ฟุตบอล
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฟุตบอล (football) เป็นกีฬาที่เล่นเป็นทีมระหว่างสองฝ่าย ฝ่ายละ 11 คน ซึ่งฟุตบอลนั้นนับว่าเป็นกีฬาที่นิยมมากที่สุดในโลกกีฬาหนึ่ง กีฬาฟุตบอลจะเล่นภายในสนามฟุตบอลที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยมีผู้รักษาประตูยืนอยู่ที่ตำแหน่งปลายสุดของสนามในแต่ละด้าน ในระหว่างการแข่งขัน ทั้งสองฝ่ายพยายามเตะลูกฟุตบอลเข้าสู่เขตประตูของฝ่ายตรงข้าม เมื่อหมดเวลาการแข่งขันฝ่ายที่ได้คะแนนสูงกว่าจะเป็นผู้ชนะ ซึ่งถ้าคะแนนเท่ากันอาจจะมีการตัดสินให้เสมอ หรืออาจจะให้มีการต่อเวลาพิเศษหรือทำการยิงลูกโทษตัดสิน ฟุตบอลนิยมเล่นโดยใช้เท้าเป็นหลัก (ยกเว้นผู้รักษาประตู) และผู้เล่นสามารถใช้ส่วนอื่นของร่างกายเพื่อช่วยในการเล่นได้ไม่ว่าใช้หัวโหม่งลูกบอลหรือใช้ลำตัวพักบอล แต่ห้ามให้มือและส่วนแขนที่ต่ำกว่าศอกลงมา ยกเว้นผู้เล่นในตำแหน่งผู้รักษาประตูซึ่งสามารถใช้มือได้เมื่ออยู่ในเขตประตูของฝ่ายตัวเอง
ฟุตบอลอังกฤษเป็นต้นกำเนิดของฟุตบอลในปัจจุบัน โดยกฎกติกาส่วนใหญ่ถูกกำหนดขึ้นในปี พ.ศ. 2406 (ค.ศ. 1863) และต่อมากติกาฟุตบอลได้อยู่ภายใต้การดูแลของ ฟีฟ่า หรือสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ ที่เป็นองค์กรระดับนานาชาติที่มีการจัดแข่งขันฟุตบอลที่สำคัญหลายรายการ ที่สำคัญได้แก่ ฟุตบอลโลก ฟุตบอลเยาวชนโลก ฟุตบอลสโมสรโลก และการแข่งขันอื่นในระดับภูมิภาค
ฟุตบอลที่เล่นในปัจจุบันมีต้นกำเนิดมาจากอังกฤษ แต่ถ้าย้อนกลับไปในอดีตมีการละเล่นในจีนที่เรียกว่า ชู่จู๋ ( 蹴鞠; พินอิน: cùjú) ซึ่งเป็นการละเล่นเตะลูกบอลไปมา เริ่มตั้งแต่ในสมัยราชวงศ์ฮั่น ซึ่งล่าสุดในปี 2547 ทางฟีฟ่าได้มีกล่าวไว้ว่า ชู่จู๋ของจีนนี่เองที่เป็นต้นกำเนิดของฟุตบอล[1]
เนื้อหา |
[แก้] คำว่า "ฟุตบอล"
กีฬาฟุตบอลเป็นกีฬาที่ถูกเล่นกันในหลายระดับตั้งแต่เล่น ๆ ไปจนถึงระดับมืออาชีพ ทั่วโลก คนหลายล้านคนชมและเล่นฟุตบอลอยู่เป็นนิจ จากการสำรวจของฟีฟ่า เมื่อ ค.ศ. 2001 มีคนกว่า 240 ล้านคนทั่วโลกที่นิยมเล่นฟุตบอลเป็นประจำ เนื่องจาก ความไม่ซับซ้อนของกฏ และไม่ต้องการอุปกรณ์มาก ทำให้เราไม่แปลกใจเลยว่าทำไมฟุตบอลถึงเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในหลาย ๆ ท้องที่ โดยเฉพาะยุโรปและละตินอเมริกา ฟุตบอลเป็นสิ่งที่ดึงดูด และมีส่วนสำคัญในชีวิตของ แฟนบอล องค์กรท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งชาติอีกด้วย ปัจจุบันกล่าวได้ว่าฟุตบอลเป็นกีฬาที่มีความนิยมสูงสุด
