See also ebooksgratis.com: no banners, no cookies, totally FREE.

CLASSICISTRANIERI HOME PAGE - YOUTUBE CHANNEL
Privacy Policy Cookie Policy Terms and Conditions
เทศบาลนครขอนแก่น - วิกิพีเดีย

เทศบาลนครขอนแก่น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เทศบาลนครขอนแก่น
ตราประจำเทศบาลนครขอนแก่น
ตราประจำเทศบาลนครขอนแก่น
พระธาตุขามแก่น เสียงแคนดอกคูน ศูนย์รวมผ้าไหม รวมใจผูกเสียว เที่ยวขอนแก่นนครใหญ่ ไดโนเสาร์สิรินธรเน่ สุดเท่เหรียญทองมวยโอลิมปิก
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อภาษาไทย นครขอนแก่น
ชื่อภาษาอังกฤษ Khon Kaen City
นายกเทศมนตรี นายพีระพล พัฒนพีระเดช
ข้อมูลสถิติ
ประชากร 120,957(เฉพาะตำบลในเมือง) คน (พ.ศ. 2549)
พื้นที่ 46 ตร.กม.
ความหนาแน่น 2,660 คน/ตร.กม.
โทรศัพท์ (+66) 0 4322 1202, 0 4322 4818, 0 4322 4390, 0 4322 4301
เว็บไซต์ [1]
ภาพเขตพาณิชยกรรมหลักในเทศบาลนครขอนแก่น
ภาพเขตพาณิชยกรรมหลักในเทศบาลนครขอนแก่น

เทศบาลนครขอนแก่น หรือ เมืองขอนแก่น ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น โดยกินอาณาเขตตำบลในเมือง ตำบลบ้านเป็ด ตำบลศิลา และตำบลเมืองเก่า มีพิกัดภูมิศาสาตร์อยู่ที่ 16°26′N 102°50′E ทั้งนี้ ขอนแก่นเป็นเมืองหลักภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ รวมกับ เชียงใหม่ สงขลา นครราชสีมา และ ชลบุรี ในปัจจุบันเมืองขอนแก่นถือเป็นศูนย์กลางทางด้านการศึกษา เศรษฐกิจ หน่วยงานราชการ และการคมนาคม ที่สำคัญของภูมิภาค

เทศบาลนครขอนแก่น เดิมได้รับการยกฐานะเป็นเทศบาลเมือง โดยพระราชกฤษฎีกา การจัดตั้งเทศบาลเมืองขอนแก่น มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2478 นายกเทศมนตรีคนแรก คือ พระเสนาราชภักดี เข้าดำรงตำแหน่ง เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2478 ก่อนได้รับการยกฐานะเป็นเทศบาลเมืองตามพระราชกฤษฎีกา 2 เดือน ศาลาเทศบาลเมืองขอนแก่นตั้งอยู่ในที่ดินราชพัสดุแปลงที่ตั้งศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ในขณะนั้นอยู่ทางทิศใต้ด้านตะวันตกของถนนกลางเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น ตรงข้ามกับสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองขอนแก่นในปัจจุบัน จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2492 จึงได้ย้ายที่ทำการไปอยู่ในที่ดินแปลงที่ตั้งสถานีอนามัยและสถานีดับเพลิงด้านตะวันออกของถนนกลางเมือง อยู่ตรงข้ามกับโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน มาจนถึง พ.ศ. 2508 เป็นเวลา 16 ปี ต่อมากระทรวงมหาดไทย ให้สำนักงานเทศบาลเมืองขอนแก่นใช้อาคารร่วมกับอำเภอเมืองขอนแก่น ซึ่งได้ย้ายมาอยู่ ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2508 จนถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2527 รวมเป็นเวลา 19 ปี ใน พ.ศ. 2527 จึงได้ย้ายสำนักงานมาตั้งอยู่ในที่ปัจจุบันและได้เปิดทำการตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2527 เป็นต้นมา

พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลเมืองขอนแก่น พ.ศ. 2478 กำหนดให้เขตเทศบาลมีพื้นที่ 4.031 ตารางกิโลเมตร ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 ได้มีพระราชกฤษฎีกาขยายเขตเทศบาลให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น ปัจจุบันมีพื้นที่ 46 ตารางกิโลเมตร และต่อมาในปี พ.ศ. 2538 จึงได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลนครขอนแก่นขึ้น

เนื้อหา

[แก้] ประวัติศาสตร์เมืองขอนแก่น [1]

[แก้] การตั้งถิ่นฐาน

ขอนแก่น แม้จะเป็นบ้านเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่เมื่อราวสองร้อยกว่าปีมานี้ก็ตาม แต่ในอดีตกาลยุคก่อนประวัติศาสตร์ ในบริเวณเขตจังหวัดขอนแก่นเคยมีชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ได้เข้ามาอาศัยก่อนแล้ว เช่น การค้นพบแหล่งโบราณคดีที่บ้านโนนนกทา อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น พบว่ามีเครี่องปั้นดินเผาที่มีอายุใกล้เคียงกับแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง คือมีอายุราว 5,500 ปีมาแล้ว ต่อมาชุมชนเหล่านี้ก็ได้วิวัฒนาการมาสู่ชุมชนแห่งรัฐ และกลายเป็นบ้านเมืองขึ้นในสมัยทวารวดีก่อนที่ขอมจะมามีอำนาจในดินแดนส่วนนี้ เช่น พบแหล่งโบราณคดีที่วัดศรีเมืองแอม อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นจารึกศรีเมืองแอม ที่ขอมได้เข้ามามีอำนาจในดินแดนส่วนนี้ หรือที่ปรากฏเป็นปรางค์กู่ต่างๆ ในเขตจังหวัดขอนแก่น เป็นต้น

