เทศบาลนครปากเกร็ด
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
|
เทศบาลนครปากเกร็ด หรือ นครปากเกร็ด เป็นเทศบาลขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ครอบคลุมพื้นที่ 5 ตำบล คือ ตำบลปากเกร็ด ตำบลบางพูด ตำบลบางตลาด ตำบลคลองเกลือ และตำบลบ้านใหม่ สภาพพื้นที่สวนผลไม้ต่าง ๆ ได้เปลี่ยนสภาพเป็นที่รองรับการขยายตัว เป็นที่พักอาศัยและอุตสาหกรรม จนอาจกล่าวได้ว่า พื้นที่ฝั่งตะวันออกของปากเกร็ดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพมหานครด้วย เพราะนครปากเกร็ดก็เป็นเมืองปริมณฑลเมืองหนึ่งของกรุงเทพมหานครเช่นกัน
เนื้อหา |
[แก้] ที่ตั้งและอาณาเขต
ครอบคลุมพื้นที่ตำบลปากเกร็ด ตำบลบางพูด ตำบลบ้านใหม่ ตำบลบางตลาด และตำบลคลองเกลือ รวม 5 ตำบล 34 หมู่บ้าน มีพื้นที่ทั้งหมด 36.04 ตารางกิโลเมตร หรือ 22,525 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับเขตองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใหม่ จังหวัดปทุมธานี มีคลองบ้านใหม่ (คลองวัดโพธิ์ทองบน) เป็นเส้นแบ่งเขต
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับเขตดอนเมืองและเขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร มีคลองประปาเป็นเส้นแบ่งเขต
- ทิศใต้ ติดต่อกับเขตเทศบาลนครนนทบุรี อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี มีคลองบางตลาดเป็นเส้นแบ่งเขต
- ทิศตะวันตก จรดเขตองค์การบริหารส่วนตำบลท่าอิฐ องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเกร็ด องค์การบริหารส่วนตำบลบางตะไนย์ จังหวัดนนทบุรี เขตเทศบาลตำบลบางคูวัด และองค์การบริหารส่วนตำบลบางขะแยง จังหวัดปทุมธานี มีแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลัดเกร็ด และแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นแบ่งเขต
[แก้] ประวัติ
เดิมท้องที่เทศบาลนครปากเกร็ดมีฐานะเป็นสุขาภิบาลเรียกว่า สุขาภิบาลปากเกร็ด จัดตั้งขึ้นโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2498 รวมเวลาการเป็นสุขาภิบาล 36 ปี 4 เดือน โดยมีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกทั้งหมดใน 5 ตำบล 34 หมู่บ้าน และด้วยความเจริญที่เข้ามาอย่างรวดเร็วพื้นที่การเกษตรจึงได้แปรเปลี่ยนเป็นที่อยู่อาศัย ประกอบกับนโยบายของจังหวัดนนทบุรี ในช่วงปี พ.ศ. 2535 สุขาภิบาลปากเกร็ดจึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น เทศบาลตำบลปากเกร็ด ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 108 ตอนที่ 245 ลงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2534 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535
หลังจากที่สุขาภิบาลปากเกร็ดได้รับการยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลปากเกร็ด ได้เพียง 3 ปีเศษ เทศบาลตำบลปากเกร็ด จึงได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็น เทศบาลเมืองปากเกร็ด ทั้งนี้เนื่องจากสภาพความเจริญของพื้นที่และจำนวนประชากรตลอดจนรายได้ในการพัฒนาท้องถิ่น เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงมหาดไทย ประกอบกับคณะเทศมนตรีมีนโยบายในการขยายการพัฒนาของเทศบาลให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงของเมืองที่ต้องการองค์การที่มีศักยภาพในการบริหารเพิ่มขึ้น เทศบาลตำบลปากเกร็ดจึงได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเทศบาลเมืองปากเกร็ด ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลเมืองปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 112 ตอนที่ 32 ก. ลงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2538 ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539
