See also ebooksgratis.com: no banners, no cookies, totally FREE.

CLASSICISTRANIERI HOME PAGE - YOUTUBE CHANNEL
Privacy Policy Cookie Policy Terms and Conditions
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช - วิกิพีเดีย

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ข้อมูลส่วนพระองค์
พระบรมนามาภิไธย หยง แซ่แต้
สิน
พระปรมาภิไธย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
วันพระราชสมภพ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๒๗๗
(อ้างข้อมูลตามจดหมายเหตุโหร)
วันสวรรคต ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ [1]
พระอิสริยยศ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี
พระราชบิดา นายไหฮอง (鄭昭)
พระราชมารดา นางนกเอี้ยง
(ภายหลังเฉลิมพระนามเป็นกรมสมเด็จพระเทพามาตย์)
พระราชบุตร ๓๐ พระองค์
การครองราชย์
ราชวงศ์ ธนบุรี
ทรงราชย์ พ.ศ. ๒๓๑๐ - พ.ศ. ๒๓๒๕
พิธีบรมราชาภิเษก ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๑๐
ระยะเวลาครองราชย์ ๑๕ ปี
รัชกาลก่อนหน้า สมเด็จพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์
(ราชวงศ์บ้านพลูหลวง กรุงศรีอยุธยา)
รัชกาลถัดมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
(ราชวงศ์จักรี กรุงรัตนโกสินทร์)
วัดประจำรัชกาล วัดอินทารามวรวิหาร[2]

พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (พ.ศ. ๒๒๗๗ - พ.ศ. ๒๓๒๕ ครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๑๑ - พ.ศ. ๒๓๒๕) เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวแห่งกรุงธนบุรี และเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวแห่งสยามประเทศที่มาจากเชื้อสายจีน มีพระนามเดิมว่า สิน พระองค์เป็นโอรสของพระบรมราชชนก ไหฮอง และพระบรมราชชนนี นกเอี้ยง (ภายหลังเฉลิมพระนามเป็นกรมสมเด็จพระเทพามาตย์) เสด็จพระราชสมภพในวันอาทิตย์ เดือน ๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีขาล จุลศักราช ๑๐๙๖ เวลาประมาณ ๕ โมงเช้า ตรงกับวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๒๗๗ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ ณ วันพุธ เดือนอ้าย แรม ๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๐ ปีชวด สัมฤทธิศก ตรงกับวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๑๑ รวมสิริดำรงราชสมบัติ ๑๕ ปี เสด็จสวรรคตในวันเสาร์เดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ จ.ศ.๑๑๔๔ ปีขาล ตรงกับวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ รวมพระชนมพรรษา ๔๘ พรรษา

พระองค์เป็นหนึ่งในพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งสยามประเทศ ผู้ทรงกอบกู้อิสรภาพให้ชาวสยาม พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านการสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง การฟื้นฟูบ้านเมืองและศิลปวัฒนธรรมชองชาติ พระองค์จึงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญาว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี อนึ่ง ประชาชนทั่วไปนิยมเรียกพระองค์ว่า พระเจ้าตาก

เนื้อหา

[แก้] พระราชประวัติ

จดหมายเหตุโหรได้บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีขาล จุลศักราช ๑๐๙๖ เวลาประมาณ ๕ โมงเช้า ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๒๗๗

มีหนังสือพงศาวดารได้กล่าวไว้ว่า ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีชาวจีนแต้จิ๋วคนหนึ่งนามว่า ไหฮอง[3](ในหนังสือการเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ระบุว่า ไหฮอง ไม่ใช่ชื่อบุคคล แต่เป็นชื่อตำบลในมณฑลกวางตุ้ง) ได้เป็นนายอากรบ่อนเบี้ย [4] มีบรรดาศักดิ์เป็น ขุนพัฒ ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้บ้านของเจ้าพระยาจักรี สมุหนายก ครั้นเวลาล่วงมาถึง ๕ ปีขาล พ.ศ. ๒๒๗๗ ขุนพัฒมีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ หยง เกิดแต่ นางนกเอี้ยง ซึ่งเป็นชาวไทย [5] ทารกคนนี้คลอดได้ ๓ วัน มีงูเหลือมใหญ่เลื้อยเข้าไปขดรอบตัวทารก เป็นทักขิณาวัฏ ขุนพัฒผู้เป็นบิดาเกรงว่าเรื่องนี้อาจลางร้ายแก่สกุล จึงยกบุตรคนนี้ให้แก่เจ้าพระยาจักรี[6] แล้วเจ้าพระยาจักรีได้เลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม และตั้งแต่เจ้าพระยาจักรีได้เด็กน้อยคนนี้มา ลาภผลก็เกิดมากมูลพูนเพิ่มมั่งคั่งขึ้นแต่ก่อน เจ้าพระยาจักรีจึงกำหนดเอาเหตุนี้ขนานนามให้ว่า สิน

จากหลักฐานที่อาลักษณ์ของจีนจดบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารวงเช็ง แผ่นดินพระเจ้าเขียนหลง กล่าวถึงพระราชประวัติของพระองค์ไว้ว่า "บิดาเจิ้งเป็นชาวมณฑลกวางตุ้ง ไปทำมาค้าขายอยู่ที่เสียมล่อก๊ก และเกิดเจิ้งเจาที่นั่น เมื่อเจิ้งเจาเติบใหญ่ เป็นผู้มีความสามารถ ได้เข้ารับราชการอยู่ในเสียมล่อก๊ก เมื่อเจิ้งเจารบชนะพม่า ฯ แล้ว ราษฎรทั่วประเทศยกขึ้นเป็นเจ้าครองประเทศ..." [7] ("เจิ้งเจา"คือสมเด็จพระเจ้าตากสิน ออกเสียงตามสำเนียงปักกิ่ง ถ้าเป็นแต้จิ๋วออกเสียงว่า"แต้เจียว" ส่วน"เสียมล่อก๊ก"นั้น หมายถึงประเทศไทย)

ครั้นเมื่อเด็กชายสิน อายุได้ ๙ ขวบ เจ้าพระยาจักรีนำเข้าฝากให้เล่าเรียนหนังสืออยู่ในสำนักของพระอาจารย์ทองดี วัดโกษาวาส ต่อมาได้เข้าถวายตัวรับราชการเป็นมหาดเล็กอยูในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่ออายุได้ ๑๓ ปี เจ้าพระยาจักรีได้จัดงานมงคลตัดจุกนายสิน เป็นการเอิกเกริกและในระหว่างนั้น มีผึ้งหลวงมาจับที่เพดานเบญจารดน้ำปรากฏอยู่ถึง ๗ วันจึงหนีไป และในระหว่างนี้ นายสินได้พยายามศึกษาหาความรู้ในภาษาต่างประเทศ มี ภาษาจีน ภาษาญวน และ ภาษาแขก จนสามารถพูดคล่องได้ทั้ง ๓ ภาษา ต่อมาได้รับราชการภายใต้หลวงนายศักดิ์นายเวร (ภายหลังเป็นเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์)

ต่อมาเมื่อมีอายุได้ ๒๐ ปี บริบูรณ์ เจ้าพระยาจักรีได้จัดการอุปสมบทเป็นพระภิกษุให้ ในระหว่างอุปสมบทพระภิกษุสินได้ออกบิณฑบาตพร้อมกับพระภิกษุ ทองด้วง เป็นประจำเพราะรับราชการเป็นมหาดเล็กทำงานด้วยกันมาหลายปี ทั้งสองมีความรักใคร่กลมเกลียวกันมาก ได้อุปสมบทพร้อมกัน เช้าวันหนึ่งพระภิกษุทั้งสองเดินไปตามถนน เพื่อรับบิณฑบาตจากพระราชวังหลวง มีชายจีนผู้หนึ่งเดินผ่านพระภิกษุทั้งสองไปได้ ๓-๔ ก้าว ก็หยุดชะงักหันกลับมาดูแล้วก็หัวเราะ ทำเช่นนี้ถึง ๕-๖ ครั้ง สองภิกษุมองหน้าแล้วถามว่าหัวเราะเรื่องอะไร ชายจีนผู้นั้นบอกว่าตนเป็นซินแสหมอดู สามารถทายลักษณะของบุรุษหรือสตรีได้ แล้วทำนายให้พระภิกษุทั้ง ๒ องค์ว่า[8]

พระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าตากสินขณะทรงผนวช
พระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าตากสินขณะทรงผนวช

ซินแสทายพระภิกษุองค์ที่ ๑

     ชายใดไกรลักษณ์พร้อม       เพราองค์
ศักดิ์กษัตร์ถนัดทรง       ส่อชี้
สมบัติขัติยมง       คลครอบ ครองแฮ
ชายนั้นคือท่านนี้       แน่ข้าพยากรณ์ฯ

ซินแสทายพระภิกษุองค์ที่ ๒

     ท่านเป็นบุรุษต้อง       ตามลักษณ์ ล้วนแล
บุญเด่นเห็นประจักษ์       เจิดกล้า
จักสู่ประภูศักดิ์       สุรกษัตร์
สืบศุภวงษ์ทรงหล้า       สฤษฎ์เลี้ยง เวียงสยาม
     เกิดมาข้าพเจ้าไม่       เคยเห็น
สองสหายหลายประเด็น       เด่นชี้
ภายหน้าว่าจักเป็น       ปิ่นกษัตร์
นั่งอยู่ คู่กันฉนี้       แน่ล้วน ชวนหัว

สองภิกษุว่า

     สองข้าอายุใกล้       เคียงกัน
ทั้งคู่จะทรงขัณฑ์       ผิดเค้า
เป็นกษัตร์ร่วมรัฐบัล       ลังก์ร่วม ไฉนนอ
เห็นจะสัดตวงข้าว       แน่แท้คำทายฯ

พระภิกษุสินได้ดำรงอยู่ในสมณเพศถึง ๓ พรรษา ที่วัดโกษาวาส แล้วจึงลาสิกขาบทออกมารับราชการใหม่ ในตำแหน่งมหาดเล็กรายงาน ครั้นถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งเป็น หลวงยกกระบัตร ไปรับราชการอยู่ที่เมืองตาก [9]เมื่อเจ้าเมืองตากถึงแก่อนิจกรรม ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้หลวงยกกระบัตรเป็น พระยาตาก

ต่อมาเมื่อมีข้าศึกพม่ามาล้อมกรุงศรีอยุธยา พระยาตากก็ได้ถูกเรียกตัวให้ลงมาช่วยงานราชการในกรุงศรีอยุธยา พระยาตากทำการสู้รบกับข้าศึกด้วยความเข้มแข็งสามารถยิ่ง มีบำเหน็จความชอบในสงคราม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งเป็น พระยาวชิรปราการ ผู้สำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชร แต่ยังมิได้ขึ้นไปปกครองเมืองกำแพงเพชร เพราะติดราชการสงครามกับพม่าอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๙ เสียก่อน

พ.ศ. ๒๓๑๐ หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พระยาตาก ก็รวบรวมคนไปตั้งเป็นชุมนุมพระเจ้าตากที่เมืองจันทบูร (จันทบุรี) และมากอบกู้เอกราช และสร้างเมืองหลวงใหม่ที่ กรุงธนบุรี

[แก้] งานกู้ชาติ

[แก้] ฝ่าวงล้อมทหารพม่า

ในวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๓๐๙ ซึ่งตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือนยี่ จุลศักราช ๑๑๒๘ ปีจอ อัฐศก พระยาวชิรปราการ (ยศในขณะนั้น) เห็นว่ากรุงศรีอยุธยาคงต้องเสียทีแก่พม่า จึงตัดสินใจร่วมกับพระยาพิชัยดาบหัก พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา หลวงราชเสน่หา ขุนอภัยภักดี พร้อมด้วยทหารกล้าราว ๕๐๐ คน[10] มีปืนเพียงกระบอกเดียว แต่ชำนาญด้านอาวุธสั้น[11] ยกกำลังออกจากค่ายวัดพิชัย ตีฝ่าวงล้อมทหารพม่าไปทางทิศตะวันออก โดยตั้งใจว่าจะกลับมากู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนให้ได้โดยเร็ว