อย่างไรก็ตามในบางประเทศ (เช่นสหรัฐอเมริกา หรือ ญี่ปุ่น) เรียกฟุตบอลว่า ซอกเกอร์ และฟุตบอลยังเป็นชื่อของกีฬาประเภททีมหลายชนิดด้วยกัน ที่เป็นที่รู้จักกันมากก็ได้แก่ ฟุตบอล (หรือที่เรียกว่า ซอกเกอร์ ในอเมริกาเหนือ), อเมริกันฟุตบอล รักบี้ฟุตบอล ออสเตรเลียนฟุตบอล กาเอลลิกฟุตบอล และ แคนาเดียนฟุตบอล
กีฬาทุกชนิดที่มีชื่อ "ฟุตบอล" จะมีข้อเหมือนกันอย่างหนึ่งคือ เป็นกีฬาที่มีการทำคะแนนด้วย ลูกบอลกลม หรือ รี (ซึ่งลูกบอลนี้จะเรียกว่าฟุตบอล นั่นเอง) โดยการทำคะแนนจะทำได้จาก การพาบอลเข้าสู่ ประตู หรือ เขตแดน ที่ฝ่ายตรงข้ามป้องกันเอาไว้ (ซึ่งการทำคะแนนของฟุตบอลแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกัน) เกมฟุตบอลสมัยใหม่นั้นส่วนใหญ่มีที่มาจากอังกฤษ แต่อย่างไรก็ตาม ในอดีตกาล ผู้คนทั่วโลกได้เล่นเกมที่เกี่ยวกับการเตะหรือถือลูกบอล
[แก้] ประวัติฟุตบอล
{{ ฟุตบอล (Football) หรือซอคเก้อร์ (Soccer) เป็นกีฬาที่มีผู้สนใจที่จะชมการแข่งขันและเข้าร่วมเล่นมากที่สุดในโลก ชนชาติใดเป็นผู้กำเนิดกีฬาชนิดนี้อย่างแท้จริงนั้นไม่อาจจะยืนยันได้แน่นอน เพราะแต่ละชนชาติต่างยืนยันว่าเกิดจากประเทศของตน แต่ในประเทศฝรั่งเศสและประเทศอิตาลี ได้มีการละเล่นชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "ซูเลอ" (Soule) หรือจิโอโค เดล คาซิโอ (Gioco Del Calcio) มีลักษณะการเล่นที่คล้ายคลึงกับกีฬาฟุตบอลในปัจจุบัน ทั้งสองประเทศอาจจะถกเถียงกันว่ากีฬาฟุตบอลถือกำเนิดจากประเทศของตน อันเป็นการหาข้อยุติไม่ได้ เพราะขาดหลักฐานยืนยันอย่างแท้จริง ดังนั้น ประวัติของกีฬาฟุตบอลที่มีหลักฐานที่แท้จริงสามารถจะอ้างอิงได้ เพราะการเล่นที่มีกติการการแข่งขันที่แน่นอน คือประเทศอังกฤษเพราะประเทศอังกฤษตั้งสมาคมฟุตบอลในปี พ.ศ. 2406 และฟุตบอลอาชีพของอังกฤษเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2431
วิวัฒนาการด้านฟุตบอลจะเป็นไปพร้อมกับความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ตลอดมา ต้นกำเนิดกีฬาตะวันออกไกลจะได้รับอิทธิพลมาจากสงครามครั้งสำคัญๆ เช่น สงครามพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ได้นำเอา "แกลโล-โรมัน" (Gello-Roman) พร้อมกีฬาต่างๆ เข้ามาสู่เมืองกอล (Gaul) อันเป็นรากฐานส่วนหนึ่งของกีฬาฟุตบอลในอนาคต และการเล่นฮาร์ปาสตัม (Harpastum) ได้ถูกดัดแปลงมาเป็นกีฬาซูเลอ
}}
[แก้] กติกาการเล่นฟุตบอล
