ราชวงศ์สจวต
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ราชวงศ์สจวต (อังกฤษ: House of Stuart หรือ Stewart) เป็นราชวงศ์ที่ปกครองราชอาณาจักรสกอตแลนด์ ซึ่งภายหลังได้ปกครองราชอาณาจักรอังกฤษ และได้ปกครองราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ พระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งสกอตแลนด์ได้ทรงรับเอาการสะกดชื่อพระราชวงศ์ว่า Stuart มาจากภาษาฝรั่งเศส ในขณะที่ในฝรั่งเศสยืนยันว่าในภาษาสกอต Stewart นั้นออกเสียงได้ถูกต้องแล้ว ชื่อราชวงศ์มาจากพระอิสสริยยศโบราณของสกอตแลนด์ สจวตสูงแห่งสกอตแลนด์ (High Steward of Scotland)
ราชวงศ์สจวตปกครองราชอาณาจักรสกอตแลนด์เป็นเวลานาน 336 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 1914 ถึงปี พ.ศ. 2250 องค์รัชทายาทที่ใกล้ชิดกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งราชอาณาจักรอังกฤษคือสมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษโดยผ่านทางสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 7 แห่งอังกฤษซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งราชวงศ์ทิวดอร์ เจมส์ สจวตสืบทอดราชบัลลังก์ทั้งราชอาณาจักรอังกฤษและราชอาณาจักรไอร์แลนด์ พระองค์ทรงครองราชบัลลังก์ของทั้ง 3 ชาติ (Home Nations) (และยังสืบทอดการอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ฝรั่งเศสของกษัตริย์อังกฤษด้วย) ในระหว่างปี พ.ศ. 2146 ถึง พ.ศ. 2250 ในระยะหลังราชวงศ์สจวตได้สถาปนาตนเองเป็น กษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่ (Kings/Queens of Great Britain) จนถึงรัชสมัยของราชินีองค์สุดท้ายของราชวงศ์สจวตคือสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ ราชวงศ์ฮาโนเวอร์ได้สืบทอดราชบัลลังก์ต่อเนื่องจากพระราชบัญญัติการสืบสันตติวงศ์ พ.ศ. 2244 (Act of Settlement 1701) ที่กำหนดให้ผู้ที่สามารถขึ้นครองราชย์ต่อไปต้องเป็นโปรเตสแตนต์เพื่อประโยชน์ในการรวมไอร์แลนด์ให้อยู่ภายใต้รัฐบาลลอนดอน ในปัจจุบันยังคงมีสมาชิกของราชวงศ์ที่สืบเชื้อสายราชวงศ์สจวตมีชีวิตอยู่
เนื้อหา |
[แก้] ประวัติ
สมาชิกคนแรกสุดของราชวงศ์เท่าที่ทราบคือ ฟลาอัลด์ที่ 1 (Flaald I, Flaald the Seneschal) ชาวเบรตันผู้ติดตามลอร์ดแห่งดอลและคอมบูร์ก (ชุมชนในแคว้นเบรอตาญ ในประเทศฝรั่งเศส) ฟลาอัลด์และทายาทสืบทอดตำแหน่งดาปิเฟอร์ (Dapifer; พนักงานผู้ดูแลอาหาร) ในบ้านของลอร์ดแห่งดอล หลานชายของฟลาอัลด์ที่ 1 คือฟลาอัลด์ที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนพระเจ้าเฮนรีที่ 1 แห่งอังกฤษ และได้ย้ายจากบริตตานี (ปัจจุบันคือแคว้นเบรอตาญ) ไปยังหมู่เกาะอังกฤษ วอลเตอร์ สจวต (ถึงแก่กรรม พ.ศ. 1720) หลานชายของฟลาอัลด์ที่ 2 เกิดที่เมืองออสเวสทรี (ชรอปไชร์) เขาสนับสนุนพระจักรพรรดินีมาทิลดา (Empress Matilda) ในระหว่างยุคอนาธิปไตย (the Anarchy) เช่นเดียวกับพี่ชายของเขา วิลเลียม บรรพบุรุษของครอบครัวฟิทซาแลน (Fitzalan family) (เอิร์ลแห่งอรันเดล Earls of Arundel) พระจักรพรรดินีมาทิลดาทรงได้รับการช่วยเหลือโดยพระปิตุลาของพระนางคือ พระเจ้าเดวิดที่ 1 แห่งสกอตแลนด์ และวอลเตอร์ได้ติดตามพระเจ้าเดวิดไปทางเหนือในปี พ.