จิตวิทยา
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จิตวิทยา (อังกฤษ: psychology) คือศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับจิตใจ (กระบวนการของจิต), กระบวนความคิด, และพฤติกรรม ของมนุษย์
เนื้อหา |
[แก้] บทนำ
จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาค้นคว้าเพื่อนำข้อมูลความรู้มาเสนอ อธิบาย และเพื่อควบคุมและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์ จิตวิทยามุ่งศึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการของร่างกายกับจิตใจ ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นระเบียบแบบแผน เพราะร่างกายและจิตใจมักมีการแสดงออกร่วมกัน อีกทั้งยังแสดงออกในแนวทางที่สามารถทำนายได้
[แก้] ภาษาทางจิตวิทยา
จิตวิทยาก็มีการบัญญัติศัพท์ขึ้นมาเพื่อใช้ในการศึกษาเช่นเดียวกับศาสตร์อื่น ๆ คำศัพท์บางส่วนประกอบด้วยคำศัพท์ที่คนทั่วไปใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน คำศัพท์บางคำก็เป็นคำศัพท์ทางวิชาการที่คุ้นเคย ถึงแม้ศัพท์บางคำจะเป็นที่เข้าใจ และคุ้นเคยของคนทั่วไป แต่นักจิตวิทยาก็ได้ให้ความหมายเฉพาะเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในการศึกษาจิตวิทยา
[แก้] ปัญหาและการเลือกปัญหาของนักจิตวิทยา
เหมือนกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ทั่วไป กระบวนการทางจิตวิทยา เริ่มจากการเลือกปัญหาที่สนใจ แล้วจึง สังเกต ศึกษา หรือทดลอง อย่างเป็นระบบ เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงที่จำเป็นต่อการแก้ปัญหา แล้วทำการรวบรวม เรียบเรียง และตีความข้อเท็จจริงที่ได้ หากนักจิตวิทยาพบแนวทางที่จะแก้ปัญหาหรือตอบคำถามที่กำหนด และสามารถนำมาสัมพันธ์ เกี่ยวข้องเป็นคำตอบของคำถามกว้าง ๆ ได้ นักจิตวิทยาก็จะสนใจ และลงมือศึกษาทันที แต่บางครั้งปัญหาก็เกิดขึ้นจากการสังเกตสิ่งรอบ ๆ ตัว
นักจิตวิทยาได้แบ่งความคิดเห็นเกี่ยวกับการศึกษาทางจิตวิทยาออกเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ กลุ่มแรกเห็นว่า การเลือกปัญหานั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เฉพาะหน้าของนักจิตวิทยา กลุ่มที่สองนั้นกลับเห็นว่า การเลือกปัญหาและการตั้งคำถามควรจะเป็นไปตามทฤษฎี และกลุ่มหลังเห็นว่าความอยากรู้อยากเห็นที่เกิดขึ้นเอง เป็นแรงจูงใจที่ดีที่สุดสำหรับการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ แต่เมื่อเรามองโดยรวมแล้ว จะเห็นว่าทั้งความอยากรู้อยากเห็นและทฤษฎี ต่างก็มีส่วนช่วยในการสังเกต อธิบาย และตีความข้อเท็จจริงต่าง ๆ เพราะทฤษฎีนั้นมีบทบาทที่ช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่สังเกต และชี้ให้เห็นคำถามใหม่ ๆ อีกทั้งยังชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ของข้อมูลต่าง ๆ ดังนั้นทฤษฎีจึงมีประโยชน์และมีบทบาทเป็นที่ยอมรับทั่วไป
[แก้] วิธีการทางวิทยาศาสตร์
เหมือนกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ทั่วไป วิธีการทางจิตวิทยาประกอบด้วย 2 ขั้นตอนใหญ่ ๆ คือ ขั้นการสังเกตองค์ประกอบหรือตัวแปรที่สำคัญ ๆ อย่างมีระบบ และขั้นการรวบรวมและตีความข้อมูลที่ได้มา ซึ่งการดำเนินการสังเกตอย่างมีระบบ คือ ความพยายามที่จะกำจัดอิทธิพลของอคติหรือความลำเอียงของผู้สังเกต และสามารถรับรองได้ว่า การสังเกตนั้นสามารถกระทำซ้ำได้