ในฟุตบอลมีกติกาสากลทั้งหมด 17 ข้อหลักที่มีการใช้ในฟุตบอลทั่วโลก โดยกติกาอาจมีการดัดแปลงบ้างสำหรับฟุตบอลเด็ก และฟุตบอลหญิง
[แก้] ผู้เล่น อุปกรณ์ และกรรมการ
ในแต่ละทีมประกอบด้วยผู้เล่นสูงสุด 11 คนที่สามารถลงเล่นในสนาม โดยสามารถมีผู้เล่นสำรองสามารถนั่งเพื่อรอเปลี่ยนตัว โดยในสิบเอ็ดคนนั้นจะต้องมี ผู้รักษาประตูหนึ่งคน ในการแข่งขันอย่างเป็นทางการจะมีกติกาเพิ่มว่าจะต้องมีผู้เล่นอย่างน้อย 7 คน เพื่อทำการแข่งขันได้ โดยผู้เล่นทุกคนยกเว้นผู้รักษาประตู ไม่สามารถใช้มือหรือแขนสัมผัสลูกฟุตบอลได้
อุปกรณ์หลักในการเล่นฟุตบอล โดยลูกฟุตบอลจะต้องมีขนาดที่ได้มาตรฐานเป็นทรงกลม มีขนาดเส้นรอบวงไม่เกิน 70 ซม และน้ำหนักไม่เกิน 450 กรัม แต่ไม่ต่ำกว่า 410 กรัม ผู้เล่นต้องมีการใส่ชุดที่ประกอบไปด้วย เสื้อ กางเกง ถุงเท้า รองเท้า และสนับแข้ง โดยต้องไม่ใส่เครื่องประดับที่อาจเป็นอันตรายได้ไม่ว่า อัญมณีหรือนาฬิกา และผู้รักษาประตูต้องใส่ชุดที่แตกต่างจากผู้เล่นผู้อื่น และแตกต่างจากกรรมการเช่นกัน [2] จากฟีฟ่า
ระหว่างการเล่น ผู้เล่นสามารถเปลี่ยนตัวกับตัวสำรองได้โดยในการแข่งขันทั่วไปสามารถเปลี่ยนตัวในแต่ละนัดการแข่งขันได้ไม่เกิน 3 ครั้ง โดยสาเหตุในการเปลี่ยนตัวอาจเกิดจาก การบาดเจ็บ ความเหนื่อยล้า หรือเปลี่ยนแผนการเล่น โดยผู้เล่นที่ถูกเปลี่ยนตัวออกแล้วไม่สามารถเปลี่ยนตัวเข้าไปเล่นได้อีกในนัดนั้น
กรรมการจะเป็นบุคคลที่มีหน้าที่ตัดสินผลการแข่งขัน รวมถึงควบคุมและจับเวลาการแข่งขัน โดยในการแข่งขันจะมีผู้ช่วยกรรมการ 2 คน
[แก้] สนามฟุตบอล
สนามฟุตบอลมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีความยาวระหว่าง 100-110 เมตร และความกว้างระหว่าง64-75. เมตร โดยเส้นขอบสนามของด้านยาวจะเรียกว่า "เส้นข้าง" ขณะที่ขอบสนามของด้านกว้างจะเรียกว่า "เส้นประตู" โดยคานประตูจะตั้งอยู่กึ่งกลางบนเส้นประตู โดยมีความสูง 2.44 เมตร (8 ฟุต) เหนือจากพื้นดิน และเสาประตูจะห่างกัน 7.3 เมตร (8 หลา) เสาและคานประตูจะต้องมีสีขาว ตาข่ายจะมีการขึงด้านหลังประตู แต่อย่างไรก็ตามตาข่ายประตูไม่ได้มีกำหนดไว้ในกติกาสากล
ด้านหน้าประตูจะเป็นบริเวณเขตโทษ ซึ่งแสดงถึงบริเวณที่ผู้รักษาประตูสามารถถือบอลได้ และยังคงใช้ในการเตะลูกโทษ
[แก้] ระยะเวลาการแข่งขัน
การแข่งขันจะแบ่งออกเป็นสองครึ่ง โดยครึ่งละ 45 นาที โดยเวลาการแข่งขันจะมีการนับตลอดเวลา แม้ว่าฟุตบอลจะถูกเตะออกนอกสนามและกรรมการสั่งให้หยุดเล่นก็ตาม ระหว่างครึ่งจะมีเวลาพักให้ 15 นาที กรรมการจะเป็นคนควบคุมเวลา และจะทำการทดเวลาบาดเจ็บในช่วงท้ายของแต่ละครึ่งเพื่อทดแทนเวลาที่เสียไป ระหว่างการเล่น โดยเมื่อจบการแข่งขันกรรมการจะทำการเป่านกหวีดเพื่อหยุดการแข่งขัน
