ประตูเมืองนครราชสีมา
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหา |
[แก้] ประวัติ
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-พ.ศ. 2231)
ได้โปรดเกล้าให้สร้างเมืองนครราชสีมาขึ้นใหม่ ซึ่งก็คือตัวเมืองบริเวณพื้นที่ภายในกำแพงเมือง และคูเมืองในปัจจจุบัน เนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ มีนายช่างชาวฝรั่งเศสเป็นผู้วางผังเมือง ลักษณะเป็นรูปกลองชัยเภรี มีความกว้างประมาณ 1,000 เมตร (1 กิโลเมตร)ยาวประมาณ 1,700 เมตร (1.7 กิโลเมตร)โครงสร้างถนนภายในมีรูปแบบเป็นตารางหมากรุก(grid)โดยสร้างกำแพงเมืองก่ออิฐขึ้นจากหินศิลาแลง มีป้อมประจำกำแพงและป้อมตามมุมกำแพงรวม 15 ป้อม ประตูเมือง 4 ประตู พร้อมทั้งได้ทำการขุดคูล้อมรอบตัวเมืองโดยมีประตูเมืองทั้ง 4 เป็นทางเข้าออกเมืองทั้งสี่ทิศ บริเวณซุ้มประตูเมือง
จะมีหอยามรักษาการณ์ (เชิงเทิน)ลักษณะเป็นรูปแบบ ทรงไทยโบราณ หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา มีช่อฟ้าใบระกา เหมือนกันหมดทุกแห่ง โดยมีชื่อเรียกประตูเมืองทั้ง 4 นี้ว่า
สิ่งก่อสร้างบางอย่างได้ถูกทำลายลง เมื่อครั้งที่ได้เกิดศึกกับเจ้าอนุวงศ์ แห่งกรุงเวียงจันทน์ ที่ได้เข้ามายึดเมืองนครราชสีมา กอร์ปกับส่วนหนึ่งถูกสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติเช่น แสงแดด ลม และ ฝน ทำลายเสียหายไปบ้าง จึงเหลือแต่เพียง ประตูเดียวก็คือ ประตูชุมพล ที่ยังหลงเหลือโครงสร้างเดิมไว้อยู่
[แก้] ประตูชุมพล
ประตูชุมพล เป็นประตูเมืองด้านทิศตะวันตกของตัวเมืองนครราชสีมาเก่า เป็นประตูเมืองเพียงแห่งเดียวในบรรดาประตูเมืองทั้งหมดของนครราชสีมา ที่ยังคงสภาพเดิมอยู่พร้อมกำแพงเมืองเก่า โดยตัวเมืองปัจจุบันได้ขยายออกเรื่อยไปทางตะวันตก ส่งผลทำให้ปัจจุบัน ประตูชุมพลจึงเหมือนตั้งอยู่กลางเมือง ต่อมาทาง ราชการจังหวัดนครราชสีมาได้สร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี(ย่าโม) โดยถมคูเมืองบางส่วนเพื่อทำเป็นพื้นที่ก่อสร้าง แล้วนำมาประดิษฐานบนแท่นสูง ตรงบริเวณหน้าประตูชุมพล เมื่อปีพ.ศ. 2477 หอยามรักษาการณ์ ประตูเมือง กำแพงเมืองเกิดชำรุดทรุดโทรมพังลงไปมาก ดังนั้นทางราชการจึงได้ซ่อมแซมสิ่งที่ผุพังขึ้นใหม่ให้เหมือนเดิม แล้วได้มีการสร้างจำลองแบบเพื่อเป็นการ อนุรักษ์ของเก่าเดิมไว้ทั้งหมด คือ "ประตูชุมพล" หอยามรักษาการณ์ทรงไทย กำแพงเมืองโบราณมาสร้างขึ้นใหม่ พร้อมกับได้อัญเชิญ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี(ย่าโม) ทั้งหมดมาสร้างและตั้งขึ้น ณ บริเวณที่ปัจจุบัน ตราบเท่าทุกวันนี้
อนึ่ง ประตูชุมพล หอยามรักษาการณ์ กำแพงเมืองโบราณ นครราชสีมา ทางราชการกรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียน เป็นโบราณวัตถุสถานแห่งชาติ เมื่อปีพ.ศ. 2480
[แก้] ประตูอื่นๆ
- ประตูพลแสน เป็นประตูทางด้านทิศเหนือ มีอีกชื่อว่า ประตูน้ำ เป็นเพราะประตูนี้หันหน้าสู่ลำตะคอง ลำน้ำสาขาแม่น้ำมูล ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคม และการชลประทาน
- ประตูพลล้าน เป็นประตูทางด้านตะวันออก น่าจะเป็นประตูเวียงธรรมดาดังเช่นเมืองอื่นๆทั่วไป
- ประตูไชยณรงค์ เป็นประตูทางด้านทิศใต้ เป็น ประตูผี คือเป็นประตูที่ไว้ขนศพ ออกจากเมือง เพื่อไปทำพิธีทางศาสนาต่อไป
ในปัจจุบัน ประตูเมืองทั้ง 3 ประตู ได้มีการบูรณะ และ ก่อสร้างใหม่ โดยทำการรื้อถอนประตูเมืองและกำแพงเมืองเดิมที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรม ในลักษณะของซุ้มประตูทั้ง 3 นั้น ได้ออกแบบลักษณะเป็นศิลปะร่วมสมัย โดยยึดเค้าโครงเดิมของประตูเมือง และกำแพงเมืองแบบเดิม ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่ก่อสร้างซุ้มประตูใหม่นั้น พื้นที่ตัวเมืองมีการขยายเพิ่มขึ้น และได้มีการขยายถนนออกไปทางประตูเมืองทั้ง 3 จากเดิมในอดีตมาก จึงทำให้การออกแบบซุ้มประตูมีความกว้างเพื่อรองรับกับการจราจรและรถยนต์ที่สัญจรเข้าออกผ่านซุ้มประตูเมืองทั้ง 3 เป็นอย่างดี
