ธนาคารแห่งประเทศไทย
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) (Bank of Thailand) เป็นธนาคารกลางของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 เปิดดำเนินการครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2485 มีหน้าที่หลักในการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน และดูแลระบบการเงินของประเทศ เพื่อที่เศรษฐกิจของประเทศจะได้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพต่อไป
เนื้อหา |
[แก้] ประวัติ
ในปี พ.ศ. 2482 เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง สงครามและเหตุการณ์ที่เกิดจากสงครามได้เร่งรัดความจำเป็นต้องจัดตั้งธนาคารกลางขึ้นในประเทศไทย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้ทรงร่วมมือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเริ่มจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติขึ้นในปี พ.ศ. 2482 อันเป็นแนวทางไปสู่การตราพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2485 ในสมัยที่ พลเอกเภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (2484 - 2487) ได้มีการตราพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 จัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ขึ้นเป็นองค์กรอิสระ และ จากพระราชกฤษฎีกากำหนดกิจการธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มประกอบธุรกิจได้ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2485 เป็นต้นไป พร้อมกันนี้ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย เป็นผู้ว่าการธนาคารพระองค์แรก (พ.ศ. 2485 - 2489) พระองค์ได้ทรงวางระเบียบแบบแผนและดำเนินการจนธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำรงอยู่เป็นปึกแผ่นมั่นคงตลอดมาจนปัจจุบัน
[แก้] การควบคุมปริวรรต
ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินเนื่องจากความจำเป็นของสงครามมหาเอเชียบูรพา และการที่ประเทศไทยต้องจำยอมเข้าร่วมเป็นสัมพันธมิตรกับประเทศญี่ปุ่น ได้มีผลกระทบกระเทือนต่อการเงินของประเทศในขณะนั้นและภายหลังเป็นอย่างมาก กล่าวคือ การติดต่อค้าขายกับต่างประเทศต้องหยุดชะงักลง ทุนสำรองเงินตราที่เก็บไว้ในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาก็ถูกกักกัน ไม่สามารถนำมาใช้หนี้ระหว่างประเทศได้ นอกจากนี้ประเทศไทยยังต้องยอมรับภาระหลายประการ อันเป็นผลทำให้เสถียรภาพเงินบาทอยู่ในสภาพไม่มั่นคงพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 นี้ ได้ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในการออกกฎกระทรวง ควบคุม จำกัด หรือห้ามการปฏิบัติกิจการทั้งปวงที่เกี่ยวกับการปริวรรตเงินตราต่างประเทศ ในการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ควบคุมดูแล
เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจควบคุมธนาคารพาณิชย์ต่างๆ รัฐบาลจึงตราพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2488 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2488 มีหน่วยงานควบคุมโดยเฉพาะคือ หน่วยควบคุมธนาคารพาณิชย์ แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังคงเป็นผู้กำกับการตามพระราชบัญญัติอยู่
เมื่อพลเอกเภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นสมัยที่ 2 (พ.ศ. 2494-2500) ได้มอบหมายให้นายเสริม วินิจฉัยกุล ปลัดกระทรวงการคลัง ไปติดต่อคณะสำรวจเศรษฐกิจของธนาคารโลก โดยธนาคารโลกได้ส่งผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาต่าง ๆ มาสำรวจประเทศไทย ซึ่งคำแนะนำในการสำรวจเศรษฐกิจของคณะผู้เชี่ยวชาญนี้ ได้เป็นแนวทางในการวางแผนเศรษฐกิจ ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2501 และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐบาลได้พยายามที่จะปฏิรูประบบการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการคลัง
ได้ตราพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพของเงินตรา ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรักษาทุนสำรองเงินตราไว้ก้อนหนึ่ง สินทรัพย์ที่มีอยู่ในทุนสำรองเงินตรามีหลายประเภท
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ได้สถาปนาสำนักงบประมาณขึ้น มีฐานะเทียบเท่ากรมในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี งานจัดทำงบประมาณซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังมาตลอด ก็เปลี่ยนเป็นงานของสำนักงบประมาณให้เป็นผู้จัดทำงบประมาณ
