See also ebooksgratis.com: no banners, no cookies, totally FREE.

CLASSICISTRANIERI HOME PAGE - YOUTUBE CHANNEL
Privacy Policy Cookie Policy Terms and Conditions
ปราสาทเขาพระวิหาร - วิกิพีเดีย

ปราสาทเขาพระวิหาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โคปุระแห่งที่ 3 หันหน้าไปทางทิศเหนือ
โคปุระแห่งที่ 3 หันหน้าไปทางทิศเหนือ
แบบแปลนของปราสาทเขาพระวิหาร
แบบแปลนของปราสาทเขาพระวิหาร

ปราสาทเขาพระวิหาร (​เขมร: PreahVihear, ปฺราสาทพฺระวิหาร อังกฤษ: Prasat Preah Vihear) เป็นปราสาทหิน อยู่บริเวณเทือกเขาพนมดงรัก ในพื้นที่ทับซ้อนชายแดนไทย-กัมพูชา ระหว่างบ้านสรายจร็ิอม อำเภอจอมกระสานต์ จังหวัดพระวิหาร ของกัมพูชา และบ้านภูมิซรอล ตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ใกล้อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2442 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ได้เสด็จไปยังปราสาทแห่งนี้ และทรงขนานนามว่า "ปราสาทพรหมวิหาร" ซึ่งต่อมาเรียกกันทั่วไปว่า "ปราสาทพระวิหาร"[1] นับเป็นปราสาทขอมที่สำคัญแห่งหนึ่ง ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์การก่อสร้างเทวสถานของฮินดู ประวัติศาสตร์การเรียกร้องเขาพระวิหาร และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทั้งของไทยและกัมพูชาด้วย

เนื้อหา

[แก้] ที่ตั้ง

ทับหลังสลักภาพพระกฤษณะกำลังรบกับอรชุน ที่โคปุราแห่งที่ 3
ทับหลังสลักภาพพระกฤษณะกำลังรบกับอรชุน ที่โคปุราแห่งที่ 3

ปราสาทเขาพระวิหารมีความยาว 800 เมตร ตามแนวเหนือใต้ และส่วนใหญ่เป็นทางเข้ายาว และบันไดสูงถึงยอดเขา จนถึงส่วนปราสาทประธาน ซึ่งอยู่ที่ยอดเขาทางใต้สุดของปราสาท (สูง 120 เมตรจากปลายตอนเหนือสุดของปราสาท, 525 เมตรจากพื้นราบของกัมพูชา และ 657 เมตรจากระดับน้ำทะเล[2]) แต่โครงสร้างปราสาทแห่งนี้ก็ยังแตกต่างอย่างมากจาก สถาปัตยกรรมปราสาทหินของหินโดยทั่วไปที่พบในพระนคร เพื่อจำลองเขาพระสุเมรุ อันเป็นที่ประทับของเทพเจ้า ตามคติความเชื่อของฮินดู

ทางเข้าสู่ปราสาทประธานนั้น มีโคปุระ(ซุ้มประตู)คั่นอยู่ 5 ชั้น (ปกติจะนับจากชั้นในออกมา ดังนั้นโคปุระชั้นที่ 5 จึงเป็นส่วนที่ผู้เข้าชมจะพบเป็นส่วนแรก) โคปุระแต่ละชั้นก่อนถึงลานด้านหน้า จะผ่านบันไดหลายขั้น โคปุระแต่ละชั้นจึงเปลี่ยนระดับความสูงทีละช่วง นอกจากนี้โคปะรุยังบังมิให้ผู้ชมเห็นส่วนถัดไปของปราสาท จนกว่าจะผ่านทะลุแต่ละช่วงไปแล้ว ทำให้ไม่สามารถแลเห็นโครงสร้างปราสาททั้งหมดจากมุมใดมุมหนึ่งได้

