See also ebooksgratis.com: no banners, no cookies, totally FREE.

CLASSICISTRANIERI HOME PAGE - YOUTUBE CHANNEL
Privacy Policy Cookie Policy Terms and Conditions
อาณาจักรล้านช้าง - วิกิพีเดีย

อาณาจักรล้านช้าง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

รูปช้างสามเศียรและร่มขาว (ฉัตร) ตราสัญลักษณ์ของอาณาจักรล้านช้าง
รูปช้างสามเศียรและร่มขาว (ฉัตร) ตราสัญลักษณ์ของอาณาจักรล้านช้าง
พระธาตุหลวง สถาปัตยกรรมล้านช้าง ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศลาวในปัจจุบัน
พระธาตุหลวง สถาปัตยกรรมล้านช้าง ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศลาวในปัจจุบัน

อาณาจักรล้านช้าง (ภาษาลาว: ລ້ານຊ້າງ) เป็นอาณาจักรของชนชาติลาวซึ่งตั้งอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำโขง มีอาณาเขตอยู่ในบริเวณประเทศลาวทั้งหมด ตลอดจนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โดยมีความเจริญรุ่งเรืองทั้งการเมืองการปกครอง ด้านศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนพระพุทธศาสนา ที่มีพัฒนาการเคียงคู่มาพร้อมกันอาณาจักรอื่นๆใกล้เคียง ทั้งล้านนา สยาม พม่า และเขมร

เนื้อหา

[แก้] การก่อตั้ง

นักประวัติศาสตร์ลาวเชื่อกันว่า ชาวลาวเดิมตั้งถิ่นฐานอยู่ระหว่างแม่น้ำฮวงโหกับแม่น้ำแยงซีเกียงแถบมณฑลเสฉวนในประเทศจีนปัจจุบัน ต่อมาได้ถูกจีนรุกรานจึงได้อพยพมาทางตอนใต้ของเสฉวนจนถึงยูนนาน ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าหนองแสหรืออาณาจักรน่านเจ้าโดยได้มีความเจริญรุ่งเรืองและดำรงเอกราชมากว่าร้อยปี จนถึงสมัยของขุนบรมราชาธิราชที่ได้ทรงสถาปนาเมืองใหม่ที่ นาน้อยอ้อยหนู โดยให้ชื่อว่า "เมืองแถน" หรือ "เมืองกาหลง" ซึ่งต่อมาขุนบรมก็ได้แผ่ขยายอาณาจักรออกไป โดยทรงส่งโอรสไปปกครองเมืองต่างๆ ในแถบอินโดจีน อันได้แก่

  1. ขุนลอ ปกครองเมืองชวา (ต่อมาเรียกว่าหลวงพระบาง)
  2. ท้าวผาล้าน ปกครองเมืองหอแต (ต้าหอ)
  3. ท้าวจุลง ปกครองเมืองโกดแท้แผนปม
  4. ท้าวคำผง ปกครองเมืองเชียงใหม่
  5. ท้าวอิน ปกครองเมืองศรีอยุธยา (ละโว้)
  6. ท้าวกม ปกครองเมืองมอน (อินทรปัต)
  7. ท้าวเจือง ปกครองเมืองพวน (เชียงขวาง)

เมื่อ พ.ศ. 1300 ขุนลอ ซึ่งถือเป็นปฐมกษัตริย์ลาว ได้ทรงตั้งเมืองชวาเป็นราชธานีของอาณาจักรล้านช้างและได้เปลี่ยนชื่อเมืองใหม่ว่า "เชียงทอง" โดยพระองค์ได้ทรงขับไล่พวกเขมรซึ่งมีอำนาจอยู่ในแถบนี้ได้สำเร็จ และทรงสร้างความเจริญมั่นคงให้แก่อาณาจักรสืบมา และมีกษัตริย์ปกครองต่อมาอีกหลายรัชสมัย

[แก้] การรวมชาติและการสร้างความเป็นปึกแผ่นโดยพระเจ้าฟ้างุ้ม

พระเจ้าฟ้างุ้ม(พ.ศ. 1896 - พ.ศ. 1916) ได้รับการยกย่องในฐานะ "พระบิดาของชาติลาว" เนื่องจากพระองค์มีบทบาทในการรวบรวมแผ่นดินลาวให้เป็นปึกแผ่น และทรงยกย่องให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักของอาณาจักร

พระเจ้าฟ้างุ้มเป็นพระราชโอรสของท้าวผีฟ้า และเป็นพระราชนัดดาของพระยาสุวรรณคำผง โดยในรัชสมัยของพระยาคำผง ท้าวผีฟ้า ซึ่งเป็นพระบิดาของพระเจ้าฟ้างุ้มได้ถูกเนรเทศ จึงเสด็จหนีไปพึ่งพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์เขมร ในเวลาต่อมาเมื่อสิ้นรัชสมัยของพระยาคำผง อันเป็นช่วงเวลาที่อาณาจักรเขมรเริ่มเสื่อมอำนาจ ในขณะเดียวกันที่อาณาจักรสุโขทัยเข้มแข็งขึ้น ฝ่ายเขมรจึงต้องการคานอำนาจของสุโขทัย จึงได้สนับสนุนให้พระยาฟ้างุ้มซึ่งเสด็จติดตามพระราชบิดาไปประทับที่อาณาจักรเขมรนั้น นำกำลังเข้าแย่งชิงอำนาจจากพระยาฟ้าคำเฮียวซึ่งเป็นพระปิตุลา (อา) ผู้ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระยาคำผง พระยาฟ้างุ้มสามารถเอาชนะพระยาฟ้าคำเฮียวได้ จึงเสด็จขึ้นครองราชย์และสถาปนาอาณาจักรล้านช้างขึ้นอย่างเป็นทางการ

