระทำความผิดได้พิสูจน์ตัวเองในศาล ทั้งยังเห็นว่า มีผู้ถูกวิสามัญฆาตกรรมจำนวนหนึ่ง ที่เป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งมิได้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

นโยบายอื่นๆ ในด้านสังคม ได้แก่ การปราบปรามผู้มีอิทธิพล และการจำหน่ายสลากเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ของรัฐบาล โดยนำรายได้จากการจำหน่ายส่วนหนึ่ง ไปเป็นทุนการศึกษา สำหรับเยาวชนที่ครอบครัวมีฐานะยากจน ที่ผ่านสอบคัดเลือกในระดับอำเภอ เพื่อส่งไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ตามสาขาที่นักเรียนทุนต้องการ โดยไม่มีภาระผูกพันต้องใช้ทุนแก่ราชการ ทั้งยังสามารถลดปัญหาจากการค้าหวยเถื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า รายได้ในส่วนอื่นยังไม่สามารถตรวจสอบได้ ว่านำไปใช้อะไรบ้าง ซึ่งรัฐบาลสมัยนั้นก็มิได้เปิดเผยรายละเอียดดังกล่าว และยังมีโครงการ แท็กซี่เอื้ออาทร โดยคิดค่าเช่ารถในราคาประหยัด เพื่อสร้างอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อย แต่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่า มีการลักลอบเปิดโอกาสให้ทำธุรกิจเช่าแท๊กซี่ได้อย่างเสรี เพื่อเอื้อประโยชน์ให้เครือญาติของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ที่ดำเนินธุรกิจให้เช่าแท๊กซี่ในกรุงเทพมหานคร เป็นผลให้เกิดปริมาณรถแท๊กซี่บนท้องถนนมากเกินความจำเป็น

เนื้อหาในส่วนนี้ไม่ได้รับการยอมรับเกี่ยวกับความเป็นกลาง
โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน และต้องการการแก้ไขโดยด่วนเพื่อสอดคล้องกับการเป็นสารานุกรม
กรุณาดูบทสนทนาที่เกี่ยวข้องที่หน้าพูดคุยของบทความนี้

นอกจากนี้ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ก็มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มักใช้อำนาจสนับสนุนหรือเอื้อประโยชน์ให้เครือญาติและบุคคลใกล้ชิด เช่น การสนับสนุนให้ได้รับตำแหน่งสำคัญ อย่างการผลักดันให้ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ให้ได้รับตำแหน่งสำคัญอย่าง ผู้บัญชาการทหารบก และ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในเวลาต่อมา รวมถึง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นพี่ชายของคุณหญิงพจมาน รวมถึงการใช้อำนาจต่างๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มชินคอร์ป เช่น ลดค่าภาษีสัมปทานโทรคมนาคม ให้กับบริษัทเอไอเอส ลดค่าสัมปทานเช่าคลื่นความถี่ ให้กับบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

นายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง

พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ เข้ารับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 จากผลการเลือกตั้ง เมื่อ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ด้วยคะแนนเสียงอันเป็นประวัติศาสตร์กว่า 19 ล้านเสียง โดยได้ตำแหน่ง ส.ส.ในสภา จำนวน 376 ที่นั่ง แม้ในช่วงนั้น ฝ่ายตรงข้ามจะโจมตีเรื่องการคอรัปชัน และการซื้อเสียง ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญ กลับได้เพียง 96 ที่นั่ง โดยคะแนนเสียงหลักของพรรคไทยรักไทย มาจากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกรุงเทพมหานคร โดยใน กทม. พรรคไทยรักไทย ได้ถึง 32 ที่นั่ง จาก 37 เขตเลือกตั้ง จากนโยบายเมกะโปรเจ็คท์ สร้างรถไฟฟ้า 7 สาย และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ ขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ ได้มาเพียง 4 ที่นั่ง ในส่วนภาคใต้ ซึ่งประชาชนมีความนิยมต่อพรรคประชาธิปัตย์อย่างเหนียวแน่น โดย พรรคไทยรักไทยได้มาเพียง 1 ที่นั่ง พรรคชาติไทย 1 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ถึง 52 ที่นั่ง

จึงอาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลพรรคไทยรักไทยสมัยที่สองนี้ เป็นรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้ง จากประชาชนทั่วทุกภาค ทั้งในเมืองและชนบท จึงเป็นรัฐบาลชุดแรก ในประวัติศาสตร์ไทย ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มาจากพรรคการเมืองเดียว ซึ่งได้รับการเลือกตั้งเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ ทำให้การเมืองไทย มีแนวโน้มที่จะพัฒนาเข้าสู่ระบบสองพรรค

