See also ebooksgratis.com: no banners, no cookies, totally FREE.

CLASSICISTRANIERI HOME PAGE - YOUTUBE CHANNEL
Privacy Policy Cookie Policy Terms and Conditions
ไทยโคราช - วิกิพีเดีย

ไทยโคราช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ไทยเบิ้ง ไทยเดิ้ง หรือไทยโคราช เป็นกลุ่มชนพื้นถิ่นที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ใน

ซึ่งชาวไทยเบิ้งมีขนมธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมคล้ายไทยภาคกลาง แต่มีภาษา ความเชื่อ เพลงพื้นบ้าน การละเล่น การทอผ้า ที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชนอยู่

เนื้อหา

[แก้] ไทยเบิ้ง

หรือในบางครั้งจะเรียกว่า ไทยเดิ้ง หรือ ไทยโคราช จากเอกสารประวัติศาสตร์และโบราณสถานกำหนดได้ว่าเป็นชุมชนไทยที่อยู่อาศัยมานานอย่างน้อยตั้งแต่ครั้งสมัยอยุธยาราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 ชาวไทยเบิ้ง มีเอกลักษณ์ ในเรื่องของประเพณีความเชื่อ ภูมิปัญญา สังคม สถาปัตยกรรมและผลงานทางวัฒนธรรม เช่น ภาษาและวรรณกรรม ศิลปกรรม ดนตรี และการละเล่นเพลงพื้นบ้าน การละเล่นทั่วไปและกีฬา มีเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชนไทยเบิ้ง ซึ่งมีลักษณะผสมผสาน ระหว่างวัฒนธรรมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและวัฒนธรรมไทยโคราช คือ มีประเพณีชีวิตที่สอดแทรกวัฒนธรรมอันดีงาม เช่น ความกตัญญู ความสามัคคี ความมีน้ำใจเสียสละ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเห็นอกเห็นใจมีประเพณีท้องถิ่นเนื่องในพุทธศาสนา ตรุษสารท และประเพณีเกี่ยวเนื่องกับการประกอบอาชีพและประเพณี เกี่ยวข้องกับความความเชื่อ สำหรับความเชื่อนั้นมีความเชื่อโชคลาง โหราศาสตร์ ภูตผีปีศาจ และไสยศาสตร์

[แก้] การแต่งกาย

ไทยเบิ้งมีเอกลักษณ์วัฒนธรรมเป็นของตัวเอง การแต่งกายชาวไทย โคราชนิยมแต่งกายแบบไทยภาคกลาง คือ ผู้หญิง นุ่งผ้าโจงกระเบน เป็นผ้าพื้นทอมือสีเข้ม เช่น สีดำ สีน้ำตาล สีกรมท่า คาดเข็มขัดเงิน เข็มขัดทอง หรือเข็มขัดนาก ไม่นิยมนุ่งซิ่น สวมเสื้อตัดเย็บจากผ้าฝ้ายทอมือ เสื้อที่นิยมใช้ เรียกว่า เสื้อ "คอกระโจม" และเสื้อ "อีแปะ" หญิงชาวไทยเบิ้งจะใช้เสื้อประเภทนี้ไปวัด แต่งงานใช้สไบเฉียงห่มทับเสื้อ หรือ สวมเสื้อแขน กระบอกห่มสไบทับเสื้อ ถ้าอยู่บ้านมักใช้ผ้าคาดอกแทนการสวมเสื้อ ตัดผมทรงดอกกระทุ่ม ไม่นิยมดัดผม และแต่งหน้าเพียงใช้แป้งเม็ดบรรจุกระป๋องทาหน้า กินหมากทำให้ปากแดง ใช้สีผึ้งทาปากเพื่อไม่ให้ปากแห้ง การบำรุงผิวใช้ขมิ้นผสมกับดินสอพอง ทาตัวและทาหน้า สำหรับเครื่องประดับนิยมใช้ทองมากกว่าเพชรพลอย และนิยมใช้ตุ้มหูมากกว่าสร้อยและแหวน สะพายย่ามแทนกระเป๋า ของที่ใส่ในย่ามได้แก่ เครื่องใช้ส่วนตัว เครื่องมือในการประกอบอาชีพ ข้าวห่อและอื่น ๆ ผู้ชาย ในอดีต ชายนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อคอกลมไม่ผ่าอก นุ่งกางเกงขาก๊วย กางเกงขาสั้น กาง เกงขายาว หากอยู่บ้านนุ่งผ้าถุงและไม่สวมเสื้อ เมื่อออกนอกบ้านสวมเสื้อคอกลม ปกฮาวาย หรือปกเชิ้ต มีผ้าขาวม้าพาดบ่า เหมือนสไบ ตัดผมทรงดอกกระทุ่ม สะพายย่ามไม่สวมรองเท้า ปัจจุบันชาวไทยเบิ้ง แต่งกายแบบเดียวกับคนไทยในท้องถิ่นอื่น ๆ

[แก้] ภูมิปัญญา

ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวไทยเบิ้ง ได้แก่ อาชีพที่ได้อาศัยประโยชน์จากสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่อยู่ใกล้เคียงเช่น การทำไต้ ทำลาน ส่วนอาชีพอื่นๆ คือการทำไร่ ทำนา หาปลา โดยมีเครื่องมือประกอบอาชีพส่วนใหญ่ทำจากไม้ไผ่ เครื่องมือดำรงชีวิตบางชิ้น เช่น ตะกร้า มีรูปแบบคล้ายกระบุงขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชน

[แก้] การทอผ้า

ชาวไทยเบิ้งนิยมผ้าฝ้าย ทำลวดลายผ้า เป็นลายตารางรูปสี่เหลี่ยม ปกติ จะทอไว้ใช้เอง เช่น ผ้าเย็บที่นอน หมอน ผ้าถุง ผ้าขาวม้า ย่าม ปัจจุบันบางครอบครัวทอไว้ขาย เช่น ผ้าขาวม้า และย่าม แต่เดิมการทำผ้าของชาวไทยเบิ้งได้เตรียมการทอผ้าเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูกฝ้าย ปั่นด้าย ย้อมสีด้ายฝ้าย ในปัจจุบัน ซื้อเส้นด้านย้อมสีสำเร็จรูปมาทอ การแต่งกายใช้ผ้าฝ้าย เอกลัษณษ์ในการแต่งกายคือ สตรีสูงอายุนุ่งโจงกระเบน และสะพายย่าม รูปแบบลักษณะเฉพาะในเวลาไปทำงาน

กลุ่มชนชาวไทยเบิ้งที่อาศัยอยู่แถบลุ่มแม่น้ำป่าสัก ประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก เมื่อย่างเข้าฤดูแล้ง ผู้ชายอาจจะเข้าป่า หาของป่า ล่าสัตว์ ผู้หญิงจะทอผ้าไว้ใช้ในครอบครัว และ ปลูกฝ้าย ในเนื้อที่ที่เหลือในบริเวณบ้านเพื่อใช้ทอผ้า

กรรมวิธีการทำเส้นด้าย การอิ้วฝ้าย หรือ หีบฝ้าย เป็นการแยกเมล็ดออกจากปุยฝ้าย โดยใช้เครื่องหีบ หรือเครื่องอิ้วฝ้าย การดีดฝ้าย เป็นการทำให้ฝ้ายแตกกระจายออกเป็นเนื้อเดียวกัน การดิ้วฝ้าย เป็นการนำด้ายที่ดีดเป็นปุยแล้วมาล้อหมุนให้ได้ฝ้ายที่มีลักษณะกลม โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ไม้ล้อ การเข็นฝ้าย หรือการปั่นฝ้าย เป็นการดึงฝ้ายที่ดิ้วแล้วให้เป็นเส้นด้าย โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ไน หรือ หลา แล้วใช้ไม้เปียด้ายพันด้าย จนมีขนาดโตพอประมาณ แล้วดึงด้ายออก เรียกว่า ปอย หรือ ไจ

การตกแต่งเส้นด้าย การฆ่าด้าย วิธีการทำให้ด้ายมีความเหนียว ทนทานไม่เป็นขนโดยนำไปต้มกับข้าว วิธีการนี้ใช้กับเส้นด้ายที่ไม่ต้องการย้อมสี การย้อมสี เป็นวิธีเพิ่มความสวยงามให้แก่ผืนผ้า โดยใช้สีที่ได้จากธรรมชาติ ซึ่งจะได้จากส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น ราก ดอก ต้น แก่น ลูก และใบ กรรมวิธีการย้อม มีวิธีย้อมตามลักษณะของวัสดุ พืชที่นำมาใช้เป็นสีย้อมผ้า ได้แก่ ผลมะเกลือ เปลือกกระโดน มะเกลือเลือด แก่นแกแล เปลือกอินทนิล ฝักระกำ ต้นคราม ขมิ้นกับ ยอดแค แก่นฝาง ผักงาด ฯลฯ ส่วนวิธีการย้อมสี ผ้าหรือเส้นด้ายที่จะย้อม จะต้องซัก หรือแช่น้ำให้เปียกทั่วทั้งผืนก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้สีด่าง จะทำให้สีติดผ้าทั่วกันทั้งผืน และเมื่อย้อมสีเสร็จแล้วจะต้องนำผ้าไปล้างด้วยน้ำสะอาดก่อนนำไปตาก

