See also ebooksgratis.com: no banners, no cookies, totally FREE.

CLASSICISTRANIERI HOME PAGE - YOUTUBE CHANNEL
Privacy Policy Cookie Policy Terms and Conditions
พุทธศาสนาในประเทศไทย - วิกิพีเดีย

พุทธศาสนาในประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ส่วนหนึ่งของ
พุทธศาสนา


ประวัติพุทธศาสนา
ศาสดา

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

จุดมุ่งหมายของพุทธศาสนา
พ้นทุกข์ / ความดับทุกข์
ไตรสรณะ

พระพุทธ · พระธรรม · พระสงฆ์

ความเชื่อและการปฏิบัติ
ศีล · ธรรม
ศีลห้า · เบญจธรรม · ศีลแปด
บทสวดมนต์และพระคาถา
คัมภีร์และหนังสือ
พระไตรปิฎก
พระวินัยปิฎก · พระสุตตันตปิฎก · พระอภิธรรมปิฎก
นิกาย
เถรวาท · อาจริยวาท (มหายาน) · วัชรยาน · เซน
สังคมพุทธศาสนา
เมือง · ปฏิทิน · บุคคล · วันสำคัญ · ศาสนสถาน · วัตถุมงคล
ดูเพิ่มเติม
ศัพท์เกี่ยวกับพุทธศาสนา
หมวดหมู่พุทธศาสนา
สารานุกรมพระพุทธศาสนา สถานีย่อย

พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน เมื่อประมาณ พ.ศ. 236 สมัยเดียวกันกับประเทศศรีลังกา ด้วยการส่งพระสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ 9 สาย โดยการอุปถัมภ์ของพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์อินเดีย ในขณะนั้นประเทศไทยรวมอยู่ในดินแดนที่เรียกว่าสุวรรณภูมิ ซึ่งมีขอบเขตกว้างขวาง มีประเทศรวมกันอยู่ในดินแดนส่วนนี้ทั้ง 7 ประเทศในปัจจุบัน ได้แก่ ไทย พม่า ศรีลังกา ญวน กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ซึ่งสันนิษฐานว่ามีใจกลางอยู่ที่จังหวัดนครปฐมของไทย เนื่องจากได้พบโบราณวัตถุที่สำคัญ เช่นพระปฐมเจดีย์ และรูปธรรมจักรกวางหมอบเป็นหลักฐานสำคัญ แต่พม่าก็สันนิษฐานว่ามีในกลางอยู่ที่เมืองสะเทิม ภาคใต้ของพม่า พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่สุวรรณภูมิในยุคนี้ นำโดยพระโสณะและพระอุตตระ พระเถระชาวอินเดีย เดินทางมาเผยแผ่พุทธศาสนาในแถบนี้ จนเจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับ ตามยุคสมัยต่อไปนี้

เนื้อหา

[แก้] สมัยทวาราวดี

พระปฐมเจดีย์ สร้างขึ้นเมื่อคราวที่พระสมณทูตในพระเจ้าอโศกมหาราช เดินทางมาเผยแผ่ศาสนายังสุวรรณภูมิ
พระปฐมเจดีย์ สร้างขึ้นเมื่อคราวที่พระสมณทูตในพระเจ้าอโศกมหาราช เดินทางมาเผยแผ่ศาสนายังสุวรรณภูมิ

พระโสณะและพระอุตตระได้เดินทางจากชมพูทวีปเข้ามาประดิษฐานพระพุทธศาสนา ณ ดินแดนสุวรรณภูมิในบริเวณที่เรียกว่า "แหลมทอง" หรือ ในจดหมายเหตุของหลวงจีนเหี้ยนจัง เรียกว่า "ทวาราวดี" เป็นจุดแรก โดยมีข้อสันนิษฐานว่า ได้แก่ จังหวัดนครปฐม ในปัจจุบัน โดยพิจารณาจากโบราณสถานและโบราณวัตถุต่าง ๆ เช่น พระปฐมเจดีย์ ศิลารูปพระธรรมจักร เป็นต้น

พระพุทธศาสนาที่เข้ามาในสมัยนี้ เป็นนิกายเถรวาทดั้งเดิม โดยพุทธศาสนิกชนมีความศรัทธาเลื่อมใสบวชเป็นพระภิกษุจำนวนมาก และได้สร้างสถูปเจดีย์ไว้สักการะบูชา เรียกว่า สถูปรูปฟองน้ำ เหมือนสถูปสาญจีในประเทศอินเดียที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างขึ้น โดยศิลปะในยุคนี้ เรียกว่า ศิลปะทวารวดี