ในรัชสมัยของพระยาฟ้างุ้ม แม้พระองค์จะได้สร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงให้กับอาณาจักรล้านช้าง แต่อิทธิพลของขุนนางฝ่ายเขมร ได้เข้ามามีบทบาทในอาณาจักรล้านช้างเป็นอย่างมาก จนสร้างเกิดความขัดแย้งขึ้น จนในที่สุดพระองค์จึงถูกบรรดาขุนนางร่วมกันปลดออกจากพระราชสมบัติในปี พ.ศ. 1899 แล้วอัญเชิญพระยาอุ่นเฮือนพระราชโอรสขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระราชบิดา ส่วนพระยาฟ้างุ้มได้เสด็จมาประทับอยู่ ณ เมืองน่าน กระทั่งสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 1916

ในรัชสมัยของพระยาอุ่นเฮือน (พ.ศ. 1899 – 1916) และอีกสองรัชสมัยต่อมา คือในรัชสมัยของพระเจ้าสามแสนไทยไตรภูวนาถ(พ.ศ. 1916 – 1959) และพระยาล้านคำแดง(พ.ศ. 1959 – 1971) เป็นช่วงที่อาณาจักรล้านช้างปลอดจากการรุกรานจากภายนอก เนื่องด้วยการเสื่อมอำนาจลงของอาณาจักรเขมรเป็นสำคัญ อีกทั้งฝ่ายสุโขทัยที่เข้มแข็งขึ้นก็มุ่งอยู่กับการปราบปรามอำนาจของเขมรที่เคยมีเหนือดินแดนตน ทางอาณาจักรจามปาซึ่งเพิ่งพ่ายแพ้ต่อจักรวรรดิมองโกลก็ยังไม่เข้มแข็ง การแข่งขันกันสร้างเสริมความมั่นคงของสุโขทัยและล้านนาอันเป็นอาณาจักรที่ได้รับการสถาปนาขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้อาณาจักรล้านช้างก็ต้องพยายามเสริมสร้างความมั่นคงของตนด้วย โดยได้มีการจัดทำบัญชีไพร่พลและปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่ ซึ่งด้วยทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ ก็ทำให้อาณาจักรล้านช้างมีความมั่นคงเป็นอย่างมาก

[แก้] ความอ่อนแอภายใน

วัดวิชุนราช สร้างในสมัยพระเจ้าวิชุนราช
วัดวิชุนราช สร้างในสมัยพระเจ้าวิชุนราช

หลังรัชสมัยของพระยาล้านคำแดง อาณาจักรล้านช้างได้ตกอยู่ในความยุ่งเหยิง เนื่องจากอำนาจที่แท้จริงนั้นตกอยู่ในมือของพระนางมหาเทวี (นางแก้วพิมพา) ซึ่งเป็นพระขนิษฐาของพระยาล้านคำแดง พระนางได้ใช้อำนาจแต่งตั้ง ท้าวพรหมทัต พระโอรสของพระยาล้านคำแดง ขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่ครองราชย์ได้สิบเดือนก็เกิดความขัดแย้งกัน พระนางมหาเทวีจึงได้ให้ลอบปลงพระชนม์ท้าวพรหมทัตเสีย แล้วแต่งตั้งให้ ท้าวคำเต็มซ้า พระอนุชาของพระนางเองขึ้นเป็นกษัตริย์แทน แต่ไม่นานก็เกิดความขัดแย้งระหว่างกันขึ้น พระนางมหาเทวีจึงได้ทรงปลดท้าวคำเต็มซ้าออกจากราชสมบัติ แล้วแต่งตั้งกษัตริย์พระองค์ใหม่ขึ้นอีก การแต่งตั้งกษัตริย์ตามอำเภอใจเช่นนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง จนสร้างความระส่ำระสายภายในราชสำนักเป็นอย่างมาก

ต่อมาได้มีชาวบ้านผู้หนึ่งอ้างตนว่าเป็นพระยาสามแสนไทย กลับชาติมาเกิด ซึ่งก็ได้รับความเลื่อมใสจากประชาชนเป็นจำนวนมาก พระนางมหาเทวีจึงได้แต่งตั้งให้ชาวบ้านผู้นั้นขึ้นเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่าพระยาคำเกิด แต่ครองราชย์ได้สามปีก็เสด็จสวรรคต ขุนนางทั้งหลายปรึกษากันแล้วเห็นว่านางมหาเทวีนั้นได้สร้างความเสียหายให้แก่บ้านเมือง จึงร่วมกันจับกุมพระนางไปสำเร็จโทษเสีย จากนั้นได้อัญเชิญพระเจ้าไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้ว พระราชโอรสของพระยาล้านคำแดง เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติในปี พ.ศ. 1981 ความยุ่งเหยิงเป็นเวลานานร่วมสิบปีจึงได้ยุติ

พ.ศ. 2023 จักรวรรดิเวียดนามซึ่งเริ่มมีกำลังกล้าแข็งจึงได้ทียกทัพเข้ามารุกรานและสามารถยึดครองเมืองเชียงทองอันเป็นเมืองหลวงไว้ได้ พระเจ้าไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้วต้องเสด็จหนีไปประทับอยู่ ณ เมืองเชียงคาน แล้วมอบพระราชสมบัติให้กับพระเจ้าสุวรรณบัลลังก์ ซึ่งเป็นพระราชโอรส

