See also ebooksgratis.com: no banners, no cookies, totally FREE.

CLASSICISTRANIERI HOME PAGE - YOUTUBE CHANNEL
Privacy Policy Cookie Policy Terms and Conditions
หมู่บ้านคุ้งตะเภา - วิกิพีเดีย

หมู่บ้านคุ้งตะเภา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

หมู่บ้านคุ้งตะเภา
Ban Khung Taphao


ป้ายหมู่บ้านคุ้งตะเภา ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2535
พิกัดภูมิศาสตร์: 17°39′24″N, 100°8′55″E

ข้อมูลทั่วไป
ตำบล คุ้งตะเภา
อำเภอ เมือง
จังหวัด อุตรดิตถ์
รหัสไปรษณีย์ 53000
การปกครอง
ผู้ใหญ่บ้าน นายสมชาย สำเภาทอง[1]
ข้อมูลสถิติ
พื้นที่ 2,348 ไร่ [2]
ประชากร 1,436 คน (ชาย 650 คน, หญิง 786 คน) [3]
ครัวเรือน 437 หลัง[4]
แหล่งน้ำสำคัญ แม่น้ำน่าน
เส้นทางคมนาคมหลัก ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11

หมู่บ้านคุ้งตะเภา หรือ บ้านคุ้งตะเภา (หรือชื่อ "ทุ่งบ้านคุ้งตะเภา" ในอดีต) [5] เป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่าสองร้อยปี ชาวบ้านคุ้งตะเภาส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท มีประเพณีและวัฒนธรรมคล้ายกับหมู่บ้านชนบททั่วไปในแถบภาคกลางตอนบน โดยมีวัดประจำหมู่บ้าน 1 แห่ง สถานีอนามัย 1 แห่ง และ โรงเรียนระดับพื้นฐาน 1 โรง มีแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคที่สำคัญคือ แม่น้ำน่าน เส้นทางคมนาคมหลักคือ ถนนสายเอเชีย (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11) ด้านเศรษฐกิจ ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันมี นายสมชาย สำเภาทอง เป็นผู้ใหญ่บ้าน (ตั้งแต่ พ.ศ. 2548)

เนื้อหา

[แก้] ชื่อหมู่บ้าน

โค้งสำเภาล่ม หลังวัดคุ้งตะเภาในปัจจุบัน เป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านคุ้งตะเภา
โค้งสำเภาล่ม หลังวัดคุ้งตะเภาในปัจจุบัน เป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านคุ้งตะเภา

คุ้งตะเภา มีความหมายว่า "คุ้งเรือสำเภา"[6] มาจากศัพท์คำว่า "คุ้ง" หมายถึง ส่วนเว้าโค้งเข้าไปของฝั่งน้ำด้านที่ตรงกันข้ามกับหัวแหลม [7] และ "ตะเภา" แผลงมาจากศัพท์เดิม คือ "สำเภา" (เรือชนิดหนึ่ง)

สภาพที่ตั้งของหมู่บ้านคุ้งตะเภาในอดีตนั้นอยู่ติดริมแม่น้ำน่านและอยู่ใกล้กับชุมนุมการค้าที่สำคัญของภาคเหนือที่มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยอยุธยา คือ ตำบลท่าเสา โดยในสมัยก่อนการทำการค้าขายนิยมขนสินค้าขึ้นมาลงยังท่าเสาโดยอาศัยเรือเป็นยานพาหนะหลัก เพื่อส่งสินค้าไปยังเมืองทางเหนือขึ้นไปจนไปถึงหลวงพระบางโดยทางบกเพราะเหนือขึ้นไปนั้นแม่น้ำจะตื้นเขินและมีเกาะแก่งมาก แต่ในฤดูฝนนั้นแม่น้ำมักจะมีน้ำหลากท่วมเต็มตลิ่งเป็นเวิ้งน้ำขนาดใหญ่ ทำให้พ่อค้าสามารถขนสินค้าขึ้นล่องไปยังเมืองเหนือโดยใช้เรือขนาดใหญ่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของตำนานเรือสำเภาล่มอันกลายมาเป็นชื่อหมู่บ้านนี้ในปัจจุบัน

ชื่อหมู่บ้านคุ้งตะเภานั้นมีที่มาจากคำบอกเล่าที่กล่าวกันว่า เคยมีเรือสำเภาล่มบริเวณโค้งแม่น้ำน่านหน้าวัดคุ้งตะเภา ชาวสวนที่อาศัยทำไร่นาอยู่แถบนั้นจึงเรียกบริเวณนั้นว่า โค้งสำเภาล่ม ต่อมา มีคนมาอาศัยอยู่มากขึ้นและเพื่อความสะดวกปาก จึงกลายเป็น คุ้งสำเภา เมื่อเรียกกันนานเข้าจึงแผลงมาเป็น คุ้งตะเภา และเรียกกันเช่นนี้ตลอดมา ซึ่งมีหลักฐานว่าคนทั่วไปเรียกหมู่บ้านนี้ว่า คุ้งตะเภา มาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว[6] ดังปรากฏในเสภาตอนหนึ่ง[8]ในขุนช้างขุนแผน ตอน สมเด็จพระพันวษา พระราชทานนักโทษฉกาจให้แก่ขุนแผนเพื่อนำร่วมทัพไปรบกับเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมี "อ้ายกุ้ง (ชาว) คุ้งตะเภา" ปรากฏตัวในรายชื่อ 35 นักโทษด้วย (ขุนช้างขุนแผนเป็นวรรณคดีที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้แต่งขึ้นในสมัยของพระองค์ โดยมีเค้าโครงเรื่องเดิมจากสมัยอยุธยา)

[แก้] ประวัติหมู่บ้าน

โดยพื้นเพของคนคุ้งตะเภานั้นเป็น “คนไทยเหนือ” ตามคำปากของคนในสมัยอยุธยา[9] คือ เป็นคนไทยที่อยู่แถบเมืองพิษณุโลก ชัยนาท สุโขทัย โดยคนคุ้งตะเภาดั้งเดิมนั้น มีสำเนียงการพูดคล้ายคนสุโขทัย เมืองฝางสวางคบุรีและทุ่งยั้ง และจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่าคนที่มาตั้งหมู่บ้านคุ้งตะเภาเป็นทหารจากเมืองสุโขทัยที่เดินเท้าไปรบทางลาว เมื่อเดินทัพผ่านมาทางนี้เห็นเป็นที่อุดมสมบูรณ์ดีไม่มีใครจับจอง เมื่อเสร็จศึกจึงชวนกันมาตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัยจนกลายมาเป็นหมู่บ้านใหญ่ในปัจจุบัน ถนนจากห้าแยกป่าขนุนลงไปทางวัดใหม่เจริญธรรม ลงไปท่าทรายชลิตดานั้น ในอดีตเป็นร่องลึกเมื่อน้ำหลากน้ำก็จะท่วมเสมอ ๆ เพราะว่าเป็นทางเดินทัพโบราณ เวลาข้ามแม่น้ำน่านก็จะมาขึ้นที่นี่ผ่านไปเมืองฝาง ตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนสมัยกรุงธนบุรี เมื่อคราวปราบก๊กเจ้าพระฝางที่เมืองฝางสวางคบุรี สันนิษฐานว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินและเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่ 1) ก็เคยเดินทัพผ่านมาทางนี้ด้วย

