พระถังซัมจั๋ง
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระถังซัมจั๋ง (ประมาณ ค.ศ. 602 – 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 664[1]) เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ เดิมชื่อ "พระเจ้าเหี้ยนจัง" (玄奘) เป็นพระที่บำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา มาแต่เยาว์ แต่ยังมีสิ่งที่ค้างอยู่ในใจ คือการเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎก ณ ชมพูทวีปเมื่อเติบใหญ่ขึ้นจึงได้ออกเดินทาง โดยได้เขียนเป็นบันทึกการเดินทางไว้ด้วย ซึ่งเขียนขึ้นในปี พ.ศ. 1183 (ค.ศ. 646) มีชื่อว่า "ต้าถังซียู่จี้" (大唐西域记) แปลว่า จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง โดยในนั้นจึงเล่าถึงการเดินทางที่ไปพบปะกับภูมิประเทศที่แตกต่างออกไป สภาพผู้คน วัฒนธรรมที่หลากหลาย น่าสนใจ รวมไปถึงการทหาร การเมืองการปกครอง ด้วย
เนื้อหา |
[แก้] ประวัติ
พระถังซัมจั๋ง เป็นชาวมณฑลเหอหนาน เมื่อเยาว์วัยได้ติดตามพี่ชายคนที่สอง ซึ่งบวชเป็นพระภิกษุในเมืองลั่วหยัง และได้รับเลือกให้เป็นนาคหลวง บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 13 ปี และมีความสามารถในการแสดงธรรมเป็นอย่างมาก เมื่อสิ้นราชวงศ์สุย และเปลี่ยนเป็นราชวงศ์ถังแล้ว ท่านจึงตัดสินใจเดินทางไปแสวงธรรมในประเทศอินเดีย ได้ออกเดินทางเมื่อปี พ.ศ. 1172
พระถังซัมจั๋ง ได้ศึกษาพระธรรมในอินเดีย ที่มหาวิทยาลัยนาลันทา นานถึง 17 ปี รวมระยะเวลาไปกลับทั้งสิ้น 19 ปี เป็นระยะทางกว่า 5 หมื่นลี้ ส่งให้จดหมายเหตุชิ้นนี้ของท่านนั้นอุดมไปด้วยข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับดินแดนในเอเชียกลางและเอเชียใต้เมื่อพันกว่าปีที่แล้วกว่า 138 แว่นแคว้น โดยในจำนวนนี้มี 110 แคว้นที่ท่านเดินทางไปด้วยตนเอง ขณะที่อีก 28 แคว้นนั้นท่านบันทึกจากคำบอกเล่าของผู้อื่น นับเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง
พระถังซัมจั๋ง เดินทางกลับจีนพร้อมทั้งนำพระไตรปิฎกฉบับภาษาสันสกฤตกลับมาด้วย ท่านเดินทางถึงเมืองหลวงของจีนคือ เมืองฉังอัน ในปี พ.ศ. 1188 ในสมัย พระเจ้าถังไท่จง พระองค์ทรงเป็นปราชญ์ผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงทรงอุปถัมภ์การแปลพระไตรปิฎก จากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีน และ พระเจ้าถังไท่จงได้ทรงอาราธนาพระถังซัมจั๋งให้เขียนบันทึกการเดินทางไปอินเดีย จึงปรากฏหนังสือเรื่อง ต้าถังซีวีจี้ ในรัชกาลต่อมาพระเจ้าถังเกาจง พระองค์ทรงรับอุปถัมภ์งานแปลพระไตรปิฎกต่อ พระถังซัมจั๋งดำเนินงานต่อไปจนมรณภาพในปี พ.ศ. 1207 [2]
[แก้] พระถังซัมจั๋งในวรรณคดี
ในขณะที่ พระถังซัมจั๋ง ภาคนิยายไซอิ๋ว (西游记) เป็นผู้มีบุญมาเกิด โดยไม่รู้ว่าเป็นลูกเต้าใคร โดยลอยมาตามน้ำ มีผัวเมียชราคู่หนึ่งเก็บได้ และเลี้ยงให้เติบใหญ่ โดยเป็นผู้ที่ใฝ่ในพระธรรมมาตั้งแต่ยังเล็ก เมื่อเติบใหญ่จึงได้บวชเรียน มีชื่อเสียงทางด้านศีล สมาธิ ปัญญา จนกระทั่งได้รับการอุปถัมภ์จากถังไท่จงฮ่องเต้ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ถัง ผู้ที่เลื่อมใสในพุทธศาสนา นับถือเป็นน้องชายบุญธรรม ให้ใช้ชื่อว่า "ถังซัมจั๋ง" และได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ไปอัญเชิญพระไตรปิฏก ณ ชมพูทวีป อันห่างไกล
ตลอดระยะเวลาการเดินทาง พระถังซัมจั๋ง ต้องเผชิญกับอุปสรรคนานับประการ เนื้อของพระถังซัมจั๋งเชื่อว่าถ้าได้กินแล้วจะมีอายุยืนไปเป็นหมื่น ๆ ปี จึงมักถูกพวกปีศาจจับตัวไปหมายจะกินบ่อย ๆ พระถังซัมจั๋ง มีลักษณะนิสัยหูเบา เชื่อคนง่าย จึงมักถูกล่อลวงตลอด
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้] อ้างอิง
- ^ Sally Hovey Wriggins. Xuanzang: A Buddhist Pilgrim on the Silk Road. Westview Press, 1996. Revised and updated as The Silk Road Journey With Xuanzang. Westview Press, 2003. ISBN 0-8133-6599-6, pp. 7, 193
- ^ http://www.tv5.co.th/service/mod/heritage/nation/dictionary/dict13.htm