พระเจ้าสุวรรณบัลลังก์ได้นำไพร่พลเข้าขับไล่ชาวเวียดนามออกไปได้ จากนั้นก็เวนพระราชสมบัติคืนให้แก่พระราชบิดา พระเจ้าไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้วจึงเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นครั้งที่สอง กระทั่งเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2022 พระเจ้าสุวรรณบัลลังก์จึงได้เสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระราชบิดาอีกครั้ง จวบจนเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2029 พระยาหล้าแสนไทย พระอนุชาได้เสด็จขึ้นครองราชย์และเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2039 โดยได้มอบพระราชสมบัติให้แก่เจ้าชมพูพระราชโอรส แต่เจ้าชมพูครองราชย์อยู่ได้ห้าปีก็ถูกบรรดาขุนนางร่วมกันก่อกบฏแล้วจับสำเร็จโทษเสีย จากนั้นก็อัญเชิญพระเจ้าวิชุลราช พระราชโอรสของพระเจ้าไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้ว เสด็จขึ้นครองราชย์ในปีพ.ศ. 2044 พระองค์โดยโปรดให้สร้างวัดวิชุลราชแล้วอัญเชิญพระบางมาประดิษฐาน ดังนั้นเมืองเชียงทองจึงถูกเรียกว่าหลวงพระบางนับแต่นั้นมา

[แก้] การฟื้นฟูอาณาจักร

พระบาง พระคู่บ้านคู่เมืองของอาณาจักรล้านช้าง
พระบาง พระคู่บ้านคู่เมืองของอาณาจักรล้านช้าง

[แก้] พระเจ้าโพธิสารราช

พระเจ้าโพธิสารราช (พ.ศ. 2063 - พ.ศ. 2090) พระองค์ได้รับยกย่องว่าทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินลาวที่ฉลาดหลักแหลมและใจบุญมาก พระองค์มีความเชื่อถือและเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็อย่างมาก ทรงประกาศห้ามการพิธีบูชาไหว้ผีต่างๆ อีกทั้งในด้านศิลปะและวรรณกรรมต่างๆ ก็ได้เจริญรุ่งเรืองอย่างมากในยุคนี้

ในรัชสมัยนี้อาณาจักรล้านนาได้อ่อนแอลงเป็นอย่างมาก สืบเนื่องจากสงครามอย่างยาวนานกับอาณาจักรอยุธยา รวมถึงจากภัยธรรมชาติ และความล้มเหลวในการรุกรานเมืองเชียงตุง เปิดช่องให้อาณาจักรข้างเคียงอย่างล้านช้างและหงสาวดีเข้าไปมีอิทธิพลภายใน และเมื่อพระเจ้าเกศเชษฐราชแห่งล้านนาทรงเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2088 โดยไม่สามารถสรรหาผู้เหมาะสมที่จะเสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อได้ เหล่าขุนนางแห่งล้านนาจึงได้อัญเชิญพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช พระราชโอรสของพระเจ้าโพธิสารและเจ้าหญิงเชื้อสายล้านนา ให้เสด็จขึ้นครองอาณาจักรล้านนาในปี พ.ศ. 2089 เพื่อให้อาณาจักรล้านช้างคานอำนาจกับอิทธิพลของหงสาวดี

[แก้] สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช

สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช ผู้สถาปนากรุงเวียงจันทร์
สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช ผู้สถาปนากรุงเวียงจันทร์

สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช(พ.ศ. 2091- พ.ศ. 2114) พระองค์ทรงเป็นวีรกษัตริย์และมหาราชของประวัติศาสตร์ลาว โดยทรงทำสงครามกับพม่า และยังสามารถยึดครองล้านนาเอาไว้ได้ นอกจากนั้นยังทรงเจริญพระราชไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ นอกจากพระราชปรีชาทางการทหารแล้วพระองค์ยังทรงเป็นองค์อุปถัมภ์พุทธศาสนา โดยพระองค์ทรงโปรดให้สร้างพระธาตุหลวง พระธาตุพนม พระธาตุศรีสองรัก นอกจากนั้นยังทรงสร้างวัดพระแก้วที่เวียงจันทน์ และวัดองค์ตื้อที่เมืองหนองคาย

สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชเป็นพระราชโอรสของพระโพธิสาร และเสด็จขึ้นครองราชย์อาณาจักรล้านนาใน พ.ศ. 2089 และเสด็จขึ้นครองราชย์อาณาจักรล้านช้างใน พ.ศ. 2091 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่หงสาวดีภายใต้การปกครองของพระเจ้าบุเรงนองเป็นอาณาจักรที่มีความเข้มแข็งและทรงอิทธิพลอย่างมาก โดยในปี พ.ศ. 2103 สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชต้องย้ายราชธานีจากหลวงพระบางมาอยู่ที่เวียงจันทน์ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของหลวงพระบาง เพื่อหลีกเลี่ยงอำนาจของหงสาวดี และให้ชื่อราชธานีแห่งใหม่นี้ว่า "พระนครจันทบุรีศรีสัตนาคนหุตอุตมราชธานี"

พ.ศ. 2107 ระหว่างที่สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชมิได้ประทับอยู่ในเมืองเวียงจันทน์ ทัพพม่าได้ติดตามจับกุมขุนนางเชียงใหม่มาถึงเวียงจันทน์ และสามารถตีเอาเมืองเวียงจันทน์และกวาดต้อนเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงกลับไปยังพม่าเป็นจำนวนมาก รวมถึงพระมหาอุปราชวรวังโสที่เป็นพระอนุชาของพระไชยเชษฐาธิราช แล้วจึงถอยทัพกลับไป

