See also ebooksgratis.com: no banners, no cookies, totally FREE.

CLASSICISTRANIERI HOME PAGE - YOUTUBE CHANNEL
Privacy Policy Cookie Policy Terms and Conditions
จังหวัดอ่างทอง - วิกิพีเดีย

จังหวัดอ่างทอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

จังหวัดอ่างทอง
ตราประจำจังหวัดอ่างทอง ตราผ้าพันคอลูกเสือ จังหวัดอ่างทอง
ตราประจำจังหวัด ตราผ้าพันคอลูกเสือ
พระสมเด็จเกษไชโย หลวงพ่อโตองค์ใหญ่ วีรไทยใจกล้า ตุ๊กตาชาววัง โด่งดังจักสาน ถิ่นฐานทำกลอง เมืองสองพระนอน
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อภาษาไทย อ่างทอง
ชื่ออักษรโรมัน Ang Thong
ชื่อไทยอื่นๆ เมืองวิเศษชัยชาญ
ผู้ว่าราชการ นายศุทธนะ ธีวีระปัญญา
(ตั้งแต่ พ.ศ. 2550)
ISO 3166-2 TH-15
สีประจำกลุ่มจังหวัด แดง ███
ต้นไม้ประจำจังหวัด มะพลับ
ข้อมูลสถิติ
พื้นที่ 968.4 ตร.กม.
(อันดับที่ 71)
ประชากร 284,406 คน (พ.ศ. 2550)
(อันดับที่ 69)
ความหนาแน่น 293.69 คน/ตร.กม.
(อันดับที่ 11)
ศูนย์ราชการ
ที่ตั้ง ศาลากลางจังหวัดอ่างทอง ถนนเทศบาล 1 ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง 14000
โทรศัพท์ (+66) 0 3561 1235
เว็บไซต์ จังหวัดอ่างทอง
แผนที่
 
แผนที่ประเทศไทย เน้นจังหวัดอ่างทอง

สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

จังหวัดอ่างทอง เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลาง

เนื้อหา

[แก้] ประวัติศาสตร์

อ่างทองในอดีตนั้นมีผู้คนอาศัยอยู่มานานหลายร้อยปี เพราะท้องที่ของอ่างทองเป็นที่ราบลุ่มลักษณะคล้ายอ่าง ไม่มีภูเขา ป่า หรือแร่ธาตุ ได้รับการหล่อเลี้ยงจากแม่น้ำ 2 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ได้อาศัยทำการเพาะปลูก อุปโภคบริโภค และคมนาคมตลอดมา

เมืองอ่างทอง ได้ชื่อนี้มาจากไหน มีการสันนิษฐานเป็น 3 นัย

นัยแรกเชื่อว่า คำว่า “อ่างทอง” น่าจะมาจากลักษณะทางกายภาพของพั้นที่นี้ คือเป็นที่ราบลุ่มเป็นแอ่งคล้ายอ่าง ซึ่งเต็มไปด้วยทุ่งนาที่ออกรวงเหลืองอร่ามเหมือนทอง จึงเป็นที่มาของชื่อจังหวัดอ่างทอง และดวงตราของจังหวัด เป็นรูปรวงข้าวสีทองอยู่ในอ่างน้ำ ซึ่งมีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารและเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ

นัยที่สองเชื่อว่า อ่างทองน่าจะมาจากชื่อของหมู่บ้านเดิมที่เรียกว่า “บางคำทอง” ตามคำสันนิษฐานของพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาล มณฑลอยุธยา เมื่อครั้งที่กราบทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเสด็จประพาสลำแม่น้ำน้อยและลำแม่น้ำใหญ่ใน พ.ศ. 2459 ว่า ชื่อของเมืองอ่างทองก็จะมาจากชื่อ บางคำทอง ซึ่งแต่งตั้งครั้งกรุงเก่า ว่าด้วยตามเสด็จพระราชดำเนินเมืองนครสวรรค์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจากกรุงเก่า “ลุถึงบางน้ำชื่อ คำทอง น้ำป่วนเป็นฟอง คว่างคว้าง” และบางกระแสก็ว่า อาจเพี้ยนมาจากชื่อของแม่น้ำลำคลองในย่านนั้น ที่เคยมีชื่อว่า “ปากน้ำประคำทอง” ซึ่งเป็นทางแยกแม่น้ำหลังศาลากลางจังหวัด และส่วนในเข้าไปเรียกว่า “แม่น้ำสายทอง” ซึ่งปัจจุบันตื้นเขินใช้ไม่ได้แล้ว

