ยุทธการแห่งนอร์มังดี
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
|
|||||||||||||||||
|
ยุทธการแห่งนอร์มังดี คือการรบระหว่างกองทัพฝ่ายอักษะนาซีเยอรมนีที่ประจำการอยู่ในยุโรปตะวันตก กับกองกำลังสัมพันธมิตรกว่า 3 ล้านนายที่ทำการบุกข้ามช่องแคบอังกฤษมาจากฐานที่ตั้งชั่วคราวในแนวรบที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศอังกฤษ (ส่วนใหญ่มาจากเมืองพอร์ทสมัท) มายังหัวหาดนอร์มองดีในฝรั่งเศสที่กองทัพเยอรมันยึดมาได้ ภายใต้ชื่อแผนปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ด (Operation Overlord) เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2487 โดยทหารสัมพันธมิตรเรียกวันนี้ว่า ดี-เดย์ (D-Day)
กองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรนั้นประกอบไปด้วยทหารจากหลายประเทศด้วยกันได้แก่สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และแคนาดา นอกจากนี้ทหารจากกองกำลังฝรั่งเศสเสรีและโปแลนด์ก็ได้รวมเข้ากับกองกำลังสัมพันธมิตรด้วย เมื่อทหารที่ทำการจู่โจมจากเกาะอังกฤษเข้าสู่ฝรั่งเศสได้แล้ว ยังมีกองทหารจากหลายประเทศเข้ามาร่วมกับพันธมิตรหลังจากนั้นด้วย ได้แก่ เบลเยียม เชโกสโลวาเกีย กรีซ เนเธอร์แลนด์ และนอร์เวย์
การบุกหัวหาดนอร์มองดีอย่างแท้จริงเริ่มต้นตั้งแต่คืนวันที่ 5 มิถุนายน โดยมีเครื่องบินทิ้งพลร่มและเครื่องร่อนลงมา และกองทัพอากาศฝ่ายพันธมิตรเริ่มเปิดการทิ้งระเบิดใส่กองทัพเยอรมันที่ประจำอยู่ตามเมืองริมชายฝั่งของฝรั่งเศส รวมถึงการยิงปืนใหญ่จากเรือรบพันธมิตร จนกระทั่งการบุกข้ามทะเลของกองกำลังหลักเริ่มต้นขึ้นในตอนเช้าของวันที่ 6 และดำเนินต่อไปอีก 2 เดือน จนถึงการปลดปล่อยปารีสในตอนปลายของเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2487 ที่ปิดฉากการรบนี้ลง
แผนการครั้งนี้ ถูกกำหนดวันไว้คือวันที่ 5 มิถุนายน โดยจะมีพลร่มลงไปหลังแนวก่อน คือวันที่ 4 มิถุนายน แต่สภาพอากาศเลวร้าย จึงเลื่อนมาอีก 1 วัน เมื่อถึงเที่ยงคืนวันที่ 5 มิถุนายน พลร่ม และเครื่องร่อนได้ลงหลังแนวรบ เพื่อตัดกำลัง และ คุมสะพาน ไม่ให้พวกเยอรมันที่อยู่หลังแนวรบ ส่งกำลังมาหน้าแนวได้ทัน ได้มีการทิ้งหุ่นพลร่มปลอมในบางจุดด้วย
เมื่อเช้าวันที่ 6 มิถุนายน กองทัพเรืองขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ยาตราเข้ามาในอ่าวนอร์มังดี บนหาดมีเครื่องกีดขวางมากมาย ทำให้แม้แต่เรือเล็กก็ไม่สามารถเข้าหาตัวหาดได้มากนัก เมื่อขึ้นไปบนหาด ถูกต่อต้านโดยปืนใหญ่ ปืนกลหนัก เครื่องยิงลูกระเบิด และปืนต่อต้านรถถังเป็นจำนวนมาก ทั้งยังมีรั้วลวดหนาม คูดักรถถัง และกับระเบิดบนหาด ทำให้เป็นการเสียชีวิตทหารมากมายก่อนจะยึดหัวหาดได้ โดยเฉพาะที่หาดโอมาฮ่า
