See also ebooksgratis.com: no banners, no cookies, totally FREE.

CLASSICISTRANIERI HOME PAGE - YOUTUBE CHANNEL
Privacy Policy Cookie Policy Terms and Conditions
อำเภอไชยา - วิกิพีเดีย

อำเภอไชยา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อำเภอไชยา
แผนที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เน้นอำเภอไชยา
ข้อมูลทั่วไป
อักษรไทย อำเภอไชยา
อักษรโรมัน Amphoe Chaiya
จังหวัด สุราษฎร์ธานี
รหัสทางภูมิศาสตร์ 8406
รหัสไปรษณีย์ 84110
ข้อมูลสถิติ
พื้นที่ 1,004.63 ตร.กม.
ประชากร 46,981 คน (พ.ศ. 2004)
ความหนาแน่น 46.49 คน/ตร.กม.
ที่ว่าการอำเภอ
ที่ตั้ง ตลาดไชยา

สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

อำเภอไชยา เมืองอำเภอหนึ่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เคยเป็นเมืองเก่าแก่มากแห่งหนึ่งในทางใต้ของภูมิภาคนี้ เชื่อกันว่าเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรศรีวิชัยในสมัยโบราณ โดยมีหลักฐานทั้งโบราณวัตถุ และโบราณสถานจำนวนมาก

เนื้อหา

[แก้] ที่ตั้ง

อำเภอไชยาเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสุราษฎร์ธานี อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร 614 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัดสุราษฎร์ธานีไปทางทิศเหนือ 38 กิโลเมตร ห่างจากฝั่งทะเลประมาณ 7 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

[แก้] ประวัติ

ดูเพิ่มเติม : ประวัติอำเภอไชยา

อำเภอไชยาเดิมมีฐานะเป็นเมือง เรียกว่า “เมืองไชยา” ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งในจำนวน 3 เมือง ในอาณาจักรศรีวิชัยที่เจริญรุ่งเรืองมาก เป็นศูนย์กลางการปกครองเป็นศูนย์กลางการค้าขายกับต่างประเทศ และเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่ศาสนา แต่ต่อมาปี พ.ศ. 1568 ได้ถูกประเทศอินเดียฝ่ายใต้เข้ายึดอำนาจไว้ได้ ทว่าก็เป็นไปชั่วคราวเท่านั้นก็สามารถรวมคนตั้งตัวได้อีก และได้ทำการรบพุ่งชิงความเป็นใหญ่ เพื่อชิงเกาะสุมาตราและแหลมมลายูกับอาณาจักรมัชปาหิต(ชวา) จนอ่อนกำลังทั้งคู่ เลยถูกอาณาจักรสุโขทัยตีได้ และเข้าครอบครองไว้ทั้งหมดในปี พ.ศ. 1800 ดังนั้นเมืองไชยาซึ่งเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรศรีวิชัยก็ตกเป็นขอบขัณฑ์สีมาของอาณาจักรสุโขทัยแต่บัดนั้น

ประวัติศาสตร์เมืองไชยาระยะต่อจากนั้นก็เงียบหายไป จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2328 พม่ายกกองทัพมาซึ่งคนไทยรู้จักกันดีในชื่อสงคราม เก้าทัพ บุกเข้าตีเมืองชุมพร แล้วตีเรื่อยจนถึงเมืองไชยา พร้อมกับเผาเมืองเสียจนถาวรวัตถุเป็นซากปรักหักพังเหลือไว้เป็นอนุสรณ์

เดิมอำเภอท่าฉางและอำเภอท่าชนะเคยรวมอยู่เป็นอำเภอเดียวกันกับอำเภอไชยา ต่อมาอำเภอท่าฉางแยกออกเป็น กิ่งอำเภอท่าฉาง และได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอท่าฉางเมื่อ พ.ศ. 2482 สำหรับอำเภอท่าชนะ แยกออกเป็นกิ่งอำเภอท่าชนะ เมื่อ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2491 และต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอท่าชนะ เมื่อ วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2499 ต่อมา เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2490 ทางราชการได้จัดตั้งศาลจังหวัดและเรือนจำขึ้นที่อำเภอไชยา และเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 อำเภอไชยาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น อำเภอชั้นเอก