หลังจากจัดตั้งรัฐบาลได้ไม่นานนัก ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายผู้ไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นผู้เสียผลประโยชน์จากนโยบายรัฐบาล ผู้นิยมพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม และนักวิชาการที่มีแนวคิดแตกต่างกับรัฐบาล โดยสาเหตุหลักมาจากการกล่าวหาว่า รัฐบาลมุ่งเอื้อประโยชน์ให้กับเครือญาติและพวกพ้อง, แผนฟินแลนด์ ที่เป็นแผนอันชั่วร้าย ซึ่งกล่าวหาว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ และคนใกล้ชิด ได้วางไว้ก่อนจัดตั้งรัฐบาล ที่ประเทศฟินแลนด์ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มดังกล่าวเห็นว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ มิได้ตอบคำถามต่างๆ เหล่านั้นอย่างชัดเจน

โดย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ก็ได้ตอบโต้ ด้วยการตั้งฉายาให้กลุ่มนักวิชาการ และผู้ที่วิจารณ์อยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ เช่น กลุ่มรู้ทันทักษิณ หรือ นายธีรยุทธ บุญมี ว่าเป็น “ขาประจำ” และยังชี้ให้เห็นว่า ผู้โจมตีรัฐบาลบางส่วน เป็นกลุ่มทุนเก่า และผู้สูญเสียผลประโยชน์ จากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล จากการที่กลุ่มทุนใหม่มีอำนาจทางการเมือง

ต่อมา ในปลายปี พ.ศ. 2548 พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้มอบหมายให้ นายธนา เบญจาธิกุล ทนายความส่วนตัว ยื่นฟ้อง สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ต่อศาลแพ่ง เรียกค่าเสียหาย 1,000 ล้านบาท รวมถึงในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจในทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศ ได้ยื่นฟ้องสนธิในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วย แต่หลังจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำรัส เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้มอบหมายให้นายธนา ดำเนินการถอนฟ้อง เพื่อรับสนองกระแสพระราชดำรัส พร้อมกันนี้ ศาลก็ได้ยกคำร้องของตำรวจไปทั้งหมด

ค่ำวันที่ 13 มกราคม ประทิน สันติประภพ, กัลยา โสภณพนิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, กล้านรงค์ จันทิก อดีตเลขาธิการ ป.ป.ช. สนธิ และพวก ได้นำประชาชนที่มาร่วมฟังรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ที่สวนลุมพินี กว่า 3,000 คน เดินเท้ามายังหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อกดดันให้ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ลาออกจากตำแหน่ง อีกทั้งมีบางส่วนที่บุกรุกเข้าไปทำลายทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย และเนื่องจากวันรุ่งขึ้นเป็นวันเด็กแห่งชาติ จะมีเด็กและเยาวชนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก จึงมีการสลายการชุมนุมในคืนวันนั้น

จากกรณีการขายหุ้นชินคอร์ป เป็นจุดที่ทำให้ประชาชนที่ต่อต้าน พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ รวมถึงกลุ่มคนที่เห็นว่าว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ หลีกเลี่ยงภาษี ร่วมกันแสดงท่าทีขับไล่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมถึงการเข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมประท้วง ที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ จัดขึ้นนานมาแล้ว จนเมื่อเกิดการขายหุ้นดังกล่าว ตามที่สนธิคาดการณ์ไว้แล้ว แต่ พ.ต.ท.ทักษิณได้ปฏิเสธตลอดมา ส่งผลให้มีผู้ร่วมชุมนุมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

เย็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มี การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขึ้นใหม่ ในวันที่ 2 เมษายน โดยกล่าวถึงเหตุผล ในตอนหนึ่งของแถลงการณ์ ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อเวลา 20.30 น. คืนวันเดียวกันว่า มีกลุ่มผู้ประท้วงที่ต่อต้านระบอบประชาธิปไตย กดดันให้ตนลาออกจากตำแหน่ง

วันที่ 3 มีนาคม พรรคไทยรักไทย จัดการปราศรัยใหญ่ ที่ท้องสนามหลวง โดย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ หัวหน้าพรรค ขึ้นปราศรัย ในเวลา 20.00 น. มีผู้เดินทางมาฟังปราศรัย เป็นจำนวนหลายแสนคน จนเต็มท้องสนามหลวง และล้นออกไปถึง ถนนราชดำเนินกลาง ใกล้ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

