เทศบาลนครนครราชสีมา
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
- ความหมายอื่นของ นครราชสีมา ดูที่ นครราชสีมา (แก้ความกำกวม)
|
เทศบาลนครนครราชสีมา หรือ เมืองโคราช เป็นเมืองศูนย์กลางความเจริญในภูมิภาคของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยที่ตั้งของอยู่ในอำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา อยู่ระหว่างละติจูดที่ 14-16 องศาเหนือ และลองจิจูดที่ 101-103 องศาตะวันออก สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 150-300 เมตร มีระยะทางห่างจากกรุงเทพมหานคร โดยทางรถยนต์ 259 กิโลเมตร โดยทางรถไฟ 264 กิโลเมตร และใช้เวลาเดินทางทางเครื่องบินประมาณ 30 นาที ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบลาดเอียงไปทาง ทิศตะวันออกตอนเหนือ ของตัวเมืองเป็นที่ราบลุ่มทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นที่ราบสูง
เนื้อหา |
[แก้] ที่ตั้งและอาณาเขต
เมืองนครราชสีมามีพื้นที่ประมาณ 37.50 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,343 ไร่ 2 งาน หรือประมาณร้อย ละ 4.96 ของพื้นที่อำเภอเมืองนครราชสีมา (อำเภอเมืองนครราชสีมา มีพื้นที่ประมาณ 755.596 ตารางกิโลเมตร) หรือ ประมาณร้อยละ 0.18 ของพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา (จังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่ประมาณ 20,493.9 ตารางกิโลเมตร)
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองจะบก องค์การบริหารส่วนตำบลหมื่นไวย์ และองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมืองนครราชสีมา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ เทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อม อำเภอเมืองนครราชสีมา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ เทศบาลตำบลหัวทะเล อำเภอเมืองนครราชสีมา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองนครราชสีมา
[แก้] ประวัติ
เมืองนครราชสีมาเป็นเมืองชุมชนเมืองโบราณเมืองหนึ่งในราชอาณาจักรไทยที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาโปรดฯ ให้สร้างเมืองขึ้น โดยมีป้อมปราการและคูน้ำล้อมรอบและมีการตั้งถิ่นฐานสืบเนื่องเรื่อยมา จวบจนในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้ทรงจัดตั้ง เขตตำบลโพธิ์กลาง ดังนั้น เขตตำบลโพธิ์กลาง อำเภอเมืองนครราชสีมา จึงกลายเป็น สุขาภิบาลเมืองนครราชสีมา ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 ได้ประกาศยกตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา ให้รวมเข้าอยู่ในเขตสุขาภิบาลเมืองด้วยอีกตำบลหนึ่ง และได้พระราชทานเงินภาษีโรงร้าน ยานพาหนะ และค่าเช่าที่ดิน บรรดาที่เก็บจากตำบลในเมืองรวมเข้า ในผลประโยชน์สำหรับใช้จ่ายในการบำรุงสุขาภิบาลเมืองนครราชสีมา
ในปี พ.ศ. 2478 ได้มีพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับเทศบาลขึ้น จึงมีผลให้มีการพิจารณายกฐานะสุขาภิบาลเมืองนครราชสีมาขึ้นเป็นเทศบาลเมืองนครราชสีมา เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2478 สุขาภิบาลเมืองนครราชสีมาจึงได้เปลี่ยนมาเป็น เทศบาลเมืองนครราชสีมา
เทศบาลเมืองนครราชสีมาได้เปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2480 มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 4.397 ตารางกิโลเมตร ต่อมาได้ขยายเป็น 37.50 ตารางกิโลเมตร มีผลบังคับใช้มา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2526 เป็นต้นมา และจัดตั้งเป็น เทศบาลนครนครราชสีมา เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2538