ในการแข่งขันแบบลีก จะมีการจบการแข่งขันสำหรับผลเสมอ แต่สำหรับการแข่งขันที่ต้องรู้ผลแพ้ชนะจะมีการต่อเวลาพิเศษ ซึ่งจะประกอบไปด้วย 2 ครึ่ง ครึ่งละ 15 นาที โดยถ้าคะแนนยังคงเสมอกันจะมีการให้เตะลูกโทษ
ไอเอฟเอบีได้ทดลองการกำหนดรูปแบบการทำคะแนนในช่วงต่อเวลาที่เรียกว่า โกลเดนโกล โดยทีมที่ทำประตูได้ก่อนในช่วงต่อเวลาจะเป็นผู้ชนะการแข่งขัน และ ซิลเวอร์โกล โดยทีมที่ทำประตูนำเมื่อจบครึ่งเวลาแรกจะเป็นผู้ชนะการแข่งขัน โดยโกลเดนโกลได้ถูกนำมาใช้ใน ฟุตบอลโลก 1998 และ ฟุตบอลโลก 2002 โดยมีการใช้ครั้งแรกในการแข่งขันทีมชาติฝรั่งเศส ชนะ ปารากวัย ในปี 1998 ขณะที่ซิลเวอร์โกลได้มีการใช้ครั้งแรกในฟุตบอลยูโร 2004 ซึ่งปัจจุบันโกลเดนโกล และซิลเวอร์โกลไม่มีการใช้แล้ว
[แก้] การแข่งขันระหว่างประเทศ
[แก้] ทีมชาติ
การแข่งขันฟุตบอลในระดับโลกนั้น มีการแข่งขันสูงสุดคือ ฟุตบอลโลก ที่จัดขึ้นทุก 4 ปี ซึ่งทีมที่ร่วมเล่นจะเป็นทีมชาติจากแต่ละประเทศที่เป็นสมาชิกของฟีฟ่า โดยแต่ละทีมจำเป็นต้องผ่านรอบคัดเลือก ของทางสมาพันธ์ เพื่อมีสิทธิเข้าร่วมเล่น โดยในแต่ละสมาพันธ์จะมีจำกัดจำนวนทีมที่ร่วมเล่นแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับผลงานของแต่ละทีมในอดีต โดยทางฟีฟ่าจะเป็นทางกำหนด และนอกจากฟุตบอลโลกแล้ว ในแต่ละสมาพันธ์จะมีการแข่งขันสูงสุดของแต่ละสมาพันธ์เอง ซึ่งจัดขึ้นทุก 4 ปี โดยผู้ชนะจากแต่ละสมาพันธ์จะทำการแข่งขันกันในคอนเฟเดอเรชันส์คัพพร้อมกับทีมที่ชนะเลิศในฟุตบอลโลกครั้งล่าสุด
นอกเหนือจากการแข่งขันที่จัดโดยฟีฟ่า การแข่งขันฟุตบอลทีมชาติที่เป็นที่จับตามองได้แก่การแข่งขันฟุตบอลในกีฬาระหว่างประเทศ เช่น โอลิมปิก (ทั่วโลก) เอเชียนเกมส์ (ทวีปเอเชีย) หรือ ซีเกมส์ (เฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)
ภูมิภาค | เอเชีย | แอฟริกา | อเมริกาเหนือและกลาง | อเมริกาใต้ | ออสเตรเลีย | ยุโรป |
---|---|---|---|---|---|---|
สมาพันธ์ | เอเอฟซี | ซีเอเอฟ | คอนแคแคฟ | คอนเมบอล | โอเอฟซี | ยูฟ่า |
AFC | CAF | CONCACAF | CONMEBOL | OFC | UEFA | |
การแข่งขันสูงสุด | เอเชียนคัพ | แอฟริกันคัพ | โกลด์คัพ | โคปาอเมริกา | เนชันส์คัพ | ฟุตบอลยูโร |
ระดับโลก | คอนเฟเดอเรชันส์คัพ |
[แก้] ทีมสโมสร
