See also ebooksgratis.com: no banners, no cookies, totally FREE.

CLASSICISTRANIERI HOME PAGE - YOUTUBE CHANNEL
Privacy Policy Cookie Policy Terms and Conditions
สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดอ่างทอง - วิกิพีเดีย

สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดอ่างทอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดอ่างทอง

เนื้อหา

[แก้] 1อำเภอเมือง

1 ศาลหลักเมือง ตั้งอยู่ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด เป็นอาคารจตุรมุข (4 หน้า) ตัวศาลสูงจากพื้นประมาณ 1.5 เมตร ภายในศาลเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังภาพพุ่มข้าวบิณฑ์ ก้านแย่งสวยงามมาก ศาลหลักเมืองจังหวัดอ่างทองเป็นศาลหลักเมืองแห่งที่ 2 ที่มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้าน (ศาลหลักเมืองแห่งแรกที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง คือ ศาลหลักเมือง กรุงเทพฯ) ศาลหลักเมืองอ่างทองเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สวยงาม สมกับเป็นหลักชัย และหลักใจของประชาชนชาวอ่างทองอย่างยิ่ง ผู้ที่มีโอกาสไปเยือนจังหวัดนี้ไม่ควรละเว้นที่จะไปเคารพสักการะศาลหลักเมืองและหาของดี เมืองอ่างทองบริเวณศาลเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

2 บ้านทรงไทยจำลอง

ส่วนประกอบบ้านทรงไทย เครื่องเรือนไม้ตาล เป็นฝีมือเชิงช่างที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ นอกจาก จะมีการจัดสร้างที่สวยงามแล้วยังคงความเป็นไทยไว้อย่างน่าสนใจ เป็นแหล่งทำส่วนประกอบของบ้านทรงไทยทุกชนิด มีการประดิษฐ์บ้านทรงไทยจำลองที่ย่อส่วนจากของจริง และยังมีสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ที่ทำจากไม้ตาลอีกด การเดินทาง ตามเส้นทางสายอยุธยา-ป่าโมก และตำบลโพสะ

3 วัดอ่างทองวรวิหาร

เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด เดิมเป็นวัด เล็ก ๆ 2 วัด ชื่อวัดโพธิ์เงิน และวัดโพธิ์ทอง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ครั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้รวมเป็นวัดเดียวกัน เมื่อ พ.ศ. 2443 แล้วพระราชทานนามว่า "วัดอ่างทอง" วัดนี้มีพระอุโบสถที่งดงามยิ่งนัก พระเจดีย์ทรงระฆังประดับด้วยกระจกสีอย่างสวยงาม และหมู่กุฏิทรงไทยสร้างด้วยไม้สักงดงามเป็นระเบียบล้วนเป็นศิลปะสถาปัตยกรรมตามแบบสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

4 วัดต้นสน


อยู่ริมฝั่งฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับวิทยาลัยเทคนิคอ่างทอง เป็นวัดเก่าแก่โบราณ ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิ เรียกว่า "สมเด็จพระศรีเมืองทอง" ขนาดหน้าตักกว้าง 6 วา 3 ศอก 9 นิ้ว สูง 9 วา 2 ศอก 19 นิ้ว มีพุทธลักษณะที่สวยงามมากอีกองค์หนึ่ง นับว่าเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะที่ใหญ่ ที่สุดองค์แรก

5 วัดสุวรรณเสวริยาราม


อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทิศตะวันออกในท้องที่ตำบลตลาดกรวด จากศาลากลางจังหวัด ไปตามถนน คลองชลประทานประมาณ 3 กม. มีพระพุทธไสยาสน์ขนาดองค์พระยาวประมาณ 10 วา ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารและโบราณวัตถุสถานต่าง ๆ ที่มีอายุราว 100 ปี

