See also ebooksgratis.com: no banners, no cookies, totally FREE.

CLASSICISTRANIERI HOME PAGE - YOUTUBE CHANNEL
Privacy Policy Cookie Policy Terms and Conditions
สมัคร สุนทรเวช - วิกิพีเดีย

สมัคร สุนทรเวช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

บทความนี้ถูกล็อกเนื่องจากถูกก่อกวนหลายครั้งติดต่อกัน ผู้ใช้ที่ไม่ได้ลงทะเบียน หรือผู้ใช้ใหม่ จะไม่สามารถแก้ไขได้
คุณสามารถเสนอข้อความเพื่อปรับปรุงบทความ หรือขอให้ยกเลิกการป้องกันได้ในหน้าอภิปราย อย่างไรก็ตามบทความนี้สามารถแก้ไขได้ตามปกติสำหรับผู้ใช้ทั่วไป

สมัคร สุนทรเวช
สมัคร สุนทรเวช

อยู่ในวาระ
เริ่มดำรงตำแหน่ง
29 มกราคม พ.ศ. 2551
สมัยก่อนหน้า พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์

เกิด 13 มิถุนายน พ.ศ. 2478 (อายุ 73 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
สังกัดพรรค พลังประชาชน (ปัจจุบัน)
ประชากรไทย (พ.ศ. 2522)
ประชาธิปัตย์ (พ.ศ. 2511)
สมรสกับ คุณหญิงสุรัตน์ สุนทรเวช
ศาสนา พุทธ
ลายมือชื่อ

สมัคร สุนทรเวช (13 มิถุนายน 2478 — ) เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของประเทศไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ดำรงตำแหน่ง 29 มกราคม พ.ศ. 2551 — ปัจจุบัน) หัวหน้าพรรคพลังประชาชน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ก่อตั้งพรรคประชากรไทย เกิดที่กรุงเทพมหานคร เป็นนักการเมืองเก่าแก่ ที่มีเสียงพูดและลีลาการพูดเป็นเอกลักษณ์ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญมากมาย เช่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (2 สมัย) ได้ฉายาจากสื่อมวลชนทั่วไปว่า "น้าหมัก" "ออหมัก" หรือ "ชมพู่" (มาจากลักษณะจมูกของนายสมัคร) "ชาวนา" (จากกรณีกลุ่มงูเห่า) เป็นต้น

สมัครเริ่มทำงานหลังจบนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เป็นสื่อมวลชนสายการเมือง โดยเขียนบทความ และความคิดเห็น ทางการเมืองแบบไม่ประจำใน หนังสือพิมพ์สยามรัฐ, สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ และชาวกรุง ตั้งแต่ พ.ศ. 2500 จนถึง 2516 เขียนบทความ การเมืองในหนังสือพิมพ์ประชาไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2517 จนถึง 2520 และเขียนบทความในคอลัมน์ประจำ "มุมน้ำเงิน" หนังสือพิมพ์เดลิมิเร่อร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2521 จนถึง 2537

สมัครข้ามจากการเป็นสื่ออย่างเดียว มาเริ่มต้นชีวิตการเมืองโดยเข้าเป็นสมาชิก พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่ปี 2511 ลงสมัครตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนขึ้นถึงระดับชาติ จนมามีบทบาทโดดเด่นช่วงปี 2519 จากการจัดรายการสถานีวิทยุยานเกราะ ที่มีเนื้อหาโจมตีบทบาทของ ขบวนการนักศึกษาในสมัยนั้น พร้อมทั้งปลุกระดมมวลชนให้เกลียดชังขบวนการนักศึกษา และ เป็นศูนย์กลางประสานงาน ถ่ายทอดกำหนดการ และคำสั่งเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านนักศึกษาใน เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

