สยาม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
-
บทความนี้เกี่ยวกับชื่อเรียกประเทศไทยในอดีต สำหรับความหมายอื่น ดูที่ สยาม (แก้ความกำกวม)
สยาม (อักษรละติน: Siam) คือชื่อเรียก ประเทศไทย ในสมัยโบราณ และได้เปลี่ยนชื่อจาก ประเทศสยาม มาเป็น ประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2482 ซึ่งมีความหมายว่า เป็นอิสระ และเสรีภาพ ตามประกาศรัฐนิยม ฉบับที่ 1 ของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้ใช้ชื่อ ประเทศ ประชาชน และสัญชาติว่า "ไทย" ภาษาอังกฤษคงยังเป็น "Siam" อยู่ จนกระทั่งเดือนเมษายน พ.ศ. 2491 จึงได้เปลี่ยนชื่อภาษาฝรั่งเศสเป็น "Thailande" และภาษาอังกฤษเป็น "Thailand" อย่างในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ชื่อ สยาม นั้น ยังถือว่าเป็นที่รู้จักแพร่หลายอยู่ ทั้งในและต่างประเทศ
เนื้อหา |
[แก้] ที่มาของคำว่าสยาม
จนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่มีใครทราบที่มาของคำว่าสยามว่ามาจากที่ไหนอย่างแน่ชัด ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นถกเถียงในแวดวงนักวิชาการไทยกันอย่างกว้างขวาง แต่ที่ทราบแน่นอนแล้วคือ สยาม เป็นชื่อที่ชาวต่างประเทศใช้เรียกมากกว่าที่คนไทยจะใช้เรียกตัวเอง
โดยในจดหมายเหตุลาลูแบร์ ซึ่งเดินทางเข้ามาในประเทศไทยในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น คำว่าสยามเป็นนามที่ชาวโปรตุเกสในแถบตะวันออกไกลใช้เรียกประเทศไทย
นอกจากนี้ยังมีหลักฐานของคำว่า "สยาม" และคำที่ใกล้เคียงกันอยู่ในที่อื่นๆ เช่น
- ตามภาษามอญ เรียกคนไทยว่า "หรั่ว เซม" (หรั่ว ภาษามอญแปลว่าพวก) จนกระทั่งปัจจุบัน
- ชาวมลายูและผู้มีเชื้อสายมลายู (รวมถึงในประเทศไทย) ใช้คำเรียกไทยว่า "สยาม" มาจนถึงปัจจุบัน (ดังเช่นที่ปรากฏในเอกสารของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในบริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้)
- บนรูปสลักฝาผนัง ณ นครวัด ประเทศกัมพูชาที่แสดงถึงกำลังพลจากอาณาเขตต่างๆที่ได้เข้ามาร่วมกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีภาพกองกำลังกองหนึ่งที่มีคำบรรยายใต้ภาพว่า "เนะ สยฺมกุก" (เนะ สยำกุก)[1] ซึ่งแปลได้ความว่า "นี่ เสียมกุก" เป็นกองกำลังต่างหากจากกองกำลังจากละโว้ (อยู่ในบริเวณจังหวัดลพบุรีในปัจจุบัน) ซึ่งรูปสลักฝาผนังได้สลักแยกไว้พร้อมคำบรรยายที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน สันนิษฐานกันว่าอาจเป็นคนไท-ลาวกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดเป็นที่ยอมรับกัน
- ตามจดหมายเหตุเก่าของจีน ในบริเวณประเทศไทยปัจจุบันนั้น แต่เดิมมีอาณาจักรอยู่ด้วยกัน 2 อาณาจักร คือ อาณาจักร "เสียน"ซึ่งอยู่ทางเหนือขึ้น แต่ยังอยู่ใต้ต่ออาณาจักร"ร้อยสนม" (มีผู้สันนิษฐานว่าคืออาณาจักรล้านนา-ไทยใหญ่) และอาณาจักร "หลอหู" ซึ่งอยู่ทางใต้ลงไป โดยอาณาจักร "เสียน" นั้นมักประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร ต้องนำเข้าข้าวจากอาณาจักร "หลอหู" จนในที่สุด อาณาจักร "เสียน" และอาณาจักร "หลอหู" ได้รวมกันเข้า ทางราชสำนักจีนจึงได้รวมเรียกชื่ออาณาจักรใหมที่เกิดจากการรวมกันดังกล่าวว่า อาณาจักร "เสียนหลอ" (ภาษาจีนกลางยุคปัจจุบัน="เสียนหลอกว๋อ" ภาษาจีนแต้จิ๋ว = "เสี่ยมล้อก๊ก") ซึ่งได้กลายเป็นนามเรียกอาณาจักรโดยชาวจีนมาจนกระทั่งมีการเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นประเทศไทย จึงได้เปลี่ยนชื่อเรียกเป็น "ไท่กว๋อ"