[แก้] 2 อำเภอป่าโมก

1วัดป่าโมกวรวิหาร


อยู่ในเขตเทศบาลตำบลป่าโมก ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกห่างจากอำเภอเมืองอ่างทองไปประมาณ 18 กม. ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 309 สายอ่างทอง-อยุธยา เดิมมีวัด 2 วัด อยู่ติดกันคือ วัดตลาดกับวัดชีปะขาว เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่งดงามมากองค์หนึ่งของประเทศไทย มีความยาวจากพระเมาลีถึงปลายพระบาทประมาณ 22.58 เมตรก่ออิฐถือปูนปิดทอง องค์พระนี้สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัย มีประวัติความเป็นมาน่าอัศจรรย์เล่าขานว่า ได้ลอยน้ำมาจมอยู่หน้าวัดราษฎรบวงสรวงแล้วชักลากขึ้นมาไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำ ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชก่อนจะยกทัพไปรบกับพระมหาอุปราชได้เสด็จมาชุมนุมพล และถวายสักการะบูชาพระพุทธรูปองค์นี้ ในปี พ.ศ. 2269 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ได้เสด็จมาควบคุมการชะลอองค์พระ ให้พ้นจาก กระแสน้ำเซาะตลิ่งพังไปไว้ยังวิหารใหม่ที่วัดตลาดห่างจากฝั่งแม่น้ำ 168 เมตร แล้วโปรดให้รวม ทั้งสองเป็นวัดเดียวกันพระราชทานนามว่าวัดป่าโมกเพราะบริเวณนั้นมีต้นโมกมากมาย สิ่งที่น่าสนใจในวัดนี้มีมากมาย อาทิ พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ วิหารเขียน มณฑปพระพุทธบาท 4 รอย เป็นต้น


2วัดสระแก้ว

อยู่ถัดจากวัดท่าสุทธาวาส ประมาณ 200 เมตร ตามถนนเลียบคันคลองชลประทาน หากเดินทางมาจาก อยุธยาตามเส้นทางอยุธยา-อ่างทอง (ทางหลวงหมายเลข 309) ทางเข้าวัดจะอยู่ซ้ายมือห่างจากอยุธยาประมาณ 15 กม. วัดนี้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2242 เดิมชื่อว่า "วัดสระแก" เป็นสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ที่มีเด็กอยู่ในความดูแล และได้จัดตั้งคณะลิเกเด็กกำพร้าวัดสระแก้ว เพื่อหารายได้ช่วยเหลือค่าใช้จ่าย ในการเลี้ยงดูเด็กกำพร้าด้วย นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของ "สามัคคีสมาคาร" ซึ่งเป็นศูนย์โครงการทอผ้าตามพระราชประสงค์ก่อตั้ง

เมื่อ พ.ศ. 2524 อยู่ในความรับผิดชอบของ กองอุตสาหกรรมในครอบครัว กระทรวงอุตสาหกรรม ที่บ้านบางเสด็จนี้จะมีกี่ทอผ้าอยู่แทบทุกหลังคาเรือน ชาวบางเสด็จจะขยันขันแข็งมุ่งผลิตสินค้าผ้าทอต่าง ๆ เช่น ผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า ผ้าปูโต๊ะ ปลอกหมอน ฯลฯ ให้มีคุณภาพดี และมีความสวยงามจนเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วไป สินค้าเหล่านี้จะรวบรวมไปจัดจำหน่ายแก่ผู้สนใจที่ศูนย์สามัคคีสมาคาร ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (035) 611169

3 หมู่บ้านทำกลอง

ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านแพ ตำบลเอกราช หลังตลาดป่าโมก ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา การเดินทางใช้ถนนสายใน ผ่านหน้าที่ทำการเทศบาลอำเภอป่าโมกซึ่งขนานไปกับลำคลองชลประทาน ระยะทางประมาณ 17 กม. ชาวบ้านแพเริ่มผลิตกลองมาตั้งแต่ พ.ศ. 2470 โดยจะเริ่มหลังฤดูเก็บเกี่ยว วัตถุดิบที่ใช้ได้แก่ไม้ฉำฉาเพราะเป็นไม้เนื้ออ่อนที่สามารถขุดเนื้อไม้ได้ง่ายกับหนังวัว นอกจากคุณภาพที่ประณีตสวยงามแล้วยังมีหลายขนาดให้เลือกอีกด้วย โดยเฉพาะกลองขนาดจิ๋วจะเป็นที่นิยมหาซื้อไว้เป็นของที่ระลึกซึ่งขายดีมาก


4 วัดท่าสุทธาวาส

อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันออกเขตตำบลบางเสด็จ หากใช้เส้นทางสายอยุธยา-อ่างทอง (ทางหลวงหมายเลข 309) ทางเข้าวัดจะอยู่ทางซ้ายมือห่างจากตัวจังหวัดอ่างทองประมาณ 17 กม. หรือห่างจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประมาณ 14 กม. วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่แต่โบราณ สมัยอยุธยาตอนต้นในการศึกสงครามครั้งกรุงศรีอยุธยา บริเวณนี้จะเป็นเส้นทางเดินทัพข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาปัจจุบัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ทรงรับไว้ในพระราชอุปถัมภ์ มีการจัดสร้างพลับพลาที่ประทับกลางสระน้ำ พระเจดีย์เพื่อแสดงพระพุทธรูปโบราณและโบราณวัตถุต่าง ๆ รวมทั้งพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ ภายในพระอุโบสถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จิตรกรส่วนพระองค์ และนักเขียนโครงการศิลปาชีพ เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังด้วย บริเวณวัดแห่งนี้มีความร่มรื่นด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ และทิวทัศน์สวยงามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาชวนให้เป็นที่น่าพักผ่อน