นัยที่สามเชื่อว่า ชื่ออ่างทองน่าจะมาจากชื่อ บ้านอ่างทอง ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ในหนังสือชุมนุมพระนิพนธ์เรื่องสร้างเมืองไว้ตอนหนึ่งว่า “เมืองอ่างทองดูเหมือนจะตั้งเมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวร เดิมชื่อเมืองว่า วิเศษชัยชาญ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อย ที่ลงมาจากนครสวรรค์ อยู่มาแม่น้ำน้อยตื้นเขิน ฤดูแล้งใช้เรือไม่สะดวก ย้ายเมืองออกมาตั้งริมแม่น้ำพระยาที่บ้านอ่างทองจึงเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองอ่างทอง”

ถึงแม้ว่าชื่อของจังหวัดอ่างทอง จะได้มาตามนัยใดก็ตาม ชื่ออ่างทองนี้เป็นชื่อที่เริ่มมาในสมัยกรุงธนบุรีหรือสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น คือ เมื่อประมาณ 200 ปีที่ผ่านมา ย้อนกลับไปในอดีต สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้น อ่างทองเป็นที่รู้จักในนามของเมืองวิเศษชัยชาญ ดังนั้นการศึกษาความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ของเมืองอ่างทองนั้น หมายถึงการศึกษาความเป็นมาของดินแดนแถบนี้ย้อนกลับไปกว่า 1 พันปี เป็นสมัยที่ชื่อเสียงของเมืองอ่างทองยังไม่ปรากฏ แต่มีหลักฐานแน่ชัดว่า มีดินแดนแถบนี้มานานแล้ว และอาจจะสรุปได้ว่าดินแดนนี้มีลักษณะเด่นชัดอย่างน้อย 2 ประการ คือ ความอุดมสมบูรณ์ที่เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม ทำให้มีมนุษย์ ตั้งหลักฐานอยู่กันมานานนับพัน ๆ ปี และเป็นดินแดนที่มีความสำคัญในแง่การเป็นยุทธศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา

จังหวัดอ่างทองในสมัยทวาราวดี ได้มีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นเมืองแล้ว แต่เป็นเมืองไม่ใหญ่โตนัก หลักฐานที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบันก็คือ คูเมืองที่บ้านคูเมือง ตำบลห้วยไผ่ [อำเภอ[แสวงหา]] ซึ่งนายบาเซอลีเย นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส และเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้สำรวจพบ สันนิษฐานว่าเป็นเมืองโบราณสมัยทวาราวดี ปัจจุบันนี้บ้านคูเมืองอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอแสวงหาไปทางทิศเหนือ 4 กิโลเมตร ในสมัยสุโขทัย ก็เข้าใจว่าผู้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยเช่นกัน และดินแดนอ่างทองได้รับอิทธิพลจากสุโขทัยด้วย โดยการสังเกตจากลักษณะของพระพุทธรูปสำคัญในท้องถิ่นที่อ่างทองมีลักษณะเป็นแบบสุโขทัยหลายองค์ เช่น พระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง และพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมกวรวิหาร อำเภอป่าโมก เป็นต้น

ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาระยะต้น ๆ สันนิษฐานว่าอ่างทองคงเป็นชานเมืองของกรุงศรีอยุธยา เพิ่งจะยกฐานะเป็นเมืองมีชื่อว่า “แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ” เมื่อประมาณ พ.ศ. 2127 โดยในพระราชพงศาวดารได้กล่าวถึงชื่อเมืองวิเศษชัยชาญเป็นครั้งแรกว่า สมเด็จพระนเรศวรเมื่อครั้งยังทราบเป็นมหาอุปราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ ได้เสด็จยกกองทับไปรบกับพระยาพะสิม ที่เมืองสุพรรณบุรี พระองค์ได้ทรงเสด็จโดยทางเรือจากกรุงศรีอยุธยา ไปทำพิธีเหยียบชิงชัยภูมิตัดไม้ข่มนาม ที่ตำบลลุมพลี พระองค์ได้ทรงเสด็จไปประทับที่แขวงเมืองวิเศษชัยชาญอันเป็นที่ชุมพล จึงสันนิษฐานว่า เมืองวิเศษชัยชาญ ได้ตั้งเมืองในแผ่นดินพระมหาธรรมราชา ตัวเมืองวิเศษชัยชาญสมัยนั้นตั้งอยู่ทางลำแม่น้ำน้อย ฝั่งตะวันออก หมู่บ้านตรงนั้นปัจจุบันยังเรียกว่า “บ้านจวน” แสดงว่าเป็นที่ตั้งจวนเจ้าเมืองเดิม ต่อมา สภาพพื้นที่และกระแสน้ำในแควน้ำน้อยเปลี่ยนแปลงไป การคมนาคมไปมาระหว่างแม่น้ำน้อยกับแม่น้ำใหญ่ (คือแม่น้ำเจ้าพระยา) เดินทางติดต่อไม่สะดวก จึงย้ายที่ตั้งเมืองไปอยู่ที่ตำบลบ้านแห ตรงวัดไชยสงคราม (วัดกระเจา) ฝั่งขวาหรือฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมกับขนานนามให้เป็นสิริมงคลแก่เมืองใหม่ว่า “เมืองอ่างทอง” ส่วนเมืองวิเศษชัยชาญยังคงเป็นเมืองอยู่ตลอดมาจนถึง พ.ศ. 2439 จึงลดลงเป็นอำเภอ เรียกว่า อำเภอไผ่จำศีล ภายหลังจึงเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอวิเศษชัยชาญ จนถึงปัจจุบัน