พระยาวชิรปราการ ต้องการยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นที่มั่น เพื่อรวบรวมกำลังกลับมาตีพม่า จึงสั่งทหารทุกคนว่า

เมื่อกินข้าวปลาอาหารอิ่มแล้ว ให้ทุบหม้อข้าวหม้อแกงทิ้งเสีย คืนนี้เราจะตีเมืองจันทบุรีให้ได้ แล้วพรุ่งนี้เราจะกินข้าวเช้ากันในเมืองจันท์

หลังจากที่พระยาตากพาไพร่พลตีฝ่าวงล้อมพม่า มุ่งไปยังหัวเมืองชายทะเลด้านตะวันออก ประมาณ ๓ เดือน พม่าก็เข้ายึดกรุงศรีอยุธยาได้ในวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๓๑๐ พม่าจุดไฟเผาเมืองจนวอดวาย พระเจ้ามังระกษัตริย์พม่ามีพระบรมราชโองการให้ทำลายทุกอย่างให้ย่อยยับ แล้วให้จับพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศานุวงศ์ และรวบรวมสมบัติทั้งหมดของอยุธยาส่งกลับไปพม่า ข่าวกรุงแตกได้แพร่กระจาย ขณะที่พระยาตากอยู่ที่เมืองระยอง พระยาตากจึงได้ประกาศตนเป็นผุ้นำในการที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนา และกอบกู้กรุงศรีอยุธยาให้กลับรุ่งเรืองดังเดิม

พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตเลขา กล่าวถึงคำพูดของพระยาตากไว้ตอนหนึ่งว่า

ตัวเราคิดจะซ่องสุมประชาราษฎรในแขวงหัวเมืองให้ได้มาก แล้วจะยกกลับไปกู้กรุงให้คงคืนเป็นราชธานีดังเก่า แล้วจัดทำนุบำรุงสมณพราหมณาประชาราษฎร ซึ่งอนาถาหาที่พำนักมิได้ให้ร่มเย็นเป็นสุขานุสุข แล้วจะยอยกพระบวรพุทธศาสนาให้โชตนาการขึ้นเหมือนอย่างแต่ก่อน เราจะตั้งตัวเป็นเจ้าขึ้นให้คนทั้งหลายยำเกรงจงมาก ซึ่งจะก่อกู้แผ่นดินจึงจะสำเร็จโดยง่าย ท่านทั้งหลายจะเห็นประการใด

[12]

บรรดาแม่ทัพนายกองที่สวามิภักดิ์ต่างพร้อมใจกันยกพระยาตากขึ้นเป็นผู้นำขบวนการกอบกู้แผ่นดิน และเรียกพระยาตากว่า เจ้าตาก นับตั้งแต่นั้นมา ถึงแม้จะเป็นเสมือนผู้ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง แต่เจ้าตากก็ระวังตนมิได้คิดตั้งตัวเป็นกบฏ ให้เรียกคำสั่งว่าพระประศาสน์อย่างเจ้าเมืองเอกเท่านั้น

เจ้าตากได้นำไพร่พลทั้งไทยและจีนเดินทางต่อไปยังฝั่งทะเลด้านตะวันออก รอเวลาที่จะกอบกู้แผ่นดินจากพม่า ทุกขั้น ตอนของแผนกอบกู้เอกราช ล้วนแสดงถึงอัจฉริยะในด้านยุทธวิธีทางทหาร ทั้งทางบกและทางน้ำของเจ้าตาก

[แก้] เส้นทางเดินทัพของพระยาตาก

พระยาตากพาไพร่พลตีฝ่าวงล้อมของทัพพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยามุ่งตรงไปยังบ้านโพธิ์สังหาญ หรือ โพธิ์สาวหาญ รุ่งเช้าได้ต่อสู้กับกองทหารพม่า ทหารไทยฆ่าฟันทหารพม่าล้มตายแตกหนีไป พระยาตากจึงนำทหารเดินทางต่อ และไปตั้งค่ายพักอยู่บ้านพรานนก ให้พวกทหารไปเที่ยวหาอาหาร มาเลี้ยงกัน ขณะนั้นมีทหารพม่ากองหนึ่ง ซึ่งมีทหารม้าประมาณ ๓๐ คน ทหารเดินเท้าประมาณ ๒๐๐ คน เดินทาง มาจากแขวงเมืองปราจีนบุรี [13] สวนทางมาพบทหารพระยาตากที่เที่ยวหาเสบียงอาหาร ทหารพม่าก็ไล่จับและ ติดตามมายังบ้านพรานนก พระยาตากจึงให้ทหารแยกออกซุ่มสองทาง ตนเองขึ้นขี่ม้าพร้อมกับทหารอีก ๔ คน ควบตรงไปไล่ฟันทหารม้าพม่า ทหารพม่าไม่ทันรู้ตัวตกใจถอยกลับ ไปปะทะกับทหารเดินเท้าของตนเอง เกิดการอลหม่าน ทหารไทยที่ซุ่มอยู่สองข้างจึงแยกเป็นปีกกาตีโอบทหารพม่าไว้สองข้าง แล้วไล่ฟันทหารพม่า ล้มตายและแตกหนีไป

พวกราษฎรที่หลบซ่อนพม่าอยู่ ครั้นเห็นพระยาตากรบชนะพม่า ก็ดีใจพากัน เข้ามาสมัครเป็นพรรคพวก พระยาตากจึงให้ราษฎรเหล่านั้น ไปเกลี้ยกล่อมหัวหน้านายซ่องมาสวามิภักดิ์ นำช้าง ม้าพาหนะและเสบียงอาหารมามอบให้ นายซ่องใหญ่ที่ไม่ยอมอ่อนน้อม ก็ถูกปราบปรามจนราบคาบ ริบพาหนะ ผู้คน ช้างม้า และศาสตราวุธ ได้เป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นพระยาตากจึงยกกองทหารไปทาง นาเริง เมืองนครนายก ผ่านด่านกบแจะ ข้ามลำน้ำปราจีนบุรี ไปตั้งพักอยู่ชายดงศรีมหาโพธิ์ ข้างฝั่งตะวันออก พม่าที่ตั้งทัพอยู่ปากน้ำเจ้าโล้ใต้เมืองปราจีนบุรียกพลตามมา พระยาตากก็นำทหารไล่ติดตามฆ่าฟันทหารพม่า ล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ที่เหลือก็หนีแตกกระจัดกระจายไป นับแต่นั้นมา พม่าก็มิได้ติดตามกองทัพพระยา ตากอีกต่อไป

พระยาตากได้ยกกองทัพผ่านเมืองฉะเชิงเทรา ชลบุรี แล้วจึงเดินทางต่อไปยังบ้านนาเกลือ แขวงเมืองบางละมุง เมื่อถึงเมืองระยอง เจ้าเมืองระยองซึ่งได้ยินกิติศัพท์ของพระยาตากก็ยอมอ่อนน้อมเชิญให้ เข้าเมือง พระยาตากใช้เวลาไม่ถึงเดือนนับจากตีหักออกจากกรุงศรีอยุธยาก็ยึดเมืองระยองเป็นที่มั่นได้ ความ สามารถของพระยาตากในการรวบรวม คนไทยได้เป็นจำนวนมากเช่นนี้ แสดงถึงศักยภาพของพระยาตากที่มี เหนือกลุ่มอื่น ๆ ในการกอบกู้กรุงศรีอยุธยา

เส้นทางเดินทัพของพระยาตาก
เส้นทางเดินทัพของพระยาตาก

[14] [15]

[แก้] พระราชวิเทโศบายในการยึดจันทบุรี

พระยาตากเดินทัพจากระยองผ่านแกลงเข้าบางกระจะ มุ่งยึดจันทบุรีซึ่งเป็นเมืองใหญ่ เพื่อใช้เป็นฐาน กำลังฟื้นฟูขวัญของไพร่พล เจ้าเมืองจันทบุรีไม่ยอมสวามิภักดิ์ พระยาตากจึงต้องใช้จิตวิทยาในด้านการรบ มาใช้กับแม่ทัพนายกอง เพื่อต้องการรบให้ชนะ โดยสั่งให้ทุบหม้อข้าวหม้อแกงหมายไปกินอาหารมื้อเช้า ในเมือง ถ้าตีเมืองไม่ได้ก็ต้องอดตาย

ครั้นถึงเวลาค่ำ พระยาตากจึงได้สั่งให้ทหารไทยจีนลอบเข้าไปอยู่ ตามสถานที่ที่ได้วางแผนไว้แล้ว ให้คอยฟังสัญญาณเข้าตีเมืองพร้อมกัน มิให้ส่งเสียงจนกว่าจะเข้าเมืองได้ จึงให้โห่ขึ้นให้พวกอื่นรู้ พอได้ฤกษ์เวลา ๓ นาฬิกา เจ้าตากก็ขึ้นคอช้างพังคีรีบัญชร ให้ยิงปืนสัญญาณ บอกพวกทหารเข้าตีเมืองพร้อมกัน ส่วนพระยาตากก็ไสช้างเข้าพังประตูเมือง ชาวเมืองที่ประจำการอยู่ก็ยิง ปืนใหญ่เข้าใส่ นายท้ายช้างเกรงว่าพระยาตากจะถูกยิงจึงเกี่ยวช้างให้ถอยออกมา พระยาตากชักดาบออกมา จะฟัน นายท้ายช้างจึงได้ขอชีวิตไว้ แล้วไสช้างเข้าชนทำให้บานประตูเมืองพังลง ทหารพระยาตากจึงกรูกัน เข้าเมืองได้ พวกชาวเมืองต่างพากันละทิ้งหน้าที่หนีไป ส่วนพระยาจันทบุรีก็พาครอบครัวลงเรือหนีไปยัง เมืองบันทายมาศ

เมื่อค่ำวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีจอ พ.ศ. ๒๓๐๙ ตรงกับวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๓๐๙ พระยาตาก ได้ตัดสินใจยกกำลังออกจากค่ายวัดพิชัย ตีฝ่าพม่าไปทางทิศตะวันออก ทัพของพระยาตากได้ผ่านไปตั้งพักและหาเสบียงอาหารที่บ้านพรานนก ได้ต่อสู้กับพม่าที่ไล่ติดตามมาจนแตกพ่ายไป พวกราษฎรที่หลบซ่อนเร้นพม่าอยู่ ต่างก็พากันมาเป็นพวกด้วยจำนวนมาก พระยาตากได้คุมทหารไปปราบนายซ่องเมืองนครนายก

จากนั้นได้ยกทัพผ่านเมืองนครนายก ข้ามลำน้ำเมืองปราจีน ไปตั้งพักที่ชายดงศรีมหาโพธิ์ ทางด้านฝั่งตะวันตก แล้วไปรบกับพม่าอีกครั้งที่ปากน้ำเจ้าโล้ เมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งกองทัพพม่ากองสุดท้ายไปรอดักอยู่ ณ ที่นั้น

เมื่อพระยาตากได้ชัยชนะพม่าแล้ว ได้ยกทัพผ่านเขต เมืองชลบุรี บ้านหัวทองหลาง พานทอง บางปลาสร้อย บ้านนาเกลือ นาจอมเทียน ทุ่งไก่เตี้ย ชายทะเลสัตหีบ หินโด่งและน้ำเก่า เขตเมืองระยอง พระองค์ได้มีความคิดที่จะรวบรวมเมืองชายทะเลตะวันออก ตั้งแต่เมืองบางละมุง เมืองชลบุรี เมืองจันทบุรี เมืองตราด ไว้เป็นพวกเดียวกันเพื่อช่วยกันปราบปรามพม่า ที่ล้อมกรุงศรีอยุธยาและทรงเล็งเห็นว่าเมืองจันทบุรีเป็นเมืองใหญ่กว่าหัวเมืองอื่น มีเจ้าปกครองอยู่เป็นปกติ มีกำลังคนและอาหารอยู่บริบูรณ์ ชัยภูมิก็เหมาะที่จะเป็นที่ตั้งมั่นยิ่งกว่าหัวเมืองใกล้เคียง จึงได้ตีเมืองจันทบุรี และใช้เป็นที่มั่นสำคัญในการเตรียมกำลังมากอบกู้เอกราช [16]

