ฮั่นอู่ตี้
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระจักรพรรดิฮั่นหวู่ตี้ หรือ ฮั่นอู่ตี้ หรือ ฮั่นบู๊เต้ (Han Wu di, 漢武帝)(พ.ศ. 388-พ.ศ. 457)หนึ่งในฮ่องเต้ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากที่สุดและมีผลงานมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของจีน
เนื้อหา |
[แก้] จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ มหาราชลือนามในแผ่นดิน
หลิวเช่อ (Liu Che, 劉徹) เป็นพระนามเดิมของพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ ทรงขึ้นครองราชย์เมื่ออายุ 16 พรรษา ปกครองราชวงศ์ฮั่นนานถึง 54 ปี (ปี 140 – 87 ก่อนคริสต์ศักราช นับว่าเป็นฮ่องเต้ชาวฮั่นที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดด้วย) ผลงานปรับปรุงประเทศและแผ่ขยายอิทธิพลของพระองค์ทำให้นักประวัติศาสตร์ถือเป็นมหาราชซึ่งมีชื่อเสียงมากในประวัติศาสตร์ของจีน พระองค์กำหนดปีรัชสมัยของตนขึ้นเป็นครั้งแรกในชื่อว่า “เจี้ยนหยวน” นับจากนี้ไปฮ่องเต้องค์ต่อมาต่างถือเป็นประเพณีตั้งชื่อรัชศกของตนมาจนกระทั่งสิ้นสุดยุคจักรพรรดิ
[แก้] นโยบายการปกครอง
พระองค์ปรับประบบการเข้ารับราชการใหม่ โดยกำหนดให้ทุกท้องที่เลือกผู้มีจิตกตัญญูหรือขุนนางซื่อสัตย์ไปที่เมืองหลวงเพื่อเป็นข้าราชการ ทำให้ระบบคัดเลือกขุนนางแบบเดิมซึ่งสืบทอดตำแหน่งโดยทายาทลดความสำคัญลงไปอย่างมาก คุณภาพของขุนนางดีขึ้นอันส่งผลดีต่อการทำงานเพื่อบ้านเมืองและความสุขของราษฎรมาก
[แก้] นโยบายด้านเศรษฐกิจ
พระเจ้าฮั่นอู่ตี้ก่อสร้างพระราชวังและมีการทำสงครามแผ่ขยายอำนาจบ่อยครั้ง จึงมีความจำเป็นต้องใช้เงินมาก พระองค์ออกข้อกำหนดเข้มงวดในทางเศรษฐกิจแตกต่างจากอดีตเพื่อนำเงินไปใช้จ่ายในภารกิจดังกล่าว ตัวอย่างเช่น
- สร้างกิจการผูกขาดโดยรัฐ และห้ามบุคคลทั่วไปทำกิจการนี้ อันได้แก่ การค้าเกลือ โลหะและเหล้า
- กำหนดใช้เงินตราสกุลเดียวกัน โดยสร้างเงินเหรียญ 5 จู ซึ่งมีน้ำหนักเท่ากับน้ำหนักของเมล็ดข้าวโพด 500 เมล็ด มีอักษรจีนคำว่า 5 จู กำกับไว้
- รัฐทำการค้าขายเอง โดยกระจายสินค้าเครื่องบรรณาการจากรัฐต่างๆหรือประเทศข้างเคียงส่งไปขายที่เมืองอื่นเพื่อเพิ่มพูนรายได้ของรัฐ และตั้งหน่วยงานในเมืองหลวงรับซื้อสินค้าต่าง ๆ อันเป็นการปรับกลไกของตลาดและควบคุมราคาสินค้าได้ด้วย
[แก้] นโยบายด้านการทหาร
- พระเจ้าฮั่นอู่ตี้ส่งขุนพลเว่ยชิงและขุนพลฮั่วชี่ปิ้งนำกองทัพนับแสนคนบุกโจมตีถึงกลางดินแดนที่ตั้งของชนเผ่าซยงหนู ซึ่งอาศัยทางเหนือของจีนและเข้าปล้นชิงทรัพย์สินของชาวฮั่นบ่อยครั้ง ในที่สุดชนเผ่านี้ต้องถอยขึ้นไปทางเหนือของทะเลทรายมองโกเลีย ชายแดนทางเหนือของแผ่นดินฮั่นตะวันตกจึงสงบสุขได้ยาวนาน
- การขยายดินแดนและอำนาจ พระองค์ยกทัพไปตีเกาหลีและดินแดนของชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ โดยจัดตั้งเป็นเขตปกครองและดูแลเข้มงวด อาณาจักรแผ่ขยายใหญ่กว่าอาณาจักรฉินมาก นอกจากนั้นยังส่งทูตไปเจริญไมตรียังดินแดนตะวันตก อันได้แก่ ที่ราบสูงทาร์มทางตะวันออกของชงหลิงถึงทางตะวันตกของด่านอี้เหมินกวนและด่านหยังกวน แล้วยังจัดตั้งเขตปกครองพิเศษดินแดนส่วนนี้ นับเป็นการเริ่มต้นปกครองดินแดนตะวันตกอย่างเป็นทางการ