ประวัติศาสตร์การสร้างเมืองขอนแก่น ได้เริ่มเกิดขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2522 ขณะนั้นกรุงเวียงจันทน์ซึ่งขึ้นกับกรุงธนบุรี หรือนัยหนึ่งขึ้นกับไทย ได้เกิดความไม่สงบ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับเจ้าพระยาสุรสีห์ ยกทัพขึ้นไประงับเหตุที่กรุงเวียงจันทน์ แต่ครั้งไปถึงเหตุการณ์ในกรุงเวียงจันทน์ก็เป็นปกติแล้ว จึงได้ยกทัพกลับมา พร้อมกับได้อันเชิญพระแก้วมรกตพระพุทธปฏิมากรกับพระบางกลับมาถวายแต่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วย

เจ้าแก้วบุฮม (แก้วบรม) กับพระยาเมืองแพน (หรือเพี้ยเมืองแพน) สองพี่น้อง ซึ่งเป็นโอรสของเจ้าแสนปัจจุทุม (ท้าวแสนแก้วบุฮม) ได้ยกกองทัพจากบ้านเพี้ยปู่ เขตแขวงเมืองตุลาคม ซึ่งขึ้นกับเมืองเวียงจันทน์ในทุกวันนี้ได้มากันข้ามโขงมาตั้งถิ่นฐานที่อยู่บ้านโพธิ์ตาก (บ้านโพธิ์ตาก ตำบลบ้านกง อำเภอเมืองขอนแก่น) และบ้านยางเดี่ยว บ้านโพธิ์ศรี (บ้านโพธิ์ศรี ตำบลบ้านโนน อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น) บ้านโพธิ์ชัย (บ้านโพธิ์ชัย อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น) บ้านสร้าง บ้านชีโล้น (อยู่ในเขตเมืองสุวรรณภูมิ เมืองทง เดิมคือ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ปัจจุบัน)

ในปัจจุบัน บางบ้านก็อยู่ในเขตอำเภอเมืองขอนแก่น บางบ้านก็อยู่ในเขตอำเภอน้ำพอง บางบ้านก็อยู่ในเขตอำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด บางบ้านก็อยู่ในเขตจังหวัดยโสธร บางบ้านก็อยู่ที่อำเภอมัญจาคีรี และบางบ้านก็อยู่ที่อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร เป็นต้น ทั้งนี้เป็นเพราะได้มีการเปลี่ยนแปลงเขตเมืองในสมัยหลังๆ ต่อมานั่นเอง

เจ้าแก้วบุฮม ได้อพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านโพธิ์ชัย พระยาเมืองแพนอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ในบ้านชีโล้น คุมไพร่พลคนละ 500 คน ขึ้นกับเมืองทง หรืออำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

ครั้นต่อมาอีกราว 9 ปี ในปีพุทธศักราช 2331 เมืองแพน บ้านชีโล้น แขวงเมืองสุวรรณภูมิ คือเพี้ยเมืองแพนนั่นเอง ก็ได้พาราษฎรและไพร่พลประมาณ 330 คน ขอแยกตัวออกจากเมืองสุวรรณภูมิไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ฝั่งบึงบอน ยกขึ้นเป็นเมืองที่บ้านดอนพยอม เมืองเพี้ย คือ บ้านเมืองเพี้ย ตำบลเมืองเพี้ย อำเภอบ้านไผ่ ปัจจุบัน

บึงบอนหรือดอนพยอมในปัจจุบันได้ตื้นเขินเป็นที่นาไปหมดแล้ว แต่ก็ยังปรากฏเป็นรูปของบึง ซึ่งมีต้นบอนขึ้นอยู่มากมาย ต่อมาก็ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เมืองแพนเป็นพระนครศรีบริรักษ์ เจ้าเมืองขอนแก่น ดังปรากฏข้อความว่า “...1159 ปีมเสง นพศก (พ.ศ. 2340) ฝ่ายเจ้าเพี้ยเมืองแพน บ้านชีโล่น เมืองสุวรรณภูมิ เห็นว่าเมืองแสนได้เป็นเจ้าเมืองชนบท ก็อยากจะได้เป็นบ้าง จึงเกลี้ยกล่อมผู้คนให้อยู่ในบังคับสามร้อยคนเศษ จึงสมัครขึ้นอยู่ในเจ้าพระยานครราชสีมา แล้วขอตั้งบ้านบึงบอนเป็นเมือง เจ้าพระยานครราชสีมาได้มีใบบอกมายังกรุงเทพฯ จึงโปรดเกล้าฯ ตึ้งให้เมืองแพน เป็นที่พระยานครศรีบริรักษ์ เจ้าเมือง ยกบ้านบึงบอนขึ้นเป็นเมืองขอนแก่น ขึ้นเมืองนครราชสีมา...”

เอกสารพงศาวดารอีสานฉบับพระยาขัติวงศา (เหลา ณ ร้อยเอ็ด) ได้กล่าวถึงการตั้งเมืองขอนแก่นว่า “...ได้ทราบข่าวว่าเมืองแพน บ้านชีโล่น แขวงเมืองสุวรรณภูมิ พาราษฎร ไพร่พลประมาณ 330 คน แยกจากเมืองสุวรรณภูมิไปขอตั้งฝั่งบึงบอนเป็นเมือง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เมืองแพนเป็นพระนครศรีบริรักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่น...”