ศ. 1684 หลังจากที่พระจักรพรรดินีมาทิลดาถูกแย่งชิงราชบัลลังก์โดยพระเจ้าสตีเฟน แห่งอังกฤษ (Stephen of England) วอลเตอร์ได้รับดินแดนในเรนฟริวไชร์ (Renfrewshire) และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นลอร์ดสจวตสูง (Lord High Steward) พระเจ้ามัลโคมที่ 4 แห่งสกอตแลนด์ ได้ทรงกำหนดให้ตำแหน่งนี้สามารถสืบทอดไปยังลูกชายของวอลเตอร์ผู้มีนามสกุล สจวต ได้ สจวตสูงคนที่ 6 แห่งสกอตแลนด์คือ วอลเตอร์ สจวต (พ.ศ. 1836-พ.ศ. 1869) ได้สมรสกับมาร์จอรี บรูซ (Marjorie Bruce) ผู้เป็นพระราชธิดาในพระเจ้าโรเบิร์ทที่ 1 แห่งสกอตแลนด์ (Robert the Bruce) และมีส่วนสำคัญในการรบที่แบนน็อคเบิร์น (Battle of Bannockburn) ลูกชายของวอลเตอร์ สจวต คือโรเบิร์ท สจวต ได้เป็นรัชทายาทในราชวงศ์บรูซ และในที่สุดพระองค์ก็ได้ขึ้นครองราชบัลลังก์สกอตแลนด์เมื่อพระราชปิตุลาของพระองค์คือ พระเจ้าเดวิดที่ 2 แห่งสกอตแลนด์ สวรรคตโดยไม่มีพระราชโอรสหรือธิดาในปี พ.ศ. 1914
ในปี พ.ศ. 2046 พระเจ้าเจมส์ที่ 4 แห่งสกอตแลนด์ ทรงพยายามที่จะรักษาความสงบในราชอาณาจักรอังกฤษ โดยพระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 7 แห่งอังกฤษ คือมาร์กาเร็ต ทิวดอร์ (Margaret Tudor) พระประสูติกาลในพระราชโอรสผู้ซึ่งต่อมาคือ พระเจ้าเจมส์ที่ 5 แห่งสกอตแลนด์ ทำให้ราชวงศ์สจวตเข้าอยู่ในเชื้อสายของราชวงศ์ทิวดอร์และราชบัลลังก์อังกฤษ มาร์กาเร็ต ทิวดอร์ ผู้ซึ่งต่อมาสมรสกับอาร์คิบาลด์ ดักลาส เอิร์ลคนที่ 6 แห่งอังกุส (Archibald Douglas, 6th Earl of Angus) ธิดาของท่านคือ มาร์กาเร็ต ดักลาส (Margaret Douglas) เป็นมารดาของเฮนรี่ สจวต ลอร์ดดานเลย์ (Henry Stuart, Lord Darnley) ในปี พ.ศ. 2108 ดานเลย์ได้อภิเษกสมรสกับพระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งสกอตแลนด์ พระราชธิดาในพระเจ้าเจมส์ที่ 5 แห่งสกอตแลนด์ บิดาของลอร์ดดานเลย์คือแมทธิว สจวต เอิร์ลคนที่ 4 แห่งเลนน็อกซ์ (Matthew Stewart, 4th Earl of Lennox) สมาชิกของราชวงศ์สจวตสายสจวตแห่งดานเลย์ (Stewart of Darnley) เลนน็อกซ์เป็นทายาทสายตรงของอเล็กซานเดอร์ สจวต สจวตสูงคนที่ 4 แห่งสกอตแลนด์ (Alexander Stewart, 4th High Steward of Scotland) และยังเป็นสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งสกอตแลนด์ ท่านเป็นอดีตองค์รัชทายาทในราชบัลลังก์ต่อจากพระราชินีนาถแมรีที่ 1 ดังนั้นดานเลย์จึงเป็นพระญาติในพระราชินีนาถแมรีที่ 1 ทางฝั่งบิดาและเมื่อเขาแต่งงานทำให้เขาได้เป็นองค์รัชทายาทอันดับที่ 2 ที่จะครองราชบัลลังก์สกอตแลนด์ จากความสัมพันธ์นี้รัชทายาทในพระราชินีนาถแมรีที่ 1 จึงเป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์สจวต เนื่องมาจากลอร์ดดานเลย์พำนักอาศัยอยู่ในโอบิกนี-ซูร์-แนร์ (Aubigny-sur-Nère) ในประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลานาน นามสกุลของราชวงศ์จึงเปลี่ยนจาก Steward เป็น Stuart
[แก้] หัวหน้าราชวงศ์สจวต
[แก้] ดาปิเฟอร์แห่งดอล (Dapifers of Dol)