[แก้] การบูรณะและก่อสร้างประตูพลแสน ประตูพลล้าน และ ประตูไชยณรงค์
[แก้] รายละเอียดของการก่อสร้าง
เมื่อ พ.ศ. 2530 นายสมบูรณ์ ไทยวัชรามาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาในขณะนั้น ได้พิจารณาเห็นว่าเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จะทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2530 และรัฐบาลได้กำหนดให้เป็นปีเฉลิมพระเกียรติแต่พระเจ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเป็นปีท่องเที่ยวไทย สมควรจะได้ดำเนินการก่อสร้างถาวรวัตถุให้เป็นกิจกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้จัดทำโครงการก่อสร้างกำแพงและซุ้มประตูเมืองนครราชสีมาอีก 3 ประตู ซึ่งหักพัง และถูกรื้อสูญไปแล้ว ให้มีครบทั้ง 4 ประตู ตามที่เคยมีมาตั้งแต่โบราณ[1]
[แก้] วัตถุประสงค์
- เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายความจงรักภักดีแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาศ ที่ทรงมีพระชนมายุ 60 พรรษา(5รอบ) เมื่อปี พ.ศ. 2530
- เพื่ออนุรักษ์โบราณสถานซึ่งเคยมีมาแต่ก่อน
- เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาโบราณสถาน และประวัติศาสตร์เมืองนครราชสีมาในอดีต และปัจจุบันต่อเนื่องกัน
- เพื่อสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อย และสวยงามให้เกิดขึ้นแก่บ้านเมือง
- เพื่อสนับสนุนปีการท่องเที่ยวไทย ตามที่รัฐบาลได้กำหนดให้ปี 2530 เป็นปีท่องเที่ยวไทย จะได้มีแหล่งท่องเที่ยวให้ชาวไทย และชาวต่างประเทศมีโอกาสได้ท่องเที่ยว
[แก้] ขั้นตอนในการก่อสร้าง
[แก้] ขั้นตอนที่ 1
การคัดเลือกสถานที่ก่อสร้าง ได้แต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายคัดเลือกสถานที่ขึ้น ประกอบด้วยนายเด็ดดวง สุคนธรัตน์ นายกเทศมนตรีเมืองนครราชสีมา เป็นประธาน นายสถิตย์ ภักดิ์ศรีแพง หัวหน้าฝ่ายบริหาร สำนักงานจังหวัดนครราชสีมา เป็นกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่ศึกษาและค้นคว้าประวัติ และตำนานของเมืองนครราชสีมา และกำหนดจุดก่อสร้างให้ตรงตามประวัติและสถานที่ดั่งเดิม และประสานขอใช้สถานที่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากการศึกษาของคณะกรรมการ จึงได้กำหนดจุดก่อสร้างประตูทั้งสาม ดังนี้
- ก่อสร้างประตูพลแสน ที่บริเวณด้านในคูเมือง ด้านทิศเหนือ ตรงใกล้สี่แยกถนนพลแสนตัดกับถนนประจักษ์ (หน้าวัดสามัคคี)
- ก่อสร้างประตูไชยณรงค์ ที่บริเวณด้านในคูเมือง ด้านทิศใต้ ตรงบริเวณใกล้ห้าแยกราชนิกูล (ใกล้บริเวณตลาดสดประตูผี)
- ก่อสร้างประตูพลล้าน ที่บริเวณด้านในคูเมือง ด้านทิศตะวันออก ตรงใกล้สี่แยกถนนจอมพลตัดกับถนนพลล้าน (ใกล้ทางเข้าทุ่งสว่าง)
จังหวัดได้ขอใช้ที่ราชพัสดุทั้ง 3 แห่ง ในการก่อสร้าง และได้รับอนุญาตจากกรมธนารักษ์ตามหนังสือด่วนมาก ที่ กค 0507/3788 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2530 และจังหวัดได้ขอรับความเห็นจากกรมศิลปากรเกี่ยวกับจุดก่อสร้างประตูเมืองทั้ง 3 แห่ง และแบบแปลน
ซึ่งสำนักงานโยธาธิการจังหวัดนครราชสีมาเขียนขึ้น (แบบแปลนที่ ยธ.นม.232) ตลอดจนขอทราบว่า แต่เดิมกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนประตูเมืองทั้ง 3 แห่ง เป็นโบราณสถานหรือไม่ และยินยอมให้จังหวัดนครราชสีมา ก่อสร้างประตูเมืองตามแบบแปลนที่ ยธ.นม.232 ดังกล่าวหรือไม่ กรมศิลปากรแจ้งให้ทราบว่า กรมศิลปากรมิได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานประตูเมืองทั้งสามไว้ จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในดุลยพินิจของจังหวัดที่จะดำเนินการ (ตามหนังสือด่วนที่สุดที่ ศธ 0704/2016 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2530)