ปัจจุบัน อำเภอไชยาแบ่งการปกครองออกเป็น 9 ตำบล มี 53 หมู่บ้าน มีการปกครองส่วนท้องถิ่น 2 หน่วย คือ เทศบาล และ องค์การบริหารส่วนตำบล มีประชากรทั้งหมด

[แก้] รายชื่อเจ้าเมืองไชยา

ดูเพิ่มเติม : รายชื่อเจ้าเมืองไชยา

ตามจดหมายเหตุของ หมื่นอารีราษฎร์ (วิน สาลี) บันทึกไว้ว่า เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้มีรับสั่งให้พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) เจ้าเมืองไชยา ให้ช่วยสืบหานามตำแหน่งเจ้าเมืองไชยา และนามเดิมตั้งแต่คนแรกตลอดมา จึงได้จัดการสืบหา ได้ตามคำบอกเล่าของ ขุนนาคเวชวีรชน (จบ นาคเวช) อดีตกำนันตำบลทุ่ง และพระยาศรีสงคราม (ช่วย )ปลัดเมืองไชยา นอกราชการ ดังนี้

  • มะระหุมปะแก
  • มะระหุมตาไฟ
  • มะระหุมมุดา
  • พระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม (บุญชู)
  • พระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม (บุญชู)
  • พระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม (พุทโธ)
  • พระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม (หัวสั่น)
  • พระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม (มี)
  • พระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม (ท้วม)
  • พระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม (ปลอด)
  • พระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม(กลิ่น)
  • พระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม(กลับ)
  • พระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม(กลับ)
  • พระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม(จุ้ย)
  • พระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม (น้อย)
  • พระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม(ขำ ศรียาภัย)
  • นายพินิจราชการ (ปิ้ว)
  • หลวงวิเศษภักดี (อวบ)

[แก้] การแบ่งเขตการปกครอง

"พระบรมธาตุเจดีย์" ในวัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร
"พระบรมธาตุเจดีย์" ในวัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร

อำเภอไชยา แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 9 ตำบล 54 หมู่บ้าน 2 เทศบาลตำบล (เทศบาลตำบลพุมเรียง และ เทศบาลตำบลตลาดไชยา) 7 องค์การบริหารส่วนตำบล

ใส่ตัวเลข ชื่อ หมู่บ้าน ประชากร     
1. ตลาดไชยา 5 5,887
2. พุมเรียง 5 7,506
3. เลม็ด 7 4,556
4. เวียง 5 3,294
5. ทุ่ง 8 4,953
6. ป่าเว 4,867
7. ตะกรบ 5 3,666
8. โมถ่าย 6 4,024
9. ปากหมาก 7 8,228
แผนที่

[แก้] ลักษณะภูมิศาสตร์และภูมิอากาศ

[แก้] ลักษณะภูมิประเทศ

ท้องที่อำเภอไชยาแบ่งออกเป็นสามตอน คือทางทิศตะวันออกซึ่งติดกับทะเลเป็นที่ราบน้ำเค็ม มีป่าไม้ชายเลน ไม้เบญจพรรณ และทุ่งหญ้าที่ไม่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ ตอนกลางเป็นที่ราบลุ่ม แต่เดิมมีน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปีแต่ปัจจุบันน้ำจะแห้งในระหว่างเดือน 5 และเดือน 6 ทางทิศตะวันตกเป็นที่ราบสูงประกอบด้วยภูเขาและป่าไม้ พื้นที่ตอนนี้เป็นสวนยางและสวนผลไม้ยืนต้นทั่วไป