๐๓.๐๐ น. พระยาตากขึ้นช้างพังคีรีบัญชร โดยสั่งให้หลวงพิชัยอาสา(พระยาพิชัยดาบหัก) ทหารผู้ไว้ใจชุมพลทหารหน้าช้างพระที่นั่ง[17] และสั่งให้ยิงปืนสัญญาณเข้าพร้อมกันทุกด้าน พระยาตากขับช้างเข้าพังประตูเมือง ส่วนพวกที่อยู่ในเมืองก็ได้ตอบโต้ โดยการระดมยิงปืนสวนออกมาเช่นเดียวกัน นายท้ายช้างซึ่งเกรงว่าลูกปืนจะมาถูกพระยาตาก จึงเกี่ยวช้างถอยออกมา แต่พระยาตากขัดใจชักดาบหันมาจะฟันนายท้ายช้าง แต่นายท้ายช้างได้ตกใจร้องขอชีวิตเอาไว้ แล้วขับช้างเข้ารื้อบานประตูเมืองจนพังลง พวกทหารก็กรูเข้าไปในเมืองได้ หลังจากพวกในเมืองรู้ว่าพระยาตากพังประตูเมืองได้ก็ต่างพากันตกใจ ต่างคนต่างละทิ้งหน้าที่พากันหนีกระจัดกระจาย ส่วนตัวพระยาจันทบุรีพาครอบครัวหนีไปยังเมืองพุทไธมาศ

พระยาตากตีเมืองจันทบุรีได้ ณ วันอาทิตย์ เดือน ๗ แรม ๓ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๒๙ ปีกุน นพศก เพลา ๓ ยามเศษ ตรงกับวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๑๐ หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว ๒ เดือน

เมื่อยึดเมืองจันทบุรีได้แล้ว พระยาตากได้เคลื่อนทัพไปยังเมืองตราด พวกกรมการและราษฎรเกิดความ เกรงกลัวต่างพากันมาอ่อนน้อมโดยดี ที่ปากน้ำเมืองตราดมีเรือสำเภาจีนมาทอดทุ่นอยู่หลายลำ พระยาตาก ได้เรียกนายเรือมาพบ แต่พวกจีนนายเรือขัดขืนต่อสู้ พระยาตากจึงลงเรือรบ คุมกองเรือไปล้อมสำเภาจีน เหล่านั้น ได้ทำการต่อสู้กันอยู่ประมาณครึ่งวัน พระยาตากก็ยึดสำเภาจีนไว้ได้หมด ได้ทรัพย์สินสิ่งของมา เป็นจำนวนมาก เป็นที่น่าสังเกตว่าเรือรบไทยสมัยนั้น มีขนาดพอ ๆ กับเรือยาวที่ใช้แข่งตามแม่น้ำ เมื่อสามารถเข้าตียึดเรือสำเภาขนาดใหญ่ที่ใช้เดินทะเลและมีปืนใหญ่ประจำเรือด้วยได้นั้น แสดงว่าแม่ทัพ เรือและทหารเรือ จะต้องมีความสามารถมาก [18]

ภาพประธานด้านหลัง พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จำลองจากพระบรมราชานุสาวรีย์ ณ สวนสาธารณะทุ่งนาเชย อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี
ภาพประธานด้านหลัง พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จำลองจากพระบรมราชานุสาวรีย์ ณ สวนสาธารณะทุ่งนาเชย อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี

[แก้] การสถาปนากรุงธนบุรี

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงขับไล่พม่าออกจากกรุงศรีอยุธยาแล้ว ก็รวบรวมผู้คน ทรัพย์สมบัติ และสิ่งต่างๆ ซึ่งสุกี้พระนายกองยังมิได้นำไปยังพม่า นำกลับมายังค่ายที่เมืองธนบุรี ปรากฏว่าที่เมืองลพบุรี มีพระบรมวงศานุวงศ์ของราชวงศ์อยุธยามาพำนักอยู่เป็นจำนวนมาก พระเจ้าตากจึงสั่งให้คนไปอัญเชิญมายังเมืองธนบุรี พระองค์ทรงขุดพระบรมศพของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ขึ้นมาถวายพระเพลิงตามโบราณราชประเพณี ต่อจากนั้น พระองค์ก็ทรงคิดที่จะปฏิสังขรณ์พระนครศรีอยุธยาให้กลับคืนเป็นดังเดิม แต่แล้วหลังจากตรวจดูความพินาจของเมือง จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อพยพผู้คนเคลื่อนลงมาทางใต้ ตั้งราชธานีใหม่ขึ้นที่เมืองธนบุรี เรียกนามว่า กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร

ดูบทความหลักที่ กรุงธนบุรี

[แก้] ปราบดาภิเษก

พระราชวังกรุงธนบุรี (วังเดิม) เป็นพระราชวังหลวงของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ ในพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของป้อมวิไชยเยนทร์ ที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่ทำการของ กองบัญชาการกองทัพเรือ
พระราชวังกรุงธนบุรี (วังเดิม) เป็นพระราชวังหลวงของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ ในพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของป้อมวิไชยเยนทร์ ที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่ทำการของ กองบัญชาการกองทัพเรือ

หลังจากสร้างพระราชวังบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว เมื่อทรงจัดการบ้านเมืองเรียบร้อยพอสมควร บรรดาแม่ทัพ นายกอง ขุนนาง ข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ตลอดทั้งสมณะพราหมณาจารย์และอาณาประชาราษฎร์ทั้งหลาย จึงพร้อมกันกราบบังคมทูลอัญเชิญขึ้นทรงปราบดาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ ณ วันพุธ เดือนอ้าย แรก ๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๐ ปีชวด สัมฤทธิศก ตรงกับวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๑๑ ทรงพระนามว่า พระศรีสรรเพชญ์ หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ แต่เรียกขานพระนามของพระองค์ติดปากว่า สมเด็จพระเจ้าตากสิน หรือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

จดหมายเหตุของคณะบาทหลวงฝรั่งเศส ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๙ มองซิเออร์คอร์ เขียนจดหมายเล่าแก่ มองเซนเยอร์บรีโกต์ ว่า "เมื่อวันที่ ๔ เดือนมีนาคม ปีนี้ (๒๓๑๑) ข้าพเจ้าได้มาถึงบางกอก..."[19] และ "เมื่อข้าพเจ้าได้มาถึงบางกอก พระยาตากพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหมได้ทรงต้อนรับข้าพเจ้าอย่างดี"

นายสวนมหาดเล็กได้แต่งโคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๔ ยืนยันการปราบดาภิเษกว่า[20]

     ใครอาจอาตมตั้ง       ตัวผจญ ได้ฤๅ
พ่ายพระกุศลพล       ทั่วท้าว
ปราบดาลิเษกบน       ภัทรบิฐ บัวแฮ
สมบัติสมบูรณ์ด้าว       แด่นฟ้ามาปาน


[แก้] พระราชกรณียกิจ

หน้านี้เป็นหน้ารวมบทความในหมวดหมู่ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมดูได้ที่ เหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

สามารถจำแนกออกไปสองด้านคือ ๑.การสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง ๒.การฟื้นฟูบ้านเมืองทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติ

[แก้] การสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง

[แก้] การปกป้องแผ่นดิน

การปกป้องแผ่นดินเป็นพระราชกรณียกิจที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้กระทำตลอดพระชนม์ชีพ ซึ่งนอก จากการต่อสู้เพื่อรวมแผ่นดินแล้ว ยังต้องป้องกันหัวเมืองชายแดนอีกด้วย ตลอดรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงทำสงครามกับพม่าถึง ๙ ครั้ง แต่ด้วยพระอัจฉริยะภาพ ทางยุทธวิธีและความเชี่ยวชาญในการรบของทหาร จึงทำให้ทัพไทยรบชนะพม่าทุกครั้ง

สงครามครั้งที่ ๑ รบพม่าที่บางกุ้ง พ.ศ. ๒๓๑๐ [21]

สงครามครั้งที่ ๒ พม่าตีเมืองสวรรคโลก พ.ศ. ๒๓๑๓ [22]

สงครามครั้งที่ ๓ ไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก พ.ศ. ๒๓๑๓ - พ.ศ. ๒๓๑๔

สงครามครั้งที่ ๔ พม่าตีเมืองพิชัยครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๓๑๕

สงครามครั้งที่ ๕ พม่าตีเมืองพิชัยครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๖ [23]

สงครามครั้งที่ ๖ ไทยตีเมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๗

สงครามครั้งที่ ๗ รบพม่าที่บางแก้วเมืองราชบุรี พ.ศ. ๒๓๑๗

สงครามครั้งที่ ๘ อะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ พ.ศ. ๒๓๑๘

สงครามครั้งที่ ๙ พม่าตีเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๓๑๙ สงครามครั้งนี้ถือว่าเป็นการรบครั้งสุดท้ายที่ไทยรบกับพม่าในสมัยกรุงธนบุรี เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้รับการสถาปนาให้เป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก มียศอย่างเจ้าต่างกรม คงดำรงตำแหน่งสมุหนายก

การศึกสงครามดังกล่าวนี้ ส่งผลให้พระราชอาณาจักรไทยเป็นเอกราชและมีความมั่นคงสืบต่อมาจนถึง ปัจจุบัน

[แก้] อาณาเขตประเทศไทยในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

แผนที่แสดงอาณาเขตประเทศไทย ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
แผนที่แสดงอาณาเขตประเทศไทย ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ในสมัยกรุงธนบุรีได้มีการรวบรวมหัวเมืองต่างๆ เข้ามาในพระราชอาณาจักร ได้แก่ ธนบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ ฉะเชิงเทรา นครนายก ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด นครชัยศรี นครปฐม สุพรรณบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์

สมเด็จพระเจ้าตากสิน ได้ทรงต่อสู้เพื่อขยายพระราชอาณาจักรเกือบตลอดรัชกาล อาณาเขตของ ประเทศไทยในสมัยนั้น มีดังนี้

ทิศเหนือ ได้ดินแดนหลวงพระบาง และเวียงจันทน์

ทิศใต้ ได้ดินแดนกะลันตัน ตรังกานู และไทรบุรี

ทิศตะวันออก ได้ดินแดนลาว เขมร ทางฝั่งแม่น้ำโขงจดอาณาเขตญวน

ทิศตะวันตก จรดดินแดนเมาะตะมะ ได้ดินแดน เมืองทวาย มะริด ตะนาวศรี


[แก้] การรวบรวมชุมนุมต่างๆ

ดูเพิ่มที่ ชุมนุมสมัยกรุงธนบุรี และ กรุงธนบุรี

ในสมัยกรุงธนบุรี ได้มีชุมนุมต่างๆแยกจากอำนาจสยามมากมาย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงใช้เวลาเพียง 3 ปี จึงสามารถรวบรวมอาณาจักรให้เป็นปึกแผ่นดังนี้

ชุมนุมพระยาตาก เป็นชุมนุมของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก่อนที่จะตั้งกรุงธนบุรี เมื่อพระยาตากพิจารณาเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาไม่มีทางรบชนะ จึงนำทหารจำนวนหนึ่งไปสร้างฐานกำลังตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองจันทบุรี มีอาณาเขตตั้งแต่ชายแดนกัมพูชา จนถึงเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกทั้งหมด

ชุมนุมพระยาพิษณุโลก [24]

เจ้าพระยาพิษณุโลก ตั้งตัวเป็นเจ้าเมืองพิษณุโลก มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองพิชัยลงมาจนถึงเมืองนครสวรรค์ และ ปากน้ำโพ เจ้าพระยาพิษณุโลกมีนามเดิมว่า เรือง เคยเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ในกรุงศรีอยุธยา และเป็นผู้ที่มีความสามารถในการสู้รบ จึงมีผู้นับถืออยู่มาก เมื่อตั้งตนเป็นเจ้าแล้ว ได้มีข้าราชการเก่ากรุงศรีอยุธยาขึ้นมาสวามิภักดิ์อยู่ด้วยหลายนาย

