โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นิมิตฺตํ สาธุ รูปานํ กตญฺญู กตเวทิตา (ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี) |
||
227 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 |
อักษรย่อ | ต.อ. |
รหัสสถานศึกษา | 1000100701 |
ชื่อภาษาอังกฤษ | Triam Udom Suksa School |
วันสถาปนา | 3 มกราคม พ.ศ. 2480 |
ผู้ก่อตั้ง | หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล |
ประเภท | มัธยมศึกษาตอนปลาย |
สังกัด | สพฐ. |
ผู้อำนวยการ | นางพิศวาส ยุติธรรมดำรง |
เพลงสถาบัน | ปิ่นหทัย |
สีประจำสถาบัน |
หมายเหตุ | ต้นไม้ประจำโรงเรียน - จามจุรี |
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เป็นโรงเรียนสหศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแห่งแรกของประเทศไทย อยู่ในความดูแลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2480 โดยมติของสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มี ฯพณฯ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เป็นผู้อำนวยการท่านแรก
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาตั้งอยู่เลขที่ 227 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร บนพื้นที่ของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีอาณาบริเวณติดกับหลายคณะ ได้แก่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์และคณะสัตวแพทยศาสตร์ นอกจากนี้ภายในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษายังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน (สาธิตปทุมวัน) และตึกเรียนของคณะศิลปกรรมศาสตร์ส่วนที่ 2 อีกด้วย
เนื้อหา |
[แก้] ประวัติโรงเรียน
[แก้] ก่อกำเนิด
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเดิมชื่อว่า "โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย" เกิดขึ้นตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๔๗๙ ซึ่งกำหนดระเบียบการศึกษาไว้คร่าวๆ ดังนี้
แผนการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ ออกมาในสมัยต้นรัชกาลที่ 8 โดยมีพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นนายกรัฐมนตรี นาวาเอก หลวงศุภชลาศัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ หลวงโกวิทอภัยวงศ์และขุนสุคนธวิทย์ศึกษากรเป็นรัฐมนตรี พระตีรณสารวิศวกรรมเป็นปลัดกระทรวง หม่อมเจ้ารัชฎาภิเษก โสณกุลเป็นอธิบดีกรมศึกษาธิการ โดยเหตุที่ลดชั้นทัธยมบริบูรณ์ลงเหลือเพียงมัธยมปีที่ 6 และจัดชั้นเตรียมอุดมศึกษาขึ้นนั้นมีกล่าวไว้ว่า "แผนการศึกษาชาติซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๔๗๕ นั้น มีระยะเวลาในการศึกษาสามัญยาวเกินสมควร นักเรียนต้องเสียเวลาเรียนในสายสามัญถึง ๑๒ ปี และยังจะต้องไปเข้าเรียนต่อในสายวิสามัญอีก ซึ่งเมื่อรวมเข้าด้วยกันแล้วจะเห็นได้ว่าโครงการศึกษาเก่าของเรากำหนดเวลาเรียนไว้เป็นเวลานานมาก"
แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๗๙ ประกาศออกเมื่อใกล้จะสิ้นปี และเนื่องจากดำเนินการไม่ทัน จึงได้มีการตกลงให้ทั้งปี พ.ศ. 2480 เป็นปีสำหรับเตรียมงานหนึ่งปีเต็ม ขุนสุคนธ์วิทย์ศึกษากร รัฐมนตรีสั่งราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ ได้มีหนังสือเวียนลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2480 ส่งไปยังกระทรวงกลาโหม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองและจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยมีข้อความว่า
สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ใช้เวลาพิจารณาเรื่องนี้กว่า 8 เดือน การพิจารณานั้นมิได้พิจารณาว่าควรจะจัดหรือไม่ จึงเสียเวลามากและเป็นเหตุให้เหลือเวลาน้อยสำหรับผู้ที่จะทำงานขั้นเตรียมการ ขณะนั้น พันเอก หลวงพิบูลสงครามเป็นอธิการบดีและยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอีกด้วย หลวงแมนวิชาประสิทธิ์เป็นเลขาธิการของมหาวิทยาลัย หลวงพรตพิทยพยัตเป็นคณบดีคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุลเป็นหัวหน้าแผนกฝึกหัดครูมัธยมในคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมัธยมหอวังฯ อีกด้วย
ในที่สุดสภามหาวิทยาลัยได้ลงมติให้จัดตั้ง "โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย" เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2480 โดยสภามหาวิทยาลัยประชุมในตึกอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงถือว่าวันนั้นเป็นวันก่อตั้งของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
สามวันต่อมา อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เรียกหม่อมหลวงปิ่น มาลากุลเข้าไปพบและมอบหมายให้จัดตั้ง "โรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัย" ขึ้น โดยใช้สถานที่โรงเรียนมัธยมหอวังพญาไท แต่ให้ขยายไปจนจดถนนสนามม้า ให้ร่างโครงการเขียนแบบแปลนก่อสร้างอาคารเพิ่มเติม หาครูอาจารย์เขียนหลักสูตร ร่างระเบียบรวมทั้งระเบียบการรับสมัครนักเรียนด้วย ซึ่งได้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจาก นายสนั่น สุมิตรและหม่อมเจ้าวงษ์มหิป ชยางกูร เป็นต้น เมื่อการจัดตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเป็นไปด้วยความราบรื่น ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุลได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการท่านแรกของโรงเรียนในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2480 โดยเปิดสอนโรงเรียนเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2481 และนักเรียนได้เริ่มเรียนตามตารางสอนเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2481 โดยที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยเป็นโรงเรียนสหศึกษาแห่งแรกในประเทศไทย ในช่วงชั้นก่อนระดับอุดมศึกษา
ส่วนโรงเรียนมัธยมหอวังนั้น ก็ได้ยุบชั้นไปทีละน้อย ในปี พ.ศ. 2481 ได้ยืมอาคารในโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายเป็นสถานที่เรียน สำหรับนักเรียนส่วนใหญ่ได้ส่งนักเรียนไปฝากย้ายเข้าเป็นนักเรียนโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์บ้าง ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2483 กระทรวงได้ให้โอนโรงเรียนมาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างเด็ดขาดแต่การยุบชั้นนั้นก็ต้องทำต่อไปใน พ.ศ. 2486 ซึ่งเป็นปีสุดท้าย มีนักเรียนเหลืออยู่เพียง 14 คน ทางราชการมิได้ประกาศยุบโรงเรียน แต่นักเรียนหมดไปเอง ส่วนครูอาจารย์นั้นได้โอนไปที่อื่นบ้าง แต่ส่วนใหญ่ได้โอนมาสังกัดโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาทีละน้อยจนหมดเหมือนกัน