[แก้] สมัยอาณาจักรอ้ายลาว

พระพุทธศาสนาในยุคนี้เป็นแบบมหายาน ในสมัยขุนหลวงเม้า กษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่ในอาณาจักรอ้ายลาว ก่อนที่จะอพยพเข้ามาสู่ประเทศไทยบริเวณที่ราบสูงโคราชในปัจจุบัน ได้รับเอาพระพุทธศาสนามหายานผ่านมาทางประเทศจีนโดยการนำของพระสมณทูตชาวอินเดียมาเผยแผ่ ในคราวที่พระเจ้ากนิษกะมหาราชทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ 4 ของฝ่ายมหายาน ณ เมืองชลันธร พระสมณทูตได้เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเอเซียกลาง พระเจ้ามิ่งตี่ กษัตริย์จีนทรงรับพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ในจีน และได้ส่งทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรอ้ายลาว คณะทูตได้นำเอาพระพุทธศาสนามาด้วย ทำให้หัวเมืองไทยทั้ง 77 มีราษฎร 51,890 ครอบครัว หันมานับถือพระพุทธศาสนาแบบมหายานเป็นครั้งแรก

[แก้] สมัยอาณาจักรศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ 13)

อาณาจักรศรีวิชัยในเกาะสุมาตราเจริญรุ่งเรืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 ได้แผ่อำนาจเข้ามาถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี กษัตริย์ศรีวิชัยทรงนับถือพุทธศาสนาแบบมหายาน พระพุทธศาสนาแบบมหายานจึงได้แผ่เข้ามาสู่ภาคใต้ของไทย ดังหลักฐานที่ปรากฏ คือ เจดีย์พระบรมธาตุไชยา พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช และรูปหล่อพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

[แก้] สมัยลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ 15)

ในสมัยกษัตริย์กัมพูชาราชวงศ์สุริยวรมันเรืองอำนาจนั้น ได้แผ่อาณาเขตขยายออกมาทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของประเทศไทย ในราว พ.ศ. 1540 และได้ตั้งราชธานีเป็นที่อำนวยการปกครองเมืองต่าง ๆ ในดินแดนดังกล่าวขึ้นหลายแห่ง เช่น

  • เมืองลพบุรี ปกครองเมืองที่อยู่ในอาณาเขตทวาราวดี ส่วนข้างใต้
  • เมืองสุโขทัย ปกครองเมืองที่อยู่ในอาณาเขตทวาราวดี ส่วนข้างเหนือ
  • เมืองศรีเทพ ปกครองหัวเมืองที่อยู่ตามลุ่มแม่น้ำป่าสัก
  • เมืองพิมาย ปกครองเมืองที่อยู่ในที่ราบสูงตอนข้างเหนือ

เมืองต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นนี้เมืองลพบุรีหรือละโว้ ถือว่าเป็นเมืองสำคัญที่สุด กษัตริย์กัมพูชาราชวงศ์สุริยวรมัน ทรงนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งมีสายสัมพันธ์เชื่อมต่อมาจากอาณาจักรศรีวิชัย แต่ฝ่ายมหายานในสมัยนี้ผสมกับศาสนาพราหมณ์มาก ประชาชนในอาณาเขตต่าง ๆ ดังกล่าว จึงได้รับพระพุทธศาสนาทั้งแบบเถรวาทที่สืบมาแต่เดิม กับแบบมหายานและศาสนาพราหมณ์ที่เข้ามาใหม่ด้วย ทำให้มีผู้นับถือพระพุทธศาสนาทั้ง 2 แบบ และมีพระสงฆ์ทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายเถรวาท และฝ่ายมหายาน และภาษาสันสกฤตอันเป็นภาษาหลักของศาสนาพราหมณ์ และพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานก็ได้เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในด้านภาษาและวรรณคดีไทยตั้งแต่บัดนั้นมา สำหรับศาสนสถานที่เป็นที่ประจักษ์พยานให้ได้ศึกษาถึงความเป็นมาแห่งพระพุทธศาสนาในประเทศไทยครั้งนั้น คือ พระปรางค์สามยอดที่จังหวัดลพบุรี ปราสาทหินพิมาย ที่จังหวัดนครราชสีมา และปราสาทหินเขาพนมรุ้งที่จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น ส่วนพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยนั้นก็เป็นแบบขอม ถือเป็นศิลปะอยู่ในกลุ่ม ศิลปสมัยลพบุรี