พ.ศ. 2014 สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชได้เสด็จออกปราบกบฏ ณ เมืองรามรักองการ แล้วสูญหายไปในศึกนั้น ชาวเมืองจึงได้อัญเชิญ พระเจ้าหน่อแก้ว พระโอรสของสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชซึ่งเพิ่งประสูติให้เสด็จขึ้นครองราชย์

[แก้] การแทรกแซงของกรุงหงสาวดี

วัดเชียงทอง สถาปัตยกรรมล้านช้าง สมัยสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช
วัดเชียงทอง สถาปัตยกรรมล้านช้าง สมัยสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช

พ.ศ. 2014 พระยาแสนสุรินทร์ลือชัย ได้ปลดพระเจ้าหน่อแก้วออกราชสมบัติ แล้วขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แทน

พ.ศ. 2018 ฝ่ายพม่าได้ยกทัพมาตีเมืองเวียงจันทน์ได้ จึงคุมตัวพระยาแสนสุรินทร์ลือชัยกลับหงสาวดี แล้วแต่งตั้งให้ พระมหาอุปราชวรวังโส พระอนุชาของสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชซึ่งถูกคุมตัวไปหงสาวดีตั้งแต่ครั้งที่พม่าตีเมืองเวียงจันทน์ครั้งแรก ขึ้นปกครองเมือง

พ.ศ. 2123 ได้เกิดกบฏขึ้นที่เมืองเวียงจันทน์ พระมหาอุปราชสู้ไม่ได้จึงเสด็จหนีแต่ได้สิ้นพระชนม์ระหว่างการเดินทาง เมื่อพม่าได้ยกทัพมาปราบกบฏได้ แล้วแต่งตั้งให้พระยาแสนสุรินทร์ลือชัยขึ้นปกครองเมืองอีกครั้ง กระทั่งถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ. 2125 จากนั้น พระยานครน้อย บุตรของพระยาแสนสุรินทร์ลือชัยได้ขึ้นปกครองเมืองสืบต่อจากบิดา แต่ไม่ได้รับความนิยมจากชาวเมืองจึงถูกขุนนางร่วมกันปลดออกจากราชสมบัติ นับแต่นั้นเมืองเวียงจันทน์ก็อยู่ในสภาพไร้ผู้ปกครองถึงแปดปี ขุนนางทั้งหลายจึงได้แต่งตั้งให้คณะสงฆ์เดินทางไปเข้าเฝ้าพระเจ้าบุเรงนองเพื่อทูลขอตัวพระเจ้าหน่อแก้วมาครองเมือง พระยาหน่อแก้วจึงได้ขึ้นครองเมืองเวียงจันทน์อีกครั้งในปีพ.ศ. 2134

พ.ศ. 2139 พระยาหน่อแก้วสวรรคต ทำให้พระวรวงศาธรรมิกราชซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของพระยาหน่อแก้ว ได้รับการอัญเชิญให้ปกครองเมืองเวียงจันทน์

พ.ศ. 2164 พระวรวงศาธรรมิกราชเกิดข้อขัดแย้งกับพระอุปยุวราช พระราชโอรส จนถึงขั้นเข้าต่อสู้กัน พระวรวงศาธรรมิกราชเสด็จสวรรคตในการต่อสู้ พระอุปยุวราชจึงเสด็จขึ้นครองราชย์ แต่ทรงครองราชย์ได้เพียงปีกว่าก็เสด็จสวรรคต ประชาชนก็ได้ร่วมกันอัญเชิญพระยามหานามอันเป็นขุนนางผู้ใหญ่ดำรงตำแหน่งพระยานครขึ้นเป็นกษัตริย์ มีพระนามว่าพระยาบัณฑิตโพธิสาร ทรงครองราชย์ได้สี่ปีก็เสด็จสวรรคต ประชาชนจึงร่วมกันอัญเชิญพระหม่อมแก้ว พระโอรสในพระวรวงศาธรรมิกราช เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2170 เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต พระยาอุปยุวราช พระราชโอรสได้เสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระราชบิดา เมื่อพระอุปยุวราชเสด็จสวรรคต พระโอรสทั้งสองพระองค์ คือ ท้าวต่อนคำ และท้าววิชัย ได้ร่วมกันปกครองบ้านเมือง กระทั่งท้าววิชัยเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2179

[แก้] ความรุ่งเรืองครั้งสุดท้าย

[แก้] พระเจ้าสุริยวงศาธรรมมิกราช

พระเจ้าสุริยวงศาธรรมมิกราช(พ.ศ. 2181- พ.ศ. 2238) เป็นยุคแห่งความเจริญรุ่งเรืองอีกยุคหนึ่ง เนื่องด้วยพระองค์มีวิธีการปกครองบ้านเมืองหลักแหลมและเป็นธรรม ทำให้ล้านช้างมีความมั่นคงและสงบร่มเย็นกว่าครึ่งศตวรรษ ทั้งความรุ่งเรื่องทางสถาปัตยกรรม อักษรศาสตร์ ศิลปะแขนงต่างๆ ตลอดจนการค้าขายกับต่างขาติ

พระองค์ทรงเป็นผุ้ที่มีความยุติธรรม จากรณีที่พระราชโอรสของพระองค์ได้กระทำความผิดลักลอบเป็นชู้กับภริยาของขุนนางผู้หนึ่ง พระองค์ก็ลงโทษตามอาญาถึงขั้นประหารชีวิตโดยมิได้ใส่ใจว่าเป็นพระโอรส ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงอยู่ในสภาพที่ไร้รัชทายาท และเมื่อพระองค์สวรรคตโดยไร้รัชทายาท ประชาชนจึงได้อัญเชิญพระยาเมืองจันซึ่งเป็นขุนนางผู้ใหญ่ให้ขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่ก็ครองราชย์อยู่ได้หกปี เจ้านันทราชแห่งเมืองน่านก็ยกทัพเข้ามาชิงเมืองเวียงจันทน์ไว้ได้ เจ้านันทราชจึงได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้างใน พ.ศ. 2238