วิธีการสังเกตอย่างมีระบบนั้น มี 2 วิธี ได้แก่ วิธีการทดลอง (experimental method) โดยสร้างสถานการณ์ ขึ้นเพื่อสังเกตสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดตามมา และวิธีการหาความสัมพันธ์ (correlation method) โดยการสังเกตเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
[แก้] วิธีการทดลอง
ผู้สังเกตจะถูกเรียกว่าผู้ทดลองที่จะสร้างสภาวะหรือตัวแปรขึ้นมา เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์หรือผลกระทบต่อ ตัวแปรอื่น ๆ อาจเป็นการเปรียบเทียบตัวแปรระหว่างกลุ่มทดลอง 2 กลุ่มหรือมากกว่านั้น แล้วรายงานผลการทดลอง หรือผลจากการรวบรวมและตีความหมายของการเปรียบเทียบที่ได้จากการทดลอง วิธีการนี้นิยมกระทำในห้องทดลองหรือห้องปฏิบัติการ เพราะสามารถควบคุมตัวแปรหรือสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ตามที่ต้องการ หรือให้เหลือน้อยที่สุด อีกทั้งการสังเกตก็ สามารถกระทำได้ง่ายและมีความถูกต้องแม่นยำ
ตัวแปรที่ใช้ในการทดลองแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ตัวแปรอิสระ ซึ่งหมายถึงตัวแปรที่ถูกกำหนดขึ้น และ ตัวแปรตาม ซึ่งหมายถึงตัวแปรที่คาดว่าจะเป็นผลจากการกระทำกับตัวแปรอิสระ
หลังจากได้ทราบผลจากการทดลองแล้ว ผู้ทดลองต้องทำการสรุปแล้วรายงานผลการทดลองให้ผู้อื่นทราบ เพื่อให้ผู้อื่นสามารถนำผลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ หรือทำการศึกษาต่อยอดความรู้ออกไป
[แก้] วิธีการหาความสัมพันธ์
วิธีการหาความสัมพันธ์ เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ของตัวแปรตั้งแต่สองตัวขึ้นไป โดยที่ไม่ได้เจาะจงว่าตัวแปรใดมีอิทธิพลเหนือตัวแปรใด ค่าความสัมพันธ์ของตัวแปร 2 ตัว เรียกว่า ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (coefficient correlation) ซึ่งจะมีค่าระหว่าง -1.00 ถึง 1.00
วิธีการหาความสัมพันธ์ มีดังต่อไปนี้
- วิธีวัดทางจิตวิทยา (Psychometric techniques) ใช้แบบทดสอบทางจิตวิทยาและแบบสอบถาม เพื่อวัด ความแตกต่างของลักษณะต่างๆของบุคคล หรือความเปลี่ยนแปลงต่างๆของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยทั่วไปแบบทดสอบที่ใช้ใน งานวิจัยด้านหาความสัมพันธ์สามารถทดสอบตัวแปรอิสระได้เป็นรายๆไป ดังนั้น วิธีวัดทางจิตวิทยานี้จึงแสดงให้เห็น ความสัมพันธ์ของตัวแปร 2 ตัว ด้วยผลที่ได้จากการทำแบบทดสอบหรือแบบสอบถามนั่นเอง
- การสังเกตในสภาพธรรมชาติ (Naturalistic Observation) การสังเกตในสภาพธรรมชาติจะให้ข้อ เท็จจริงได้มากกว่า เพราะเป็นการสังเกตพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริงในชีวิต ผู้ถูกสังเกตจะต้องไม่รู้ตัวว่าถูกสังเกต เพื่อให้พฤติกรรม ต่างๆเป็นไปตามธรรมชาติโดยแท้จริง แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการสังเกตระยะหนึ่ง ซึ่งบางครั้งอาจค่อนข้างยาวนาน
- การสังเกตด้วยวิธีการทางคลีนิค (Clinical Method of Observation) เป็นการศึกษาประวัติรายบุคคล (กรณีศึกษา) ซึ่งจะช่วยให้นักจิตวิทยาเข้าใจประวัติความเป็นมา พื้นฐานการอบรมเลี้ยงดู รวมไปถึงพื้นฐานของการ เกิดพฤติกรรม เพื่อใช้ประกอบการบำบัดรักษาหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
วิธีการสังเกตดังกล่าวอาจเกิดผิดพลาดด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ ผู้ศึกษาจึงต้องมีการวางแผนและได้รับการฝึกฝนอย่างดี โดยเฉพาะการสังเกตวิธีทางคลีนิค ที่ไม่สามารถกระทำซ้ำได้