[แก้] ลักษณะสำคัญของปราสาทเขาพระวิหาร

ผังปราสาทเขาพระวิหาร
ผังปราสาทเขาพระวิหาร

[แก้] บันไดหน้า

บันไดด้านหน้าเป็นทางเดินขึ้นลงขนาดใหญ่อยู่ทางทิศเหนือของตัวปราสาท ลาดตามไหล่เขา ช่วงแรกเป็นบันไดหิน กว้าง 8 เมตร ยาว 75.50 เมตร มีจำนวน162 ขั้น บางชั้นสกัดหินลงไปในพื้นหินของภูเขา สองข้างบันไดมีฐานสี่เหลี่ยมตั้งเป็นกระพัก(กระพักแปลว่า ไหล่เขาเป็นชั้นพอพักได้)ขนาดใหญ่เรียงรายขึ้นไป ใช้สำหรับตั้งรูปสิงห์นั่ง ช่วงที่ 2 กว้าง 4 เมตร ยาว 27 เมตร มี 54 ขั้น มีฐานกระพักกว้าง 2.5 เมตร 7 คู่ มีรูปสิงห์นั่งตั้งอยู่

[แก้] ลานนาคราช

ลานนาคราชหรือสะพานนาค อยู่ทางทิศใต้สุดบันไดหินด้านหน้า ปูด้วยแผ่นหินเรียบ มีขนาดกว้าง 7 เมตร ยาว 31.80 เมตร ขอบลานสร้างเป็นฐานเตี้ย ๆ บนฐานมี นาคราช 7 เศียร จำนวน 2 ตัว แผ่พังพานหันหน้าไปทางทิศเหนือ ลำตัวอยู่บนฐานทั้งสอง ทอดไปทางทิศใต้ ส่วนหางของนาคราชชูขึ้นเล็กน้อย นาคราชทั้งสองตัวมีลักษณะคล้ายงูตามธรรมชาติ เป็นลักษณะของนาคราชในศิลปะขอม แบบปาปวน

[แก้] โคปุระ ชั้นที่ 5

ภาพวาดโคปุระที่ 5 โดยปามังติเอร์
ภาพวาดโคปุระที่ 5 โดยปามังติเอร์

โคปุระชั้นที่ 5 สร้างเป็นศาลาจตุรมุข รูปทรงกากบาทไม่มีฝาผนังกั้น มีแต่บันไดและซุ้มประตูทั้ง 4 ทิศ สร้างอยู่บนฐานบัวสี่เหลี่ยมย่อมุม ฐานสูง 1.8 เมตร บันไดหน้าประตูซุ้มทั้ง 4 ทิศตั้งรูปสิงห์นั่ง เสาโคปุระสูง 3.5 เมตร เป็นศิลปะแบบเกาะแกร์ ยังมีร่องรอยสีแดงที่เคยประดับตกแต่งตัวปราสาทเอาไว้ แต่ส่วนหลังคากระเบื้องนั้นหายไปหมดแล้ว บันไดทางขึ้นโคปุระ ชั้นที่ 5 อยู่ทางทิศเหนือ เป็นบันไดหินมีลักษณะค่อนข้างชัน ทางทิศตะวันออกของโคปุระชั้นที่ 5 มีเส้นทางขึ้นคล้ายบันไดหน้าแต่ค่อนข้างชัน และชำรุดหลายตอน ยาว 340 เมตรถึงไหล่เขา เป็นเส้นทางขึ้น-ลง ไปสู่ประเทศกัมพูชา เรียกว่าช่องบันไดหัก

[แก้] สระสรง

สระสรงอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของทางดำเนินจากโคปุระ ชั้นที่ 5 ไปโคปุระ ชั้นที่ 4 ห่างออกไป 12.40 เมตร จะพบสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดกว้าง 16.80 เมตร ยาว 37.80 เมตร กรุด้วนท่อนหินเป็นชั้น ๆ มีลักษณะเป็นขั้นบันไดปากผายก้นสอบ

