See also ebooksgratis.com: no banners, no cookies, totally FREE.

CLASSICISTRANIERI HOME PAGE - YOUTUBE CHANNEL
Privacy Policy Cookie Policy Terms and Conditions
โรงเรียนวัดราชบพิธ - วิกิพีเดีย

โรงเรียนวัดราชบพิธ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โรงเรียนวัดราชบพิธ

ตราประจำโรงเรียนวัดราชบพิธ
วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ (คนล่วงทุกข์เสียได้ด้วยความเพียร)


โรงเรียนวัดราชบพิธ (ชื่อภาษาอังกฤษ: Wat Rajabopit School) เป็นโรงเรียนรัฐบาลสังกัดกองการมัธยมศึกษา กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 3 ถ.สนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีระกาสัปตศก จุลศักราช 1247 ตรงกับรัตนโกสิทร์ศก 104 หรือปีพุทธศักราช 2428 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 นับเป็นโรงเรียนมัธยมชายล้วนที่มีความเป็นมายาวนานแห่งหนึ่งของประเทศไทย คำว่า ราชบพิธ หมายถึง กษัตริย์ทรงสถาปนาขึ้น อันเป็นนามพระราชทานของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

โรงเรียนวัดราชบพิธได้ถือกำเนิดขึ้นมาจากโรงเรียนสอนภาษาไทยในยุคต้นของการจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนของไทย ในแผ่นดินของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปิยะกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยในกาลครั้งนั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ได้ทรงทำความตกลงกับกรมศึกษาธิการ แต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดี จัดตั้งโรงเรียนวัดราชบพิธขึ้นเมื่อ ปีระกา สัปตศก จุลศักราช 1247 ตรงกับ รัตนโกสิทร์ศก 104 หรือปี พุทธศักราช 2428 ดังปรากฏหลักฐานรายชื่อโรงเรียนวัดราชบพิธ อยู่ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่ม 1 หน้า 139

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร

เมื่อครั้งแรกตั้งโรงเรียนนั้น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ได้ทรงอนุญาตใช้ชั้นบนของตึกศาลาการเปรียญ ข้างสระน้ำด้านถนนเฟื่องนครซึ่งใช้เป็น "ภัณฑาคาร" สำหรับเก็บรักษาถาวรวัตถุของสงฆ์ เป็นสถานที่เล่าเรียนโดยมิต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ในครั้งนั้นโรงเรียนวัดราชบพิธมีนักเรียนทั้งสิ้น 53 คน มีครู 2 คน (ความปรากฏในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่ม 1 หน้า 323) มีนายกวีซึ่งต่อมาได้ลาออกไปรับราชการในกรมพระอาลักษณ์ และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนสุทรลิขิต เป็นครูใหญ่คนแรก มีชั้นเรียนเพียงชั้นเดียว คือ ชั้นประโยคหนึ่ง โดยนักเรียนที่สอบได้ประโยคหนึ่งคนแรกของโรงเรียนคือ พระสวัสดิ์นคเรศ (มงคล อมาตยกุล) สอบไล่ได้เมื่อ พ.ศ. 2430

ต่อมาอีกประมาณ 3 ปี คือราว พ.ศ. 2431 ในสมัยที่ นายพยอม เป็นครูใหญ่ ผู้คนในละแวกใกล้ไกลนิยมส่งบุตรมาเข้าเรียนมาขึ้น ทำให้สถานที่เล่าเรียนคับแคบ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า พระอรุณนิภาคุณาการ พระผู้ก่อกำเนิดโรงเรียนวัดราชบพิธ จึงได้ทรงให้ย้ายไปทำการสอนที่ชั้นล่างของตำหนักที่ประทับของพระองค์ (ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้คือที่ตั้งขออาคารภุชงค์ประทานวิทยาสิทธิ์ 1 ซึ่งเป็นอาคาร 3 ชั้นที่อยู่ติดกับสุสานหลวง) แต่กระนั้นก็ตาม ผู้คนก็นิยมส่งบุตรมาเข้าเรียนจนสถานที่ชั้นล่างของตำหนักนั้นไม่เพียงพออีก พระองค์จึงทรงประทานศาลารายรอบบริเวณให้ใช้เป็นห้องเรียนอีก 3 หลัง ในยุคนี้โรงเรียนวัดราชบพิธมีเพียงชั้นประถม 1 - 4 เท่านั้น มีนักเรียนประมาณ 100 คน และ หลวงชำนาญอนุสาสน์ (รอด รักตะประจิตร) เป็นครูใหญ่

ในสมัยพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามสืบต่อมา พระองค์ได้ทรงประทาน ศาลารายหลังที่อยู่ด้านถนนเฟื่องนคร ให้ใช้เป็นสถานที่เรียนอีก 1 หลัง ด้วยทรงเล็งเห็นความอัตคัตของสถานที่เรียน โรงเรียนจึงได้ใช้ศาลารายทั้ง 4 หลัง กับชั้นล่างของตำหนักเป็นที่เรียน อย่างไรก็ดีโรงเรียนวัดราชบพิธก็ได้เจริญโดยลำดับ จนกระทั่ง พ.ศ. 2457 สถานที่เรียนก็ไม่เพียงพอ ราชบุรุษกวย ป.ป. ครูใหญ่ในขณะนั้น ได้ทูลขอชั้นบนของตำหนัก ซึ่งมีพระสงฆ์อาศัยอยู่เป็นที่เรียน สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ก็ได้มีพระเมตตาทรงโปรดประทานให้ตามประสงค์ ในพ.ศ. 2478 สมเด็จพระสังฆราชเจ้าก็ได้ทรงประทานทุนส่วนพระองค์สร้างตึกสัมฤทธิ์วิทยาการให้เป็นที่เล่าเรียนอีก 1 หลัง ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการยกฐานะโรงเรียนเดิมให้เป็นมัธยมตอนต้น

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า  กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์

โรงเรียนวัดราชบพิธจึงเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนมัธยมวัดราชบพิธ" ดังปรากฏหลักฐานดวงตราที่ประทับอยู่บนหนังสือของห้องสมุดโรงเรียนหลายสิบเล่ม โรงเรียนมัธยมวัดราชบพิธในเวลานั้นมีเพียงชั้นมัธยม 1 - 3 ส่วนประถม 1 - 3 ที่มีอยู่เดิมก็ย้ายไปอยู่โรงเรียนประถมวัดสุทัศน์แทน โรงเรียนมัธยมวัดราชบพิธได้เจริญโดยลำดับ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2467 จึงได้เริ่มเปิดชั้นมัธยมศึกษา ตอนปลาย ในสมัยที่ขุนกิตติเวทย์เป็นครูใหญ่ ปีพ.ศ. 2469 อันเป็นปีที่โรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนถึง 401 คน และในปี พ.ศ. 2474 นักเรียนโรงเรียนมัธยมวัดราชบพิธก็สามารถสอบไล่ได้เป็นที่ 1 ของประเทศคือ นายสุดใจ เอี่ยมอุดม

ปีพ.ศ. 2478 ขุนชำนิอนุสาสน์ (เส่ง เลาหะจินดา) ครูใหญ่ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการได้ไปเฝ้าพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ผู้ทรงอุปการะโรงเรียนทูลขอสถานที่เล่าเรียนเพื่อจะขยายชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7 - 8 แผนกวิทยาศาสตร์ พระองค์ก็ได้ทรงพระเมตตาประทานทุนสร้างตึกสัมฤทธิ์วิทยาการให้ พร้อมทั้งจัดตั้งอุปกรณ์การศึกษาให้เสร็จ ทั้งยังทรงฉลองตึกให้เสร็จในปี พ.ศ. 2479 อันเป็นปีรุ่งขึ้น แต่กระทรวงธรรมการในเวลานั้นกลับอนุญาตให้เปิดแผนกภาษาแทน และสั่งยุบโรงเรียนมัธยมศึกษาวัดมหรรณพารามรวมกับโรงเรียนนี้เมื่อปี พ.ศ. 2480

หลังจากที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สิ้นพระชนม์เมื่อ 25 สิงหาคม 2480 แล้ว พระศาสนโสภณ (ภา ภาณโก) เจ้าอาวาสยุคที่ 3 ได้เป็นผู้อุปการะสืบต่อมา ท่านได้เห็นความเจริญของการศึกษาจึงร่วมจัดหาทุนกับคณะศิษยานุศิษย์ สร้างอาคารเรียนเพิ่มขึ้นอีก 3 หลัง เพื่อเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2481 กระทรวงธรรมการได้สั่งให้ยุบโรงเรียนมัธยมวัดมหาธาตุกับโรงเรียนมัธยมกล่อมพิทยากร มารวมกับโรงเรียนวัดราชบพิธในสมัยขุนวิทยาวุฑฒิ (นวม ชัยรัตน์) เป็นครูใหญ่ ทำให้มีนักเรียนเพิ่มขึ้นถึง 560 คน จนสถานที่เรียนไม่เพียงพอ ต้องขอยืมใช้สถานที่ในสุสานหลวงจากพระธรรมปาโมกข์ ผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาส ใช้เป็นสถานที่เรียนชั่วคราว และได้ร่วมมือกันหารือกับพระธรรมปาโมกข์ราชทินนามท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชฯ วาสนมหาเถระ ในเวลานั้น พระจุลคณิศร และพ.อ.พระยาศรีสุรสงคราม เพื่อหาทุนสร้างโรงเรียนถวายเป็นอนุสรณ์แต่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริรัตน์ สมเด็จพระสงฆ์ราชเจ้า