ในวันที่ 18 ตุลาคม 2504 ได้มีการจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังโดยมีฐานะเทียบเท่ากรม ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2504 การจัดตั้งหน่วยงานใหม่นี้ เนื่องจากดำริของนายสุนทร หงส์ลดารมภ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยนั้น ที่เห็นว่าจำเป็นต้องนำวิทยาการแผนใหม่เข้ามาใช้ในการบริหารและการกำหนดนโยบายการคลังตลอดจนจะต้องมีองค์กรหรือจุดรวมที่จะสามารถประสานกิจกรรมที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและการคลังของประเทศ จึงควรต้องมีการจัดตั้งหน่วยงานที่เหมาะสม โดยการปรับปรุงสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง และจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ที่ให้คำแนะนำและให้ความช่วยเหลือทางวิชาการในการวางนโยบายการคลังและเศรษฐกิจของรัฐ ตลอดจนเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สำนักงานเศรษฐกิจการคลังจึงก่อตั้งขึ้น โดยยุบกองเศรษฐกิจการคลังและกองสถิติในสำนักงานปลัดกระทรวงมาอยู่ในหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่นี้ และแต่งตั้ง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญการคลัง สำนักปลัดกระทรวงการคลังในขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังคนแรก
ในวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2505 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ขึ้น โดยให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2488 เนื่องจากในขณะนั้น การธนาคารและการเศรษฐกิจได้ขยายตัวขึ้นเป็นลำดับ จึงสมควรได้ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ให้เหมาะสม เพื่อประโยชน์แก่การเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ตลอดจนให้ความคุ้มครองแก่ผู้ฝากเงินกับธนาคาร
ใน พ.ศ. 2506 กรมศุลกากรได้ปรับปรุงรหัสสินค้าของไทย ทั้งนี้เนื่องจากองค์การสหประชาชาติได้ปรับปรุงรหัสสินค้าเพื่อนำมารวบรวมสถิติสินค้าเข้าออกของนานาประเทศ ซึ่งในปีเดียวกันนี้ กรมศุลกากรได้เสนอคณะรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังแต่งตั้งคณะกรรมการพิกัดอัตราศุลกากร ให้ทำหน้าที่กำหนดหรือปรับปรุงแก้ไขพิกัดอัตราศุลกากร
ในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2516 กระทรวงการคลังในสมัยที่นายเสริม วินิจฉัยกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2516) ออกตามความในพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 สาระสำคัญของกฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เพื่อประโยชน์ในการดำรงไว้ซึ่งค่าของเงินบาท สมควรจะได้กำหนดสกุลเงินตราต่างประเทศ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราซื้อหรือขายทันทีตามที่ธนาคารพาณิชย์ในราชอาณาจักรจะเรียกให้ซื้อหรือขาย โดยกำหนดให้เงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาเป็นเงินตราต่างประเทศนั้น
ใน พ.ศ. 2517 กระทรวงการคลังได้เสนอร่างพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 และประกาศใช้เป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 สืบเนื่องมาจากความจำเป็นต้องจัดให้มีตลาดหรือสถานที่อันเป็นศูนย์กลางการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ที่มีสภาพสมบูรณ์ภายใต้การควบคุมของทางการอย่างใกล้ชิด และมีมาตรการอันเหมาะสมเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม เพื่อเป็นการระดมเงินทุนในการพัฒนาประเทศและการพัฒนาตลาดทุนในราชอาณาจักร
ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 ขึ้น โดยที่พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ได้ประกาศใช้บังคับมานาน มีบทบัญญัติหลายมาตราไม่เหมาะสมกับกาลสมัย สมควรที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติเดิมและเพิ่มเติมบทบัญญัติใหม่เพื่อให้เกิดความมั่นคงและเป็นหลักประกันแก่การประกอบการธนาคารพาณิชย์ พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการประกอบกิจการด้วย
วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ขึ้น เป็นกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการและหลักเกณฑ์ของธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ โดยการกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย
ในปี พ.ศ. 2530 ได้มีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร โดยพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 พิกัดอัตราศุลกากรนี้ได้ใช้ระบบจำแนกประเภทสินค้าและรหัสประเภทพิกัดของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร ที่เรียกว่า ระบบ ฮาร์โมไนซ์ (Harinonized System) โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2531