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยในปีแรกๆ ได้เจริญขึ้นเป็นลำดับ ทางด้านวิชาการเป็นที่พอใจ เมื่อนักเรียนศึกษาจบหลักสูตรสองปีแล้ว โรงเรียนก็จัดให้เข้าแถวเดินไปยังมหาวิทยาลัยเพื่อทำพิธีมอบตัวให้เข้าศึกษา โรงเรียนได้จัดสร้างตึกเรียนเพิ่มขึ้นจนจดสนามม้า ทางด้านกีฬานักเรียนเล่นฟุตบอล ฮอกกี้ รักบี้ ฯลฯ และได้โล่ในการแข่งขันรักบี้กับโรงเรียนอื่นๆ ด้วย โรงเรียนไปศึกษาหาความรู้ในต่างจังหวัดหลายครั้งหลายจังหวัด เช่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลพบุรี นครราชสีมา เพชรบุรี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง เป็นต้น
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษายังได้รื้อฟื้นประเพณีไหว้ครู โดยใช้คำประพันธ์ที่แต่งใหม่ขึ้นเมื่อต้นปีการศึกษา 2484 จนบัดนี้กลายเป็นประเพณีที่โรงเรียนทุกแห่งทั่วประเทศปฏิบัติสืบมา นอกจากนี้โรงเรียนยังได้จัดให้มีพิธีมอบตัวนักเรียน แต่ประเพณีนี้ได้ล้มเลิกไป เนื่องจากความไม่สะดวกต่างๆ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
มรสุมทางการเมืองกระทบโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เมื่อมีเหตุการณ์กรณีพิพาทอินโดจีน โดยมีการเดินขบวนเรียกร้องดินแดนกัน นักเรียนเตรียมอุดมศึกษาก็ไปร่วมเดินขบวนด้วย อาจารย์ชายต่างสมัครเข้าช่วยราชการทหาร ส่วนอาจารย์สตรีต่างสมัครเป็นอาสากาชาดเป็นจำนวนมาก นักเรียนต่างๆ ก็ช่วยกันทำงานอุตสาหกรรม ทำถุงของขวัญและบรรจุของขวัญเป็นการใหญ่ส่งไปให้ทหารที่ปฏิบัติการในสนาม งานนี้เริ่มด้วยซื้อผ้าไทยที่ร้านไทยอุตสาหกรรมตัดแจกนักเรียนหญิง อาจารย์สตรีพนักงานและเสมียนหญิง ตลอดจนอาจารย์ชายที่มีครอบครัว ให้ไปทำถุงตามแบบที่กำหนดให้มา "สวัสดีมีชัย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยมอบให้ทหารหาญของชาติไทย" ของที่ใส่ในถุงมีไม้ขีดไฟ 5,558 กลัก บุหรี่ 3,306 ซอง ที่เป็นกระป๋องและเป็นมัดก็มีอีกมาก ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า ผ้าขาวม้า แปรงสีฟัน ถุงเท้า สบู่กว่า 2,000 ก้อน ยังมีของแปลกๆ เช่น ขวาน ผ้าประเจียด ตะกร้อ กางเกง น้ำมันใส่ผม ฯลฯ ทำอยู่ 3 วันจึงเสร็จได้ 1,500 ถุง ระหว่างเดือนเมษายน - พฤษภาคม โรงเรียนได้ต้อนรับทหารกองทัพที่ 30 (ลำปาง) มาพักอยู่ที่โรงเรียน
สิ้นเดือนมีนาคม วิทยุกระจายเสียงประกาศเปลี่ยนนโยบายการศึกษาของชาติตามมติคณะรัฐมนตรี มีสาระสำคัญ 4 ข้อคือ
- ให้ตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นอีก
- ให้โรงเรียนราษฎร์จัดชั้นเตรียมอุดมศึกษาได้และเมื่อมีเพียงพอแล้ว ให้ยุบโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาของรัฐบาล
- ให้มีการสอบแบบ Matriculation เพื่อเข้ามหาวิทยาลัย
- ให้มีกรรมการคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ประกอบด้วย พลเรือโท หลวงสิทธุสงครามชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ เป็นประธาน ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนก.พ. ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และผู้แทนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นกรรมการ