อดีตนั้นบ้านคุ้งตะเภามีสภาพเหมือนหมู่บ้านในป่าใหญ่ คนเฒ่าคนแก่เล่ากันมาว่าแถบบ้านคุ้งตะเภาเป็นดงกวาง บางครั้งก็มีเสือมาจับสัตว์เลี้ยงไปเป็นอาหาร ต่อมาผ่านมาหลายชั่วคน บ้านคุ้งตะเภามีประชากรมากขึ้นตามลำดับ จนปัจจุบันนี้พื้นที่ป่าอันอุดมสมบูรณ์ในอดีตไม่หลงเหลือให้เห็นอีกแล้ว คงมีแต่ต้นไม้ขนาดใหญ่ 2-3 ต้น หลายสิบคนโอบ เหลือไว้เป็นประจักษ์พยานของความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติของหมู่บ้านคุ้งตะเภาในอดีตเท่านั้น[10]

ดูเพิ่มได้ที่ ความเป็นมาของชื่อคุ้งตะเภา

[แก้] สภาพภูมิศาสตร์

ภาพถ่ายดาวเทียมบ้านคุ้งตะเภา แสดงให้เห็นถึงบริเวณที่ตั้งของหมู่บ้านและโค้งแม่น้ำน่านอันเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน และร่องแม่น้ำเดิมซึ่งพึ่งตื้นเขินมาเมื่อร้อยกว่าปีมานี้
ภาพถ่ายดาวเทียมบ้านคุ้งตะเภา แสดงให้เห็นถึงบริเวณที่ตั้งของหมู่บ้านและโค้งแม่น้ำน่านอันเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน และร่องแม่น้ำเดิมซึ่งพึ่งตื้นเขินมาเมื่อร้อยกว่าปีมานี้

หมู่บ้านคุ้งตะเภาตั้งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ มีเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ คือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 (ถนนเอเชีย) มีทรัพยากรแหล่งน้ำ คือ แม่น้ำน่าน มีวัดประจำหมู่บ้าน 1 แห่ง บ้านพักอาศัยตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้าน (ติดริมถนนเอเชีย และถนนรอง คือ ถนนคุ้งตะเภา-โรงงานเอกลักษณ์, ถนนบ้านคุ้งตะเภา-บ้านหัวหาด และถนนบ้านคุ้งตะเภา-บ้านป่าขนุน) เดิมการตั้งบ้านเรือนจะอยู่ใกล้กัน แต่เมื่อมีการตัดถนนใหญ่ผ่านทางด้านตกวันตกของหมู่บ้าน (ถนนเอเชีย) ทำให้บ้านคุ้งตะเภาแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ บ้านเรือนที่ตั้งอยู่ทิศตะวันออกและตะวันตก บ้านเรือนส่วนใหญ่นั้นตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของถนนเชีย ทางการเคยขอแบ่งหมู่บ้านคุ้งตะเภาออกเป็นสองส่วนดังกล่าว แต่ถูกชาวบ้านคุ้งตะเภาคัดค้าน[6]

ปัจจุบัน หมู่บ้านคุ้งตะเภา มีพื้นที่ทั้งหมด 2,348 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทางเกษตรกรรม 1,915 ไร่ พื้นที่อยู่อาศัย 433 ไร่[2] โดยพื้นที่เกษตรกรรมส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทิศตะวันออกของหมู่บ้าน หมู่บ้านคุ้งตะเภาเป็น หมู่บ้านแรกในจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่มีโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า เมื่อ พ.ศ. 2522[11] โดยสูบน้ำจากแม่น้ำน่าน มาทำการชลประทานผันน้ำเข้าสู่นาข้าวของชาวบ้าน ทำให้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา ชาวบ้านคุ้งตะเภาสามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง

หมู่บ้านคุ้งตะเภาเป็นที่ตั้งของสถานีอนามัยประจำตำบลคุ้งตะเภา และมีสถานีตำรวจ 1 แห่ง มีพื้นที่ติดต่อกับหมู่บ้านใกล้เคียง ดังต่อไปนี้

  1. ทิศเหนือ ติดต่อกับแม่น้ำน่าน (หมู่บ้านวังสีสูบ ตำบลงิ้วงาม)
  2. ทิศใต้ ติดต่อกับหมู่บ้านป่าขนุน ตำบลคุ้งตะเภา
  3. ทิศตะวันออก ติดต่อกับหมู่บ้านบ่อพระ ตำบลคุ้งตะเภา
  4. ทิศตะวันตก ติดต่อกับแม่น้ำน่าน (ค่ายพระยาพิชัยดาบหัก)

[แก้] การปกครอง

ปัจจุบัน บ้านคุ้งตะเภามีผู้ใหญ่บ้าน คือ นายสมชาย สำเภาทอง ซึ่งได้รับเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2548[6]

[แก้] รายชื่อผู้ใหญ่บ้านคุ้งตะเภาในอดีต

รายชื่อผู้ใหญ่บ้านคุ้งตะเภาย้อนหลังตั้งแต่ พ.ศ. 2533 จนถึงปัจจุบัน

ชื่อ สกุล ปีดำรงตำแหน่ง
นายบุญช่วย เรืองคำ พ.ศ. 2533 - พ.ศ. 2540 (2สมัย)
นายสมหมาย มากคล้าย พ.ศ. 2541 - พ.ศ. 2544
นางเรียมจิตร สุรัตนวรินทร์ พ.ศ. 2545 - พ.ศ. 2548
นายสมชาย สำเภาทอง พ.ศ. 2548 - ปัจจุบัน

[แก้] เศรษฐกิจ

โรงสีและฉางข้าว 5,000 ตัน กลุ่มเกษตรกรทำนาคุ้งตะเภา
โรงสีและฉางข้าว 5,000 ตัน กลุ่มเกษตรกรทำนาคุ้งตะเภา

หมู่บ้านคุ้งตะเภาเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ ประชากรในหมู่บ้าน มีทั้งข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ รับจ้าง ค้าขาย และทำไร่นา เนื่องจากสภาพพื้นที่โดยส่วนใหญ่ของหมู่บ้านเป็นที่ราบ เหมาะแก่การทำการเกษตร ประชากรส่วนใหญ่ของหมู่บ้านจึงนิยมประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งมีจำนวนมากกว่าครึ่งของประชากรในหมู่บ้าน โดยกสิกรในหมู่บ้านส่วนใหญ่จะปลูกข้าวหรือทำไร่อ้อย เลี้ยงปลา ฯลฯ เมื่อพ้นฤดูเพาะปลูก จะหันมาประกอบอาชีพเสริม เช่น รับจ้าง รับเหมาก่อสร้าง ปศุสัตว์ หรือปลูกพืชอื่น ๆ และบ้านคุ้งตะเภายังเป็นที่ตั้งของ กลุ่มเกษตรกรทำนาคุ้งตะเภา เป็นกลุ่มเกษตรกรขนาดใหญ่ที่มีการรวมตัวจากเกษตรหลายพื้นที่ มีลานตากข้าวขนาดใหญ่ เครื่องชั่ง โกดัง และโรงสีข้าวเปลือกเป็นของตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพ่อค้าคนกลาง[6]

[แก้] ประชากร

ประชากรท้องถิ่นดั้งเดิมกลุ่มแรกที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณบ้านคุ้งตะเภา คือ "คนไทยเดิม" หรือ "คนไทยเหนือ" ตามคำปากของคนในสมัยอยุธยา[9] จากหลักฐานการตั้งวัดคุ้งตะเภาในสมัยธนบุรีทำให้ทราบว่า หมู่บ้านคุ้งตะเภา มีผู้คนอาศัยอยู่มาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย

หมู่บ้านคุ้งตะเภา มีนามสกุลใหญ่ในหมู่บ้าน คือ สกุล อ่อนคำ มากคล้าย และ รวยอบกลิ่น ซึ่งแม้กระทั่งในปัจจุบันนี้ คนทั้ง 3 สกุล ก็ยังเป็นสกุลใหญ่ในหมู่บ้าน และประชากรของหมู่บ้านคุ้งตะเภาส่วนใหญ่ จะเป็นญาติพี่น้องสืบสายจากทั้งสามสกุลกันลงมาทั้งสิ้น[12]

ในระยะ 50 ปีที่ผ่านมา มีประชากรจากถิ่นอื่นย้ายมาอยู่ในหมู่บ้านมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการย้ายเข้ามาเนื่องจากการแต่งงานกับคนในหมู่บ้าน โดยส่วนใหญ่จะเป็นข้าราชการที่ย้ายเข้ามารับราชการในจังหวัดอุตรดิตถ์

[แก้] การคมนาคม

ในอดีตชาวบ้านคุ้งตะเภาตั้งหมู่บ้านอยู่บริเวณที่ลุ่มริมแม่น้ำน่าน การคมนาคมจึงอาศัยการเดินทางน้ำเป็นหลัก แต่หลังจากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2493 ชาวบ้านคุ้งตะเภาจึงได้ย้ายหมู่บ้านขึ้นมาตั้งบนที่ราบในปัจจุบันริมถนนเลียบแม่น้ำน่านเก่า (ถนนหลังวัดคุ้งตะเภา) จึงทำให้การคมนาคมหลักของหมู่บ้านคุ้งตะเภาเปลี่ยนเป็นทางบกแทน ต่อมาหลังจากการตัดทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 11 (ถนนสายเอเชีย) ในปี พ.ศ. 2528 ทำให้การเดินทางมาสู่หมู่บ้านคุ้งตะเภาสะดวกสบายยิ่งขึ้นกว่าในอดีต และทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 11 กลายมาเป็นเส้นทางคมนาคมทางบกหลัก (แทนถนนเลียบแม่น้ำน่านเดิม ซึ่งปัจจุบันไม่มีการใช้งานแล้ว) [6]

[แก้] วัฒนธรรมประเพณี

ปัจจุบันการละเล่นต่าง ๆ แบบโบราณที่สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษได้สูญหายไปหมดแล้ว คงเหลือแต่การละเล่นที่จ้างมาแสดงจากต่างพื้นที่แทน
ปัจจุบันการละเล่นต่าง ๆ แบบโบราณที่สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษได้สูญหายไปหมดแล้ว คงเหลือแต่การละเล่นที่จ้างมาแสดงจากต่างพื้นที่แทน

ชาวหมู่บ้านคุ้งตะเภาทั้งหมด เป็นชาวพุทธเถรวาท มีวัดประจำหมู่บ้าน 1 แห่ง คือ วัดคุ้งตะเภา ซึ่งมีอายุสองร้อยกว่าปี[13] อยู่คู่มากับการตั้งหมู่บ้านแห่งนี้

ปัจจุบันประเพณีบางอย่างยังคงหลงเหลืออยู่ แต่การละเล่นแบบโบราณซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคนบ้านคุ้งตะเภาได้สูญหายไปหมดแล้ว เหลือไว้แต่คำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ว่าเคยมีการละเล่นนั้น ๆ อยู่ในอดีต ซึ่งในปัจจุบันการจัดงานประเพณีบางอย่างเช่นการบวชนาค งานแต่งงาน ฯลฯ เมื่อมีการละเล่นเช่นลิเก ดนตรี ก็จะเป็นการ "จ้าง" มาจากต่างถิ่นแทน

ประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมส่วนใหญ่ของหมู่บ้านคุ้งตะเภาจะคล้ายกับหมู่บ้านในแถบภาคกลางตอนบน ซึ่งโดยพื้นเพของคนคุ้งตะเภานั้นเป็น “คนไทยเหนือ” ตามคำปากของคนในสมัยอยุธยา[9] คือเป็นคนไทยเดิมที่ตั้งถิ่นฐานแถบเมืองพิษณุโลก ชัยนาท สุโขทัย ฯ โดยคนคุ้งตะเภานั้นมีสำเนียงการพูดคล้ายคนสุโขทัย,เมืองฝางสวางคบุรีและทุ่งยั้ง มีประเพณีและวัฒนธรรมไม่แตกต่างจากชาวพุทธเถรวาทในแถบภาคกลางตอนบนของประเทศไทย โดยส่วนใหญ่การจัดประเพณีหรือกิจกรรมของหมู่บ้านมักจะจัดที่วัดประจำหมู่บ้าน ซึ่งพอประมวลประเพณีที่ยังคงปฏิบัติอยู่และสูญหายไปแล้วได้ดังนี้[6]


[แก้] เดือน 3 ประเพณีบุญกลางบ้าน-แรกตักข้าว-ก่อเจดีย์ข้าวเปลือก

[แก้] ประเพณีทำบุญกลางบ้าน

ประเพณีทำบุญกลางบ้าน ของชาวบ้านคุ้งตะเภาคล้ายคลึงกับหมู่บ้านในแถบภาคกลาง แต่มีการปรับประยุกต์ขั้นตอนบางอย่างให้สะดวกขึ้น โดยประเพณีทำบุญกลางบ้านนี้ชาวบ้านคุ้งตะเภาจะแยกจัดพิธีเป็นสองครั้งคือ ในต้นเดือน 3 จัดพิธีทำบุญกลางบ้านที่บ้านคุ้งตะเภาฝั่งตะวันออก (บ้านเหนือ) และปลายเดือน จัดพิธีทำบุญกลางบ้านที่บ้านคุ้งตะเภาฝั่งตะวันตก (บ้านใต้) โดยมีบริเวณในการจัดแน่นอน โดยบ้านเหนือจัดที่ทางสามแพร่งเหนือหมู่บ้าน ส่วนบ้านใต้จัดที่ลานข้าวกลุ่มเกษตรกรทำนาคุ้งตะเภา โดยชาวบ้านจะเป็นผู้ร่วมกันกำหนดวันทำบุญ

ขั้นตอนในการประกอบพิธีทำบุญกลางบ้านเริ่มจากชาวบ้านเตรียมทำกระทงใบตอง โดยทำเป็นถาดกาบกล้วยรูปสี่เหลี่ยม ปักธงกบิล 4 ทิศ ใช้ดินเหนียวปั้นเป็นรูปคนเท่าจำนวนคนในบ้านรวมไปถึงวัวควาย ไก่หรือสัตว์เลี้ยงอื่นด้วย ใส่เสื้อผ้าให้รูปคน มีการใส่ผักพล่าปลายำ พริกแห้ง เกลือ หัวหอม ข้าวสาร แล้วปักธูปลงในกระทง และใส่สตางค์ลงไปด้วย

ชาวบ้านคุ้งตะเภาในประเพณีทำบุญกลางบ้าน
ชาวบ้านคุ้งตะเภาในประเพณีทำบุญกลางบ้าน

วันจัดงานทำบุญกลางบ้านชาวบ้านจะถือกระทงนำไปวางไว้บริเวณปรำพิธีซึ่งตั้งอยู่บริเวณพระพุทธรูป โดยจะมีการก่อเจดีย์ทรายปักธงบนยอดเจดีย์และประดับด้วยใบมะพร้าว ธงกบิลฯลฯ พร้อมกับทำกำแพงล้อมทั้ง 4 ทิศ พร้อมกับนิมนต์พระสงฆ์จากวัดคุ้งตะเภามาเจริญพระพุทธมนต์พระปริตรในเวลาเย็น ในระหว่างพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เมื่อพระสวดจบบทหนึ่งก็จะมีการตีฆ้อง 3 ครั้ง ครั้นพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบในช่วงค่ำ พระสงฆ์จะสวดบท สุมงฺคลคาถา (สุนกฺขตฺตํ สุมงฺคลํ) และชาวบ้านก็จะจุดธูปเทียนในกระทงและนำกระทงไปวางไว้ตามทางสามแพร่งหรือสถานที่ ๆ กำหนดไว้ และมีการละเล่นต่าง ๆ ในเวลากลางคืน ในวันที่สองจะนิมนต์พระสงฆ์มาฉันภัตตาหารเช้าถวายจตุปัจจัย จึงเป็นอันเสร็จพิธี