ในปี พ.ศ. 2531 ได้มีการพิจารณาว่าโครงสร้างอัตราเงินเดือนข้าราชการในขณะนั้นยังไม่เหมาะสมเนื่องจากมีความแตกต่างกับผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในลักษณะใกล้เคียงกันในภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจมากประกอบกับกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่าฐานะการคลังของรัฐบาลดีขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจดีขึ้น จึงเห็นสมควรปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนข้าราชการให้เหมาะสมกับภาวะหน้าที่ความรับผิดชอบ และให้เกิดความเป็นธรรมเมื่อเทียบกับกลุ่มอาชีพอื่น ตามบัญชี ก และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2532
ในปี พ.ศ. 2532 คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้ง "คณะกรรมการป้องปรามธุรกิจการเงินนอกระบบ" สาเหตุเนื่องมาจากมีการประกอบธุรกิจการเงินนอกระบบ ซึ่งมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ คณะกรรมการชุดนี้จะกำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจการเงินนอกระบบทั้งหมด สำหรับให้เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ใช้เป็นหลักในการปฏิบัติงาน
ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2533 รัฐบาลอนุมัติให้ทำการปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนข้าราชการ จากบัญชี ก เป็นบัญชี ข โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2534
ในปัจจุบัน เศรษฐกิจการค้าของโลกมีการเปลี่ยนแปลงขยายตัวเพิ่มมากขึ้นประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง และมีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงจากประเทศเกษตรกรรม และนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น มาเป็นการส่งออกผลผลิตในด้านเกษตรกรรมและการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก ขณะเดียวกันสถานการณ์ทั่วโลก มีกลุ่มเศรษฐกิจการค้ารวมตัวกันหลายกลุ่ม ทั้งยุโรป อเมริกา และเอเชีย ตลอดจนประเทศสังคมนิยมต่าง ๆ ก็มีการเปิดการค้าเสรีขึ้นหลายประเทศ ทำให้ประเทศไทยต้องปรับปรุงนโยบายโครงสร้างอัตราภาษี และแผนเศรษฐกิจการค้าให้มีลักษณะเป็นสากล เพื่อรองรับสถานการณ์โลก และเมื่อประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีกับนานาประเทศ ก็จำเป็นต้องดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการคลัง เพื่อให้สอดคล้องกับพันธะสัญญาที่ทำไว้ เช่น พันธะภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน พันธะภายใต้องค์การค้าโลก เป็นต้น
ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2534 ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประจำปี 2534 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในบริเวณโรงงานยาสูบ ถนนรัชดาภิเษก นับเป็นการประชุมที่สำคัญและยิ่งใหญ่กว่าการประชุมใด ๆ ที่เคยจัดขึ้นในประเทศไทย ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้แทนทางการจากรัฐบาลประเทศต่าง ๆ จำนวน 151 ประเทศ นำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ/หรือผู้ว่าการธนาคารกลางผู้แทนจากธนาคารพาณิชย์ และสื่อมวลชนทั่วโลก รวมทั้งผู้สังเกตการณ์จากสถาบันการเงิน องค์การระหว่างประเทศ ผู้เข้าประชุมมีจำนวนประมาณ 10,000 คน การจัดประชุมครั้งนี้เป็นการสร้างชื่อเสียงและก่อประโยชน์แก่ประเทศโดยส่วนรวมในด้านต่าง ๆ เป็นอันมาก
ในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2535 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยยกเลิกพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 และพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2527 ตามพระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ ให้มีคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่เรียกว่า "คณะกรรมการ ก.ล.ต." โดยมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายการส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกำกับดูแลในเรื่องหลักทรัพย์ ธุรกิจหลักทรัพย์ตลาดหลักทรัพย์ ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง องค์การที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ การออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน การเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ และการป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์