ข่าววิทยุกระจายเสียงเรื่องนี้ มีผลกระทบกระเทือนจิตใจของผู้คนจำนวนไม่น้อย แต่สองวันต่อจากนั้นวิทยุกระจายเสียงเสนอข่าวโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองประกาศรับสมัครสำหรับปีการศึกษาใหม่ จะรับ 500 คน เสมือนว่ามิคำนึงถึงนโยบายใหม่ของรัฐบาล ทำให้ชาวเตรียมอุดมที่ถนนพญาไทมีใจขึ้นเป็นกอง นโยบายของรัฐบาลมีจุดประสงค์คือต้องการให้คนมีอาชีพชั้นสูงมากขึ้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผลิตคนไม่ทันใช้ รัฐบาลจึงจะจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่หัวเมืองอีกสัก 4 แห่ง ตามหัวเมืองรัฐบาลอาจตั้งโรงเรียนเตรียมขึ้นได้ แต่ในกรุงเทพฯ รัฐบาลจะไม่ทำ จะให้โรงเรียนเตรียมฯ นั้น เริ่มยุบชั้นปีที่ 1 ในปีหน้านักเรียนที่สอบตกนั้น ฝากที่อื่นให้ได้ ต่อไปกระทรวงจะจัดสอบ Matriculation แต่ไม่มาขวางหน้า
มีคนพูดกันมากว่า เมื่อโรงเรียนราษฎร์เปิดชั้นเตรียมอุดมศึกษากันมากๆ นักเรียนก็จะเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้หมดเหลือตกค้างกันอีก ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุลจึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อแสดงว่าโรงเรียนมีประโยชน์มาก โดยเสนอไปยังท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการว่าในปีการศึกษา 2484 นี้ จะรับนักเรียนให้ถึง 1,000 คน (ปี พ.ศ. 2483 รับเพียง 568 คนเท่านั้น) ซึ่งรัฐมนตรีมีความปิติยินดีเป็นอย่างมาก แต่เมื่อทำเรื่องเสนอเป็นทางการไปยังท่านอธิการบดี ท่านกลับบอกว่า เมื่อจะยุบโรงเรียนแล้วจะขยายไปทำไมกัน ควรจะรับเพียง 600 คน แม้ว่าตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงจะใหญ่กว่าอธิการบดี แต่ในขณะนั้นอธิการบดีได้ควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ด้วย ทำให้มีเสียงดังกว่า แต่อย่างไรก็ตามก็ได้มีการเจรจาผ่อนผันให้โรงเรียนรับนักเรียน 690 คน
[แก้] สงครามโลกครั้งที่ 2
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าประชิดประเทศไทยทำให้เกิดปัญหาตามมาอย่างมากมาย ทหารญี่ปุ่นเข้าครอบครองอาคารสถานที่ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่ถนนพญาไท โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาไม่มีบ้านอยู่ไปหลายวัน วิทยุกระจายเสียงสั่งทางราชการให้ข้าราชการมาทำงานทุกวัน โดยไม่มีวันหยุดแม้แต่วันอาทิตย์ แต่ข้าราชการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาไม่รู้ว่าจะไปทำงานที่ไหน เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง ก็ได้เปิดสำนักงานขึ้นได้ที่ตึกอักษรศาสตร์ชั้นล่าง นักเรียนได้พักผ่อนไป 4 สัปดาห์ก่อนที่จะจัดหาที่อพยพไปเรียนให้ได้ นักเรียนเตรียมอุดมศึกษาขณะนั้นมี 1,300 คนเศษ จะไปรวมกันที่ไหนแห่งเดียวกันมิได้ ในที่สุดจึงจัดให้นักเรียนแยกกัน 5 แห่งคือสวนจิตรลดารโหฐานที่ "หอใหม่" ของมหาวิทยาลัย ที่วังกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์เดิม ที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย และที่ตึกยุวชนนายทหารซึ่งมหาวิทยาลัยสร้างขึ้นใหม่ โดยเรียกสถานที่เหล่านี้ว่า ตึก 1 - 2 - 3 - 4 และ 5 ตามลำดับ แล้วย้ายสำนักงานของโรงเรียนไปอยู่ที่ตึกสำนักงานเลขาธิการ ซึ่งมหาวิทยาลัยสร้างขึ้นใหม่เช่นเดียวกัน โดยเรียกว่า ตึก 6
การเรียนระยะนี้ไม่ไดผลอะไรเลย จึงตกลงรีบสอบไล่ให้เสร็จสิ้นไปเสีย เรียนได้แค่ 9 วันเท่านั้น ถึงวันสอบไล่จริงมีคำสั่งมาว่าให้งดสอบ นักเรียนผู้ใดมีเวลาเรียนถึงร้อยละ 60 ให้ถือว่าสอบไล่ได้ ก่อนที่จะถึงปีการศึกษาใหม่ หลายคนเรียกการสอบไล่ครั้งนี้ว่า "โตโจสงเคราะห์" ซึ่งสงเคราะห์นักเรียนทั้งประเทศ ต่อมาได้ย้ายสำนักงานไปของโรงเรียนจากตึก 6 ไปยังตึก 5