5 ตุ๊กตาชาววังบางเสด็จ ตำบลบางเสด็จตั้งอยู่ในเส้นทางหลวงหมายเลข 309 จากอยุธยาไปจังหวัดอ่างทองประมาณ 16 กม. จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าสู่บ้านบางเสด็จ อยู่ติดกับวัดท่าสุทธาวาส ตำบลนี้เดิมชื่อ ตำบลบ้านวัดตาล เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยใน ปี พ.ศ. 2518 สร้างความปลื้มปิติให้แก่ราษฎรเป็นอันมาก เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ จึงพร้อมใจกันเปลี่ยนชื่อบ้านวัดตาลเป็น บ้านบางเสด็จ ภายในหมู่บ้านบางเสด็จนี้ นอกจากจะได้ชมทัศนียภาพอันร่มรื่น และสวยงาม ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วยังสามารถเดินชมการปั้นตุ๊กตาในบริเวณบ้านเรือนราษฎรละแวกนั้นได้อย่างเป็นกันเอง

โครงการตุ๊กตาชาววังที่บ้านบางเสด็จเป็นโครงการที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2519 เพื่อให้เป็นอาชีพเสริมเพิ่มพูนรายได้ให้แก่ราษฎร มีการรวมกลุ่มในรูปสหกรณ์โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ด้านหน้าวัดท่าสุทธาวาส ซึ่งจะจัดให้สมาชิกมา สาธิตการปั้นพร้อมกับจัดจำหน่ายในราคาที่ย่อมเยา ตุ๊กตาชาววังเป็นประดิษฐกรหรมดินเหนียว ที่สวยงามจัดแสดงชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยทุกเพศทุกวัย วัฒนธรรมประเพณีไทย เช่น การละเล่นของเด็กไทย วงมโหรีปี่พาทย์ ตลอดจนผลไม้ไทยหลายหลากชนิดล้วนมีความสวยงาม น่ารัก และเหมาะที่จะซื้อเป็นของฝากหรือของที่ระลึกเป็นอย่างยิ่ง


6 อิฐอ่างทอง

เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนคุณภาพสูงที่ผลิตขึ้น เพื่อจัดจำหน่ายไปทั่วประเทศไทย ส่วนมากจะใช้ในการทำอิฐโชว์แนวประดับอาคาร บ้านเรือน ผู้สนใจจะติดต่อซื้อได้จากโรงอิฐโดยตรงเฉพาะที่อำเภอ ป่าโมกจะมีโรงอิฐมากกว่า 42 แห่ง

[แก้] 3 อำเภอไชโย

1 วัดไชโยราชวรวิหาร เป็นวัดพระอารามหลวงชั้นโท อยู่บนเส้นทางสายอ่างทอง-สิงห์บุรี ห่างจากอำเภอเมืองอ่างทองประมาณ 18 กม. เดิมเป็นวัดราษฏร์โบราณสร้างมาแต่ครั้งใดไม่ปรากฏ มีความสำคัญขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี ได้สร้างพระพุทธรูปปางสมาธิองค์ใหญ่เป็นปูนขาวไม่ปิดทองไว้กลางแจ้ง ณ วัดแห่งนี้ ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จฯ มานมัสการและโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดไชโย ในปี พ.ศ. 2430 แต่แรงสั่นสะเทือน ระหว่างการลงรากพระวิหารทำให้องค์หลวงพ่อโตพังลงมาจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหลวงพ่อโตขึ้นใหม่ตามแบบหลวงพ่อโต วัดกัลยาณมิตร มีขนาดหน้าตักกว้าง 16.10 เมตร สูง 22.65 เมตร แล้วพระราชทานนามว่า "พระมหาพุทธพิมพ์" มีการจัดงานฉลองนับ เป็นงานใหญ่ที่สุดของจังหวัดอ่างทองในสมัยนั้น องค์หลวงพ่อโตประดิษฐานอยู่ในพระวิหารที่มีความสูงใหญ่สง่างามแปลกตากว่าวิหารแห่งอื่น ๆ พุทธศาสนิกชนจากที่ต่าง ๆ มานมัสการอย่างไม่ขาดสายติดกับด้านหน้าพระวิหาร มีพระอุโบสถ หันด้านหน้าออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมไทยอันงดงามเช่นกัน ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ ฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันวัดไชโยวรวิหารได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่จนมีความงามอย่างสมบูรณ์ยิ่ง

