ใบอนุญาตการเผยแพร่ของสาธารณชน กนู
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
GNU General Public License (GNU GPL หรือ GPL) เป็นสัญญาอนุญาตสำหรับซอฟต์แวร์เสรี ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในปัจจุบัน ฉบับแรกสุดเขียนโดยริชาร์ด สตอลแมน เริ่มต้นใช้สำหรับโครงการกนู ในปี พ.ศ. 2534 (ค.ศ. 1991) สัญญาอนุญาต GPL ในปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 2 นอกจากนี้มีสัญญาอนุญาต GNU Lesser General Public License (LGPL) ที่พัฒนาแยกออกมาจาก GPL ในอีกรูปแบบหนึ่งเพื่อใช้สำหรับไลบรารีซอฟต์แวร์
ลักษณะของสัญญาอนุญาต GPL มีลักษณะ "เสรี" ดังนี้
- เสรีภาพในการใช้งาน ไม่ว่าใช้สำหรับจุดประสงค์ใด
- เสรีภาพในการศึกษาการทำงานของโปรแกรม และแก้ไขโค้ด
- เสรีภาพในการจำหน่ายโปรแกรม
- เสรีภาพในการปรับปรุงและเปิดให้บุคคลทั่วไปใช้และพัฒนาต่อไป
โดยมีเพียงเงื่อนไขว่า การนำไปใช้หรือนำไปพัฒนาต่อ จำเป็นต้องใช้สัญญาอนุญาตเดียวกัน
ความแตกต่างระหว่างสัญญาอนุญาต GPL และสัญญาอนุญาต BSD (สัญญาอนุญาตที่นิยมอีกตัวหนึ่งสำหรับซอฟต์แวร์เสรี) คือสัญญาอนุญาต GPL ครอบคลุมถึงซอฟต์แวร์ทั้งที่อยู่ในรูปของต้นฉบับ มีการดัดแปลง หรือรวมเป็นส่วนหนึ่งของซอฟต์แวร์อื่น โดยบุคคลที่นำซอฟต์แวร์ไปใช้พรือพัฒนาต่อจำเป็นต้องเผยแพร่โดยใช้สัญญาอนุญาตเดียวกัน ในขณะที่สัญญาอนุญาต BSD เปิดกว้างมากกว่า ผู้ที่ไปพัฒนาต่อไม่ต้องเปิดเผยซอร์สโค้ดของโปรแกรม มีเพียงข้อความเจ้าของสัญญาอนุญาตเดิมเท่านั้นที่ต้องแสดงให้ผู้ใช้เห็น ซึ่งอาจใส่ไว้ในเอกสารคู่มือการใช้ก็ได้
สัญญาอนุญาต GPL เป็นสัญญาอนุญาตที่มีการใช้มากที่สุดในซอฟต์แวร์เสรีและซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส โดยมีการใช้สัญญาอนุญาต GPL 75% จาก 23,479 ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาใน Freshmeat เมื่อ เมษายน พ.ศ. 2547 และประมาณ 68% ของซอฟต์แวร์ที่พัฒนาใน SourceForge
ตัวอย่างซอฟต์แวร์ที่ใช้สัญญาอนุญาต GPL ได้แก่ มีเดียวิกิ ไฟร์ฟอกซ์ phpBB
[แก้] GPL รุ่น 3
ภายหลังจากที่สัญญาอนุญาตรุ่น 3 ของ GPL ได้มีการเสนอนโยบายออกมา โดยมีข้อจำกัดในการใช้ซอฟต์แวร์มากขึ้นสำหรับบริษัทคอมพิวเตอร์ที่นำไปใช้ และจะมีประกาศใช้ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2550 ส่งผลให้มีเหตุการณ์ขัดแย้งระหว่าง ลีนุส ทอร์วัลส์ผู้คิดค้นระบบลินุกซ์ และ ริชาร์ด สตอลแมนผู้เริ่มต้นสัญญา GPL โดยทางลีนุสยังต้องการให้ระบบลินุกซ์ใช้สัญญารุ่นเดิมคือรุ่น 2 ในขณะที่สตอลแมนต้องการผลักดันไปสู่รุ่น 3 ที่จำกัดการใช้งานของโปรแกรมให้มากขึ้น ส่งผลให้ทางบริษัทใหญ่หลายแห่ง รวมถึง ไอบีเอ็ม เอชพี เรดแฮต และบริษัทอื่น ไม่กล้าลงทุนในส่วนของลินุกซ์ เนื่องจากเกรงว่าสตอลแมนจะผลักดันให้ลิขสิทธิ์เปลี่ยนแปลงไปอีกครั้งและมาฟ้องร้องบริษัทในภายหลัง เหมือนที่ผ่านมาได้ทำกับ เอ็นวิเดีย และ ทีโว โดยแนวคิดอุดมคติของสตอลแมนที่ต้องการให้ซอฟต์แวร์ทุกชนิดฟรีและทุกคนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ขัดแย้งกับความคิดของลีนุสที่อยากให้ซอฟต์แวร์เสรีและใช้งานได้สำหรับทุกคน