กาลล่วงมาถึง พ.ศ. 2356 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดให้พระยาภูธร สมุหนายกไปเป็นแม่กองทำการเปิดทำนบกั้นน้ำที่หน้าเมืองอ่างทอง เพื่อให้น้ำไหลไปทางคลองบางแก้วแต่ไม่สำเร็จ จึงย้ายเมืองอ่างทองไปตั้งที่ปากคลองบางแก้ว ตำบลบางแก้ว ท้องที่อำเภอเมืองอ่างทองฝั่งซ้ายของแม่น้ำพระยา จนถึงปัจจุบันนี้

เมืองอ่างทองมีท้องที่ต่อเนื่องกับกรุงศรีอยุธยา เสมือนเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ชานเมืองหลวงจึงมีประวัติศาสตร์เกี่ยวเนื่องกันหลายตอน เฉพาะที่สำคัญ ๆ มีดังนี้ ราว พ.ศ. 2122 ญาณพิเชียรมาซ่อมสุมคนในตำบลยี่ล้น ขุนศรีมงคลแขวง ส่งข่าวกบฎนั้นมาถวาย สมเด็จพระมหาธรรมราชาโปรดให้พระยาจักรียกกำลังไปปราบปราม ตั้งทัพในตำบลมหาดไทย ญาณพิเชียรและพรรคพวกก็เข้าสู้รบกับพระยาจักรี เจ้าพระยาจักรีเสียชีวิตในการสู้รบ พวกชาวบ้านก็เข้าเป็นพวกญาณพิเชียร ญาณพิเชียรติดเอาเมืองลพบุรี ก็ยกกำลังไปปล้นเมืองลพบุรี จึงเกิดรบกับพระยาสีหราชเดโช ญาณพิเชียรถูกยิงตาย พรรคพวกกบฏก็หนีกระจัดกระจายไป กบฏญาณพิเชียรนับว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญมากเหตุการณ์หนึ่ง ที่ชาวบ้านยี่ล้นและชาวบ้านมหาดไทย แขวงเมืองวิเศษชัยชาญเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

พ.ศ. 2128 พระเจ้าเชียงใหม่ยกกองทัพมาตั้งที่บ้านสระเกศ ท้องที่ตำบลไชยภูมิ อำเภอไชโย สมเด็จพระนเรศวรกับพระเอกาทศรถยกกองทัพไปถึงตำบลป่าโมก ก็พบทหารพม่าซึ่งลงมาเที่ยวรังแกราษฎรทางเมืองวิเศษชัยชาญ จึงได้เข้าโจมตีทหารพม่าล่าถอยไป พระเจ้าเชียงใหม่จึงได้จัดกองทัพยกลงมา สมเด็จพระนเรศวรจึงดำรัสสั่งให้พระราชมนูคุมกองทัพขึ้นตระเวนดูก่อน กองทัพระราชมนูไปปะทะกับกองทัพพม่าที่บ้านบางแก้ว สมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปถึงบ้านแห จึงมีดำรสให้ข้าหลวงขึ้นไปสั่งพระราชมนูให้ทำเป็นถอยทัพกลับมา แล้วพระองค์ก็โอบล้อมรุกไล่ตีทัพพม่าแตกทั้งทัพหน้าและทัพหลวง จนถึงที่ตั้งทัพพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกศ กองทัพของพระเจ้าเชียงใหม่จึงแตกพ่ายกลับไป