[แก้] สมัยเถรวาทแบบพุกาม

ในสมัยที่พระเจ้าอนุรุทธิ์มหาราช กษัตริย์พุกามเรืองอำนาจ ทรงรวบรวมเอาพม่ากับมอญเข้าเป็นอาณาจักรเดียวกัน แล้วแผ่อาณาเขตเข้ามาถึงอาณาจักรล้านนา อาณาจักรล้านช้าง ละโว้ และทวาราวดี พระเจ้าอนุรุทธทรงนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ทรงส่งเสริมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง

ส่วนชนชาติไทย หลังจากอาณาจักรอ้ายลาวสลายตัว ก็ได้มาตั้งอาณาจักรน่านเจ้า ถึงประมาณ พ.ศ. 1299 ขุนท้าวกวาโอรสขุนบรมแห่งอาณาจักรน่านเจ้า ได้สถาปนาอาณาจักรโยนกเชียงแสนในสุวรรณภูมิ หลังจากนั้นคนไทยก็กระจัดกระจายอยู่ทั่วภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบัน เมื่อกษัตริย์พุกาม (กัมพูชา) เรืองอำนาจ คนไทยที่อยู่ในเขตอำนาจของขอม ก็ได้รับทั้งศาสนาและวัฒนธรรมของเขมรไว้ด้วย ส่วนทางล้านนาก็ได้รับอิทธิพลจากขอมเช่นเดียวกัน คือ เมื่ออาณาจักรพุกามของกษัตริย์พม่าเข้ามาครอบครองดินแดนแถบนี้ ดังเห็นว่ามีปูชนียสถานแบบพม่าหลายแห่ง และเจดีย์ที่มีฉัตรอยู่บนยอด และฉัตรที่ 4 มุมของเจดีย์ ก็ได้รับอิทธิพลมาจากพุกามแบบพม่า

[แก้] สมัยสุโขทัย

พระพุทธชินราช สร้างในสมัย พระมหาธรรมราชาที่ 1 ได้รับการยกย่องว่ามีความงดงามเป็นเลิศ
พระพุทธชินราช สร้างในสมัย พระมหาธรรมราชาที่ 1 ได้รับการยกย่องว่ามีความงดงามเป็นเลิศ
วัดศรีชุม สุโขทัย
วัดศรีชุม สุโขทัย

หลังจากอาณาจักรพุกามและกัมพูชาเสื่อมอำนาจลง คนไทยจึงได้ตั้งตัวเป็นอิสระ ได้ก่อตั้งอาณาจักรขึ้นเอง 2 อาณาจักร ได้แก่ อาณาจักรล้านนาทางภาคเหนือของไทย และอาณาจักรสุโขทัยซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงสดับกิตติศัพท์ของพระสงฆ์ลังกา จึงทรงอาราธนาพระมหาเถระสังฆราช ซึ่งเป็นพระเถระชาวลังกาที่มาเผยแผ่อยู่ที่นครศรีธรรมราช มาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในกรุงสุโขทัย

พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ได้เข้ามาเผยแผ่ในประเทศไทย ถึง 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และครั้งที่ 2 ในสมัยพระยาลิไท พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก กษัตริย์ทุกพระองค์ทรงปกครองบ้านเมืองโดยธรรม มีความสงบร่มเย็น ประชาชนเป็นอยู่โดยผาสุก ศิลปะสมัยสุโขทัยได้รับการกล่าวขานว่างดงามมาก โดยเฉพาะพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย มีลักษณะงดงาม ไม่มีศิลปะสมัยใดเหมือน

[แก้] สมัยล้านนา

ปี พ.ศ. 1839 พระยามังราย ทรงสร้างราชธานีขึ้น ชื่อว่า "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่" ได้ตั้งถิ่นฐาน ณ ลุ่มแม่น้ำปิง ได้สร้างเมือง สร้างวัง และวัดขึ้น ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ได้สร้างวัดต่าง ๆ มากมาย ทั้งที่เป็นฝ่ายคามวาสี และอรัญญวาสี จนพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง เมืองต่าง ๆ ในอาณาจักรล้านนา เช่น เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา ต่างก็มีความเจริญรุ่งเรือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพระพุทธศาสนา พิธีกรรมและความเชื่อทางศาสนามีอิทธิพลต่อชาวล้านนาอย่างมาก ในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ ได้ทำการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกในดินแดนประเทศไทยปัจจุบันขึ้น ณ วัดมหาโพธาราม (วัดเจ็ดยอด) เมื่อ ปี พ.ศ. 2020 ในสมัยล้านนา ได้เกิดมีพระเถระนักปราชญ์ชาวล้านนาหลายรูป ท่านเหล่านั้นได้รจนาคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนาไว้เป็นจำนวนมาก ได้แก่ พระสิริมังคลาจารย์ พระญาณกิตติเถระ พระรัตนปัญญา พระโพธิรังษี พระนันทาจารย์ และพระสุวรรณรังสี