[แก้] โคปุระ ชั้นที่ 4

ภาพของการกวนเกษียณสมุทร ณ.เขาพระวิหาร
ภาพของการกวนเกษียณสมุทร ณ.เขาพระวิหาร

ทางดำเนินจากโคปุระ ชั้นที่ 5 มาเป็นลานหินกว้างประมาณ 7 เมตร สองข้างจะมีเสานางเรียง ตั้งอยู่ ทั้งสองด้าน แต่ก็มีปรักหักพังไปมาก โคปุระชั้นที่ 4 สร้างเป็นศาลาจตุรมุข มีกำแพงด้านทิศใต้เพียงด้านเดียว ยาว 39 เมตรจากตะวันออกไปตะวันตก กว้าง 29.5 เมตรจากเหนือไปใต้ เป็นศิลปะสมัยหลังโคปุระ ชั้นที่ 5 คือ แคลง/บาปวน มุขหน้าแบ่งเป็น 2 คูหา ริมซุ้มประตูด้านนอกตั้งรูปสิงห์ มุขตะวันออกและตะวันตกแบ่งเป็น 3 คูหาริมซุ้มประตูด้านนอกตั้งรูปสิงห์ ห้องใหญ่แบ่งเป็น 5 คูหา มุขใต้แบ่งเป็น 2 คูหาหน้าบันเป็นภาพของการกวนเกษียณสมุทร ถือเป็น "หนึ่งในผลงานชิ้นเอกอุของปราสาทเขาพระวิหาร"[3] ทับหลังเป็นภาพของพระนารายณ์บรรทมสินธุ์อยู่เหนืออนันตนาคราช

[แก้] โคปุระ ชั้นที่ 3

ภาพเขียนแสดงให้เห็นส่วนโคปุระ ชั้นที่ 3 เมื่อยังสมบูรณ์วารสารสยามสมาคม ค.ศ. 1956
ภาพเขียนแสดงให้เห็นส่วนโคปุระ ชั้นที่ 3 เมื่อยังสมบูรณ์
วารสารสยามสมาคม ค.ศ. 1956

โคปุระชั้นที่ 3 นั้นมีขนาดใหญ่สุด สมบูรณ์ที่สุด และขนาบด้วยห้องสองห้อง ตัวปราสาทประธานนั้นสามารถผ่านเข้าไปทางลานด้านหน้า ส่วนด้านนอกเป็น[บรรณาลัย] (ห้องสมุด) สองหลัง บันไดกว้าง 3.6 เมตร สูง 6 เมตร สองข้างมีฐานตั้งรูปสิงห์นั่ง 5 กระพัก

  • มนเทียรกลาง มุขเหนือหน้าบันเป็นรูปพระกฤษณะยกภูเขาโควรรธนะ ทับหลังเป็นรูปพระนารายณ์ 4 กรทรงครุฑ มุขตะวันออกและตะวันตกที่ผนังด้านเหนือมีซุ้มประตู 1 ซุ้มหน้าประตูมีรูปสิงห์นั่งตั้งอยู่ ห้องใหญ่มีหน้าต่างซีกเหนือ 6 ช่องซีกใต้ 2 ช่องมุขใต้หน้าบันเป็นรูปพระอิศวรบนหลังโคอุศุภราช
  • บรรณาลัย ทั้งซ้ายและขวาเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตรงกลางเป็นลานแบ่งเป็น 4 ห้อง ห้องตามขวางด้านหน้ายาว 35.5 เมตร กว้าง 7 เมตรผนังด้านลานมีหน้าต่าง 5 ช่อง ห้องตามยาวซ้ายและขาวยาว 15 เมตร กว้าง 6 เมตร ห้องตามขวางด้านหลังยาว 40 เมตร กว้าง 8.5 เมตร ยกฐานสูง 2.4 เมตร ผนังด้านใต้มีหน้าต่าง 5 ช่อง มุขหน้ามีหน้าต่างข้างละ 3 ช่อง เข้าใจว่าบรรณาลัยนี้สร้างเพิ่มเติมภายหลังมนเทียรกลาง ที่ลานหน้าด้านตะวันออกมีปรางค์ศิลา 1 องค์ กว้าง 4 เมตร สูง 6 เมตร

จากโคปุระชั้นที่ 3 มีบันได 7 ขั้นขึ้นไปสู่ถนนที่ยาว 34 เมตร มีเสานางเรียงปักรายข้างถนน ข้างละ 9 ต้น ถัดจากเสานางเรียงไปเป็นสะพานนาค 7 เศียร