[แก้] การย้ายถิ่นฐานเมืองขอนแก่น

ภาพถ่ายทางดาวเทียมเขตเมืองขอนแก่น
ภาพถ่ายทางดาวเทียมเขตเมืองขอนแก่น

สำหรับประวัติการย้ายเมืองขอนแก่นมาตั้งอยู่ในที่ปัจจุบันในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 คือเมื่อปีพุทธศักราช 2339 ก็ได้ย้ายเมืองขอนแก่นไปตั้งอยู่ที่บ้านหนองเหล็ก (ตำบลบ้านแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคามปัจจุบัน) โดยได้ขอขึ้นตรงกับกรุงเทพมหานคร คือจะขอส่งเครื่องราชบรรณาการตรงต่อกรุงเทพมหานครเลยทีเดียว ไม่ผ่านเมืองสุวรรณภูมิ เพราะให้เหตุผลว่า บ้านดอนพยอมเมืองเพี้ย อยู่ใกล้กับแขวงเมืองโคราช ซึ่งก็เป็นจริง เพราะอยู่ใกล้กับเมืองชนบท อันเป็นแขวงเมืองโคราชอยู่ขณะนั้น

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เข้าใจว่า เจ้าเมืองในขณะนั้นอยากจะแยกตัวออกเป็นอิสระ คืออยากจะแยกออกมาเป็นเมืองใหญ่อีกต่างหาก การย้ายเมืองไปตั้งที่บ้านหนองเหล็ก ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวคำบัง (บุตรเจ้าแก้วบุฮม) เป็นพระนครศรีบริรักษ์ เจ้าเมืองขอนแก่นต่อมา

ในปีพุทธศักราช 2352 ก็ได้ย้ายเมืองจากบ้านหนองเหล็กไปตั้งเมืองอยู่ที่บ้านดอนพันชาติ (เขตตำบลแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม) พระนครศรีบริรักษ์ (คำบ้ง) ได้ถึงแก่กรรมจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าราชบุตร คือ ท้าวคำยวง ผู้เป็นน้องชายของพระนครศรีบริรักษ์ (คำบ้ง) ผู้ซึ่งได้รับความดีความชอบไปทำศึกกับพวกมอญช่วยเมืองเชียงใหม่ขณะนั้น ได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองขอนแก่น พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระนครศรีบริรักษ์ บรมราชภักดี ศรีศุภสุนทร”

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ในปีพุทธศักราช 2381 เมืองขอนแก่นก็ได้ย้ายจากบ้านดอนพันชาติไปตั้งอยู่ที่ริมฝั่งบึงพระลับโนนทอง คือบ้านเมืองเก่า ตำบลในเมือง จึงหวัดขอนแก่นในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อก่อนเรียกว่า บ้านโนนทอง ต่อมาเมื่อย้ายเมืองไปอยู่ที่นั่น จึงเรียกว่าบ้านเมืองเก่า

การย้ายเมืองขอนแก่นไปตั้งอยู่ที่บึงพระลับโนนทอง มีเรื่องเล่ากันมาว่า เกิดการแย่งราษฎรไพร่พลขึ้น และเกิดแผ่นดินแยกที่ถนนกลางเมือง มีโรคภัยไข้เจ็บผู้คนล้มป่วยกันมาก จึงถือว่าที่ตรงนั้นไม่เป็นมงคลต่อการอยู่อาศัยจึงย้ายเมืองอีกครั้งหนึ่งจากบึงพระลับโนนทองไปตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ที่บ้านโนนทัน (อยู่ในตำบลพระลับ อำเภอเมืองขอนแก่นปัจจุบัน) ในปีพุทธศักราช 2398 พอดีพระนครศรีบริรักษ์ (คำยวง) ได้ถึงแก่อนิจกรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวอินธิวงษ์ บุตรคนเล็กของพระยานครศรีบริรักษ์ เป็นเจ้าเมืองขอนแก่น เพราะมีวิชาความรู้ดีกว่าพี่ชายคนอื่นๆ โดยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาในราชทินนามเดิมของบิดาสืบมา

ต่อมาในปีพุทธศักราช 2407 ท้าวอินธิวงษ์เจ้าเมืองขอนแก่นได้ถึงแก่อนิจกรรมลงอีก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวคำบุ่ง (พี่ชายท้าวอินธิวงษ์) ผู้เป็นอุปฮาดแต่เดิมให้เป็นเจ้าเมืองขอนแก่นสืบแทนน้องชายต่อมาอีก 3 ปี เพราะชราภาพมากแล้ว

ในปีพุทธศักราช 2410 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวอุ (ราชบุตร) ซึ่งเป็นหลานท้าวอินธิวงษ์ (พระยานครศรีบริรักษ์) ขึ้นเป็นเจ้าเมืองขอนแก่น และได้ย้ายเมืองขอนแก่นจากบ้านโนนทัน กลับไปตั้งอยู่ที่บ้านเมืองเก่าอีก (บ้านโนนทองเดิม) พอถึงปีพุทธศักราช 2413 ก็ได้ย้ายเมืองขอนแก่นจากบ้านเมืองเก่าไปตั้งอยู่ที่บ้านดอนบม (บ้านอนบม ตำบลในเมือง จังหวัดขอนแก่น) แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานบรรดาศักดิ์ท้าวอุ (ราชบุตร) เจ้าเมืองขอนแก่นในขณะนั้น เป็นพระนครศรีบริรักษ์ และให้ท้าวหนูหล้า บุตรคนเล็กของท้าวอินธิวงษ์ เป็นปลัดเมืองขอนแก่น (หรืออุปฮาด)

ในปีพุทธศักราช 2434 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เปลี่ยนการปกครองหัวเมืองไกลใหม่ โดยเปลี่ยนเป็นบริเวณหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ ให้เป็นหัวเมืองไกลใหม่ โดยเปลี่ยนเป็นบริเวณหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ ให้เป็นหัวเมืองลาวพวน ดังนั้น เมืองขอนแก่นจึงกับขึ้นกับเมืองลาวพวน ในสมัยนั้นได้มีสายโทรเลข ที่เดินจากเมืองโคราช ผ่านมาเมืองชนบท เข้าเขตเมืองขอนแก่นข้ามลำน้ำชี ที่ท่าหมากทัน ตรงไปท่าพระ บ้านทุ่ม โดยไม่เข้าเมืองขอนแก่น และตรงไปข้ามลำน้ำพองไปบ้านหมากแข้งของเมืองอุดรธานี กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม (พระยศในขณะนั้น) ซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่ประจำมลฑล ทรงดำริว่า เทศบาลเมืองขอนแก่น ที่ตั้งอยู่ที่บ้านดอนบม ไม่สะดวกแก่ราชการ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระนครศรีบริรักษ์ (อุ) ย้ายเมืองไปตั้งอยู่ที่บ้านทุ่ม (อำเภอเมืองขอนแก่นในปัจจุบัน) ในปลายพุทธศักราช 2434 และเปลี่ยนนามตำแหน่งเจ้าเมืองเป็นผู้ว่าราชการเมือง

