พิกัดภูมิศาสตร์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พิกัดภูมิศาสตร์ คือสิ่งที่บอกให้เราทราบถึงตำแหน่งของตำบลที่เราต้องการทราบบนผิวโลก โดยยึดตามระบบพิกัดทรงกลม (spherical coordinate system) ชาวบาบิโลเนียเป็นผู้คิดแนวคิดพิกัดภูมิศาสตร์ขึ้น ต่อมาโตเลมี นักปราชญ์ชาวกรีกเป็นผู้ปรับปรุงแนวคิดนี้อีกครั้ง โดยให้หนึ่งวงกลมมีมุม 360 องศา
พิกัดภูมิศาสตร์ในปัจจุบัน ประกอบด้วยสองส่วน คือละติจูด และลองจิจูด ดังจะได้อธิบายต่อไปนี้
- ละติจูด คือมุมที่วัดระหว่างจุดใด ๆ กับเส้นศูนย์สูตร มีค่าสูงสุด 90 องศา เส้นที่ลากต่อเชื่อมทุกจุดที่มีละติจูดเท่ากันเราเรียกว่า เส้นขนาน (parallel) เวียนเป็นวงกลมรอบโลก โดยขั้วโลกแต่ละขั้วจะมีค่าละติจูดเป็น 90 องศา เช่น ขั้วโลกเหนือมีละติจูด 90 องศาเหนือ เป็นต้น
- ลองจิจูด คือมุมที่วัดระหว่างจุดใด ๆ กับเส้นเมอริเดียนที่ศูนย์ มีค่าสูงสุด 180 องศา ซึ่งพาดผ่านหอดูดาวหลวงกรีนิช สหราชอาณาจักร เส้นที่ลากต่อเชื่อมทุกจุดที่มีลองจิจูดเท่ากันจะเรียกว่า เส้นเมอริเดียน (meridian)
เมื่อนำมุมสองมุมข้างต้นของจุดหนึ่ง ๆ มาประกอบเข้าด้วยกันแล้ว ก็จะได้พิกัดภูมิศาสตร์ของจุดนั้น ซึ่งบอกได้ 3 วิธี คือ
- องศา-ลิปดา เช่น กรุงเทพมหานครตั้งอยู่ที่ละติจูด 13 องศาเหนือ 45 ลิปดา
- องศา-ลิปดา-ฟิลิปดา
- องศาแบบทศนิยม
การแปลงองศาแบบ องศา-ลิปดา-ฟิลิปดา หรือ องศา-ลิปดา เป็นองศาแบบทศนิยม ทำได้ดังนี้
- นำฟิลิปดาหาร 3600
- นำลิปดาหาร 60
- นำผลที่ได้จากข้อ 1 และ 2 บวกกัน แล้วนำไปบวกกับองศา ก็จะได้องศาแบบทศนิยม