ด้วยศักยภาพของเมืองปากเกร็ดนั้นมีความพร้อมเพียงพอในการที่จะเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเทศบาลนครได้ ประกอบกับกระแสนโยบายในการกระจายอำนาจและการยกฐานะสุขาภิบาลทั่วประเทศเป็นเทศบาลตำบล คณะผู้บริหารเทศบาลเมืองปากเกร็ดจึงได้พิจารณาเปลี่ยนแปลงฐานะของเทศบาลเมืองปากเกร็ดอีกครั้ง เป็น เทศบาลนครปากเกร็ด นับว่าจังหวัดนนทบุรีเป็นหนึ่งในจังหวัดในประเทศที่มีเทศบาลนครถึง 2 แห่ง (อีกจังหวัดคือ จังหวัดสงขลา) อันแสดงให้เห็นถึงความพร้อมขององค์กร ในการเห็นถึงความสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เป็นหน่วยงานซึ่งใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด จะได้บริหารงานเพื่อประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพเทศบาลเมืองปากเกร็ด เปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเทศบาลนครปากเกร็ดนมาถึงทุกวันนี้
[แก้] สภาพทางภูมิศาสตร์
[แก้] ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพพื้นที่เทศบาลนครปากเกร็ด เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เหมาะแก่การเกษตร เช่น การทำสวนผลไม้ ผลไม้ที่ลือชื่อ คือ ทุเรียน ส้มโอ มังคุด กล้วยน้ำว้า แต่เนื่องจากเทศบาลนครปากเกร็ดมีความเจริญ มีอาณาเขตติดต่อกับกรุงเทพมหานคร มีเส้นทางการคมนาคมที่สะดวก สามารถเดินทางได้ทั้งทางบกและทางน้ำ พื้นที่เกือบทั้งหมดจึงแปรสภาพจากการเกษตรไปเป็นการจัดสรรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจ และการลงทุน โดยเฉพาะกิจการบ้านจัดสรรและอาคารสูง
สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่ยังคงมีคลองสาธารณะเชื่อมต่อ ในพื้นที่หลายสายและเป็นจุดระบายน้ำจากพื้นที่ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และจากการที่มีพื้นที่เป็นที่ลุ่มจึงทำให้ประสบปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนและฤดูน้ำหลาก คลองสายหลักที่ระบายน้ำจากฝั่งตะวันออกลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา มี 10 สาย ได้แก่
- คลองบ้านใหม่
- คลองบ้านเก่า
- คลองทองหลาง
- คลองแวะ
- คลองวัดช่องลม
- คลองกลางเกร็ด
- คลองบางพัง
- คลองบางพูด
- คลองบางตลาด
- คลองบางตลาดน้อย
และมีคลองอีก 7 สายที่ไหลเวียนในแนวทิศเหนือใต้และระบายน้ำลงคลองหลัก ได้แก่
- คลองเกลือ ระบายน้ำลงคลองบางพูด
- คลอลโพธิ์ ระบายน้ำลงคลองบางพัง
- คลองส่วย (ลำดับที่ 3-7 ระบายน้ำลงคลองบางตลาด)
- คลองหนองตาเกิ้น
- คลองดงตาล
- คลองหัวสิงห์
- คลองขี้เหล็ก
[แก้] ลักษณะภูมิอากาศ
จัดได้ว่าเป็นบริเวณที่ชุ่มชื้น มีฝนตกในฤดูฝน และมักจะเกิดอุทกภัยอยู่เสมอ ในฤดูแล้งสภาพของพื้นที่ไม่แห้งแล้ง เพราะพื้นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยไม้ยืนต้น ทำให้สามารถเก็บความชุ่มชื้นได้ตลอดไป อุณหภูมิโดยเฉลี่ยตลอดทั้งปี อยู่ในระหว่าง 25 -35 องศาเซลเซียส
[แก้] ประชากร
ประชากร ปัจจุบันในนครปากเกร็ดมีประชากรทั้งสิ้น 167,464 คน ความหนาแน่นของประชากรเฉลี่ยต่อพื้นที่ของเทศบาล เท่ากับ 4,646.7 คนต่อตารางกิโลเมตร
[แก้] ชาวปากเกร็ด