ในปี พ.ศ. ๒๓๑๑ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงยกทัพไปปราบชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก เจ้าพระยาพิษณุโลกได้ให้หลวงโกษา(ยัง) ยกกองทัพมาตั้งรับที่ตำบลเกยชัย เขตเมืองนครสวรรค์ พอกองทัพของพระเจ้าตากยกขึ้นไปถึง ก็ได้ปะทะรบพุ่งกันอย่างสามารถ ข้าศึกได้ยิงปืนมาถูกพระชงฆ์(หน้าแข้ง)ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชบาดเจ็บ จึงต้องยกทัพกลับ เจ้าพระยาพิษณุโลกเห็นเป็นโอกาสเหมาะ จึงตั้งตนเป็นพระมหากษัตริย์ พอราชาภิเษกได้ ๗ วัน ก็ได้ประชวร และถึงแก่พราลัยในที่สุด พระอินทรอากร น้องชายข้องเจ้าพระยาพิษณุโลกจึงได้ขึ้นครองเมืองแทน แต่ก็ทำให้เมืองพิษณุโลกอ่อนแอตามลำดับ ด้วยเหตุนี้ เจ้าพระฝางเห็นเป็นโอกาสอันเหมาะ จึงยกทัพลงมาตีเมืองพิษณุโลก และผนวกรวมกับชุมนุมพระฝางไปในที่สุด

ชุมนุมเจ้าพิมาย ชุมนุมเจ้าพิมายนั้น มี กรมหมื่นเทพพิพิธ เป็นเจ้าเมือง กรมหมื่นเทพพิพิธ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ผนวชในรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศ แต่ต่อมาได้มีความผิดฐานคิดกบฎ จึงถูกเนรเทศออกไปอยู่ที่ลังกา และ เมื่อพระเจ้ามังระส่งกองทัพมาตีไทย กรมหมื่นเทพพิพิธได้ทราบว่าเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า จึงได้เดินทางกลับไทย เกลี้ยกล่อมผู้คนในเมืองนครราชสีมาให้สมัครเป็นพรรคพวกของตน และในที่สดก็ยึดเมืองนครราชสีมาได้

ต่อมา หลวงแพ่ง น้องพระยาราชสีมาได้ไปเกณฑ์พลจากเมืองพิมาย เพื่อไปตีเมืองนครราชสีมาเอาเมืองคืน ปรากฏว่ารบชนะ จึงจับกรมหมื่นเทพพิพิธได้ หลวงแพ่งต้องการที่จะประหารชีวิตกรมหมื่นเสีย แต่เจ้าพิมายมีความสงสารจึงขอชีวิตไว้ และขอนำกรมหมื่นเทพพิพิธไปคุมไว้ที่เมืองพิมาย แต่เจ้าพิมายจงรักภักดีต่อเจ้ากรุงศรีอยุธยามาก จึงยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นเป็นเจ้าเมืองพิมาย ส่วนตนนั้นได้ถูกแต่งตั้งให้เป็น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการบ้านเมืองทั้งหมด หลังจากนั้น กรมหมื่นฯก็ได้กำจัดหลวงแพ่ง แล้วยึดเมืองนครราชสีมา และ หัวเมืองน้อยใหญ่ทั้งปวงมารวมกับพิมายทั้งหมด

หลังจากการสถาปนากรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีพระบัญชาให้ พระราชวริน(ทองด้วง) และพระมหามนตรี(บุญมา) ยกทัพไปตีชุมนุมพิมาย ภายหลังจากทรงหายจากการรบกับพิษณุโลก และ เป็นปีเดียวกันกับปีที่ยกทัพไปตีพิษณุโลก กองทัพพิมายมิสามารถต้านทานกองทัพกรุงธนบุรีได้จึงต้องแตกพ่ายไป ครั้นเมื่อกรมหมื่นเทพพิพิธทราบข่าว จึงรีบอพยพครอบครัวไปอยู่เวียงจันทน์ แต่ ขุนชนะ กรมการเมืองนครราชสีมาตามตัวไว้ได้ทัน จึงนำมาถวายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สมเด็จพระเจ้าตากฯ ทรงมิมีปรารถนาที่จะสำเร็จโทษ แต่กรมหมื่นเทพพิพิธแสดงกิริยากระด้างกระเดื่อง ไม่ยอมอ่อนน้อม พระองค์จึงสำเร็จโทษกรมหมื่นเทพพิพิธ [25]

ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช

พระปลัด (หนู) ผู้รั้งตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ได้ตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าที่เมืองนครศรีธรรมราช ชาวบ้านเรียกว่า เจ้านคร มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองชุมพรจนถึงหัวเมืองมลายู

เจ้าเมืองนี้มีชื่อเดิมว่า(หนู) เป็นเชื้อสายเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ได้เข้ามาถวายงานที่กรุงศรอยุธยา มีความชอบจนได้เป็น หลวงสิทธิ์นายเวร มหาดเล็ก แล้วไปเป็นปลัดเมืองนครศรีธรรมราชต่อมา เมื่อพระยาราชสุภาวดี เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชมีความผิด หลวงสิทธิ์นายเวรจึงไปเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชแทน

เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๒ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพไปปราบชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช โดยมีเจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพ กองทัพเจ้านครฯ กับกองทัพกรุงธนบุรีได้สู้รบกันอย่างสามารถ แต่แม่ทัพกรุงธนบุรีที่ยกทัพไปกลับไม่ปรองดองกัน จึงไม่สามารถปราบชุมนุมเจ้านครฯ ได้สำเร็จ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงต้องทรงลงไปตีด้วยพระองค์เอง แล้วก็ทรงตีได้สำเร็จ เจ้านครศรีธรรมราช เจ้าหนู ต้องหนีละทิ้งเมืองไปอยู่ที่เมืองปัตตานี แต่เจ้าเมืองปัตตานีเกรงกลัวกองทัพสยาม จึงส่งตัวกลับมาให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งแต่นั้นมาหัวเมืองปักษ์ใต้จึงมาอยู่ภายใต้อำนาจกรุงธนบุรี พระองค์ทรงไม่ประหารเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เพราะเนื่องจาก ในขณะนั้นกรุงศรีอยุธยาแตก ไม่มีเมืองที่ใหญ่กว่ามาปกครอง เมืองนครศรีธรรมราชจึงต้องตั้งตนเป็นอิสระ [26]

ชุมนุมเจ้าพระฝาง

ดูเพิ่มที่ ชุมนุมเจ้าพระฝาง

พระสังฆราชาในเมืองสวางคบุรี(ฝาง) ได้ตั้งตนเป็นเจ้า ทั้งที่ยังเป็นพระภิกษุอยู่ ชาวบ้านทั่วไปเรียก เจ้าพระฝาง หรือ พระเจ้าฝาง มีชื่อเดิมว่า เรือน เป็นชาวเมืองเหนือ ได้ศึกษาเล่าเรียนพระศาสนาจากราชสำนักกรุงศรีอยุธยา และได้รับการแต่งตั้งเป็น พระพากุลเถรราชา คณะฝ่ายอรัญวาสี อยู่ ณ วัดศรีอยุธยา และได้แต่งตั้งเป็นพระสังฆราชาเจ้าคณะเมืองสวางคบุรี กลับขึ้นไปจำวัดอยู่ที่วัดพระฝาง แล้วก็ตั้งตนเป็นเจ้าทั้งที่อยู่ในสมณเพศ แต่ผู้คนก็พานับถือ เนื่องจากชาวบ้านนับถือว่าเป็นผู้วิเศษ

หลังจากสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงทราบข่าวเรื่องที่เจ้าพระฝางยกทัพชุมนุมพิษณุโลกได้ และถึงกับส่งกองทัพไปปล้นแย่งชิงข้าวปลาราษฎรลงมาถึงเมืองอุทัยธานี และชัยนาท พระองค์จึงทรงกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกทัพไปปราบในปี พ.ศ. ๒๓๑๓ โดยมีพระยายมราช(บุญมา) เป็นแม่ทัพหน้า กองทัพหน้าของพระยายมราชได้เข้าโจมตีเมืองพิษณุโลกด่านหน้าของเจ้าพระฝาง ซึ่งมีหลวงโกษา(ยัง) คุมกำลังมาตั้งรับอยู่ภายในคืนเดียว แล้วจากนั้นกองทัพหลวงก็ยกไปตีเมืองสวางคบุรี เจ้าพระฝางสู้รบได้ ๓ วัน เห็นศึกหน้าเหนือกำลังจึงพาพรรคพวกหลบหนีไปอยู่เมืองเชียงใหม่ ซึ่งในขณะนั้นพม่าปกครองอยู่ กองทัพหลวงจึงยึดเมืองสวางคบุรีได้ และยังได้ลูกช้างเผือกมาอีกด้วย [27]

ชุมนุมสุกี้พระนายกอง

มีอาณาเขตตั้งอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จพระราชดำเนินไปกู้กรุงจึงได้ตีชุมนุมนี้แตกและสำเร็จโทษสุกี้พระนายกอง-ผู้นำชุมนุม

ครั้นเมื่อเสด็จแล้วพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยายมราชเป็น เจ้าพระยาสุรสีห์พิณุวาธิราช ครองเมืองพิษณุโลก ดูแลราชการในหัวเมืองฝ่ายเเหนือทั้งหมด

[แก้] การฟื้นฟูบ้านเมืองทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติ

มัสยิดต้นสน เป็นศาสนสถานที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีศาสนกิจฝังศพ เจ้าพระยาจักรีศรีองค์รักษ์(หมุด) นายทหารคู่พระทัยและโปรดเกล้าฯให้ปฏิสังขรณ์และพระราชทานที่ดินขยายพื้นที่จากเดิมที่เจ้าพระยาราชวังสันเสนีย์ (ม๊ะหูด) บุตรเจ้าพระยารามเดโชชัยสร้างไว้ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
มัสยิดต้นสน เป็นศาสนสถานที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีศาสนกิจฝังศพ เจ้าพระยาจักรีศรีองค์รักษ์(หมุด) นายทหารคู่พระทัยและโปรดเกล้าฯให้ปฏิสังขรณ์และพระราชทานที่ดินขยายพื้นที่จากเดิมที่เจ้าพระยาราชวังสันเสนีย์ (ม๊ะหูด) บุตรเจ้าพระยารามเดโชชัยสร้างไว้ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

การที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงกู้เอกราชกรุงศรีอยุธยากลับคืนจากพม่าได้นั้นทำให้กิตติศัพท์เลื่องลือไปทั่ว พระเกียรติยศของพระองค์จึงแพร่ไปว่าเป็นผู้สามารถกู้แผ่นดินไทยให้พ้นจากอำนาจพม่าข้าศึกได้ ทำให้ไพร่บ้านพลเมืองที่ยังหลบลี้อยู่ตามที่ต่างๆ พากันมาอ่อนน้อมเข้าร่วมกับสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นกำลังในการบูรณะบ้านเมืองต่อไป

หลังจากกู้เอกราชแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีภารกิจสำคัญอีกหลายประการ คือการรวบรวมประเทศ การฟื้นฟูระเบียบการปกครอง ฟื้นฟูเศรษกิจและสังคม ซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินก็ทรงปราบปรามก๊กต่างๆ ได้สำเร็จภายในเวลา ๓ ปี ทำให้ไทยเป็นเอกภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกครั้ง รัชสมัยของพระองค์เต็มไปด้วยการสงครามขับไล่ข้าศึกออกไปจากอาณาเขต การป้องกันประเทศ ไม่มีโอกาสที่จะปรับปรุงรูปแบบการปกครองใหม่ เพียงแต่รื้อฟื้นรูปแบบการปกครองที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยากลับมาใช้อีก การบริหารประเทศจึงไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพียงแต่เน้นการสร้างความมั่นคงให้แก่พระราชอาณาจักร เช่น การออกพระราชกำหนดสักเลก พ.ศ. ๒๓๑๖ เพื่อสะดวกในการควบคุมกำลังคน การขยายอำนาจเข้าไปในดินแดนที่เคยเป็นประเทศราชของไทยในลาวและเขมรเพื่อทำให้ประเทศเข้มแข็งมั่นคง และการเตรียมการให้กรมขุนอินทรพิทักษ์ไปปกครองเขมรในฐานะเมืองประเทศราช [28] แต่ได้เกิดจลาจลในกรุงธนบุรีเสียก่อนจึงไม่สำเร็จ ส่วนหัวเมืองใหญ่ๆ ที่เป็นทางผ่านของทัพพม่าก็โปรดให้แม่ทัพนายกองที่มีความสามารถไปปกครอง เช่น พระยาสุรสีห์ไปครองเมืองพิษณุโลก เจ้าพระยาพิชัยราชาไปครองเมืองสวรรคโลก นอกจากนั้นทรงแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดการขาดแคลนอาหารเสื้อผ้าอย่างรุนแรงก่อนและหลังการเสียกรุงให้อุดมสมบูรณ์ดังเดิม ฟื้นฟูการพระศาสนา ฟื้นฟูศิลปะวรรณกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นรากฐานของวัฒนธรรมในสมัยต่อมา