[แก้] ประชากร
ประชากรในเขตนครนครราชสีมามีจำนวน 166,615 คน (รายงานสถิติจำนวนประชากร เทศบาลนครนครราชสีมา) เป็นหญิง 87,495 คน เป็นชาย 79,120 จำนวนบ้านเรือน 59,080 หลังคาเรือน และจำนวนครอบครัว 33,608 ครอบครัว (เดือนมีนาคม 2551) ประชากรส่วนใหญ่เป็นคน ในท้องถิ่นและอพยพมาจากจังหวัดใกล้เคียง บางส่วนใช้ภาษาโคราชซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นเป็นภาษาพูด เมื่อ เปรียบเทียบอัตราส่วนความหนาแน่นประชากรต่อพื้นที่รวมทั้งสิ้น ประมาณ 4,443 คนต่อตารางกิโลเมตร และยังมีประชากรแฝง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 15.84 ของประชากรในทะเบียน นอกจากนี้ยังพบว่ามีการแฝงของประชากร ตามชานเมืองซึ่งเกิดเป็นชุมชนและเข้ามาใช้บริการในเขตเมือง ในเวลากลางวันและอพยพออก ไปในเวลากลางคืน อีกมากกว่า 150,000 คน/วัน
[แก้] ศาสนา
ในนครนครราชสีมา ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธประมาณร้อยละ 98 ที่เหลือร้อยละ 2 นับถือศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม
[แก้] การศึกษา
- มีโรงเรียนระดับประถมศึกษาอยู่ในสังกัด จำนวน 6 โรงได้แก่
- โรงเรียนเทศบาล 1 (บูรพาวิทยากร)
- โรงเรียนเทศบาล 2 (วัดสมอราย)
- โรงเรียนเทศบาล 3 (ยมราชสามัคคี)
- โรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ)
- โรงเรียนเทศบาล 5 (วัดป่าจิตตสามัคคี)
- โรงเรียนกีฬาเทศบาลนครนครราชสีมา
- สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัด 13 แห่ง12
- กรมสามัญศึกษา 2 แห่ง
- กรมการฝึกหัดครู 1 แห่ง
- กรมอาชีวศึกษา 2 แห่ง
- กรมการศาสนา 1 แห่ง
- การศึกษาเอกชน 25 แห่ง
- กระทรวงสาธารณสุข 1 แห่ง
- ทบวงมหาวิทยาลัย 1 แห่ง
[แก้] การสาธารณสุข
นครนครราชสีมา มีสถานบริการด้านสาธารณสุข 4 แห่ง คือ
- ศูนย์บริการสาธารณสุขโพธิ์กลาง ตั้งอยู่ที่กองอนามัยและสิ่งแวดล้อม
- ศูนย์บริการสาธารณสุขทุ่งสว่าง
- ศูนย์บริการสาธารณสุขสวนพริกไทย และ
- ศูนย์บริการสาธารณสุขหนองบัวรอง
นอกเหนือจากศูนย์บริการสาธารณสุขของเทศบาลแล้ว ในเขตเทศบาลยังมีหน่วยงานทั้งของภาครัฐและ เอกชนที่ให้บริการทางด้านสาธารณสุข อาทิ #โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา 1 แห่ง 1,200 เตียง โรงพยาบาลจิตเวช 1 แห่ง 300 เตียง โรงพยาบาลเอกชน 6 แห่ง 710 เตียง สถานประกอบการ (ประเภทเวชกรรม ชนิดมีและ ไม่มีเตียง แผนโบราณ ทันตกรรม ชั้น 1 และ 2 ผดุงครรภ์ชั้น 1 กายภาพบำบัดและเทคนิคการแพทย์) จำนวน ประมาณ 120 แห่ง สำนักงานสาธารณสุข อำเภอ 1 แห่ง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 1 แห่ง สถานีกาชาดที่ 4 1 แห่ง เป็นต้น
[แก้] สภาพทั่วไปทางเศรษฐกิจ
- การพาณิชยกรรม แหล่งพาณิชยกรรมจะอยู่ในบริเวณใจกลางเมืองริมถนนสายสำคัญต่างๆ
- การเกษตรกรรม พื้นที่การเกษตรภายในเขตเทศบาล ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณรอบๆ เมืองทางทิศเหนือ เลียบฝั่งลำตะคอง
- การอุตสาหกรรม มีการประกอบการเป็นโรงงานอุตสาหกรรมทุกขนาด ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาด เล็ก-ขนาดกลาง มีอยู่ประมาณ 400 โรง เช่น ทำกุนเชียง การทำเส้นก๋วยเตี๋ยว ทำลูกชิ้น เชื่อมโลหะ ปะยาง ประกอบตัวถังรถยนต์ ซ่อมเครื่องยนต์ ทำไอศกรีม เป็นต้น
[แก้] การคมนาคม
