ธง
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ธง เป็นวัตถุใช้เป็นเครื่องหมายเพื่อสื่อสาร เช่น บอกชาติ ตำแหน่งในราชการ โดยมีกำหนดกฎเกณฑ์เป็นต้น เช่น ธงชาติ ธงแม่ทัพนายกอง ใช้เป็นเครื่องหมายตามแบบสากลนิยม เช่น ธงกาชาด บอกที่ตั้งกองบรรเทาทุกข์, ธงขาว บอกความจำนนขอหย่าศึกหรือยอมแพ้, ธงเหลือง บอกเป็นเรือพยาบาลคนป่วยหรือเรือที่มีโรคติดต่ออันตราย, ธงแดง บอกเหตุการณ์อันเป็นภัย ใช้เป็นเครื่องหมายเรือเดินทะเล คณะ สมาคม อาคารการค้า ใช้เป็นอาณัติสัญญาณ ใช้เป็นเครื่องตกแต่งสถานที่ในงานรื่นเริงหรือถือเข้ากระบวนแห่เป็นต้น
ส่วนใหญ่ธงจะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่ยังมีธงสามเหลี่ยมหรือธงรูปร่างแบบอื่นต่างกันไป
เนื้อหา |
[แก้] ประเภทของธงที่สำคัญ
ในการศึกษาเกี่ยวกับธงนั้นสามารถจะจำแนกธงได้หลายประเภท ตามลักษณะของธงและจุดประสงค์การใช้งาน เช่น
- ธงชาติ
- ธงราชนาวี
- ธงฉาน
- ธงพระอิสริยยศ (ธงสำหรับพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์)
- ธงชัยเฉลิมพล (ธงประจำกองทหาร)
- ธงลูกเสือและเสือป่า
- ธงแสดงยศ
- ธงแสดงตำแหน่ง
[แก้] ธงชาติ
ธงชาติ คือ ธงที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ของรัฐชาติต่างๆ ซึ่งบรรจุความหมายของความเป็นชาติ หรืออุดมการณ์ของรัฐ หรือสิ่งที่เป็นของดีประจำชาติไว้ภายใน ธงนี้เป็นธงที่ใช้กันแพร่หลายที่สุดในทุกๆ ประเทศ เพราะประชาชนในรัฐชาติสามารถจัดหามาไว้เองได้ทั่วไปหากต้องการแสดงความเป็นชาติของตนเอง
ธงชาติของทุกประเทศล้วนได้รับรองจากรัฐของตนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะรับรองด้วยกฎหมายเกี่ยวกับธงโดยเฉพาะหรือรัฐธรรมนูญก็ตาม แน่นอนว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของธงชาติก็ต้องออกกฎหมายรับรองลักษณะของธงชาติฉบับใหม่ด้วย
อนึ่ง ธงนี้เป็นเป็นพื้นฐานสำคัญในการออกแบบธงอื่นๆ ที่สื่อความหมายถึงชาติและได้รับการรับรองไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับธงด้วย เช่น ธงราชนาวี ธงฉาน เป็นต้น
[แก้] ธงราชนาวี
ธงราชนาวี หมายถึง ธงที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ของกองทัพเรือประจำชาติต่างๆ โดยชักขึ้นตามสถานที่ราชการและเรือรบในสังกัดกองทัพเรือ (ชักขึ้นที่เสากาฟฟ์ท้ายเรือรบ) ธงนี้มีความสำคัญมากเทียบเท่ากับธงชาติ เพราะเป็นสัญลักษณ์แทนอำนาจอธิปไตยของชาติทางน้ำ ฉะนั้น การออกแบบธงราชนาวีโดยมากจึงอิงลักษณะพื้นฐานจากธงชาติ แต่จะมีการเพิ่มเติมรายละเอียดบางอย่างลงไปในธง ซึ่งจะต้องกำหนดไว้ในกฎหมายที่ว่าด้วยธงไว้ชัดเจน
