พินอิน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พินอิน หรือ ฮั่นหยู่พินอิน (汉语拼音, Hànyǔ Pīnyīn, ความหมายตามตัวอักษร คือ การถอดเสียงภาษาจีน) หรือมักจะย่อว่า พินอิน คือระบบในการถ่ายถอดเสียงภาษาจีนมาตรฐาน ด้วยตัวอักษรโรมัน ความหมายของพินอินคือ "การรวมเสียงเข้าด้วยกัน" (โดยนัยก็คือ การเขียนแบบสัทศาสตร์ การสะกด การถ่ายถอดเสียง หรือการทับศัพท์)
พินอินเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2501 และเริ่มใช้กันในปี พ.ศ. 2522 โดย รัฐบาลของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยใช้แทนที่ระบบการถ่ายถอดเสียงแบบเก่า เช่น ระบบเวดและไจลส์ และระบบเปอเพอเมอเฟอ (จู้ยิน ฝูฮ่าว) นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบระบบอื่น ๆ สำหรับนำไปใช้กับภาษาพูดของจีนในถิ่นต่าง ๆ และภาษาของชนกลุ่มน้อยที่ไม่ใช้ภาษาฮั่น ในสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วย
นับแต่นั้นมา พินอินก็เป็นที่ยอมรับจากสถาบันนานาชาติหลายแห่ง รวมทั้งรัฐบาลสิงคโปร์ หอสมุดรัฐสภาอเมริกัน และสมาคมหอสมุดอเมริกัน โดยถือว่าเป็นระบบการถ่ายถอดเสียงที่เหมาะสมสำหรับภาษาจีนกลาง ครั้นปี พ.ศ. 2522 องค์การมาตรฐานนานาชาติ (ISO) ก็ได้รับเอาพินอินเป็นระบบมาตรฐาน (ISO 7098) ในการถ่ายทอดเสียงภาษาจีนปัจจุบันด้วยอักษรโรมัน (the standard romanization for modern Chinese)
สิ่งสำคัญที่ต้องระลึกไว้ก็คือ พินอินนั้น เป็นการทับศัพท์ด้วยอักษรโรมัน (Romanization) มิใช่การถ่ายถอดเสียงแบบภาษาอังกฤษ (Anglicization) นั่นคือ การกำหนดให้ใช้ตัวอักษรตัวหนึ่ง สำหรับแทนเสียงหนึ่ง ๆ ในภาษาจีนไว้อย่างตายตัว เช่น b และ d ในระบบพินอิน เป็นเสียง "ป" และ "ต" ตามลำดับ ซึ่งแตกต่างจากระบบการออกเสียงส่วนใหญ่ ไม่ว่าอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือภาษาอื่นในยุโรป ขณะที่อักษร j หรือ q นั้นมีเสียงไม่ตรงกับในภาษาอังกฤษเลย กล่าวสั้น ๆ ก็คือ พินอินมุ่งที่จะใช้อักษรโรมัน เพื่อแทนเสียงใดเสียงหนึ่งโดยเฉพาะ เพื่อความสะดวกในการเขียน มิได้ยืมเสียงจากระบบของอักษรโรมันมาใช้ การใช้ระบบนี้นอกจากทำให้ชาวต่างชาติเขียนอ่านภาษาจีนได้สะดวกแล้ว ยังสามารถใช้กับคอมพิวเตอร์ได้สะดวกอย่างยิ่งด้วย