[แก้] ยุคแห่งความแตกแยก

เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ราชอาณาจักรล้านช้างเกิดภาวะระส่ำระสายอย่างหนัก จนเกิดการแตกแยกออกเป็นสามพระราชอาณาจักรดังนี้

[แก้] อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์

เมื่อพระไชยองค์เว้ที่แต่เดิมเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงผู้หนึ่งซึ่งลี้ภัยไปประทับอยู่ ณ เมืองเว้ประเทศเวียดนาม ได้เข้านำกำลังกลับมายึดเวียงจันท์ได้สำเร็จ จึงทำการสำเร็จโทษเจ้านันทราช แล้วขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นกษัตริย์กรุงเวียงจันทน์ใน พ.ศ. 2241 และทรงแต่งตั้งท้าวลองเป็นอุปราช ให้ขึ้นไปครองเมืองหลวงพระบาง แต่พระองค์ก็มิได้รับการยอมรับจากชาวลาวทั้งมวล เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับฝ่ายเวียดนาม ทำให้บรรดาขุนนางและเชื้อพระวงศ์พากันแข็งข้อ

พ.ศ. 2249 เจ้ากิ่งกิสราชกับเจ้าองค์คำ พระราชนัดดาของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ที่หนีไปประทับที่เมืองพงสา (อยู่ในแขวงไซยะบูลีในปัจจุบัน) ได้ยกทัพเข้ามาชิงเมืองหลวงพระบางและจะยกเข้ามาตีเอาเวียงจันทน์ พระไชยองค์เว้เกรงจะต้านกองทัพของเจ้ากิ่งกิสราชไว้มิได้ จึงมีพระราชสาส์นไปขอความช่วยเหลือจากกรุงศรีอยุธยา ฝ่ายพระเพทราชาแห่งกรุงศรีอยุธยาจึงให้ยกทัพขึ้นมาเกลี้ยกล่อมให้ทั้งสองนครเป็นไมตรีต่อกัน แล้วได้ทำการปักปันเขตแดนซึ่งกันและกัน ทำให้หลวงพระบางและเวียงจันทน์ขาดจากกันใน พ.ศ. 2250 ต่อมาเมื่อพระไชยองค์เว้เสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2273 เสนาอำมาตย์ทั้งหลายจึงอันเชิญโอรสของพระไชยองค์เว้ขึ้นครองราชสมบัติ ทรงพระนามว่าพระเจ้าศิริบุญสาร

พ.ศ. 2321 พระเจ้าตากสินแห่งกรุงธนบุรี ได้ให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพมาตีนครเวียงจันทน์ เนื่องจากพระเจ้าสิริบุญสารไม่ให้ความร่วมมือกับไทยในการยกทัพไปปราบปรามพม่า อีกทั้งเจ้าสุริยวงศ์แห่งหลวงพระบางได้ฟ้องต่อไทยว่าพระเจ้าศิริบุญสารเป็นใจร่วมกับพม่า ต่อมาเมื่อพ.ศ. 2322 เจ้านันทเสน โอรสของพระเจ้าศิริบุญสารมีความเสียพระทัยที่พระบิดาหลบเอาตัวรอดหนีออกจากเมืองไป จึงตกลงใจเปิดประตูเมืองให้กับกองทัพไทยเข้ายึดเอาเมืองไว้ได้ เป็นอันว่าอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ได้สูญเสียเอกราชให้แก่ไทยในปีนี้เอง

[แก้] อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง

เนื่องจากการที่พระไชยองค์เว้สามารถเข้ายึดเวียงจันทน์ไว้ได้ในปี พ.ศ. 2249 เจ้ากิ่งกิสราชและเจ้าองค์คำ พระราชนัดดาของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช จึงเสด็จหนีไปอยู่ที่เมืองพงสา แล้วทั้งสองก็สามารถยกพลกลับเข้ายึดเมืองหลวงพระบางไว้ได้ใน พ.ศ. 2250 พระเพทราชาจึงได้ส่งกองทัพมาเจรจาและให้ทำการแบ่งปันเขตแดนกัน อาณาจักรล้านช้างจึงแยกออกเป็นสองพระราชอาณาจักกร คือล้านช้างหลวงพระบาง และล้านช้างเวียงจันทน์ในปีนั้นเอง

พ.ศ. 2256 เจ้ากิ่งกิสราชเสด็จสวรรคต เจ้าองค์คำผู้เป็นอุปราชได้เสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อมา ฝ่ายเจ้าอินทโฉมซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชเช่นเดียวกัน ที่ได้เสด็จหนีไปอยู่ที่เมืองแพร่เมื่อครั้งพระไชยองค์เว้เข้ายึดเวียงจันทน์ได้นั้น ได้เสด็จเข้ามาครองเมืองร่วมกันกับเจ้าองค์คำ แต่ต่อมาเจ้าอินทโสมได้ปิดประตูเมืองไม่ให้เจ้าองค์คำเสด็จกลับเข้าเมือง ทำให้เจ้าองค์คำเสด็จออกบวชและได้รับเชิญขึ้นกษัตริย์เมืองเชียงใหม่ในเวลาต่อมา