[แก้] ประวัติของพระองค์
เมื่อ 140 ปีก่อนคริสต์ศักราช พระเจ้าฮั่นหวู่ตี้ขึ้นครองราชสมบัติด้วยพระชนมายุเพียง 16 พรรษา พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถและมีวิสัยทัศน์กว้างไกล จึงทรงสร้างผลงานยิ่งใหญ่ให้กับประเทศด้านกิจการภายในและการต่างประเทศ พระองค์ทรงครองราชย์เป็นเวลา 54 ปี ทรงปกครองประเทศจีนให้พัฒนาขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกำลังเข้มแข็งที่สุดของโลกในยุคนั้น จากทัศนะของนักประวัติศาสตร์ในหนังสือ "ประวัติศาสตร์โลก" ฉบับที่มีชื่อเสียงของอังกฤษ ประเทศที่มีกำลังพอ ๆ กับราชวงศ์ฮั่นในสมัยนั้นมีเพียงอาณาจักรโรมันเลยทีเดียว พระเกียรติที่ได้รับการเทิดทูนมากที่สุดของพระเจ้าฮั่นหวู่ตี้คือผลงานด้านการทหาร นับตั้งแต่การสถาปนาราชวงศ์ฮั่นเมื่อ 202 ปีก่อนคริสต์ศักราชเป็นต้นมา เขตแดนของราชวงศ์ฮั่นก็ถูกเผ่าชนซงหนูซึ่งเป็นเผ่าชนปศุสัตว์เร่ร่อนทางภาคเหนือรุกรานเรื่อยมา ส่งผล กระทบร้ายแรงต่อเสถียรภาพและการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจ กษัตริย์องค์ก่อนๆ ของราชวงศ์ฮั่นทรงใช้นโยบายตั้งรับซึ่งทำให้ตกเป็นฝ่ายถูกกระทำ เช่น พระราชทานพระธิดาให้ผู้นำเผ่าชนซงหนู เพื่อแลกกับสันติภาพชั่วคราว พอมาถึงสมัยพระเจ้าฮั่นหวู่ตี้ ราชวงศ์ฮั่นก็เสริมสร้างแสนยานุภาพให้เข้มแข็งเกรียงไกรขึ้น ใช้นโยบายออกโจมตีอย่างเป็นฝ่ายกระทำ โดยมีการจัดส่งกองทัพไปประจำยังพื้นที่ที่เป็นทุ่งหญ้าและทะเลทรายทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายปี อีกทั้งยังยกทัพไปตีเผ่าซงหนูให้ราบคาบจนเผ่าซงหนูนได้รับความปราชัย เผ่าชนซงหนูจึงไม่บังอาจยกทัพไปรุกรานราชวงศ์ฮั่นอีก จากนั้นพระองค์ยังได้สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับการพัฒนาและเสริมความมั่นคงให้แก่ประเทศ หลังจากพระเจ้าฮั่นหวู่ตี้สวรรคตไปแล้ว พระองค์ได้รับการถวายพระนามยกย่องสดุดีพระเกียรติให้เป็นเป็น "กษัตริย์หวู่ตี้" ซึ่งแปลว่า "กษัตริย์นักรบ" (ฮั่นบู๊เต้ ในภาษาแต้จิ๋ว) ซึ่งเป็นข้อสรุปสำหรับผลงานอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ ด้านกิจการภายในนั้น พระเจ้าฮั่นหวู่ตี้ทรงเป็นผู้มีความคิดกล้าริเริ่มสร้างสรรค์ พระองค์ได้ประกาศล้มล้างแนวคิดลัทธิเต๋าที่เชิดชู "ความเป็นธรรมชาติแบบปล่อยปละและไม่กระทำการใด ๆ" ซึ่งฮ่องเต้องค์ก่อน ๆ ได้ถือปฏิบัติมา และมีพระราชดำริให้นำแนวคิดลัทธิขงจื๊อมาเป็นหลักในการปกครองแทน ทำให้ลัทธิขงจื๊อได้เลื่อนขึ้นมาเป็นความคิดที่ชี้นำการปกครองบ้านเมืองของฮ่องเต้รุ่นหลังเป็นเวลาอีกกว่า 2,000 ปี ขณะเดียวกัน พระเจ้าฮั่นหวู่ตี้ยังเป็นนักการทูตที่มีสายพระเนตรยาวไกลอีกด้วย มีอยู่สองครั้งที่พระองค์เคยแต่งตั้งจางเชียนเป็นทูตให้ออกเดินทางไปทางเขตตะวันตก ซึ่งก็คือ พื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลทางตะวันตกของมณฑลกานซู่และเขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูรย์ในปัจจุบัน