ทั้งวิธีการทดลองและวิธีการหาความสัมพันธ์ต่างก็มีประโยชน์และความเหมาะสม ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี แต่หลายๆ ครั้งที่มีการผสมผสานทั้งสองวิธีเข้าด้วยกัน เพื่อการศึกษาที่ละเอียดหลายๆด้าน และเป็นประโยชน์ในทางจิตวิทยามากยิ่งขึ้น
[แก้] โครงสร้างของจิตวิทยา
จิตวิทยาประกอบด้วยโครงสร้าง 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ
- ลักษณะเนื้อหาวิชา แบ่งเป็นเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ พัฒนาการของมนุษย์, พันธุกรรม, ระบบการตอบสนอง, การรับรู้, การรู้สึก, แรงจูงใจ, อารมณ์, ภาษา การคิด และการแก้ปัญหา, เชาวน์ปัญญาและการทดสอบเชาวน์ปัญญา, บุคลิกภาพแบบต่าง ๆ และการประเมินบุคลิกภาพ, รูปแบบต่างๆของพยาธิสภาพทางพฤติกรรม, จิตบำบัด, และจิตวิทยาชุมชน
- เป้าหมายของจิตวิทยา เป้าหมายของการศึกษาได้มาจากวิธีการที่แตกต่างกัน 3 ประเภท ได้แก่
การวิจัยบริสุทธิ์หรือการวิจัยพื้นฐาน มาจากการค้นคว้าด้วยใจรัก ค้นหาหลักการของพฤติกรรมทั้งของมนุษย์และสัตว์ โดย ไม่ได้คำนึงว่าจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสังคมได้หรือไม่ ผู้วิจัยต้องเป็นผู้มีระเบียบแบบแผน มีจรรยาบรรณของนักวิจัย มีจริยธรรมและความเป็นกลางทางสังคม
- การวิจัยประยุกต์ ให้ความสนใจในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ผลจากการวิจัยในปัญหานี้สามารถ นำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้ การวิจัยดังกล่าวต้องได้รับการวางแผนดำเนินการ ควบคุมวิธีการด้วยความระมัดระวัง การวิจัย บริสุทธิ์ก่อให้เกิดการวิจัยประยุกต์อย่างมีแบบแผน
- การประยุกต์ใช้ เป็นการประยุกต์คำตอบที่ได้ ไปใช้ในสถานการณ์จริงๆ ในโลกซึ่งไม่มีการควบคุม สภาวะใดๆ นักจิตวิทยากลุ่มที่มีการประยุกต์ใช้มากที่สุด คือ นักจิตวิทยาคลีนิค รองลงมาคือ นักจิตวิทยาการศึกษา
สถานที่ดำเนินงานทางจิตวิทยา
นักจิตวิทยาสาขาต่างๆทำงานในสถานที่แตกต่างกัน บางสาขาทำวิจัยและสอนในมหาวิทยาลัยและวิทยาลัย บาง สาขาทำงานในคลีนิคและโรงพยาบาล, ศูนย์บริการให้คำแนะนำปรึกษาต่างๆในโรงเรียน, บริษัทหรือโรงงานอุตสาหกรรม, ศูนย์สุขภาพจิต ศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ศูนย์พักฟื้นคนไข้ที่เพิ่งถูกส่งออกจากโรงพยาบาล ศูนย์บริการประชาชน เป็นต้น
[แก้] ความสัมพันธ์ของจิตวิทยากับศาสตร์อื่น
จิตวิทยามีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับศาสตร์ทางชีววิทยา ซึ่งได้แก่ สรีรวิทยา ประสาทวิทยาและชีวเคมี พฤติกรรม ของบุคคลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาจากบุคคลนั้นโดยตรงก่อน ทั้งทางด้านพันธุกรรม ระดับวุฒิภาวะ และสภาพการ เคลื่อนไหวของร่างกาย และปัจจุบันก็สัมพันธ์อย่างเด่นชัดกับมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา โดยมานุษยวิทยาศึกษาจุดกำเนิด ของมนุษย์ และการสืบทอดวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี สิ่งแวดล้อมทางสังคม ส่วนด้านสังคมวิทยาจะเน้น ศึกษากลุ่มสังคมมากกว่าตัวบุคคล โดยศึกษาการปะทะสังสรรค์ของแต่ละบุคคลในกลุ่ม และศึกษาอิทธิพลของกลุ่มที่มีต่อ แต่ละบุคคล
[แก้] ประวัติความเป็นมาของจิตวิทยา