แผนการของนายพลรอมเมล คือต้องการสร้างเครื่องกีดขวางและเครื่องป้องกันหาดต่างๆบนหาดให้ได้มากที่สุด เพราะเมื่อหาดถูกบุก หาดจะถูกป้องกันพวกพันธมิตร จะต้องตายคาหาด แต่ฮิตเลอร์ไม่เห็นด้วย ท่านเห็นว่าการตั้งรับควรจะอยู่หลังแนวหาดมากกว่า คือถ้าหาดถูกบุก ควรจะปล่อยให้พวกพันธมิตรเข้ามาในแผ่นดินยุโรบก่อน แล้วค่อยจัดการบนบกหลังแนวดีกว่า ด้วยความคิดของฮิตเลอร์นี้เอง นอร์มังดีจึงแตก
[แก้] ประวัติ
สงครามโลกครั้งที่สอง นั้นเริ่มต้นขึ้นเมื่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำของเยอรมนีได้ประกาศสงครามกับโปแลนด์และสั่งเคลื่อนพลจำนวนมหาศาลบุกโปแลนด์ โดยใช้กลยุทธการบุกแบบสายฟ้าแลบ (Blitzkrieg) ในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2482 (1939) และสามารถยึดโปแลนด์ได้อย่างรวดเร็ว ขอบเขตของสงครามได้ขยายออกไปเมื่อเยอรมนีประกาศสงครามและทำการบุกนอร์เวย์ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และลักเซมเบิร์ก จนกระทั่งกองทัพเยอรมันสามารถยึดฝรั่งเศสได้สำเร็จ ทำให้เยอรมนีเป็นผู้ครอบครองยุโรปตะวันตกได้ทั้งหมด ยกเว้นเกาะบริเตนใหญ่ของสหราชอาณาจักร ที่ในตอนนี้เป็นเพียงชาติเดียวที่เผชิญหน้ากับนาซีเยอรมัน และเสี่ยงต่อการถูกบุกโดยเยอรมนีมากที่สุด แต่ก่อนที่จะทำการบุกเกาะอังกฤษ กองทัพเยอรมันพยายามที่จะทำลายกองทัพอากาศของสหราชอาณาจักรเสียก่อน เพื่อช่วงชิงความเหนือกว่าทางอากาศซึ่งจะทำให้การบุกเกาะอังกฤษง่ายยิ่งขึ้น และเปิดศึกแห่งบริเตนกับสหราชอาณาจักร
ผลการรบที่ออกมากลับเป็นชัยชนะของสหราชอาณาจักรภายใต้การนำของวินสตัน เชอร์ชิลล์ ทำให้กองทัพอากาศนาซีอ่อนแอลงอย่างมากและเบนความสนใจ (และในภายหลัง เลิกล้ม) จากการยึดเกาะบริเตนไปยังการบุกสหภาพโซเวียตแทน เปิดโอกาสให้สหราชอาณาจักรได้ตั้งหลัก และผูกมิตรกับสหรัฐอเมริกา (ที่ในตอนนี้เป็นปรปักษ์กับประเทศฝ่ายอักษะทุกประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น) และสหภาพโซเวียตที่ในขณะนี้ตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก เมื่อกองทัพเยอรมันสามารถบุกทะลวงดินแดนโซเวียตได้อย่างรวดเร็ว แต่ท้ายที่สุดแล้วสามารถยับยั้งกองทัพเยอรมันไว้ได้ที่มอสโก และเริ่มทำการโจมตีสวนกลับ จนสามารถยึดดินแดนโซเวียตที่เยอรมนียึดมาได้แทบทั้งหมด ในปี พ.ศ. 2486 (1943) เยอรมนีกลับตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในสงคราม และฝ่ายพันธมิตรที่มีกำลังแข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มคิดแผนการที่จะตอบโต้การรุกรานของเยอรมนีด้วยการโจมตีส่วนใดส่วนหนึ่งของยุโรปตะวันตก ท้ายที่สุดในการประชุมที่เตหะราน ที่สามผู้นำหลัก (ประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์จากสหรัฐอเมริกา นายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิลล์จากสหราชอาณาจักร และโจเซฟ สตาลินจากสหภาพโซเวียต) ของฝ่ายสัมพันธมิตรตกลงที่จะเปิดการโจมตีที่หัวหาดนอร์มองดีฝรั่งเศส ตามข้อเรียกร้องของโซเวียตขอให้เปิดแนวรบที่สอง เพื่อลดความกดดันแนวรบทางตะวันออก และเพื่อบีบให้ฝ่ายอักษะต้องกระจายกำลังออกไปทั้งแนวรบตะวันออกและตะวันตก