ภารกิจหลักที่สำคัญที่สุดของสมเด็จพระเจ้าตากสิน คือ การรักษาชาติบ้านเมืองให้อยู่รอดปลอดภัย ด้วยไทยเพิ่งฟื้นจากความพินาศอย่างใหญ่หลวง กำลังผู้คนไม่มากนัก พม่าส่งทัพมาโจมตีไทยอยู่เสมอ แต่ก็ถูกไทยตีแตกพ่ายไปทุกครั้ง แม่ทัพคู่พระทัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินที่สำคัญ คือ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ที่สมุหนายก(ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (ต่อมาเป็นสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท วังหน้าสมัยรัชกาลที่ ๑) เจ้าเมืองพิษณุโลก กล่าวได้ว่ารัชสมัยของพระองค์ต้องทำสงครามขับไล่ข้าศึกเกือบทุกปี สงครามที่สำคัญ คือ ศึกบางแก้วราชบุรี พ.ศ. ๒๓๑๗ ที่ไทยสามารถล้อมพม่าจนอดอยากยอมแพ้แก่ไทยเป็นสงครามที่พระองค์ต้องการแสดงให้คนไทยเห็นว่าพม่าสู้ไทยไม่ได้ ไทยไม่เกรงกลัวพม่าต่อไปอีกแล้ว สงครามใหญ่อีกครั้งหนึ่งคือ ศึกอะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ พ.ศ. ๒๓๑๘ เป็นศึกใหญ่ที่พม่าเข้าตีหัวเมืองเหนือตัดกำลังไทยโดยส่งไทยเข้าตีเชียงใหม่ทัพหนึ่ง ทัพใหญ่ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา แต่พม่าก็ตีเชียงใหม่ไม่ได้ อะแซหวุ่นกี้ตีได้เมืองพิษณุโลกแต่ถูกกองทัพไทยตลบหลัง พอดีเปลี่ยนรัชกาลในพม่า กองทัพจึงถูกเรียกกลับ ไทยยกติดตามโจมตีข้าศึกเสียหายยับเยิน

นอกจากขับไล่พม่าออกไปจากอาณาจักรได้แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินยังได้ขยายอำนาจเข้าไปในลาว ได้หัวเมืองลาวเข้ามาอยู่ในอำนาจอาจกล่าวได้ว่าสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นสมัยแห่งการกู้เอกราชของชาติ รวบรวมประเทศให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง ขับไล่ข้าศึกออกไปจากอาณาเขตไทยและขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง สมัยของพระองค์ ไทยจึงยิ่งใหญ่เท่าเทียมเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยามีความรุ่งเรือง[29]

[แก้] ด้านการปกครอง

หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาแตก กฎหมายบ้านเมืองกระจัดกระจายสูญหายไปมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการสืบเสาะ ค้นหามารวบรวมไว้ได้ประมาณ ๑ ใน ๑๐ และะโปรดฯให้ชำระกฎหมายเหล่านั้น ฉบับใดยังเหมาะแก่กาลสมัยก็โปรดฯ ให้คงไว้ ฉบับใดไม่เหมาะก็โปรดให้แก้ไขเพิ่มเติมก็มี ยกเลิกไปก็มี ตราขึ้นใหม่ก็มี และเป็นการแก้ไขเพื่อราษฎรได้รับผลประโยชน์มากขึ้น เช่น โปรดฯ ให้แก้ไขกฎหมายว่าด้วยการพนันให้อำนาจการตัดสินลงโทษขึ้นแก่ศาลแทนนายตราสิทธิ์ขาด และยังห้ามนายตรานายบ่อนออกเงินทดรองให้ผู้เล่น เกาะกุมผูกมัดจำจองเร่งรัดผู้เล่น กฎหมายพิกัดภาษีอากรก็เกือบไม่มี เพราะผลประโยชน์แผ่นดินได้จากการค้าสำเภามากพอแล้ว กฎหมายว่าด้วยการจุกช่องล้อมวงก็ยังไม่ตราขึ้น เปิดโอกาสให้ราษฎรได้เฝ้าแหนตามรายทาง โดยไม่มีพนักงานตำรวจแม่นปืนคอยยิงราษฎร ซึ่งแม้แต่ชาวต่างประเทศก็ยังชื่นชมในพระราชอัธยาศัยนี้ เช่น มองเซนเยอร์ เลอบอง ได้บรรยายไว้ในจดหมายถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศว่า

บรรดาคนทั้งหลายเรียกพระเจ้าตากว่าพระเจ้าแผ่นดิน แต่พระเจ้าตากเองว่าเป็นแต่เพียงผู้รักษากรุงเท่านั้น พระเจ้าตากหาได้ทรงประพฤติเหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดินก่อนๆไม่ และในธรรมเนียมของพระเจ้าแผ่นดินฝ่ายทิศตะวันออกที่ไม่เสด็จออกให้ราษฎรเห็นพระองค์ด้วยกลัวจะเสื่อมเสียพระเกียรติยศนั้น พระเจ้าตากไม่ทรงเห็นชอบด้วยเลย พระเจ้าตากทรงพระปรีชาสามารถยิ่งกว่าคนธรรมดา เพราะฉะนั้นจึงไม่ทรงเกรงว่าถ้าเสด็จออกให้ราษฎรพลเมืองเห็นพระองค์ และถ้าจะทรงมีรับสั่งด้วยแล้วจะทำให้เสียพระราชอำนาจลงแต่อย่างใด เพราะพระองค์มีพระราชประสงค์ทอดพระเนตรการทั้งปวงด้วยพระเนตรของพระองค์เอง และจะทรงฟังการทั้งหลายด้วยพระกรรณของพระองค์เองทั้งสิ้น

[30]

เนื่องจากตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นช่วงเวลาที่มีการทำศึกสงครามเกือบ ตลอดเวลา จึงทำให้ไม่มีเวลาที่จะชำระพระราชกำหนดกฎหมายต่างๆ ทำให้ต้องใช้กฎหมายที่มีมาตั้งแต่ ครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยให้กรมวัง หรือกระทรวงวังเป็นผู้รับผิดชอบในการพิจารณาว่าคดีใดควรขึ้นศาลใด แล้วส่งคดีไปยังศาลกรมนั้นๆ โดยได้แบ่งงานศาลออกเป็น ๒ ส่วนใหญ่ ๆ คือ

  • ฝ่ายรับฟ้อง

มีหน้าที่ในการเขียนคำฟ้องและพิจารณารูปคดีว่าควรจะฟ้องหรือไม่ ก่อนจะส่งขึ้นศาลเพื่อพิจารณา เรื่องปรับไหมและลงโทษผู้กระทำผิด

  • ฝ่ายตรวจสำนวนและพิพากษา

ฝ่ายนี้เดิมเป็นหน้าที่ของพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายแขนงต่างๆ จำนวน ๑๒ คน โดยเรียกว่า "ลูกขุน ณ ศาลหลวง" ต่อมาได้มีคนไทยที่เชี่ยวชาญกฎหมายเข้ามาทำหน้าที่นี้ด้วย คณะลูกขุน ณ ศาลหลวงนี้จะไม่มีอำนาจในการปรับหรือลงโทษแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ในรัชกาลของพระเจ้าตากสิน พระองค์จะทรงใช้ ศาลทหาร เป็นส่วนใหญ่โดยใน การตัดสินคดีทุกครั้ง แม้พระองค์จะตัดสินให้ลงโทษสูงสุดแล้ว แต่ก็จะมีรับสั่งให้ทยอยการลงโทษจาก ขั้นต่ำสุดก่อน ซึ่งหลายครั้งจะปรากฏว่านักโทษที่มีความผิดร้ายแรงก็มักจะได้รับการพระราชทานอภัยโทษ หนักโดยให้ไปกระทำการอย่างอื่นเป็นการไถ่โทษแทน

[แก้] ด้านการต่างประเทศ

ดูบทความหลักที่ ความสัมพันธ์กับต่างชาติสมัยกรุงธนบุรี

[แก้] ด้านเศรษฐกิจ

สภาพบ้านเมืองหลังจากเสียกรุง ทำให้สภาพเศรษฐกิจตกต่ำอย่างมาก มีประมาณครึ่งราชอาณาเขตครั้งกรุงศรอยุธยาเป็นราชธานี มีมณฑลกรุงเทพฯ มณฑลอยุธยา มณฑลราชบุรี มณฑลนครชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ มณฑลปราจีน และมณฑลจันทบุรี ครั้งนั้นมีมณฑลจันทบุรีเพียงมณฑลเดียวที่นับว่าปกติ ส่วนมณฑลที่เหลือถูกพม่าย่ำยียับเยิน เป็นเมืองร้าง ขาดการทำไร่นาถึง ๒ ปี ผู้คนที่เหลือจากการถูกพม่ากวาดต้อนไปต่างพากันอพยพหลบหนีแตกกระจัดพลัดพราก เที่ยวซุ่มซ่อนอยู่ตามป่าดงโดยมาก ต้องทรงเกลี้ยกล่อมผู้คนให้กลับมาอยู่ถิ่นเดิม เมื่อผู้คนมาอยู่รวมกันมากเข้า ไม่ช้าก็เกิดการอัตคัต เสบียงอาหารไม่เพียงพอ ทรงสามารถแก้ไขความขัดข้องได้โดยปัจจุบันทันด่วน จึงทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อข้าวสารและเครื่องนุ่งห่มในราคาสูง เพื่อแจกจ่ายให้แก่ประชาชน ทั้งนี้ทำให้เกิดผลดีปย่างยิ่ง ๒ ประการคือ

  • ประการที่ ๑ ชาวต่างเมืองทราบข่าว พากันบรรทุกข้าวของมาขายด้วยหวังกำไรงาม เมื่อมีของมาขายมาก ราคาก็ถูกลง
  • ประการที่ ๒ เมื่อประชาชนทราบกิตติศัพท์ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีพระเมตตาต่อประชาราษฎร์ก็พากันมาสวามิภักดิ์ ทำให้มีพลเมืองเพิ่มขึ้น

สมัยกรุงธนบุรี เป็นสมัยที่ต้องสร้างชาติบ้านเมืองกันใหม่ พระองค์ทรงทำนุบำรุงการค้าขายทางเรืออย่างเต็มที่ ทรงค้าขายกับจีน เป็นประจำ ทรงแต่งสำเภาหลวงออกไปขายหลายสาย ทางตะวันออกถึงเมืองจีน ทางตะวันตกถึงอินเดีย ผลกำไรที่ได้จากการค้าสำเภามีมากพอที่จะช่วยบรรเทาการเก็บภาษีอากรจากราษฎรในระยะแรกซึ่งราษฎรยังตั้งตัวไม่ได้ สภาพเศรษฐกิจดีขึ้นกว่าตอนต้นรัชกาล โดยมีรายได้จากภาษีขาเข้าและภาษีขาออกจากเรือสินค้าต่างชาติ ได้แก่ จีนและชวาที่เข้ามาค้าขายกับไทย