[แก้] โคปุระ ชั้นที่ 2

ภาพเขียนแสดงให้เห็นส่วนโคปุระ ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 1เมื่อยังสมบูรณ์วารสารสยามสมาคม ค.ศ. 1956
ภาพเขียนแสดงให้เห็นส่วนโคปุระ ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 1เมื่อยังสมบูรณ์
วารสารสยามสมาคม ค.ศ. 1956
  • มนเทียรหน้า เป็นรูปกากบาท กว้าง 23 เมตร ยาว 23 เมตร มีมุขทั้ง 4 ทิศ ที่มุขเหนือและใต้มีช่องหน้าต่างมุขละ 2 ช่อง มุขตะวันออกและตกมีประตูหน้าหลังมุขละ 2 ประตู กับช่องหน้าต่างมุขละ 1 ช่อง ห้องใหญ่มีหน้าต่างที่ผนังด้านเหนือ 6 ช่อง ด้านใต้ 4 ช่อง ซุ้มประตูส่วนมากจะเป็นซากปรักหักพัง กรอบประตูห้องใหญ่มีจารึกอักษรขอมระบุบปีศักราชตกอยู่ในสมัยพระเจ้าสุรยวรมันที่ 1 ด้านหน้ามนเทียรมีบันไดตรงกับประตูซุ้มทั้ง 3 ประตูและมีชานต่อไปยังเฉลียงซ้ายและขวา
  • เฉลียงซ้ายและขวา เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 6 เมตร ยาว 32 เมตร ผนังด้านนอกทึบ ด้านในเปิดมีเสาราย 10 ต้น ที่สนามด้านหน้ามีภาพจำหลักตกหล่นอยู่หลายชิ้น เช่น รูปกษัตริย์กำลังหลั่งน้ำทักษิโณฑกแก่พราหมณ์
  • มนเทียรกลาง เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 9 เมตร ยาว 13 เมตร มีมุขหน้าขนาด 8 x 5 เมตรมีหน้าต่างข้างละช่อง ตัวมนเทียรมีหน้าต่างข้างละ 3 ช่องกลางห้องมีเสาราย 2 แถวๆละ 4 ต้น
  • มนเทียรซ้ายและขวา อยู่ขนาบ 2 ข้างของมนเทียรกลาง กว้าง 6.5 เมตร ยาว 11 เมตร

[แก้] โคปุระ ชั้นที่ 1

  • ระเบียงคด ด้านทิศเหนือยาว 22 เมตรกว้าง 5.5 เมตร มีผนังละ 3 ประตูที่ผนังด้านเหนือและใต้ด้านทิศตะวันออกและตก กว้าง 4 เมตร ยาว 52 เมตรผนังด้านนอกทำทึบ ผนังด้านในมีหน้าต่าง ข้างละ 20 ช่อง ด้านทิศใต้ ผนังด้านในมีหน้าต่าง 6 ช่อง ตรงกลางมีประตู
  • ปรางค์ประธาน มีวิหารเชื่อมต่ออยู่ทางทิศเหนือ มีฐานย่อมุม 3 ชั้น ชั้นแรกอยู่เสมอพื้นราบ ชั้นที่ 2 สูง 75 เซนติเมตร ทุกที่ๆตรงกับประตูมีบันได 5 ขั้น กว้าง 70 เซนติเมตร สูง 50 เซนติเมตร ตัวปรางค์ทรดพังมาครึ่งองค์ เหลือเพียงราว 9 เมตร กว้าง 7 เมตร วิหารที่เชื่อมต่อ ฐานกว้าง 15 เมตร ยาว 17 เมตร สูง 1.5 เมตร มีประตูทั้ง 4 ทิศ บันไดตรงประตูทิศเหนือมี 3 ขั้น กว้าง 70 เซนติเมตร สูง 1.5 เมตร ประตูทิศใต้เชื่อมกับปรางค์ มีหน้าต่างด้านตะวันออกและตก ด้านละ 1 ช่อง กลางวิหารมีแท่งหินรูปสี่เหลี่ยม 1 แท่น
  • มนเทียรตะวันออก กว้าง 16 เมตร ยาว 20.5 เมตรมีมุขด้านเหนือ, ใต้, ตะวันออกแต่ละมุขมีประตู 3 ประตู ภายในแบ่งเป็นห้องๆ
  • มนเทียรตะวันตก กว้าง 18.5 เมตร ยาว 20.5 เมตรมีมุขด้านเหนือ, ใต้, ตะวันตกแต่ละมุขมีประตู 3 ประตู