[แก้] สมัยอยุธยา

พระพุทธศาสนาในสมัยอยุธยาได้รับอิทธิพลของพราหมณ์เข้ามามาก พิธีกรรมต่าง ๆ ได้ปะปนพิธีของพราหมณ์ เน้นความขลังความศักดิ์สิทธิ์ และอิทธิปาฏิหาริย์ มีเรื่องไสยศาสตร์เข้ามาปะปนอยู่มาก ประชาชนมุ่งเรื่องการบุญการกุศล สร้างวัดวาอาราม สร้างปูชนียวัตถุ บำรุงศาสนาเป็นส่วนมาก ในสมัยอยุธยาต้องประสบกับภาวะสงครามกับพม่า จนเกิดภาวะวิกฤตทางศาสนาหลายครั้ง ประวัติศาสตร์อยุธยาแบ่งเป็น 4 ช่วง ได้แก่

[แก้] สมัยอยุธยาช่วงแรก (พ.ศ. 1991 - 2031)

ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยความสงบร่มเย็น ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทรงผนวชเป็นเวลา 8 เดือน เมื่อ พ.ศ. 1998 และทรงให้พระราชโอรสกับพระราชนัดดาผนวชเป็นสามเณรด้วย สันนิษฐานว่าเป็นการเริ่มต้นของประเพณีการบวชเรียนของเจ้านายและข้าราชการ ในรัชสมัยของพระองค์ ได้มีการรจนาหนังสือมหาชาติคำหลวง ใน พ.ศ. 2025

[แก้] สมัยอยุธยาช่วงที่สอง ( พ.ศ. 2034 - 2173)

สมัยนี้ได้มีความนิยมในการสร้างวัดขึ้น ทั้งกษัตริย์และประชาชนทั่วไป นิยมสร้างวัดประจำตระกูล ในสมัยพระเจ้าทรงธรรมได้พบพระพุทธบาท สระบุรี ทรงให้สร้างมณฑปครอบพระพุทธบาทไว้ และโปรดให้ชุมชนราชบัณฑิตแต่งกาพย์มหาชาติ เมื่อ พ.ศ. 2170 และโปรดให้สร้างพระไตรปิฎกด้วย

[แก้] สมัยอยุธยาช่วงที่สาม (พ.ศ. 2173 - 2310)

พระมหากษัตริย์ที่มีพระนามยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษนี้ ได้แก่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์ทรงมีบทบาทอย่างมากทั้งต่อฝ่ายอาณาจักรและศาสนจักร ทรงส่งเสริมพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า สมัยนี้พวกฝรั่งเศสได้เข้ามาติดต่อกับไทย และได้พยายามเผยแผ่คริสต์ศาสนา และทูลขอให้พระนารายณ์เข้ารีต แต่พระองค์ทรงมั่นคงในพระพุทธศาสนา ทรงนำพาประเทศชาติรอดพ้นจากการเป็นเมืองของฝรั่งเศสได้ เพราะมีพระราชศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง

[แก้] สมัยอยุธยาช่วงที่สี่ (พ.ศ. 2275 - 2310)

พระมหากษัตริย์ที่ทรงมีบทบาทมากในยุคนี้ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงเสวยราช เมื่อ พ.ศ. 2275 การบวชเรียนกลายเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงยุคหลัง ถึงกับกำหนดให้ผู้ที่จะเป็นขุนนาง มียศถาบรรดาศักดิ์ต้องเป็นผู้ที่ผ่านการบวชเรียนมาเท่านั้น จึงจะทรงแต่งตั้งตำแหน่งหน้าที่ให้ ในสมัยนี้ได้ส่งพระภิกษุเถระชาวไทยไปฟื้นฟูพุทธศาสนาในประเทศลังกาตามคำทูลขอของกษัตริย์ลังกา เมื่อ พ.ศ. 2296 จนทำให้พุทธศาสนากลับเจริญรุ่งเรืองในลังกาอีกครั้ง จนถึงปัจจุบัน และเกิดนิกายของคณะสงฆ์ไทยขึ้นในลังกา ชื่อว่านิกายสยามวงศ์ นิกายนี้ยังคงมีอยู่ถึงปัจจุบัน