ในปีพุทธศักราช 2440 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานบรรดาศักดิ์ ท้าวหนูหล้าปลัดเมืองขอนแก่น เป็นพระพิทักษ์สารนิคม และในปีพุทธศักราช 2441 ก็ได้ย้ายเมืองขอนแก่นจากบ้านทุ่มกลับไปตั้งอยู่ที่บ้านเมืองเก่าตามเดิม โดยตั้งศาลากลางขึ้นที่ริมบึงเมืองเก่าทางด้านเหนือ (หน้าสถานีโทรทัศน์ในปัจจุบัน) ด้วยเหตุผลที่ว่า บ้านทุ่มนั้นกันดารน้ำในฤดูแล้ง

ในปีพุทธศักราช 2444 ทางราชการได้เกณฑ์แรงงานของราษฎรที่เคยหลงผิดไปเชื่อผีบุญ-ผีบาป ที่เขตแขวงเมืองอุบลราชธานีในตอนนั้น โดยให้พากันมาช่วยสร้างทำนบกั้นน้ำขึ้น เป็นถนนรอบบึงเมืองเก่า เพื่อกักน้ำไว้ใช้สอยในฤดูแล้ง เพราะบึงนี้เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของชาวเมืองขอนแก่น

ต่อมาในปีพุทธศักราช 2447 พระนครบริรักษ์ (อุ นครศรี) เจ้าเมืองขอนแก่น ได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการ เหตุเพราะชราภาพ จึงทรงพระกรุณาโปรกเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งพระพิทักษ์สารนิคม (หนูหล้า สุนทรพิทักษ์) ปลัดเมืองขอนแก่นขึ้นเป็นผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่น และในปีนั้นเอง ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนนามตำแหน่งข้าหลวงประจำเมืองขอนแก่นเป็นข้าหลวงประจำบริเวณพาชี ส่วนเมืองต่างๆ ที่ขึ้นต่อนั้น ก็ให้เปลี่ยนเป็นอำเภอ และผู้เป็นเจ้าเมืองนั้นๆ ก็ให้เปลี่ยนเป็นนายอำเภอ ตำแหน่งอุปฮาด ก็เป็นปลัดอำเภอไป

ต่อมาในวันที่ 19 พฤษภาคม 2459 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเป็นจังหวัดแทน ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองจึงกลายเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด และศาลาว่าการเมือง ก็เปลี่ยนมาเป็นศาลากลางจังหวัด นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

[แก้] ที่มาของชื่อขอนแก่น

เหตุที่เมืองนี้มีนามว่า เมืองขอนแก่นนั้นได้มีตำนานแต่โบราณเล่าขานสืบต่อกันมาว่า ก่อนที่เพี้ยเมืองแพนจะอพยพไพร่พลมาตั้งบ้านตั้งเมืองขึ้นนั้น ปรากฏว่าบ้านขาม หรือตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพองปัจจุบัน ซึ่งเป็นเขตแขวงร่วมการปกครองกับบ้านชีโล้น มีตอมะขามขนาดใหญ่ที่ตายไปหลายปีแล้ว กลับมีใบงอกงามเกิดขึ้นใหม่อีก และหากผู้ใดไปกระทำมิดีมิร้ายหรือดูถูกดูหมิ่น ไม่ให้ความเคารพยำเกรง ก็จะมีอันเป็นไปในทันทีทันใด เป็นที่น่าประหลาดและมหัศจรรย์ยิ่งนัก

ดังนั้น บรรดาชาวบ้านชาวเมืองในแถบถิ่นนั้นจึงได้พร้อมใจกันก่อเจดีย์ครอบตอมะขามนั้นเอาไว้เสีย เพื่อให้เป็นที่สักการะของคนทั่วไป พร้อมกับได้บรรจุพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า 9 บทเข้าไว้ในเจดีย์ครอบตอมะขามนั้นด้วย ซึ่งเรียกว่า พระเจ้า 9 พระองค์

แต่เจดีย์ที่สร้างในครั้งแรกเป็นรูปปรางค์ หลังจากได้ทำการบูรณะใหม่เมื่อราว 50 ปีที่ผ่านมานี้ จึงได้เปลี่ยนเป็นรูปทรงเจดีย์ และมีนามว่า พระธาตุขามแก่น ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตวัดเจติยภูมิ บ้านขาม ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น พระเจดีย์ขามแก่นถือว่าเป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวจังหวัดขอนแก่น ซึ่งจะมีงานพิธีบวงสรวง เคารพสักการะกันในวันเพ็ญเดือน 6 ทุกปี

ส่วนทางด้านทิศตะวันตำของเจดีย์พระธาตุขามแก่นนั้น มีซากโบราณที่ปรักหักพังปรากฏอยู่ โดยอยู่ห่างจากเจดีย์ราว 15 เส้น หรืออยู่คนละฟากทุ่งของบ้านขาม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริเวณแถบนี้น่าจะเป็นที่ตั้งของเมืองมาก่อน แต่ได้ร้างไปนาน ดังนั้น จึงได้ถือเอานิมิตนี้มาตั้งนามเมืองว่าขามแก่น แต่ต่อมาจึงเรียกเพี้ยนมาเป็นเมืองขอนแก่น จนกระทั่งทุกวันนี้

[แก้] สภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ

สภาพพื้นที่ : เทศบาลนครขอนแก่น ตั้งอยู่ในพื้นที่ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 46 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 28,750 ไร่ อยู่ในระดับความสูงประมาณ 155 – 160 เมตร จากระดับน้ำทะเล ลักษณะทั่วไปเป็นที่ราบและลาดชันขึ้นไปทางทิศเหนือ ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริเวณมหาวิทยาลัยขอนแก่น