[แก้] ดินฟ้าอากาศ

มีฝนตกชุกเกือบตลอดปี เพราะตั้งอยู่ในคาบสมุทรจึงได้รับลมมรสุมเต็มที่ มีเพียง 2 ฤดู คือ ฤดูแล้งและฤดูฝน ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนธันวาคมตามลำดับ

[แก้] ลำน้ำสำคัญ

ไชยามีลำน้ำสำคัญ 2 สาย คือ

  • คลองไชยา ต้นกำเนิดจากแพรกหรือแควต่างๆในทิวเขาแดนซึ่งเป็นทิวเขากั้นระหว่างอำเภอกะเปอร์จังหวัดระนอง กับอำเภอไชยา ไหลผ่านตำบลโมถ่าย ตำบลป่าเว ตำบลเวียง แล้วไหลผ่านแยกลงทะเลที่ปากน้ำท่าปูนและปากน้ำไชยา ตำบลเลม็ด เมื่อ 100 ปีก่อนเรือใบสามารถแล่นมาถึงวัดพระบรมธาตุได้
  • คลองตะเคียน ต้นกำเนิดจากเทือกเขาจอมสีในอำเภอท่าชนะ ไหลเขาสู่อำเภอไชยาที่ตำบลป่าเว ผ่านตำบลตลาด ตำบลทุ่ง และไหลออกปากน้ำที่ตำบลพุมเรียง

การประกอบอาชีพ

[แก้] การเกษตร

[แก้] การทำนา

เนื้อที่เพื่อการทำนามีไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเนื้อที่ ทั้งหมดแต่การทำนาก็นับว่าเป็นอาชีพหลัก โดยทั่วไปส่วนใหญ่ทำกันรอบๆบริเวณตัวเมือง (อำเภอและตลาด) ยิ่งห่างออกไปก็มีเนื้อที่เพาะปลูกน้อยลงตามลำดับ ปัจจุบันเริ่มมีการทำนาปีละ 2 ครั้งกันหลายตำบล สำหรับการเกี่ยวข้าวนั้น แต่เดิมชาวไชยาใช้วิธีลงแขกกันคือนัดกันไปเก็บเกี่ยวของคนนั้นในวันหนึ่งของคนนี้อีกวันหนึ่งสลับกันไป ซึ่งปัจจุบันยังมีให้เห็นในหลายหมู่บ้าน เครื่องมือเก็บเกี่ยวนั้น แต่เดิมชาวไชยาใช้ “ตรูด” ปัจจุบันกำลังสูญหายไปและมีคนใช้น้อยมาก บางคนไม่สามารถใช้ “ตรูด” ได้แล้ว เพราะหันไปใช้ “เคียว”สำหรับเก็บเกี่ยวเกือบทั่วไป

[แก้] การทำไร่

แต่เดิมทำกันประปรายทางแถบที่เป็นที่ราบสูงทางตะวันตกบริเวณเชิงเขา แต่ส่วนใหญ่เป็นการทำไร่แบบเลื่อนลอย

[แก้] การทำสวน

การทำสวนของชาวไชยาที่กำลังขยับขยายและกำลังทำกันอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้นปัจจุบันคือการทำสวนยางพารา ซึ่งทำกันมากทางตะวันตกและเขตติดต่ออำเภอท่าฉาง

[แก้] การเลี้ยงสัตว์

สัตว์ที่เลี้ยงกันมากและมีอยู่เกือบทุกตำบล คือหมู เป็ด ไก่ วัว และควายโดยเฉพาะการเลี้ยงไก่ เป็ด มีการเลี้ยงเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ ขนาดกลาง อยู่หลายแห่ง ซึ่งนอกเหนือจากการเลี้ยงเป็นประจำบ้านจำนวนน้อยที่มีอยู่ไปทั่ว