[แก้] เครื่องมือเครื่องใช้ในการทอผ้า

กี่พื้นเมืองหรือกี่ทอมือ กี่ชนิดนี้ทอผ้าแต่ละครั้งได้จำนวนจำกัด คือ ได้เพียงครั้งละ 5-6 ผืน หน้ากว้างของผ้าที่ทอได้ จะแคบ กี่ทอมือจะต้องใช้เท้าเหยียบเพื่อบังคับตะกอให้แยกเส้นด้ายยืนออกจากกัน แล้วใช้มือสอดกระสวยใต้เส้นด้ายที่แยกดึงฟันฟืมกระทบเส้นด้ายพุ่งให้ติดกันทีละเส้น ซึ่งทอได้ช้า

กี่กระตุก เป็นกี่ที่เพิ่งจะเริ่มนำเข้ามาใช้ โดยได้รับการส่งเสริมจากกรมพัฒนาชุมชน การทอกี่กระตุก ผู้ทอไม่ต้องสอดกระสวย ใช้มือกระตุกเชือกที่ติดกับกระสวย แล้วกระสวยจะวิ่งผ่านเส้นด้ายยืนที่แยกออกจากกัน โดยการใช้เท้าเหยียบไม้ที่ดึงตะกอ ข้อดีของกี่กระตุก คือ ในการทอแต่ละครั้งไม่ต้องสืบเส้นด้ายยืนบ่อย ๆ มีแกนม้วนด้ายยืนได้ยาวหลายสิบเมตร เส้นด้ายยืนจะตึงเรียบเสมอกันไม่ต้องหวีหรือจัด


กรรมวิธีการทอผ้า การเสาะด้าย คือการนำด้ายที่ย้อมสีแล้วมาเสาะใส่ระวิง สาวลงกระบุง นำด้ายมากรอใส่หลอดทำด้วยไม้ไผ่ลำเล็ก ๆ แล้วนำไปค้น การค้น คือการนำด้ายสีต่าง ๆ ที่เสาะแล้วมาเกาะหลักพิมพ์ เพื่อกำหนดความยาวของเส้นด้ายยืนว่าต้องการทอกี่ผืน เมื่อเสร็จแล้วนำด้ายออกจากพิมพ์ เรียกว่า เครือ การสืบด้าย นำเครือด้ายมาสืบในฟืมจนครบตามหน้ากว้างของฟืม การทอ นำเส้นด้ายพุ่งที่กรอใส่หลอดด้าย เลือกสีตามต้องการ ใส่กระสวยแล้วนำมาทอ การทอหูกใช้เท้าเหยียบ มือพุ่งกระสวย และใช้มือดึงฟันหวีกระทบด้ายทีละเส้นให้แน่น ทอไป เรื่อย ๆ จนหมดความยาวของเส้นด้ายยืน

[แก้] ประเภทของผ้าทอของชาวไทยเบิ้ง

ประเภทของผ้าทอของชาวไทยเบิ้ง ผ้าทอที่พบแบ่งออกเป็นสองยุค ได้แก่

1.ผ้าทอโบราณ เป็นผ้าที่ทอขึ้นเพื่อเก็บไว้ใช้เอง หรือให้ญาติพี่น้อง ผู้ที่เคารพนับถือใช้ มีลักษณะเป็นผ้าพื้นสีขาว ถ้าย้อมสี สีจะค่อนข้างเข้ม ทอแบบง่าย ๆ ลวดลายไม่สลับซับซ้อน เส้นด้ายที่ใช้ทอเป็นเส้นด้ายที่ได้มาจากฝ้ายแท้ๆ ได้แก่ ผ้าเย็บที่นอน เย็บหมอน ผ้าห่ม ผ้าพื้นใช้เย็บเสื้อ ผ้าถุงผ้าขาวม้า ย่าม
2.ผ้าทอไทยเบิ้งในปัจจุบัน มีเพียงตำบลเดียวที่ยังมีการทอผ้าคือตำบลโคกสลุง เป็นการ

ทอเพื่อการค้า เส้นด้ายที่ใช้เป็นเส้นด้ายประดิษฐ์หรือใยสังเคราะห์ ผ้าทอไทยเบิ้งในปัจจุบันมี 3 ประเภท คือ

  • ผ้าขาวม้า รูปแบบยังเหมือนเดิม แต่สีสันฉูดฉาดขึ้น ลวดลายของผ้าขาวม้าที่พบคือ ลายตาคู่ หรือลายตาสองลอน ลายตาคู่แทรก ลายตาราง
  • ย่ามลวดลายยังคงแบบเดิมมีการเปลี่ยนแปลงเฉพาะการใช้สีคือใช้สีอ่อนกว่าเดิมทอ ๒แบบ คือแบบธรรมดาไม่มีการเข้าเกลียวและแบบเข้าเกลียวเส้นด้าย
  • ผ้าถุง เป็นผ้ามัดหมี่ที่ใช้กรรมวิธีการทอแบบชาวบ้านหมี่ อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี โดยทางราชการส่งเสริมอาชีพนี้โดยให้กรมพัฒนาชุมชนจัดวิทยากรไปสอนการทอผ้ามัดหมี่

แนวโน้มการทอผ้าของชาวไทยเบิ้งในอนาคต การทอผ้าจะเป็นการทอเพื่อการค้ามากขึ้น การใช้กี่ทอมือจะน้อยลง เพราะกรรมวิธีในการทอค่อนข้างยุ่งยากและช้า นิยมใช้กี่กระตุก เพราะทอได้รวดเร็ว ไม่เสียเวลาในการจัดเส้นด้ายยืน ลวดลายแบบใหม่ คือ เป็นการทอลายมัดหมี่ ซึ่งนำด้ายขาวมามัด แล้วย้อมสีตามต้องการ ผ้าทอของชาวไทยเบิ้งไม่ค่อยได้รับความนิยม ราคาค่อนข้างแพง และปัจจุบันหญิงสาว นิยมเรียนหนังสือและทำงานโรงงาน จึงไม่มีใครสืบทอดการทอผ้าแบบเดิม

[แก้] สถาปัตยกรรม

ชาวไทยเบิ้งมีเอกลักษณ์ของกลุ่มชน คือ สร้างเรือนยกเสาสูง แบบเรือนไทย มีหน้าต่างประตู บานเล็ก สลักอกเลาประตู เป็นลวดลายแบบง่ายๆ ฝาเรือนคือฝาฟาก ฝาค้อ จากการสำรวจ พบว่า หมู่บ้านเกษตรกรรม นิยมสร้างบ้านเป็นกระจุก โดยมีการทำนา ทำไร่ อยู่รอบๆหมู่บ้าน การกระจุกตัวของเรือนรวมกันเป็นหมู่บ้านนั้นมีเหตุผลว่า เพื่อความปลอดภัย การแยกสร้างเรือนให้กระจายออกไปอาจถูกโจรผู้ร้ายปล้น ได้ง่าย และเพื่อความอบอุ่นที่ได้อยู่อาศัยในระหว่าง ญาติพี่น้องและมิตรสหาย

รูปทรงเรือน เป็นเรือนใต้ถุนสูง โดยปกติเรือนจะยกพื้นสูงขนาดคนเดินลอดได้ คือสูงราว 2 เมตร หลังคาเรือนในอดีตนิยมหน้าจั่ว ทรงมนิลาและทรงปั้นหยา เรือนจะหันหน้าไปได้ทุกทิศ ยกเว้นทิศตะวันตก รูปทรงของเรือนก่อนที่จะเปลี่ยนไปเป็นแบบที่เห็นในปัจจุบันมีด้วยกันหลายแบบ ที่สำคัญคือ