คติความเชื่อของประเพณีนี้มาจากการผสานความเชื่อเรื่องผีของคนโบราณเข้ากับความเชื่อทางพุทธศาสนา มาจากคติความเชื่อเรื่องผีในการขอบคุณผีที่ประทานความอุดมสมบูรณ์จนสามารถเก็บเกี่ยวได้ และเป็นการสะเดาะห์เคราะห์คนในหมู่บ้านทั้งหมด และสอดคล้องกับวิถีชีวิตทางเกษตรกรรมของคนในชุมชน โดยประสานกับคติทางพุทธศาสนาเถรวาท ด้วยการจัดให้มีการทำบุญเพื่อเป็นอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษและเสริมสวัสดิมงคลความอุดมสมบูรณ์ของคนในหมู่บ้านหลังฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งประเพณีนี้เป็นประเพณีที่แปลกกว่าประเพณีอื่น ๆ โดยจัดนอกวัด ชาวบ้านจะเลือกเอาสถานที่จัดบริเวณลานกว้างในหมู่บ้าน เพื่อเป็นการชุมนุมชาวหมู่บ้านมาร่วมจัดงานด้วยกัน เป็นการไต่ถามสารทุกข์สุกดิบซึ่งกันและกัน โดยมีการก่อพระเจดีย์ทรายไว้เป็นเครื่องหมาย ซึ่งคติการก่อเจดีย์ทรายไว้กลางหมู่บ้านนี้มาจากเรื่องราวในธรรมบทเพื่อเป็นการสร้างกุศลก่อเจดีย์ถวายเป็นพุทธบูชาร่วมกัน และมีการทำกระทงใบตองใส่ดินปั้นผู้อาศัยในครัวเรือนของตน ๆ ซึ่งเป็นอุบายของคนโบราณในการสำรวจประชากรและสัตว์เลี้ยงในหมู่บ้านคุ้งตะเภาได้อย่างดียิ่ง

[แก้] ประเพณีแรกตักข้าว

เมื่อเสร็จฤดูเก็บเกี่ยวนำข้าวขึ้นยุ้งฉางแล้ว ชาวคุ้งตะเภามีคติความเชื่อเรื่องหนึ่งคือ "แรกตักข้าว" คือเป็นวันแรกที่จะทำการตักข้าวที่เก็บเกี่ยวจากปีก่อนออกจากฉางมาทำการสี โดยกำหนดวันแรกตักไว้ตรงกับ วัน 3 ค่ำเดือน 3 มีความเชื่อว่าถ้าตักข้าวเก่าในฉางออกมาก่อนวันที่กำหนดนี้ ข้าวในฉางจะถูก ผีตะมอย กิน คือถ้าตักหนึ่งขัน ข้าวในฉางก็จะหายไปหนึ่งขัน เพื่อไม่ให้นำข้าวใหม่มาสีกินก่อนเวลาอันควร

คตินี้น่าจะมาจากอุบายของคนโบราณและสอดคล้องกับสภาพของข้าวใหม่ที่เก็บเกี่ยวในปีก่อน โดยก่อนที่จะถึงวัน 3 ค่ำเดือน 3 ข้าวใหม่จะยังไม่แห้งดี ไม่สมควรแก่การบริโภค แต่เมื่อถึงเดือน 3 ข้าวก็จะแห้งพอสมควรที่จะนำไปสีนำมารับประทานได้ และเพื่อให้ใช้ข้าวเก่าค้างยุ้งมารับประทานให้หมดไม่เหลือทิ้งไว้ ทำนองได้ใหม่ไม่ลืมเก่านั่นเอง

แต่ในปัจจุบันไม่ปรากฏว่ามีบ้านใดทำพิธีนี้อีกแล้ว เพราะไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบัน ประเพณีนี้พึ่งสูญหายไปเมื่อไม่เกิน 30 ปีมานี้ คงเหลือไว้แต่เพียงคำบอกเล่าเท่านั้น

[แก้] ประเพณีก่อเจดีย์ข้าวเปลือก

ประเพณีก่อข้าวเปลือกประจำปีของหมู่บ้านคุ้งตะเภาจัดตรงกับ วัน ขึ้น 14-15 ค่ำเดือน 3 ของทุกปี โดยชาวบ้านจะแบ่งข้าวเปลือกที่ตนเองทำการเพาะปลูกได้ในปีก่อนนำมาถวายวัด โดยในวัน ขึ้น 14 ค่ำ จะมีการเจริญพระพุทธมนต์ฉลององค์พระเจดีย์ข้าวเปลือก และอาจมีการละเล่นบ้างตามความเหมาะสม และวันรุ่งขึ้น มีการถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ในวัด พร้อมกับทำพิธีถวายองค์เจดีย์ (ข้าวเปลือก) จึงเสร็จพิธี

พิธีนี้คล้ายพิธีสู่ขวัญข้าว ตามความเชื่อโบราณของคนในแถบลุ่มอารยธรรมอุษาคเนย์ ที่เชื่อกันว่าทุกสิ่งมี "ขวัญ" สถิตย์อยู่ เมื่อชาวบ้านทำนาเพาะปลูกข้าวและเก็บเกี่ยวได้แล้ว ก่อนนำข้าวมาบริโภคหรือจำหน่าย จะมีการทำพิธี "สู่ขวัญข้าว" ทำนองเป็นการบูชาผีที่สถิตย์อยู่ในข้าว เป็นการแสดงความเคารพต่อสรรพสิ่งและนบน้อมต่อธรรมชาติ ซึ่งต่อมาเมื่อรับวัฒนธรรมแบบชาวพุทธเถรวาทซึ่งปฏิเสธการบูชาเซ่นทรวงเข้ามา จึงได้ "ปรับ" ประเพณีนี้ให้เข้ากับวัฒนธรรมความเชื่อดั้งเดิมของตน คือการนำข้าวแรกเกี่ยวไปถวายพระเพื่อเป็นการทำบุญเป็นสิริมงคลแทน ซึ่งชาวบ้านคุ้งตะเภาก็ได้ถือปฏิบัติเช่นนี้เรื่อยมา แต่ด้วยสภาพสังคมและการดำรงชีวิตในปัจจุบัน ทำให้การจัดพิธีก่อเจดีย์ข้าวเปลือกในวัด มีผู้มาร่วมงานบางตา แต่โดยส่วนใหญ่ของผู้ที่ไม่มาร่วมงาน ก็ยังคงแบ่งข้าวเปลือกฝากมาถวายวัดตามประเพณีนี้ตลอดมา

[แก้] เดือน 4 ประเพณีตรุษไทย (วันปีใหม่ไทย)