[แก้] เป้ยตาดี

เป้ยตาดี มีเนื้อที่กว้าง 44 เมตร ยาว 50 เมตร "เป้ย" เป็นภาษาเขมร ซึ่งแปลว่า ชะง่อนผา หรือโพงผา ตามคำบอกเล่า ว่านานมาแล้วมีพระภิกษุชรารูปหนึ่งชื่อ "ดี" จาริกมาปลูกเพิงพำนักอยู่ที่นี่จนมรณภาพไป ชาวบ้านจึงเรียกลานหินนี้ว่า "เป้ยตาดี" ตรงยอดเป้ยตาดีสูงกว่าระดับน้ำทะเล 657 เมตร ถ้าวัดจากพื้นที่เชิงเขาพื้นราบฝั่งประเทศกัมพูชาสูงประมาณ 447 เมตร ตรงชะง่อนผาเป้ยตาดี จะมีรอยสักฝีพระหัตถ์ของ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ว่า "๑๑๘-สรรพสิทธิ" แต่ก่อนมีธงไตรรงค์ของไทยอยู่ที่ บริเวณผาเป้ยตาดี ในปัจจุบันคงเหลือแต่ฐาน

[แก้] ประวัติการก่อสร้าง

ปราสาทเขาพระวิหาร หรือปราสาทพระวิหาร ประกอบด้วยหมู่เทวาลัยและปราสาทหินจำนวนมาก ทั้งหมดสร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระศิวะ เทวาลัยหรือปราสาทหินแห่งแรกสร้างขึ้นเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9 ซากปรักหักพังของเทวาลัยที่เหลืออยู่ มีอายุตั้งแต่สมัยเกาะแกร์ ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 10 ครั้นเมื่อนครหลวงของอาณาจักรขอมอยู่ใกล้ เมื่ออยู่ที่นครวัด นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบบางประการในรูปแบบศิลปะของปราสาทบันทายศรี แต่โครงสร้างส่วนใหญ่ของปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1( มีพระนามจารึกที่กรอบประตูโคปุระชั้นที่ 2 ว่า "สูรยวรรมเทวะ" และปีที่สร้างแล้วเสร็จในสมัยของพระองค์ตามจารึกคือ พ.ศ. 1581[2] ) และ สุริยวรมันที่ 2 ในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 11 และศตวรรษที่ 12 ตามลำดับ

[แก้] กรณีพิพาทปราสาทเขาพระวิหาร

ดูบทความหลักที่ คดีปราสาทเขาพระวิหาร พ.ศ. 2505
แผนที่ฝรั่งเศสที่ศาลโลกกรุงเฮกใช้อ้างอิงในการตัดสินให้ปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา แต่เป็นแผนที่ที่กำหนดเส้นพรมแดนโดยไม่ได้ยึดแนวสันปันน้ำ อันขัดต่อหลักสากลและไทยได้โต้แย้งเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2505 ประเทศไทยได้ยอมรับว่า "ปราสาทพระวิหาร" เป็นของกัมพูชา แต่ไม่เคยยอมรับอาณาบริเวณบนยอดผาและรอบๆ ว่าเป็นของประเทศนั้น ไทยได้ทำบันทึกยื่นต่อศาลระหว่างเทศยืนยันที่จะยึดแนวส้นเขตแดนตามหลักสากลโดยใช้สันปันน้ำเป็นเส้นแบ่ง
แผนที่ฝรั่งเศสที่ศาลโลกกรุงเฮกใช้อ้างอิงในการตัดสินให้ปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา แต่เป็นแผนที่ที่กำหนดเส้นพรมแดนโดยไม่ได้ยึดแนวสันปันน้ำ อันขัดต่อหลักสากลและไทยได้โต้แย้งเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2505 ประเทศไทยได้ยอมรับว่า "ปราสาทพระวิหาร" เป็นของกัมพูชา แต่ไม่เคยยอมรับอาณาบริเวณบนยอดผาและรอบๆ ว่าเป็นของประเทศนั้น ไทยได้ทำบันทึกยื่นต่อศาลระหว่างเทศยืนยันที่จะยึดแนวส้นเขตแดนตามหลักสากลโดยใช้สันปันน้ำเป็นเส้นแบ่ง