ประชากรของนครปากเกร็ดประกอบไปด้วยชนชาวไทยที่สืบเชื้อสาย มาจากหลายเชื้อชาติทั้งไทย จีน มอญ แขก เป็นต้น โดยชาวไทยเชื้อสายมลายูและชาวไทยเชื้อสายมอญ อพยพมาอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งปรากฏหลักฐานในหนังสืออักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทยดังนี้
"มีชาวไทยที่สืบเชื้อสายมาจากมอญอยู่มากแถวอำเภอปากเกร็ด ตั้งแต่ปากคลองบางตลาด ฝั่งเหนือลำแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านตะวันออกและตะวันตก ตำบลอ้อมเกร็ด เหนือคลองบางภูมิขึ้นไป รวมทั้งเกาะเกร็ดด้วย"
[แก้] การศึกษา
- โรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 12 แห่ง
- โรงเรียนประถมศึกษาของเอกชน สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 15 แห่ง
- โรงเรียนประถมศึกษาขยายโอกาส สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 4 แห่ง
- โรงเรียนมัธยมศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 4 แห่ง
- มหาวิทยาลัยของรัฐ (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช) จำนวน 1 แห่ง
[แก้] การนับถือศาสนา
ภายในเขตนครปากเกร็ดมีวัด 15 แห่ง โบสถ์ 2 แห่ง มัสยิด 2 แห่ง และศาลเจ้า 4 แห่ง
[แก้] การคมนาคม
[แก้] ทางบก
[แก้] เส้นทางหลัก
- ถนนติวานนท์ ช่วงสะพานคลองบางตลาดถึงสะพานคลองบ้านใหม่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานบำรงุทางนนทบุรี
- ถนนแจ้งวัฒนะ ช่วงระหว่างห้าแยกปากเกร็ดถึงสะพานพระราม 4 อยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลนครปากเกร็ด ช่วงห้าแยกปากเกร็ดถึงคลองประปาอยู่ในความรับผิดชอบของแขวงการทางกรุงเทพ
- ถนนนนทบุรี-ปทุมธานี ช่วงระหว่างแยกสวนสมเด็จฯ ถึงสะพานนนทบุรี
[แก้] เส้นทางลัดและสายรอง
- ถนนสุขาประชาสรรค์ 2 ถนนเส้นทางลัดระหว่างแจ้งวัฒนะกับถนนติวานนท์ โดยผ่านถนนสุขาประชาสรรค์ 3
- ถนนศรีสมาน ถนนเส้นทางลัดระหว่างถนนติวานนท์กับถนนคลองประปาและถนนแจ้งวัฒนะ
- ถนนพระแม่มหาการุณย์ ถนนเส้นทางลัดระหว่างถนนติวานนท์กับถนนคลองประปา ถนนศรีสมาน และถนนแจ้งวัฒนะ
- ถนนซอยต้นสน ถนนเส้นทางลัดระหว่างแจ้งวัฒนะกับถนนติวานนท์
- ถนนเลี่ยงเมืองปากเกร็ด อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท
- ถนนซอยในเขตเทศบาล มีจำนวน 53 สาย รวมความยาวทั้งสิ้น 64.52 กิโลเมตร โดยแยกเป็นถนนคอนกรีต จำนวน 46 สาย ยาวประมาณ 55.93 กิโลเมตร ถนนลาดยาง 3 สาย ยาวประมาณ 2.47 กิโลเมตร ถนนลูกรัง 4 สาย ยาวประมาณ 6.12 กิโลเมตร
[แก้] ทางน้ำ
ในเขตเทศบาลนครปากเกร็ด ได้ก่อสร้างท่าเทียบเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณหัวถนนแจ้งวัฒนะ จำนวน 1 แห่ง คือ ท่าเทียบเรือเทศบาลนครปากเกร็ด เป็นท่าเทียบเรือหลักในพื้นที่ นอกจากนั้นยังมีท่าเทียบเรือเอกชนและท่าเทียบเรือวัดสนามเหนือและวัดกลางเกร็ดที่ใช้เป็นท่าเรือเดินทางไปเกาะเกร็ด แหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกด้วย
[แก้] ดูเพิ่ม
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
|
|
---|---|
เทศบาลนคร | ขอนแก่น - เชียงราย - เชียงใหม่ - ตรัง - นครปฐม - นครราชสีมา - นครศรีธรรมราช - นครสวรรค์ - นนทบุรี - ปากเกร็ด - พิษณุโลก - พระนครศรีอยุธยา - ภูเก็ต - ยะลา - ระยอง - ลำปาง - สงขลา - สมุทรปราการ - สมุทรสาคร - สุราษฎร์ธานี - หาดใหญ่ - อุดรธานี - อุบลราชธานี |
ฐานะเทียบเท่า | กรุงเทพมหานคร • เมืองพัทยา |