[แก้] สมัยกรุงธนบุรี

พระแก้วมรกต
พระแก้วมรกต

ปี พ.ศ. 2310 กรุงศรีอยุธยาถูกพม่ายกทัพเข้าตีจนบ้านเมืองแตกยับเยิน พม่าได้ทำลายบ้านเมืองเสียหายย่อยยับ เก็บเอาทรัพย์สินไป กวาดต้อนประชาชนแม้กระทั่งพระสงฆ์ไปเป็นเชลยเป็นจำนวนมาก วัดวาอารามถูกเผาทำลาย ครั้นต่อมาพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นผู้นำในการกอบกู้อิสรภาพ สามารถกอบกู้เอกราชจากพม่าได้ ทรงตั้งราชธานีใหม่ คือ เมืองธนบุรี ทรงครองราชย์และปกครองแผ่นดินสืบมา ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามและสร้างวัดเพิ่มเติมอีกมาก ทรงรับภาระบำรุงพระพุทธศาสนารวบรวมคัมภีร์พระไตรปิฎกจากหัวเมือง มาคัดเลือกจัดเป็นฉบับหลวง แต่ไม่ยังทันเสร็จบริบูรณ์ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน

ต่อมา พ.ศ. 2322 กองทัพไทยได้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากเวียงจันทน์มายังประเทศไทย ภายหลังพระองค์ถูกสำเร็จโทษเป็นอันสิ้นสุดสมัยกรุงธนบุรี

[แก้] สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

[แก้] รัชกาลที่ 1 (พ.ศ. 2325 - 2352)

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ. 2325 ต่อจากพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงย้ายเมืองจากธนบุรี มาตั้งราชธานีใหม่ เรียกชื่อว่า "กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์" ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ เช่น การสร้าง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดสุทัศน์เทพวราราม วัดสระเกศ และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นต้น ทรงโปรดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 9 และถือเป็นครั้งที่ 2 ในดินแดนประเทศไทยปัจจุบัน ณ วัดมหาธาตุ ได้มีการสอนพระปริยัติธรรมในพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนตามวังเจ้านายและบ้านเรือนของข้าราชการผู้ใหญ่ ทรงตรากฎหมายคณะสงฆ์ขึ้น เพื่อจัดระเบียบการปกครองของสงฆ์ให้เรียบร้อย ทรงจัดให้มีการสอบพระปริยัติธรรม ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยสถาปนาพระสังฆราช (ศรี) เป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี พ.ศ. 2352

[แก้] รัชกาลที่ 2 (พ.ศ. 2352 - 2367)

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 2352 เป็นทรงทำนุบำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนาเหมือนอย่างพระมหากษัตริย์ไทยแต่โบราณในรัชสมัยของพระองค์ได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชถึง 3 พระองค์ คือ สมเด็จพระสังฆราช (มี), สมเด็จพระสังฆราช (สุก), และสมเด็จพระสังฆราช (สอน)

ในปี พ.ศ. 2357 ทรงจัดส่งสมณทูต 8 รูป ไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศลังกา ได้จัดให้มีการจัดงานวันวิสาขบูชาขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2360 ซึ่งแต่เดิมก็เคยปฏิบัติถือกันมาเมื่อครั้งกรุงสุโขทัย แต่ได้ขาดตอนไปตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า จึงได้มีการฟื้นฟูวันวิสาขบูชาใหม่ ได้โปรดให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขวิธีการสอบไล่ปริยัติธรรมขึ้นใหม่ ได้ขยายหลักสูตร 3 ชั้น คือ เปรียญตรี -โท - เอก เป็น 9 ชั้น คือ ชั้นประโยค 1 - 9

[แก้] รัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2367 - 2354)

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้มีการสร้างพระไตรปิฎกฉบับหลวงเพิ่มจำนวนขึ้นไว้อีกหลายฉบับครบถ้วนกว่ารัชกาลก่อน ๆ โปรดให้แปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามหลายแห่ง และสร้างวัดใหม่ คือ วัดเทพธิดาราม วัดราชราชนัดดา และวัดเฉลิมพระเกียรติ ได้ตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อสอนหนังสือไทยแก่เด็กในสมัยนี้ได้เกิดนิกายธรรมยุติขึ้น โดยพระวชิรญาณเถระ (เจ้าฟ้ามงกุฏ) ขณะที่ผนวชอยู่ได้ทรงศรัทธาเลื่อมใสในจริยาวัตรของพระมอญ ชื่อ ซาย ฉายา พุทฺธวํโส จึงได้ทรงอุปสมบทใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2372 ได้ตั้งคณะธรรมยุติขึ้นในปี พ.ศ. 2376 แล้วเสด็จมาประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร และตั้งเป็นศูนย์กลางของคณะธรรมยุติ

[แก้] รัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2394 -2411)