สภาพภูมิอากาศ : สภาพภูมิอากาศของจังหวัดขอนแก่น โดยทั่วไปมีสภาพภูมิอากาศเป็นแบบทุ่งหญ้าในเขตร้อน คือ มีฝนตกสลับกับแห้งแล้งได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือ

อุณหภูมิสูงสุดโดยเฉลี่ย : 36.35 องศาเซลเซียส

สถิติอุณหภูมิสูงสุดในรอบ 46 ปี : วัดได้ 42.8 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2503

อุณหภูมิต่ำสุด : 5.6 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2518

ฤดูกาล ประกอบด้วย 3 ฤดู คือ

ฤดูร้อน : เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนพฤษภาคม อากาศร้อนจัดในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี

ฤดูฝน : เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนตุลาคม โดยจะมีฝนตกชุกในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี

ฤดูหนาว : เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม ถึง เดือนกุมภาพันธ์ สภาพอากาศจะหนาวเย็น โดยทั่วไปจะหนาวจัด ในช่วงเดือนธันวาคมจนถึงเดือนมกราคมของทุกปี อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย15.4 องศา เซลเซียส

[แก้] ประชากร

[แก้] กลุ่มประชากรในขอนแก่น

ประชากรในจังหวัดขอนแก่น มาจากเผ่าพันธุ์เดียวกันเป็นส่วนใหญ่ คนในพื้นที่เป็นชาวพื้นเมืองเดิมในสมัยก่อนประวัติศาสตร์คาบเกี่ยวกับสมัยประวัติศาสตร์ มีร่องรอยทางโบราณคดีปรากฏ เช่น ชุมชนโบราณโนนนกทาบ้านนาดี ตำบลกุดธาตุ กิ่งอำเภอหนองนาคำ และที่โนนเมืองบ้านนาโพธิ์ อำเภอชุมแพมีอายุอยู่ประมาณ 3,000 ปีเศษ ต่อมาในสมัย และสมัยลพบุรีได้พบโครงกระดูก และเครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์ในยุคสมัยนั้นไม่ทราบว่าเป็นเผ่าพันธุ์หรือชาติพันธุ์ใดแน่นอน เพราะดินแดนที่ราบสูงกว้างใหญ่มีชนชาติโบราณเข้ามาอาศัยอยู่นานแล้วเช่นชุมชนบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี เป็นต้น

พื้นที่จังหวัดขอนแก่นเดิมเคยอยู่ในอำนาจการปกครองของขอมมาก่อนมีโบราณสถานศาสนสถานของศาสนาพราหมณ์ปรากฏอยู่ทั่วไป จากนั้นจึงตกอยู่ใต้อำนาจการปกครองของอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ จำปาศักดิ์ ประชาชนลาวได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนที่ราบสูงการอพยพของประชากรปรากฏชัดยิ่งขึ้น ในสมัยธนบุรี และต้นสมัยรัตนโกสินทร์

การอพยพของประชากรเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองอยู่ในเขต จังหวัดขอนแก่น แบ่งเป็นเส้นทางใหญ่ได้สามทางคือ

อพยพมาจากแขวงหลวงพระบาง ได้เข้ามาทางจังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดเลย เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขต อำเภอภูผาม่าน อำเภอชุมแพ และอำเภอสีชมพูสำเนียงภาษาพูดเหมือนกับชาวหลวงพระบางใช้วรรณยุกต์จัตวาเป็นส่วนใหญ่

อพยพมาจากแขวงเวียงจันทน์ เนื่องจากหลีกหนีภัยสงครามและถูกต้อนมาอันเนื่องจากการสงคราม เข้ามาทางจังหวัดหนองคาย จังหวัดหนองบัวลำภูเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขต อำเภอภูเวียง อำเภอสีชมพู อำเภอชุมแพ และอำเภอหนองเรือสำเนียงภาษาใช้วรรณยุกต์ตรีเป็นส่วนมาก

อพยพมาจากแขวงจำปาศักดิ์ เมื่อขอมสิ้นอำนาจการปกครองดินแดนที่ราบสูงโคราชแล้วชาวลาวก็ได้เริ่มอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นจำนวนมากยิ่งขึ้น โดยมาอยู่ที่เมืองท่งซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ปัจจุบันอยู่ในเขต อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ดแล้วจึงอพยพขึ้นมาตามลำน้ำชี มาตั้งบ้านเรือนเป็นชุมชนกระจายในพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดขอนแก่นในเขตอำเภอเมือง ฯ อำเภอน้ำพอง อำเภอบ้านไผ่ อำเภอชนบท อำเภอมัญจาคีรี ฯลฯออกเสียงสำเนียงภาษาใช้วรรณยุกต์โทเป็นส่วนมาก เหมือนสำเนียงพูดของชาวจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดร้อยเอ็ด[2]

นอกจากประชากรดั้งเดิมแล้ว ในเขตเมืองขอนแก่นยังมีชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นชุมชนใหญ่และมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก รวมถึงชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม และชาวต่างชาติ ซึ่งย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดขอนแก่น

ชุมชนในเขตเทศบาลนครขอนแก่นมีทั้งสิ้น 82 ชุมชน แบ่งออกเป็น 4 เขต

ในปัจจุบันแนวโน้มของจำนวนประชากรในเขตเทศบาลนครขอนแก่นมีจำนวนลดลง เนื่องจากการขยายตัวของเขตที่อยู่อาศัยชิดเขตเทศบาลในรูปแบบของหมู่บ้านจัดสรรโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างปี พ.ศ. 2546-2549 อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน เขตเมืองขอนแก่น (ในเขตเทศบาลนครรวมถึงพื้นที่ติดกับเขตเทศบาล ซึ่งได้แก่ เทศบาลตำบลศิลา เทศบาลตำบลบ้านเป็ด เทศบาลตำบลเมืองเก่า และเทศบาลตำบลท่าพระ) มีจำนวนประชากรจดทะเบียน รวมถึงประชากรแฝงรวมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากและหนาแน่นประมาณ 450,000 คน โดยประมาณ