2 วัดสระเกศ' ตั้งอยู่ที่ตำบลชัยภูมิ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทิศตะวันออก ห่างจากอำเภอเมืองอ่างทอง ประมาณ 15 กม.เป็นวัดเก่าตั้งแต่สมัยอยุธยา ตำบลชัยภูมินี้เดิมชื่อ บ้านสระเกศ ขึ้นอยู่กับแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ มีกล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารว่า เมื่อ พ.ศ. 2128 พระเจ้าเชียงใหม่ ยกทัพมาตั้งค่ายอยู่ที่บ้านสระเกศ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินมา ณ วัดสระเกศเมื่อปี พ.ศ. 2513 เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช



[แก้] 4 อำเภอโพธิ์ทอง

1 วัดโพธิ์ทอง อยู่ที่บ้านโพธิ์ทอง ตำบลคำหยาด ตรงข้ามทางเข้าบ้านบางเจ้าฉ่า ห่างจากอำเภอเมืองไปตามเส้นทางสายอ่างทอง-โพธิ์ทอง ประมาณ 9 กม. นามวัดโพธิ์ทองในพระราชพงศาวดารกล่าวว่าเป็นวัดที่กรมขุนพรพินิต (เจ้าฟ้าอุทุมพร หรือขุนหลวงหาวัด) เสด็จมาผนวช วัดโพธิ์ทองแห่งนี้ รัชกาลที่ 6 มา ประทับร้อน เมื่อคราวเสด็จประพาสลำน้ำน้อย ลำน้ำใหญ่ มณฑลกรุงเก่า เมื่อ พ.ศ. 2459

2 วัดขุนอินทประมูล อยู่ในเขตตำบลอินทประมูล การเดินทาง ไปสามารถใช้เส้นทางได้ 3 สาย คือ

1 สายอ่างทอง-อำเภอโพธิ์ทอง (เส้นทาง 3064) แยกขวาที่กม. 9 เข้าไปอีกประมาณ 2 กม.

2 จากจังหวัดสิงห์บุรีไปทางอำเภอไชโยประมาณกม.ที่ 8 จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าถึงวัดเป็นระยะทาง 4 กม

3 จากเส้นทางตัดใหม่สายอำเภอวิเศษชัยชาญ-โพธิ์ทอง (ถนนเลียบคลองชลประทาน) เมื่อถึงอำเภอโพธิ์ทองมีทางแยกเข้าวัดอีก 2 กม.

วัดนี้เป็นวัดโบราณ พิจารณาจากซากอิฐแนวเขตเดิมคะเนว่าเป็นวัดใหญ่ เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธไสยาสน์ที่ใหญ่และยาวที่สุดในประเทศไทย มีความยาวถึง 50 เมตร (25 วา) เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหาร แต่ถูกไฟไหม้ปรักหักพังไปเหลือแต่องค์พระตากแดดตากฝนนานนับเป็นร้อย ๆ ปี องค์พระนอนมีพุทธลักษณะที่งดงาม พระพักตร์ยิ้มละไม สงบเยือกเย็นน่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งนัก พระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ได้เคยเสด็จมาสักการะบูชา อาทิ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสด็จมาเมื่อ พ.ศ. 2296 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ในปี พ.ศ. 2221 และ พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันเสด็จฯ มาถวายผ้าพระกฐินต้นในปี พ.ศ. 2516 และเสด็จมานมัสการอีกครั้งในปี พ.ศ. 2518 พุทธศาสนิกชนทั่วประเทศต่างนิยมมานมัสการเป็นเนืองนิจนอกจากนี้ภายในบริเวณวัดขุนอินทประมูลยังมีโบราณสถานวิหารหลวงพ่อขาว ซึ่งเหลือเพียงฐาน และผนังบางส่วนและพระพุทธรูป ด้านหน้าพระนอนมีศาลรูปปั้น ขุนอินทประมูล ซึ่งตามประวัติ กล่าวว่าเป็นผู้สร้างพระพุทธไสยาสน์