วันที่ 5 มีนาคม พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดย แกนนำ ทั้ง 5 ได้นำประชาชนจำนวนหนึ่ง ปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล กดดันทุกวิถีทาง เพื่อให้ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเว้นวรรคทางการเมือง อีกทั้งต้องตรวจสอบทรัพย์สินทั้งหมด แต่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ก็ยืนยันว่า ตนจะลาออกจากตำแหน่งรักษาการไม่ได้ โดยให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 215 วรรคสอง บัญญัติให้ คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่า คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ จะเข้ารับหน้าที่ จึงไม่สามารถลาออกจากตำแหน่งได้

การเว้นวรรคและลาราชการ

วันที่ 4 เมษายน เวลา 20.30 น. พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ แถลงการณ์ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่า แม้พรรคไทยรักไทยจะชนะการเลือกตั้ง 2 เมษายน แต่ตนจะไม่ขอรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นการสร้างความสมานฉันท์ และปรองดองในชาติ แต่ยังจำเป็นจะต้องรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนกว่าการสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่จะแล้วเสร็จ แต่เมื่อยังคงมีกระแสต่อต้านการที่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ดังนั้น ในวันที่ 6 เมษายน พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้ลาราชการ และแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทน

ในระหว่างลาราชการ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้เดินทางเยือน และพบปะหารือ เป็นการส่วนตัว กับผู้นำหลายประเทศ ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย ญี่ปุ่น จีน และ ฮ่องกง ตั้งแต่ วันที่ 24 ถึง 30 เมษายน

อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองได้ตัดสินให้ การเลือกตั้ง ในวันที่ 2 เมษายน เป็นโฆฆะ ประกอบกับการที่ศาลตัดสินจำคุก คณะกรรมการการเลือกตั้ง ทั้งสามคน จึงทำให้การเมืองถึงทางตัน

รัฐประหาร 19 กันยายน

ดูบทความหลักที่ รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549

ในวันที่ 19 กันยายน เวลาประมาณ 21.00 น. คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะ ทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ซึ่งอยู่ระหว่างร่วมการประชุมสหประชาชาติ ที่ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ความเคลื่อนไหวหลังรัฐประหาร 19 กันยายน

หลังการรัฐประหารไม่นาน พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ซึ่งขณะนั้น พำนักอยู่ที่กรุงลอนดอน ได้ส่งจดหมายถึงพรรคไทยรักไทย ขอลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค มีเนื้อหาชี้แจงถึงสาเหตุการลาออก

นับแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน เป็นต้นมา พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้มอบหมายให้ นายนพดล ปัทมะ เป็นทนายความส่วนตัว เพื่อทำหน้าที่ ผู้แทนทางกฎหมายในประเทศไทย นอกจากนี้ นายนพดลยังได้จัดแถลงข่าว เพื่อตอบโต้ผู้กล่าวหาและโจมตี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ อยู่เป็นระยะ

วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2550 นายนพดล นำจดหมายที่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ เขียนด้วยลายมือ เนื้อหาเป็นการตอบโต้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ได้แถลงข่าวสรุปสถานการณ์เหตุระเบิดในกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2549 เมื่อวันที่ 1 มกราคม กล่าวหา กลุ่มอำนาจเก่าผู้สูญเสียประโยชน์ทางการเมือง โดย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ เขียนปฏิเสธว่า ตนไม่เคยคิดจะทำเรื่องเลวร้ายเช่นนั้น

จากนั้นไม่นาน พล.อ.วินัย ภัทธิยะกุล ได้เรียกสื่อมวลชนประเภทวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงเข้าพบ โดยได้กล่าวเตือนในกรณีการเสนอประเด็นจดหมายของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ โดยชี้แจงให้ยุติการนำเสนอความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ

ราวกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2550 พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลายแขนง เช่น สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (15 มกราคม) เอ็นเอชเค หนังสือพิมพ์ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล และสื่อมวลชนอื่นๆ ในประเทศสิงคโปร์ และ ญี่ปุ่น เนื้อหาเป็นการชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้นกับตนและประเทศไทย ในระหว่างการเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน

ในเวลาใกล้เคียงกัน มีข้อกล่าวหาว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ว่าจ้าง บริษัทล็อบบียิสต์ เพื่อ ชี้ช่องทาง และให้คำแนะนำ เกี่ยวกับผลประโยชน์ของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ในวอชิงตัน ดี.ซี. และต่างประเทศ (Provide guidance and cousel with regard to Thaksin’s interest in Washington DC and abroad) [4] [5] [6] [7] แต่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ปฏิเสธรายงานดังกล่าว

ต่อมา ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ได้กล่าวโจมตี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ อย่างรุนแรง จากกรณีที่ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย ออกมากล่าวหาว่า มีผู้ว่าจ้างให้คนเขียนบทความต่อต้านระบบเศรษฐกิจพอเพียง และสนับสนุนระบบทักษิโณมิกส์ โดยทั้งสองมิได้ระบุว่า มีหลักฐานที่อ้างอิงได้ อย่างไรบ้าง

7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ เปิดแถลงข่าว พร้อมนำเอกสารมาแสดงว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้ว่าจ้าง บริษัทล็อบบียิสต์ แห่งที่ 2 เพื่อให้ช่วยงานด้านการเมือง โดยบริษัทดังกล่าว เป็นของ นายเจมส์ เอ.เบเกอร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และกระทรวงการต่างประเทศ ของสหรัฐอเมริกา ที่มีความใกล้ชิดกับ นายจอร์จ เอช.ดับเบิลยู.บุช อดีตประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา

นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย ของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ แถลงข่าวตอบโต้นายกอร์ปศักดิ์ ว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้ว่าจ้างบริษัทดังกล่าว ให้ดูแลเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศ และติดตามสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ ไม่ได้จ้างทำงานเป็นล็อบบี้ยิสต์แต่อย่างใด [8] [9]

ผลงานขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เศรษฐกิจ

สาธารณสุข

  • โครงการ สามสิบบาทรักษาทุกโรค
  • ป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบาดของไข้หวัดนก ใน 2 ครั้งแรก

การเกษตร

  • โครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อย เป็นเวลา 3 ปี
  • โครงการโคล้านครอบครัว ของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน
  • นโยบายปล่อยราคายางพาราให้เป็นไปตามกลไกตลาด โดยราคายางพาราในสมัยนั้น เพิ่มขึ้นจาก 18 บาท ขึ้นสูงสุดเป็น 80 บาท และลดต่ำลงเหลือ 50-55 บาท มีนักวิเคราะห์กล่าวว่า การปล่อยราคา มีผลดีต่อราคา มากกว่าการแทรกแซง [12]
  • โครงการกล้ายางพารา สืบเนื่องจากราคายางพาราที่สูงขึ้น นายเนวิน ชิดชอบ จึงเสนอโครงการดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี โดยนำยางพาราจากภาคใต้ ไปปลูกที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพืช จำกัด ได้รับสัมปทานในการจัดหากล้ายาง โดยหลังจาก รัฐประหาร 19 กันยายน มีข้อกล่าวหาว่า กล้ายางในโครงการไม่ได้คุณภาพ โดยขณะนี้ คตส. กำลังตรวจสอบอยู่[13]

การจัดงานและการท่องเที่ยว

อื่นๆ

  • ทุนการศึกษาให้นักเรียนต่างจังหวัด มีโอกาสไปเรียนต่างประเทศ โดยใช้รายได้จากการจำหน่ายสลากเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัว (โอดอส ODOS)
  • กู้วิกฤติสึนามิ
  • ปราบปรามยาเสพติด และผู้มีอิทธิพล [15]
  • ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้จัดสร้างจนเสร็จสมบูรณ์ พร้อมเปิดใช้บริการ ก่อนการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 และ โครงการจัดตั้งจังหวัดสุวรรณภูมิมหานคร เพื่อสร้างเมืองใหม่ ในบริเวณท่าอากาศยาน
  • นโยบายต่อต้านการคอรัปชั่น
  • ตู้ไปรษณีย์ นายกฯ (เช่น กรณียายไฮ ขันจันทา เรียกร้องที่ดินคืนจากการสร้างฝาย เป็นเวลา 20 ปี จนได้รับที่คืน)
  • รายการ "นายกฯ ทักษิณ คุยกับประชาชน" ทุกเช้าวันเสาร์ เวลา 08.00-09.00 น. ทาง สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เครือข่ายทั่วประเทศ


ประธานสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี

หลังจากไปใช้ชีวิตที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2550 พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้ซื้อกิจการสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี ถือหุ้นทั้งหมด 75 เปอร์เซ็นต์ โดย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ขอให้แฟนบอลเรียกตนอย่างง่ายๆ ว่า แฟรงค์ ชินาตรา (Frank Shinatra)[16]

การเดินทางกลับประเทศไทย หลังรัฐประหาร

พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ก้มลงกราบพื้น ที่หน้าห้องรับรองพิเศษ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ก้มลงกราบพื้น ที่หน้าห้องรับรองพิเศษ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 เวลา 09.40 น. พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ เดินทางมาถึงประเทศไทย ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมกับก้มลงกราบพื้น ที่หน้าห้องรับรองพิเศษ และโบกมือทักทายประชาชนที่มารอให้การต้อนรับด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม[17]

อื่นๆ

การขายหุ้น กลุ่มบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ดูบทความหลักที่ กรณีตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ขายหุ้นกลุ่มบริษัทชินคอร์ป

วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2549 ระหว่างการดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี สมัยที่สอง ของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ตระกูลชินวัตร และ ดามาพงศ์ ได้ขายหุ้นที่ครอบครองอยู่ทั้งหมด ใน บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้แก่ บริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จำกัด (พีทีอี) ซึ่งเป็น กองทุนเพื่อการลงทุน ของ รัฐบาลสิงคโปร์ จำนวน 1,487,740,000 หุ้น (หนึ่งพันสี่ร้อยแปดสิบเจ็ดล้านเจ็ดแสนสี่หมื่นหุ้น) (คิดเป็น 49.595% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด) มูลค่าหุ้นละ 49.25 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 73,271,200,910 บาท (เจ็ดหมื่นสามพันสองร้อยเจ็ดสิบเอ็ดล้านสองแสนเก้าร้อยสิบบาทถ้วน) ซึ่งถือเป็น การขายหุ้นที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประเทศไทย ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยที่ได้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการขายหุ้นเพียงไม่กี่วันก่อนหน้า และการที่ไม่ต้องเสียภาษีรายได้จากผลกำไรในการขายหุ้น ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในสังคมไทย (ทั้งที่ก่อนหน้านี้ กลุ่มเบญจรงคกุล ก็ได้ขายหุ้น บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ให้แก่ กลุ่มเทเลนอร์ ของประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ยิ่งกว่าการขายหุ้นชินคอร์ป เนื่องจากขณะนั้นยังมิได้ประกาศใช้กฎหมายฉบับดังกล่าว) โดย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชี้แจงว่า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นจุดที่ทำให้ กระแสการขับไล่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ออกจาก นายกรัฐมนตรี ขยายตัวออกไปในวงกว้าง


การขับไล่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ดูบทความหลักที่ การขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร ให้ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

การขับไล่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ให้ลาออกจากตำแหน่ง เริ่มต้นขึ้นในปลายปี พ.ศ. 2548 จากการนำ ของ สนธิ ลิ้มทองกุล ในรายการ เมืองไทยรายสัปดาห์ ต่อมาได้เปลี่ยนสภาพเป็น "กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ซึ่งได้ขยายตัวออกไปยังบุคคลหลากหลายสาขาอาชีพจำนวนมาก ในเวลาต่อมา [18] [19] [20]

บทบาททางสังคม

รางวัลที่ได้รับ

  • Outstanding Criminal Justice Alumnus Awards จาก Criminal Justice Center, มหาวิทยาลัยแซมฮิวสตันสเตท (พ.ศ. 2539)
  • Distinguished Alumni Award จากมหาวิทยาลัยแซมฮิวสตันสเตท (5 ตุลาคม พ.ศ. 2539)
  • 1 ใน 3 คนไทยดีเด่น ซึ่งมีบทบาทสำคัญ ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดี ระหว่างประเทศไทย และฟิลิปปินส์ จากสถานทูตฟิลิปปินส์ประจำประเทศไทย (พ.ศ. 2538)
  • บุคคลดีเด่นผู้พัฒนาโทรคมนาคม เพื่อสังคมของประเทศไทย ประจำปี 2536 จากสมาคมโทรคมนาคม แห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2537)
  • 1 ใน 12 นักธุรกิจผู้นำของเอเชีย ได้รับยกย่องจากหนังสือพิมพ์ Singapore Business Times (พ.ศ. 2537)
  • Asian CEO of the Year จาก นิตยสาร Financial World (พ.ศ. 2537)
  • รับพระราชทาน ปริญญาวารสารศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2537)
  • ทุน Lee Kuan Yew Exchange Fellowship จากประเทศสิงคโปร์ คนไทยคนแรก และเป็นบุคคลที่ 3 ที่ได้รับทุน (พ.ศ. 2537)
  • "1992 Asean Business Man of the Year" จาก Asean Institute ประเทศอินโดนีเซีย (พ.ศ. 2535)
  • "รางวัลเกียรติยศจักรดาว" ด้านพัฒนาเศรษฐกิจจากคณะกรรมการมูลนิธิโรงเรียนเตรียมทหาร (พ.ศ. 2535)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