ในปี พ.ศ. 2485 ได้เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองอีกครั้งหนึ่งเมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งทั้งคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ มีพันเอก ประยูร ภมรมนตรีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
เรื่องการยุบโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาดูเงียบไปแล้ว แต่เรื่องราวการจัดตั้งโรงเรียนเตรียมในหัวเมืองมิได้เงียบไปด้วย กระทรวงจึงจัดตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคพายัพขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เรียกอย่างย่อว่า ต.อ.พ. โดยใช้สถานที่ของโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์และโรงเรียนดาราวิทยาลัยของเพรสบิเทเรียนมิชชั่นที่ต้องปิดไปเพราะสงคราม ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2485 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยซึ่งกำลังบ้านแตกสาแหรกขาดอยู่นั้น ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดโรงเรียนดังกล่าวขึ้นมา โรงเรียนทั้งสองนี้จึงมีผู้อำนวยการคนเดียวกันแต่มีรองผู้ำอำนวยการแยกกัน โดยนายสงวน เล็กสกุล ไปเป็นรองผู้อำนวยการ ต.อ.พ. และนางสาวดารา ไกรฤกษ์ ไปเป็น อ.ป.ส. ดูแลฝ่ายหญิงอยู่ทางดาราวิทยาลัย ต.อ.พ. มิใช่ที่อพยพของโรงเรียนทางกรุงเทพฯ และยังมีตราและสีเป็นของตนเองและนักเรียนที่ทางโรงเรียนเตรียมที่กรุงเทพฯ ไม่อนุญาตให้เรียนแล้วไปเข้าเรียนที่ ต.อ.พ. ได้ เพราะไม่ใช่โรงเรียนเดียวกัน
โรงเรียนอพยพทางกรุงเทพฯ ก็ได้เปิดเรียนเมื่อต้นปีการศึกษา พ.ศ. 2485 มีพิเศษคือจัด "หลักสูตรเร่ง" ให้นักเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์เร่งหลักสูตร 3 ภาคเรียนให้จบใน 2 ภาค ถึงเดือนตุลาคมน้ำท่วมใหญ่ โรงเรียนต้องปิดไปอีกเดือนครึ่งระหว่างน้ำท่วม ในปี พ.ศ. 2486 กิจการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาหัวเมืองขยายตัว เปิดรับสมัคร จัดสอบข้อเขียนและสัมภาษณ์นักเรียนที่จะเข้า ต.อ.พ. ที่เชียงใหม่ พิษณุโลกและกรุงเทพฯ ทางกรุงเทพฯ สอบคัดเลือกที่ตึก 2 (หอใหม่) ตึก 6 (ตึกสถาปัตยกรรมศาสตร์) และตึกอักษรศาสตร์ แต่พอถึงเวลาเปิดภาคการศึกษา 2486 ทหารญี่ปุ่นได้ออกไปจากโรงเรียนแล้ว นักเรียนจึงได้เข้าเรียน ณ ที่เดิม แต่ยังคงต้องใช้หอใหม่ต่อไปเพราะจำนวนนักเรียนมาก ห้องเรียนในตัวโรงเรียนก็ไม่พอ ระยะนี้เรียกหอใหม่ว่าตึก 4 เพื่อไม่ให้ซ้ำกับตึก 2 ในโรงเรียน แต่เมื่อห้องเรียนในตัวโรงเรียนว่างลง เพราะนักเรียนบางประเภทจบหลักสูตรเร่งกลางปี โรงเรียนก็ย้ายนักเรียนจากหอใหม่มาบ้างเป็นบางห้อง เมื่อวันที่ 1 มกราคม โรงเรียนได้จัดตั้ง "ห้อง 252" ขึ้นที่ตึก 3 เป็นที่สำหรับอาจารย์พักผ่อน เล่นกีฬาในร่มและสนทนาวิสาสะกัน ทำนองสโมสรอาจารย์ยังคงเป็นห้อง 252 อยู่จนทุกวันนี้