3 ค้างคาวแม่ไก่วัดจันทาราม

วัดจันทารามเป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่ที่บ้านช้าง หมู่ที่ 5 ตำบลโคกพุทรา ห่างจากที่ว่าการอำเภอโพธิ์ทองไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 4 กม. การเดินทาง ใช้เส้นทางสายโพธิ์ทอง-แสวงหาประมาณ 1 กม. แล้วแยกซ้ายไปอีก 3 กม. ในบริเวณวัดแห่งนี้มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่นจึงเป็นที่อยู่อาศัยและแพร่พันธุ์ค้างคาวแม่ไก่ และนกนานาชนิดมาหลายชั่วอายุคนแล้ว ค้างคาวแม่ไก่นี้จะออกหากินในเวลากลางคืน ส่วนเวลากลางวันจะเกาะห้อยหัวอยู่ตามกิ่งไม้เป็นสีดำพรืดมองเห็นแต่ไกลซึ่งผู้สนใจสามารถจะไปชมได้ในทุกฤดูกาล

4 หมู่บ้านจักสาน งานฝีมือจักสานอันลือชื่อของอ่างทองส่วนมากจะเป็นฝีมือของชาวอำเภอโพธิ์ทองแทบทุกครัวเรือนที่ตั้งบ้านเรือนเรียงรายอยู่ทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มการผลิตเครื่องจักสานเครื่องหวาย กลุ่มจักสานไม้ไผ่ เช่น กลุ่มตำบลองครักษ์ กลุ่มตำบลบางเจ้าฉ่า กลุ่มตำบลบางระกำ กลุ่มตำบลพลับ และกลุ่มตำบลอินทประมูล เป็นต้น แหล่งหัตถกรรมเครื่องจักสานที่สำคัญได้แก่ "บางเจ้าฉ่า" ตั้งอยู่ที่หมู่ 8 บ้านยางทอง ตำบลบางเจ้าฉ่า การเดินทาง ใช้เส้นทางสายอ่างทอง-โพธิ์ทอง ประมาณ 9 กม. ถึงคลองชลประทานยางมณี จากนั้นเลี้ยวขวาเลียบคลองไปอีกประมาณ 5 กม. จึงเลี้ยวขวาไปตามทางเข้าวัดยางทอง แหล่งหัตถกรรมจะตั้งอยู่บริเวณหลังวัด ที่นี่เป็นแหล่งเครื่องจักสานด้วยไม้ไผ่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินมาเยือนและได้พระราชทานคำแนะนำให้ราษฎรปลูกไม้ไผ่สีสุก เพื่อเป็นวัตถุดิบในการทำ จักสานให้มีปริมาณมากขึ้น ก่อนที่จะมีปัญหาการขาดแคลน งานจักสานของบางเจ้าฉ่านี้มีความประณีตสวยงามเป็นพิเศษ และสามารถพัฒนางานฝีมือตามความนิยมของตลาด จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นหมู่บ้านตัวอย่างในการพัฒนาอาชีพ นอกจากบางเจ้าฉ่าแล้ว ห่างจากอำเภอโพธิ์ทองไปอีกประมาณ ห 4 กม. ก็มีผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานไม้ไผ่เช่นเดียวกัน

5 พระตำหนักคำหยาด

อยู่ในท้องที่ตำบลคำหยาด ถัดจากวัดโพธิ์ทอง ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 2 กม. บนถนนสายเดียวกัน ตัวอาคารตั้งโดดเด่นอยู่กลางทุ่งนา ก่อด้วยอิฐถือปูนขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร สภาพปัจจุบันมีเพียงฝนัง 4 ด้าน แต่ยังคงเห็นเค้าความสวยงามทางด้านศิลปกรรม เช่น ลอดลายประดับซุ้มจรนำหน้าต่าง ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า เมื่อ พ.ศ. 2451 ได้เสด็จมายังโบราณสถานแห่งนี้และทรงมีพระราชหัตถเลขาอรรถาธิบายไว้ว่า เดิมทีทรงมีพระราชดำริว่า ขุนหลวงหาวัด (เจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต) ทรงผนวชที่วัดโพธิ์ทองแล้วสร้างพระตำหนักแห่งนี้ขึ้นเพื่อจำพรรษา เนื่องจากมีชัยภูมิที่เหมาะสม ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นตัวพระตำหนักสร้างด้วยความประณีตสวยงามแล้วพระราชดำริเดิมก็เปลี่ยนไป ด้วยทรงเห็นว่าไม่น่าที่ขุนหลวงหาวัดจะทรงมีความคิดใหญ่โต สร้างที่ประทับชั่วคราวหรือที่มั่นในการต่อสู้ให้ดูสวยงามเช่นนี้ ดังนั้น จึงทรงสันนิษฐานว่า พระตำหนักนี้คงจะสร้างขึ้นตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เพื่อเป็นที่ประทับแรมเนื่องจากมีพระราชนิยมเสด็จประพาสเมืองแถบนี้อยู่เนือง ๆ เช่นเดียวกับที่พระเจ้าปราสาททองทรงสร้างที่ประทับไว้ที่บางปะอิน ขณะที่กรมขุนพรพินิตผนวชอยู่ที่วัดราชประดิษฐ์ ได้ทรงนำข้าราชบริพารกับพระภิกษุที่จงรักภักดีต่อพระองค์ ออกจากพระนครศรีอยุธยามา จำพรรษาที่ วัดโพธิ์ทอง และประทับอยู่ที่พระตำหนักคำหยาดนี้เพื่อไปสมทบกับชาวบ้านบางระจัน ปัจจุบันกรมศิลปากรได้บูรณะ และขึ้นทะเบียนพระตำหนักคำหยาดเป็นโบราณสถานไว้แล้ว