ในปลายปี เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ขุนชำนิอนุสาสน์ได้กลับจากการเป็นผู้แทนราษฎรมารับตำแหน่งครูใหญ่อีกทั้งยัง ได้รับอนุมัติจากพระศาสนโสภณ เจ้าอาวาสให้จัดสร้างอาคารเรียนเพิ่มอีก 4 หลังคือ พ.ศ. 2484 สร้างตึกชินวรศรีธรรมวิทยาคาร และพ.ศ. 2485 สร้างตึกภุชงค์ประทานวิทยาสิทธิ์1,2 และ 3 ภายหลังจากพระศาสนโสภณได้มรณภาพ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เจ้าอาวาสพระองค์ที่สี่ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์โรงเรียนต่อมา (ขณะนั้นทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์)

สมเด็จพระสังฆราช(วาสนมหาเถระ)สมัยทรงสอนนักเรียนโรงเรียนวัดราชบพิธชั้นมัธยมปีที่ 6 พ.ศ. 2472
สมเด็จพระสังฆราช(วาสนมหาเถระ)สมัยทรงสอนนักเรียนโรงเรียนวัดราชบพิธชั้นมัธยมปีที่ 6 พ.ศ. 2472


ครั้นต่อมาปี พ.ศ. 2487 - 2488 นายพิศาล มั่นเสมอ ครูใหญ่ เวลานั้นได้ติดต่อขอทุนกรมสามัญศึกษาจัดการซื้อหนังสือไทยและต่างประเทศ เพื่อจัดตั้งห้องสมุด แต่ท่านได้ถึงแก่กรรมเสียก่อนเมื่อ 27 ธันวาคม 2488 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2492 กระทรวงศึกษาธิการได้ดำริให้มีห้องสมุดโรงเรียนขึ้น โดยเลือกเอาโรงเรียนแห่งนี้เป็นที่ตั้งห้องสมุดกลาง สำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษาโดยใช้ตึกภุชงค์ประทานวิยาสิทธิ์ 3 เป็นที่ตั้งเปิดทำการครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2492 มีอาจารย์ รสา วงศ์ยังอยู่ เป็นบรรณารักษ์คนแรก ในสมัยที่นายโกวิท ประทัตสุนทรสาร เป็นครูใหญ่ และโรงเรียนมัธยมวัดราชบพิธได้เจริญมาโดยลำดับจวบจนกระทั่งสถานที่ที่มีอยู่มีความคับแคบ ต้องมีการจัดเรียนเป็น 2 ผลัด (เช้า - บ่าย) แยกบางส่วนไปเรียนในบริเวณวัดสุทัศนเทพวราราม พร้อม ๆ กับการขาดหายไปของคำว่า "มัธยม" ในนามโรงเรียนจนกลายเป็น "โรงเรียนวัดราชบพิธ" ในปัจจุบัน

[แก้] โรงเรียนแห่งใหม่ (วาสนะประทานวิทยาสิทธิ์)

นับเนื่องจากการที่อาจารย์ผล ใจสว่าง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดราชบพิธคนที่ 23 ได้มองเห็น ความอัตคัตเรื่องสถานที่เรียน ทั้งสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีพระดำริเรื่องที่นักเรียนของโรงเรียนวัดราชบพิธมีความยากลำบากในเรื่องสถานที่เรียนแออัด ทรงมีพระประสงค์ที่จะะขยายสถานที่เรียนให้กว้างขวางออกไป แม้ได้มีผู้ประสงค์จะทูลถวายที่ดินให้โรงเรียนหลายรายด้วยกัน แต่พระองค์ทรงเห็นว่าที่เหล่านั้นไกลจากวัดราชบพิธ และโรงเรียนเดิมมากเกินไป จนกระทั่งปี พ.ศ. 2524 โรงเรียนวัดราชบพิธได้ที่ดินแปลงหนึ่งจำนวน 9 ไร่ 1 งาน 46 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ตั้งอาคารคลังยกกระบัตร กรมพลาธิการทหารบก ตั้งอยู่บริเวณสวนเจ้าเชตุ ไม่ไกลจากวัดและโรงเรียนเดิมเหมาะที่จะสร้างขยายโรงเรียน เพราะกองทัพบกเจ้าของที่นั้นมีโครงการจะย้ายคลังพัสดุไปที่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราช
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราช

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ(วาสนมหาเถระ)สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จึงทรงมีพระลิขิตถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (พลเอกเปรม ติณสูลานนท์) เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2525 เพื่อทรงขอบิณฑบาตที่ดินดังกล่าวสำหรับใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างขยายโรงเรียนวัดราชบพิธ ภายหลังที่กองทัพบกได้ย้ายคลังพัสดุออกไปแล้ว แต่เรื่องได้เงียบไป จนกระทั่งเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2531 ในมหามงคลสมัยที่เจริญพระชนมายุ 90 พรรษา กองทัพบก โดยพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบกรักษาราชการผู้บัญชาการทหารสูงสุด ด้วยความเห็นชอบของ ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีได้น้อมเกล้าถวายเอกสารสิทธิ์ที่ดินราชพัสดุ ที่ตั้งอาคารคลังยกกระบัตร แด่สมเด็จพระสังฆราชฯ พร้อมกันนี้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสร้างอาคารโรงเรียนวัดราชบพิธเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2531 โดยมีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นประธาน และสมเด็จพระสังฆราชฯ ได้เสด็จทอดพระเนตรสถานที่ก่อสร้างขยายโรงเรียนวัดราชบพิธเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2531 ก่อนสิ้นพระชนม์ในวันที่ 27 สิงหาคม 2531

วันที่ 5 เมษายน 2532 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงวางศิลาฤกษ์อาคารโรงเรียนวัดราชบพิธแห่งใหม่ ณ สวนเจ้าเชตุ โดยได้รับงบประมาณการก่อสร้างโรงเรียนจากกรมสามัญศึกษา 39,560,000 บาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาแบบคอมเพล็กซ์แห่งแรกของประเทศไทย พร้อมทั้งอาคารพลศึกษาและสระว่ายน้ำในวงเงิน 117 ล้านบาท การก่อสร้างได้ดำเนินไปจนกระทั่งสามารถย้ายนักเรียนเข้าไปเรียนยังสถานที่เรียนแห่งใหม่ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2533 เป็นต้นมา

วันที่ 2 มีนาคม 2534 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงเปิดอาคารเรียน โรงเรียนวัดราชบพิธแห่งใหม่ ซึ่งเป็นวาระดิถีวโรกาศวันคล้ายวันประสูติใน สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ(วาสนมหาเถระ)สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

[แก้] สัญลักษณ์ประจำโรงเรียน

[แก้] ตราประจำโรงเรียน

ฉัตร 5 ชั้น เป็นเครื่องประกอบอิสริยยศสมณศักดิ์ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า อักษร ร.บ.ล้อมด้วยวงกลม เป็นอักษรย่อของโรงเรียนวัดราชบพิธ มีความหมายเพื่อเป็นเครื่องแสดงว่าโรงเรียนวัดราชบพิธเป็นโรงเรียนในพระอุปถัมภ์ของเจ้าอาวาสและของวัดราชบพิธตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งมาจนถึงปัจจุบัน

[แก้] สีประจำโรงเรียน

สีขาวเหลือง ขาวหมายถึงความบริสุทธิ์เป็นเครื่องหมายทางพระพุทธศาสนา การใช้สีขาวเป็นส่วนหนึ่งของธงโรงเรียน เพราะโรงเรียนนี้ถือกำเนิดมาจากวัดและตั้งอยู่ในบริเวณวัด คืออาศัยบารมีของพระศาสนาเป็นที่ตั้ง เมื่อเห็นธงจึงทำให้รำลึกถึงประวัติดังกล่าว ส่วนสีเหลืองเป็นสีที่คนไทยรู้ดีที่สุดว่าเป็นสีของพระสงฆ์โรงเรียนนี้อยู่ในความอุปการะของยอดแห่งสงฆ์กล่าวคือสมเด็จพระสังฆราชเจ้า พระองค์ท่านทรงเอาใจใส่ดูแล และทรงทำการทุกอย่างเพื่อความเจริญของโรงเรียนนี้ ซ้ำยังทรงประทานคาถาซึ่งเป็นหัวใจของโรงเรียนไว้คือ "วิริเยน ทุกขมจฺเจติ"นับว่าทรงมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรงเรียนนี้มากมาย สีเหลืองจึงเป็นสีสำหรับพระองค์ท่าน และทำให้ระลึกถึงพระคุณของพระองค์