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อทรงเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎได้ผนวช 27 พรรษาแล้วได้ลาสิกขาขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุ 57 พรรษา ใน พ.ศ. 2239 ด้านการพระศาสนา ทรงพระราชศรัทธาสร้างวัดใหม่ขึ้นหลายวัด เช่น วัดปทุมวนาราม วัดโสมนัสวิหาร วัดมกุฎกษัตริยาราม วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม และวัดราชบพิตร เป็นต้น ตลอดจนบูรณะวัดต่าง ๆ อีกมาก โปรดให้มีพระราชพิธี "มาฆบูชา" ขึ้นเป็นครั้งแรก ใน พ.ศ. 2394 ณ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนได้ถือปฏิบัติสืบมาจนถึงทุกวันนี้

[แก้] รัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2411 - 2453)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ. 2411 ทรงยกเลิกระบบทาสในเมืองไทยได้สำเร็จ ทรงสร้างวัดใหม่ขึ้น คือ วัดราชบพิตร วัดเทพศิรินทราวาส วัดเบญจมบพิตร วัดอัษฎางนิมิตร วัดจุฑาทิศราชธรรมสภา และวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ทรงบูรณะวัดมหาธาตุ และวัดอื่น ๆ อีก ทรงนิพนธ์วรรณกรรมทางพุทธศาสนาจำนวนมาก โปรดให้มีการเริ่มต้นการศึกษาแบบสมัยใหม่ในประเทศไทย โดยให้พระสงฆ์รับภาระช่วยการศึกษาของชาติ

  • พ.ศ. 2427 ได้จัดตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎรขึ้นเป็นแห่งแรก ณ วัดมหรรณพาราม
  • พ.ศ. 2414 โปรดให้จัดการศึกษาแก่ประชาชนในหัวเมือง โดยจัดตั้งโรงเรียนในหัวเมืองขึ้น
  • พ.ศ. 2435 มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งกรมธรรมการเป็นกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการปัจจุบัน) โปรดให้มีการพิมพ์พระไตรปิฎกด้วยอักษรไทย จบละ 39 เล่ม จำนวน 1,000 จบ
  • พ.ศ. 2432 โปรดให้ย้ายที่ราชบัณฑิตบอกพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณร จากในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ออกมาเป็นบาลีวิทยาลัย ชื่อมหาธาตุวิทยาลัย ที่วัดมหาธาตุ
  • พ.ศ. 2439 ได้ประกาศเปลี่ยนนามมหาธาตุวิทยาลัยเป็นมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นที่ศึกษาพระปริยัติธรรมและวิชาการชั้นสูงของพระภิกษุสามเณร
  • พ.ศ. 2436 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงจัดตั้ง "มหามกุฏราชวิทยาลัย" ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งศึกษาพระพุทธศาสนาแก่พระภิกษุสามเณรฝ่ายธรรมยุตินิกาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จเปิดในปีเดียวกัน

[แก้] รัชกาลที่ 6 (พ.ศ. 2453 -2468)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงพระปรีชาปราดเปรื่องในความรู้ทางพระศาสนามาก ทรงนิพนธ์หนังสือแสดงคำสอนในพระพุทธศาสนาหลายเรื่อง เช่น เทศนาเสือป่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร เป็นต้น ถึงกับทรงอบรมสั่งสอนอบรมข้าราชการด้วยพระองค์เอง ทรงโปรดให้ใช้ พุทธศักราช (พ.ศ.) แทน ร.ศ. เมื่อ พ.ศ. 2456 ให้เปลี่ยนกระทรวงธรรมการเป็นกระทรวงศึกษาธิการ

  • พ.ศ. 2454 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเปลี่ยนวิธีการสอบบาลีสนามหลวงจากปากเปล่ามาเป็นข้อเขียน เป็นครั้งแรก
  • พ.ศ. 2469 ทรงเริ่มการศึกษาพระปริยัติธรรมใหม่ขึ้นอีกหลักสูตรหนึ่ง เรียกว่า "นักธรรม" โดยมีการสอบครั้งแรกเมื่อ เดือนตุลาคม พ.ศ. 2454 ตอนแรกเรียกว่า "องค์ของสามเณรรู้ธรรม"
  • พ.ศ. 2462 ถึง พ.ศ. 2463 โปรดให้พิมพ์คัมภีร์อรรถกถาแห่งพระไตรปิฎกและอรรถกถาชาดก และคัมภีร์อื่นๆ เช่น วิสุทธิมรรค คัมภีร์มิลินทปัญหา เป็นต้น

[แก้] รัชกาลที่ 7 (พ.ศ. 2468 - 2477)