ผู้ค้นพบปราสาทพระวิหารในสมัยปัจจุบันคือ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระราชโอรสองค์ที่ 11 ใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงพบเมื่อปี พ.ศ. 2442 ขณะทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็น ข้าหลวงต่างพระองค์ เสด็จไปรับราชการที่มณฑลลาวกาว (อิสาน) ในสมัยรัชกาลที่ 5 และได้ทรงจารึกปี ร.ศ. ที่พบเป็นเลขไทย ตามด้วยพระนามไว้ที่บริเวณชะง่อนผาเป้ยตาดี เป็นข้อความว่า "๑๑๘ สรรพสิทธิ"[4] ต่อมาเมื่อประเทศฝรั่งเศสเข้าครอบครองอินโดจีนได้ทำสนธิสัญญา พ.ศ. 2447 ในการปักปันเขตแดนกับราชอาณาจักรสยาม โดยมีความตามมาตรา 1 ของสนธิสัญญา ระบุให้ใช้สันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งพรมแดน ซึ่งมีผลให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในดินแดนไทย ต่อมาใน พ.ศ. 2451 ฝรั่งเศสได้จัดทำแผนที่ฝ่ายเดียว ส่งมอบให้สยาม 50 ชุด แต่ละชุดมี 11 แผ่นและมีแผ่นหนึ่งคือ "แผ่นดงรัก" ที่ครอบคลุมพื้นที่ปราสาทพระวิหาร และไม่ได้ใช้แนวสันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งพรมแดน ทำให้ปราสาทพระวิหารในแผนที่อยู่ในดินแดนของกัมพูชา โดยที่รัฐบาลสยามในขณะนั้นไม่ได้รับรองหรือทักท้วงความถูกต้องของแผนที่ดังกล่าว[ต้องการแหล่งอ้างอิง]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2483 ประเทศฝรั่งเศสแพ้สงครามต่อประเทศเยอรมัน ทำให้แสนยานุภาพทางทหารลดลง จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ยื่นข้อเสนอเรียกร้องดินแดนที่เสียไปในสมัยรัชกาลที่ 5 คืนจากฝรั่งเศส ซึ่งฝรั่งเศสปฏิเสธและมีการเคลื่อนไหวทางทหาร ที่ทำให้เกิดสงครามพิพาทอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสขึ้นในปี พ.ศ. 2484 ประเทศไทยได้รับชัยชนะในการรบตลอด 22 วัน กระทั่งประเทศญี่ปุ่นที่เป็นมหาอำนาจในขณะนั้นเสนอตัวเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย และฝรั่งเศสได้ตกลงคืนจังหวัดไชยบุรี จำปาศักดิ์ เสียมราฐ และพระตะบองให้กับไทย ตาม อนุสัญญาโตเกียว[5] ทำให้ปราสาทพระวิหารกลับมาอยู่ในดินแดนไทยอย่างสมบูรณ์ ต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยประกาศเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร และต่อมาญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ประเทศไทยต้องรักษาสถานะตัวเองไม่ให้เป็นฝ่ายแพ้สงครามตามญี่ปุ่น และต้องการเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ จึงตกลงคืนดินแดน 4 จังหวัดให้ฝรั่งเศส ทำให้ปราสาทพระวิหารกลับไปอยู่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 ฝรั่งเศสแพ้สงครามต่อเวียดนามที่เดียนเบียนฟู ต้องถอนทหารออกจากอินโดจีน ประเทศกัมพูชาได้รับเอกราชตามสนธิสัญญาเจนีวา และไทยได้ส่งทหารเข้าไปรักษาการบริเวณปราสาทพระวิหารอีกครั้ง

ภายหลังกัมพูชาได้รับเอกราช เจ้านโรดมสีหนุ กษัตริย์กัมพูชาสละราชสมบัติเข้าสู่การเมือง ได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และประกาศเรียกร้องให้ไทยคืนปราสาทพระวิหาร และไทยไม่ยอมรับ เจ้านโรดมประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2501[2] และในปีต่อมา เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2502 เจ้านโรดมสีหนุได้ฟ้องร้องต่อ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) หรือศาลโลก ให้ไทยคืนปราสาทพระวิหาร ฝ่ายไทยต่อสู้คดีโดยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กับคณะรวม 13 คน เป็นทนายฝ่ายไทย และฝ่ายกัมพูชามีนายดีน แอจิสัน เนติบัณฑิตแห่งศาลสูงสุด อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา เป็นหัวหน้าคณะ กับพวกอีกรวม 9 คน[2]