[แก้] ธงฉาน
ธงฉาน หมายถึง ธงที่บัญญัติใช้เพิ่มเติมขึ้นจากธงชาติเพื่อใช้ชักขึ้นทางด้านหัวเรือรบ โดยจะใช้ชักในโอกาสสำคัญๆ หรือชักขึ้นเพื่อแสดงยศของนายทหารผู้บังคับการเรือ หรือชักขึ้นเพราะมีหน้าที่พิเศษตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยธง
สำหรับประเทศไทยนั้น หน้าที่ของธงฉานได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 มาตรา 19 ว่า "...ธงนี้เป็นธงที่ใช้ในเรือพระที่นั่ง และเรือหลวง หรือ เป็นธงสำหรับหน่วยทหารเรือที่ยกพลขึ้นบก ซึ่งหน่วยทหารนั้นไม่ได้รับพระราชทานธงไชยเฉลิมพล"
[แก้] ธงชัยเฉลิมพล (ธงประจำกองทหาร)
ธงชัยเฉลิมพล หมายถึง ธงประจำหน่วยทหารซึ่งได้รับมอบจากประมุขของรัฐชาติ โดยมากออกแบบเพิ่มเติมจากลักษณะของธงชาติ เพื่อให้ธงนี้เป็นสัญลักษณ์แทนชาติและอุดมการณ์ของรัฐด้วย นอกจากนั้น ธงนี้จะเป็นเครื่องหมายระบุหน่วยทหารแล้วยังถือกันว่าเป็นขวัญกำลังใจของกองทหารเป็นอย่างยิ่ง เวลาที่หน่วยทหารออกรบจะต้องนำธงนี้ไปในสนามรบด้วยเสมอ และจะต้องรักษาเอาไว้ด้วยชีวิต หากธงนี้ตกไปอยู่ในมือของฝ่ายศัตรูก็ถือว่าเป็นการเสียเกียรติของชาติอย่างยิ่งทีเดียว
ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้การปฏิบัติต่อธงชัยเฉลิมพลทุกขั้นตอนจะต้องเป็นไปตามพิธีการและระเบียบแบบแผนที่วางไว้อย่างเข้มงวดกวดขัน และโอกาสในการเชิญธงชัยเฉลิมพลออกใช้งาน จะต้องเป็นพิธีการที่มีความสำคัญเกี่ยวกับเกียรติยศและเชิดหน้าชูตาเท่านั้น เช่น พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนของทหาร เป็นต้น
มีข้อควรรู้เล็กน้อยว่าศัพท์ของธงชัยเฉลิมพลในภาษาอังกฤษนั้น นักแปลศัพท์ทหารในไทยจะใช้คำว่า Colours ในขณะที่ผู้ศีกษาเรื่องธงในต่างประเทศจะนิยมเรียกธงนี้ตามลักษณะกองทัพ เช่น ธงชัยเฉลิมพลกองทหารบก ก็เรียกว่า Army flag เป็นต้น
[แก้] ดูเพิ่ม
- การศึกษาเกี่ยวกับธงในประเทศไทย
- ธงชาติ
- ธงพระอิสริยยศ
- ธงในราชการทหาร
- ธงชัยเฉลิมพลของไทย
- ธัชวิทยา
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- ประวัติความเป็นมาของธงชาติสยามหรือธงช้าง และต้นฉบับพระราชบัญญัติแบบอย่างธงสยามฉบับ ร.ศ. ๑๑๐ และฉบับแก้ไข ร.ศ. ๑๑๘ ที่ พิพิธภัณฑ์ธงสยาม (SIAM FLAG MUSEUM)
- Flag of the world (FOTW) ฐานข้อมูลเกี่ยวธงและการศึกษาเรื่องธงทั่วโลก
- พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522
- พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 จาก kodmhai.com
- ธงชัยเฉลิมพล (หอมรดกไทย กระทรวงกลาโหม)
- ข้อมูลและประวัติของธงราชนาวี ธงฉาน และธงต่างๆ ของทหารเรือ