โจเซฟ พูลิตเซอร์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โจเซฟ พูลิตเซอร์ อังกฤษ: Joseph Pulitzer (10 เมษายน พ.ศ. 2390 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2454) ผู้พิมพ์โฆษณาชาวฮังการี-อเมริกันผู้ได้รับการยกย่องหลังการเสียชีวิตว่าเป็นผู้ก่อตั้ง "รางวัลพูลิตเซอร์" (Pulitzer Prize) (ร่วมกับวิลเลียม แรนดอฟ เฮิร์ส) สำหรับการเป็นต้นตอของหนังสือพิมพ์แบบเยลโลว์ หรือ หนังสือพิมพ์ที่ตีข่าวตื่นเต้นเกินจริง
เนื้อหา |
[แก้] ประวัติ
โจเซฟ พูลิตเซอร์ เกิดที่เมืองมาโก ประเทศฮังการี เมื่อเติบโตขึ้นได้พยายามมุ่งสู่อาชีพการเป็นทหารแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ถูกปฏิเสธเนื่องจากมีร่างกายอ่อนแอและสายตาไม่ดี ต่อมาพูลิตเซอร์ ได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในสหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ. 2407 เพื่อสมัครเป็นทหารในสงครามกลางเมือง
[แก้] อาชีพการหนังสือพิมพ์
หลังสงครามกลางเมือง พูลิตเซอร์ได้ตั้งรกรากที่เมืองเซนต์หลุยส์โดยเข้าทำงานกับหนังสือพิมพ์รายวันภาษาเยอรมันฉบับหนึ่งและสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรครีพับลิกัน ซึ่งต่อมาพูลิตเซอร์ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภารัฐมิสซูรีเมื่อ พ.ศ. 2412 ในปี พ.ศ. 2415 พูลิตเซอร์ได้ซื้อกิจการของหนังสือพิมพ์ "โพสต์" เป็นเงิน 3,000 ดอลลาร์ และซื้อหนังสือพิมพ์ "เซนหลุยส์ดิสแพตช์" ด้วยเงิน 2,700 ดอลลาร์แล้วรวมหนังสือพิมพ์สองฉบับเป็นหนังสือพิมพ์รายวันฉบับเดียวกัน โดยรวมชื่อเป็นชื่อเดียวว่า "เซนหลุยส์โพสต์-ดิสแพตช์" และด้วยหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เองที่พูลิตเซอร์ได้พัฒนาบทบาทของตนเองขึ้นเป็น "แชมเปี้ยนแห่งสามัญชนที่เบิกนำด้วยการตีแผ่และการยึดถือลัทธิประชาชน"
ในปี พ.ศ. 2425 พูลิตเซอร์ ซึ่งกลายเป็นเศรษฐีแล้วได้ซื้อหนังสือพิมพ์ "นิวยอร์กเวิลด์" หนังสือพิมพ์รายวันทีกำลังขาดทุนปีละ 40,000 ดอลลาร์ ด้วยเงิน 346,000 ดอลลาร์ พูลิตเซอร์ได้เริ่มหันเหแนวทางการทำหนังสือพิมพ์เดิมในสมัยนั้นมาเน้นเรื่องราวที่ทำให้ผู้คนสนใจ เรื่องราวเกี่ยวกับความอื้อฉาวและเรื่องราวที่ตื่นเต้นเร้าใจ ในปี พ.ศ. 2428 พูลิตเซอร์ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนสหรัฐฯ แต่ลาออกเมื่อดำรงตำแหน่งได้ไม่กี่เดือน ในปี พ.ศ. 2430 พูลิตเซอร์ว่าจ้างผู้สื่อข่าวผู้มีชื่อเสียงด้านการสืบสวนชื่อเนลลี บลาย และเมื่อ พ.ศ. 2438 หนังสือพิมพ์เดอะเวิลด์ของเขาได้เสนอหนังสือการ์ตูนที่ประสบความสำเร็จได้รับความนิยมสูงมาก คือ "เดอะเยลโลว์คิด"วาดภาพโดย ริชาร์ด เอฟ เอาท์คัลท์ โดยเป็นหนังสือพิมพ์การ์ตูนฉบับแรกของสหรัฐฯ ที่พิมพ์สี ภายใต้การนำของพูลิตเซอร์ จำนวนยอดจำหน่ายได้พุ่งสูงจากวันละ 15,000 ฉบับถึง 600,000 ฉบับต่อวัน กลายเป็นหนังสือพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ
บรรณาธิการหนังสือพิมพ์คู่แข่งคือ "นิวยอร์กซัน" ได้โจมตีพูลิตเซอร์เมื่อ พ.ศ. 2433 โดยเรียกพูลิตเซอร์ว่าเป็น "ยิวผู้ทิ้งศาสนา" เป็นการตั้งใจดึงผู้อ่านที่เป็นเชื้อสายยิวให้เลิกอ่านหนังสือพิมพ์ของพูลิตเซอร์ ต่อมาด้วยสุขภาพที่ทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็วพูลิตเซอร์จึงถอนตัวจากงานประจำวันแต่ยังคงดูแลการจัดการอย่างใกล้ชิดจากบ้านพักตากอากาศที่บาร์ฮาร์เบอร์ ในรัฐเมน และจากคฤหาสน์ในนิวยอร์ก
[แก้] มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
ในปี พ.ศ. 2435 โจเซฟ พูลิตเซอร์ได้เสนอเงินบริจาคแก่อธิการบดี เซท โลว์ เพื่อจัดตั้งเป็นเงินทุนก่อตั้งสถาบันการศึกษาวิชาการหนังสือพิมพ์แห่งแรกของโลกขึ้น แต่ในครั้งนั้นมหาวิทยาลัยได้บอกปัดข้อเสนอการรับเงินกองทุนดังกล่าวเนื่องจากการมีชื่อเสียงในทางอื้อฉาวของพูลิตเซอร์ อย่างไรก็ดี ในปี พ.ศ. 2445 อธิการบดีคนใหม่คือนิโคลัส เมอรเรย์ บัทเลอร์ได้แสดงทีท่าตอบตกลงข้อเสนอในการจัดตั้งสาขาวิชาใหม่และเงินทุนก่อตั้งนี้ แต่ก็ยังไม่เป็นผลจนกระทั่งหลังการเสียชีวิตของพูลิตเซอร์ไปแล้ว ฝันของเขาจึงได้เป็นจริง พูลิตเซอร์ได้มอบเงินจำนวน 2,000,000 เหรียญโดยเขียนไว้ในพินัยกรรมซึ่งนำไปสู่การก่อตั้ง บัณฑิตวิทยาลัยวิชาการหนังสือพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย' ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2445 แต่ขณะนั้น มหาวิทยาลัยมิสซูรี-โคลัมเบียก็ได้ก่อตั้ง คณะวิชาการหนังสือพิมพ์แห่งมิสซูรี ไปก่อนแล้วโดยการสนับสนุนของพูลิตเซอร์เอง
บัณฑิตวิทยาลัยวิชาการหนังสือพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นับเป็นสถาบันการศึกษาด้านวิชาการหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงโดดเด่นมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกมาถึงปัจจุบัน
โจเซฟ พูลิตเซอร์เสียชีวิตขณะพักผ่อนบนเรือยอชท์ในอ่าวชาร์ลสตัน รัฐเซาท์แคโรไลนาเมื่อ พ.ศ. 2454 และได้รับการฝังศพไว้ที่สุสานวูดแลนด์ บรองซ์ นิวยอร์ก
[แก้] มรดก
ในปี พ.ศ. 2460 ได้มีการมอบรางวัลพูลิตเซอร์ขึ้นเป็นครั้งแรกตามความประสงค์ของพูลิตเซอร์ ในปี พ.ศ. 2532 ได้มีการจารึกชื่อของพูลิตเซอร์ไว้ ณ บาทวิถีผู้เรืองนามแห่งเซนต์หลุยส์ ชีวิตเชิงนวนิยายของโจเซฟ พูลิตเซอร์ได้รับการสร้างเป็นบทภาพยนตร์เพลงของดิสนีย์ เรื่อง "Newsies" เมื่อ พ.ศ. 2535
[แก้] อ้างอิง
- Brian, Denis. Pulitzer: A Life (2001)
- The date of birth, according to other sources such as Encyclopedia Britannica, is April 10, 1847.