ชื่อเรียก

พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ มีฉายาที่ได้รับจากสื่อมวลชนว่า “แม้ว” เนื่องจาก เป็นฉายาที่เพื่อนร่วมรุ่น โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 10 (ตท.10) ตั้งให้

ฉายา

ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร มีฉายาต่างๆ ที่ได้รับ ทั้งจากสื่อมวลชน และกลุ่มผู้ต่อต้าน โดยหลังการหลุดพ้นคดีซุกหุ้นครั้งที่ 1 แล้ว ได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า "เศรษฐีเหลิงลม" โดยเป็นเปรียบเทียบกับตัวตนของ พ.ต.ท.ทักษิณเอง ที่ถูกมองว่า มีบุคลิกมั่นใจในตนเองสูง จนกลายเป็นเหลิงไป นอกจากนี้แล้ว ยังมีฉายาอื่นๆ อีก เช่น "เทวดา", "นายทาส" เป็นต้น [21]

อ้างอิง

  1. ^ ผู้จัดการ, “เศรษฐีแม้ว” ถึงไทยแล้ว-ลิ่วล้อแห่รับถึงบันไดเครื่องบิน, 28 กุมภาพันธ์ 2551
  2. ^ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ชี้มูลความผิดว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ปกปิดไม่แจ้งทรัพย์สิน คือหุ้นที่โอนไปให้คนใกล้ชิด คนขับรถ และคนรับใช้ ถือแทน โดยมีมูลค่าหุ้นจำนวน 646.984 ล้านบาท (จากมูลค่ารวมทั้งหมดที่ครอบครองกว่า 60,000 ล้านบาท) พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชี้แจง ต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า เอกสารการแจ้งบัญชีทรัพย์สินของ ป.ป.ช.ไม่ชัดเจน อีกทั้งตนเองก็โอนหุ้นนี้ให้ภริยานานแล้ว ก่อนที่จะเข้ามาสู่วงการเมือง แต่ ป.ป.ช.ชี้แจงว่า สามีภริยาย่อมเป็นบุคคลเดียวกันตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินในประเด็นนี้ว่า การพิพากษาตัดสินคดีที่มีผลต่อการดำรงตำแหน่งผู้นำทางการเมืองของประเทศ จะใช้การอนุมานเอาตามกฎหมายไม่ได้ ป.ป.ช.จะต้องนำสืบให้ได้ว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ทราบหรือไม่ว่าภริยาโอนหุ้นไปให้แก่คนอื่นถือไว้แทนตน เพราะในข้อเท็จจริงสามีไม่จำเป็นจะต้องทราบสิ่งที่ภริยาทำทุกเรื่อง ซึ่ง ป.ป.ช.ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ รับรู้การโอนหุ้นครั้งนี้ (คดีนี้มิใช่คดีแพ่ง ที่สามีภริยามีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกัน หากมีการละเมิดเกิดขึ้น แต่เป็นคดีคล้ายคดีอาญา ที่จะต้องพิสูจน์ให้ชัดเจนว่า จำเลยทราบการกระทำของภริยาหรือไม่) โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคดีนี้เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2544
  3. ^ ดูข้อสังเกตเพิ่มเติมของ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกี่ยวกับคดีนี้ได้ที่ [1]
  4. ^ Lobbying Registration
  5. ^ Lobbying Registration
  6. ^ Lobbying Registration
  7. ^ korbsak.com
  8. ^ เอกสารต้นฉบับ
  9. ^ ข่าว [http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01p0103080250 แฉเป้า"แม้ว"จ้างล็อบบี้ยิสต์ ปลุกรบ.ต่างชาติ กดดันให้เปิดทางกลับ"ไทย" ] หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
  10. ^ The Nation, Public debt end-Sept falls to 41.28% of GDP, 17 November 2006
  11. ^ World Bank, Thailand Economic Monitor, October 2003
  12. ^ ทวี มีเงิน, "ทักษิณ"ปั้นหรือปั่นศก.(2) "ยางพารา-ข้าว"เก่งหรือเฮง, มติชน
  13. ^ ข่าว 'คตส.'เตรียมสอบ 4 ประเด็นใหญ่ ทุจริตกล้ายาง กรุงเทพธุรกิจบิซวีค 29 ตุลาคม พ.ศ. 2549
  14. ^ http://www.thaioctober.com/smf/index.php?topic=2581.0
  15. ^ บทความ สงครามต่อต้านยาเสพย์ติด คอลัมน์ คนเดินตรอก โดย วีรพงษ์ รามางกูร หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ปีที่ 26 ฉบับที่ 3462 (2662) วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2546 หน้า 2
  16. ^ งานเปิดตัวประธานสโมสร ManCity - Frank Shinawatra 1
  17. ^ http://www.nationmultimedia.com/specials/nationphoto/showphoto.php?pid=2120
  18. ^ The Nation,"'Finland plot' on dangerous ground", 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 (อังกฤษ)
  19. ^ The Nation, "Burning Issue: Finland, monarchy: a dangerous mix", 25 พฤษภาคม, พ.ศ. 2549 (อังกฤษ)
  20. ^ The Bangkok Post, "Manager sued for articles on 'Finland plot'", 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 (อังกฤษ)
  21. ^ ไทยโพสต์ บันทึกหน้า 4 / มะนาวหวาน