พ.ศ. 2289 เจ้าอินทโสมเสด็จสวรรคต เจ้าโชติกะพระราชโอรสได้เสด็จขึ้นครองราชย์ ต่อมาเกิดเหตุการณ์พม่ายกทัพมาตีเชียงใหม่ แล้วเลยมาตีเอาหลวงพระบาง เจ้าโชติกะสู้ไม่ได้ จึงหลบหนีออกจากเมือง ทำให้ฝ่ายพม่าเข้ายึดเมืองแล้วจับตัวเอาเจ้าสุริยวงศ์พระอนุชาของเจ้าโชติกะ พร้อมทั้งบรรดาเสนาอำมาตย์ไปไว้ที่พม่า ต่อมาเจ้าสุริยวงศ์ได้เสด็จหนีกลับออกจากพม่า แล้วยกพลกลับมาตีหลวงพระบางและเสวยราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินเมืองหลวงพระบางในปีพ.ศ. 2314

พ.ศ. 2318 กองทัพไทยยกมาตีเอาเวียงจันทน์ พระเจ้าสุริยวงศ์จึงรับอาสาแม่ทัพไทยเข้าตีเวียงจันทน์ แต่เมื่อไทยได้เวียงจันทน์แล้ว ฝ่ายไทยก็ได้บังคับให้เจ้าสุริยวงศ์ยอมอ่อนน้อมต่อไทยเช่นเดียวกับเวียงจันทน์ อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางซึ่งได้แยกออกจากเป็นเอกราชจากเวียงจันทน์ ใน พ.ศ. 2250 นั้น ครองเอกราชได้เพียง 71 ปี ก็เสียเอกราชให้ไทยในปี พ.ศ. 2321 พระเจ้าสุริยวงศ์จึงกลายเป็นเจ้านครหลวงพระบาง ภายใต้การปกครองของไทย และเสด็จสววรคตใน ปี พ.ศ. 2334

[แก้] อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์

เมื่อพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชแห่งนครเวียงจันทน์เสด็จสวรรคต พระยาเมืองจันผู้เป็นเสนาบดีได้ชิงเอาราชสมบัติ และจะเอานางสุมังคลา หลานของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช (ซึ่งเป็นแม่หม้ายและมีลูกในครรภ์) ขึ้นเป็นเมีย แต่นางไม่ยอมจึงหนีไปขอความช่วยเหลือจากพระครูยอดแก้วโพนสะเม็ก พระครูจึงพาญาติโยมของตนประมาณ 3,000 คนและนางสุมังคลาหนีออกจากเวียงจันทน์ไปซ่อนอยู่ที่เมืองบริคัน แล้วจึงให้กำเนิดบุตรชื่อว่า เจ้าหน่อกษัตริย์

ต่อมานางแพงเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ จึงได้อาราธนาพระครูยอดแก้วมาปกครองบ้านเมืองแทน แต่ไม่นานต่อมาพระครูก็ให้คนไปเชิญเอาเจ้าหน่อกษัตริย์ มาทำพิธีอภิเษกเป็นกษัตริย์ครองนครจำปาศักดิ์ในปี พ.ศ. 2257 ทรงพระนามว่า เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร พระองค์จึงได้ประกาศอาณาเขตแยกออกจากเวียงจันทน์ นับตั้งแต่เมืองมุกดาหาร เมืองนครพนม เมืองสุวรรณภูมิ เมืองยโสธร เมืองเชียงแตง เมืองสาละวัน เมืองศรีนครเขต เมืองคำทอง เมืองตะโปน เมืองอัตตะปือ เมืองโขงเจียม เมืองศรีจำปัง เมืองรัตนบุรี เป็นต้น

เมื่อพระเจ้าสร้อยศรีสมุทร เสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2281 เจ้าไชยกุมารพระราชโอรสจึงเสด็จขึ้นครองราชย์ แลแต่งตั้งให้เจ้าธัมมเทโว พระอนุชาให้เป็นอุปราช ต่อมากองทัพไทยได้ยกมาตีเวียงจันทน์ใน พ.ศ. 2321 ได้ยกกองทัพผ่านมาทางเมืองจำปาศักดิ์ และตีเอาเมืองจำปาศักดิ์ได้โดยง่าย เพราะเจ้าไชยกุมารยอมออกมาอ่อนน้อมโดยไม่มีการต้อสู้ นครจำปาศักดิ์ที่แยกตัวออกจากเวียงจันทน์และรักษาเอกราชได้เพียง 64 ปี ก็สูญเสียเอกราชให้แก่ฝ่ายไทย เช่นเดียวกับเวียงจันทน์และหลวงพระบาง

[แก้] การปกครองของสยาม

[แก้] อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์

ภายหลังที่สูญเสียเอกราชให้แก่ไทย พระเจ้าแผ่นดินไทยจึงให้เจ้านันทเสนโอรสของพระเจ้าศิริบุญสาร เสด็จขึ้นครองราชย์แทน แล้วแต่งตั้งเจ้าอินทวงศ์เป็นอุปราช ส่วนเจ้าอนุวงศ์และเจ้าพรหมวงศ์ให้ลงไปเป็นตัวประกันที่กรุงธนบุรี แต่ต่อมาก็เกิดข้อพิพาทฟ้องร้องกันกับเจ้าอนุรุทธแห่งนครหลวงพระบางหลายครั้ง จนครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2336 เจ้านันทเสนถูกกล่าวหาว่าสมคบกับเจ้าเมืองนครพนมและเวียดนามจะก่อการกบฏ จึงถูกเรียกตัวลงไปสอบสวนที่กรุงเทพฯ พระองค์ต่อสู้คดีอยู่ 2 ปี ก็เสด็จสวรรคต