6 วังปลาวัดข่อย อยู่บริเวณแม่น้ำน้อยหน้าวัดข่อย หมู่ที่ 1 ตำบลโพธิ์รังนก อยู่ห่างจากจังหวัดอ่างทอง ประมาณ 12 กม. ตามเส้นทางจังหวัดอ่างทอง-วิเศษชัยชาญ ก็จะพบป้ายวังปลาวัดข่อย แล้วเลี้ยวขวาลัดเส้นทางคลองส่งน้ำชลประทานไปอีกประมาณ 7 กม. ปลาที่วัดข่อยนี้มีปริมาณชุกชุมมาตั้งแต่สมัยพระครูสุกิจวิชาญ (หลวงพ่อเข็ม) เป็นเจ้าอาวาสซึ่งเป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2528 พระครูสรกิจจาทร เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันได้ปรับปรุงสถานที่ และประกาศ เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำร่วมกับสำนักงานประมงอำเภอโพธิ์ทองและเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดูแลรักษามิให้ปลาถูกรบกวน ปัจจุบันมีปลานานาพันธุ์ เช่น ปลาสวาย ปลาตะเพียน ปลาเทโพ ปลาแรดปลาบึก ฯลฯ อาศัยอยู่รวมกันไม่ต่ำกว่า 50,000 ตัว ทางวัดได้จัดจำหน่ายอาหารปลาให้นักท่องเที่ยวได้เพลิดเพลินกับการให้อาหารปลาและจัดสวนสัตว์ขนาดเล็ก ตลอดจนร้านจำหน่ายเครื่องดื่มไว้บริการอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจภายในวัดข่อยมี มณฑป พระวิหาร เจดีย์ พระอุโบสถ กุฏิ หอสวดมนต์ต์ ศาลาการเปรียญแบบทรงไทยโบราณซึ่งทำมาจากไม้สักเป็นเสาเหลี่ยม 8 เหลี่ยม ตะเกียง จากกรุงวอชิงตัน เป็นตะเกียงโบราณ นาฬิกาโบราณ จากปารีส และตู้พระไตรปิฎกทำด้วยไม้สักจากประเทศจีนซึ่งมีในสมัยรัชกาลที่ 5 เรือซึ่งเป็นพาหนะที่ใช้ในการเดินทางมีแทบทุกชนิด ได้แก่ เรือบด เรือแจว เรือสำปั้น และเรือประทุน เปลกล่อมลูกในสมัยโบราณ มรดกชาวนาซึ่งได้รวบรวมเครื่องมือ เครื่องใช้ รวมทั้งอุปกรณ์ในการทำนา ได้แก่ เกวียน ล้อ คันไถ อุปกรณ์เครี่องมือการจับสัตว์น้ำ ไซดักปลา และศูนย์ผลิตข้าวซ้อมมือที่ชาวบ้านทำการจัดตั้งเป็นสหกรณ์ขึ้น เพื่อทำการจำหน่ายให้แก่ประชาชน

7 ศูนย์เจียระไนพลอย อยู่ในบริเวณเดียวกับแหล่งผลิตเครื่องจักสานที่บางเจ้าฉ่า มีศูนย์รวมการเจียระไนพลอยของหมู่บ้านและมีพลอยรูปแบบต่าง ๆ ที่สวยงามเป็นจำนวนมาก

8 ศูนย์ผลิตเครื่องใช้ประดับมุก อยู่ที่วัดม่วงคัน ตำบลรำมะสัก มีการผลิตเครื่องใช้ประดับมุกฝีมือประณีต นอกจากนั้นมีการทำหัตถกรรมในครัวเรือนอีกหลายแห่ง เช่นกัน ชุดโต๊ะเครื่องแป้ง แจกัน ที่เขี่ยบุหรี่