1.เรือนทรงไทย เป็นเรือนใต้ถุนสูง มีผัง เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เสากลมปักเอียงสอบเข้าหากัน หลังคาทรงจั่ว ตกแต่งของจั่วด้วยป้านลมที่มีเชิงเป็นรูปตัวเหงา ฝาเรือนทำด้วยไม้จริง ลักษณะเป็นกรอบลูกฟัก หรือตีด้วยไม้กระดาษ เรือนแบบนี้พบทั่วไป
2.เรือนทรงไทยแปลง เป็นแบบท้องถิ่น นั้นคือเป็นเรือนใต้ถุนสูง มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เสาเอียงสอบเข้าหากันแต่ไม่เอียงมากนัก หลังคาทรงจั่วแต่มุมบนของจั่วไม่ทำเป็นมุมแหลมมาก ไม่มีป้าน ลมและตัวเหงา ฝานิยมทำด้วยไม้กระดานหรือฝาฟาก หน้าต่างมีขนาดเล็ก หรืออาจจะกล่าวได้อีกว่าแบบดังกล่าวนี้ยึดถือระเบียบกรอบโครงสร้างแบบเรือนไทยแต่มีสัดส่วนที่โค้งมุมแหลมของหลังคาน้อยกว่า
3.เรือนทรงไทยอิทธิพลจากที่อื่นๆ เช่น แบบที่ได้รับอิทธิพลจากภาคอีสาน คือ เรือนใต้ถุนสูงมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เสาไม่เอียงสอบเข้าหากัน หลังคาทรงจั่วมุมบนไม่แหลมมาก ไม่มีป้านลมและตัวเหงา ฝานิยมทำด้วยไม้ฟาก และเจาะหน้าต่างรูปสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก แบบที่ได้รับอิทธิพลจากชุมชนไทยยวน มีลักษณะเป็นเรือนแฝดใต้ถุนสูงหลังคาทรงจั่ว ลักษณะคล้ายกับกรอบโครงสร้างของเรือนไทยล้านนา
4. เรือนที่ได้รับอิทธิพลจากเมืองใหญ่ เช่น เรือนหลังคาทรงปั้นหยาเป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีหลังคาเอนเข้าหาอกไก่ทั้งสี่ด้าน ไม่มีหน้าจั่ว เป็นเรือนไม้สองชั้น ยกพื้นใต้ถุนสูง เรือนหลังคาทรงมนิลา คือเรือนที่ทรงหลังคาตรงลงมาไม่มีหักหน้าจั่วเหมือนเรือนปั้นหยา แต่ไม่งอนช้อยเหมือนเรือน ฝากระดาน มีกลังคาคล้ายกับเรือนบรานอ คือมีหน้าจั่วหลายจั่วของพวกชาวไทยมุสลิม

การใช้เนื้อที่ภายในเรือน จะกั้นภายในเรือนมิดชิดเป็นสัดส่วน เพียงส่วนหนึ่งของเรือนในขณะพื้นที่ส่วนใหญ่ มีหลังคาคลุมใช้เป็นห้องโถงโล่ง ใช้ประโยชน์ของพื้นที่นี้อย่างอเนกประสงค์ เช่นพักผ่อน สังสรรค์ รับแขก รวมทั้งสามารถใช้นอนหลับได้เช่นกัน ครัวไฟจะอยู่บางมุมของชั้นบนเรือน หรือแยกเป็นเรือนต่างหาก เรือนบางหลังจะมีชานโล่งประกอบ

[แก้] อาหาร

ชาวไทยเบิ้งนั้นนิยมกินอาหารสุก กินเนื้อปลา กินผักพื้นเมือง กินข้าวเจ้า ไม่นิยมกินอาหารใส่กะทิหรือทอด อาหารของชาวไทยเบิ้งเป็นอาหารที่ ถูกสุขภาพ และหาได้ง่ายในท้องถิ่น สำหรับ

[แก้] สังคม

เป็นสังคมสงบสุข มีความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดีต่อกัน สมาชิกในสังคมมีความเอื้ออาทรต่อกัน ช่วยเหลือกัน มีการดูแลรักษาสุขภาพ รักษาความสะอาดชุมชน และที่อยู่อาศัย มีหมอหลายประเภทรักษาโรค เช่น หมอยาสมุนไพร หมอตำแย หมอรักษาโรค ให้กำลังใจ เช่นหมอน้ำมนต์ สังคมไทยเบิ้งเป็นสังคมมีประสบการณ์ และเรียนรู้ในการดูแลรักษา สุขภาพอนามัย

[แก้] ภาษา

ชาวไทยเบิ้งมีภาษาพูดคล้ายกับภาษาไทยภาคกลาง แต่มีเสียงวรรณยุกต์ต่างไป และนิยมลงท้ายประโยคด้วยคำว่า เบิ้ง เดิ้ง เหว่ย ด๊อก มีผู้เรียกภาษานี้ในชื่ออื่นว่า ภาษาไทยเดิ้ง หรือภาษาไทยโคราช วรรณกรรมที่เก่าแก่ที่พบเขียนด้วยอักษรไทย เป็นส่วนใหญ่ เขียนบนสมุดไทยได้แก่ นิทาน นิยาย คำสอนและคติธรรม ตำรายา ตำราหมอดู และกฎหมายเป็นต้น มีรูปแบบอักษรอื่นที่พบบ้าง คืออักษรขอมเขียนบนสมุดไทยเป็นคาถา หรือจารบนใบลานเป็นบทเทศน์ของพระภิกษุ

[แก้] ศิลปกรรม

ศิลปกรรมของชาวไทยเบิ้งได้แก่ พระพุทธรูป ธรรมาสน์ จิตรกรรมพบว่ามีลักษณะคล้ายแบบศิลปกรรมของภาคกลาง แต่มีลักษณะพื้นถิ่นปะปนอยู่ด้วย ศิลปกรรมแบบนี้ เช่น พระพุทธรูปจะเป็นแบบในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22-23

[แก้] เครื่องดนตรี

เป็นแบบสังคมชนบทไม่มีความซับซ้อนในการเล่น และการประดิษฐ์ ได้แก่เพี้ย(บางครั้งเรียกว่าจิ้งหน่อง) ปี่ โทน และกลองยาว ส่วนเพลงพื้นบ้านที่สำคัญคือเพลงปฏิพากษ์ ใช้โต้ตอบกันด้วยกลอนเพลง มีหลายรูปแบบ เช่น เพลงหอมดอกมะไพ เพลงพวงมาลัย เพลงระบำบ้านไร่ เพลงโนเน เพลงพิษฐาน เพลงช้าเจ้าหงส์ และ เพลงโคราช ในจำนวนเพลงพื้นบ้านเหล่านี้ เพลงโคราชได้รับความนิยมสูงสุด และยังมีผู้เล่นได้บ้างจนถึงปัจจุบัน

[แก้] การละเล่นทั่วไป

และกีฬาพื้นบ้าน มีทั้งของเด็กและผู้ใหญ่มีลักษณะคล้ายกับชาวไทยภาคกลางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และชาวไทย โคราช เช่น มอญซ่อนผ้า งูกินหาง ลูกช่วง เบี้ยริบ สะบ้า ต่อไก่ สันนิษฐานการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเบิ้ง มีข้อสันนิษฐานต่างๆ ดังนี้คือ

1.เบิ้ง ตรงกับคำว่า บ้าง ในภาษาไทยภาคกลาง "ไทยเบิ้งก็คงจะหมายถึง เป็นไทยอยู่บ้างเหมือนกัน คือ ส่วนหนึ่งเป็นไทย ส่วนหนึ่งเป็นเผ่าอื่น เช่น อาจจะเป็นลาว หรือเขมร หรือญวนผสมอยู่"
2. อาจจะเป็นเพราะคนกลุ่มนี้ใช้คำว่า เบิ้ง ปะปนกันในการพูดจาเสมอ เช่น ภาษาไทยภาคกลางพูดว่าขอไปด้วย ชาวไทยเบิ้งจะพูดว่า ขอไปเบิ้ง เป็นต้น
3. เป็นคำที่ชาวไทยลาว หรือเผ่าพันธุ์อื่นที่อาศัยอยู่ในภาคอีสานเรียกชาวไทยโคราช ธวัช ปุนโณทก ระบุในงานศึกษา เรื่องกลุ่มชั้นในภาคอีสานว่า "ชาวอีสานจะเรียกชาวโคราช" ว่าไทยบ้าง ไทยโคราชบ้าง ไทยเบิ้ง หรือไทยเดิ้ง บ้าง" ข้อเท็จจริงดังกล่าวนั้นตรงกับงานศึกษาของสรเชต วรคามวิชัย เมื่อ พ.ศ. 2539 ว่า " ชาวอีสาน กลุ่มต่างๆ เช่น ลาว เขมร จะเรียกชาวไทยโคราชว่าไทยเบิ้ง หรือไทยเดิ้ง ไม่ทราบคำเรียกนี้เกิดขึ้นเมื่อใด แต่ปัจจุบันชาวบ้าน ยังเรียกอยู่ " และจากการพูดคุยกับวีระพงศ์ มีสถานนักวิจัยของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดชัยภูมิ ระบุไว้ตรงกันว่า คนลาวชัยภูมิจะเรียกคนไทยโคราชว่า ไทยเบิ้ง กลุ่มชาวไทยในชัยภูมิจะยอมรับและหันมาเมื่อมีใครทักว่าเป็นไทยเบิ้ง แสดงว่ามีการรับรู้ว่าตนเองเป็นกลุ่มไทย(เบิ้ง) ไม่ใช่ลาว

ไทยโคราช เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ ที่มีวัฒนธรรมโคราช ได้แก่ มีเพลงพื้นบ้านที่เรียกว่า “เพลงโคราช” ใช้ดนตรีพื้นบ้าน คือ มโหรีโคราช และที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญคือ ใช้ภาษาโคราชในชีวิตประจำวัน ภาษาโคราชเป็นภาษาที่มีวงศัพท์ สำเนียง และสำนวน เป็นลักษณะเฉพาะของตนเอง

ความก้าวหน้าทางการศึกษา ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม ปัจจุบันส่งผลกระทบถึงกลุ่มชาติพันธุ์ โคราชรุ่นใหม่ ที่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมของตนเอง ไม่รู้จักการละเล่นดนตรี และเพลงพื้นบ้าน ที่สำคัญคือ พูดภาษาโคราชไม่ได้ วงศัพท์ภาษาโคราชจึงนับวันจะหายไป

[แก้] ประเพณีและความเชื่อของไทยเบิ้ง

ประเพณีชาวไทยเบิ้ง ก็ไม่ต่างจากชาวไทยกลุ่มอื่นมากนักในเรื่องของความเชื่อดังกล่าว คือ บางอย่างก็ไม่มีเหตุผล บางอย่างก็มีเหตุผล แต่จะแตกต่างจากประเพณีชาวไทยภาคกลางบ้าง รายละเอียดเกี่ยวกับประเพณีชีวิตของชาวไทยเบิ้ง มีดังนี้

  • ประเพณีแต่งงานการแต่งงานจะมีพิธี หลายขั้นตอนคือ การทาบทามสู่ขอ วิธีชีวิตของชาวไทยเบิ้ง โอกาสที่หนุ่มสาวจะได้พบกันมีน้อย เพราะต้องทำงานตลอดช่วงกลางวัน และเวลาค่ำคืนเป็นโอกาสที่หนุ่มสาวจะได้พบปะเกี่ยวพากัน และเมื่อชายหนุ่มถูกใจก็จะจัดหาเถ้าแก่ไปสู่ขอ บิดามารดาฝ่ายหญิงอาจเรียกสินสอดทองหมั้นเป็นเงินทอง หรือเป็นเรือนหอเรียกว่า มาดเป็นเงิน มาดเป็นทอง การหมั้น เมื่อได้ทาบทามสู่ขอแล้วก็จะให้พระสงฆ์ หรือหมอดูกำหนดฤกษ์เพื่อเป็นวันหมั้นซึ่งจะต้องเป็นวันฟู เพราะตามประเพณีจะไม่จัดในวันจม วันฟูหมายถึงวันอธิบดี วันธงชัย และวันจมหมายถึงวันอุบาทว์ วันโลกาวินาศ สำหรับเดือนที่นิยมจัดงานจะเป็นเดือนคู่ และไม่จัดงานระหว่างเข้าพรรษา เมื่อใกล้วันแต่งงาน จะต้องมีการเตรียมตำข้าว หาฟืน ลงปลา หาผักป่า เนื้อสัตว์ที่นิยมใช้ทำอาหารของชาวไทยเบิ้ง นิยมใช้ปลาจะไม่มีการฆ่าหมู วัวหรือควาย อาหารจะเป็นอาหารพื้นบ้านง่ายๆ ไม่มีอาหารประเภทใดต้องห้ามสำหรับงานแต่งงานไม่เหมือนประเพณีของทางภาคกลาง
ในการจัดงานจะแบ่งเป็น 3 วันคือ วันแรกเป็นวันเตรียม วันต่อมาคือวันแต่งงานและวันที่สามคือวันทำบุญบ้าน ส่วนพิธีอื่นๆ จะคล้ายกับภาคกลาง ต่างกันตอนขบวนขันหมาก คือเมื่อบ้านฝ่ายหญิงยิงปืนขึ้น ๑ นัด ฝ่ายชายจึงเริ่มขบวนขันหมาก เมื่อขบวนมาถึงได้มีการขันหมากแล้ว ฝ่ายหญิงจะมอบแป้งกระสอบหนึ่งถุงเป็นของชำร่วย จากนนั้นจึงมีการผูกข้อไม้ข้อมือ วันที่สามมีพิธีทำบุญบ้านบ่าวสาว จะตักบาตร ขนมขันหมากที่ฝ่ายเจ้าบ่าวจัดมาจะถวายพระ เพราะมีข้อห้ามไม่ให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวกินขนมขันหมาก หลังจากเลี้ยง พระแล้วจะมีพิธีประพรมน้ำพุทธมนต์ เป็นอันเสร็จพิธีแต่งงาน หลังจากแต่งฝ่ายชายจะต้องไปอยู่บ้านฝ่ายหญิงอย่างน้อย ๓ คืน แล้วจึงจะแยกเรือนไปดำเนินชีวิตเป็นครอบครัวใหม่ต่อไป
  • ประเพณีการเกิดผู้หญิงชาวไทยเบิ้ง เมื่อตั้งครรภ์จะมีการปฏิบัติตนเช่นเดิมปกติ คือ ยังทำงานบ้านทำไร่ทำนา ในระหว่างการตั้งครรภ์นั้น มีความเชื่อมีข้อควรปฏิบัติ และข้อห้ามหลายประการ เช่น ห้ามทำบาปไม่ตกปลาไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ให้ไปดูคนอื่นคลอดลูกเพราะมีความเชื่อว่าจะยันกันทำให้คลอดยาก ไม่ไห้อาบน้ำกลางคืน เพราะกลัวแฝดน้ำ เมื่อเกิดจันทรคราสบางคนก็เอาน้ำลูบท้องเพื่อให้คลอดง่าย ไม่ให้นั่ง ยืนคาบันไดหรือประตู ห้ามกินกล้วยแฝด กลัวจะมีลูกแฝดทำให้คลอดยาก ห้ามเตรียมของใช้ไว้ก่อนถ้าจะเย็บที่นอนและหมอนไว้ ต้องไม่เย็บปิดปากที่นอนหรือหมอน เมื่อคลอดแล้วจึงจะเย็บปิดปากหมอนเวลากินข้าวต้องรีบอิ่มก่อนคนอื่นถึงแม้จะยัง แล้วจึงกลับไปกินต่อที่หลังได้ เพราะเชื่อว่าอิ่มก่อนจะทำให้คลอดง่าย
  • การเตรียมการคลอด หญิงมีท้องโดยเฉพาะลูกคนแรก จะกลับไปคลอดที่บ้านแม่ตนเอง โดยจัดเตรียมห้อง"ในเรือน" เป็นห้องคลอดบางบ้านทำสายสิญจน์วนรอบห้องคลอด บางคนเอาคล้องคอคนท้องไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ผีมารบกวน ในห้องที่จะใช้เป็นห้องคลอดต้องทำเตาไฟ โดยเอาไม้ขอนวางขวางกันเป็นคอกหมู เอากาบกล้วยปูรองพื้นและนำดินใส่จนเต็ม เตรียมแคร่นอนไว้ข้างเตาไฟ ใต้ถุนของห้องคลอดจะขุดหลุมตรงกับร่องขับถ่ายของเสียไว้ และรอบๆหลุมนั้นจะตัดหนามพุทรา หรือหนามอื่นมาสะไว้โดยรอบเพื่อป้องกันผีปอบ ผีกระสือ ไม่ให้มากินเลือดกินของคาว ของเสียที่ถ่ายมาตามร่องนั้น การคลอด เมื่อท้องแก่เริ่มปวดท้อง จะไปตามหมอตำแยมาทำคลอด เริ่มด้วยหมอตำแยจะทำพิธีไหว้ผีบ้านผีเรือนก่อน โดยจัดทำขนมต้ม ข้าวเหนียวนึ่ง กล้วย ดอกไม้ ธูป เทียน และเงิน จัดใส่พานไหว้ "ปู่ ย่า ตา ยาย ทางพ่อก็ดี ทางแม่ก็ดี ให้มาช่วยให้การคลอดง่ายให้มาปกปักรักษาให้คลอดง่าย" โดยการคลอดจะนิยมให้คนท้องหันหน้าไปทางทิศเหนือ หรือทิศตะวันออก และให้นั่งพิงครกหรือพิงหลังสามีเอาเท้ายันฝาไว้ เมื่อเด็กคลอดออกมาผู้เป็นสามีหรือคนในบ้านจะรีบติดไฟต้มน้ำร้อนเพื่ออาบน้ำเด็กต่อไป ถ้าการคลอดมีการผิดปกติจะใช้วิธีหาหมอพื้นบ้านมาเสกเป่า หรือทำน้ำมนต์ให้ดื่ม เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์
  • การอยู่ไฟ การอยู่ไฟ"อยู่กรรม" จะเป็นการอยู่ไฟฟืนโดยท่อนล่างจะนุ่งเตี่ยว ท่อนบนจะเอาผ้าชุบน้ำโปะหน้าอกไว้ นอนเหยียดแขนขาบนแคร่ซึ่งส่วนมากจะเป็นไม้กระดานแผ่นเดียว การนอนอยู่ไฟจะไม่ให้งอแขนงอขา และห้ามไม่ให้ออกไปนอกบริเวณที่อยู่ไฟ เมื่อแข็งแรงดีแล้วจะลุกเดินได้
  • การเลี้ยงลูก การเลี้ยงดูเด็กอ่อน ขณะที่แม่ยังไม่มีน้ำนมคือให้เด็กกินน้ำ หรือน้ำผึ้งโดยใช้สำลีชุบน้ำผึ้งให้ดูด และเริ่มให้เด็กกินกล้วยสุกบด จนกระทั่งอายุประมาณ 1 เดือน จึงจะเลี้ยงด้วยข้าวบดใส่กล้วยสุก และเริ่มให้เด็กกินข้าวกับปลาก็ต่อเมื่อเด็กเริ่มหัดพูดและพูดคำว่า "ปลา"ได้ ถ้าเด็กลิ้นเป็นฝ้าจะใช้ปัสสวะของเด็กเองป้ายกวาดถ้าปวดท้องจะใช้ด้ายผูกก้อนมหาหิงค์ผูกติดข้อมือเด็กไว้เพื่อให้เด็กดมกลิ่น
  • ประเพณีการบวช ผู้ที่จะบวชตามประเพณีของชาวพุทธต้องมีอายุครบ 20 ปี มีร่างกายครบ 32 ประการ ส่วนมากนิยมบวชก่อนแต่งงาน การบวชของชาวไทยเบิ้งมีพิธีกรรมคล้ายกับประเพณีบวช ในพื้นที่อื่นๆ เช่น การเตรียมการบวช นิยมหาฤกษ์เพื่อกำหนดวันที่ดีทำพิธี ผู้บวชจะต้องหัดขานนาค หัดสวดมนต์ให้คล่อง โดยบิดามารดาจะนำดอกไม้ ธูป เทียน ใส่พานพาผู้ที่จะบวชไปให้อยู่ที่วัดอย่างน้อย 1 เดือน การบวช ประเพณีการบวชของชาวไทยเบิ้ง นิยมจัดกัน 2 วัน คือวันสุกดิบ และวันบวช ตอนกลางวันก่อนเพลในวันสุกดิบ จะทำพิธีปลงผมที่วัด บิดามารดานาคจะเป็นผู้เริ่มขลิบผมก่อน ต่อด้วยญาติและพระสงฆ์เป็นผู้โกนจนหมด ผมที่โกนจะนำไปลอยน้ำ หลังจากนั้นบิดามารดานาคจะอาบน้ำให้นาคและแต่งตัวใหม่ ตอนค่ำจะทำพิธีสู่ขวัญ หรือ ทำขวัญนาค โดยมีหมอซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้คนในหมู่บ้าน หมอทำขวัญจะเริ่มทำพิธีนำไหว้พระ สวดบทชุมนุมประชุมเทวดา แหล่บทไหว้ครูบทว่าด้วยคุณบิดามารดา บทว่าด้วยตัวนาคตั้งแต่เล็กจนโต และบทสอนนาคให้ประพฤติให้ถูกต้องตามกฎของวัด และบทบัญญัติพระพุทธศาสนา สอนให้รู้จักศีล สวดมนต์ภาวนา และบทสุดท้ายจะเป็นบทเชิญขวัญนาค ซึ่งในการแหล่จบแต่ละครั้งแต่ละบทจะมีการตีฆ้อง 3 ครั้ง โห่ร้องเอาชัย และเวียนเทียน วันรุ่งขึ้นเป็นวันบวช นิยมบวชตอนเช้าหลังจากถวายภัตตาหารเช้าแล้ว จะแห่นาคเดินจากบ้านไปวัด อาจมีกลองยาวหรือแตรวงนำขบวน
  • การลาสิกขาบท ชาวไทยเบิ้ง นิยมบวช 1 พรรษา คนที่บวชไม่ครบจะถูกเรียกว่า เป็นคนไม่เต็มคน ก่อนจะลาสิกขาบทจะหาฤกษ์ดี แล้วนำกรวยใบตองดอกไม้ ธูป เทียน ไปกราบลาพระอุปัชฌาย์ และเจ้าอาวาส ซึ่งจะสวดคาถาและรดน้ำมนต์ให้ ขณะที่ก้มลงกราบจะชักผ้าสังฆาฏิออก แล้วให้นำน้ำมนต์ไปอาบ จากนั้นแต่งกายเป็นฆราวาส ถึงแม้จะลาสิกขาบทแล้ว ทิดสึกใหม่จะคงอยู่ที่วัดอีก 3 วัน เพื่อช่วยงานในวัด
  • ประเพณีงานศพ การทำงานศพของชาวไทยเบิ้ง ในอดีตโดยทั่วไปนิยมการเผา นอกจากศพที่เกิดจากการถูกฆ่าตาย ตกต้นไม้ ฟ้าผ่า ตกน้ำตาย คลอดบุตรตาย หรือตายด้วยอุบัติเหตุต่างๆ จะนำศพฝังไว้ 3 - 5 ปี แล้วจึงทำพิธีเผาที่หลัง การทำความสะอาดศพ ด้วยน้ำร้อนต้มใส่ใบมะขาม ใบฝรั่ง ซึ่งการอาบน้ำ ศพนี้จะทำเฉพาะลูกหลาน และญาติใกล้ชิด ต่อจากนั้นแต่งตัวศพ ทาขมิ้น ผัดแป้ง หวีผม โดยจะหวีไปในทางตรงข้าม กับตอนมีชีวิตอยู่ ใส่เสื้อผ้ากลับด้านหน้าไว้ข้างหลัง จัดทำกรวยใบตองใส่ดอกไม้ ธูป เทียน ใส่มือพนมไว้เพื่อให้ผู้ตายนำไปบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และบอกกับศพว่าใครขอก็ไม่ให้ นำเงินเหรียญ ใส่ในปากศพ แล้วใช้ผ้าขาวมัดตราสังศพ แล้วทำพิธีเบิกโลงก่อนนำศพลงโลง ซึ่งเป็นหน้าที่ของสัปเหร่อ โดยใช้ไม้ไผ่ผ่าซีกเป็นปากกา มีลักษณะเป็นไม้คีบเหมือนไม้ปิ้งปลา 8 อันนำไปคีบตามขอบโลงด้านละ 2 อัน แล้วนำด้ายสายสิญจน์มัดโยงตามไม้คีบปากกาทั้ง 8 อัน ทำกระทงใบฝรั่ง 4 กระทง ใส่ข้าวดำ ข้าวแดง เพื่อวางในโลงเป็นเครื่องสังเวย ทำน้ำมนต์ธรณีสารพรมที่โลงและศพ แล้วใช้เทียนจุดด้ายสายสิญจน์ที่โยงไว้ระหว่างไม้คีบปากโลง ให้สายสิญจน์ขาดเป็นช่องๆ เป็นการแสดงว่าได้ตัดขาดจากญาติพี่น้อง ลูกหลานให้หมด ต่อจากนั้นจึงม้วนด้ายสายสิญจน์และนำไม้คีบปากทั้งหมดใส่ในโลงด้วย หลังจากนั้นจะยกโลงไปตั้งบนเรือนหันด้านศีรษะไปทางทิศตะวันตกเพื่อทำพิธีสวดศพต่อไป
  • การสวดศพ ในอดีตจะตั้งศพที่บ้าน ไม่นิยมไปตั้งศพที่วัดเหมือนปัจจุบัน และตั้งศพบำเพ็ญกุศลเพียง 1-3 วัน เนื่องจากในอดีตยังไม่มีการฉีดยาป้องกันศพเน่าเปื่อย จึงต้องรีบเผา ตลอดเวลาตั้งศพสวดนั้นจะจุดธูปหรือจุดตะเกียงตลอดไม่ให้ดับเมื่อถึงเวลาอาหารญาติของผู้ตายจะจัดสำรับอาหารไปวางข้างโลง และเคาะโลงเรียกให้กินอาหาร หรือเมื่อพระสงฆ์สวดพระอภิธรรมก็จะเคาะโลงเรียกให้ฟังพระสวดด้วย
  • การเผาศพ เมื่อสวดศพวันสุดท้ายแล้วจะหามศพไปทำพิธีที่วัดถ้าเป็นพ่อ แม่ หรือญาติผู้ใหญ่หลังจากการหามศพลงจากบ้านแล้วจะคว่ำโอ่งน้ำ 1 ใบ ขบวนศพที่หามไปนั้นจะนำหน้าศพด้วยหม้อไฟ (หม้อตาลใส่ฝ้ายจุดไฟ) และมีถาดใส่มะพร้าวปอกเปลือกแล้ว 1 ลูก กระทงใบฝรั่ง หรือ กระทงใบตองใส่ข้าวดำข้าวแดง และสตางค์กระทงละ 1 บาท แต่ละกระทงจะปักธงสามเหลี่ยม ขณะที่หามศพไปก็จะโรยข้าวตอกไปตลอดทาง เป็นการนำไปสู่สวรรค์ และตลอดทางที่หามศพไปจะไม่มีการหยุดพักระหว่างกลางทาง การกำหนดวันเผาศพของชาวไทยเบิ้ง จะห้ามเผาศพวันพระ และวันคู่ จะเผาศพเฉพาะวันคี่ ห้ามเผาวันศุกร์ วันเสาร์ และวันอังคาร การแต่งกายของผู้ไปร่วมงานศพจะแต่งกายสีใดก็ได้จะไม่ถือว่าผิดธรรมเนียมประเพณีแต่อย่างใด ประเพณีการแต่งกายสีดำ หรือสีขาว - ดำ ไปงานศพในเวลาต่อมานั้นได้รับแบบอย่างจากคนภาคกลาง การทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตาย หลังจากเผาศพ 3 วันจะทำพิธีกลบธาตุ หรือกลับธาตุ โดยจะนิมนต์พระสงฆ์ ไปที่เชิงตะกอน สวดบังสุกุลตายพรมน้ำมนต์ที่กระดูก แล้วเขี่ยกระดูกเป็นรูปคนหันศีรษะไปทางตะวันออก แล้วพระสงฆ์สวดบังสุกุลเป็นเพื่อเป็นการแสดงการเกิด แล้วจึงเก็บกระดูกใส่โกศไว้บนหิ้งบูชา หรือเก็บไว้ที่วัด เมื่อถึงวันตรุษสงกรานต์ แต่ละปีจะนำโกศไปวัดให้พระสงฆ์สวดบังสุกุล หรือนิมนต์พระสงฆ์ไปทำบุญที่บ้าน เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ นับเป็นการทำบุญใหญ่ประจำปี
  • การต่ออายุ เมื่อมีผู้ป่วยหนักมักจะทำพิธีต่ออายุโดยนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีที่บ้านมีการทำ บุญเลี้ยงพระ สวดต่อชะตาชักบังสุกุลเป็น เป็นการสร้างเสริมกำลังใจผู้ป่วย ยืดอายุผู้ป่วยไปอีกระยะหนึ่ง
  • การบอกทางคนใกล้สิ้นใจเมื่อผู้ป่วยอาการหนัก เห็นว่าไม่มีทางรอดมีอาการใกล้สิ้นใจ ญาติพี่น้องจะบอกทางแก่ผู้ป่วย ให้นึกถึงพระอรหันต์ หรือบอกให้ท่องพุทโธๆ หรือจะกล่าวนำดังๆ ให้ผู้ป่วยได้ยินจะได้ยึดคำพุทโธๆ เป็นพุทธานุสติ ให้จิตใจสบายและเชื่อมั่นว่าเมื่อจากโรคนี้ไปแล้วจะไปสู่ภพภูมิที่ดี

ประเพณีท้องถิ่นของชาวไทยเบิ้ง ชาวไทยเบิ้งมีความเชื่อ และทำประเพณีต่างๆ คล้ายๆ กับชาวไทยภาคกลาง ประเพณีที่ทำในท้องถิ่นตลอดทั้งปีทีดังนี้

1. เทศน์มหาชาติ แต่ละวัดอาจจะจัดในเวลาต่างกัน ถ้าไม่เทศน์ในช่วงเข้าพรรษาก็จะเทศน์กลางเดือน ๑๒ งานเล็ก หรือใหญ่ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละวัด วัดที่จัดงานใหญ่จะตกแต่งสวยงาม บางวัดก็ไม่จัด เทศน์มหาชาติถือเป็นงานบุญที่สำคัญ ชาวบ้านจะร่วมมือกันจัดงานให้สำเร็จลงได้ด้วยดี
2.ทำบุญในวันมาฆบูชา วิสาขบูชา และอาสาฬหบูชา การทำบุญในวันสำคัญทางพระพุทธ ศาสนาทั้ง 3 วันนี้ ชาวไทยเบิ้ง จะให้ความสำคัญกับวันวิสาขบูชามากที่สุด
3.ประเพณีทำบุญเข้าพรรษา ถือเป็นวันพระสำคัญทำบุญในวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ ต่อจากงานบุญวันอาสาฬหบูชา ชาวบ้านจะนำพุ่มดอกไม้ ผ้าอาบน้ำฝนและเทียนพรรษาไปถวายพระ
4. บุญออกพรรษาหรือลาพรรษาจะมีการตักบาตรเทโวในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ตามประเพณีชาวบ้านจะเตรียมอาหารไปตักบาตรเทโวกันอย่างพร้อมเพรียง ขนมที่ชาวไทยเบิ้งทำเป็นหลักเพื่อนำไป ตักบาตรเทโว คือ ข้าวต้มมัด ขนมเทียน และขนมกล้วย
5.วันตรุษและสงกรานต์ ประเพณีตรุษจะทำในวันพระสิ้นเดือน ๔ ชาวบ้านจะกวนข้าวเหนียวแดงเพื่อนำไปถวายพระ ข้าวโป่งเป็นขนมที่มีลักษณะคล้ายกับข้าวเกรียบว่าวของภาคกลาง ปัจจุบันชาวบ้านไม่ค่อยทำกันเอง เนื่องจากขั้นตอนการทำยุ่งยากและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วนประเพณีสงกรานต์จะทำในวันที่ 13 – 15 เมษายน เหมือนทั่วๆ ไป คือมีการทำบุญตักบาตรสรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระสงฆ์ และชาวบ้านจะเล่นสาดน้ำกัน และที่พิเศษคือจะมีการละเล่นรื่นเริง ต่างๆ เช่น รำโทน ลูกช่วง ชักเย่อ ฯลฯ
6. ลอยกระทง ทำในวันเพ็ญเดือน 12 ชาวบ้านช่วยทำกระทง ซึ่งกระทงที่จัดทำมีหลายแบบส่วนมากทำจากต้นกล้วย ใช้กาบกล้วยตัดได้ขนาดแล้วตัดเป็นรูปเรือ แล้วใส่ดอกไม้ ธูป เทียน ลงในแพ แล้วนำไปลอยแม่น้ำป่าสัก ชาวบ้านมักจะมาประชุมกันบริเวณวัด และมาลอยกระทงหน้าวัดพร้อมๆ กัน
7. ประเพณีทอดกฐิน ทอดผ้าป่า การทอดกฐิน จะทอดตั้งแต่หลังออกพรรษาถึงวันเพ็ญเดือน 12 ซึ่งการทอดกฐินของชาวไทยเบิ้ง มี 2 แบบ คือ ทอดกฐินแบบธรรมดา และแบบจุลกฐิน ส่วนการทอด ผ้าป่าจะไม่มีกำหนดแน่นอน ในสมัยก่อนมักจะทอดผ้าป่าทุกวันพระในช่วงเข้าพรรษา
8. วันสารท เป็นประเพณีที่นิยม เป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษ ในเดือน ๑๐ ชาวบ้านจะกวนกระยาสารทเพื่อนำไปถวายพระหลังเสร็จพิธี ก็จะชวนกันเข้าป่าไปหาผลไม้ป่ากันอย่างสนุกสนาน
9.บุญกลางบ้าน เป็นประเพณีของชาวไทยเบิ้ง จะทำเฉพาะปีที่ฝนฟ้าไม่ตก วัตถุประสงค์ในการทำเพื่อเป็นการทำบุญบูชาผี ให้คนในหมู่บ้านอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุขไม่มีโรคภัยร้ายแรง
10. ประเพณีแห่นางแมวขอฝน (จะอธิบายรายละเอียดในเรื่อง ความเชื่อของชาวไทยเบิ้ง)
11. รับท้องข้าว เป็นประเพณีที่ทำมาแต่โบราณนิยมทำในวันเข้าพรรษาหรือลาพรรษา หลังจากเสร็จพิธีทำบุญพรรษาแล้ว แต่ละบ้านจะทำพิธีรับท้องข้าว ต่างคนต่างทำในที่นาของตน
12. รับขวัญข้าว จะทำในเดือน 12 หลังจากเกี่ยวข้าวนวดเข้า นำข้าวเข้ายุ้งแต่ละบ้านที่เก็บเกี่ยวได้จะทำ พิธีรับขวัญ หรือเรียกขวัญข้าว โดยเลือกผู้หญิงที่มีเรือนและมีวัยวุฒิ ให้คอนกระบุงข้าวขึ้นบ่าเดินไปที่ลานจะวางกระบุงลง จุดธูปกล่าวเชิญแม่โพสพ จากนั้นจะมีคนช่วยนำฟางข้าวมาถูกเป็นรูปหุ่น มีแขน ขา ลำตัว ศีรษะขนาดสูงประมาณ 1 ฟุต สมมติว่าเป็นแม่โพสพ วางลงในกระบุงกล่าวเชิญเสร็จก็คอนกระบุงกลับยุ้งมีเคล็ดลับว่าตลอดทางห้ามพูดกับใคร ห้ามทักใคร คอนกระบุงมาเข้ายุ้งข้าวแล้วนำหุ่นฟางแม่โพสพไปตั้งไว้ที่มุมใดมุมหนึ่งบนกองข้าวในยุ้งเหมือนให้แม่โพสพตามจากนามาอยู่ในยุ้งข้าวด้วย

[แก้] ความเชื่อของชาวเบิ้ง

มีความเชื่อทั้ง 2 ประเภท แต่ในสมัยก่อนมีความเชื่อต่างจากในปัจจุบัน ทุกหมู่บ้านจะมีความเชื่อในเรื่องต่างๆ คล้ายๆ กัน ความเชื่อสำคัญมีดังนี้ ความเชื่อเรื่องผี ชาวไทยเบิ้งที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ยังมีความเชื่อเรื่องผีอยู่ ดังนี้

ผีบ้านผีเรือนหรือผีปู่ย่าตายาย ชาวไทยเบิ้งไม่นิยมตั้งศาลบูชาผีบ้านผีเรือนผีปู่ย่าตายาย หรือศาลเจ้าที่ แต่เชื่อว่ามีผีประจำอยู่ ในบ้านเรือน ผีปอบ ชาวไทยเบิ้ง มีความเชื่อว่าปอบมีจริง ชาวบ้านบางคนเคยเห็น และผีปอบเคยสิงคนในหมู่บ้าน คนที่ถูกผีเข้าบางคนยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน คนที่ถูกสิงจะมีอาการแปลกๆ เช่นอย่างกินของคาว บางคนเดินแก้ผ้าไม่อายใคร ผีนางไม้ ส่วนใหญ่เชื่อเรื่องผีนางตะเคียนมากที่สุด และต่างเชื่อกันว่าตามต้นไม้ ใหญ่จะมีผีประจำอยู่ใครไปทำอะไรไม่ดีจะถูกลงโทษ ผีกระสือ ชาวไทยเบิ้ง เล่าว่าเคยเห็นผีกระสือเข้ามาในหมู่บ้านจะมาตอนค่ำๆ หรือตอนกลางคืน มองเห็นเป็นดวงไฟแวบๆ ลอยมาวนเวียนใต้ถุนบ้าน บางทีก็ดูดกินตับไตไส้พุงของสัตว์ที่เลี้ยงไว้ในใต้ถุนบ้านจนตายก็มี ผีพราย หรือผีเงือก ผีพรายหรือผีน้ำหรือผีเงือกจะเหมือนๆ กัน เชื่อว่าผีเงือกอยู่ประจำวังน้ำ เวลาใครไปหาปลา ลงเล่นน้ำหรือถ่ายปฏิกูลลงน้ำ อาจจะถูกผีเงือกหลอกได้ ผีปะกำหรือผีประกำ ชาวบ้านสมัยโบราณเชื่อว่าผีชนิดนี้เพราะมีอาชีพเกี่ยวกับการคล้องช้าง เชื่อว่าก่อนจะออกไปคล้องช้างจะต้องทำพิธีเซ่นสรวงบูชาผีปะกำก่อนจึงจะเกิดผลดีต่อการไปคล้องช้าง ผีโรงหรือผีโลง ผีโรงเป็นผีของบรรพบุรุษ ของแต่ละบ้านนั้นเองผีพวกนี้จะไม่ทำร้ายใคร แต่ต้องกราบไหว้บูชา ผีตายโหง มีความเชื่อว่าคนที่ตายไม่ดี จะเป็นผีตายโหง ผีเหล่านี้จะมาหลอกหลอนคนอื่นไม่ค่อยยอมไปผุดไปเกิดง่าย ๆ ผีตะมอย ชาวบ้านบางหมู่บ้านเชื่อเรื่องผีตะมอย ชาวบ้านบอกไม่แน่ชัดว่าผีตะมอยมีรูปร่างอย่างไร แต่เป็นผีขี้ขโมย ชอบมาขโมย มาลักกินข้าวของชาวบ้าน

[แก้] สิ่งศักดิ์สิทธิ์

ความเชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ชาวไทยเบิ้งมีความเชื่อเหมือนกับคนทั่วๆ ไปจะอธิบายดังนี้

  • พระพุทธรูปและพระเครื่องต่างๆ ชาวไทยเบิ้งล้วนเป็นชาวพุทธ จึงมีความเชื่อในพระพุทธเจ้ากราบไหว้บูชาพระพุทธรูป และนิยมพระเครื่องต่างๆ แต่ละบ้านจะจัดโต๊ะหมู่บูชาหรือหิ้งสำหรับกราบไหว้
  • ความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าและเทวดา คนไทยเบิ้ง ไม่ค่อยเชื่อในเรื่องเทพเจ้าและเทวดามากนักรู้จักเพียงชื่อว่ามีหลายคน เช่น พระพรหม พระอิศวร พระนารายณ์ เป็นต้น ส่วนเทวดาที่คนในชุมชน นับถือกราบไหว้บูชามากที่สุดคือ พระแม่โพสพ เพราะเป็นเทวดาที่เกี่ยวข้องกับอาชีพ และชีวิตความเป็นอยู่ของพวกตนโดยตรง ส่วนเทวดาองค์อื่นๆ บอกเล่ากันว่ามี แต่ก็ไม่มีพิธีบูชาแต่อย่างใด
  • ความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดและนรกสวรรค์ ไทยเบิ้งทุกคนเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดตามคติในพระพุทธศาสนาส่วนความเชื่อเรื่องนรกสวรรค์นั้นบางคนก็เชื่อบางคนก็ไม่เชื่อเพราะพิสูจน์ไม่ได้
  • ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ ชาวไทยเบิ้ง จำนวนหนึ่งมีความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์แตกต่างกันไป เช่น เชื่อเรื่องเวทมนตร์คาถาอาคม ซึ่งมีใช้ทั้งในทางเลวร้าย และทางดี เครื่องรางของขลัง ผู้ชายไทยเบิ้งบางคน นิยมเสาะหาเครื่องรางของขลังไว้สวมใส่ หรือมีไว้ การเสกเป่าและรดน้ำมนต์ วิธีหนึ่งที่อาจช่วยแก้ปัญหาได้ ช่วยผ่อนหนักเป็นเบาโดยการไปรดน้ำมนต์ การสัก ซึ่งนิยมสักตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น แขน ขา นิยมสักหลังจากบวชเรียนแล้ว เพื่อให้อยู่ยงคงกระพัน สักเพื่อแสดงว่า บวชเรียนมาแล้ว ฯลฯ
  • ความเชื่อในเรื่องอาหารการกินบางชนิด มีความเชื่อแตกต่างกันไปบ้าง เช่น เชื่อว่าผู้ชายที่เล่นของเล่นไสยศาสตร์ ห้ามกินปลาไหล มะขามป้อม ลูกสมอและมะเฟือง กินแล้วของจะเสื่อม เชื่อว่าชายที่เป็นโรคผู้หญิง (กามโรค) ห้ามกินปลากระเบนจะทำให้โรคกำเริบ เป็นต้น
  • ความเชื่อเรื่องการขอฝน เนื่องด้วยชาวไทยเบิ้ง มีอาชีพเกษตรกรรม จึงต้องอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติเพื่อให้พืชผลทางการเกษตรเจริญงอกงามจึงมีวิธีการขอฝน ตัวอย่างวิธีขอฝนคือ
  • การแห่นางแมวขอฝน มักทำในเดือน 9 เดือน 10 หลังจากดำนาหรือหว่านข้าวแล้ว ชาวบ้านจะนำแมวใส่กรงขังไว้แล้วเดินแห่แมวไปยังหมู่บ้าน ขณะแห่จะร้องเพลงแห่นางแมว เนื้อร้องจะมีคำร้องเป็นการขอเรียกฝน การทำให้ฝนตกโดยวิธีการท่องคาถาขอฝน มี 2 คาถา คือ สวด หรือท่องคาถาหัวใจร้อยแปด จะแก้เหตุร้ายภัยพิบัติรวมทั้งฝนแล้งได้ด้วย คาถาที่ 2 สวดคาถาปลาช่อน ก่อนสวดปลาช่อนต้องทำบุญตักบาตร 3 วัน การพายเรือบนบก เป็นการทำต่อเนื่องคาถาปลาช่อน และสุดท้ายการปั้นไอ้เมฆ คือการปั้นหุ่นดินเหนียว เพศหญิงชาย แล้ววางทั้งไว้ที่ทาง 3 แพร่ง ขอเรียนฝน
  • ความเชื่อเกี่ยวกับสวัสดิมงคลในการดำเนินชีวิต เป็นความเชื่อเกี่ยวเนื่องกับอาชีพเกษตรกรรมเป็นสำคัญ เช่น ห้ามสวมรองเท้าเดินลุยผ่านลานข้าว จะทำให้พระแม่โพสพโกรธ หรือการเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ใช้งาน ไม่นิยมเลี้ยงวัว 5 ม้า 6 ตัว ตามลำดับ ถือว่าอัปมงคล ให้นำไปปล่อย
  • เครื่องมือดำรงชีวิตประกอบอาชีพและพิธีกรรม เครื่องมือดำรงชีวิต และประกอบอาชีพซึ่งบางชิ้นจัดเป็นงานศิลปหัตถกรรมได้คือ ในสังคมเกษตรกรรมแบบพึ่งพาธรรมชาติ หลังจากเก็บเกี่ยวเสร็จจะมีเวลาพักในช่วงฤดูแล้ง ทำให้ชาวบ้านมีเวลาที่จะทำงานหัตถกรรม ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพหรือใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อการคมนาคมสะดวก ความเจริญทางวัตถุเพิ่มมากขึ้น ชาว บ้านเริ่มแสวงหาวัตถุอื่นๆ มาใช้แทนงานหัตถกรรมแบบดั้งเดิม หรือชาวบ้านมีโอกาสเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากแหล่งอื่นบ้าง ทำให้เกิดความหลากหลาย ในอดีต ชาวบ้านมักทำของขึ้นใช้เองภายในครัวเรือน
  • ของใช้ในชีวิตประจำวันบางอย่างชาวบ้านเลิกใช้ไปแล้ว เนื่องจากมีสิ่งอื่นเข้ามาแทนที่ เช่นไถ คราด เกวียน โดยชาวบ้านนิยมใช้รถไถนาไถไร่ รถเกี่ยวข้าว เครื่องนวดข้าว และเครื่องจักรกลต่างๆ ทำงานแทนแรงงานจากคน เครื่องสีข้าว ครกตำข้าว ทุกหมู่บ้านลดบทบาทลงจนถึงกับเกือบเลิกใช้ หรือถูกเปลี่ยนหน้าที่ใหม่เมื่อชาวบ้านหันมาซื้อข้าวสาร จากโรงสี หรือซื้อข้าวสารจากร้านค้าแทนการสีข้าว ตำข้าวด้วยตนเองดังแต่ก่อน แต่ผลิตภัณฑ์บางอย่างยังคงใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน เช่นกระบุง ตะกร้า เครื่องจักสานต่างๆ หรือเครื่องมือจับสัตว์น้ำถึงแม้ว่าจะลดจำนวนการใช้ลงบ้างแต่ก็ยังมีกิจกรรมต้อง ใช้เครื่องมือเหล่านี้อยู่
  • งานหัตถกรรมบางอย่าง มีคุณค่าทางความงาม และแสดงเทคโนโลยีพื้นบ้าน เช่น เครื่องมือดักจับสัตว์ ชนิดต่างๆ ที่ใช้กลไกแบบง่ายๆ โดยศึกษาพฤติกรรมการดำรงชีวิตของสัตว์แล้วสร้างกลไกเพื่อดักจับสัตว์เหล่านั้นได้ ผลิตภัณฑ์บางอย่างยังมีการออกแบบได้อย่างเหมาะสมกับการใช้สอย เช่นมีดจักตอก ชาวบ้านจะทำด้ามมีดให้ยาวโค้งงอ กระชับแนบกับลำตัวเวลาใช้มีดเหลาตอกจะสามารถบังคับมีดได้ดียิ่งขึ้น ช่างชาวบ้านผู้มีฝีมือในการจักสานหรือประดิษฐ์ภาชนะสิ่งของต่างๆ เริ่มหายาก ส่วนใหญ่ผู้มีความรู้ความชำนาญจะ มีอายุมาก คนรุ่นหลังไม่ค่อนสนใจที่จะเรียนรู้สืบทอดวิธีการต่อ จากผู้ใหญ่ทำให้งานหัตถกรรมที่มีคุณค่าหายากขึ้น อีกทั้งของเก่าที่มีอยู่แล้วก็ชำรุด หรือบางทีก็ถูกเก็บอย่างไม่รู้คุณค่า
  • งานหัตถกรรมประเภทเครื่องมือเครื่องใช้ภายในบ้าน ที่พบในพื้นที่สำรวจ ส่วนใหญ่มีรูปแบบและลักษณะการใช้สอยคล้ายกับที่พบในภูมิภาคอื่น แต่มีงานหัตถกรรมบางอย่างที่มีความโดดเด่น ในด้านความงาม ความประณีต ได้แก่ งานจักสาน กระบุง ตะกร้า งานดังกล่าวถือได้ว่าเป็นงานศิลปหัตถกรรมของท้องถิ่นอย่างแท้จริง ควรแก่การยกย่อง งานจักสานกระบุง ตะกร้า ที่ช่างพื้นบ้านทำขึ้นเพื่อใช้ในครัวเรือนมีความประณีต สวยงาม แข็งแรงและคงทน โดยสามารถเห็นได้ชัดในเรื่องรูปแบบลักษณะของผลงาน
  • อาหาร ชาวไทยเบิ้งใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติปรุงอาหาร การประกอบอาหารเป็นวิธีที่จัดว่าทำง่ายและกินอาหารที่สดใหม่หากต้องการเก็บอาหารไว้กินนานหลายวันใช้วิธีการถนอมอาหารแบบธรรมชาติเช่นการตากแห้ง การทำเค็มหรือการดองเปรี้ยว ไม่มีการใช้สารมีไขมันต่ำ กินปลาเป็นส่วนใหญ่ และกินผักกินข้าวเป็นประจำทุกมื้อ อาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยเบิ้ง คือ แกงหัวลาน แกงไก่สามสิบ และแกงบุก แกงส้มหัวลานมีการแกงน้อยมากเพราะหาต้นลานยาก ส่วนแกงไก่สามสิบ และแกงบุกยังมีให้เห็นบ้าง
  • สังคมของชาวไทยเบิ้ง เป็นครอบครัวเกษตรกรรม จึงมีลูกหลายคนเพราะต้องการแรงงานในการทำมาหากิน ดังนั้นพ่อแม่จะต้องอบรมสั่งสอนให้ลูกรักกัน สามารถทำงานแทนพ่อแม่ได้ ช่วยเลี้ยงน้อง น้องต้องเชื่อฟังพี่และการปฏิบัติตัวของพ่อแม่ คือ ถ้าพ่อแม่มีความยุติธรรม ลูกก็จะมีความรักใคร่สามัคคีกัน
  • ความสัมพันธ์ระหว่างปู่ย่า ตายาย และหลาน ปู่ย่า ตายาย คือผู้ใหญ่ในบ้านช่วยเลี้ยงดูหลานเมื่อพ่อแม่ต้องออกทำมาหากิน เด็กบางคนอาจเรียกว่า แม่ใหญ่ พ่อใหญ่ การที่เด็กสนิทกับปู่ย่า ตายาย ทำให้ได้มีโอกาสติดตามไปที่ต่างๆ เช่น วัด งานบวช งานแต่งงาน งานศพ ทำให้เด็กได้รู้วัฒนธรรมของท้องถิ่น

[แก้] อ้างอิง


ไทยโคราช เป็นบทความเกี่ยวกับ มนุษย์ มานุษยวิทยา และเรื่องที่เกี่ยวข้อง  ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น
ข้อมูลเกี่ยวกับ ไทยโคราช ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ


aa - ab - af - ak - als - am - an - ang - ar - arc - as - ast - av - ay - az - ba - bar - bat_smg - bcl - be - be_x_old - bg - bh - bi - bm - bn - bo - bpy - br - bs - bug - bxr - ca - cbk_zam - cdo - ce - ceb - ch - cho - chr - chy - co - cr - crh - cs - csb - cu - cv - cy - da - de - diq - dsb - dv - dz - ee - el - eml - en - eo - es - et - eu - ext - fa - ff - fi - fiu_vro - fj - fo - fr - frp - fur - fy - ga - gan - gd - gl - glk - gn - got - gu - gv - ha - hak - haw - he - hi - hif - ho - hr - hsb - ht - hu - hy - hz - ia - id - ie - ig - ii - ik - ilo - io - is - it - iu - ja - jbo - jv - ka - kaa - kab - kg - ki - kj - kk - kl - km - kn - ko - kr - ks - ksh - ku - kv - kw - ky - la - lad - lb - lbe - lg - li - lij - lmo - ln - lo - lt - lv - map_bms - mdf - mg - mh - mi - mk - ml - mn - mo - mr - mt - mus - my - myv - mzn - na - nah - nap - nds - nds_nl - ne - new - ng - nl - nn - no - nov - nrm - nv - ny - oc - om - or - os - pa - pag - pam - pap - pdc - pi - pih - pl - pms - ps - pt - qu - quality - rm - rmy - rn - ro - roa_rup - roa_tara - ru - rw - sa - sah - sc - scn - sco - sd - se - sg - sh - si - simple - sk - sl - sm - sn - so - sr - srn - ss - st - stq - su - sv - sw - szl - ta - te - tet - tg - th - ti - tk - tl - tlh - tn - to - tpi - tr - ts - tt - tum - tw - ty - udm - ug - uk - ur - uz - ve - vec - vi - vls - vo - wa - war - wo - wuu - xal - xh - yi - yo - za - zea - zh - zh_classical - zh_min_nan - zh_yue - zu -