[แก้] ขั้นตอนที่ 2
การออกแบบก่อสร้าง คณะกรรมการฝ่ายช่าง ซึ่งประกอบด้วย นายประชา จิตรภิรมย์ศรี โยธาธิการจังหวัดนครราชสีมาเป็นประธาน นายสมศักดิ์ กุลนรากร นายช่างโยธา 4 เป็นกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่ออกแบบกำแพง และซุ้มประตูเมืองให้มีรูปลักษณะคล้ายของเดิมตามประวัติศาสตร์ โดยให้ถือประตูชุมพลเป็นแบบ คณะกรรมการฝ่ายช่างได้ออกแบบตามแบบ ยธ.นม.232 และประมาณการก่อสร้างประมาณประตูละ 1.3 ล้านบาทเศษ
[แก้] ขั้นตอนที่ 3
การจัดหาทุนก่อสร้าง คณะกรรมการฝ่ายจัดหาทุนก่อสร้าง ซึ่งประกอบไปด้วย นายสมบูรณ์ ไทยวัชรามาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน นายสถิตย์ ภักดิ์ศรีแพง หัวหน้าฝ่ายบริหาร สำนักงานจังหวัดนครราชสีมา เป็นกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่จัดหาทุนจากผู้มีจิตศรัทธาบริจาค โดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ ผลการดำเนินการของคณะกรรมการฝ่ายจัดหาทุนก่อสร้าง ปรากฏว่า มีผู้บริจาคเงินก่อสร้าง ดังนี้
-ประตูพลแสน-
เดิมนายเหรียญ จึงวัฒนาภรณ์ ห้างหุ้นส่วนจำกัดคิงส์ยนต์ รับบริจาคแต่ผู้เดียว แต่เนื่องจากการก่อสร้างประตูเมืองเป็นถาวรวัตถุเป็นประวัติศาสตร์ และเป็นเกียรติประวัติแก่วงศ์ตระกูลของผู้บริจาคเงินก่อสร้าง จึงมีผู้ขอร่วมบริจาคเงินก่อสร้างขึ้นในประตูนี้รวม 8 คนคือ
- นายสมบูรณ์ ไทยวัชรามาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา
- นายเหรียญ จึงวิวัฒนาภรณ์
- นายวิชัย เชิดชัย
- นายบรรยง หล่อธาราประเสริฐ
- นายมุข วงษ์ชวลิตกุล
- ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ภาคอีสานพาณิชย์ (ตังปัก)
- นายประพัฒน์ อินทนากรวิวัฒน์
- นายทศพล ตันติวงษ์
- นายป่วยเฮียง แซ่โค้ว
-ประตูพลล้าน-
- นายอาคม ไตรบัญญัติกุล เจ้าของและผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยเย็นและครอบครัว รับเป็นผู้บริจาคค่าก่อสร้างแต่เพียงผู้เดียว
-ประตูไชยณรงค์-
- บริษัท เอกศิลป์ จำกัด และบริษัท เค.เค.พัฒนาก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้บริจาค
[แก้] ขั้นตอนที่ 4
ขั้นตอนการก่อสร้างได้มีการแต่งตั้ง
กรรมการขึ้นเป็น 3 คณะ คือ คณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ จากการรับจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างประตูเมืองทั้ง 3 แห่ง ปรากฏผลดังนี้ ประตูพลแสน ห้างหุ้นส่วนจำกัดยงประเสริฐ โดยนายประพัฒน์ อินทนากรวิวัฒน์ เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ประตูพลล้าน ห้างหุ้นส่วนจำกัดวรรณาวดี โดยนางชุลี เตชะธีระปรีดา เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ประตูไชยณรงค์ บริษัท เอกศิลป์ จำกัด เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง
[แก้] สถานที่ใกล้เคียง
- อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี
- วัดหนองบัวรอง
- วัดศาลาลอย
- วัดแจ้งใน
- สถานีรถไฟนครราชสีมา
- สถานีรถไฟชุมทางถนนจิระ
- ค่ายสุรนารี
[แก้] อ้างอิง
- ^ หนังสือที่ระลึก เนื่องในพิธีเปิดหอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่9 จังหวัดนครราชสีมา
ประตูเมืองนครราชสีมา เป็นบทความเกี่ยวกับ อาคาร หรือ สถานที่สำคัญ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ ประตูเมืองนครราชสีมา ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ |