See also ebooksgratis.com: no banners, no cookies, totally FREE.

CLASSICISTRANIERI HOME PAGE - YOUTUBE CHANNEL
Privacy Policy Cookie Policy Terms and Conditions
ไทยพลัดถิ่นในเขตตะนาวศรี - วิกิพีเดีย

ไทยพลัดถิ่นในเขตตะนาวศรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ชาวไทยเขตตะนาวศรี (ฉ่า)
จำนวนประชากรทั้งหมด

ไม่ทราบจำนวนแน่ชัด

ดินแดนที่ให้การรับรองชาติพันธุ์
Flag of ประเทศพม่าประเทศพม่า 41,258 คน (ปี พ.ศ. 2530)
Flag of ไทยประเทศไทย ประมาณ 8,000-10,000 คน
ภาษา
ภาษาไทยถิ่นใต้ ภาษาไทย และภาษามลายู
ศาสนา
ศาสนาพุทธนิกายเถรวาท และศาสนาอิสลาม

ไทยพลัดถิ่นในเขตตะนาวศรี เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทยสยาม ที่อพยพมาอยู่ตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย หลังการยึดครองของอังกฤษ ชาวไทยเหล่านี้จึงกลายเป็นสัญชาติพม่า แต่ก็ยังไปมาหาสู่กับญาติพี่น้องฝั่งไทยตลอด และมีชาวไทยในเขตตะนาวศรีที่เข้ามาทำคลอดในฝั่งไทย และต้องการให้บุตรเป็นสัญชาติไทย เพราะมีความเกี่ยวดองกับฝั่งไทย และส่วนใหญ่ทางแถบจังหวัดเกาะสอง (วิกตอเรียพอยท์)ของพม่าก็มีชาวไทยมากมาย แต่ในปัจจุบันยังถือว่าชาวไทยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนไร้สัญชาติ

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

แผนที่การเสียดินแดนของไทย
แผนที่การเสียดินแดนของไทย

ในอดีตเมืองมะริดเป็นดินแดนของประเทศไทยตั้งแต่ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น แม้ต่อมาเมืองดังกล่าวจะกลายเป็นพื้นที่ของประเทศพม่าไปแล้วแต่ชาวไทยในเมืองมะริดยังมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเช่นเดียวกันกับคนไทย และรัฐบาลพม่าก็มิได้มีการเข้ามาแทรกแซงในวิถีชีวิตของไทยในพื้นที่ดังกล่าว จนกระทั่งมีการสู้รบกันในประเทศพม่า ทำให้ชาวไทยพลัดถิ่นในมะริดอพยพกลับมาในฝั่งไทย และได้ร้องขอสัญชาติไทยจากรัฐบาลไทยและรัฐบาลไทยได้ออกบัตรประจำตัวผู้พลัดถิ่นให้ถือระหว่างที่รอขอสถานะการเป็นคนไทย อย่างไรก็ตามยังมีคนไทยพลัดถิ่นจำนวนไม่น้อยที่ตกสำรวจทำให้ไม่มีบัตรประจำตัวผู้พลัดถิ่นดังกล่าว วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2546 นายประเสริฐ อินทรจักร คนไทยพลัดถิ่นได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่จับกุม และตั้งข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และต่อมาวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2548 ศาลจังหวัดระนองได้มีคำพิพากษาว่าคนไทยพลัดถิ่นถือว่าเป็นคนเชื้อชาติไทยแต่ไม่มีสัญชาติไทย สามารถได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยได้ ซึ่งศาลได้มองว่าคนเชื้อชาติไทยย่อมจะมีสิทธิอาศัยอยู่ในประเทศไทย แม้ในช่วงที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย


[แก้] พื้นที่ตั้งถิ่นฐาน

ในเขตพม่าไทยพลัดถิ่นตั้งหลักแหล่งบริเวณเกาะสอง (Kawthaung) ลุ่มแม่น้ำลังเคี๊ยะ (Lenya) ลุ่มแม่น้ำตะนาวศรี (Tennasserim) และลุ่มน้ำกระบุรีหรือปากจั่น จากหมู่บ้านหรือชุมชนต่างๆ เกือบ 100 แห่ง แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ

  1. ไทยพุทธปักษ์ใต้ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชุมชนหรือหมู่บ้านในและรอบๆ ตำบลสิงขร เช่น สิงขร ทุ่งมะพร้าว ทุ่งมะม่วง วังจำปา วังจระเข้ ยางชุม กระเบื้องถ้วย ทรายขาว แหลมยวน ปากคลอง ทุ่งข่า ห้วยทรายขาว ทุ่งทองหลาง หาดแก้ว ยางขวาง ตลิ่งแดง วังใหญ่ หนองโพง ลำมะเท็งและมูกโพรง ในและรอบๆ ตำบลบกเปี้ยน (Bokpyin) เช่น บกเปี้ยน บกเปี้ยนนอก ลังเคี๊ยะ ทุ่งนาไทร หนองเต่า ทุ่งยาว ในแหลม คลองเพชร ทุ่งกร่ำ นิลขวาง ทุ่งแตง ทุ่งใหญ่ เขาพัง สองแพร่ หินลาย บ้านหลา ทุ่งค้อ ตะเภาสุด บางสมภาร ขี้ไฟ ตลิ่งชัน กะแด ห้างเคียน ทุ่งเห็ด ทุ่งยน ทุ่งสะเม็ด ทุ่งใหญ่ ทุ่งพี หัวช้าง ห้างปรุ กะระธุรี (ตลาดสุหรี) ป่าจาก คลองจระเข้ กระทิง ทองหอย ไร่ใต้ แมะตี บ้านดอน ทุ่งปลีก กะทึ่งและทรายปู และในและรอบๆ ตำบลมะลิวัลย์หรือมะลิยุน เช่น เขาพัง คลองบางช่อน มะลิวัลย์และมะรังหรือหมาราง
  2. ไทยมุสลิม ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บริเวณด้านตะวันตกของเกาะสองในชุมชนต่างๆ เช่น คลองลามะ เกาะซินตง เจ็ดไม้ แปดไม้ เก้าไม้ สิบไม้ สิบเอ็ดไม้ แหลมแรด หาดยาว บ้านเหนือ ปากคลอง แมะปูเต๊ะ บ้านควน หัวแหลมทราย ช้างพัง อ่าวจีน อ่าวจากนอก อ่าวจากใน อ่าวใบ บ้านทร หาดทรายแดง อ่าวใหญ่ เกาะหลา คลองหม้อขาว คลองหลา แหลมบ้า อ่าวบ้า แหลมสระ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มไทยมุสลิมที่พูดภาษาไทยปักษ์ใต้ และมีเครือญาติที่สัมพันธ์กับคนฝั่งไทย เช่น ตะกั่วป่าและบางกล้วย จังหวัดระนอง
  3. ไทยอีสาน อาศัยอยู่ในเขตตำบลคลองใหญ่ (เหนือตำบลสิงขร) บ. ธรรมบุตรระบุว่า คนอีสานอาศัยอยู่ในหมู่บ้าน “ท่าตะเยี๊ยะ” เป็นกลุ่มคนที่อพยพจากภาคอีสานเข้าไปตั้งหลักแหล่งเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน ปัจจุบันมีประมาณ 500 คน ข้อมูลจาการสัมภาษณ์ผู้ที่สืบเชื้อสายจากบ้านคลองใหญ่ ระบุว่าชุมชนคลองใหญ่เป็นไทยที่พูดภาษาอีสาน อพยพจากอุดรธานีและเพชรบุรีเข้าไปทำมาหากินในตำบลคลองใหญ่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างไรก็ตาม จากแผนที่ที่จัดทำโดยฝรั่งชี้ว่าตำบลคลองใหญ่เป็นที่ตั้งหลักแหล่งของสยามอพยพมาก่อนปี ค.ศ. 1854 คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่สืบทอดวัฒนธรรมจากอีสาน เช่น การทำประเพณีบุญบั้งไฟ และเลี้ยงปู่ตาหรือผีประจำหมู่บ้าน (บ. ธรรมบุตร, 2547: 100)