จิตวิทยาได้เริ่มขึ้นโดยนักปราชญ์ชาวกรีก ชื่อ เพลโต และอริสโตเติล เพลโตเชื่อว่าการคิดและการใช้เหตุผลเท่านั้น ที่ทำให้คนเกิดความเข้าใจในสิ่งที่เขาสามารถจะเข้าใจได้ โดยไม่สนใจวิธีการสังเกตหรือการทดลองใด ๆ แต่อริสโตเติลกลับเป็นนักสังเกตสิ่งรอบตัว เขาสนใจสิ่งภายนอกที่มองเห็นได้ การเข้าใจปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับคนต้องเริ่มด้วยการสังเกตอย่างมีระบบ
ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ศาสนาเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยแนวคิดทางศาสนาเน้นว่าจิตเป็นส่วนที่แยกออกจากร่างกาย
ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 การฟื้นฟูการสืบสวนโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นการละทิ้งความเชื่อแบบเดิม ๆ มีการค้นหาความรู้ใหม่ ๆ วิธีการก็เริ่มมีลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์ ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ฟรานซิส เบคอน กล่าวว่า “ทฤษฎีให้แนวทาง การวิจัยให้คำตอบ” โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญระหว่างทฤษฎีและการวิจัย
กลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 จนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีกลุ่มแนวคิดที่สำคัญเกิดขึ้น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มประจักษ์นิยมชาวบริเตน (British Empiricism) ที่เชื่อว่า ความรู้ผ่านเข้ามาทางสื่อกลางของความรู้สึก จิตเป็นที่รวมของความคิดเห็น นักจิตวิทยากลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญต่อการเกิดจิตวิทยากลุ่มสัมพันธนิยม (Associationistic Psychology) นักจิตวิทยาอีกกลุ่มหนึ่งกลับสนใจทางชีวภาพ เช่น ความแตกต่างระหว่างประสาทส่วนรับความรู้สึกกับประสาทส่วนการเคลื่อนไหว และ ลักษณะทางกายที่แสดงปฏิกิริยาสะท้อน (reflex) นักจิตวิทยากลุ่มนี้พยายามอธิบายการกระทำของมนุษย์ด้วยหลักการทางฟิสิกส์ คือ จิตฟิสิกส์ ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้วัดความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางกายภาพของสิ่งเร้ากับประสบการณ์รู้สึกที่ผู้ที่ถูกเร้ารายงานออกมา
[แก้] การขยายตัวทางจิตวิทยา
ห้องปฏิบัติการทดลองทางจิตวิทยาห้องแรก ถูกสร้างขึ้นโดย Wilhelm Wundt ในปี ค.ศ. 1897 ที่เมืองไลป์ซิก ประเทศเยอรมนี โดยมีการจัดตั้งกลุ่มจิตวิทยาขึ้น คือ กลุ่มโครงสร้างนิยม (Structuralism) การศึกษาจิตต้องศึกษาส่วนย่อย ๆ ที่ประกอบขึ้นมา ใช้วิธีการพื้นฐานทางจิตวิทยา คือ การสังเกตตนเอง หรือที่เรียกว่า การตรวจพินิจจิต (Introspection)
ในปี ค.ศ. 1890 ได้มีการจัดตั้งกลุ่มจิตวิทยาขึ้นใหม่อีก คือ กลุ่มหน้าที่นิยม (Functionalism) นักจิตวิทยากลุ่มนี้เห็นว่า จิตวิทยาควรเป็นการศึกษาวิธีการที่คนเราใช้ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นวิธีการที่บุคคลนั้นพอใจ และเป็นการเพิ่ม ประสิทธิภาพของบุคคลนั้นด้วย นักจิตวิทยากลุ่มนี้ให้ความสนใจ ความรู้สำนึก (consciousness) เพราะความรู้สำนึกเป็นเครื่องมือที่ทำให้บุคคลเลือกกระทำพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ความรู้สำนึกเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องกัน ไม่สามารถแยกวิเคราะห์เป็นส่วนย่อยได้ นักจิตวิทยากลุ่มนี้สนใจศึกษาสาเหตุของพฤติกรรมมากกว่าการศึกษาพฤติกรรมที่ปรากฏออกมา ให้เห็น