กระทั่งวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ได้ตัดสินให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา ด้วยเสียง 9 ต่อ 3[6] และในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 หลังจากศาลโลกตัดสินแล้ว 20 วัน รัฐบาลไทยโดย ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีหนังสือไปยัง นายอูถั่น เลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อประท้วงคำพิพากษาของศาลโลก และสงวนสิทธิที่ประเทศไทยจะเรียกร้องปราสาทพระวิหารกลับคืนในอนาคต

หลังจากนั้นไม่นาน กัมพูชาเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นภายในประเทศ ปราสาทหินแห่งนี้เปิดให้สาธารณชนเข้าชมเป็นช่วงสั้นๆ ในปี พ.ศ. 2535 แต่ปีต่อมาก็ถูกเขมรแดงเข้าครอบครอง จากนั้นก็เปิดอีกครั้งจากฝั่งประเทศไทย เมื่อปลายปี พ.ศ. 2541

ปี พ.ศ. 2543 ชาวกัมพูชาได้เริ่มรุกล้ำเข้ามาในส่วนพื้นที่ทับซ้อน สมัยนายชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรี และพลเอกพัลลภ ปิ่นมณี ยังอยู่ในราชการ แต่มีการปล่อยให้ชาวกัมพูชารุกล้ำได้โดยง่ายไม่มีการดำเนินการใดๆ

และเมื่อ พ.ศ. 2546 กัมพูชาก็ได้ตัดถนนเข้าไปจนสำเร็จสมบูรณ์หลังจากรอคอยเป็นเวลาช้านาน แต่ก็มีการห้ามเข้าอยู่เป็นระยะโดยมิได้กำหนดล่วงหน้า

ในเวลาต่อมากัมพูชาเสนอให้ขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารให้เป็นมรดกโลกต่อองค์การยูเนสโก ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 31 ณ เมืองไครสเชิร์ช นิวซีแลนด์ เมื่อ พ.ศ. 2550 แต่ไทยกับกัมพูชามีความเห็นที่ไม่ตรงกัน ซึ่งฝ่ายไทยกล่าวว่าควรแก้ปัญหาเรื่องพื้นที่เขตแดนทับซ้อนรอบปราสาทก่อนแล้วจึงค่อยเสนอ [7] จนกระทั่งใกล้ถึงการประชุมสมัยที่ 32 ที่แคนาดา ในปีถัดมา ก็ยังไม่ได้ข้อตกลงร่วมกัน [8] และถ้าหากเขาพระวิหารได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยอ้างอิงจากแผนที่ที่ฝรั่งเศสทำ จะทำให้ไทยต้องเสียดินแดนถอยร่นเข้ามาประมาณ 7.2 ตารางกิโลเมตร [9]

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ออกมาคัดค้านในการที่กัมพูชาเสนอให้ขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารให้เป็นมรดกโลกต่อองค์การยูเนสโก ซึ่งกล่าวเอาไว้ว่า [10]

ถึงแม้ว่าศาลโลกจะบอกว่าประสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา ด้วยมติ 7 ต่อ 5 ก็ตาม แต่ประเทศไทยได้คัดค้านตลอดเวลา และยังอยู่ในศาลโลกจนถึงวันนี้ จากข้อคัดค้านดังกล่าว คำฟ้องของประเทศกัมพูชาพูดถึงเฉพาะปราสาทเขาพระวิหาร ในขณะที่ธรรมนูญศาลโลกข้อ 59 ที่ว่า ถ้าหากคู่กรณีฟ้องเรื่องไหน ศาลจะพิจารณาเฉพาะแต่เรื่องนั้น ฉะนั้น เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับมรดกโลกแม้แต่น้อยเลย เมื่อไม่ได้เกี่ยวกรณีนี้แล้วนพดลมัวทำอะไรอยู่

วันที่ 23 มิถุนายน 2551 เวลา 10.15 น. ได้มีขบวนกลุ่มธรรมยาตราชาวไทย มาชุมนุมขับไล่ผลักดันชาวกัมพูชาให้ออกไปจากเขตแดนไทย ที่บริเวณเชิงเขาพระวิหาร หลังจากนั้น พล.ต.ย็อก วันล็อก ประธานคณะทำงานขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา พร้อมด้วย นายเปรี๊ยบ ตัน ผวจ.พระวิหาร ได้มีคำสั่งให้นำเอากุญแจมาล็อกประตูเหล็กที่ข้ามเข้าไปสู่เขาพระวิหาร และมีกำลังทหารกัมพูชาจำนวนหลายร้อยคน พร้อมด้วยอาวุธหนักและอาวุธเบาแต่งเครื่องแบบ พากันมาตรึงกำลังรอบบริเวณเขาพระวิหาร ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ขึ้นไปยังปราสาทเขาพระวิหารเป็นการชั่วคราว เนื่องจากอาจจะมีผู้ที่ไม่ประสงค์ดีแอบแฝงเข้ามาก่อเหตุร้ายในบริเวณชุมชนกัมพูชาที่บริเวณเชิงเขาพระวิหาร [11][12]