[แก้] 5 อำเภอวิเศษชัยชาญ

1 วัดเขียน

เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง อยู่ที่หมู่ 8 ตำบลศาลเจ้าโรงทอง ห่างจากอำเภอเมือง 12 กม. ภายใน พระอุโบสถมีภาพเขียนฝาผนังที่งดงาม สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างสกุลเมืองวิเศษชัยชาญสมัยอยุธยาตอนปลาย ลักษณะภาพคล้ายกับภาพเขียนที่พระอุโบสถวัดเกาะ และวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งอยู่ในยุคเดียวกัน

2 วัดม่วงตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลหัวตะพาน ระยะทางจากจังหวัดถึงวัดม่วง ประมาณ 8 กม. ใช้เส้นทางสายอ่างทอง-สุพรรณบุรี วัดจะอยู่ทางซ้ายมือ มีพระอุโบสถล้อมรอบด้วยกลีบบัวที่ใหญ่ที่สุดในโลกภายในมีรูปปั้นเกจิอาจารย์ชื่อดังทั่วประเทศ มีแดนเทพเจ้าไทย แดนนรก แดนสวรรค์ และแดนเทพเจ้าจีน ซึ่งมีรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมขนาดใหญ่ มีรูปปั้นแสดงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสงครามไทย-พม่า ที่เมืองวิเศษชัยชาญ และสามารถซื้อผลิตภัณฑ์ของดีเมืองอ่างทองได้ด้วย

3 อนุสาวรีย์นายดอกนายทองแก้ว

ประดิษฐานอยู่ที่หน้าโรงเรียนวิเศษชัยชาญ หมู่ที่ 2 ตำบลไผ่จำศีล ระหว่างกม.ที่ 26-27 ตามเส้นทางสายศรีประจันต์-วิเศษชัยชาญ เป็นอนุสรณ์สถานที่ชาววิเศษชัยชาญ และชาวอ่างทองร่วมกันสร้าง เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของวีรบุรุษแห่งบ้านโพธิ์ทะเล ทั้งสองท่านที่ได้สละชีวิต เป็นชาติพลีในการสู้รบกับพม่าที่ค่ายบางระจันอย่างกล้าหาญ เมื่อปี พ.ศ. 2309 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอนุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2520


[แก้] 6 อำเภอแสวงหา

1 บ้านคูเมือง


อยู่ในท้องที่ตำบลบ้านไผ่ ห่างจากที่ว่าการอำเภอแสวงหา ประมาณ 4 กม. และห่างจากค่ายบางระจันประมาณ 3 กม.เศ ที่บ้านคูเมืองนี้นักโบราณคดีได้สำรวจพบซากเมืองโบราณที่สันนิษฐานว่าเป็นชุมชนสมัยทวาราวดี มีร่องรอยเหลือเพียงคูเมืองขนาดกว้างกับเนินดิน ขุดพบเพียงเศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผา กระดูกสัตว์ ลูกปัดและหินบดยา

2 สวนนกธรรมชาติ

อยู่ในบริเวณหมู่ที่ 2 บ้านริ้วหว้า ตำบลบ้านพราน ระยะทางห่างจากจังหวัดอ่างทอง 24 กม. ใช้เส้นทางสายโพธิ์ทอง-แสวงหา 18 กม. แล้วแยกเข้าที่บ้านตำบลหนองแม่ไก่ ถึงโรงเรียนหนองแม่ไก่ แล้วเดินทางไปตามถนนลูกรังอีก 6 กม. ก็จะถึงบริเวณวัดริ้วหว้าซึ่งมีนกท้องนาปากห่าง นกกระสา นกกาน้ำ นกกระเต็น นกอีเสือ ฯลฯ บางชนิดก็ใกล้จะสูญพันธุ์และหาชมได้ยากในท้องถิ่นอื่น

3 วัดบ้านพราน

ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีพราน เป็นวัดเก่าแก่สร้างในครั้งใดไม่ปรากฏแต่ได้ถูกทิ้งร้างไปจนต้นไม้ปกคลุมหนาทึบ ต่อมาพวกนายพรานได้มาตั้งหมู่บ้านขึ้นในบริเวณดังกล่าว จึงช่วยกันบูรณะขึ้นมาใหม่ มีประวัติเล่าต่อกันมาว่าพระพุทธรูปศิลาแลงในพระวิหารนั้นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นผู้สร้างที่เมืองสุโขทัย แล้วถอดเป็นชิ้นมาประกอบเป็นองค์ที่วัดบ้านพราน เพื่อให้เป็นพระประธาน แต่ผู้สร้างวัด ต้องการสร้างพระประธานขึ้นเอง จึงได้นำไปประดิษฐานไว้ในพระวิหารพระพุทธรูปองค์นี้ ชาวบ้านเรียกว่า "หลวงพ่อไกรทอง" เชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์สามารถคุ้มภัยแก่ผู้ไปสักการะบูชา