พ.ศ. 2130 พระเจ้ากรุงหงสาวดียกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ทหารไทยได้เอาปืนลงเรือสำเภาขึ้นไประดมยิงค่ายหลวงพระเจ้าหงสาวดี จนพระเจ้าหงสาวดีทนไม่ไหวต้องถอยทัพหลวงกลับขึ้นไปตั้งป่าโมก สมเด็จพระนเรศวรเสด็จโดยขบวนทัพเรือตามตีกองทัพหลวงของพระเจ้าหงสาวดีไปจนถึงป่าโมก จนพม่าแตกพ่ายถอยทัพกลับไป

พ.ศ. 2135 สมเด็จพระนเรศวรกับพระเอกาทศรถยกทัพจากรุงศรีอยุธยาไปตั้งที่ทุ่งป่าโมก แล้วยกทัพหลวงไปเมืองสุพรรณบุรีทางบ้านสามโก้ และทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาที่ตำบลตระพังตรุ หนองสาหร่าย อำเภอดอนเจดีย์ เมืองสุพรรณบุรี จนมีชัยชนะยุทธหัตถีในครั้งนั้น

พ.ศ. 2147 สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถยกกองทัพไปตีกรุงอังวะเสด็จเข้าพักพลที่ตำบลป่าโมก แล้วเสด็จไปทางชลมารค ขึ้นเหยียบชัยภูมิตำบลเอกราช อำเภอป่าโมก ตัดไม้ข่มนามตามพระราชพิธีของพรามหมณ์แล้วยกทัพไป แต่สวรรคตเสียที่เมืองหางหรือเมืองห้างหลวง สมเด็จพระเอกาทศรถนำพระบรมศพกลับกรุงพร้อมด้วยพระเกียรติและในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) พระองค์ได้ปลอมพระองค์เป็นสามัญชนไปในงานฉลองพระอาราม ได้ทรง ชกมวยได้ชัยชนะถึง 2 ครั้ง สถานที่ทรงเสด็จไปก็คือ บ้านพระจันตชนบท แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ เชื่อกันว่างานฉลองวัดที่เสร็จไปนั้นอาจเป็นวัดโพธิ์ถนน หรือวัดถนน ซึ่งเป็นวัดร้าง อยู่ในตำบลตลาดกรวด (อำเภอเมืองอ่างทอง) นั่นเอง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าดินแดนของอ่างทองยังคงความสำคัญต่อเมืองหลวง คือ กรุงศรีอยุธยา เมื่อมีงานนักขัตฤกษ์ของสามัญชนที่เลื่องลือเข้าไปถึงพระราชวังในเมืองหลวง แม้แต่พระมหากษัตริย์ก็ทรงสนพระทัยที่จะทอดพระเนตรและทรงเข้าร่วมด้วยกันอย่างสามัญ

พ.ศ. 2269 ในสมัยแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ พระองค์ได้เสด็จไปควบคุมชลอพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก เพราะปรากฏว่าแม่น้ำเจ้าพระยาตรงหน้าวัดป่าโมก น้ำเซาะกัดตลิ่งจนทำให้พระวิหารพระพุทธไสยาสน์อาจพังลงได้ จึงทรงรับสั่งให้ทำการชลอพระพุทธไสยาสน์เข้าไปประดิษฐานห่างฝั่งออกไป 150 เมตร กินเวลาทั้งหมดกว่า 5 เดือน

เนื่องจากเมืองอ่างทองเคยเป็นยุทธภูมิระหว่างทหารไทยกับทหารพม่าหลายครั้ง จึงมีบรรพบุรุษของเมืองอ่างทองได้สร้างวีรกรรมอันกล้าหาญในการรบกับพม่าหลายท่าน เช่น นายแท่น นายโชติ นายอิน และนายเมือง ทั้งสี่ท่านเป็นชาวบ้านสีบัวทอง (ตำบลสีบัวทอง อำเภอแสวงหาในปัจจุบัน) และมีนายดอก ชาวบ้านกรับ และนายทองแก้ว ชาวบ้านโพธิ์ทะเล ทั้งสองท่านเป็นชาวเมืองวิเศษชัยชาญ ได้ร่วมกับชาวบ้านของเมืองวิเศษชัยชาญอีก 400 คนเศษ (ซึ่งเป็นที่มาของหมู่บ้านชื่อสี่ร้อย ปัจจุบันเป็นตำบลสี่ร้อย อำเภอวิเศษชัยชาญ) สู้รบกับพม่าอยู่ที่ค่ายบางระจัน ซึ่งสมัยนั้นอยู่ในแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ และสนามรบส่วนใหญ่อยู่ในท้องที่อำเภอแสวงหา วีรกรรมอันกล้าหาญชาญชัยของนักรบไทยค่ายบางระจันสมัยนั้น เป็นที่ภาคภูมิใจและประทับอยู่ในความทรงจำของคนไทยทุกคนตลอดมา ประชาชนชาวเมืองอ่างทองจึงพร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นายดอ และนายทองแก้วไว้ที่บริเวณวัดวิเศษชัยชาญ อำเภอวิเศษชัยชาญ โดยที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินมาทรงกระทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2520 ดังนั้นในวันที่ 25 มีนาคมของทุกปี ชาวเมืองอ่างทองจึงได้กระทำ พิธีวางมาลาสักการะอนุสาวรีย์นายดอก นายทองแก้ว เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณความดีในวีรกรรมความกล้าหาญของท่านเป็นประจำทุกปี

