วงศ์ตีนเป็ด
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาณาจักร | พืช (Plantae) |
ส่วน | พืชดอก (Magnoliophyta) |
ชั้น | พืชใบเลี้ยงคู่ (Magnoliopsida) |
อันดับ | เจนเชียเนลิส (Gentianales) |
วงศ์ | วงศ์ตีนเป็ด (Apocynaceae) L. |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Apocynaceae |
วงศ์ตีนเป็ด หรือ วงศ์ไม้ลั่นทม[1] (ชื่อวิทยาศาสตร์: Apocynaceae) เป็นชื่อวงศ์พรรณไม้ของพืชตระกูล ลั่นทม ลีลาวดี ตีนเป็ด ลักษณะเด่นคือทุกส่วนของต้นพืชมีน้ำยางขาวมี ใบเป็นเดี่ยวติดตรงข้ามหรือติดเป็นวงรอบข้อ ขอบใบเรียบเส้นแขนงใบเป็นร่างแห กลีบดอกเชื่อมติดกัน เกสรเพศผู้มี 5 อันติดบนท่อกลีบดอก มีเกสรเพศเมีย 2 อันเชื่อมติดกัน รังไข่ติดเหนือวงกลีบ รังไข่มี 2 ช่อง ผลเป็นฝักคู่ หรือเดี่ยวแตกตามแนวเดียว เมล็ดมีขนเป็นกระจุกที่ปลาย ในวงศ์นี้เป็นไม้หวงห้าม 4 สกุล คือ สกุลตีนเป็ด สกุลไยลูตง สกุลโมกหลวง และสกุลโมกมัน ไม้ตีนเป็ด จัดเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2530
เนื้อหา |
[แก้] ลักษณะประจำวงศ์
วงศ์ตีนเป็ดเป็นวงศ์ของ ไม้ต้น ไม้พุ่ม หรือไม้เลื้อย ซึ่งมียางสีขาว ใบเป็นใบเดี่ยวติดตรงข้ามหรือติดเป็นวงรอบข้อ ดอกออกเป็นช่อตามง่ามใบหรือตามปลายยอด และเป็นดอกสมบูรณ์เพศสมมาตรตามรัศมี กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปแจกัน รูปทรงกระบอก รูปกรวย รูปคนโท หรือรูปวงล้อ ปลายกลีบซ้อนกัน เกสรเพศผู้มี 5 อันติดบนท่อกลีบดอก รังไข่ติดเหนือวงกลีบ มีเกสรเพศเมีย 2 อัน เชื่อมติดกัน ยอดเกสรเพศเมียมีอันเดียว รังไข่ภายในมี 2 ช่องหรือมีช่องเดียว ผลมีลักษณะทั้ง นุ่มมีเมล็ดเดี่ยว และ แข็ง หรือหลายเมล็ด หรือผลเป็นฝักคู่ เมื่อแก่แตก หรือผลแตกตามแนวเดียว เมล็ดมีขนเป็นกระจุกที่ปลาย
[แก้] วงศ์ใกล้เคียง
- วงศ์นมตำเลีย (ชื่อวิทยาศาสตร์:Asclepiadaceae) ลักษณะที่แตกต่างคือ วงศ์นมตำเลียจะมีกลีบดอกแยกกันเป็นรูปวงล้อ ก้านเกสรเพศผู้สั้น หรือไม่มีเลย รังไข่ติดเหนือวงกลีบ หรือติดค่อนข้างใต้วงกลีบ ผลมักมีปุยขนที่ปลายด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียว
- วงศ์เข็ม (ชื่อวิทยาศาสตร์:Rubiaceae) โดยวงศ์เข็มมีหูใบร่วมระหว่างโคนก้านใบ รังไข่ติดใต้วงกลีบ บางครั้งพบติดอยู่เหนือวงกลีบ
- วงศ์กันเกรา (ชื่อวิทยาศาสตร์:Loganiaceae) เพียงแต่วงศ์กันเกราไม่มีหูใบ บางที่พบว่ามีรังไข่ติดอยู่เหนือวงกลีบ หรือบางครั้งพบติดอยู่เกือบใต้วงกลีบ
[แก้] การกระจายพันธุ์
พันธุ์ไม้ในวงศ์นี้มีประมาณ 180 สกุล 1,500 ชนิด กระจายพันธุ์ในประเทศไทย 42 สกุล 150 ชนิด โดยมีสกุลเด่นๆคือ
- สกุลตีนเป็ด (ชื่อวิทยาศาสตร์:Alstonia) มีลักษณะผลเป็นฝักคู่ ขึ้นในป่าดิบที่ต่ำ ได้แก่ ตีนเป็ดหรือพญาสัตบรรณ (Alstonia scholaris (L.) R. Br.)
- สกุลตีนเป็ดทะเล (ชื่อวิทยาศาสตร์:Cerbera) ไม้ต้น ขึ้นตามป่าชายเลนและป่าชายหาด ได้แก่ ตีนเป็ดทราย (Cerbera manghas L.) ผลมีเนื้อเมล็ดแข็ง
- สกุลไยลูตง (ชื่อวิทยาศาสตร์:Dyera) ไม้ต้น ขึ้นตามป่าชายหาด ได้แก่ ตีนเป็ดแดง (Dyera costulata (Miq.) Hook.f.) ผลเป็นฝักคู่ เมล็ดรีแบนมีปีก
- สกุลคุย (ชื่อวิทยาศาสตร์:Willughbeia) ไม้เลื้อย ผลนุ่ม กลม สีเหลืองหรือส้ม ได้แก่ คุย (Willughbeia edulis Roxb.)
- สกุลโมกหลวง (ชื่อวิทยาศาสตร์:Holarrhena) ไม้พุ่มผลัดใบหรือไม้ต้น สูงได้ถึง 15 เมตร เปลือกต้นสีเทาอ่อนถึง น้ำตาล หลุดลอกเป็นแผ่นกลมๆ ไม่เท่ากัน เช่น โมกหลวง (Holarrhena pubescens)
- สกุลโมกมัน (ชื่อวิทยาศาสตร์:Wrightia) ไม้ต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 8 - 20 เมตร เปลือกสีขาวหรือสีเทาอ่อนถึงน้ำตาล นิ่มคล้ายจุกไม้ก๊อร์ค เช่น โมกมัน (Wrightia arborea (Dennst.) Mabb.)
[แก้] อ้างอิง
- ก่องกานดา ชยามฤต. ลักษณะประจำวงศ์พรรณไม้ -- กรุงเทพมหานคร : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, 2548. (ISBN 974-415-175-7)
- วงศ์ตีนเป็ด สวนพฤกษศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- ตีนเป็ด ส่วนปลูกป่าเอกชน กรมป่าไม้
- ภาณุมาศ ลาดปาละ และคณะ. ลักษณะโครงสร้างสังคมพืชในป่าเบญจพรรณต่อการเปลี่ยนแปลงวัฎจักรคาร์บอน -- กรุงเทพมหานคร : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, 2547.