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

Commons
คอมมอนส์ มีภาพและสื่ออื่นๆ เกี่ยวกับ:
ทักษิณ ชินวัตร


สมัยก่อนหน้า:
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรีไทย
9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 254419 กันยายน พ.ศ. 2549
สมัยถัดไป:
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
สมัยก่อนหน้า:
จอห์น วอร์เดิล
ประธานสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี
พ.ศ. 2550- ปัจจุบัน
สมัยถัดไป:
ยังคงอยู่ในตำแหน่ง
สมัยก่อนหน้า:
พงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล
นายกสมาคมกอล์ฟอาชีพแห่งประเทศไทย
30 เมษายน พ.ศ. 2550- ปัจจุบัน
สมัยถัดไป:
ยังคงอยู่ในตำแหน่ง



aa - ab - af - ak - als - am - an - ang - ar - arc - as - ast - av - ay - az - ba - bar - bat_smg - bcl - be - be_x_old - bg - bh - bi - bm - bn - bo - bpy - br - bs - bug - bxr - ca - cbk_zam - cdo - ce - ceb - ch - cho - chr - chy - co - cr - crh - cs - csb - cu - cv - cy - da - de - diq - dsb - dv - dz - ee - el - eml - en - eo - es - et - eu - ext - fa - ff - fi - fiu_vro - fj - fo - fr - frp - fur - fy - ga - gan - gd - gl - glk - gn - got - gu - gv - ha - hak - haw - he - hi - hif - ho - hr - hsb - ht - hu - hy - hz - ia - id - ie - ig - ii - ik - ilo - io - is - it - iu - ja - jbo - jv - ka - kaa - kab - kg - ki - kj - kk - kl - km - kn - ko - kr - ks - ksh - ku - kv - kw - ky - la - lad - lb - lbe - lg - li - lij - lmo - ln - lo - lt - lv - map_bms - mdf - mg - mh - mi - mk - ml - mn - mo - mr - mt - mus - my - myv - mzn - na - nah - nap - nds - nds_nl - ne - new - ng - nl - nn - no - nov - nrm - nv - ny - oc - om - or - os - pa - pag - pam - pap - pdc - pi - pih - pl - pms - ps - pt - qu - quality - rm - rmy - rn - ro - roa_rup - roa_tara - ru - rw - sa - sah - sc - scn - sco - sd - se - sg - sh - si - simple - sk - sl - sm - sn - so - sr - srn - ss - st - stq - su - sv - sw - szl - ta - te - tet - tg - th - ti - tk - tl - tlh - tn - to - tpi - tr - ts - tt - tum - tw - ty - udm - ug - uk - ur - uz - ve - vec - vi - vls - vo - wa - war - wo - wuu - xal - xh - yi - yo - za - zea - zh - zh_classical - zh_min_nan - zh_yue - zu -