[แก้] ทำเนียบนามเจ้าเมืองอ่างทองและผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการปกครองโดยนำระบบเทศาภิบาลมาใช้ในประเทศไทย เมืองอ่างทองยังคงมีสภาพเป็นเมืองตามรูปการปกครองแบบเดิมก่อนการปฏิรูป ปรากฏพระนามและรายนามผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองหรือผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทองดังนี้

  1. พระยาวิเศษไชยชาญ ปรีชาญาณยุติธรรมโกศลสกลเกษตรวิไสย ตั้งแต่ พ.ศ. 2438
  2. พระพิทักษ์เทพธานี ตั้งแต่ พ.ศ. 2438-2439
  3. พระยาวิเศษไชยชาญ ตั้งแต่ 28 กันยายน 2439 - พ.ศ. 2442
  4. พระยาอินทรวิชิต (อวบ เปาโรหิต) ตั้งแต่ พ.ศ. 2442-2446
  5. พระศรีณรงค์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2446-2447
  6. หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว. ปฐม คเณจร) ตั้งแต่ พ.ศ. 2447-2450
  7. พระยาอินทรวิชิต (เต็น บุนนาค) ตั้งแต่ พ.ศ. 2450-2456
  8. พระยาวิเศษไชยชาญ (ชอุ่ม อมัติรัตน์) ตั้งแต่ พ.ศ. 2456-2462
  9. พระยาวิเศษภักดี (ม.ร.ว. กมล นพวงษ์) ตั้งแต่ พ.ศ. 2462-2465
  10. หม่อมเจ้าธงไชยศิริพันธ์ ศรีธวัช ตั้งแต่ พ.ศ. 2465-2470
  11. พระกำแพงพราหมณ์ (ทองสุก รตางศุ) ตั้งแต่ พ.ศ. 2470-2473
  12. พระยาวิชิตรสรไกร (เอี่ยม อัมพานนท์) ตั้งแต่ พ.ศ. 2473-2474
  13. หลวงวิโรจน์รัฐกิจ (เปรื่อง โรจนกุล) ตั้งแต่ พ.ศ. 2474-2478
  14. พระประชากรบริรักษ์ (แอร่ม สุนทรศารทูล) ตั้งแต่ พ.ศ. 2478-2483
  15. หลวงอรรถเกษมภาษา (สวิง ถาวรพันธ์) ตั้งแต่ พ.ศ. 2483-2484
  16. หลวงอังคณานุรักษ์ (ถวิล เทพาคำ) ตั้งแต่ พ.ศ. 2485-2486
  17. หลวงบรรณสารประสิทธิ์ (สิทธิ โรจนวิภาต) ตั้งแต่ พ.ศ. 2486-2487
  18. ขุนพำนักนิคมคาม (สนธิ พำนักนิคมคาม) ตั้งแต่ พ.ศ. 2487-2490
  19. นายประกอบ ทรัพย์มณี ตั้งแต่ พ.ศ. 2490-2492
  20. หลวงธุระนัยพินิจ (นพ นัยพินิจ) ตั้งแต่ พ.ศ. 2492-2495
  21. นายพรหม สูตรสุคนธ์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2495-2500
  22. นายแสวง ทิมทอง ตั้งแต่ พ.ศ. 2500-2501
  23. นายยรรยง ศุนาลัย ตั้งแต่ พ.ศ. 2502-2503
  24. นายพล จุฑากร ตั้งแต่ พ.ศ. 2503-2508
  25. ร.ต.ท. เรือง สถานานนท์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2508-2510
  26. นายวิชาญ บรรณโศภิษฐ์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2510-2517
  27. นายสงวน สาริตานนท์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2517-2519
  28. นายเสถียร จันทรจำนงค์ ตั้งแต่ พ.ศ 2519-2521
  29. นายวิเชียร วิมลศาสตร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2521-2526
  30. นายสมหวัง จูตะกานนท์ ตั้งแต่ พ.ศ 2526-2530
  31. นายคงศักดิ์ ลิ่วมโนมนต์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2530-2532
  32. นายทวีป ทวีพาณิชย์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2532-2534
  33. นายประสาน สุขรังสรรค์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2534-2535
  34. นายนิธิศักดิ์ ราชพิตร ตั้งแต่ พ.ศ. 2535-2537
  35. นายประเสริฐ เปลี่ยนรังษี ตั้งแต่ พ.ศ. 2537-2538
  36. นายสุชาติ สหัสโชติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2538-2542
  37. นายพิสิฐ เกตุผาสุข ตั้งแต่ พ.ศ. 2542-2544
  38. นายเชนทร์ วิพัฒน์บวรวงศ์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2544-2547
  39. นายกมล จิตระวัง ตั้งแต่ พ.ศ. 2547-2548
  40. นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 - 1 ต.ค 50
  41. นายศุทธนะ ธีวีระปัญญา พ.ศ. 1 ต.ค 50 -ปัจจุบัน