- นักนิรุกติศาสตร์และนักประวัติศาสตร์บางคน ได้แสดงถึงความใกล้เคียงกันของคำว่า สยาม และ ฉาน (Shan) ซึ่งใช้เรียกอาณาจักรของคนไทบริเวณตอนใต้ของจีน ทางตอนเหนือของพม่า และทางรัฐอัสสัมของอินเดีย
[แก้] การใช้คำว่าสยามในฐานะราชอาณาจักรของไทย
ถึงแม้ว่าจะมีการอ้างอิงถึงราชอาณาจักรและประชาชนไทยโดยใช้คำว่า "สยาม" โดยผู้คนจากที่อื่นอย่างกว้างขวางดังที่ได้ปรากฏไปข้างต้นก็ตาม แต่ทว่าในอดีตของประเทศไทยนั้น แนวคิดเรื่องรัฐชาติของคนไทยยังไม่ปรากฏชัดเจน ดังเช่นที่เกิดขึ้นในยุโรปตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การอ้างอิงถึงราชอาณาจักรของทางราชสำนักของไทยจึงมักอ้างอิงโดยใช้ชื่อเมืองหลวง ดังเช่นพระราชสาสน์ของสมเด็จพระเอกาทศรถที่มีไปถึงพระเจ้าดอน ฟิลลิปแห่งโปรตุเกสโดยผ่านผู้สำเร็จราชการแห่งเมืองกัว ก็ได้มีการอ้างพระองค์ว่าเป็นผู้ปกครองแว่นแคว้นของ กรุงศรีอยุธยา เป็นอาทิ และตามหลักฐานของลาลูแบร์นั้น คนในประเทศไทยได้เรียกเผ่าพันธุ์ของตนเองว่า ไทย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
ต่อมา เมื่อประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับลัทธิจักรวรรดินิยมตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงได้พยายามดัดแปลงให้ประเทศมีลักษณะสมัยใหม่ขึ้น ซึ่งประการหนึ่งในนั้นคือ การทำให้ประเทศไทยมีลักษณะเป็น รัฐชาติ ที่มี การควบคุมจากส่วนกลาง มิใช่ รัฐศักดินา ที่มี เมืองเล็ก รายล้อมเป็นส่วนๆ ดังเช่นมุมมองราชการไทยในอดีตซึ่งง่ายต่อการค่อยๆถูกแบ่งออกไปทีละส่วนโดยจักรวรรดินิยม ฉะนั้น จึงได้เกิดชื่อเรียกรัฐสมัยใหม่ว่า "ราชอาณาจักรสยาม"ที่เริ่มมีจินตภาพของรัฐชาติชัดเจน แต่เนื่องจากว่าแนวคิดเดิมเกี่ยวกับประเทศของราชการไทยยังคงดำรงอยู่ ฉะนั้น ในบางครั้งราชการไทยและราชวงศ์จึงเรียกประเทศไทยว่า กรุงสยาม ซึ่งแนวทางการทำให้ประเทศกลายเป็น รัฐชาติ ก็ได้มีการสืบต่อมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว มาควบคู่กับการสร้างระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในประเทศไทยให้มีความเข้มแข็ง
[แก้] จากคำว่าสยามเป็นไทย
ต่อมา หลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร และการแย่งชิงอำนาจระหว่างกลุ่มอำนาจต่างๆทั้งเก่าและใหม่หลายครั้ง ในที่สุด จอมพล ป. พิบูลสงครามได้ก้าวขึ้นสู่อำนาจ ซึ่งมีการใช้อำนาจอย่างเผด็จการและการปลุกระดมแนวคิดชาตินิยมและการเชื่อฟังผู้นำ("เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย")อย่างมาก ซึ่งจากรายงานการศึกษาในยุคนั้นโดยนักศึกษาประวัติศาสตร์บางคน ได้มีการค้นพบคนไทยที่อยู่ในเวียดนาม และจีนตอนใต้ นอกเหนือไปจากจากกลุ่มไทยใหญ่ในพม่าอีก ทำให้เกิดกระแสที่ต้องการรวบรวมชนเผ่าไทยเหล่านั้นเข้ามาสู่ประเทศ "ไทย" เพื่อสร้างความเข้มแข็ง ในที่สุด จึงได้การเปลี่ยนชื่อ ประเทศ ประชาชน และสัญชาติเป็น "ไทย" ตามประกาศรัฐนิยมฉบับที่1 ซึ่งได้รับการคัดค้านจากบางฝ่ายว่าจะเป็นการทำให้คนเชื้อชาติอื่น เช่น จีน มลายู ไม่รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประเทศ "ไทย" แต่ทว่าในที่สุดประกาศรัฐนิยมก็มีผลบังคับใช้ ทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น ไทย ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งกลายเป็นสิ่งตกทอดไม่กี่อย่างจากประกาศดังกล่าวมาถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับคำว่า "สวัสดี"
[แก้] อ้างอิง
- ^ ชำนาญ สัจจะโชติ. สยำกุก-นครวัด กองทัพศรีวิชัย -- กรุงเทพฯ : บริษัท พิมพ์ดีการพิมพ์ จำกัด, 2549. (ISBN 974-88126-8-5)