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้มีการทำสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้น ตั้งแต่ พ.ศ. 2468 - 2473 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เป็นการสังคายนาครั้งที่ 3 ในเมืองไทย แล้วทรงจัดให้พิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ ชุดละ 45 เล่ม จำนวน 1,500 ชุด และพระราชทานแก่ประเทศต่าง ๆ ประมาณ 500 ชุด โปรดให้ย้ายกรมธรรมการกลับเข้ามารวมกับกระทรวงศึกษาธิการ และเปลี่ยนชื่อกระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงธรรมการอย่างเดิม โดยมีพระราชดำริว่า "การศึกษาไม่ควรแยกออกจากวัด" ต่อมาปี พ.ศ. 2471 กระทรวงธรรมการประกาศเพิ่มหลักสูตรทางจริยศึกษาสำหรับนักเรียน ได้เปิดให้ฆราวาสเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม โดยจัดหลักสูตรใหม่ เรียกว่า "ธรรมศึกษา" ในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งยิ่งใหญ่ของไทย เมื่อคณะราษฎรได้ทำการปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 2477 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 8

[แก้] รัชกาลที่ 8 (พ.ศ. 2477 - 2489)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 8 ในขณะพระพระชนมายุ เพียง 9 พรรษาเท่านั้น และยังกำลังทรงศึกษาอยู่ในต่างประเทศ จึงมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในด้านการศาสนาได้มีการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

  1. พระไตรปิฎก แปลโดยอรรถ พิมพ์เป็นเล่มสมุด 80 เล่ม เรียกว่าพระไตรปิฎกภาษาไทย แต่ไม่เสร็จสมบูรณ์ และได้ทำต่อจนเสร็จเมื่องานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เมื่อปี พ.ศ. 2500
  2. พระไตรปิฎก แปลโดยสำนวนเทศนา พิมพ์ใบลาน แบ่งเป็น 1250 กัณฑ์ เรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับหลวง เสร็จเมื่อ พ.ศ. 2492
  • พ.ศ. 2484 ได้เปลี่ยนชื่อกระทรวงธรรมการเป็นกระทรวงศึกษาธิการ และกรมธรรมการเปลี่ยนเป็น กรมการศาสนา และในปีเดียวกัน รัฐบาลได้ออก พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม เพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์มีความสอดคล้องเหมาะสมกับการปกครองแบบใหม่
  • พ.ศ. 2488 มหามกุฎราชวิทยาลัย ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2436 ได้ประกาศตั้งเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ ชื่อ "สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย" เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม
  • พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้ถูกลอบปลงพระชนม์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นรัชกาลที่ 9 รัชกาลปัจจุบัน

[แก้] สมัยรัชกาลที่ 9 (พ.ศ. 2489 - ปัจจุบัน)

ชายนิรนามปีนขึ้นไปบนพานรัฐธรรมนูญ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เรียกร้องให้บรรจุศาสนาพุทธ เป็นศาสนาประจำชาติ
ชายนิรนามปีนขึ้นไปบนพานรัฐธรรมนูญ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เรียกร้องให้บรรจุศาสนาพุทธ เป็นศาสนาประจำชาติ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 9 สืบต่อมา ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา และทรงเป็นศาสนูปถัมภก ทรงให้การอุปถัมภ์แก่ทุกศาสนา และทรงปกครองบ้านเมืองโดยสงบร่มเย็น ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในรัชสมัยรัชกาลปัจจุบันได้มีการส่งเสริมพุทธศาสนาด้านต่าง ๆ มากมาย

ในปี พ.ศ. 2500 ซึ่งเป็นปีครบรอบ 2,500 ปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน วันที่ 12-18 พฤษภาคม 2500 รัฐบาลได้จัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งอินเดียและลังกาเรียกว่า "พุทธชยันตี" โดยกำหนดให้วันที่ 12-14 พฤษภาคมเป็นวันหยุดราชการ ศาลาพิธีตั้งอยู่กลางท้องสนามหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ เป็นองค์ประธานเปิดงาน มีผู้แทนจาก 13 ประเทศเข้าร่วม พระสงฆ์ 2,500 รูป เจริญพระพุทธมนต์พร้อมกันดังกังวานก้องไปทั่วทุกทิศ และมีการเชิญชวนพุทธศาสนิกชนรักษาศีลห้าหรือศีลแปด ตลอด 7 วัน 7 คืน