[แก้] การประมง

เนื่องจากอาณาเขตทางด้านทางด้านตะวันออกของอำเภอไชยา ติดต่อกับทะเลคืออ่าวบ้านดอน ดังนั้นอาชีพอีกอย่างหนึ่งของชาวไชยาคือการประมง ซึ่งนับได้ว่าเป็นอาชีพที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการประกอบอาชีพการเกษตรเลย โดยเฉพาะราษฎรที่อาศัยอยู่ริมทะเล ตั่งแต่เขตติดต่ออำเภอท่าชนะจนถึงเขตอำเภอท่าฉาง ต่างก็ยึดอาชีพการประมงเป็นอาชีพหลัก คือราษฎรตำบลตะกรบ พุมเรียง และตำบลเลม็ด แต่ที่หนาแน่นที่สุดได้แก่ราษฎรตำบลพุมเรียง ชาวไชยาทำการประมงด้วยวิธีต่างๆกันออกไป ตั้งแต่ แห อวน ขนาดเล็กริมน้ำตื้น จนถึงขนาดใช้เครื่องมือที่เกิดจากเทคโนโลยีสมัยใหม่เหมือนกับการประมงทั่วไปของไทย ปัจจุบันอาชีพใหม่ของชาวประมงคือการเลี้ยงหอยแครง หอยแมลงภู่ และที่ได้รับผลแล้วที่ปากน้ำพุมเรียง อีกอย่างหนึ่งคือการทำนากุ้ง

[แก้] การอุตสาหกรรม

การอุตสาหกรรมเครื่องจักรแต่เดิมมีโรงสีข้าวขนาดใหญ่ 2 โรง ปัจจุบันมีเพียงโรงสีขนาดกลาง และขนาดเล็ก อุตสาหกรรมในครัวเรือน มีทำกันหลายอย่าง แต่ที่ขึ้นหน้าขึ้นตาและเป็นที่ยอมรับทั่วไปมี

  • การเย็บหมวก แต่เดิมทำกันมากที่ตำบลพุมเรียง ปัจจุบันมีแพร่หลายไปหลายหมู่บ้าน โดยการเย็บแล้วส่งไปขายต่างจังหวัดส่วนที่จำหน่ายในท้องถิ่นมีน้อยลงกว่าเดิม
  • การทอผ้าไหมผ้ายก ทำกันมากในท้องที่ตำบลพุมเรียง และผ้าไหมพุมเรียงก็เป็นผ้าไหมที่มีชื่อเสียงมากอีกอย่างหนึ่งของอำเภอไชยา
  • การทำไข่เค็ม นับได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมภายในครัวเรือน อย่างหนึ่งที่กำลังมีชื่อเสียงทั่วประเทศ ทำกันมากในท้องที่ตำบลตลาด ไชยา และบริเวณรอบๆตัวตลาดไชยา ปัจจุบันการทำไข่เค็มได้รับการสนับสนุนจากทางราชการ ดังนั้นการทำไข่เค็มจึงเริ่มขยายเข้าสู่โรงเรียน มีอยู่หลายโรงเรียนกำลังฝึกสอนให้นักเรียนทำไข่เค็มและเป็นสินค้าของโรงเรียนเพื่อหารายได้เข้าบำรุงการศึกษา
  • การทำน้ำตาลโตนด ทำกันมากที่ตำบลทุ่งและนำตาลจากแหล่งนี้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่คนชาวไชยาถ้าพูดถึงน้ำตาลก็ต้อง “น้ำตาลบ้านทุ่ง” เพราะสีสวยปราศจากการปลอมปน หวานหอม เป็นที่ถูกใจของผู้ที่เคยลิ้มรส
  • การทำขนมที่มีชื่อเสียงของอำเภอไชยา ได้แก่ “ขนมกรุบ” และ “จั้ง” ซึ่งทำกันมากในบริเวณตลาดไชยา
  • การค้าขายเป็นอาชีพที่ทำกันเฉพาะในตัวอำเภอและที่ตำบลพุมเรียง และของที่ทำการค้าขายส่วนใหญ่ได้แก่เครื่องอุปโภคบริโภคทุกชนิด


[แก้] โบราณสถานและสถานที่ท่องเที่ยว

เนื่องจากไชยาเป็นเมืองเก่าแก่ดังนั้นจึงมีสถานที่โบราณและสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอยู่หลายแห่ง เช่น