เมื่อประเทศไทยได้ร่วมกับสมาคมอาเซียนจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนโดยมีเป้าหมายหลักคือ การลดภาษีศุลกากรแก่สินค้าที่ขายระหว่างประเทศภาคีอาเซียนให้เหลือไม่เกินร้อยละ 5 รวมทั้งขจัดมาตรการกีดกันทางการค้าอื่นๆ ภายใน 15 ปี นับจากวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2536 กระทรวงการคลังก็ได้ประกาศลดอัตราศุลกากร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดอัตราอากรสินค้าอุตสาหกรรม ที่นำเข้าจากประเทศสมาชิกอาเซียนให้เหลือไม่เกินร้อยละ 30 นับจากวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการลดภาษีของไทย
ในวันที่ 14 เมษายน พ.ศ . 2536 กองทุนการเงินระหว่างประเทศได้คัดเลือกประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านการบริหารเงินทุนเข้าและออก เพราะในช่วงเวลาที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถจัดการใช้ประโยชน์จากเงินทุนต่างประเทศได้ดี
- ดูหน้าที่เกี่ยวข้องได้ที่หน้า ประวัติความเป็นมาของกระทรวงการคลัง
[แก้] รายชื่อผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
- พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย 27 พฤศจิกายน 2485 - 16 ตุลาคม 2489
- นายเสริม วินิจฉัยกุล 17 ตุลาคม 2489 -24 พฤศจิกายน 2490
- นายเล้ง ศรีสมวงศ์ 25 พฤศจิกายน 2490 - 2 กันยายน 2491
- พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย 3 กันยายน 2491 - 2 ธันวาคม 2491
- นายเล้ง ศรีสมวงศ์ 3 ธันวาคม 2491 - 3 สิงหาคม 2492
- หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ 4 สิงหาคม 2492 - 29 กุมภาพันธ์ 2495
- นายเสริม วินิจฉัยกุล 1 มีนาคม 2495 - 24 กรกฎาคม 2498
- นายเกษม ศรีพยัคฆ์ 25 กรกฎาคม 2498 - 23 กรกฎาคม 2501
- นายโชติ คุณะเกษม 24 กรกฎาคม 2501 - 3 พฤษภาคม 2502
- นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ 11 มิถุนายน 2502 - 15 สิงหาคม 2514
- นายพิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์ 16 สิงหาคม 2514 - 23 พฤษภาคม 2518
- นายเสนาะ อูนากูล 24 พฤษภาคม 2518 - 31 ตุลาคม 2522
- นายนุกูล ประจวบเหมาะ 1 พฤศจิกายน 2522 - 13 กันยายน 2527
- นายกำจร สถิรกุล 14 กันยายน 2527 - 5 มีนาคม 2533
- นายชวลิต ธนะชานันท์ 6 มีนาคม 2533 - 30 กันยายน 2533
- นายวิจิตร สุพินิจ 1 ตุลาคม 2533 - 1 กรกฎาคม 2539
- นายเริงชัย มะระกานนท์ 13 กรกฎาคม 2539 - 28 กรกฎาคม 2540
- นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ 31 กรกฎาคม 2540 - 4 พฤษภาคม 2541
- หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล 7 พฤษภาคม 2541 - 30 พฤษภาคม 2544
- หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล 31 พฤษภาคม 2544 - 7 ตุลาคม 2549
- ธาริษา วัฒนเกส 8 ตุลาคม 2549 - ปัจจุบัน
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
|
|
---|---|
ธนาคารกลาง | ธนาคารแห่งประเทศไทย |
ธ.พาณิชย์ไทย | กรุงเทพ • กรุงไทย • กรุงศรีอยุธยา • กสิกรไทย • เกียรตินาคิน • จีอี มันนี่ • ทหารไทย • ทิสโก้ • ไทยธนาคาร • ไทยพาณิชย์ • ไทยเครดิต • ธนชาต • นครหลวงไทย • ยูโอบี • แลนด์ แอนด์ เฮาส์ • สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) • เมกะ สากลพาณิชย์ • สินเอเชีย • เอ ไอ จี |
ธ.พาณิชย์ต่างประเทศ | แห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ • ซิตี้แบงก์ • ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอร์เรชั่น • เอช เอส บี ซี • ดอยซ์แบงก์ • เจพีมอร์แกน เชส • คาลิยง • แห่งอเมริกาเนชั่นแนลแอสโซซิเอชั่น • อินเดียนโอเวอร์ซีส์ • เอบีเอ็น แอมโร เอ็น.วี. • อาร์ เอช บี • โอเวอร์ซี-ไชนิสแบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น • แห่งประเทศจีน • มิซูโฮ คอร์ปอเรต • แห่งโนวาสโกเทีย • บีเอ็นพี พารีบาส์ • โซซิเยเต้ เจเนราล |
ธนาคารรัฐบาล | พัฒนาวิสาหกิจ (เอสเอ็มอี) • เพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส) • เพื่อการส่งออกและนำเข้า (เอ็กซิม) • ออมสิน • อาคารสงเคราะห์ • อิสลามแห่งประเทศไทย |
|
|
ธนาคารในอดีต | แหลมทอง • ศรีนคร • เอเชีย • รัตนสิน • ยูโอบีรัตนสิน • นครธน • สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน • ไทยทนุ • ดีบีเอสไทยทนุ • สหธนาคาร • มหานคร • กรุงเทพพาณิชยการ |
ดูเพิ่ม | ธนาคารโลก • ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ |
ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นบทความเกี่ยวกับ หน่วยงาน หรือองค์กร ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ |