นามสกุล
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นามสกุล คือ ชื่อบอกตระกูล (หรือสกุล) เพื่อแสดงที่มาของบุคคลนั้น ว่ามาจากครอบครัวไหน ตระกูลใด โดยทั่วไปนามสกุล จะใช้ตามบิดาผู้ให้กำเนิด แต่บางครั้งก็ใช้ตามมารดา นามสกุล สามารถแจ้งแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้โดยได้รับการยินยอมจากเจ้าของสกุลด้วย โดยปกติผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว จะเปลี่ยนมาใช้นามสกุลสามี
คำว่า "นามสกุล" บางครั้งเรียกว่า "ชื่อสกุล" หรือ "สกุล" เฉยๆ ก็มี เช่น "หลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล"
เนื้อหา |
[แก้] ที่มาของนามสกุลในประเทศไทย
เดิมคนไทยไม่ได้มีนามสกุล จะมีเพียงชื่อเรียกเท่านั้น ในสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่6 จึงทรงโปรดให้มีการตั้งนามสกุลเหมือนกับ ประเทศอื่นๆ โดยให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุล เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2455 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 และมีการพระราชทานนามสกุลให้แก่หลายครอบครัวที่เรียกว่า นามสกุลพระราชทานจำนวน 6,432 นามสกุล และหลายครอบครัวก็ตั้งนามสกุลตามชื่อของผู้นำของครอบครัวนั้น
[แก้] การตั้งนามสกุล
เมื่อมีพระราชบัญญัติขนามนามสกุลฯ ขึ้น ราษฎรไทยจึงต้องตั้งนามสกุลสำหรับใช้ในครอบครัวหรือตระกูลของตน โดยมีความนิยมหลายอย่างด้วยกัน ดังนี้
- ตั้งตามชื่อของบรรพบุรุษ (ปู่ ย่า ตา หรือยาย)
- ข้าราชการที่มีราชทินนาม มักจะนำราชทินนามมาตั้งเป็นนามสกุลของตน เช่น หลวงพิบูลสงคราม (แปลก) ใช้นามสกุล "พิบูลสงคราม"
- ตั้งนามสถานชื่อตำบลที่อยู่อาศัย
- ชาวไทยเชื้อสายจีนอาจแปลความหมายจาก "แซ่" ของตน หรือ ชื่อแซ่นำหน้านามสกุล
[แก้] ข้อกำหนดตามกฎหมายในการจดนามสกุลใหม่หรือเปลี่ยนนามสกุล
- ต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย พระนามของพระราชินี
- ต้องไม่พ้องหรือมุ่งให้คล้ายกับราชทินนาม เว้นแต่เป็นราชทินนามของตน ของบุพการี หรือผู้สืบสันดาน
- ต้องไม่ซ้ำกับชื่อสกุลพระราชทานของพระมหากษัตริย์ หรือชื่อสกุลที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว
- ไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย
- มีพยัญชนะไม่เกิน 10 พยัญชนะ เว้นแต่กรณีเป็นราชทินนาม
- ผู้ที่ไม่ได้รับพระราชทานชื่อสกุล ห้ามใช้คำว่า "ณ" นำหน้าชื่อสกุล
- ห้ามเอานามพระมหานคร และศัพท์ที่ใช้เป็นพระปรมาภิไธยมาใช้เป็นชื่อสกุล
[แก้] นามสกุลในประเทศอื่น
- ในประเทศ เกาหลี จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม และ ฮังการี เขียน นามสกุล นำหน้าชื่อตัว
- เวเนซูเอล่า - ใช้สองนามสกุล ทั้ง นามสกุลของพ่อ และ นามสกุลของแม่
- เอกสารในบางประเทศที่ใช้อักษรละติน บางครั้งจะใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ สำหรับชื่อนามสกุล เพื่อป้องกันการสับสนว่าชื่อหรือนามสกุล เช่น TORIYAMA Akira
[แก้] เกร็ด
- ศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้ขาดให้ผู้หญิงควรมีสิทธิเลือกใช้นามสกุลของตัวเองหรือของสามีได้ ซึ่งถือเป็นการใช้สิทธิแก่สตรีตรงตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 30
- หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวง ใช้นามราชสกุลของตนเป็นนามสกุล แต่ลูกของหม่อมหลวงและต่อไปเป็นหลาน เหลน ใช้นามราชสกุลโดยลำพังไม่ได้ ต้องมีคำว่า "ณ อยุธยา" ต่อท้าย สำหรับเชื้อพระวงศ์.
[แก้] ดูเพิ่ม
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- การเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล ข้อมูลโดยกรุงเทพมหานคร