ในปี พ.ศ. 2500 นี้ รัฐบาลได้กำหนดพิธีเฉลิมฉลองทั่วประเทศ มีการจัดสร้างพุทธมณฑล ขึ้น ณ ที่ดิน 2,500 ไร่ ระหว่างกรุงเทพ-นครปฐม แล้วสร้างพระมหาพุทธปฏิมาปางประทับยืนลีลาสูง 2500 นิ้ว ภาย ในบริเวณรอบองค์พระมีภาพจำลองพระพุทธประวัติ และมีพิพิธภัณฑ์ทางพระพุทธศาสนา ได้ปลูกต้นไม้ที่มีชื่อในพระพุทธศาสนา เช่น ต้นโพธิ์ ต้นไทร เป็นต้น สร้างพระพิมพ์ปางลีลาเป็นเนื้อชินและเนื้อผงจำนวน 4,842,500 องค์ พิมพ์พระไตรปิฎกแปลจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทยออกเผยแพร่ และบูรณะปูชนียสถานวัด วาอารามทั่วพระราชอาณาจักร อุปสมบทพระภิกษุจำนวน 2,500 รูป และนิรโทษกรรมแก่นักโทษ ประกวด วรรณกรรม ศิลปะทางพระพุทธศาสนา โดยเชิญผู้แทนพุทธศาสนิกชนทั่วโลกมาร่วมอนุโมทนา

ในปัจจุบันนี้มีประชากรไทยนับถือพุทธศาสนามากกว่าร้อยละ 94 และมีพุทธศาสนิกชนมากเป็นอันดับ 4 ของโลก (รองจากประเทศจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม ตามลำดับ)

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] อ้างอิง

  • นนท์ ธรรมสถิตย์. พระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ไทย. กรุงเทพฯ ; โรงพิมพ์ เอดิสัน. 2532.
  • พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). พุทธศาสน์กับชาติไทย. กรุงเทพฯ; มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. ๒๕๓๖
  • พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). พุทธศาสนากับสังคมไทย. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง. พิมพ์ครั้งที่ ๒, ๒๕๓๒.
  • พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) พระพุทธศาสนาในอาเซีย. กรุงเทพฯ ธรรมสภา, ๒๕๔๐.
  • พระราชธรรมนิเทศ,(ระแบบ ฐิตญาโณ). ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ. มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๓๖.
  • เสถียร โพธินันทะ. ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ฉบับมุขปาฐะ เล่ม ๒ กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย. ๒๕๓๕.
  • จำนงค์ ทองประเสริฐ, มหาจุฬาฯ ในอดีต, มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2532, 128-133

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น


Commons:Category
คอมมอนส์ มีภาพและสื่ออื่นๆ เกี่ยวกับ:
พุทธศาสนาในประเทศไทย


aa - ab - af - ak - als - am - an - ang - ar - arc - as - ast - av - ay - az - ba - bar - bat_smg - bcl - be - be_x_old - bg - bh - bi - bm - bn - bo - bpy - br - bs - bug - bxr - ca - cbk_zam - cdo - ce - ceb - ch - cho - chr - chy - co - cr - crh - cs - csb - cu - cv - cy - da - de - diq - dsb - dv - dz - ee - el - eml - en - eo - es - et - eu - ext - fa - ff - fi - fiu_vro - fj - fo - fr - frp - fur - fy - ga - gan - gd - gl - glk - gn - got - gu - gv - ha - hak - haw - he - hi - hif - ho - hr - hsb - ht - hu - hy - hz - ia - id - ie - ig - ii - ik - ilo - io - is - it - iu - ja - jbo - jv - ka - kaa - kab - kg - ki - kj - kk - kl - km - kn - ko - kr - ks - ksh - ku - kv - kw - ky - la - lad - lb - lbe - lg - li - lij - lmo - ln - lo - lt - lv - map_bms - mdf - mg - mh - mi - mk - ml - mn - mo - mr - mt - mus - my - myv - mzn - na - nah - nap - nds - nds_nl - ne - new - ng - nl - nn - no - nov - nrm - nv - ny - oc - om - or - os - pa - pag - pam - pap - pdc - pi - pih - pl - pms - ps - pt - qu - quality - rm - rmy - rn - ro - roa_rup - roa_tara - ru - rw - sa - sah - sc - scn - sco - sd - se - sg - sh - si - simple - sk - sl - sm - sn - so - sr - srn - ss - st - stq - su - sv - sw - szl - ta - te - tet - tg - th - ti - tk - tl - tlh - tn - to - tpi - tr - ts - tt - tum - tw - ty - udm - ug - uk - ur - uz - ve - vec - vi - vls - vo - wa - war - wo - wuu - xal - xh - yi - yo - za - zea - zh - zh_classical - zh_min_nan - zh_yue - zu -