ตามจารีตประเพณีแต่ดั้งเดิมของไทยถือเอาวันแรม 1 ค่ำเดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ เป็นการสอดคล้องกับคติแห่งพุทธศาสนาซึ่งถีอเอาฤดูหนาวเป็นการเริ่มต้นปี แต่ต่อมาได้ถือว่าวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนห้าเป็นวันขึ้นปีใหม่ (ตรุษไทย) ซึ่งถึอตามปฏิทินทางจันทรคติและยึดถือมา จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเห็นว่าไทยได้ติดต่อกับประเทศต่างๆ มากขึ้น การใช้ปฏิทินทางจันทรคติไม่เหมาะสมและไม่สะดวกเพราะไม่ลงรอยกับปฏิทินสากล จึงประกาศให้ใช้วันทางสุริยคติตามแบบสากลแทน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2432 เป็นต้นมา และถือเอาวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ด้วย[14] แต่ชาวคุ้งตะเภายังคงรักษาธรรมเนียมตรุษไทยไว้โดยจัดทำบุญติดต่อกัน 2 วัน คือ วันแรม 15 ค่ำ เดือน 4 ถึง วันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 ในสมัยโบราณจะมีการ "กวนข้าวแดง" ซึ่งส่วนประกอบหลัก ๆ ของข้าวแดงก็มี ข้าว อ้อย น้ำตาล ฯลฯ โดยมีการรวมตัวคนในหมู่บ้านมาช่วยกวนข้าวแดงด้วยกันเพื่อนำไปแจกจ่ายคนในหมู่บ้านและถวายพระสงฆ์ ซึ่งนอกจากข้าวแดงแล้วยังมี ขนมต้ม และขนมจีนซึ่งแต่ละบ้านจะทำกันเองและนำมาแจกจ่ายกันในวันทำบุญ

ในปัจจุบันไม่ปรากฏว่ามีการรวมตัวเพื่อกวนข้าวแดงกันอีกต่อไปแล้ว คงเหลือแต่การทำบุญเลี้ยงพระสงฆ์ตามปรกติเท่านั้น จะมีพิเศษบ้างก็แต่ชาวบ้านจะนำอ้อย ขนมจีน ขนมต้ม มาถวายพระมาก แต่ก็เป็นเพียงสิ่งที่ซื้อหากันมา มิได้เป็นสิ่งที่เกิดจากความสามัคคีของคนในชุมชนอย่างที่ควรจะเป็นอีกแล้ว

[แก้] เดือน 5 ประเพณีสงกรานต์

ชาวคุ้งตะเภาสรงโกศบรรจุอัฐิบรรพบุรุษในวันมหาสงกรานต์
ชาวคุ้งตะเภาสรงโกศบรรจุอัฐิบรรพบุรุษในวันมหาสงกรานต์

การจัดประเพณีสงกรานต์ของชาวบ้านคุ้งตะเภาเหมือนกับพื้นที่อื่น คือมีการทำบุญ 3 วัน (13-15 เมษายน) ในวันสุดท้ายจะมีพิธีสรงน้ำพระตามประเพณี และในบางปีจะมีการรวมตัวจัดอุปสมบทหมู่อีกด้วยเพื่อบวชลูกหลานซึ่งกลับมาจากต่างถิ่น โดยทุกเช้าของทั้งสามวันจะมีการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ในวัดคุ้งตะเภา โดยในวันแรกจะมีการทอดผ้าป่าสามัคคีของคณะชาวบ้านคุ้งตะเภาและลูกหลานของชาวหมู่บ้านที่ไปทำงานต่างถิ่น ในวันที่สองมีการบวชนาคสามัคคี โดยเวลาเที่ยง มีการทำพิธีปลงผมนาค เวลาบ่ายทำการแห่นาค เมื่อถึงช่วงเย็นมีการเทศน์สอนนาค และอุปัชฌาย์พร้อมทั้งกรรมวาจา-อนุสาวนาจารย์ พระอันดับจะลงอุโบสถเพื่อประกอบการอุปสมบทนาคในเวลาตี 5 ของวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 15 เมษายน อันเป็นวันมหาสงกรานต์ เมื่อบวชนาคเสร็จ เวลาเช้ามีการเจริญพระพุทธมนต์ฉลองพระบวชใหม่ และในเวลาบ่ายของวันนั้นมีการจัดพิธีษมากรรมและสรงน้ำพระสงฆ์ในวัดพร้อมกับผู้สูงอายุ และเมื่อสรงน้ำพระเสร็จ ชาวบ้านก็จะนำน้ำธูปเทียนดอกไม้ไปสักการะเจดีย์บรรจุอัฐิบรรพบุรุษที่ตั้งอยู่ในวัดหรือบ้านของตน ๆ เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีสงกรานต์ที่จัดในวัดประจำหมู่บ้าน

[แก้] พิธีเวียนเทียนพระภิกษุใหม่

ในการบวชนาคหมู่ (บรรพชาอุปสมบทพระภิกษุสามเณรหมู่) ของชาวบ้านคุ้งตะเภานั้น มีพิธีกรรมที่น่าสนใจยิ่งพิธีกรรมหนึ่งคือ "พิธีเวียนเทียนพระบวชใหม่" ซึ่งเป็นพิธีกรรมโบราณที่ปัจจุบันหาดูได้ยาก เนื่องจากปัจจุบันไม่มีวัดใดประกอบพิธีนี้อีกแล้ว แต่วัดคุ้งตะเภายังคงอนุรักษ์พิธีกรรมนี้อยู่จนปัจจุบัน

ผู้เฒ่าชาวบ้านคุ้งตะเภาถือแว่นเทียนชัยในพิธีเวียนเทียนพระภิกษุบวชใหม่
ผู้เฒ่าชาวบ้านคุ้งตะเภาถือแว่นเทียนชัยในพิธีเวียนเทียนพระภิกษุบวชใหม่

พิธีเวียนเทียนพระบวชใหม่นี้ จะประกอบเมื่อพระภิกษุใหม่ได้ผ่านการบรรพชาอุปสมบทในอุโบสถเสร็จแล้ว ซึ่งสถานที่จัดพิธีเวียนเทียนฯ นั้น จะจัดบนศาลาการเปรียญของวัด โดยมี "หมอทำพิธี" และพระสงฆ์บวชใหม่ นั่งอยู่กลางมณฑลพิธี บางครั้งก็จะมีพานพุ่มบายสีขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางพิธีด้วย โดยให้ญาติโยมนั่งล้อมพระสงฆ์และหมอพิธีเป็นวงกลม เมื่อก่อนเริ่มพิธีหมอพิธีจะทำน้ำมนต์ธรณีสาร เมื่อเสร็จแล้วจะกล่าวคำนมัสการพระรัตนตรัย (ตั้งนะโมสามจบ) กล่าวคาถาขอขมากรรม (บทบาลีที่ขึ้นต้นด้วย: โย โทโส โมหจิตฺเตน...) เมื่อกล่าวคำขอขมาเสร็จแล้วจะขึ้นบทชุมนุมเทวดา (บทบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:สคฺเค กาเม จ รูเป...) และขึ้นบทเฉพาะสำหรับพิธีกรรมนี้เป็นทำนองเหล่ (ดูเพิ่มได้ที่:วิกิซอร์ซ) เมื่อกล่าวจบแล้วปี่พาทย์จะประโคมเพลงสาธุการ หมอพิธีจะนำใบพลูเก้าใบห่อและจุดแว่นเทียนชัยจำนวน 9 เล่ม นำไปเวียนเทียนรอบพระประธานสามรอบ และส่งต่อให้ชาวบ้านที่นั่งล้อมวงมณฑลพิธีนำไปทำพิธีเวียนเทียนแบบพราหมณ์ โดยการประคองเทียนวนขึ้นลงสามรอบและใช้มือขวาปัดควันเทียนเข้ามณฑลพิธี และส่งต่อไปยังคนด้านซ้ายเพื่อทำเช่นนั้นต่อไปจนสำเร็จครบสามรอบมณฑลพิธีจึงส่งเทียนชัยให้แก่หมอพิธีเพื่อนำเวียนรอบพระประธานอีกครั้ง และเป่าดับเทียนให้ควันลอยถูกตัวพระสงฆ์บวชใหม่เป็นอันเสร็จพิธีกรรม หลังจากนั้นประธานพระสงฆ์จะนำพระภิกษุใหม่ให้พรเป็นอันเสร็จพิธีเวียนเทียนพระใหม่อย่างสมบูรณ์ และเป็นการเสร็จพิธีกรรมสุดท้ายในงานบรรพชาอุปสมบทของชาวบ้านคุ้งตะเภา