[แก้] ศาลหลักเมือง

หลักเมือง มีความหมายว่า เป็นประธานของเมือง เป็นศูนย์รวมความมั่นคงของเมือง เป็นนิมิตมงคลของเมือง เป็นหลักชัย หลักใ จและศูนย์รวมความสามัคคีของประชาชน หลักเมืองจะเป็นเสาหลักโดดเด่น ไม่มีภาพ รูป หรือพระพุทธรูป การสร้างหลักเมืองต้องขอพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของประเทศก่อน เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือเจ้าเมืองจึงจะดำเนินการสร้างต่อไปได้

เนื่องจากไม่มีหลักฐานว่าเสาหลักเมืองและศาลหลักเมือง จังหวัดอ่างทอง ได้มีปรากฏอยู่ที่ใด คณะสงฆ์ ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนจังหวัดอ่างทองจึงได้ร่วมใจกันจัดหาทุนสร้างศาลหลักเมืองขึ้น เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจและความสามัคคีของประชาชนในจังหวัด จังหวัดอ่างทอง ได้มอบให้นายกำจัด คงมีสุข ข้าราชการครูบำนาญผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรมไทยเป็นผู้ออกแบบสร้างศาลหลักเมือง และมีพระครูวิเศษชัยวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดชัยมงคลเป็นที่ปรึกษา

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ได้เสด็จไปเป็นประธานวางศิลาฤกษ์ ศาลหลักเมืองจังหวัดอ่างทอง เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2533 การก่อสร้างสำเร็จเรียบร้อย เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2534 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้ว่าราชการจังหวัด (นายทวีป ทวีพาณิชย์) เข้าเฝ้าน้อมเกล้า ฯ ถวายยอดเสาหลักเมืองเพื่อทรงเจิม ทรงพระสุหร่าย และทรงบรรจุ แผ่นยันต์เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2534 เวลา 16.30 น. ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และทรงพระกรุณาโปรด เกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามบรมราชกุมารเสด็จแทนพระองค์ไปทรงประกอบพิธียกเสาหลัก เมืองและเปิดศาลหลักเมืองเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2534 เวลา 15.30 น

ศาลหลักเมืองจังหวัดอ่างทอง อยู่ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด เป็นอาคารจตุรมุข (4 หน้า) ยอดปรางค์หลังคาเป็นปูนซีเมนต์ฉาบสีแดงตัวศาลสูงจากพื้นประมาณ 1.5 เมตร ภายในศาลเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังภา พุ่มข้าวบิณฑก้านแยกสวยงามมาก ศาลหลักเมืองจังหวัดอ่างทอง เป็นศาลหลักเมืองแห่งที่ 2 ที่มีการเขียนภาพ จิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้าน

เสาหลักเมืองซึ่งประดิษฐ์อยู่ในศาลหลักเมืองบนแท่นแปดเหลี่ยมพื้นปูด้วยหินอ่อนทำจากไม้ชัยพฤกษ์ซึ่ง ถือเป็นไม้มงคล คัดจาก 1 ในจำนวน 5 ต้น ที่นิคมสร้างตนเองพระพุทธบาทจังหวัดสระบุรี มีลักษณะที่เรียกว่า ไม้ขานาง คือลำต้นตรงขึ้นไปแล้วแยกเป็น 2 กิ่ง แบบง่ามหนังสติ๊กโบราณถือว่าเป็นไม้ที่เหมาะจะเป็นเสาโบสถ์ หรือเสาวิการ ไม้มงคลซึ่งนำมาทำเป็นเสาหลักเมืองของจังหวัดอ่างทองนั้นได้ผ่านพิธีคัดเลือก ต้นไม้ พิธีตัด พิธีอัญเชิญ พิธีกลึงเสาและฉลองรับขวัญอย่างถูกต้อง ตามพิธีหลวงของสำนักพระราชวังทุกประการ เสาหลักเมืองนี้ได้รับการตกแต่งแกะสลักลงรักปิดทองจากพระครูวิเศษชัยวัฒน์และนายกำจัด คงมีสุข ซึ่งเป็น ชาวอ่างทอง และมีความชำนาญในการสร้างเมืองมาหลายจังหวัดแล้ว