ต่อไปนี้เป็นการถ่ายถอดเสียงภาษาจีน (ที่เขียนด้วยอักษรโรมันในระบบพินอิน) ด้วยอักษรไทย โปรดสังเกตว่า บางหน่วยเสียงในภาษาจีนไม่มีหน่วยเสียงที่ตรงกันในภาษาไทย จึงต้องอนุโลมใช้อักษรที่ใกล้เคียง ในที่นี้จึงมีอักษรไทยบางตัว ที่ต้องใช้แทนหน่วยเสียงในภาษาจีนมากกว่าหนึ่งหน่วยเสียง ทั้งนี้เพื่อเป็น "เกณฑ์อย่างคร่าว ๆ" สำหรับการเขียนคำทับศัพท์ภาษาจีน
เนื้อหา |
[แก้] การถอดเสียงพยัญชนะ
พินอิน | สัทอักษรสากล (IPA) | อักษรไทย |
---|---|---|
p | [pʰ] | ผ, พ |
t | [tʰ] | ถ, ท |
k | [kʰ] | ข, ค |
b | [p] | ป |
d | [t] | ต |
g | [k] | ก |
s | [s] | ซ, ส |
c | [tsʰ] | ฉ, ช |
z | [ts] | จ |
x | [ɕ] | ซ, ส |
q | [tɕʰ] | ฉ, ช |
j | [tɕ] | จ |
sh | [ʂ] | ซ, ส |
ch | [tʂʰ] | ฉ, ช |
zh | [tʂ] | จ |
f | [f] | ฝ, ฟ |
h | [x] | ห, ฮ |
l | [l] | ล |
r | [ʐ] หรือ [ɻ] | ร หรือ ย |
w | [w] | ว, อ (เมื่ออยู่หน้า u) |
y | [j] | ย, อ (เมื่อตามด้วย i และไม่มีตัวสะกด) |
m | [m] | ม |
n | [n] | น |
ng | [ŋ] | ง |
หมายเหตุ: เสียงพยัญชนะจีนซึ่งเทียบได้กับพยัญชนะไทยที่มีอักษรคู่ (อักษรสูงมีเสียงคู่กับอักษรต่ำ) ได้ให้ไว้ทั้ง 2 ตัว เช่น ฉ-ช, ฝ-ฟ ให้เลือกใช้ตามหลักการผันเสียงวรรณยุกต์ของไทย เช่น ฉา, ชือ, เฝิน, ฟั่น ในกรณีที่เป็นอักษรเดี่ยว ซึ่งในการผันวรรณยุกต์ต้องใช้ ห นำ ถ้าอักษรเดี่ยวนั้นเป็นตัวควบกล้ำให้แทรกตัว ห ไว้ระหว่างตัวควบกล้ำเพื่อให้อ่านได้สะดวก เช่น yún = ยฺหวิน
[แก้] การถอดเสียงสระ
พินอิน | สัทอักษรสากล (IPA) | อักษรไทย |
---|---|---|
a | [ɑ] | อะ / อา |
ai | [aɪ] | ไอ / อาย |
an | [an], [ɛn] | อัน / อาน |
ang | [ɑŋ] | อัง / อาง |
ar, anr, air | [aɻ] | อาร์ |
ao | [ɑʊ] | เอา / อาว |
e | [ɤ], [ə] | เออ, เอ (เมื่อตามหลัง y) |
ê | [ɛ] | เอ |
ei | [ei] | เอย์ |
en | [ən] | เอิน |
eng | [ɤŋ] | เอิง |
er | [aɻ], [ɤɻ] | เออร์ |
i | [i] | อี, อึ / อือ (เมื่ออยู่หลัง c, ch, r, s, sh, z, zh) |
ia | [iɑ] | เอีย (ออกเสียงเหมือนคำว่า "อี + อา" แต่ลากเสียงสระท้าย) |
ie | [iɛ] | เอีย (ออกเสียงเหมือนคำว่า "อี + เอ" แต่ลากเสียงสระท้าย) |
iu | [iou̯] | อิว |
o | [u̯ɔ] | โอ, อัว (เมื่ออยู่หลัง b, f, m, p, w) |
ong | [ʊŋ] | อง |
ou | [ou̯] | โอว |
u | [u], [y] | อู, อวี (เมื่ออยู่หลัง j, q, x, y) |
ue, uer | [] | เอว , เอวร์ (เสียงควบ อว) |
ui | [ueɪ] | อุย |
un | [uən] | อุน, อวิน (เมื่ออยู่หลัง j, q, x, y) |
uo | [u̯ɔ] | อัว |
ü | [y] | อวี (เสียงควบ อว) |
üe | [yɛ] | เอว (เสียงควบ อว) |