การประกอบพิธีกรรมเวียนเทียนพระบวชใหม่นี้เป็นพิธีที่สืบต่อกันมาแต่โบราณ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประสิทธิ์พรแก่พระภิกษุบวชใหม่ และแสดงสักการะแก่พระสงฆ์ซึ่งเป็นเนื้อนาบุญใหม่ของชุมชน เป็นการผสมผสานความเชื่อคติพราหมณ์และพุทธกันได้อย่างลงตัว เมื่อดูจากเนื้อหาของบทเวียนเทียนฯ แล้วจะพบว่าเป็นการ "บอก" วัตถุประสงค์แห่งการบวชให้พระภิกษุใหม่ทราบอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น การศึกษาเพื่อให้มีปัญญาดุจดังพระอานนท์ การกำจัดทำพระนิพพานให้แจ้งเป็นต้น และด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรมนี้สามารถทำให้พระใหม่รู้สึกตัวว่าได้เข้าสู่สมณภาวะอันเป็นฐานะที่สูงยิ่งของชุมชนแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการกระตุ้นให้พระภิกษุใหม่มีความละอายในการกระทำผิดศีล และตั้งใจปฏิบัติตนในเพศภาวะแห่งพระสงฆ์ให้สมบูรณ์ไม่บกพร่อง

ในปัจจุบันหาชมพิธีนี้ได้ยากแล้ว สันนิษฐานว่าในชั้นหลังชุมชนอื่น ๆ ตัดพิธีนี้ออกไปเนื่องจากความเข้าใจว่าเป็นพิธีของพราหมณ์ ทำให้ไม่เห็นความสำคัญของพิธีนี้ และเลยไปถึงการไม่เข้าใจอุบายของคนโบราณในการตักเตือนพระภิกษุใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต้องการความสะดวกและประหยัดเวลาในการประกอบพิธีบรรพชาอุปสมบท ทำให้ชุมชนที่เลิกพิธีนี้ไปขาดการสืบต่อผู้รู้ในพิธี และเลือนหายไปจากสำนึกของคนในรุ่นหลังอย่างน่าเสียดาย

[แก้] เดือน 7 ประเพณีถวายสลากภัต

การจัดงานทำบุญถวายสลากภัตของชาวบ้านคุ้งตะเภาจัดตรงกับ วัน ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 7 ของทุกปี โดยชาวบ้านจะนำสำรับภัตตาหารและผลไม้มาถวายพระสงฆ์ โดยจะนิมนต์พระสงฆ์จากวัดต่าง ๆ ร่วม 30 วัด กว่าร้อยรูป มาฉันภัตตาหารและถวายจตุปัจจัยไทยธรรม ในอดีตมีการจับฉลากเลือกพระสงฆ์รับสังฆทานตามประเพณี และเวลากลางคืนมีการละเล่นต่าง ๆ เช่นชกมวยคาดเชือก มวยไทยสายพระยาพิชัย ฯลฯ แต่ปัจจุบันนี้คงเหลือเพียงการถวายภัตตาหารพระสงฆ์รวมเท่านั้น การละเล่นต่าง ๆ ทางวัดงดไปแล้ว แต่สำหรับวัดในแถบตำบลคุ้งตะเภา-ป่าเซ่า นิยมมีการจัดมหรสพดนตรีเป็นงานใหญ่ บางหมู่บ้านก็ขอทางวัดจัดให้มีกีฬาชกมวยไทย เป็นงานเอิกเริกประจำปีของหมู่บ้านนั้น ๆ

[แก้] เดือน 10 ประเพณีสารทไทย

ชาวบ้านคุ้งตะเภาจัดงานทำบุญวันสารทตรงกับวัน แรม 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี โดยมีการรวมตัวคนในหมู่บ้านมาร่วมกันกวนข้าวกระยาสารทเพื่อถวายพระสงฆ์และแจกจ่ายคนในหมู่บ้าน และมีการละเล่นต่าง ๆ แต่ในปัจจุบันคงเหลือแต่การทำบุญเลี้ยงพระสงฆ์ตามปรกติ การรวมตัวเพื่อกวนข้าวกระยาสารทไม่มีอีกแล้ว มีแต่ข้าวกระยาสารทซึ่งซื้อหามาถวายพระสงฆ์แทน

[แก้] เดือน 11 ประเพณีเทศน์มหาชาติ

ชาวบ้านจุดเทียนพระคาถาพัน 1,000 เล่ม เพื่อบูชาคาถาเวสสันดรชาดกบาลี ตามประเพณีการเทศน์มหาชาติ
ชาวบ้านจุดเทียนพระคาถาพัน 1,000 เล่ม เพื่อบูชาคาถาเวสสันดรชาดกบาลี ตามประเพณีการเทศน์มหาชาติ

ประเพณีการจัดเทศน์มหาชาติของหมู่บ้านคุ้งตะเภา จัดตรงกับ วันแรม 4,5,6 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี โดยจัดในวัดประจำหมู่บ้าน

ซึ่งในวันแรกจะมีการเทศน์ พระมาลัยสูตร 3 ธรรมาสน์ ตามประเพณี เพื่อเป็นการชี้แจงอานิสงส์การฟังมหาชาติเวสสันดรชาดกในวันถัดไป ตามกัณฑ์เทศน์พระมาลัยนั้น องค์แสดงเป็นพระศรีอาริยเมตไตย จะชี้แจงผลานิสงส์ที่จะให้มาเกิดในยุคพระศรีอาริย์ โดยบอกเหตุว่า ผู้ใดฟังเวสสันดรชาดกครบ 13 กัณฑ์ พันพระคาถา ตั้งใจมุ่งมาบังเกิดในยุคของพระศรีอาริย์ก็จะสำเร็จผลดังปรารถนา ซึ่งพระมาลัยสูตรนั้น เป็นเรื่องที่พระภิกษุชาวสิงหล (ศรีลังกา) แต่งขึ้น เมื่อประมาณ พ.ศ. 900 กล่าวถึงพระอรหันต์องค์หนึ่ง ซึ่งลงไปเยี่ยมเมืองนรกและสวรรค์และได้พบกับพระศรีอาริยเมตไตยบนสวรรค์นั้น

ในวันที่สองเวลาเช้า พระสงฆ์ในวัดจะขึ้นธรรมมาสน์อ่านเวสสันดรชาดกเป็นภาษาบาลี และเจ้าภาพผู้รับขันกัณฑ์เทศน์ทั้ง 13 กัณฑ์ จะจุดเทียนธูปบูชาตามคาถาของกัณฑ์ที่ตนรับเป็นเจ้าภาพไว้ (เช่นทานกัณฑ์ มีคาถาบาลี 209 คาถา (ประโยค) เจ้าภาพจะนำเทียนและธูปเท่ากับจำนวน 209 คาถา มาจุดบูชา) ต่อมาในเวลาบ่าย พระสงฆ์จะขึ้นเทศน์เวสสันดรชาดกเป็นทำนองเหล่ ครบ 13 กัณฑ์ ทั้งหมดเสร็จสิ้นในเวลาเย็นของวันนั้น