[แก้] คติพจน์ของโรงเรียน

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ได้ทรงประทานคติพจน์ว่า วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ คนล่วงทุกข์เสียได้ด้วยความเพียร เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2477


[แก้] ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง

  • พลเรือเอกถวิล รายนานนท์ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
  • นายนาม พูนวัตถุ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
  • พลเอกทวิช เสนีวงศ์ ณ อยุธยา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
  • พลเอกสุรกิจ มัยลาภ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
  • พลเอกเสริม ณ นคร อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด อดีตรองนายกรัฐมนตรี
  • นายพ่วง สุวรรณรัฐ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
  • นายสวัสดิ์ คำประกอบ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
  • พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา องคมนตรี
  • นายรัตน์ ศรีไกรวิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
  • ศาสตราจารย์ ดร.โกเมน ภัทรภิรมย์ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
  • ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
  • ศาสตราจารย์ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา
  • ศาสตราจารย์ ดร.อาณัติ อาภาภิรม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  • พลเอกสุจินดา คราประยูร อดีตนายกรัฐมนตรี
  • รองศาตราจารย์ ดร.สวนิต ยมาภัย นักวิชาการด้านอักษรศาสตร์
  • นายสมชาย แสวงการ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

[แก้] อ้างอิง

  • คณะกรรมการดำเนินงานฉลองพระชนมายุครบ ๙๐ พรรษา สมเด็จพระสังฆราช,ประวัติวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม,กรุงเทพ ฯ : คณะกรรมการดำเนินงานฉลองพระชนมายุครบ ๙๐ พรรษา,๒๕๓๑.
  • คณะกรรมการจัดทำหนังสือที่ระลึก,๑๐๘ ปีโรงเรียนวัดราชบพิธ (ที่ระลึกครบรอบ ๑๐๘ ปี ๒ มีนาคม ๒๕๓๗),กรุงเทพ ฯ : โรงเรียนวัดราชบพิธ,๒๕๓๗.
  • โรงเรียนวัดราชบพิธ,พิธีเปิดอาคารเรียน โรงเรียนวัดราชบพิธ ๒ มีนาคม ๒๕๓๔,กรุงเทพ ฯ : โรงเรียนวัดราชบพิธ,๒๕๓๔.



aa - ab - af - ak - als - am - an - ang - ar - arc - as - ast - av - ay - az - ba - bar - bat_smg - bcl - be - be_x_old - bg - bh - bi - bm - bn - bo - bpy - br - bs - bug - bxr - ca - cbk_zam - cdo - ce - ceb - ch - cho - chr - chy - co - cr - crh - cs - csb - cu - cv - cy - da - de - diq - dsb - dv - dz - ee - el - eml - en - eo - es - et - eu - ext - fa - ff - fi - fiu_vro - fj - fo - fr - frp - fur - fy - ga - gan - gd - gl - glk - gn - got - gu - gv - ha - hak - haw - he - hi - hif - ho - hr - hsb - ht - hu - hy - hz - ia - id - ie - ig - ii - ik - ilo - io - is - it - iu - ja - jbo - jv - ka - kaa - kab - kg - ki - kj - kk - kl - km - kn - ko - kr - ks - ksh - ku - kv - kw - ky - la - lad - lb - lbe - lg - li - lij - lmo - ln - lo - lt - lv - map_bms - mdf - mg - mh - mi - mk - ml - mn - mo - mr - mt - mus - my - myv - mzn - na - nah - nap - nds - nds_nl - ne - new - ng - nl - nn - no - nov - nrm - nv - ny - oc - om - or - os - pa - pag - pam - pap - pdc - pi - pih - pl - pms - ps - pt - qu - quality - rm - rmy - rn - ro - roa_rup - roa_tara - ru - rw - sa - sah - sc - scn - sco - sd - se - sg - sh - si - simple - sk - sl - sm - sn - so - sr - srn - ss - st - stq - su - sv - sw - szl - ta - te - tet - tg - th - ti - tk - tl - tlh - tn - to - tpi - tr - ts - tt - tum - tw - ty - udm - ug - uk - ur - uz - ve - vec - vi - vls - vo - wa - war - wo - wuu - xal - xh - yi - yo - za - zea - zh - zh_classical - zh_min_nan - zh_yue - zu -