เมื่อสิ้นสุดเหตุการณ์ ในปี พ.ศ. 2519 สมัครได้เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมๆ กับการลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ และในปี พ.ศ. 2522 ได้ก่อตั้ง พรรคประชากรไทย และดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค มีฐานคะแนนเสียงหลักในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะในเขตที่มีหน่วยทหารตั้งอยู่หนาแน่น

ความคิดและบทบาทของสมัคร มักสร้างกระแสมวลชน ทั้งสนับสนุนและคัดค้าน ได้อย่าง กว้างขวางร้อนแรง ไม่ว่าจะเป็น เหตุการณ์ 6 ตุลา, พฤษภาทมิฬ, ไอเดียหนุนกระทงโฟม, ไล่มาจนถึง การกล่าวโจมตี ประธานองคมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ทางรายการโทรทัศน์ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2549

เนื้อหา

ประวัติ

"สมัคร สุนทรเวช" เป็นบุตรของ เสวกเอก พระยาบำรุงราชบริพาร (เสมียน สุนทรเวช) กับ คุณหญิงบำรุงราชบริพาร (อำพัน จิตรกร) เป็นหลานลุงของ มหาเสวกตรี พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) นายแพทย์ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นหลานตาของ มหาเสวกตรี พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) จิตรกรประจำสำนัก

นายสมัครเป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้อง 6 คนดังนี้

  • พ.อ. (พิเศษ) พ.ญ.มยุรี พลางกูร - อดีตรองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
  • นางเยาวมาลย์ ราชวังเมือง - ประกอบธุรกิจส่วนตัว
  • พล.อ.อ.สมมต สุนทรเวช - อดีตที่ปรึกษา ทอ. (ถึงแก่กรรมแล้ว)
  • นายสมัคร สุนทรเวช
  • นายมโนมัย สุนทรเวช - พนักงานรัฐวิสาหกิจ
  • นายสุมิตร สุนทรเวช - นักการเมือง หัวหน้าพรรคประชากรไทย

สมัคร สมรสกับ คุณหญิงสุรัตน์ สุนทรเวช ที่ปรึกษาด้านการเงิน ของบริษัทใน เครือเจริญโภคภัณฑ์ มีบุตรสาวฝาแฝด คือ กานดาภา และกาญจนากร ปัจจุบันสมรสแล้วทั้งคู่ จากการที่ภรรยาทำงานอยู่กับบริษัทเอกชนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2505 สถานะการเงินของภรรยา มั่นคงพอที่จะดูแลครอบครัวได้ นายสมัคร จึงมิได้ทำงานประจำกับหน่วยงานใด โดยได้ทำงานด้านการเมืองเพียงอย่างเดียว มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516

ประวัติการศึกษา

ศึกษาเพิ่มเติม


ประวัติการทำงาน

  • พ.ศ. 2496 : เจ้าหน้าที่สอนเครื่องลงบัญชีไฟฟ้า National Cash Registered Co.,Ltd. (พ.ศ. 2496-2497)
  • พ.ศ. 2497 : เสมียนแผนกรถยนต์ และภายหลังดำรงตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าแผนกเครื่องอะไหล่ Barrow Brown Co.,Ltd. (พ.ศ. 2497-2502)
  • พ.ศ. 2502 : ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกเครื่องอะไหล่ Loxley Bangkok Co.,Ltd. (พ.ศ. 2502-2504)
  • พ.ศ. 2504 : Free Lance Guide, World Travel Service Co.,Ltd. (พ.ศ. 2504-2506)
  • พ.ศ. 2507 : ผู้จัดการแผนกเครื่องอะไหล่ บริษัทเอื้อวิทยาพาณิชย์ จำกัด (พ.ศ. 2507-2509)
  • พ.ศ. 2510 : Dietary Aid, Fox Rever Rehabilitation Hospital, Chicago U.S.A. (พ.ศ. 2510-2511)
  • พ.ศ. 2512 : ผู้จัดการแผนกเครื่องอะไหล่ บริษัท เอื้อวิทยาพาณิชย์ จำกัด (พ.ศ. 2512-2513)
  • พ.ศ. 2513 : ผู้บริหารฝ่ายขาย John Deere Thailand Co.,Ltd. (พ.ศ. 2513-2514)
  • พ.ศ. 2514 : เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย (พ.ศ. 2514-2516)
  • พ.ศ. 2516 : ลาออกจากงานประจำและทำงานการเมืองอย่างเดียวเรื่อยมา เนื่องจากภรรยามีรายได้มั่นคงพอที่จะดูแลครอบครัวแล้ว