[แก้] สถิติจำนวนประชากร ความหนาแน่น อัตราการเพิ่มของประชาชน เทศบาลนครขอนแก่น (เฉพาะเขตตำบลในเมือง)ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2537 – พ.ศ. 2549

พ.ศ. จำนวนประชากร (คน) ความหนาแน่น (คน/ตร.กม.) อัตราเพิ่ม
2537 143,150 3,111 -2.14
2538 141,011 3,065 -1.49
2539 144,223 3,135 2.28
2540 152,601 3,317 5.81
2541 133,770 2,908 -12.34
2542 139,445 3,031 4.24
2543 129,290 2,811 -7.28
2544 129,579 2,817 0.22
2545 130,582 2,839 0.77
2546 128,795 2,799 -1.37
2547 123,151 2,677 -4.38
2548 122,370 2,660 -0.06
2549 120,957 N/A N/A
  • ที่มา : สำนักทะเบียนท้องถิ่น เทศบาลนครขอนแก่น

[แก้] จำนวนประชากร พื้นที่ ความหนาแน่น จำนวนบ้าน ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2540 – พ.ศ. 2548

พ.ศ. ประชากร พื้นที่ (ตร.กม.) ความหนาแน่น (คน/ตร.กม.) จำนวนบ้าน
ชาย หญิง รวม
2540 76,580 76,021 152,601 46 3,317 39,182
2541 64,670 69,100 133,770 46 2,908 39,775
2542 67,470 71,975 139,445 46 3,031 40,291
2543 62,943 66,347 129,290 46 2,811 44,059
2544 62,934 66,645 129,579 46 2,817 46,434
2545 63,348 67,234 130,582 46 2,839 47,112
2546 62,199 66,596 128,795 46 2,799 48,602
2547 58,832 64,319 123,151 46 2,677 49,429
2548 58,275 64,095 122,370 46 2,660 50,585
2549 57,424 63,533 120,957 46 N/A N/A
  • ที่มา : สำนักทะเบียนท้องถิ่น เทศบาลนครขอนแก่น

[แก้] จำนวนประชากรในเขตเทศบาลนครขอนแก่น จำแนกอายุตามกลุ่ม ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2548 – พ.ศ. 2549

กลุ่มอายุ (ปี) ปี (พ.ศ.)
2548 2549
ชาย หญิง รวม ชาย หญิง รวม
0-4 3,227 3,088 6,312 3,259 3,086 6,345
5-9 4,406 4,036 8,442 4,051 3,717 7,768
10-14 5,123 4,896 10,019 5,109 4,918 10,027
15-19 4,924 5,532 10,456 4,626 5,115 9,741
20-24 6,344 7,582 13,926 5,886 7,336 13,222
25-29 4,662 4,882 9,544 4,600 4,877 9,477
30-34 4,504 5,020 9,524 4,447 4,846 9,293
35-39 4,640 5,576 10,216 4,541 5,481 10,022
40-44 4,551 5,519 10,070 4,545 5,499 10,044
45-49 3,956 4,841 8,797 3,996 4,905 8,901
50-54 3,240 3,553 6,793 3,234 3,749 6,983
55-59 2,497 2,828 5,325 2,619 2,897 5,516
60-64 1,851 2,045 3,896 1,891 2,229 4,120
65-69 1,471 1,510 2,981 1,515 1,496 3,011
70-79 1,358 1,689 3,047 1,444 1,816 3,260
80-89 339 455 794 369 474 843
90-99 66 80 146 78 81 159
100 ปีขึ้นไป 26 36 62 28 41 69
ไม่ระบุปีเกิด 88 111 199 81 97 178
ทะเบียนกลาง - - - 170 100 270
สัญชาติอื่น 310 247 557 310 246 556
  • ที่มา : สำนักทะเบียนท้องถิ่น เทศบาลนครขอนแก่น (ข้อมูลสำรวจเมื่อเดือน ธันวาคม 2549)

[แก้] สภาพโครงสร้างพื้นฐานและระบบบริการขั้นพื้นฐาน

[แก้] การคมนาคม

เทศบาลนครขอนแก่นมีเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมโยงกับเมืองอื่นๆ หลายทางได้แก่ ทางบก แบ่งออกเป็น 2 ทาง ดังนี้

1. ทางรถไฟ การเดินทางโดยรถไฟ จากสถานีรถไฟกรุงเทพมีรถธรรมดา รถเร็ว รถด่วน มีจุดจอดรับ – ส่ง ผู้โดยสารที่สถานีต่างๆ ในจังหวัดขอนแก่น ดังนี้ สถานีอำเภอพล สถานี อำเภอบ้านไผ่ สถานีอำเภอเมือง สถานีอำเภอน้ำพอง และสถานีอำเภอเขาสวนกวาง

2. ทางหลวงแผ่นดิน

ทางหลวงหมายเลข 2 จังหวัดสระบุรี – ขอนแก่น – อุดรธานี - หนองคาย

ทางหลวงหมายเลข 12 จังหวัดขอนแก่น – เพชรบูรณ์ – พิษณุโลก – สุโขทัย – ตาก

ทางหลวงหมายเลข 23 แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 ผ่านอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น – มหาสารคาม

ทางหลวงหมายเลข 201 อ.สีคิ้ว นครราชสีมา - อ.เชียงคาน จ.เลย

ทางหลวงหมายเลข 207 จังหวัดขอนแก่น - บุรีรัมย์

ทางหลวงหมายเลข 208 จังหวัดขอนแก่น – มหาสารคาม

ทางหลวงหมายเลข 209 จังหวัดขอนแก่น – กาฬสินธุ์

  • ที่มา : สำนักงานทางหลวงที่ 5 (ขอนแก่น)

3. ทางอากาศ

[แก้] สถานที่ท้องเที่ยวในเขตเทศบาลนครขอนแก่น

จำนวนแหล่งท่องเที่ยวในเขตเทศบาลนครขอนแก่น แยกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้