เจ้าอินทวงศ์พระอนุชาของเจ้านันทเสนได้ครองราชย์สืบต่อ และครองเมืองมาถึงปี พ.ศ. 2346 ก็ถึงแก่พิราลัย ทำให้เจ้าอนุวงศ์ พระราชโอรสองค์ที่ 3 ของพระเจ้าศิริบุญสารได้ขึ้นครองราชสมบัติในนครเวียงจันทน์ พระองค์เป็นผู้มีความสามารถในหลายด้าน โดยได้เคยยกทัพไปช่วยฝ่ายไทยรบกับพม่าจนได้รับชัยชนะหลายครั้ง ตลอดจนได้ทรงจัดแจงสร้างบ้านแปลงเมืองให้เจริญรุ่งเรืองในหลายด้าน ทั้งในทางพระพุทธศานาและทางทหาร ทั้งได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับหลวงพระบางและจำปาศักดิ์ พระองค์ทรงมีความพยายามที่จะกอบกู้อิสรภาพคืนจากไทยแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จึงถูกจับตัวส่งลงไปที่กรุงเทพฯ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และสด็จสวรรคตในพ.ศ. 2371

เมื่อกองทัพไทยตีนครเวียงจันทน์ครั้งที่ 2 ในรัชกาลของเจ้าอนุวงศ์นี้ ฝ่ายไทย (รัชกาลที่ 3) ได้สั่งให้ "ทำลายนครเวียงจันทน์ให้สิ้นซาก" ทั้งกำแพงเมืองและวัดวาอารามต่างๆ ตลอดจนต้นไม้และไร่นาก็ถูกเผาจนหมดสิ้น อีกทั้งให้ล้มเลิกอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์เสีย มิให้มีเมืองและเจ้าครองนครอีกต่อไป นครเวียงจันทน์ที่เคยรุ่งเรืองและอุดมสมบูรณ์มาหลายร้อยปี ก็ถูกทำลายลงจนถึงกาลอวสานกลายเป็นเมืองร้าง ในปี พ.ศ. 2371

[แก้] อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง

เมื่อสูญเสียเอกราชใน พ.ศ. 2321 ในสมัยเจ้าสุริยวงศ์ พระองค์จึงถูกคุมตัวลงไปที่กรุงธนบุรี ภายหลังจึงถูกส่งคืนมาเป็นเจ้านครหลวงพระบาง และเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2334 บรรดาเสนาอำมาตย์จึงทูลเชิญเจ้าอนุรุทธ พระอนุชาของเจ้าสุริยวงศ์ขึ้นครองราชย์ เมื่อเจ้านันทเสนแห่งเวียงจันทน์ยกทัพมาตีหลวงพระบางได้ เจ้าอนุรุทธจึงถูกส่งลงไปขังที่กรุงเทพฯอยู่ 4 ปี จึงได้เสด็จกลับมาขึ้นครองราชย์ตามเดิม และเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2339 เจ้ามันธาตุราช โอรสของเจ้าอนุรุทธะจึงได้ขึ้นครองเมืองแทนใน พ.ศ. 2360 ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จสวรรคต เจ้ามันธาตุราชจึงได้เสด็จลงไปกรุงเทพฯ เพื่ออุปสมบทต่อหน้าพระบรมศพแล้วจึงเสด็จกลับมาครองครองราชย์ตามเดิม โดยในปี พ.ศ. 2370 เกิดเหตุการณ์กบฏเจ้าอนุวงศ์ เจ้ามันธาตุราชจึงได้ส่งกำลังพลไปช่วยกองทัพไทยตีเวียงจันทน์

เมื่อเจ้ามันธาตุราชสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2379 ทางกรุงเทพฯจึงตั้งให้เจ้าสุกเสริม โอรสของเจ้ามันตุราชขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินหลวงพระบางใน พ.ศ. 2381 และสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2393 เจ้านันทราชราชโอรสองค์ที่ 2 ของเจ้ามันธาตุราชได้ครองราชสืบแทนและครองราชย์อยู่ 20 ปี จึงสวรรคตใน พ.ศ. 2414 ทำให้เจ้าอุ่นคำโอรสของเจ้ามันตุราช ได้ครองราชสมบัติสืบต่อ ในรัชสมัยนี้เจ้าอุ่นคำนี้ได้เกิดกบฏฮ่อขึ้นทำให้พระองค์หนีไปอยู่ที่เมืองปากลาย รัฐบาลไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้จึงได้ส่งกองทัพมาปราบ พร้อมทั้งปลดเจ้าอุ่นคำออกจากบัลลังก์ แล้วตั้งเจ้าคำสุกโอรสของเจ้าอุ่นคำขึ้นครองราชย์แทน ในพ.ศ. 2432

เจ้าคำสุกได้ ได้ขึ้นครองราชย์จนถึง พ.ศ. 2436 เกิดกรณีพิพาทไทย-ฝรั่งเศส รัฐบาลสยามได้ยอมยกดินแดนทางฝั่งซ้ายเเม่น้ำโขงทั้งหมดให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศส เจ้าคำสุกจึงเป็นพระเจ้าแผ่นดินหลวงพระบางภายใต้การอารักขาของฝรั่งเศส จนถึง พ.ศ. 2448 จึงสิ้นพระชนม์