[แก้] 7อำเภอสามโก้

อำเภอสามโก้อยู่ห่างจากจังหวัดอ่างทองประมาณ 25 กม. แม้เป็นอำเภอเล็ก ๆ ซึ่งเดิมเป็นตำบลหนึ่งขึ้นกับอำเภอวิเศษชัยชาญ ได้ยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอและเป็นอำเภอ เมื่อ พ.ศ. 2508 ความสำคัญในประวัติศาสตร์ได้ปรากฏในพงศาวดารว่า เป็นเส้นทางที่พม่าเดินทัพ จากด่านเจดีย์สามองค์ผ่านเข้ามาตั้งค่ายพักแรมก่อนเข้าตีกรุงศรีอยุธยา และเป็นที่ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระเอกาทศรถ เคยเสด็จนำทัพหลวงผ่านบ้านสามโก้แห่งนี้เพื่อทรงทำสงครามยุทธหัตถี ที่ตำบลตระพังตรุ จังหวัดสุพรรณบุรี จนทรงได้รับชัยชนะด้วยเช่นกัน ปัจจุบันสามโก้เป็นอำเภอที่น่าสนใจมากอำเภอหนึ่งในแง่ประเพณี และศิลปะพื้นบ้าน กล่าวคือ สามโก้ได้มีพื้นที่การเกษตรบางส่วนที่เปลี่ยนจากพื้นที่ทำนาเป็นพื้นที่ทำการเกษตรด้านอื่น เช่น การทำนาบัว การทำสวนมะพร้าวพันธุ์ดี และการทำไร่นาสวนผสม ซึ่งเกษตรกรรู้จักพัฒนาอาชีพด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาปรับปรุงผลผลิตทางการเกษตรให้มีทั้งคุณภาพ และปริมาณสามารถทำรายได้อย่างน่าพอใจ นอกจากนี้สามโก้ยังได้เป็นถิ่นแดนของเพลงพื้นเมืองที่มีพ่อเพลง และแม่เพลงที่มีบทบาทในการฟื้นฟูการละเล่น และอนุรักษ์เพลงพื้นบ้านอีกด้วย


aa - ab - af - ak - als - am - an - ang - ar - arc - as - ast - av - ay - az - ba - bar - bat_smg - bcl - be - be_x_old - bg - bh - bi - bm - bn - bo - bpy - br - bs - bug - bxr - ca - cbk_zam - cdo - ce - ceb - ch - cho - chr - chy - co - cr - crh - cs - csb - cu - cv - cy - da - de - diq - dsb - dv - dz - ee - el - eml - en - eo - es - et - eu - ext - fa - ff - fi - fiu_vro - fj - fo - fr - frp - fur - fy - ga - gan - gd - gl - glk - gn - got - gu - gv - ha - hak - haw - he - hi - hif - ho - hr - hsb - ht - hu - hy - hz - ia - id - ie - ig - ii - ik - ilo - io - is - it - iu - ja - jbo - jv - ka - kaa - kab - kg - ki - kj - kk - kl - km - kn - ko - kr - ks - ksh - ku - kv - kw - ky - la - lad - lb - lbe - lg - li - lij - lmo - ln - lo - lt - lv - map_bms - mdf - mg - mh - mi - mk - ml - mn - mo - mr - mt - mus - my - myv - mzn - na - nah - nap - nds - nds_nl - ne - new - ng - nl - nn - no - nov - nrm - nv - ny - oc - om - or - os - pa - pag - pam - pap - pdc - pi - pih - pl - pms - ps - pt - qu - quality - rm - rmy - rn - ro - roa_rup - roa_tara - ru - rw - sa - sah - sc - scn - sco - sd - se - sg - sh - si - simple - sk - sl - sm - sn - so - sr - srn - ss - st - stq - su - sv - sw - szl - ta - te - tet - tg - th - ti - tk - tl - tlh - tn - to - tpi - tr - ts - tt - tum - tw - ty - udm - ug - uk - ur - uz - ve - vec - vi - vls - vo - wa - war - wo - wuu - xal - xh - yi - yo - za - zea - zh - zh_classical - zh_min_nan - zh_yue - zu -