ประวัติทางการเมือง

สมัครเริ่มต้นชีวิตการเมืองโดยสมัครเข้าเป็นสมาชิก พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อปี พ.ศ. 2511 เริ่มลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาเทศบาลกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2514 และลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2518 ในชีวิตการเมืองเคยดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง


ตลอดเวลาที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมัครได้รับการแต่งตั้งในคณะรัฐมนตรีหลายตำแหน่ง ได้แก่


สรุปประวัติทางการเมืองได้ดังนี้

การดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

สมัคร สุนทรเวช ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จากการเลือกตั้ง พ.ศ. 2543 ด้วยคะแนนเสียง 1,016,096 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนเสียงมากที่สุด นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยผู้ได้คะแนนอันดับ 2 คือ นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทย ไดัรับคะแนนเสียงเพียง 521,184 คะแนน

สมัคร ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระหว่างปี พ.ศ. 2543-2547 นับเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนที่ 13 และเป็นคนที่ 5 ที่มาจากการเลือกตั้ง

หลังจากพ้นตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ถูกขุดคุ้ยเรื่องราวการทุจริต กรณีจัดซื้อรถดับเพลิง และเรือดับเพลิง ที่ยังถูกดำเนินการตรวจสอบอยู่ในปัจจุบัน

การเลือกตั้งวุฒิสภา 2549

หลังพ้นตำแหน่ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อครบวาระ 4 ปี สมัครตัดสินใจไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมัยที่ 2 แต่เบนเข็มมาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ปี พ.ศ. 2549

ผลการนับคะแนน สมัคร สุนทรเวช ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ด้วยคะแนนเสียง เป็นอันดับสองของประเทศ รองจาก ร.ต.อ.นิติภูมิ นวรัตน์ ที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับที่ 1 แต่ ร.ต.อ.นิติภูมิ ยังไม่ทันได้รับการรับรองตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา จาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง เนื่องจากมีผู้ร้องเรียน เรื่องการไปขึ้นเวทีปราศัยของ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่อาจถือได้ว่าเป็นการ "หาเสียง" และขัดต่อกฎหมายเลือกตั้ง ก่อนที่จะมีการชี้ขาดเรื่องดังกล่าว การเลือกตั้งวุฒิสภา พ.ศ. 2549 ก็ได้ถูกยกเลิก เนื่องจากเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ทำให้สมัครต้องพ้นจากตำแหน่ง โดยไม่มีโอกาสได้ปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา


การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

นายสมัคร สุนทรเวช ทำพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ที่บ้านพัก
นายสมัคร สุนทรเวช ทำพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ที่บ้านพัก
นายสมัคร สุนทรเวช แถลงข่าว ที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
นายสมัคร สุนทรเวช แถลงข่าว ที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
ดูเพิ่มที่ คณะรัฐมนตรีคณะที่ 57 ของไทย

เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2551 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบให้นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีนายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ [1]

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 สมัครยังได้รับโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ควบอีก 1 ตำแหน่ง ซึ่งนายสมัครนับว่าเป็นพลเรือนคนที่ 3 ที่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงนี้

การปฏิบัติงาน

  • เสนอนโยบายการผันแม่น้ำโขงผ่านอุโมงค์ โดยการสร้างใช้หัวเจาะกระสนกันน้ำซึมเข้า ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเจาะอุโมงค์แบบรถไฟใต้ดิน คาดว่าปริมาณแม่น้ำโขงจะไหลผ่านอุโมงค์นี้ และแจกจ่ายไปตามโครงข่ายลำน้ำอื่นๆ เป็นการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตรและการอุปโภคในภาคอีสาน ภายใต้ความเชื่อที่ว่า "ถ้าอีสานมีน้ำ อีสานหายจน" [2]
  • รื้อฟื้นนำโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่รัฐบาลทักษิณทำไว้กลับมาใช้อีกครั้ง [3]

ความมั่นคง

  • การประนีประนอมกับทหาร โดยสมัคร กล่าวว่า มีความตั้งใจที่จะออกพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 อยู่แล้ว และจะไม่เข้าไปแทรกแซงจัดการเรื่องโผการโยกย้ายนายทหาร โดยจะปล่อยให้ทางทหารนั้นจัดการกันเอง ซึ่งทำให้ทางทหารแสดงท่าทีเป็นมิตรกับนายสมัครด้วย [4]
  • เสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นหนักในเรื่องการสร้างความเข้าใจ ความเป็นธรรม การพัฒนาการศึกษา พัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการปฏิบัติงาน และการสร้างความปลอดภัยในพื้นที่[5]

เศรษฐกิจ

  • ยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% [6]
  • ลดราคาสินค้าหมูเนื้อแดงขายจาก 120 บาท ต่อ กก. เหลือเพียง 98 บาท ต่อ กก.[7]
  • มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ[8]

สิทธิมนุษยชน

  • ใช้นโยบายปราบปรามยาเสพติดขั้นเด็ดขาด
  • เสนอให้มีเปิดการบ่อนกาสิโนอย่างถูกต้องตามกฎหมายในประเทศไทย ซึ่งก็ได้รับทั้งความเห็นชอบและคัดค้านจากหลาย ๆ ฝ่ายเป็นอย่างมาก[9]

ฉายานาม

อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้วิเคราะห์การเมืองไทย โดยชี้จุดอ่อนจุดแข็งของรัฐบาลภายใต้การนำของ สมัคร สุนทรเวช ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมว่าเป็นรัฐบาลตัวแทนของพ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร โดยเปรียบเทียบเป็น รัฐบาล “ลูกกรอก 1”[10]

ข้อวิพากษ์วิจารณ์

การจัดรายการโทรทัศน์

สมัคร ร่วมจัดรายการ สนทนาปัญหาบ้านเมือง ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม MV1 ซึ่งถูกโจมตีโดยฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นสื่อที่เข้าข้าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและหลังจากที่มีการปฏิวัติโดยคณะปฏิรูปฯ นายสมัคร สุนทรเวช ได้เลิกรายการของตนไป

ก่อนหน้านั้น สมัครได้จัดรายการ "สมัคร-ดุสิต คิดตามวัน" ร่วมกับนายดุสิต ศิริวรรณ ในเวลา 11.00 น. ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ระยะเวลา 30 นาที ซึ่งนายสมัครได้กล่าวว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ "เลือกข้างใช่ไหม" จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และไม่พอใจของหลายฝ่าย น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ กล่าวว่า พล.อ.เปรม เป็นที่เคารพของหลายฝ่าย และเป็นถึงประธานองคมนตรี[11] ทำให้นายสมัครขอยุติรายการดังกล่าวไปด้วยตนเอง

คดีหมิ่นประมาทอดีตรองผู้ว่าฯ กทม.

สมัคร และ ดุสิต ศิริวรรณ ซึ่งร่วมกันจัดรายการโทรทัศน์ "เช้าวันนี้ที่ช่อง 5" ทาง ททบ.5 และ "สมัคร-ดุสิต คิดตามวัน" ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ถูกนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้น เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท โดยการโฆษณา โดยทั้งสองกล่าวหาว่านายสามารถทุจริตในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของกรุงเทพมหานครในรายการโทรทัศน์[12]

ศาลมีคำวินิจฉัยว่า การกระทำของทั้งคู่เป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่นเกลียดชังจริง ทั้งนี้นายสมัครได้เคยกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทมาแล้วหลายครั้ง โดยศาลปรานีให้รอการลงโทษไว้เพื่อให้ปรับตัวเป็นคนดี แต่นายสมัครกลับกระทำผิดซ้ำในความผิดเดิมอีก ศาลมีคำสั่งจำคุกสมัคร สุนทรเวช และนายดุสิต ศิริวรรณ รวม 4 กระทง ๆ ละ 6 เดือน รวมจำคุกคนละ 24 เดือน โดยไม่รอลงอาญา[13] ขณะนี้คดีกำลังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์

กับสื่อมวลชน

สมัคร สุนทรเวช เป็นนักการเมืองที่รู้กันเป็นอย่างดีว่า มีวาจาที่เผ็ดร้อน และมักชอบมีวิวาทะกับสื่อมวลชนเสมอ ๆ เช่น ให้นักข่าวหุบปาก เป็นต้น ในการเลือกตั้งในปลายปี พ.ศ. 2550 สมัครได้มีวิวาทะกับสื่ออีกหลายครั้ง เช่น เมื่อนักข่าวถามถึงปัญหาภายในพรรคของสมัคร นายสมัครตอบว่าเป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่สามารถบอกได้ แต่นักข่าวกลับถามซ้ำหลายครั้ง นายสมัครจึงถามย้อนว่า "เมื่อคืนไปเสพเมถุนกับใครมาหรือเปล่า" เพื่อแสดงให้เห็นว่าการถามคำถามเช่นนี้เป็นการละเมิดสิทธิส่วนตัว, กล่าวว่า สื่อดัดจริต รวมทั้งกล่าวว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 เฮงซวย[14]

วันที่ 3 พฤษภาคม 2551 ซึ่งเป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก องค์กรวิชาชีพสื่อได้แถลงผลการศึกษาเรื่อง '(วิ)วาทกรรมสมัครกับสื่อ' สรุปว่าตั้งแต่ช่วงที่เข้ามารับเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน สมัครใช้กลยุทธ์การสื่อสารที่ทำให้การสื่อสารสองทางเป็นการสื่อสารทางเดียว ใช้ภาษาข่มขู่ รุนแรง ดุเดือด เลี่ยง เบี่ยงเบน บิดเบือน และทำให้หลงประเด็น พูดความจริงบางส่วน หรือ พูดเท็จบ่อย ๆ ทำให้ความชอบธรรมกลายเป็นความไม่ชอบธรรม ลดทอนน้ำหนักของประเด็นคำถาม สร้างเรื่องใหม่ขึ้นมากลบเกลื่อนประเด็นสำคัญ[15]

ผลการศึกษาได้ข้อสรุปว่า สมัคร สุนทรเวช ขาดความเข้าใจเรื่องบทบาท สถานภาพ และหน้าที่ของตนและผู้อื่น เพราะนายสมัครมีกลวิธีสื่อสารแบบที่ไม่เป็นมิตรกับสื่อ และไม่สร้างเสริมประโยชน์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะข้อความที่สื่อได้จากการทำข่าวนั้นไม่สามารถสร้างผลประโยชน์ได้ ไม่นำไปสู่กระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการตรวจสอบรัฐบาลได้ แสดงออกถึงความเพิกเฉย ไม่สนใจ มองไม่เห็นคุณค่าของสื่อมวลชนในสังคมประชาธิปไตย ไม่เคารพศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของสื่อ[15]