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงส่งเสริมการนำสินค้าพื้นเมืองไปขายทางเรือ ซึ่งอำนวยผลประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่องานสร้างชาติ ทำให้ราษฎรมีงานทำ มีรายได้ ทั้งทรงมีพระราชประสงค์ที่จะฝึกให้คนไทยเชียวชาญการค้าขาย ป้องกันมิให้การค้าตากอยู่ในมือชนต่างชาติ และรักษาประโยชน์ของสินค้าพื้นเมืองมิให้ถูกทอดทิ้ง พระองค์ทรงพยายามผูกไมตรีกบจีนเพื่อประโยชนทั้งในด้านความมั่นคงของชาติและประโยชน์ในด้านการค้า [31] [32] [33]

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขเศรษฐกิจและสภาพบ้านเมือง ยังมีปัญหาอยู่บ้าง ดังที่บาดหลวงชาวฝรั่งเศสชื่อ มอรซิเยอร์ เลอบอง ซึ่งเข้ามาในเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๘ จดบันทึกไว้ในช่วง พ.ศ. ๒๓๑๘ ดังนี้

“จนถึงเวลาเดี๋ยวนี้ อาหารการกินในเมืองนี้ยังแพงมาก เพราะบ้านเมืองไม่เป็นอันทำมาหากินมาเป็นเวลา ๑๕ ปีแล้ว และในเวลานี้ยังหาสงบทีเดียวไม่”[34]

สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงกังวลพระทัยในเรื่องนี้เคยมีพระราชดำรัสว่า

บุคคลผู้ใดเป็นอาทิคือเทวดา บุคคลผู้มีฤทธิ์มาประสิทธิ์มากระทำให้ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ขึ้น ให้สัตว์โลกเป็นสุขได้

แม้นผู้นั้นจะปรารถนาพระพาหาแห่งเราข้างหนึ่ง ก็อาจตัดบริจาคแก่ผู้นั้นได้

[35]

[แก้] ด้านคมนาคม

ในยุคนี้ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราขทรงยกเลิกความคิดแนวเก่าที่ว่าหากถนนหนทาง ทางคมนาคมดีมากแล้วจะเป็นการอำนวยประโยชน์ให้ข้าศึกศัตรูและพวกก่อการจลาจล แต่กลับทรงเห็นเป็นประโยชน์ในทางค้าขายมากกว่า ดังนั้น ในฤดูหนาวหากว่างจากศึกสงคราม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตัดถนนและขุดคลอง จะเห็นได้จากแนวถนนเก่าๆ ในเขตธนบุรีซึ่งมีอยู่หลายสาย ส่วนการขุดชำระคลองมักมีวัตถุประสงค์เบื้องต้นเพื่อประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ เช่น คลองท่าขาม จากนครศรีธรรมราชไปออกทะเล เป็นต้น

[แก้] ด้านการศึกษา

สมัยนั้นวัดยังเป็นแหล่งที่ให้การศึกษา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บำรุงการศึกษาวัดตามต่างๆ นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งหอหนังสือหลวงขึ้น เช่นเดียวกับสมัยอยุธยา ซึ่งคงจะเทียบได้กับหอพระสมุดในระยะหลัง ส่วนตำราที่กระจัดกระจายในเมื่อคราวกรุงศรีอยุธยาแตกก็โปรดเกล้าฯ ให้รีบเสาะหามาจำลองไว้เป็นแบบฉบับ สำหรับผู้สนใจอาศัยลอกกันต่อไป และที่แต่งใหม่ก็มี

[แก้] ด้านศาสนา

ถึงแม้ว่าในรัชสมัยของพระองค์ บ้านเมืองจะตกอยู่ในภาวะสงครามเกือบตลอดเวลา แต่พระองค์กลับมิได้ทรงละเลยงานด้านศาสนจักร ได้ทรงมุ่งมั่นทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง เหมือนเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา พระราชกรณียกิจด้านฟื้นฟูพระพุทธศาสนามีดังนี้

  • การจัดระเบียบสังฆมณฑล

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบสังฆมณฑลทันทีภายหลังการสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ครั้งที่ยกทัพไป ปราบชุมนุมเจ้าพระฝางเมื่อทรงเห็นว่าพระสงฆ์ทางฝ่ายหัวเมืองเหนือมัวหมอง ก็ได้อาราธนาพระราชาคณะ จากในกรุงไปสั่งสอน ทำให้พระสงฆ์กลับบริสุทธิ์และเป็นปกติสุขขึ้น

  • การรวบรวมพระไตรปิฎก

สมเด็จพระเจ้าตากสิน ยังได้ทรงมุ่งมั่นในการสืบเสาะค้นหาต้นฉบับพระไตรปิฎกที่ยังเหลืออยู่หลังจาก เสียกรุง เพื่อนำมาคัดลอกจำลองไว้สำหรับการสร้างพระไตรปิฎกฉบับหลวงต่อไป ซึ่งจะเห็นได้จาก เมื่อคราวที่เสด็จไปปราบชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราชในปีพุทธศักราช ๒๓๑๒ ได้มีรับสั่งให้ขอยืมคัมภีร์ พระไตรปิฎกจากนครศรีธรรมราชบรรทุกเรือเข้ามาคัดลอกในกรุงธนบุรี และในปีถัดมาในคราวที่เสด็จ ไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝางที่เมืองอุตรดิตถ์ ได้โปรดเกล้าฯ ให้นำพระไตรปิฎกลงมาเพื่อใช้สอบทานกับ ต้นฉบับที่ได้จากเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งนับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการสังคายนาพระไตรปิฎก ในสมัยต่อมา

  • การสมโภชพระแก้วมรกต
หน้านี้เป็นหน้ารวมบทความในหมวดหมู่ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมดูได้ที่ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร

ภายหลังจากที่รบชนะเมืองเวียงจันทน์ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระแก้วมรกต และพระบางกลับมายังกรุงธนบุรีด้วย โดยให้จัดขบวนเรือพยุหยาตรามโหฬารถึง ๒๔๖ ลำ และเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปรับด้วยพระองค์เอง แล้วให้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานไว้ ณ พระอุโบสถ วัดอรุณราชวราราม ต่อมารัชกาลที่ ๑ ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานไว้ ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งอยู่ในเขตพระบรมมหาราชวัง

  • การบูรณะปฏิสังขรณ์วัด

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ เป็นจำนวนมาก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง เช่น วัดอินทารามวรวิหาร, วัดหงส์รัตนาราม และวัดอรุณราชวราราม

  • พระราชกำหนดว่าด้วยศีลสิกขา

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎหมายว่าด้วยวัตรปฏิบัติในทางธรรมวินัยของพระสงฆ์ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๑๖ โดยถือเป็นต้นฉบับ กฎหมายพระสงฆ์ฉบับแรกของไทย และทรงนำแนวคิดทางพระพุทธศาสนา มาใช้เป็นหลักในการจัดระเบียบสังคมในสมัยนั้นด้วย

และหลังจากกอบกู้แผ่นดินได้แล้ว พระองค์ได้ทรงอัญเชิญพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าเอกทัศมาจัดถวายพระเพลิงอย่างสมพระเกียรติและยังทรงรับอุปการะบรรดา เจ้าฟ้า พระองค์ฟ้า พระราชโอรส ตลอดทั้งพระเจ้าหลานเธอของพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาทุกพระองค์ ด้วยความกตัญญู

[แก้] ด้านศิลปกรรม

  • นาฏดุริยางค์

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างบรรยากาศให้รื่นเริงครึกครื้นเหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยา พระราชทานโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเปิดการฝึกสอนและออกโรงเล่นได้อิสระ เครื่องแต่งกายไม่ว่าจะเป็น เครื่องต้น เครื่องทรง ก็แต่งกันได้ตามลักษณะเรื่อง

  • ศิลปการช่าง

ภาพเขียนที่งดงามประณีตในสมัยธนบุรีที่สำคัญยิ่ง คือ "สมุดภาพไตรภูมิ" เป็นภาพเขียนที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๓๑๙ ซึ่งนับได้ว่าเป็นสมุดภาพไตรภูมิขนาดใหญ่เล่มหนึ่งของเมืองไทย เมื่อคลี่ ออกจะมีความยาวถึง ๓๔.๗๒ เมตร เขียนด้วยสีลงในสมุดทั้ง ๒ ด้าน โดยฝีมือช่างเขียน ๔ คน ปัจจุบันได้เก็บ รักษาไว้ ณ หอสมุดแห่งชาติท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ

  • งานฝีมือช่าง

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเล็งเห็นว่า ช่างไทยสมัยธนบุรีมีเหลืออยู่น้อยมากจึงโปรดเกล้าฯ ให้ รวบรวมและฟื้นฟูการช่างทุกแขนงขึ้นใหม่ เช่น ช่างต่อเรือ ช่างก่อสร้าง ช่างรัก ช่างประดับ และช่างเขียน แต่เนื่องจากมีเวลาจำกัด บ้านเมืองอยู่ในระหว่างสงคราม สิ่งของที่เป็นฝีมือช่างชั้นดีประณีตงดงามจริง ๆ ในสมัยธนบุรีจึงหาได้ยาก ที่มีให้เห็นอยู่บ้าง ได้แก่

  • พระแท่นบรรทม ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประดิษฐาน อยู่ที่วัดอินทาราม ฝั่งธนบุรี
  • พระแท่นสำหรับทรงเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารเล็กหน้า
  • พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ฝั่งธนบุรี
  • ตู้ลายรดน้ำ ที่มีศักราชแจ้งชัดว่าสร้างในสมัยกรุงธนบุรี อยู่ในหอสมุดวชิรญาณ ภายในหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ
  • ท้องพระโรงพระราชวังเดิม ซึ่งเคยเป็นที่ประทับและเสด็จออกว่าราชการ ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของกองทัพเรือ [36]

[แก้] พระราชโอรส พระราชธิดา

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงมีพระราชโอรส ๒๑ พระองค์ พระราชธิดา ๙ พระองค์ [37]