[แก้] จำนวนประชากร

ก่อนปี พ.ศ. 2530 กลุ่มคนไทยที่อาศัยอยู่ในเขตบริเวณเกาะสอง ลุ่มแม่น้ำลังเคี๊ยะ ตะนาวศรีและลุ่มน้ำกระบุรี มีประมาณ 41,258 คน แยกเป็นไทยมุสลิมประมาณ 18,280 คน ไทยพุทธ 22,978 คน แต่ปัจจุบันบางส่วนได้อพยพกลับเข้าตั้งหลักแหล่งในฝั่งไทยและกลายเป็นคนไทยพลัดถิ่นในฝั่งไทย (ตัวเลขที่ผู้เขียนประเมินนี้ ไม่รวมคนไทยในมะริด และสะเทิมที่เอกสารฝรั่งที่จะกล่าวถึงถัดไประบุว่ามีประมาณ 19,000 คนในปี ค.ศ. 1901) ไทยพลัดถิ่นในไทยกระจายอยู่ตามเขตเมืองและชนบทของจังหวัดตาก ระนอง ชุมพร พังงา และประจวบคีรีขันธ์ ข้อมูลที่มีอยู่ระบุว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2540 ให้สัญชาติไทยกับไทยพลัดถิ่นโดยการแปลงสัญชาติจำนวน 7,849 คน ไทยพลัดถิ่นจำนวน 2,000 คนกำลังยื่นคำร้องให้รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยพิจารณา ที่เหลืออีก 5,000 คนยังมิได้ยื่นคำร้อง กล่าวโดยสรุป ในช่วงปี 2540 มีไทยพลัดถิ่นในไทยอย่างน้อย 14,849 คน ในจำนวนนี้มีคนไทยพลัดถิ่น 7,000 คน และไทยพลัดถิ่นที่ได้รับการแปลงสัญชาติเพื่อรอความเป็นไทยธรรมดาในอีก 25 ปีข้างหน้าจำนวน 7,849 คน

กลางปี พ.ศ. 2545 เครือข่ายไทยพลัดถิ่นสำรวจไทยพลัดถิ่นในเขตจังหวัดระนองและอำเภอท่าแซะจังหวัดชุมพร พบไทยพลัดถิ่นจำนวน 4,740 คน อาศัยอยู่ในเขตอำเภอสุขสำราญ 370 คน อำเภอกะเปอร์ 590 คน อำเภอละอุ่น 480 คน อำเภอกระบุรี 1,350 คน อำเภอเมืองระนอง 1,350 คน อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร 600 คน ตัวเลขนี้ไม่รวมไทยพลัดถิ่นในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีไม่น้อยกว่า 1,000 ครอบครัวหรือประมาณไม่น้อยกว่า 7,000 คน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บริเวณด่านสิงขร อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ อำเภอทับสะแก อำเภอบางสะพาน และอำเภอบางสะพานน้อย และไทยพลัดถิ่นในจังหวัดพังงา และจังหวัดตาก ที่ยังไม่มีข้อมูลบันทึก

[แก้] เหตุการณ์ธรณีวิบัติภัย

คนไทยพลัดถิ่นซึ่งเป็นคนไทยอยู่ตรงขอบชายแดนไทย – พม่า ตรงบริเวณจังหวัดระนอง ชุมพร และประจวบคีรีขันธ์ คนกลุ่มนี้ ทางพม่าไม่ยอมรับให้เป็นพลเมืองของพม่า ขณะที่ไทยเองก็ไม่ยอมรับญาติร่วมเผ่าพันธุ์ กลุ่มนี้ให้เป็นพลเมืองไทยซึ่งอันเป็นผลพวงมาจากการกำหนดเขตแดนไทย – พม่า ที่กันเอาถิ่นที่อยู่อาศัยของบรรพบุรุษคนไทยกลุ่มนี้ ไปอยู่ในดินแดนฝั่งพม่า ตรงแนวบริเวณชายแดนที่เดินข้ามพรมแดนไปมาหาสู่กันไป – มา แค่ไม่กี่ก้าว ภัยพิบัติสึนามิเที่ยวนี้ มีคนไทยพลัดถิ่น หรือคนไทยไร้สัญชาติ ได้รับผลกระทบเต็มๆ ประมาณ 20 ครอบครัว ร่วม 100 คน

ข้อมูลจาก “นายพิเชษฐ์ แสงคง” ผู้ประสานงานโครงการปฏิบัติการชุมชนเมืองน่าอยู่ระนอง ซึ่งลงไปดูแลช่วยเหลือคนกลุ่มนี้อยู่ในขณะนี้ ปรากฏว่ามี คนไทยพลัดถิ่นเจอภัยสึนามิอยู่ตามจุดต่างๆ ดังต่อไปนี้

  1. ที่บ้านบางเบน อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง 8 ครอบครัว ประมาณ 40 กว่าคน
  2. บ้านบางกล้วยนอก หมู่ที่ 3 ตำบลนาคา กิ่งอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง 1 ครอบครัว 1 คน
  3. บ้านทะเลนอก ตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา 1 ครอบครัว 3 คน
  4. บ้านปากเตรียม หมู่ที่ 4 ต่อเนื่องหมู่ที่ 5 ตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา 10 ครอบครัว ประมาณ 40 กว่าคน ซึ่งอันนี้ยังไม่นับรวมที่พลัดหลงมาอยู่ที่บ้านน้ำเค็มอีกจำนวนหนึ่ง

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น



aa - ab - af - ak - als - am - an - ang - ar - arc - as - ast - av - ay - az - ba - bar - bat_smg - bcl - be - be_x_old - bg - bh - bi - bm - bn - bo - bpy - br - bs - bug - bxr - ca - cbk_zam - cdo - ce - ceb - ch - cho - chr - chy - co - cr - crh - cs - csb - cu - cv - cy - da - de - diq - dsb - dv - dz - ee - el - eml - en - eo - es - et - eu - ext - fa - ff - fi - fiu_vro - fj - fo - fr - frp - fur - fy - ga - gan - gd - gl - glk - gn - got - gu - gv - ha - hak - haw - he - hi - hif - ho - hr - hsb - ht - hu - hy - hz - ia - id - ie - ig - ii - ik - ilo - io - is - it - iu - ja - jbo - jv - ka - kaa - kab - kg - ki - kj - kk - kl - km - kn - ko - kr - ks - ksh - ku - kv - kw - ky - la - lad - lb - lbe - lg - li - lij - lmo - ln - lo - lt - lv - map_bms - mdf - mg - mh - mi - mk - ml - mn - mo - mr - mt - mus - my - myv - mzn - na - nah - nap - nds - nds_nl - ne - new - ng - nl - nn - no - nov - nrm - nv - ny - oc - om - or - os - pa - pag - pam - pap - pdc - pi - pih - pl - pms - ps - pt - qu - quality - rm - rmy - rn - ro - roa_rup - roa_tara - ru - rw - sa - sah - sc - scn - sco - sd - se - sg - sh - si - simple - sk - sl - sm - sn - so - sr - srn - ss - st - stq - su - sv - sw - szl - ta - te - tet - tg - th - ti - tk - tl - tlh - tn - to - tpi - tr - ts - tt - tum - tw - ty - udm - ug - uk - ur - uz - ve - vec - vi - vls - vo - wa - war - wo - wuu - xal - xh - yi - yo - za - zea - zh - zh_classical - zh_min_nan - zh_yue - zu -