ด้านทิศเหนือของศาลหลักเมืองมีศาลาตรีมุข ซึ่งใช้เป็นที่ประทับหรือที่นั่งขององค์ประธานหรือประธาน ในการประกอบพิธีต่าง ๆ ด้านทิศใต้มีศาลาทรงไทย 2 หลัง ใช้เป็นสถานที่ให้บริจาคบูชาวัตถุมงคล และดอกไม้ ธูป เทียน ด้านทิศใต้มีศาลาเรือนไทย เป็นที่รวบรวมของดีเมืองอ่างทองมาจำหน่ายระหว่างตัวศาลหลักเมือง คือ ศาลาตรีมุขซึ่งห่างกันประมาณ 30 เมตร เป็นลานกว้างใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมและการแสดงต่าง ๆ บริเวณศาลหลักเมืองมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1.5 ไร่ จึงสามารถจัดทำสวนดอกไม้ สวนหย่อม และปลูกหญ้าได้สวยงาม

ศาลหลักเมืองของจังหวัดอ่างทอง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สวยงามสมกับเป็นหลักชัยและหลักใจของประชาชน ชาวอ่างทองอย่างยิ่ง ผู้มีโอกาสไปเยือนจังหวัดอ่างทองไม่ควรละเว้นที่จะไปเคารพสักการะศาลหลักเมืองและหาของดีเมืองอ่างทองบริเวณศาลนั้น เพื่อเป็นสมบัติประจำตนและเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

[แก้] หน่วยการปกครอง

การปกครองแบ่งออกเป็น 7 อำเภอ 81 ตำบล 513 หมู่บ้าน

  1. อำเภอเมืองอ่างทอง
  2. อำเภอไชโย
  3. อำเภอป่าโมก
  4. อำเภอโพธิ์ทอง
  5. อำเภอแสวงหา
  6. อำเภอวิเศษชัยชาญ
  7. อำเภอสามโก้
 แผนที่

[แก้] ที่ตั้งและอาณาเขต

จังหวัดอ่างทองเป็นพื้นที่ราบลุ่มภาดกลาง พิกัดภูมิศาสตร์เส้นรุ้งที่ 14 องศา 35 ลิปดา 12 ฟิลิปดาเหนือ เส้นแวงที่ 100 องศา 27ลิ ปดา 1.1 ที่ตั้งและอาณาเขต จังหวัดอ่างทองตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทย พิกัดทางภูมิศาสตร์อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 14 องศา 35 ลิปดา 12 ฟิลิปดาเหนือ และเส้นแวงที่ 100 องศา 27 ลิบดา 27 พิลิบดาตะวันตก ห่างจากกรุงเทพมหานครมาตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (สายเอเชีย) ระยะทางประมาณ 108 กิโลเมตร และเส้นทางเรือตามลำแม่น้ำเจ้าพระยาถึงตลาดท่าเตียน ระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร มีรูปร่างลักษณะคล้ายรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีส่วนกว้างตามแนว ทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตก และส่วน ยาวตามแนวทิศเหนือถึงทิศใต้ใกล้เคียงกัน คือ ประมาณ 40 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 968,372 ตารางกิโลเมตร และมีอาณาเขตดังนี้

[แก้] ประชากร

มีทั้งสิ้น 283,523 คน เป็นชาย 136,713 เป็นหญิง 147,213 คน จำนวนบ้าน 80,220 บ้าน อันดับที่ 68 ของประเทศ ความหนาแน่นของประชากร 293 /ตร.กม อันดับที่ 11 ของประเทศ

[แก้] ภูมิศาสตร์

[แก้] ภูมิประเทศ

จังหวัดอ่างทอง ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทย พิกัดทางภูมิศาสตร์อยู่ระหว่าง เส้นรุ้งที่ 14 องศา 35 ลิปดา 12 ฟิลิปดาเหนือ เส้นแวงที่ 100 องศา 27 ลิปดา 27 ฟิลิปดาตะวันตก ห่างจากกรุงเทพมหานคร ตามระยะทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (สายเอเซีย) ประมาณ 108 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 968.372 ตร.กม. หรือประมาณ 605,232.5 ไร่