เป็นการเริ่มต้นเปิด "เส้นทางสายไหม" ที่เชื่อมจีนกับเอเชียกลางและโลกตะวันตก จากนั้น ผ้าไหม วิธีการทำกระดาษและศิลปะต่าง ๆ ของจีนก็ได้แพร่เข้าสู่ดินแดนต่าง ๆ ทั่วโลกโดยผ่านเส้นทางสายไหม ส่วนเครื่องหอมและผลิตภัณฑ์ศิลปะหัตถกรรมต่างๆ ของนานาประเทศก็ได้แพร่เข้าสู่จีนโดยผ่านเส้นทางสายไหมเช่นกัน กล่าวได้ว่า พระเจ้าฮั่นหวู่ตี้ได้ปูพื้นฐานให้แก่การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างจีนกับโลกตะวันตก กรุงฉางอานราชธานีของราชวงศ์ฮั่นเคยเป็นศูนย์กลางการเมืองและเศรษฐกิจของทวีปเอเชียในสมัยนั้น ส่วนเส้นทางสายไหมก็เป็นเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมจีนกับตะวันตกอยู่หลายร้อยปีจนเส้นทางคมนาคมทางทะเลได้เกิดบทบาทขึ้นมาแทนในช่วงศตวรรษที่ 8 นอกจากนี้แล้ว พระเจ้าฮั่นหวู่ตี้ยังโปรดปรานวรรณคดีและศิลปะหลากหลายประเภท ซือหม่าเซี่ยงหรู กวีในยุคนั้นได้รับแต่งตั้งจากพระเจ้าฮั่นหวู่ตี้ให้เป็นขุนนางชั้นสูงเพราะมีความรู้ความสามารถ
และทางด้านศิลปะวรรณคดี ซือหม่าเซียน นักประวัติศาสตร์และนักวรรณคดีที่มีความรู้มากที่สุดอีกคนหนึ่งก็ได้รับการพระราชทานแต่งตั้งเป็นขุนนางชั้นสูงเช่นกัน ซือหม่าเชียนได้รวบรวมประวัติศาสตร์จีน 3,000 ปีขึ้นเป็นฉบับแรก กล่าวได้ว่า พระเจ้าฮั่นหวู่ตี้มีส่วนส่งเสริมให้วัฒนธรรมจีนเจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อย ๆ
[แก้] เรื่องราวที่เล่าขานมาจนปัจจุบัน
เรื่องราวของพระองค์ได้รับการเล่าขานต่อมาเรื่อย ๆ จนถึงชนรุ่นหลัง เช่นในวรรณคดีสามก๊กระบุว่า โจโฉ มีความเคารพพระองค์มาก ถึงกับพยายามเอาพระองค์เป็นแบบอย่าง ดั่งจะเห็นได้จากบทโคลงที่ร่ายถึงชัยชนะที่มีอ้วนเสี้ยวในศึกกัวต๋อที่หน้าผาจรดทะเล สถานที่เดียวกับพระเจ้าฮั่นหวู่ตี้เคยชนะศึกมาเช่นเดียวกัน
ในวัฒนธรรมสมัยนิยมในปัจจุบัน เช่น ละครโทรทัศน์ของฮ่องกงได้มีการสร้างละครเกี่ยวกับพระองค์ ชื่อ ต้าฮั่นเทียนจื่อ (จอมจักรพรรดิ์ ฮั่นอู่ตี้ หรือ ฮ่องเต้ราชวงศ์ฮั่นกับหมอดูเทวดา) หรือ จักรพรรดิจอมทะเล้น เป็นต้น
|
|
---|---|
ทวีปเอเชีย | พ่อขุนรามคำแหงมหาราช · สมเด็จพระนเรศวรมหาราช · สมเด็จพระนารายณ์มหาราช · สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช · พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช · พระปิยมหาราช · พระภัทรมหาราช · พระเจ้าเซจงมหาราช · พระเจ้าอโศกมหาราช · พระเจ้าพรหมมหาราช · พ่อขุนเม็งรายมหาราช · เจงกีส ข่าน · พระเจ้าอโนรธามังช่อ · พระเจ้าบุเรงนอง · พระเจ้าอลองพญา · จักรพรรดิเฉียนหลง · จิ๋นซีฮ่องเต้ · ฮั่นอู่ตี้ · จักรพรรดิคังซี · พระเจ้ากนิษกะมหราช |
ทวีปยุโรป | · นโปเลียนมหาราช · จูเลียส ซีซาร์ · พระเจ้าอัลเฟรดมหาราช พระจักรพรรดินีนาถแคทเธอรีนมหาราช · พระเจ้าฟรีดริชมหาราช · พระเจ้าปีเตอร์มหาราช · พระเจ้าคานูทมหาราช · สมเด็จพระเจ้าอองรีที่ 4 ของฝรั่งเศส · พระเจ้าไทกราเนสมหาราช |
ทวีปแอฟริกาและตะวันออกกลาง | รามเสสมหาราช · อเล็กซานเดอร์มหาราช · สุลัยมานมหาราช · อัคบาร์มหาราช · ไซรัสมหาราช |
ดูเพิ่ม | มหาราช |