[แก้] แหล่งประวัติศาสตร์ / โบราณคดี

ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง จาก http://www.khonkaenlink.com
ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง จาก http://www.khonkaenlink.com

1. ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง : เป็นสถานที่เคารพบูชาของชาวขอนแก่น ประดิษฐานอยู่ที่ศาลาสุขใจถนนเทพารักษ์หน้าสำนักงานเทศบาลนครขอนแก่น ท่านเจ้าคุณปู่พระราชสารธรรมมุนีและ หลวงธุรนัยพินิจ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ได้นำหลักศิลาจารึกมาจากโบราณสถานในท้องที่อำเภอชุมแพมาประกอบพิธีตามแนวทางพระพุทธศาสนาทำเป็นหลักเมืองเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2499

ภาพพระมหาธาตุแก่นนคร จาก http://www.khonkaenview.com
ภาพพระมหาธาตุแก่นนคร จาก http://www.khonkaenview.com

2. พระมหาธาตุแก่นนคร : ตั้งอยู่ภายในวัดหนองแวงพระอารามหลวง ถนนกลางเมือง เป็นศิลปะสมัยทวาราวดี ผสมผสานศิลปะอินโดจีน รูปทรงแบบชาวอีสานตากแห มี 9 ชั้น เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ มีการตกแต่งด้วยลวดลายแกะสลัก และภาพเขียนอย่างงดงาม เป็นสถานที่เคารพบูชาของชาวขอนแก่น และเป็นสถานที่ชมทัศนียภาพเมืองขอนแก่น

3. อนุสาวรีย์พระนครศรีบริรักษ์ : ตั้งอยู่ที่สวน เจ.ซี. ถนนรอบบึง ท้าวเพียเมืองแพนหรือพระนครศรีบริรักษ์เป็นขุนนางเชื้อพระวงศ์กษัตริย์เวียงจันทร์ มีธิดาชื่อนางคำแว่นเป็นสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในปี พ.ศ. 2332 ท้าวเพียเมืองแพนได้พาสมัครพรรคพวก ประมาณ 330 คน อพยพมาอยู่ที่บ้านบึงบอน ขึ้นตรงต่อพระยานครราชสีมา ต่อมาในปี พ.ศ. 2340 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมยก “ บ้านบึงบอน” ขึ้นเป็น “เมืองขอนแก่น” และยกฐานันดรศักดิ์ “ ท้าวเพียเมืองแพน” ขึ้นเป็น “ พระนครศรีบริรักษ์” พ่อเมืองคนแรกของจังหวัดขอนแก่น ในปี พ.ศ. 2525 ประชาชนชาวขอนแก่น ได้ร่วมใจกันสร้างอนุสาวรีย์พระนครศรีบริรักษ์ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์และเคารพสักการะของชาวเมือง

4. น้ำส่างสนามบิน : ตั้งอยู่บริเวณถนนหน้าศูนย์ราชการตรงข้ามโรงเรียนสนามบินด้านทิศเหนือเป็นบ่อน้ำประวัติศาสตร์ ที่มีมาก่อนที่เมืองขอนแก่นจะมีน้ำประปาบริโภค เป็นจุดรวมใจของชาวขอนแก่น เป็นแหล่งน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวขอนแก่นในอดีต และให้คุณประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่แก่ประชาชนชาวขอนแก่นมาเป็นเวลายาวนาน

5. ศาลหลักเมือง (เมืองเก่า) : เป็นศาลหลักเมืองหรือบือบ้านที่ท้าวเพียเมืองแพนได้ตั้งไว้ ณ บริเวณใจกลางหมู่บ้าน เป็นเสาหลักเมืองขอนแก่นหลักแรกก่อนจะมีการย้ายเมืองอีก 5 ครั้ง ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณซอยกลางเมือง 21 ด้านข้างศูนย์กัลยาณมิตร

[แก้] แหล่งเรียนรู้

1. พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ 7 ขอนแก่น : ตั้งอยู่ที่ถนนกสิกรทุ่งสร้าง เป็นสถานที่ ที่เก็บรักษาและจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่เป็นของแถบอีสานตอนเหนือ โดยรอบอาคารพิพิธภัณฑ์จัดตั้งใบเสมาหินที่ได้จาก “ เมืองฟ้าแดดสูงยาง” ไว้เป็นจำนวนมาก

2. หอศิลปวัฒนธรรมและอาคารศูนย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น : เป็นแหล่งแสดงศิลปะพื้นบ้านและเป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการต่างๆ ตั้งอยู่ที่ถนนมะลิวัลย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

3. โฮงมูนมังเมืองขอนแก่น : โฮงมูนมังเมืองขอนแก่น ตั้งอยู่ ณ บริเวณชั้นล่างอาคารสวนสาธารณะ 200 ปี บึงแก่นนคร เทศบาลนครขอนแก่น ภายในโฮงมูนมันเมืองขอนแก่น ได้จัดแบ่งพื้นที่ออกเป็นพื้นที่ในส่วนของนิทรรศการ และห้องจำหน่ายของที่ระลึก สำหรับการจัดนิทรรศการได้แบ่งออกเป็น 5 โซน โดยแบ่งตามเนื้อหาสาระในระบบการปกครอง วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันน่าภาคภูมิใจของชาวขอนแก่น นับตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุคสร้างบ้านแปงเมือง จวบจนเป็นเมืองขอนแก่นในปัจจุบัน

4. ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ประจำท้องถิ่น จังหวัดขอนแก่น : ตั้งอยู่ที่ ศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 4 บ้านสามเหลี่ยม ถนนศรีมารัตน์ เป็นแหล่งศึกษาความรู้สำหรับเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ที่พร้อมไปด้วยข้อมูลพื้นฐาน ความรู้ หลักการทฤษฎีทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนเป็นแหล่งรวบรวมอุปกรณ์เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ และการแสดงถึงวิวัฒนาการในการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