ดาปิเฟอร์ เป็นตำแหน่งเจ้าหน้าที่ในตระกูลขุนนางในยุคกลาง
- แฟลธรีที่ 1 (Flaithri I) (ถึงแก่กรรมประมาณปี พ.ศ. 1623)
- อลันที่ 1 (Alan I) (ไม่ทราบวันถึงแก่กรรม)
- อลันที่ 2 (Alan II) (ถึงแก่กรรม พ.ศ. 1638)
- แฟลธรีที่ 2 (Flaithri II) (ถึงแก่กรรมระหว่างปี พ.ศ. 1644-พ.ศ. 1645)
- อลันที่ 3 (Alan III) (ถึงแก่กรรมประมาณ พ.ศ. 1664)
[แก้] สจวตสูงแห่งสกอตแลนด์ (High Stewards of Scotland)
- วอลเตอร์ สจวต สจวตสูงคนที่ 1 แห่งสกอตแลนด์ (Walter the Steward) (ถึงแก่กรรม พ.ศ. 1720)
- อลัน สจวต สจวตสูงคนที่ 2 แห่งสกอตแลนด์ (Alan Stewart) (ถึงแก่กรรม พ.ศ. 1747)
- วอลเตอร์ สจวต สจวตสูงคนที่ 3 แห่งสกอตแลนด์ (Walter Stewart) (ถึงแก่กรรม พ.ศ. 1789)
- อเล็กซานเดอร์ สจวต สจวตสูงคนที่ 4 แห่งสกอตแลนด์ (Alexander Stewart) (ถึงแก่กรรม พ.ศ. 1826)
- เจมส์ สจวต สจวตสูงคนที่ 5 แห่งสกอตแลนด์ (James Stewart) (ถึงแก่กรรม พ.ศ. 1852)
- วอลเตอร์ สจวต สจวตสูงคนที่ 6 แห่งสกอตแลนด์ (Walter Stewart) (ถึงแก่กรรม พ.ศ. 1869)
- โรเบิร์ท สจวต สจวตสูงคนที่ 7 แห่งสกอตแลนด์ (Robert Stewart) (ต่อมาทรงเป็น พระเจ้าโรเบิร์ทที่ 2 แห่งสกอตแลนด์)
[แก้] ผู้ปกครองสกอตแลนด์
- พระเจ้าโรเบิร์ทที่ 2 แห่งสกอตแลนด์ (Robert II) (พ.ศ. 1914-พ.ศ. 1933)
- พระเจ้าโรเบิร์ทที่ 3 แห่งสกอตแลนด์ (Robert III) (พ.ศ. 1933-พ.ศ. 1949)
- พระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งสกอตแลนด์ (James I) (พ.ศ. 1949-พ.ศ. 1980)
- พระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งสกอตแลนด์ (James II) (พ.ศ. 1980-พ.ศ. 2003)
- พระเจ้าเจมส์ที่ 3 แห่งสกอตแลนด์ (James III) (พ.ศ. 2003-พ.ศ. 2031)
- พระเจ้าเจมส์ที่ 4 แห่งสกอตแลนด์ (James IV) (พ.ศ. 2031-พ.ศ. 2056)
- พระเจ้าเจมส์ที่ 5 แห่งสกอตแลนด์ (James V) (พ.ศ. 2056-พ.ศ. 2085)
- พระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งสกอตแลนด์ (Mary) (พ.ศ. 2085-พ.ศ. 2110)
- พระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์ (James VI) (พ.ศ. 2110-พ.ศ. 2168)
[แก้] ผู้ปกครองบริเตนใหญ่ ฝรั่งเศส และไอร์แลนด์
ดูเพิ่มที่ รายพระนามกษัตริย์แห่งหมู่เกาะอังกฤษ
- พระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษหรือ เจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์ (James VI of Scotland and I of England) (พ.ศ. 2146-พ.ศ. 2168) - เรียกว่ายุค Jacobean
- พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษและสกอตแลนด์ (Charles I of England and Scotland) (พ.ศ. 2168-พ.ศ. 2192) - เรียกว่ายุค Carolean
- ในระหว่างรัชสมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 และพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 อังกฤษปกครองแบบสาธารณรัฐ มีผู้ปกครองคือเจ้าคุณพระอักขราภิบาล (Lord Protector) คือ โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ และ ริชาร์ด ครอมเวลล์
- สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษและสกอตแลนด์ (Charles II of England and Scotland) (พ.ศ. 2203-พ.ศ. 2228) - การฟื้นฟูระบอบกษัตริย์
- สมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษหรือ เจมส์ที่ 7 แห่งสกอตแลนด์ (James II of England and VII of Scotland) (พ.ศ. 2228-พ.ศ. 2231) (ทรงอ้างสิทธิในราชบัลลังก์อังกฤษและสกอตแลนด์ตั้งแต่พระองค์ถูกถอดจากราชบัลลังก์ในปี พ.ศ. 2231 จนสวรรคตในปี พ.ศ. 2244)
- สมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2 แห่งอังกฤษและสกอตแลนด์ (Mary II of England and Scotland) (พ.ศ. 2232-พ.ศ. 2237) - ทรงครองราชสมบัติเคียงคู่กับพระราชสวามี สมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 แห่งอังกฤษหรือ วิลเลียมที่ 2 แห่งสกอตแลนด์ แห่งราชวงศ์ออเรนจ์-นัสเซา รัชทายาทในพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1
- สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ แห่งบริเตนใหญ (Anne of Great Britain) (พ.ศ. 2245-พ.ศ. 2257) - เรียกว่ายุค Augustan
[แก้] ผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์ต่อจากพระเจ้าเจมส์ที่ 2 (Jacobite Claimants)
กลุ่มบุคคลที่เรียกว่า Jacobite มีความเชื่อว่าผู้ที่จะครองราชย์หลังจากการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ที่ถูกต้องตามกฎหมายต้องเป็นสมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษหรือ เจมส์ที่ 7 แห่งสกอตแลนด์ มิใช่สมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2 แห่งอังกฤษและสกอตแลนด์ กลุ่มบุคคลเหล่านี้สืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 และสืบเชื้อสายในการอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ต่อมา
- เจมส์ ฟรานซิส เอ็ดเวิร์ด สจวต (James Francis Edward Stuart; มีฉายาว่าในกลุ่มผู้สนับสนุนว่า the King Across the Water และ Old Pretender ในกลุ่มผู้คัดค้าน) อ้างสิทธิในราชบัลลังก์เป็นสมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 3 แห่งอังกฤษหรือ เจมส์ที่ 8 แห่งสกอตแลนด์ (พ.ศ. 2244-พ.ศ. 2309)
- ชาร์ลส์ เอ็ดเวิร์ด สจวต (Charles Edward Stuart) (ในอังกฤษมีฉายาว่า Young Pretender และรู้จักกันในในหมู่ชาวสกอตว่า Bonnie Prince Charlie) อ้างสิทธิในราชบัลลังก์เป็นสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 (พ.ศ. 2309-พ.ศ. 2331)
- เฮนรี เบเนดิกต์ สจวต (Henry Benedict Stuart) อ้างสิทธิในราชบัลลังก์เป็นสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 9 (พ.ศ. 2331-พ.ศ. 2350)
[แก้] ดูเพิ่ม
- รายพระนามกษัตริย์แห่งหมู่เกาะอังกฤษ
- รายพระนามพระมหากษัตริย์แห่งอังกฤษ
- รายพระนามกษัตริย์ และจักรพรรดิฝรั่งเศส
[แก้] หนังสืออ่านประกอบ
- Addington, Arthur C. The Royal House of Stuart: The Descendants of King James VI of Scotland (James I of England). 3v. Charles Skilton, 1969-76. (อังกฤษ)
- Cassavetti, Eileen. The Lion & the Lilies: The Stuarts and France. Macdonald & Jane’s, 1977. (อังกฤษ)
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- Stewart Scotland (อังกฤษ)
- Stuart Britain (อังกฤษ)
- Jacobites (อังกฤษ)