  • สมเด็จพระมหาอุปราช เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ (จุ้ย) ประสูติในสมเด็จพระอัครมเหสี กรมหลวงบาทบริจา ถูกสำเร็จโทษในรัชกาลที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นต้นราชสกุล "สินศุข" และ "อินทรโยธิน"
  • สมเด็จเจ้าฟ้าชายน้อย ประสูติในสมเด็จพระอัครมเหสี กรมหลวงบาทบริจา ถูกสำเร็จโทษในรัชกาลที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕
  • พระองค์เจ้าชายอัมพวัน ประสูติในเจ้าจอมมารดาทิม บุตรของท้าวทรงกันดารมอญ
  • สมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศพงศ์ ประสูติในกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ (เจ้าหญิงฉิม) ธิดาของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช (หนู) เป็นต้นราชสกุล "พงษ์สิน"
  • สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงโกมล (ไม่ทราบนามพระมารดา)
  • สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงบุปผา (ไม่ทราบนามพระมารดา)
  • สมเด็จเจ้าฟ้าชายสิงหรา (ไม่ทราบนามพระมารดา)
  • สมเด็จเจ้าฟ้าชายศิลา (ไม่ทราบนามพระมารดา) เป็นต้นราชสกุล "ศิลานนท์"
  • พระองค์เจ้าชายอรนิกา ประสูติในเจ้าจอมมารดาอำพัน ธิดาพระยาอินท์อัคราช ต้นสกุล "จันทโรจวงศ์" ถูกสำเร็จโทษในรัชกาลที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒
  • พระองค์เจ้าหญิงสุมาลี (ไม่ทราบนามพระมารดา)
  • พระองค์เจ้าชายธำรง (ไม่ทราบนามพระมารดา)
  • พระองค์เจ้าชายละมั่ง (ไม่ทราบนามพระมารดา)
  • สมเด็จเจ้าฟ้าชายเล็ก (ไม่ทราบนามพระมารดา)
  • สมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศไภย ประสูติในกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ ถูกสำเร็จโทษในรัชกาลที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๘ ฐานเป็นชู้กับเจ้าจอมในวัง พระธิดาคือ เจ้าจอมมารดาน้อยในรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นราชสกุล นพวงศ์ และ สุประดิษฐ์
  • พระองค์เจ้าหญิงจามจุรี (ไม่ทราบนามพระมารดา)
  • พระองค์เจ้าหญิงสังวาลย์ (ไม่ทราบนามพระมารดา)
  • พระองค์เจ้าหญิงสำลีวรรณ ประสูติในเจ้าจอมมารดาอำพัน เป็นพระชายาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ ถูกสำเร็จโทษในรัชกาลที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒ ด้วยข้อหากบฏ เป็นต้นราชสกุล อิศรเสนา
  • สมเด็จเจ้าฟ้าชายนเรนทรราชกุมาร ประสูติในกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ เป็นต้นราชสกุล "รุ่งไพโรจน์"
  • พระองค์เจ้าชายคันธวงศ์ (ไม่ทราบนามพระมารดา)
  • พระองค์เจ้าชายเมฆินทร์ (ไม่ทราบนามพระมารดา)
  • พระองค์เจ้าชายอิสินธร (ไม่ทราบนามพระมารดา)
  • พระองค์เจ้าหญิงประไพพักตร์ ประสูติในเจ้าจอมมารดาเงิน
  • สมเด็จเจ้าฟ้าชายสุพันธุวงศ์ ประสูติในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฉิมใหญ่ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้รับการสถาปนาในรัชกาลที่ ๑ เป็น สมเด็จเจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ กรมขุนกระษัตรานุชิต ถูกสำเร็จโทษในรัชกาลที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒ ด้วยข้อหากบฏ
  • พระองค์เจ้าชายบัว (ไม่ทราบนามพระมารดา)
  • สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงปัญจปาปี ประสูติในกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ เป็นพระชายาของพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้าเกศ กรมขุนอิศรานุรักษ์ ต้นราชสกุล อิศรางกูร
  • เจ้าพระยานครน้อย ประสูติในเจ้าจอมมารดา เจ้าหญิงปราง ธิดาของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช (หนู) (ขนิษฐาของ กรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์) เป็นต้นราชสกุล "โกมารกุล ณ นคร" "ณ นคร" และ "จาตุรงคกุล"
  • พระองค์เจ้าชาย (ไม่ปรากฏพระนาม ไม่ทราบนามพระมารดา)
  • พระองค์เจ้าชายหนูแดง (ไม่ทราบนามพระมารดา)
  • พระองค์เจ้าหญิงสุดชาตรี (ไม่ทราบนามพระมารดา)
  • เจ้าพระยานครราชสีมาทองอินทร์ ประสูติในเจ้าจอมมารดา เจ้าหญิงยวน ธิดาของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช (หนู) (ขนิษฐาของ กรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์)ต้นราชสกุล อินทรกำแหง มหาณรงค์ คชวงศ์ อินทโสฬส ชูกฤส เนียมสุริยะ เชิญธงไชย อินทนุชิต ศิริพร นิลนานนท์

[แก้] พระราชนิพนธ์

เรื่องที่พระองค์ได้นิพนธ์ไว้นั้นก็คือ บทละครเรื่องรามเกียรติ์ วันที่ทรงพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ฉบับนี้คือ วันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีฉลู จุลศักราช ๑๑๓๒ ตรงกับปี พ.ศ. ๒๓๑๓ เป็นปีที่ ๓ แห่งรัชกาลของพระองค์ พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ ๔ เล่มสมุดไทย คือ เล่ม ๑ ตอนพระมงกุฎ เล่ม ๒ ตอนหนุมานเกี้ยววารินจนท้าวมาลีวราชมา เล่ม ๓ ตอนท้าวมาลีวราชพิพากษา เล่ม ๔ ตอนทศกรรฐ์ตั้งพิธีทรายกรด พระลักษณ์ต้องหอกกบิลพัสตร์ จนผูกผมทศกรรฐ์กับนางมณโฑ [38]

ในรัชสมัยของพระองค์มีกวีที่สมควรได้รับการยกย่อง ๒ ท่าน คือ

๑. นายสวน มหาดเล็ก ซึ่งแต่งโคลงสี่สุภาพ แต่งขึ้นเพื่อยกพระเกียรติและสรรเสริญ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี 85 บท เป็นสำนวนที่เรียบง่าย แต่ทรงคุณค่าด้วยเป็นหลักฐานที่คนรุ่นต่อมาได้ทราบถึงสภาพบ้านเมืองและความเป็นไปในยุคนั้น

๒. หลวงสรวิชิต (หน) ซึ่งต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาพระคลัง (หน) งานประพันธ์ของท่านเป็นที่รู้จักและแพร่หลาย จนถึงปัจจุบัน เช่น สามก๊ก เป็นต้น

[แก้] ปลายรัชสมัย

ในตอนปลายรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เกิดกบฎขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา พวกกบฎได้ปล้นจนพระยาอินทรอภัย ผู้รักษากรุงเก่าจนต้องหลบหนีมายังกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีรับสั่งให้พระยาสรรค์ขึ้นไปสืบสวนเอาตัวคนผิดมาลงโทษ แต่พระยาสรรค์กลับไปเข้ากับพวกกบฎ และยกพวกมาปล้นพระราชวังที่กรุงธนบุรีในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๓๒๔ บังคับให้สมเด็จพระเจ้าตากสินออกผนวช และคุมพระองค์ไว้ที่พระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม แล้วพระยาสรรค์ได้ตั้งตนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน[39]

เหตุการณ์ภายหลังจากนั้นไม่แน่ชัดโดยมีความเชื่อหลายกระแส อาทิ

สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) และ เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ซึ่งไปราชการทัพเมืองกัมพูชา และยกกำลังเข้าตีเมืองเสียมราฐ เมื่อทราบข่าวการจลาจลในกรุงธนบุรี จึงรีบยกทัพกลับ ขณะนั้นเป็นเดือน เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกมาถึงในวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ ก็ได้สืบสวนเรื่องราวความวุ่นวายที่เกิดขึ้น และจับกุมผู้ก่อการกบฎมาลงโทษ รวมทั้งให้ข้าราชการปรึกษาพิจารณาความที่มีผู้ฟ้องร้อง กล่าวโทษว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเป็นต้นเหตุ เนื่องจากพระองค์ทรงเสียพระสติ [40] เพื่อมิให้เกิดปัญหายุ่งยากอีก สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงถูกสำเร็จโทษและเสด็จสวรรคต ในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ พระชนมายุได้ ๔๘ พรรษา พระองค์ประสูติ และสวรรคต ในเดือนเดียวกัน และบางฉบับก็บอกว่าในวันเดียวกัน ซึ่งยังไม่มีใครทราบเป็นที่แน่ชัด

ในขณะที่นักประวัติศาสตร์บางส่วนเชื่อว่า สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และ เจ้าพระยาพระยาสุรสีห์ ได้ฉวยโอกาสดังกล่าวเข้ายึดครองแผ่นดินและตั้งตนเป็นกษัตริย์เสียเอง เนื่องจากพระเจ้าตากนั้นเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนเป็นอย่างมาก จึงหาเหตุว่าพระเจ้าตากเสียสติและดำเนินการสำเร็จโทษ[41]

นักประวัติศาสตร์บางส่วนเชื่อว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไม่ได้ถูกสำเร็จโทษ แต่ทรงจงใจสละราชบัลลังก์เพื่อจะได้มิต้องชำระเงินกู้จากประเทศจีน เมื่อทรงได้รับการปล่อยตัวอย่างลับ ๆ แล้วจึงเสด็จลงเรือสำเภาไปประทับที่เขาขุนพนม จังหวัดนครศรีธรรมราช[42] เสด็จสวรรคตที่นั่นในปี พ.ศ. ๒๓๖๘[43][44]

[แก้] ถวายสร้อยพระนามมหาราช และการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์

ศาลพระเจ้าตากสิน จังหวัดตาก
ศาลพระเจ้าตากสิน จังหวัดตาก

ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ตามที่กล่าวมาแล้ว ประชาชนทุกหมู่เหล่าจึงพร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” แด่ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งเหล่าพสกนิกรชาวไทย ได้พร้อมใจกันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ประดิษฐาน ณ วงเวียนใหญ่ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ซึ่งศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี คณบดีประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้ออกแบบ ทางราชการได้ประกอบพระราชพิธีเปิดและถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๗ และในวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ จึงมีรัฐพิธีเปิดเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทรงวางพวงมาลา ถวายราชสักการะ ต่อมาทางราชการจึงกำหนดให้วันที่ ๒๘ ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเสวยราชย์ปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ไทย เป็นวันถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช[45] [46]

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ทุ่งนาเชย อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ทุ่งนาเชย อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดเวฬุราชิน ฝั่งธนบุรี
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดเวฬุราชิน ฝั่งธนบุรี

ชาวเมืองจันท์นั้นภาคภูมิใจอย่างยิ่งต่อเกียรติประวัติของจังหวัดจันทบุรี รวมทั้งวีรกรรมของบรรพบุรุษที่ได้ยอมเสียสละเลือดเนื้อและชีวิต เข้าร่วมในกองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกู้อิสรภาพได้สำเร็จ จึงพร้อมใจกันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ บริเวณทุ่งนาเชย กลางอำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรีในปัจจุบัน พิธีเปิดวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ นั้น ตรงกับวันปราบดาภิเษก วันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๑๑ โดยทางกรมศิลปากรนำศิลาจารึกพระนาม “สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี” มาประทับที่พระบรมราชานุสาวรีย์ แต่ถูกชาวจันทบุรีร่วมกันคัดค้าน ขอให้เปลี่ยนเป็นจารึกพระราชสมัญญนามเสียใหม่ว่า “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” โดยทำหนังสือถึงสำนึกเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นต้นมา

[แก้] พระปรมาภิไธย

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระนามเรียกที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • พระราชพงศาวดาร ฉบับราชหัตถเลขา เรียกว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔
  • พระราชพงศาวดาร กรุงศรีสัตนาคนหุต เรียกว่า สมเด็จพระเอกาทศรถ
  • พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม) เรียกว่า พระบรมหน่อพุทธางกูรเจ้า
  • พระนามที่เรียกกันตามหนังสือประวัติศาสตร์ทั่วไป เรียกว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
  • เมื่อพระองค์ทรงขึ้นครองราช ทรงใช้พระนามว่า สมเด็จพระศรีสรรเพชญ์
  • ตอนปลายรัชกาล พระรัตนมุนี ได้ถวายพระนามใหม่ว่า สมเด็จพระสยามยอดโยคาวจร
  • จดหมายเหตุกรุงธนบุรีในสมุดไทยดำ ชื่อพระราชสาสน์และศุภักษรโต้ตอบกรุงธนบุรีและกรุงศรีสัตนาคนหุตจุลศักราช ๑๑๔๐ ใช้ พระศรีสรรเพชญ์สมเด็จพระบรมธรรมิกราชาธิราชพระเจ้ารามาธิบดี บรมจักรพรรดิบรมราชาธิบดินทรหริหรินทราดาธิบดี สวิบุลยคุณรุจิตร ฤทธิเมศวรบรมธรรมิกราชเดโชไชย พรหมเทพาดิเทพตรีภูวนาธิเบศโลกะเชษวิสุทธมกุฏปรเทศตามหาพุทธังกูรบรมนารถบรมบพิตร หรือ พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบรมบพิตร และ พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรุทอิศวรบรมนาถบรมบพิตร
  • สามัญที่สุดคือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
  • หมายกำหนดราชการออกพระนามว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

[แก้] ความสัมพันธ์เชื้อสายจีน

เนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงมีเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว จึงได้รับความเคารพบูชาอย่างยิ่งโดยเฉพาะจากคนไทยเชื้อสายจีน มีการเรียกพระนามตามภาษาจีนแต้จิ๋วว่า แต่อ่วงกง หมายถึง กษัตริย์ชาวแต้จิ๋วที่ได้รับการเคารพบูชา

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชนามข้อมูลแก่ “หมอสมิธ” ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีชื่อเรียกขานกันในหมู่ชาวจีนว่า เตีย ซิน ตัด หรือ เตีย ซิน ตวด ซึ่ง “เตีย” คือ แซ่แต้ “ซิน” คือ สิน “ตัด” คือเมืองตาก และยังมีชื่อที่ปรากฏว่า เจิ้งกว๋ออิง แปลว่า เจิ้งวีรบุรุษของประเทศตามหลักฐานจีน พระราชบิดาชื่อ เจิ้ง