ในวันที่สามเวลาเช้ามีการถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์และมีเทศน์อานิสงส์ฟังเวสสันดรชาดก เป็นอันเสร็จสิ้น

คติของประเพณีนี้สืบเนื่องมาจากช่วงเดือน 11 ข้าวกำลังออกรวง ชาวบ้านว่างงานรอเก็บเกี่ยว จึงจัดพิธีเทศน์มหาชาติขึ้นโดยมีการรวมตัวคนในหมู่บ้านมาจัดประดับศาลา (โดยเฉพาะหนุ่มสาว ที่หวังจะมาพบปะและหยอกเอินหวังจีบกันในงานนี้) และมีการละเล่นต่าง ๆ รวมทั้งจัดประดับตกแต่งศาลาให้เป็นป่าหิมพานต์ มีต้นอ้อย กล้วย ธงกบิล ฉัตรบูชา ซึ่งเมื่อเลิกพิธีชาวบ้านจะแย่งกันนำต้นกล้วยอ้อยนำไปฝานเป็นแว่นเล็ก ๆ ใส่ชะลอมนำไปปักไว้ท้องนา เพราะเวลานั้นข้าวกำลังออกรวง เหมือนแม่โพสพตั้งท้อง จึงนำสิ่งเหล่านี้ไปถวายแม่โพสพ เพราะคิดว่าคนตั้งท้องน่าจะชอบของเหล่านี้ ตามความเชื่อในเรื่องผีของคนโบราณ[15]

แต่ในปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนไป การจัดเทศน์มหาชาติไม่ค่อยมีคนหนุ่มสาวในหมู่บ้านสนใจ ส่วนใหญ่จะมีแต่พระสงฆ์และผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านที่ยังพอมีแรง มาช่วยกันประดับตกแต่งศาลาการเปรียญ ผู้มาฟังเทศน์ก็เป็นคนรุ่นเก่า และค่อนข้างน้อย เมื่องานเสร็จก็ไม่ปรากฏว่ามีการแย่งฉัตรธงอ้อยกล้วยกันอีกต่อไป

[แก้] เพลงประจำหมู่บ้าน

คุ้งตะเภารำลึก
เปิดฟัง ตัวอย่างบทเพลง คุ้งตะเภารำลึก
อรุณรุ่งที่คุ้งตะเภา
เปิดฟัง ตัวอย่างบทเพลง อรุณรุ่งที่คุ้งตะเภา
  • หากไม่ได้ยินเสียง โปรดดูเพิ่มที่ media help

ชาวบ้านคุ้งตะเภาได้มีการจัดทำเพลงประจำหมู่บ้านขึ้น โดยมี นายวิเชียร ครุฑทอง ปราชญ์ชุมชนของตำบลคุ้งตะเภา เป็นผู้แต่งบทเพลง - ทำนองเพลง รวมทั้งเป็นผู้ขับร้อง ซึ่งได้มีการบันทึกเสียงดนตรีที่ห้องบันทึกเสียงคณะดนตรีวง "ไทไท" ในปี พ.ศ. 2547

เพลงที่นายวิเชียร ครุฑทอง แต่งขึ้นมี 2 บทเพลง ทั้งสองเพลงเป็นเพลงขับร้องแบบลูกทุ่ง โดยมีชื่อตามลำดับดังนี้

  1. "เพลงคุ้งตะเภารำลึก" มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านคุ้งตะเภา
  2. "เพลงอรุณรุ่งที่คุ้งตะเภา" มีเนื้อหาเกี่ยวกับการพัฒนาหมู่บ้านคุ้งตะเภาในปัจจุบัน

ปัจจุบันทั้งสองเพลงได้มีการเปิดบรรเลงตาม "เสียงตามสาย" ของหมู่บ้านคุ้งตะเภา ก่อนการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของหมู่บ้าน เป็นเพลงที่คุ้นหู และเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญยิ่งอันหนึ่งของหมู่บ้านคุ้งตะเภามาจนปัจจุบัน[6]

[แก้] วัดประจำหมู่บ้าน

ดูบทความหลักที่ วัดคุ้งตะเภา

ปัจจุบันชาวหมู่บ้านคุ้งตะเภาทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ นิกายเถรวาท สันนิษฐานว่าการนับถือศาสนาพุทธของประชากรหมู่บ้านคุ้งตะเภามีมาพร้อม ๆ กับประชากรกลุ่มแรกที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในแถบนี้

ปัจจุบัน หมู่บ้านคุ้งตะเภามีวัดประจำหมู่บ้าน 1 แห่งคือ วัดคุ้งตะเภา ซึ่งอยู่คู่มาพร้อม ๆ กับการตั้งหมู่บ้าน นับว่าเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา ปัจจุบันวัดคุ้งตะเภาเป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุของหมู่บ้าน เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมประเพณีต่าง ๆ เป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมของชุมชน เป็นที่ตั้งอาคารธนาคารหมู่บ้านคุ้งตะเภา, สำนักงานสมาพันธ์สหกรณ์การเกษตรเพื่อการพัฒนา, เป็นที่ตั้งร้านค้าชุมชนหมู่บ้านคุ้งตะเภา, ศูนย์สาธิตผลิตภัณฑ์ชุมชนหมู่บ้านคุ้งตะเภา, ศูนย์ศึกษาการทำสมุนไพรภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งมีชื่อเสียงด้านสมุนไพรแผนโบราณ และวัดคุ้งตะเภายังเป็นศูนย์กลางการศึกษาของคณะสงฆ์ในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา โดยได้รับการจัดตั้งจากคณะสงฆ์จังหวัดอุตรดิตถ์ให้เป็นสำนักศาสนาศึกษาประจำตำบล ซึ่งมีผู้สอบผ่านธรรมศึกษาได้มากติดอันดับต้น ๆ ของอำเภอเมืองอุตรดิตถ์[16]

[แก้] โรงเรียนประจำหมู่บ้าน

อาคารเรียนโรงเรียนบ้านคุ้งตะเภาในปัจจุบัน
อาคารเรียนโรงเรียนบ้านคุ้งตะเภาในปัจจุบัน
ดูบทความหลักที่ โรงเรียนบ้านคุ้งตะเภา

หมู่บ้านคุ้งตะเภา มีสถานศึกษาระดับพื้นฐานประจำหมู่บ้าน 1 แห่ง คือ โรงเรียนบ้านคุ้งตะเภา (ชื่อเดิม:โรงเรียนวัดคุ้งตะเภา) โดยเปิดการเรียนการสอนในระดับปฐมวัย ถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 6 และมีโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่ใกล้หมู่บ้านที่สุด คือ โรงเรียนป่าขนุนเจริญวิทยา ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านป่าขนุน ปัจจุบัน ทั้งโรงเรียนบ้านคุ้งตะเภาและโรงเรียนป่าขนุนเจริญวิทยาเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียนไม่มากนัก เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ที่มีฐานะนิยมส่งบุตรหลานเข้าไปเรียนในสถานศึกษาในตัวจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านไม่ถึง 10 กิโลเมตร