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 สมัครได้เคยกล่าวไว้ในรายการ สมัคร-ดุสิต คิดตามวัน ว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นมีคนตายเพียงคนเดียว และคนนั้นเป็นญวนอีกด้วย ซึ่งนายสมัครได้ย้ำอีกครั้ง ในการให้สัมภาษณ์กับ แดน ริเวอร์ส ผู้สื่อข่าวซีเอ็นเอ็น ออกอากาศเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 [16][17] และยังกล่าวอีกว่า "ผมบอกว่า ถ้าผมเป็นคนเลวมาไม่ได้ไกลขนาดนี้หรอก ถ้าผมเป็นคนเกี่ยวข้องไม่ได้รับการสนับสนุนให้เดินหน้ามาถึงป่านนี้หรอก"[18]

บทบรรณาธิการของบางกอกโพสต์[19] กล่าวถึงการให้สัมภาษณ์ของนายสมัครว่าไม่ได้เป็นเพียงแค่ปฏิเสธว่าตนไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เท่านั้น เขายังปฏิเสธว่าการสังหารหมู่ไม่ได้เกิดขึ้นอีกด้วย ทั้งที่มีภาพถ่ายเป็นหลักฐานแสดงว่ามีผู้เสียชีวิตหลายคน และสมัครเองก็ทราบดีว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนั้น เนื่องจากเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการปลุกเร้าให้ต่อต้านคอมมิวนิสต์ อันนำไปสู่การสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ [20]

ซึ่งประเด็นนี้ ได้กลายเป็นประเด็นสาธารณะที่มีวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่ว ในวันที่รัฐบาลแถลงนโยบายในรัฐสภาเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 สมัครก็ได้ตอกย้ำสิ่งที่ตนพูดอีกครั้ง ซึ่งเป็นการตอบโต้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ ชวน หลีกภัย ฝ่ายค้าน พร้อมกับกล่าวว่า ตนไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการปิดหนังสือพิมพ์หลังเหตุการณ์นี้ และได้สาบานด้วยว่า ถ้าสิ่งที่ตนพูดไม่เป็นความจริง ขอให้ตนพบกับความวิบัติ ถ้าไม่จริง ขอให้เจริญรุ่งเรือง[21] [22]

อีกทั้งสมัครยังให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แต่อย่างใด ขณะที่สื่อมวลชนรายหนึ่ง ได้โชว์รูปถ่ายที่นายสมัครยืนอยู่ข้างหลังจอมพลประภาส จารุเสถียรในครั้งนั้นแล้วชี้ให้นายสมัครดู แต่สมัครกลับบอกว่า "ไหน...ไหน...นั่นผมเหรอ?...ผมยังไม่เคยเห็นรูป...มีด้วยเหรอรูปผม?...ทำไมผมยังไม่ได้รับรูปเลย"

ต่อมาในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 “แม่ลูกจันทร์” แห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ยืนยันว่าภาพดังกล่าวถ่ายไว้ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ถึง 4 ปี โดยเป็นภาพถ่ายเมื่อ เมื่อ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ขณะเกิดเหตุการณ์ ผู้ก่อการร้ายปาเลสไตน์ กลุ่มแบล็กเซปเทมเบอร์ บุกยึด สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล ถนนชิดลม และจับเจ้าหน้าที่สถานทูตเป็นตัวประกัน ยื่นเงื่อนไขให้รัฐบาลอิสราเอลปล่อยโจรปาเลสไตน์ที่ถูกจับกุม ภายใน 12 ชั่วโมง ขณะนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร เป็น นายกรัฐมนตรี และ จอมพลประภาส จารุเสถียร เป็น รมว. มหาดไทย โดยที่ สมัคร สุนทรเวช ขณะนั้นเป็นเจ้าหน้าที่สถานทูตอิสราเอล ทำหน้าที่ประสานงานในเหตุการณ์ และ "แม่ลูกจันทร์" เป็นนักข่าวการเมืองที่อยู่ในเหตุการณ์ รูปดังกล่าวจึงไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 [23]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับ

นายสมัคร ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ
นายสมัคร ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ

ผลงาน

ผลงานหนังสือ

จากสนามไชยถึงสนามหลวง
จากสนามไชยถึงสนามหลวง
การเมืองเรื่องตัณหา
การเมืองเรื่องตัณหา
  • สมัคร สุนทรเวช พูด. (ไม่ทราบปีที่พิมพ์)
  • สันดานหนังสือพิมพ์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์บูรพาศิลป์, 2520.
  • การเมืองเรื่องตัณหา. กรุงเทพฯ : บูรพาศิลปการพิมพ์, 2521.
  • จวกลูกเดียว. กรุงเทพฯ : เบญจมิตร, 2522.
  • จากสนามไชยถึงสนามหลวง. กรุงเทพฯ : 2522. (ไม่ทราบสำนักพิมพ์)
  • การเมืองเรื่องตัณหา 2. กรุงเทพฯ : 2532. (ไม่ทราบสำนักพิมพ์)
  • สมัคร ๖๐. กรุงเทพฯ : ซี.พี.การพิมพ์, 2538.
  • ชิมไปบ่นไป. กรุงเทพฯ : อมรินทร์บุ๊คเซ็นเตอร์, 2543. ISBN 978-974-387-054-5
  • เรื่องไม่อยากเล่า. กรุงเทพฯ : ฐากูรพับลิชชิ่ง, 2543. ISBN 978-974-85986-2-8
  • คนรักแมว. กรุงเทพฯ : เนชั่นบุ๊คส์, 2547. ISBN 978-974-8280-21-9
  • จดหมายเหตุกรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2547.
    ISBN 978-974-272-920-2
  • ใครๆ ก็ชอบไทยฟู้ด. กรุงเทพฯ : ครัวบ้านและสวน, 2548. ISBN 978-974-387-048-4
  • สมัคร สุนทรเวช และดุสิต ศิริวรรณ. ตำนานหนองงูเห่า และการเมืองเรื่อง CTX. กรุงเทพฯ : 2548. ISBN 978-974-93447-5-0

อ้างอิง

  1. ^ พระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
  2. ^ Samak's Mekong plan could hurt trade ties
  3. ^ http://www.bangkokpost.com/News/25Feb2008_news02.php
  4. ^ จากมติชน 10 กุมภาพันธ์ 2551 หน้า 10 คอลัมน์ การเมือง
  5. ^ เว็บไซต์กระทรวงมหาดไทย
  6. ^ เบญจพร วงศ์. ยกเลิกกันสำรอง 30%ปลดล็อกเศรษฐกิจแล้วปลด(ล็อก)อะไรอีก?. กรุงเทพฯ : เนชั่นสุดสัปดาห์, 2551.
  7. ^ เว็บไซต์กระทรวงพาณิชย์
  8. ^ http://www.mof.go.th/News2008/014.pdf
  9. ^ “หมัก” ฟิวส์ขาด ลั่นไม่บ้าพอแก้ รธน.ตั้งกาสิโน
  10. ^ “ธีรยุทธ” วิพากษ์แสบเปรียบรัฐบาล “ลูกกรอก 1” ชี้วิบัติ “ชั่วครองเมือง”
  11. ^ http://board.dserver.org/u/uthaisak/00006286.html
  12. ^ สองคู่หูกอดคอกันตาย 'ศาลสั่งจำคุก 2ปี' จาก กรุงเทพธุรกิจ 12 เมษายน พ.ศ. 2550
  13. ^ คำพิพากษา สมัคร สุนทรเวช /ดุสิต ศิริวรรณ สำเนาจาก ผู้จัดการออนไลน์ 12 เมษายน 2550
  14. ^ คำต่อคำ : “หมัก” โชว์ภาวะผู้นำ! ถูกสื่อซักลั่นคำ “เมื่อคืนเสพเมถุนมาหรือ”
  15. ^ 15.0 15.1 แนวหน้า, (วิ)วาทกรรมสมัครกับสื่อ, 4 พฤษภาคม 2551
  16. ^ Samak and The Nation
  17. ^ 'หมัก'ยัน 6ตุลาฯไม่มีใครตายเว้นคนเดียวถูกเผา-หลักฐานภาพถูกฆ่าโหดเหี้ยมหลายศพ
  18. ^ “หมัก” ดื้อ! อ้างข้อมูล 6 ตุลา ถูกบิดเบือน ลั่นถ้าเลวไม่มายืนตรงนี้
  19. ^ Samak shocks, shames nation, เรียกดูเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2551
  20. ^ http://www.asiasentinel.com/index.php?option=com_content&task=view&id=1047&Itemid=31
  21. ^ “หมัก” ฉุนแตก! โดน “มาร์ค” แฉปิดสื่อมากสุดหลัง 6 ตุลาฯ
  22. ^ คนเดือนตุลาหยัน “สมัคร” สาบานกลางสภาสุดน่ารังเกียจ
  23. ^ http://www.thairath.co.th/news.php?section=hotnews03&content=80109

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

  • ประวัตินายสมัคร สุนทรเวช จากเว็บไซต์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
  • ประวัตินายสมัคร สุนทรเวช จากเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลนักการเมือง ThaisWatch.com
  • ทีมข่าวหนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน. ปาก..สมัคร พูดอะไร 2 วันก่อนรัฐประหาร 19 กันยา. กรุงเทพฯ : วัฏฏะ, 2550. ISBN 978-974-09-2204-9
  • ถนอมศักดิ์ จิรายุสวัสดิ์. สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีคนที่ 25. กรุงเทพฯ : อักษรสุดา, 2551. ISBN 978-974-7814-51-4


สมัยก่อนหน้า:
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
นายกรัฐมนตรีไทย
29 มกราคม พ.ศ. 2551
สมัยถัดไป:
อยู่ในวาระ



aa - ab - af - ak - als - am - an - ang - ar - arc - as - ast - av - ay - az - ba - bar - bat_smg - bcl - be - be_x_old - bg - bh - bi - bm - bn - bo - bpy - br - bs - bug - bxr - ca - cbk_zam - cdo - ce - ceb - ch - cho - chr - chy - co - cr - crh - cs - csb - cu - cv - cy - da - de - diq - dsb - dv - dz - ee - el - eml - en - eo - es - et - eu - ext - fa - ff - fi - fiu_vro - fj - fo - fr - frp - fur - fy - ga - gan - gd - gl - glk - gn - got - gu - gv - ha - hak - haw - he - hi - hif - ho - hr - hsb - ht - hu - hy - hz - ia - id - ie - ig - ii - ik - ilo - io - is - it - iu - ja - jbo - jv - ka - kaa - kab - kg - ki - kj - kk - kl - km - kn - ko - kr - ks - ksh - ku - kv - kw - ky - la - lad - lb - lbe - lg - li - lij - lmo - ln - lo - lt - lv - map_bms - mdf - mg - mh - mi - mk - ml - mn - mo - mr - mt - mus - my - myv - mzn - na - nah - nap - nds - nds_nl - ne - new - ng - nl - nn - no - nov - nrm - nv - ny - oc - om - or - os - pa - pag - pam - pap - pdc - pi - pih - pl - pms - ps - pt - qu - quality - rm - rmy - rn - ro - roa_rup - roa_tara - ru - rw - sa - sah - sc - scn - sco - sd - se - sg - sh - si - simple - sk - sl - sm - sn - so - sr - srn - ss - st - stq - su - sv - sw - szl - ta - te - tet - tg - th - ti - tk - tl - tlh - tn - to - tpi - tr - ts - tt - tum - tw - ty - udm - ug - uk - ur - uz - ve - vec - vi - vls - vo - wa - war - wo - wuu - xal - xh - yi - yo - za - zea - zh - zh_classical - zh_min_nan - zh_yue - zu -