[แก้] สวนสาธารณะ

ภาพสวนสาธารณะบึงแก่นนคร จาก http://www.khonkaenview.com
ภาพสวนสาธารณะบึงแก่นนคร จาก http://www.khonkaenview.com

1. บึงแก่นนคร : เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ / สถานที่ท่องเที่ยว เป็นบึงธรรมชาติคู่เมืองขอนแก่น ที่มีความกว้างถึง 600 ไร่ในฤดูฝนจะมีระดับน้ำปริ่มฝั่ง มีสถานที่ออกกำลังกาย โซนตกปลา ลานกีฬา แหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลา ตั้งอยู่ติดกับถนนรอบบึง

2. บึงทุ่งสร้าง : เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ / สถานที่ท่องเที่ยว มีสภาพเป็นบึงธรรมชาติ มีสวนสุขภาพสำหรับออกกำลังกาย มีพื้นที่ 1,600 ไร่ ตั้งอยู่ที่ถนนกสิกรทุ่งสร้าง อนาคตจะได้รับการพัฒนาเป็นสวนพฤกษศาสตร์ชุ่มน้ำ สวนนก และลานกีฬา

3. สวนสาธารณะประตูเมือง : มีพื้นที่ 10 ไร่ 1 งาน 14.2 ตารางวา เดิมเป็นที่ดินของตระกูล ทวีแสงสกุลไทย ยกให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเป็นสถานที่ทดลองและพัฒนาพันธุ์ข้าว ต่อมาเมื่อถนนมิตรภาพตัดผ่านถูกทิ้งร้าง เทศบาลได้ประสานขอใช้ที่ดินจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น (นายบุญรงค์ นิลวงศ์) และกรมธนารักษ์ปัจจุบันเทศบาลปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะที่สวยงาม ร่มรื่น มีระดับพื้นที่สูงต่ำเป็นมิติมุมมองที่แตกต่างจากสวนทั่วไป และยังเป็นสวนที่เป็นสัญลักษณ์ของการเข้าถึงเมืองขอนแก่น ตั้งอยู่บริเวณถนนศรีจันทร์ตัดกับถนน มิตรภาพ

[แก้] งานประเพณีและงานเทศกาลท้องถิ่นที่สำคัญ

1. งานประเพณีทำบุญตักบาตรในวันขึ้นปีใหม่ โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี

2. งานประเพณีสุดยอดสงกรานต์อีสานเทศกาลดอกคูน – เสียงแคน และถนน ข้าวเหนียว โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 8 – 15 เมษายน ของทุกปี

3. งานประเพณีวันเข้าพรรษา โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันเข้าพรรษาของทุกปี

4. งานประเพณีทอดเทียนระหว่างออกพรรษา ไต้ประทีปโคมไฟและวิถีอีสาน โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันออกพรรษาของทุกปี

5. งานเทศกาลไหมประเพณีผูกเสี่ยวและงานกาชาด จัดขึ้นในวันที่ 29 พฤศจิกายน – 10 ธันวาคม ของทุกปี

  • ที่มา : สำนักการศึกษา เทศบาลนครขอนแก่น (ข้อมูลสำรวจเมื่อเดือน ตุลาคม 2549)

[แก้] โครงการสำคัญในเขตเมืองขอนแก่น

โครงการระบบขนส่งมวลชนขอนแก่น http://www.khonkaentransit.com/

[แก้] แผนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเมืองขอนแก่น

โครงการระบบขนส่งมวลชนขอนแก่น

http://www.khonkaentransit.com

[แก้] เกร็ดน่ารู้เมืองขอนแก่น

1. มหาวิทยาลัยขอนแก่นตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครขอนแก่นซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 5,800 ไร่ หรือเท่ากับ 9.2 ตารางกิโลเมตร

เทศบาลนครขอนแก่น เป็นบทความเกี่ยวกับ ประเทศ เมือง หรือเขตการปกครองต่าง ๆ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น
ข้อมูลเกี่ยวกับ เทศบาลนครขอนแก่น ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ


aa - ab - af - ak - als - am - an - ang - ar - arc - as - ast - av - ay - az - ba - bar - bat_smg - bcl - be - be_x_old - bg - bh - bi - bm - bn - bo - bpy - br - bs - bug - bxr - ca - cbk_zam - cdo - ce - ceb - ch - cho - chr - chy - co - cr - crh - cs - csb - cu - cv - cy - da - de - diq - dsb - dv - dz - ee - el - eml - en - eo - es - et - eu - ext - fa - ff - fi - fiu_vro - fj - fo - fr - frp - fur - fy - ga - gan - gd - gl - glk - gn - got - gu - gv - ha - hak - haw - he - hi - hif - ho - hr - hsb - ht - hu - hy - hz - ia - id - ie - ig - ii - ik - ilo - io - is - it - iu - ja - jbo - jv - ka - kaa - kab - kg - ki - kj - kk - kl - km - kn - ko - kr - ks - ksh - ku - kv - kw - ky - la - lad - lb - lbe - lg - li - lij - lmo - ln - lo - lt - lv - map_bms - mdf - mg - mh - mi - mk - ml - mn - mo - mr - mt - mus - my - myv - mzn - na - nah - nap - nds - nds_nl - ne - new - ng - nl - nn - no - nov - nrm - nv - ny - oc - om - or - os - pa - pag - pam - pap - pdc - pi - pih - pl - pms - ps - pt - qu - quality - rm - rmy - rn - ro - roa_rup - roa_tara - ru - rw - sa - sah - sc - scn - sco - sd - se - sg - sh - si - simple - sk - sl - sm - sn - so - sr - srn - ss - st - stq - su - sv - sw - szl - ta - te - tet - tg - th - ti - tk - tl - tlh - tn - to - tpi - tr - ts - tt - tum - tw - ty - udm - ug - uk - ur - uz - ve - vec - vi - vls - vo - wa - war - wo - wuu - xal - xh - yi - yo - za - zea - zh - zh_classical - zh_min_nan - zh_yue - zu -