ปัจจุบัน โรงเรียนบ้านคุ้งตะเภา เป็นโรงเรียนประจำหมู่บ้านเพียงแห่งเดียว ตัวโรงเรียนตั้งอยู่ติดกับวัดคุ้งตะเภา ริมถนนสายเอเชีย เดิมมีชื่อว่า "โรงเรียนวัดคุ้งตะเภา" ต่อมาได้ขออนุญาตเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนบ้านคุ้งตะเภา" เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2514

โรงเรียนบ้านคุ้งตะเภาได้ทำการสอนครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2465 โดยใช้ศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภาเป็นสถานที่ทำการเรียนการสอน[17] โดยเริ่มเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้น ป.1 - 5 ต่อมาจึงเปิดตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยมี นายเอี่ยม ศาสตร์จำเริญ เป็นครูใหญ่คนแรก ปัจจุบันเปิดทำการสอนเป็น 2 ระดับชั้น คือระดับก่อนประถมศึกษา และระดับประถมศึกษา มีนายปิยะ ปัญญา ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคุ้งตะเภาคนปัจจุบัน

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ ข้อมูลรายชื่อผู้ใหญ่บ้านจาก เว็บไซด์องค์การบริหารส่วนตำบลคุ้งตะเภา
  2. ^ 2.0 2.1 โปสเตอร์สรุป ข้อมูลหมู่บ้านและปัญหาความต้องการของประชาชน บ้านคุ้งตะเภา ประจำปี 2547 (ข้อมูล จปฐ.) .จาก คณะกรรมการอำนวยการงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบท (พชช.) กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย
  3. ^ ข้อมูลประชากร หมู่บ้านคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ (กันยายน 2550) .จาก สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
  4. ^ ข้อมูลพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย และดินถล่ม จังหวัด อุตรดิตถ์ ปี 2551 .จาก เว็บไซต์ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 9 พิษณุโลก
  5. ^ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงเกษตราธิการ ประกาศบอกล่วงหน้าจะแจกโฉนดสำหรับที่ดิน ในทุ่งบ้านวังหมู ตำบลวังหมู อำเภออุตรดิตถ์,ทุ่งบ้านป่าเซ่า ตำบลป่าเซ่า อำเภออุตรดิตถ์,ทุ่งบ้านคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภออุตรดิตถ์ แขวงเมืองพิชัย, เล่ม ๒๔, ๑๕ กันยายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๖, หน้า ๕๘๕
  6. ^ 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 6.6 6.7 เทวประภาส มากคล้าย เปรียญ.. เอกสาร : เอกสารแนะนำวัดคุ้งตะเภา . อุตรดิตถ์ : วัดคุ้งตะเภา , 2549.
  7. ^ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
  8. ^ ขุนช้างขุนแผน ตอนที่ ๒๗ พลายงามอาสา
  9. ^ 9.0 9.1 9.2 ชุนนุมพระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง "แผ่นดินทอง แผ่นดินพระร่วง" คนไทยในสมัยสุโขทัย
  10. ^ ความเป็นมาของชื่อคุ้งตะเภา จากประวัติวัดคุ้งตะเภา ในวิกิซอร์ซ
  11. ^ ประวัติสาธารณูปโภค จังหวัดอุตรดิตถ์ จาก เว็บไซด์รักษ์บ้านเกิด.คอม
  12. ^ พื้นเพคนคุ้งตะเภา จาก ประวัติวัดคุ้งตะเภา ในวิกิซอร์ซ
  13. ^ พระมหาจรูญ พรหมน้อย. เอกสาร : เอกสารฉลองวัดป่ากล้วยครบ ๑๕๐ ปี คืนสู่เหย้า ชาวบ้านป่ากล้วย . อุตรดิตถ์ : องค์การบริหารส่วนตำบลคุ้งตะเภา , ๒๕๔๕.
  14. ^ ศิลปวัฒนธรรมไทย เล่มที่ 3 ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมกรุงรัตนโกสินทร์ เรื่อง เปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่ (น.131 132)
  15. ^ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เอกสารการสอนชุดวิชาความเชื่อและศาสนาในสังคมไทย :สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ. 2532
  16. ^ ผลสอบธรรมศึกษาจังหวัดอุตรดิตถ์. สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง : แผนกสถิติ-ข้อมูล
  17. ^ ประวัติวัดคุ้งตะเภา : ศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภา จาก วิกิซอร์ซ

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

Commons
คอมมอนส์ มีภาพและสื่ออื่นๆ เกี่ยวกับ:
หมู่บ้านคุ้งตะเภา
หน่วยการปกครองและสถานที่สำคัญในตำบลคุ้งตะเภา
หมู่บ้าน

หมู่บ้านป่ากล้วย (หมู่ 1-2)หมู่บ้านป่าขนุน(หมู่ 3)หมู่บ้านคุ้งตะเภา (หมู่ 4)หมู่บ้านหัวหาด (หมู่ 5)หมู่บ้านหาดเสือเต้น (หมู่ 6,8)หมู่บ้านบ่อพระ (หมู่ 7)

ศาสนสถาน

วัดคุ้งตะเภาวัดใหม่เจริญธรรมวัดป่ากล้วยวัดป่าสักเรไรวัดหาดเสือเต้นวัดหนองปล้องวัดบ่อพระ

สถานศึกษา

โรงเรียนป่ากล้วยเสริมวิทยาโรงเรียนบ้านคุ้งตะเภาโรงเรียนบ้านหัวหาดโรงเรียนบ้านบ่อพระโรงเรียนป่าขนุนเจริญวิทยา (ประถมฯและมัธยมฯต้น)โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น (ประถมฯและมัธยมฯต้น)

พิกัดภูมิศาสตร์: 17°39′24″N, 100°8′55″E

ภาษาอื่น


aa - ab - af - ak - als - am - an - ang - ar - arc - as - ast - av - ay - az - ba - bar - bat_smg - bcl - be - be_x_old - bg - bh - bi - bm - bn - bo - bpy - br - bs - bug - bxr - ca - cbk_zam - cdo - ce - ceb - ch - cho - chr - chy - co - cr - crh - cs - csb - cu - cv - cy - da - de - diq - dsb - dv - dz - ee - el - eml - en - eo - es - et - eu - ext - fa - ff - fi - fiu_vro - fj - fo - fr - frp - fur - fy - ga - gan - gd - gl - glk - gn - got - gu - gv - ha - hak - haw - he - hi - hif - ho - hr - hsb - ht - hu - hy - hz - ia - id - ie - ig - ii - ik - ilo - io - is - it - iu - ja - jbo - jv - ka - kaa - kab - kg - ki - kj - kk - kl - km - kn - ko - kr - ks - ksh - ku - kv - kw - ky - la - lad - lb - lbe - lg - li - lij - lmo - ln - lo - lt - lv - map_bms - mdf - mg - mh - mi - mk - ml - mn - mo - mr - mt - mus - my - myv - mzn - na - nah - nap - nds - nds_nl - ne - new - ng - nl - nn - no - nov - nrm - nv - ny - oc - om - or - os - pa - pag - pam - pap - pdc - pi - pih - pl - pms - ps - pt - qu - quality - rm - rmy - rn - ro - roa_rup - roa_tara - ru - rw - sa - sah - sc - scn - sco - sd - se - sg - sh - si - simple - sk - sl - sm - sn - so - sr - srn - ss - st - stq - su - sv - sw - szl - ta - te - tet - tg - th - ti - tk - tl - tlh - tn - to - tpi - tr - ts - tt - tum - tw - ty - udm - ug - uk - ur - uz - ve - vec - vi - vls - vo - wa - war - wo - wuu - xal - xh - yi - yo - za - zea - zh - zh_classical - zh_min_nan - zh_yue - zu -