  • พระบรมธาตุไชยา ตั้งอยู่ที่วัดพระบรมธาตุฯ ริมถนนใหญ่ทางเข้าอำเภอไชยา เป็นเจดีย์บรรจุพระบรมสาริกธาตุแบบศรีวิชัย มีอายุประมาณ 1,200 ปี
  • วัดเวียง ตั้งอยู่ตำบลตลาดไชยา บริเวณเคยเป็นเมืองเก่า เชื่อกันว่าเดิมเป็นวังของกษัตริย์ศรีวิชัย สร้างเมื่อ พ.ศ. 1726
  • บ่อน้ำพุร้อน อยู่ที่ตำบลเลม็ด ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 2 กิโลเมตร ตรงเชิงเขาบ่อร้อน และน้ำพุร้อนผุดจาไต้ภูเขาตลอดเวลา อุณหภูมิประมาณ 50 องศาเซลเซียส
  • ป่าไทรงาม อยู่ที่ตำบลเลม็ด มีต้นไทรขึ้นหนาแน่น ดูจนคล้ายเป็นป่า มีแม่น้ำคลองไชยาตอนแยกไปคลองท่าปูนไหลผ่าน เป็นที่สวนที่ร่มรื่น เหมาะแก่การพักผ่อน
  • สวนโมกข์พลาราม (วัดธารน้ำไหล) เดิมตั้งอยู่ที่ตำบลพุมเรียง ปัจจุบันได้ย้ายมาอยู่ท้องที่ตำบลเลม็ด ริมถนนสาย 41 เป็นสำนักสงฆ์ตั้งอยู่ที่ในอุทยานที่สวยงามตามธรรมชาติ มีลำธารเล็กๆไหลผ่าน เป็นที่สงบร่มเย็นเหมาะแก่การปฏิบัติธรรมและท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
  • ถ้ำพระกฤษณะและรอยพระบาท ที่วัดสวนโมกข์พลาราม
  • สวนโมกข์นานาชาติ ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของถนนสาย 41 เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและอบรมธรรมะให้กับชาวต่างประเทศที่สนใจ อีกทั้งที่บริเวณใกล้เคียงจะมีบ่อน้ำพุร้อนให้ทุกท่านสามารถอาบได้
  • หมู่บ้านพุมเรียง เป็นที่ตั้งเมืองไชยาเก่า ห่างถนนสาย 41 มาทางทิศตะวันออกประมาณ 7 กิโลเมตร ติดชายทะเล มีสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นหาดทรายบริเวณหาดแหลมโพธิ์ เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ตอนยกทัพมาปราบพระยานคร และเป็นที่ประทับของรัชกาลที่ 5 ตอนเสด็จประพาสหัวเมืองภาคใต้ วัดสวนโมกข์ (เก่า) เป็นสถานที่แรกที่ท่านอาจารย์พุทธทาสได้สร้างขึ้นก่อนที่จะย้ายไปยังที่ตั้งปัจจุบัน ในตัวตลาด มีการทอผ้าไหมที่มีชื่อเสียงมากคนทั่วไปรู้จักในนาม “ผ้าไหมพุมเรียง” ลวดลายดอกต่างๆบนผืนผ้าเป็นที่แปลกตาเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น
  • บ่อน้ำมูรธาภิเษก อยู่ที่ตำบลทุ่ง เป็นบ่อน้ำที่ใช้ในพระราชพิธีมูรธาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

[แก้] มวยไชยา

ดูเพิ่มเติม : มวยไชยา

มวยไชยาเป็นศิลปะมวยไทยประจำถิ่นอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีชื่อเสียงมากสมัยรัชกาลที่ 5 - 6 จนมีนักมวยจากไชยาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหมื่นมวยมีชื่อ