ün | [yn] | อวิน (เสียงควบ อว) |
หมายเหตุ: พยัญชนะที่มีเครื่องหมายทัณฑฆาตกำกับในคำทับศัพท์ให้ออกเสียงด้วย เช่น érzi = เอ๋อร์จึ fēi = เฟย์
[แก้] การถอดเสียงวรรณยุกต์
ระบบพินอินมีเครื่องหมายแทนเสียงวรรณยุกต์ 4 เครื่องหมายด้วยกัน ดังนี้
1. วรรณยุกต์เสียงที่หนึ่ง แทนด้วยขีดระนาบสั้น ๆ (ˉ) เทียบเท่าเสียง สามัญหรือตรี ในภาษาไทย:
-
- ā ē ī ō ū ǖ
2. วรรณยุกต์เสียงที่สอง แทนด้วยขีดสั้น ๆ เอียงขวา (ˊ) เทียบเท่าเสียง จัตวา ในภาษาไทย:
-
- á é í ó ú ǘ
3. วรรณยุกต์เสียงที่สาม แทนด้วยขีดรูปลิ่ม (ˇ) คล้ายเสียง เอก ในภาษาไทย (แต่ไม่ใช่เสียง"เอก") :
-
- ǎ ě ǐ ǒ ǔ ǚ
4. วรรณยุกต์เสียงที่สี่ แทนด้วยขีดสั้น ๆ เอียงซ้าย (ˋ) เทียบเท่าเสียง โท ในภาษาไทย:
-
- à è ì ò ù ǜ
5. วรรณยุกต์เสียงที่ห้า ไม่มีเครื่องหมาย:
-
- a e i o u ü (แต่บางครั้งเขียนจุดหน้าพยางค์นั้น ๆ เช่น ·yo เยาะ)
ในการใช้เครื่องพิมพ์ดีดหรือคอมพิวเตอร์ อาจใช้ตัวเลขแทนเครื่องหมายวรรณยุกต์ได้ (1 2 3 4 5 ตามลำดับ)
[แก้] การใส่วรรณยุกต์
โดยดูที่สระ a o e i u ü ตัวอย่างสระ ie ให้ใส่ที่ e เพราะ e มาก่อน (e i) ยกเว้นถ้า iu ใส่ที่ u
- ตัวอย่าง
อักษรจีน | พินอิน | อักษรไทย | ความหมาย |
---|---|---|---|
妈 | mā | มา หรือ ม้า | แม่ |
麻 | má | หมา | ป่าน |
马 | mǎ | หม่า | ม้า |
骂 | mà | ม่า | ดุด่า |
吗 | ·ma | มะ | หรือ, ไหม |
[แก้] อ้างอิง
- Yin Binyong 尹斌庸 and Mary Felley (1990). Chinese Romanization. Pronunciation and Orthography (Hanyu pinyin he zhengcifa 汉语拼音和正词法). Beijing: Sinolingua. ISBN 7-80052-148-6 / ISBN 0-8351-1930-0.
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
|
|
---|---|
ภาษาจีนราชการ | จีนกลาง (จีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน) • สำเนียงกวางโจว (ฮ่องกง มาเก๊า และ กวางเจา โดยพฤตินัย ) |
ภาษาหลัก | จีนกลาง • กั้น • กวางตุ้ง • แคะ • เซียง • หมิ่น • อู๋ จิ้น • ฮุย • ผิง |
ภาษาย่อยในภาษาหมิ่น | หมิ่นจง • หมิ่นตง • หมิ่นเป่ย์ • หมิ่นหนาน (ฮกเกี้ยน) • ปู๋เซียน • ไห่หนาน • สำเนียงแต้จิ๋ว |
อักษรจีน | อักษรจีนตัวเต็ม • อักษรจีนตัวย่อ • อักษรจีนกวางตุ้งตัวย่อ • พินอิน • จู้อิน ฝูฮ่าว |
ภาษาอื่นๆที่พูดในจีน | จ้วง • ทิเบต • มองโกล • อุยกูร์ • คาซัค • คีร์กิซ • ม้ง • เมี่ยน • แมนจู • ไทลื้อ ฯลฯ |
รับอิทธิพลจากภาษาจีน | เกาหลี • ญี่ปุ่น • เวียดนาม |