เนื่องจากเป็นชุมชนเมืองที่มีที่ตั้งอยู่บริเวณประตูเข้า-ออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงสามารถติดต่อ จังหวัดต่างๆ ที่อยู่ในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก (พื้นที่โครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก(ESB))และภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างทั่วถึง สะดวกและรวดเร็ว ถนนในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา จำแนก ออกเป็นถนนสายหลักและสายย่อย ถนนสายหลักยังจำแนกออกเป็นถนนสายประธาน และสายกระจายรูปแบบ โครงข่ายถนนแบ่งได้เป็น 2 ส่วน
- - ส่วนที่ 1 เป็นโครงข่ายถนนในบริเวณเมืองเก่า ซึ่งอยู่ในบริเวณคูเมืองล้อมรอบทั้งหมดเป็นไปอย่างมีระเบียบแบบตาราง ถนนส่วนใหญ่อยู่ในสภาพที่ดี
- - ส่วนที่ 2 เป็นโครงข่ายถนนในบริเวณเมืองเก่าเป็นถนนในส่วนขยายของตัวเมืองทางทิศตะวันตกของ ตัวเมืองเก่าที่ขาดการวางผัง โครงข่ายถนนในส่วนนี้จึงค่อนข้างขาดระเบียบ มีถนนทางหลวงแผ่นดิน ถนนมิตรภาพ ถนนสุรนารายณ์ ถนนราชสีมา-โชคชัย ถนนปักธงชัยตัดผ่าน และมีถนน ตรอก ซอย ต่างๆ หลายสายจาก เมืองเชื่อม ได้แก่ ถนนมุขมนตรี ถนนอัษฎางค์ ถนนราชนิกูล ถนนกำแหงสงคราม ถนนสรรพสิทธิ์ ถนนช้างเผือก ถนนราชดำเนิน ถนนเบญจรงค์ ถนนประจักษ์ และถนนกุดั่น ฯลฯ
[แก้] บริการขนส่งสาธารณะ
[แก้] ทางรถยนต์
- การบริการขนส่งโดยสารทางรถยนต์ระหว่างอำเภอและจังหวัดต่างๆ มีทั้งรถตู้ รถสองแถว รถโดยสาร ธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศให้บริการ รับ-ส่ง ผู้โดยสารตลอดวัน โดยมีสถานีขนส่ง 2 แห่ง แห่งที่ 1 ตั้ง อยู่ที่ถนนบุรินทร์ ตำบลในเมือง มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 5 ไร่ 3 งาน 51 ตารางวา เปิดใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 มีจำนวนรถ โดยสารที่วิ่งเข้าสู่สถานีประมาณ 1,224 เที่ยว/วัน ส่วนสถานีขนส่งแห่งที่ 2 ตั้งอยู่ที่ถนนมิตรภาพ-หนองคาย ตำบลในเมือง มีเนื้อที่ 10 ไร่ มีจำนวนรถโดยสารที่วิ่งเข้าสู่สถานีประมาณ 1,140 เที่ยว/วัน
- การบริการขนส่งสาธารณะทางรถยนต์โดยสารประจำทางในเขตเทศบาล
- - การบริการขนส่งสาธารณะทางรถยนต์โดยสารประจำทาง และรถโดยสารขนาดเล็ก มีเส้นทางเดินรถ 18 เส้นทาง จากจำนวน 15 สาย
- - การบริการรถแท็กซี่ รถสามล้อ มีทั้งรถสามล้อเครื่องและรถสามล้อถีบรับจ้างให้บริการตามเส้นทางในตัวเมือง และเป็นบริการขนส่งสาธารณะอีกประเภทหนึ่งที่ไม่มีสถิติเป็นทางการและเป็นทางการและเป็นที่นิยมของ ประชาชน เนื่องจากมีจำนวนมากและสะดวกในการใช้บริการจุดที่จะพบมากเป็นบริเวณที่จอดรถโดยสารบริเวณ สถานีขนส่ง สถานีรถไฟ ตลาดสดและแหล่งชุมชนทั่วไป
[แก้] ทางรถไฟ
ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา มีสถานีรถไฟสำคัญๆ 2 แห่ง คือ
- สถานีรถไฟนครราชสีมา เป็นสถานีใหญ่ของจังหวัด ตั้งอยู่บริเวณถนนมุขมนตรี
- สถานีรถไฟชุมทางถนนจิระ เป็นสถานีรถไฟที่มีขนาดและความสำคัญรองลงมาจากสถานีนครราชสีมา ตั้งอยู่บริเวณถนนจิระ
ทั้งสองสถานีมีขบวนรถผ่านขึ้น-ล่อง วันละกว่า 60 ขบวน โดยมีเส้นทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่าน 2 สาย คือ
- สายกรุงเทพ - อุบลราชธานี ผ่านอำเภอปากช่อง สีคิ้ว สูงเนิน เมือง จักราชและห้วยแถลง ความยาวประมาณ 575 กิโลเมตร
- สายกรุงเทพ - หนองคาย ผ่านอำเภอปากช่อง สีคิ้ว สูงเนิน เมือง โนนสูง คง บ้านเหลื่อม(สายลำนารายณ์) บัวใหญ่และบัวลาย ความยาวประมาณ 624 กิโลเมตร
[แก้] ดูเพิ่ม
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
|
|
---|---|
เทศบาลนคร | ขอนแก่น - เชียงราย - เชียงใหม่ - ตรัง - นครปฐม - นครราชสีมา - นครศรีธรรมราช - นครสวรรค์ - นนทบุรี - ปากเกร็ด - พิษณุโลก - พระนครศรีอยุธยา - ภูเก็ต - ยะลา - ระยอง - ลำปาง - สงขลา - สมุทรปราการ - สมุทรสาคร - สุราษฎร์ธานี - หาดใหญ่ - อุดรธานี - อุบลราชธานี |
ฐานะเทียบเท่า | กรุงเทพมหานคร • เมืองพัทยา |