หยง สำเนียง แต้จิ๋วว่า “แต้” หรือชื่อ แต้หยง หรือนายหยง แซ่แต้ จากอำเภอไฮ้ฮง หรือจีนกลางว่า ไห่เฟิง เป็นอำเภอที่อยู่ล่างสุดและเล็กที่สุดของซัวเถาอาชีพหลักคือค้าขาย เจิ้งหยงแต่งงานกับหญิงไทย ชื่อนกเอี้ยง (ระบุนามในหนังสือเดิมที่เขียนในเมืองจีนว่า ลั่วยั้ง หรือ นางนกยาง) ก่อนเสด็จรับราชการเคยทรงประกอบอาชีพค้าขายต่อจากพระราชบิดา และยังมีหลักฐานที่ส่อว่าเคยทรงเป็นพ่อค้าเกวียน ทรงรับสั่งได้คล่องแคล่ว ทั้งจีนแต้จิ๋ว จีนกวางตุ้ง และจีนฮกเกี้ยน

สรุปโดยรวมความแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงพระราชสมภพในฐานะสามัญชนลูกชาวจีน มีอาชีพค้าขายทางเกวียน แม้จะมีถิ่นฐานและญาติพี่น้องในภาคกลางที่อยุธยาและลพบุรีแต่ก็ได้ทำการค้าขายในหัวเมืองชายแดน เมื่อสบโอกาสได้รับราชการในหัวเมืองไกลคือตากระแหง และที่รับแต่ตั้งเป็นเจ้าเมืองตาก ทรงสมรสกับสามัญชนด้วยกัน สงครามครั้งเสียกรุง ได้กวาดต้อนไพร่พลหลบพม่าลงมาเป็นกำลังแก่กรุงศรีอยุธยา ได้ความดีความชอบระหว่างพม่าล้อมกรุง ก็ได้ทำการต่อสู้จนปรากฏชื่อว่าเป็นแม่ทัพที่เข้มแข็ง ก่อนเสียกรุงแก่พม่า ก็ได้นำกำลังไพร่พลไทย-จีน พากันตีแหกกองทัพพม่าไปยังหัวเมืองชายฝั่งตะวันออก และเริ่มประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศ

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] อ้างอิงและเชิงอรรถ

  1. ^ ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๘ (จดหมายเหตุโหร), พระนคร, ก้าวหน้า, ๒๕๐๗. หน้า๙๕
  2. ^ วัดอินทารามเป็นวัดหลวงสำคัญอันดับหนึ่ง ในแผ่นดินกรุงธนบุรี จัดว่าเป็นวัดประจำรัชกาล ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งได้ทรงบูรณะเป็นพระอารามหลวงชั้นหนึ่ง ทรงสร้างหมู่กุฏิและถวายที่ดิน ให้เป็นธรณีสงฆ์เป็นจำนวนมาก แล้วโปรดให้นิมนต์พระเถระ ฝ่ายวิปัสสนามาจำพรรษา เพราะมีพระราชประสงค์ จะให้เป็นศูนย์กลางฝึกสมาธิทางวิปัสสนากรรมฐานของประเทศ และใช้ประกอบงานพระราชพิธีสำคัญๆ ต่างๆ มีพระเจดีย์กู้ชาติคู่หนึ่ง ตั้งอยู่หน้าพระอุโบสถหลังเก่า ภายในเชื่อกันว่าบรรจุพระบรมอัฐิ ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและพระอัครมเหสี ส่วนพระอุโบสถหลังเก่า มีพระพุทธรูปปางตรัสรู้เป็นพระประธานของพระอุโบสถ บรรจุพระบรมราชสรีรังคาร หรือ เถ้ากระดูกของพระองค์
  3. ^ Bertil Lintner. Blood Brothers: The Criminal Underworld of Asia. Macmillan Publishers. ISBN 1403961549. 
  4. ^ Carl Parkes. Moon Handbooks: Southeast Asia 4 Ed. Avalon Travel Publishing, 770. ISBN 1566913373. 
  5. ^ David K. Wyatt. Thailand: A Short History. Yale University Press, 140. ISBN 0300035829. 
  6. ^ พระอาจารย์ทองดี วัดโกษาวาส, อภินิหารบรรพบุรุษสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี, สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ โปรดให้พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓
  7. ^ ประยุทธ์ สิทธิพันธ์, มหาราชและพระราชกรณียกิจสมเด็จพระภัทรมหาราช (กรุงเทพฯ : เทพพิทักษ์การพิมพ์, ๒๕๒๐) หน้า ๒๒๓.
  8. ^ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, สามกรุง (พระนคร:คลังวิทยา ๒๕๑๑) หน้า ๕๔-๕๘
  9. ^ Anthony Webster. Gentleman Capitalists: British Imperialism in Southeast Asia 1770-1890. I.B. Tauris, 156. ISBN 1860641717. 
  10. ^ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ว่า "ประมาณ ๑๐๐๐ เศษ"
  11. ^ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, สามกรุง (พระนคร : คลังวิทยา,๒๕๑๑)หน้า ๖๐
  12. ^ กรมศิลปากร, พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานบรรจุศพ คุณพ่อไต้ล้ง พรประภา วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๑๑) หน้า ๖๐๓-๖๐๔
  13. ^ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สภาพทั่วไปและข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตรของจังหวัดปราจีนบุรี
  14. ^ กรมศิลปากร,ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๕ พงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม). พระนคร: โรงพิมพ์เดลิเมล์ พ.ศ. ๒๔๘๐ (พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ นายพันเอก พระยาสิริจุลเสวก)
  15. ^ ศิลปวัฒนธรรม, เส้นทางเดินทัพ พระเจ้าตาก เลียบทะเลตะวันออก 1 สิงหาคม 2546
  16. ^ ฐานทัพเรือสัตหีบ
  17. ^ จังหวัดตาก, ตากสินมหาราชานุสรณ์ งานฉลองวันขึ้นปีใหม่ ปีที่ ๒๒ พ.ศ. ๒๕๑๕ (พระนคร : มิตรสยาม ๒๕๑๔) หน้า ๑๑๓.
  18. ^ งานกู้ชาติในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
  19. ^ กรมศิลปากร, ประชุมพงศวดาร ภาคที่ ๓๙ (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพนางเชื้อ วิเชียรโอสถ สุตันตานนท์ วันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๔) หน้า ๔๙.
  20. ^ นายสวนมหาดเล็ก โคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา โปรดให้พิมพ์ พ.ศ. ๒๔๖๙) หน้า ๙.
  21. ^ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, สามกรุง (พระนคร : คลังวิทยา ๒๕๑๑)
  22. ^ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ไทยรบกับพม่าฉบับรวมเล่ม (พระนคร : ศิลปาบรรณาคาร ๒๕๒๔)
  23. ^ คุรุสภา, ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๖ (พระนคร : คุรุสภา ๒๕๑๑) หน้า ๒๑๗
  24. ^ ม.ร.ว.ชนสวัสดิ์ ชมพูนุท, พระราชประวัติ ๙ มหาราช (พระนคร : พิทยาคาร ๒๕๑๔)
  25. ^ คุรุสภาล ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๖ (พระนคร : คุรุสภา ๒๕๑๖) หน้า ๑๘๘.
  26. ^ การรบพม่าที่บางกุ้ง
  27. ^ มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม กองทัพเรือ
  28. ^ Thomas J. Barnes. Tay Son: Rebellion in 18th Century Vietnam. Xlibris Corporation, 74. ISBN 0738818186. 
  29. ^ มูลนิธิกตเวทินในพระบรมราชูปถัมป์, ประวัติศาสตร์ชาติไทย, กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2547 หน้า 79 - 93. ISBN 974-92746-2-8
  30. ^ กรมศิลปากร, ประชุมพงศวดาร ภาคที่ ๓๙ หน้า ๖๓-๖๔.
  31. ^ Chris Baker, Pasuk Phongpaichit. A History of Thailand. Cambridge University Press, 32. ISBN 0521816157. 
  32. ^ Editors of Time Out. Time Out Bangkok: And Beach Escapes. Time Out, 84. ISBN 1846700213. 
  33. ^ Paul M. Handley. The King Never Smiles. Yale University Press, 27. ISBN 0300106823. 
  34. ^ กรมศิลปากร, จดหมายเหตุและบาดหลวงฝรั่งเศสในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศน์กรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น, 2511 หน้า 85
  35. ^ จาก ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๕
  36. ^ มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม กองทัพเรือ
  37. ^ ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์ และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช -- กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2544. (ISBN 974-222-648-2)
  38. ^ เปลื้อง ณ นคร, ประวัติวรรณคดีไทยสำหรับนักศึกษา (กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช ๒๕๑๗) หน้า ๒๑๖
  39. ^ Rough Guides. The Rough Guide to Southeast Asia. Rough Guides, 823. ISBN 1858285534. 
  40. ^ David K. Wyatt. Thailand: A Short History. Yale University Press, 143. ISBN 0300035829. 
  41. ^ สกุลไทย การสำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
  42. ^ ทศยศ กระหม่อมแก้ว. พระเจ้าตากฯ สิ้นพระชนม์ที่เมืองนคร -- กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ร่วมด้วยช่วยกัน, 2550. (ISBN 978-974-7303-62-9)
  43. ^ Taksin, Encyclopædia Britannica 2001
  44. ^ David K. Wyatt. Thailand: A Short History. Yale University Press, 145. ISBN 0300035829. ; Siamese/Thai history and culture-Part 4
  45. ^ หนังสือกรมสารบรรณ คณะรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร ที่ น.ว.๒๘๗/๒๔๙๗ ลงวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๔๙๗ เรื่อง วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน.
  46. ^ Donald K. Swearer (2004). Becoming the Buddha: The Ritual of Image. Princeton University Press, 235. ISBN 0691114358. 

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น


รัชสมัยก่อนหน้า:
สมเด็จพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์
อาณาจักรอยุธยา
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
พระมหากษัตริย์ไทย
กรุงธนบุรี
พ.ศ. 2310 - 2325
รัชสมัยถัดไป:
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
กรุงรัตนโกสินทร์
ราชวงศ์จักรี



aa - ab - af - ak - als - am - an - ang - ar - arc - as - ast - av - ay - az - ba - bar - bat_smg - bcl - be - be_x_old - bg - bh - bi - bm - bn - bo - bpy - br - bs - bug - bxr - ca - cbk_zam - cdo - ce - ceb - ch - cho - chr - chy - co - cr - crh - cs - csb - cu - cv - cy - da - de - diq - dsb - dv - dz - ee - el - eml - en - eo - es - et - eu - ext - fa - ff - fi - fiu_vro - fj - fo - fr - frp - fur - fy - ga - gan - gd - gl - glk - gn - got - gu - gv - ha - hak - haw - he - hi - hif - ho - hr - hsb - ht - hu - hy - hz - ia - id - ie - ig - ii - ik - ilo - io - is - it - iu - ja - jbo - jv - ka - kaa - kab - kg - ki - kj - kk - kl - km - kn - ko - kr - ks - ksh - ku - kv - kw - ky - la - lad - lb - lbe - lg - li - lij - lmo - ln - lo - lt - lv - map_bms - mdf - mg - mh - mi - mk - ml - mn - mo - mr - mt - mus - my - myv - mzn - na - nah - nap - nds - nds_nl - ne - new - ng - nl - nn - no - nov - nrm - nv - ny - oc - om - or - os - pa - pag - pam - pap - pdc - pi - pih - pl - pms - ps - pt - qu - quality - rm - rmy - rn - ro - roa_rup - roa_tara - ru - rw - sa - sah - sc - scn - sco - sd - se - sg - sh - si - simple - sk - sl - sm - sn - so - sr - srn - ss - st - stq - su - sv - sw - szl - ta - te - tet - tg - th - ti - tk - tl - tlh - tn - to - tpi - tr - ts - tt - tum - tw - ty - udm - ug - uk - ur - uz - ve - vec - vi - vls - vo - wa - war - wo - wuu - xal - xh - yi - yo - za - zea - zh - zh_classical - zh_min_nan - zh_yue - zu -