มวยไชยาเริ่มมีระเบียบแบบแผนชัดเจนที่ตำบลพุมเรียง โดยนายมาชาวกรุงเทพฯ มาบวชที่วัดทุ่งจับช้างและสอนวิชามวยให้แก่ผู้ที่สนใจ ต่อมาพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) เจ้าเมืองไชยาในเวลานั้นพาลูกศิษย์ขึ้นไปชกมวยหน้าพระที่นั่ง จน นายปล่อง จำนงทองได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหมื่นมวยมีชื่อ นอกจากนี้พระยาวจีฯจัดให้มีการแข่งขันมวยในงานสมโภชพระบรมธาตุไชยาทุกปี บุตรธิดาของพระยาวจีฯ เช่น ชื่น ศรียาภัย เป็นผู้ส่งนักมวยจกไชยาขึ้นมาชกในกรุงเทพฯจนเป็นที่รู้จัก

เมื่อย้ายตัวเมืองไชยาจากตำบลพุมเรียงไปที่ตำบลตลาดไชยาดังในปัจจุบัน สถานที่ใหม่ที่ใช้จัดมวยคือสนามมวยเวทีพระบรมธาตุไชยา ในยุคนี้มีนักมวยเกิดขึ้นหลายคณะ แต่เมื่อเวทีมวยแห่งนี้สิ้นสุดลง วงการมวยไชยาก็เริ่มเสื่อมลง



อำเภอในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตราประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี

เมืองสุราษฎร์ธานี - กาญจนดิษฐ์ - ดอนสัก - เกาะสมุย - เกาะพะงัน - ไชยา - ท่าชนะ - คีรีรัฐนิคม - บ้านตาขุน - พนม - ท่าฉาง - บ้านนาสาร - บ้านนาเดิม - เคียนซา - เวียงสระ - พระแสง - พุนพิน - ชัยบุรี - วิภาวดี

อำเภอไชยา เป็นบทความเกี่ยวกับ จังหวัด อำเภอ หรือเขตการปกครองต่าง ๆ ของประเทศไทย ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น
ข้อมูลเกี่ยวกับ อำเภอไชยา ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ หรือ ดูเพิ่มที่ สถานีย่อย:ประเทศไทย
ภาษาอื่น


aa - ab - af - ak - als - am - an - ang - ar - arc - as - ast - av - ay - az - ba - bar - bat_smg - bcl - be - be_x_old - bg - bh - bi - bm - bn - bo - bpy - br - bs - bug - bxr - ca - cbk_zam - cdo - ce - ceb - ch - cho - chr - chy - co - cr - crh - cs - csb - cu - cv - cy - da - de - diq - dsb - dv - dz - ee - el - eml - en - eo - es - et - eu - ext - fa - ff - fi - fiu_vro - fj - fo - fr - frp - fur - fy - ga - gan - gd - gl - glk - gn - got - gu - gv - ha - hak - haw - he - hi - hif - ho - hr - hsb - ht - hu - hy - hz - ia - id - ie - ig - ii - ik - ilo - io - is - it - iu - ja - jbo - jv - ka - kaa - kab - kg - ki - kj - kk - kl - km - kn - ko - kr - ks - ksh - ku - kv - kw - ky - la - lad - lb - lbe - lg - li - lij - lmo - ln - lo - lt - lv - map_bms - mdf - mg - mh - mi - mk - ml - mn - mo - mr - mt - mus - my - myv - mzn - na - nah - nap - nds - nds_nl - ne - new - ng - nl - nn - no - nov - nrm - nv - ny - oc - om - or - os - pa - pag - pam - pap - pdc - pi - pih - pl - pms - ps - pt - qu - quality - rm - rmy - rn - ro - roa_rup - roa_tara - ru - rw - sa - sah - sc - scn - sco - sd - se - sg - sh - si - simple - sk - sl - sm - sn - so - sr - srn - ss - st - stq - su - sv - sw - szl - ta - te - tet - tg - th - ti - tk - tl - tlh - tn - to - tpi - tr - ts - tt - tum - tw - ty - udm - ug - uk - ur - uz - ve - vec - vi - vls - vo - wa - war - wo - wuu - xal - xh - yi - yo - za - zea - zh - zh_classical - zh_min_nan - zh_yue - zu -