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ เขาพระวิหาร . กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ
  2. ^ 2.0 2.1 2.2 2.3 ความเมืองเรื่องเขาพระวิหาร, ประหยัด ศ.นาคะนาท และ จำรัส ดวงธิสาร
  3. ^ ISBN 978-0834804500 Freeman, Michael (1996). A Guide to Khmer Temples in Thailand and Laos. Weatherhill. P.162
  4. ^ คดีเขาพระวิหาร เดลินิวส์
  5. ^ หมวดวิชาที่ 2 การทหารวิชาการสงคราม http://www.officer.rtaf.mi.th
  6. ^ คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (อังกฤษ)
  7. ^ ไทยยันหนุน เขาพระวิหาร มรดกโลก
  8. ^ ไทยไม่เคยยื่นหมูยื่นแมว ต่อรอง “เขาพระวิหาร”
  9. ^ ทหารพาทัวร์ เขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ไทยเสียดินแดนอีก 7 ตร.กม.
  10. ^ ผู้จัดการออนไลน์, “พิเชฐ” สุดทนลูกกรอกแจงเขาพระวิหารไม่เคลียร์ 17 มิถุนายน 2551
  11. ^ สำนักข่าวINNกัมพูชาปิดประตูเข้าเขาพระวิหาร
  12. ^ คุยกับ เสธ.แดง ทหารเขมรจำนวนหลายร้อยคนพร้อมอาวุธหนัก-เบา "ตรึงเขาพระวิหาร"

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

Commons
คอมมอนส์ มีภาพและสื่ออื่นๆ เกี่ยวกับ:
ปราสาทเขาพระวิหาร

พิกัดภูมิศาสตร์: 14°23′46″N, 104°40′49″E


aa - ab - af - ak - als - am - an - ang - ar - arc - as - ast - av - ay - az - ba - bar - bat_smg - bcl - be - be_x_old - bg - bh - bi - bm - bn - bo - bpy - br - bs - bug - bxr - ca - cbk_zam - cdo - ce - ceb - ch - cho - chr - chy - co - cr - crh - cs - csb - cu - cv - cy - da - de - diq - dsb - dv - dz - ee - el - eml - en - eo - es - et - eu - ext - fa - ff - fi - fiu_vro - fj - fo - fr - frp - fur - fy - ga - gan - gd - gl - glk - gn - got - gu - gv - ha - hak - haw - he - hi - hif - ho - hr - hsb - ht - hu - hy - hz - ia - id - ie - ig - ii - ik - ilo - io - is - it - iu - ja - jbo - jv - ka - kaa - kab - kg - ki - kj - kk - kl - km - kn - ko - kr - ks - ksh - ku - kv - kw - ky - la - lad - lb - lbe - lg - li - lij - lmo - ln - lo - lt - lv - map_bms - mdf - mg - mh - mi - mk - ml - mn - mo - mr - mt - mus - my - myv - mzn - na - nah - nap - nds - nds_nl - ne - new - ng - nl - nn - no - nov - nrm - nv - ny - oc - om - or - os - pa - pag - pam - pap - pdc - pi - pih - pl - pms - ps - pt - qu - quality - rm - rmy - rn - ro - roa_rup - roa_tara - ru - rw - sa - sah - sc - scn - sco - sd - se - sg - sh - si - simple - sk - sl - sm - sn - so - sr - srn - ss - st - stq - su - sv - sw - szl - ta - te - tet - tg - th - ti - tk - tl - tlh - tn - to - tpi - tr - ts - tt - tum - tw - ty - udm - ug - uk - ur - uz - ve - vec - vi - vls - vo - wa - war - wo - wuu - xal - xh - yi - yo - za - zea - zh - zh_classical - zh_min_nan - zh_yue - zu -