[แก้] อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์

ภายหลังจากที่จำปาศักดิ์แยกเป็นอิสระจากเวียงจันทน์เมื่อ พ.ศ. 2257 โดยมีเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร ผู้เป็นหลานของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2321 ในสมัยของเจ้าไชยกุมาร นครจำปาศักดิ์ก็ต้องเสียเอกราชให้แก่ไทย ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2334 ได้เกิดกบฏขึ้นในนครจำปาศักดิ์ทำให้เจ้าไชยกุมารต้องเสด็จหนีแล้วไปสวรรคตในป่า แต่ท้าวฝ่ายหน้าแห่งบ้านสิงห์ท่า (เมืองยโสธร) กับพระปทุมสุรราช (คำผง) เจ้าเมืองอุบล ได้ยกกองกำลังไปปราบกบฏและตีเอาเมืองจำปาศักดิ์คืนมาได้ ทำให้ท้าวฝ่ายหน้าได้รับแต่งตั้งจากไทยให้เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์มีนามว่า พระวิไชยราชขัตติยวงศา

เมื่อพระวิไชยราชขัตติยวงศาถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 2350 ฝ่ายไทยจึงได้แต่งตั้งเจ้านู โอรสของเจ้าไชยกุมาร ขึ้นเป็นเจ้าเมืองแทน แต่ก็ถึงแก่พิราลัย หลังรับสุพรรณบัตรเจ้าเมืองได้เพียง 3 วัน ฝ่ายไทยจึงได้แต่งตั้งให้เจ้าหมาน้อย โอรสของอุปราชสุริโย เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ ต่อมาเกิดกบฏอ้ายสาเกียดโง้งขึ้นในเมือง ทำให้เจ้าหมาน้อยถูกส่งตัวลงไปยังกรุงเทพฯ และได้ถึงแก่กรรมที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2370 เจ้าราชบุตรโย้ โอรสของเจ้าอนุวงศ์ ที่มีความชอบจากการปราบกบฏอ้ายสา จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์กบฏเจ้าอนุวงศ์ขึ้น เจ้าราชบุตรโย้จึงถูกเจ้าฮุยจับตัวส่งให้แก่ทางกรุงเทพฯ เจ้าฮุยจึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ใน พ.ศ. 2371

เมื่อเจ้าฮุยถึงแก่พิราลัยใน พ.ศ. 2384 เจ้านาคผู้เป็นอุปราชจึงได้ครองเมืองสืบแทน จนถึงแก่พิราลัยด้วยอหิวาตกโรคใน พ.ศ. 2396 ทางฝ่ายไทยจึงได้แต่งตั้งเจ้าคำใหญ่ ผู้เป็นโอรสของเจ้าฮุย ขึ้นเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ มีนามว่า เจ้ายุติธรรมธร (คำใหญ่) จนถึง พ.ศ. 2402 ก็ถึงแก่กรรม เจ้าคำสุกผู้เป็นอนุชาจึงได้เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์สืบแทน มีพระนามว่า เจ้ายุติธรรมธร (คำสุก) พระองค์ได้ส่งบุตรชายทั้ง 3 ไปยังกรุงเทพฯจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ทั้งสามคนได้แก่ เจ้าราชดนัย (หยุย) เจ้าศักดิ์ประสิทธิ์ (เจ้าเบง) และเจ้าศักดิ์ประเสริฐ (เจ้าอุย)

เมื่อเกิดกรณีพิพาทไทย-ฝรั่งเศส ฝ่ายไทยได้ยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2446 เมื่อเจ้ายุติธรรมธร (คำสุก) ถึงแก่พิราลัย เจ้าราชดนัย (หยุย) ก็ได้รับแต่งตั้งจากฝรั่งเศสให้เป็นผู้ว่าการนครจำปาศักดิ์ ดังนั้นอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์จึงมีฐานะเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] อ้างอิง


aa - ab - af - ak - als - am - an - ang - ar - arc - as - ast - av - ay - az - ba - bar - bat_smg - bcl - be - be_x_old - bg - bh - bi - bm - bn - bo - bpy - br - bs - bug - bxr - ca - cbk_zam - cdo - ce - ceb - ch - cho - chr - chy - co - cr - crh - cs - csb - cu - cv - cy - da - de - diq - dsb - dv - dz - ee - el - eml - en - eo - es - et - eu - ext - fa - ff - fi - fiu_vro - fj - fo - fr - frp - fur - fy - ga - gan - gd - gl - glk - gn - got - gu - gv - ha - hak - haw - he - hi - hif - ho - hr - hsb - ht - hu - hy - hz - ia - id - ie - ig - ii - ik - ilo - io - is - it - iu - ja - jbo - jv - ka - kaa - kab - kg - ki - kj - kk - kl - km - kn - ko - kr - ks - ksh - ku - kv - kw - ky - la - lad - lb - lbe - lg - li - lij - lmo - ln - lo - lt - lv - map_bms - mdf - mg - mh - mi - mk - ml - mn - mo - mr - mt - mus - my - myv - mzn - na - nah - nap - nds - nds_nl - ne - new - ng - nl - nn - no - nov - nrm - nv - ny - oc - om - or - os - pa - pag - pam - pap - pdc - pi - pih - pl - pms - ps - pt - qu - quality - rm - rmy - rn - ro - roa_rup - roa_tara - ru - rw - sa - sah - sc - scn - sco - sd - se - sg - sh - si - simple - sk - sl - sm - sn - so - sr - srn - ss - st - stq - su - sv - sw - szl - ta - te - tet - tg - th - ti - tk - tl - tlh - tn - to - tpi - tr - ts - tt - tum - tw - ty - udm - ug - uk - ur - uz - ve - vec - vi - vls - vo - wa - war - wo - wuu - xal - xh - yi - yo - za - zea - zh - zh_classical - zh_min_nan - zh_yue - zu -