สำหรับทีมสโมสรนั้น ทีมที่ชนะเลิศการแข่งขันในประเทศ มีสิทธิเข้าร่วมการแข่งขันในระดับสมาพันธ์ที่มีการจัดขึ้นทุกปี (บางสมาพันธ์จะให้ทีมรองชนะเลิศร่วมด้วย) โดยทีมที่ชนะเลิศในแต่ละสมาพันธ์ จะมาแข่งขันกันในระดับโลก ในการแข่งขัน ฟีฟ่าคลับเวิลด์คัพ ซึ่งจัดขึ้นทุกปี
ภูมิภาค | เอเชีย | แอฟริกา | อเมริกาเหนือและกลาง | อเมริกาใต้ | ออสเตรเลีย | ยุโรป |
---|---|---|---|---|---|---|
สมาพันธ์ | เอเอฟซี | ซีเอเอฟ | คอนแคแคฟ | คอนเมบอล | โอเอฟซี | ยูฟ่า |
AFC | CAF | CONCACAF | CONMEBOL | OFC | UEFA | |
การแข่งขัน ระดับสมาพันธ์ |
เอเอฟซีแชมเปียนส์ลีก | ซีเอเอฟแชมเปียนส์ลีก | คอนแคแคฟแชมเปียนส์คัพ | โคปาลิเบอร์ตาโดเรส | โอเชียเนียคลับแชมเปียนชิพ | ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก |
ระดับโลก | ฟีฟ่าคลับเวิลด์คัพ |
[แก้] ฟุตบอลในประเทศไทย
- ดูบทความหลักที่ ฟุตบอลในประเทศไทย
ฟุตบอลเป็นกีฬาที่นิยมเล่นมากที่สุดในประเทศไทย แต่ฟุตบอลทีมชาติไทยเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จได้แค่ในระดับอาเชียน และจะเป็นร่วมเป็นเจ้าภาพเอเชียนคัพ 2007 ในขณะเดียวกันในปัจจุบันมีการจัดลีกฟุตบอลอยู่สองลีกคือ ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีกบริหารงานโดยสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย และโปรลีกบริหารโดยการกีฬาแห่งประเทศไทย และลีกรองดิวิชัน 1 ของแต่ละส่วน ประเทศไทยไม่ค่อยสนับสนุนนักฟุตบอลอาชีพนัก นักเตะจึงนิยมไปค้าแข้งกับประเทศอื่นที่มีการสนับสนุนดีกว่า
ฟุตบอลเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2440 และไทยร่วมเป็นสมาชิกฟีฟ่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 นับว่าเป็นประเทศแรกของโซนเอเชียที่เป็นสมาชิกฟีฟ่า
[แก้] ทีมฟุตบอลที่มีชื่อเสียง
- เชลซี
- อาร์เซนอล
- แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด
- ลิเวอร์พูล
- เรอัล มาดริด
- บาร์เซโลน่า
- อินเตอร์มิลาน
- เอซีมิลาน
- ยูเวนตุส
[แก้] การแข่งขันฟุตบอลที่เป็นที่สนใจ
- ฟุตบอลโลก
- ฟุตบอลยูโร
- โคปาอเมริกา
- พรีเมียร์ลีก
- กัลโซ่ เซเรียอา
- บุนเดสลีกา
- ลาลีกา
- ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก
- เอฟเอคัพ
- งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์
- จตุรมิตร
[แก้] อ้างอิง
[แก้] ดูเพิ่ม
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- ประวัติและกติกาฟุตบอล จากเว็บการกีฬาแห่งประเทศไทย