จังหวัดอ่างทอง มีลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม ลักษณะคล้ายอ่างไม่มี ภูเขา ดินเป็นดินเหนียวปนทราย พื้นที่ส่วนใหญ่เหมาะแก่การปลูกข้าว ทำไร่ ทำนา และทำสวน และมี แม่น้ำสายสำคัญไหลผ่าน 2 สาย คือแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแม่น้ำสายแขนงที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดชัยนาท จังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดอ่างทอง ซึ่งไหลผ่านอำเภอไชโย อำเภอเมืองอ่างทอง อำเภอป่าโมก รวมระยะทางที่ไหลผ่านจังหวัดอ่างทอง ประมาณ 40 กิโลเมตร

[แก้] ภูมิอากาศ

ลักษณะภูมิอากาศจัดอยู่ในโซนร้อนและชุ่มชื้น เป็นแบบฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดู โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้อากาศหนาวเย็น และแห้งแล้งในช่วงนี้ และได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน ทำให้มีเมฆมากและฝนตกชุกในช่วงนี้

[แก้] การเดินทางสู่อ่างทอง

[แก้] รถยนต์

1 ใช้เส้นทางสายพหลโยธิน จากกรุงเทพฯ แยกเข้าเส้นทางสายเอเชีย ผ่านอำเภอบางปะอิน-บางปะหัน-อยุธยา-อ่างทอง รวมระยะทาง 105 กม. เป็นระยะทางที่ใกล้ที่สุด

2 ใช้เส้นทางตัดใหม่ ข้ามสะพานพระปิ่นเกล้า-ตลิ่งชัน เข้าเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 340 ผ่านจังหวัดนนทบุรี-ปทุมธานี-อยุธยา-สุพรรณบุรี-อ่างทอง รวมระยะทางประมาณ 150 กม.

3 ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-ปทุมธานี ผ่านปากเกร็ด เข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3111 ผ่านอำเภอบางไทร-อำเภอเสนา-อยุธยา จากนั้นใช้เส้นทางหมายเลข 309 เข้าอำเภอป่าโมก-อ่างทอง รวมระยะทาง 140 กม.

[แก้] รถโดยสารประจำทาง

บริษัท ขนส่ง จำกัด มีบริการรถโดยสารธรรมดา และรถปรับอากาศทุกวันวันละหลายเที่ยว สามารถขึ้นรถได้ที่สถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 (หมอชิต)

[แก้] ชาวอ่างทองที่มีชื่อเสียง

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น



aa - ab - af - ak - als - am - an - ang - ar - arc - as - ast - av - ay - az - ba - bar - bat_smg - bcl - be - be_x_old - bg - bh - bi - bm - bn - bo - bpy - br - bs - bug - bxr - ca - cbk_zam - cdo - ce - ceb - ch - cho - chr - chy - co - cr - crh - cs - csb - cu - cv - cy - da - de - diq - dsb - dv - dz - ee - el - eml - en - eo - es - et - eu - ext - fa - ff - fi - fiu_vro - fj - fo - fr - frp - fur - fy - ga - gan - gd - gl - glk - gn - got - gu - gv - ha - hak - haw - he - hi - hif - ho - hr - hsb - ht - hu - hy - hz - ia - id - ie - ig - ii - ik - ilo - io - is - it - iu - ja - jbo - jv - ka - kaa - kab - kg - ki - kj - kk - kl - km - kn - ko - kr - ks - ksh - ku - kv - kw - ky - la - lad - lb - lbe - lg - li - lij - lmo - ln - lo - lt - lv - map_bms - mdf - mg - mh - mi - mk - ml - mn - mo - mr - mt - mus - my - myv - mzn - na - nah - nap - nds - nds_nl - ne - new - ng - nl - nn - no - nov - nrm - nv - ny - oc - om - or - os - pa - pag - pam - pap - pdc - pi - pih - pl - pms - ps - pt - qu - quality - rm - rmy - rn - ro - roa_rup - roa_tara - ru - rw - sa - sah - sc - scn - sco - sd - se - sg - sh - si - simple - sk - sl - sm - sn - so - sr - srn - ss - st - stq - su - sv - sw - szl - ta - te - tet - tg - th - ti - tk - tl - tlh - tn - to - tpi - tr - ts - tt - tum - tw - ty - udm - ug - uk - ur - uz - ve - vec - vi - vls - vo - wa - war - wo - wuu - xal - xh - yi - yo - za - zea - zh - zh_classical - zh_min_nan - zh_yue - zu -