ในช่วงเวลาเดียวกัน ซิกมุนด์ ฟรอยด์ ได้เสนอทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic theory) โดยมีวิธีการศึกษา จากการสังเกตและรวบรวมประวัติคนไข้ที่มารับการบำบัดรักษา ฟรอยด์เชื่อว่าความไร้สำนึกมีอิทธิพลต่อการแสดงออกของพฤติกรรม และเน้นถึงความต้องการทางเพศตั้งแต่วัยเด็ก
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 จอห์น บี วัตสัน ได้ก่อตั้ง กลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behavioralism) โดยเห็นว่า การตรวจพินิจจิตเป็นวิธีการที่ไม่ดีพอ การศึกษาจิตวิทยาควรจะหลีกเลี่ยงการศึกษาจากความรู้สำนึก แล้วหันไปศึกษา พฤติกรรมที่มองเห็นได้ เพื่อให้สามารถทำนายและควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ได้ และเน้นถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมว่ามี อิทธิพลต่อพฤติกรรมมากกว่าพันธุกรรมอีกด้วย
ในช่วงเวลาเดียวกัน ประเทศเยอรมนีได้เกิดกลุ่มจิตวิทยาขึ้น ได้แก่ จิตวิทยากลุ่มเกสตัลท์ (Gestalt Psychology) แนวคิดของจิตวิทยากลุ่มนี้เน้นว่า การทำงานของจิตเป็นการทำงานของส่วนรวม ดังนั้นจึงสนใจศึกษาส่วนรวมมากกว่าส่วน ย่อย แนวคิดนี้เริ่มมีบทบาทขึ้นเมื่อนักจิตวิทยาชาวอเมริกันเริ่มให้ความสนใจในปัญหาของการรับรู้ การคิดแก้ปัญหาและ บุคลิกภาพ จนนำไปสู่การเกิดขึ้นของกลุ่มจิตวิทยาการรู้การเข้าใจ (Cognitive psychology) ซึ่งเกี่ยวข้องกับกลไกภายใน ที่มีอิทธิพลต่อการแสดงพฤติกรรมของบุคคล และต่อจากนั้นมา จิตวิทยาก็เป็นที่สนใจของบุคคลทั่วไปและนิสิตนักศึกษามาก ขึ้นเรื่อยๆ
[แก้] จิตวิทยาในประเทศไทย
หลายคนเชื่อว่าจิตวิทยาเกิดขึ้นในโลกเมื่อ 2,500 กว่าปีมาแล้ว นั่นคือ จิตวิทยาทางพระพุทธศาสนา นั่นเอง สำหรับในประเทศไทยนั้น เพิ่งมีหลักฐานปรากฏว่ามีการสอนวิชาจิตวิทยาในโรงเรียนฝึกหัดครูปฐม ในช่วงเวลาก่อน พ.ศ. 2473 เล็กน้อย และในปี พ.ศ. 2473 ก็มีการสอนจิตวิทยาเป็นวิชาหนึ่งใน 5 วิชา ของการสอนวิชาครุศาสตร์ใน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489 กระทรวงศึกษาธิการด้วยความช่วยเหลือขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้จัดตั้ง สถาบันระหว่างชาติสำหรับการค้นคว้าเรื่องเด็กขึ้นในวิทยาลัยวิชาการศึกษา ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาค้นคว้าและเผยแพร่วิชาเกี่ยวกับจิตวิทยาเด็ก ต่อมามีการศึกษาที่กว้างขวางมากขึ้น ใน สถาบันอื่นก็ได้เปิดหลักสูตรวิชาจิตวิทยาในหลายสาขา ในปัจจุบันและในอนาคต มีการคาดหวังไว้ว่าจิตวิทยาในประเทศไทย จะเจริญก้าวหน้า ช่วยพัฒนาทรัพยากรบุคคลของชาติต่อไป
[แก้] อ้างอิง
- บังอร ชินกุลกิจนิวัฒน์. "บทแนะนำจิตวิทยา (Introduction to Psychology)" ใน จำรอง เงินดี และทิพย์วัลย์ สุรินยา(บรรณาธิการ). จิตวิทยาทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ: คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2545.
- หลุย จำปาเทศ.จิตวิทยาการจูงใจ. ภาควิชาจิตวิทยา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร. 2533.
- หลุย จำปาเทศ.จิตวิทยาการบริหาร. โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร. 2542.
- หลุย จำปาเทศ.จิตวิทยาสัมพันธ์. โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร. 2533.
[แก้] ดูเพิ่ม
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
|
---|
มานุษยวิทยา · เศรษฐศาสตร์ · การศึกษา · ประวัติศาสตร์ · ภูมิศาสตร์ · ภาษาศาสตร์ · การบริหารจัดการ · การเมือง · จิตวิทยา · สังคมวิทยา |