ต่อมาได้มีปัญหาการย้ายโรงเรียนและมหาวิทยาลัยไปยังจังหวัดลพบุรีตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี หม่อมหลวงปิ่น มาลากุลจึงยื่นใบลาออก และเสนอให้นายสนั่น สุมิตร ไปเป็นเลขานุการกรมสามัญศึกษา ให้หม่อมเจ้าวงษ์มหิป ชยางกูรดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยและให้นายสงวน เล็กสกุล ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคพายัพ เรื่องนี้ได้หายไปนานจนกระทั่งอธิการบดีได้สั่งอนุมัติเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 ให้นายสนั่น สุมิตร ไปดำรงตำแหน่งอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยและให้หม่อมเจ้าวงษ์มหิป ชยางกูรรักษาการตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
เมื่อหม่อมหลวงปิ่น มาลากุลพ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการไปได้เพียง 7 วัน ก็มีวิกฤตการณ์ทางการเมืองขึ้นอีกครั้ง เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงครามลาออก และนายควง อภัยวงศ์เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ นายทวี บุณยเกตุเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และต่อมารักษาการในตำแหน่งอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย พระตีรณสารวิศวกรรม กลับมาเป็นปลัดกระทรวง หม่อมหลวงปิ่น มาลากุลเป็นเลขาธิการมหาวิทยาลัยอีกตำแหน่ง
หม่อมเจ้าวงษ์มหิป ชยางกูร รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้ขอร้องให้หม่อมหลวงปิ่น กลับมาดำรงตำแหน่งหรือมิเช่นนั้นก็ขอให้นายสนั่น สุมิตร มาแทน ทางราชการจึงได้แต่งตั้งให้นายสนั่น สุมิตร เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาคนที่สอง ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2487 และในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2487 หม่อมเจ้ารัชฎาภิเษก โสณกุลเสด็จมาดำรงตำแหน่งอธิการบดี
ภัยสงครามได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดลงมาในพระนคร กระทรวงศึกษาธิการจึงสั่งปิดโรงเรียนทั่วพระนคร และให้งดสอบประจำปี ให้นักเรียนซ้ำชั้นในปีการศึกษา 2488 ทั้งหมด และด้วยเหตุนี้เอง นักเรียนเตรียมอุดมศึกษาจึงขาดไปหนึ่งรุ่น (รุ่น 9) ไม่มีการสอบคัดเลือกรับนักเรียนใหม่ในปี พ.ศ. 2488
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 ทุกคนมีความยินดี เกิดมีความหวังว่าทุกอย่างจะกลับสู่ภาวะปกติ แต่ความหวังของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษากลับสูญสิ้นไปภายในไม่กี่วัน เพราะทางทหารสัมพันธมิตรที่มีชัยชนะต้องการเอาอาคารสถานที่มากมายหลายแห่งรวมทั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาด้วย และถกเถียงกันว่าจะใช้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเป็นที่อยู่ของทหารหรือเชลยศึก ในที่สุดทหารแขกกูรข่าและทหารอังกฤษผลัดกันเข้าพักอาศัย โรงเรียนเลยมีประวัติสร้างสถิติในการต้อนรับทหาร เพราะทหารไทยและทหารญี่ปุ่นก็ได้เคยเข้ามาอยู่แล้วในปลายปี พ.ศ. 2484 และต้นปี พ.ศ. 2488 ตามลำดับ
ผู้อำนวนการสนั่น สุมิตรถึงกับหัวเสีย เพราะต้องขนย้ายสำนักงานของโรงเรียนอย่างรีบด่วนถึง 3 ครั้งภายใน 7 วันไปอยู่ที่ตึกยุวชนทหาร ซึ่งได้เปลี่ยนสภาพเป็นตึก "จุฬาภัณฑ์" ก่อนย้ายไปยังอาคารสโมสรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและย้ายต่อไปที่หอใหม่ในที่สุด โรงเรียนทั่วไปในพระนครและธนบุรี เปิดใหม่กันเป็นรุ่นๆ แต่สำหรับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษานั้นดูยังไม่มีหวังเพราะทหารต่างชาติเข้ามาอยู่ในโรงเรียนและอาคารโรงเรียนอื่นๆ ก็มีเจ้าของ ทางราชการขออาจารย์โรงเรียนเตรียมไปเป็นล่ามบ้าง ไปเป็นเจ้าหน้าที่จดบัญชีทรัพย์สินของชนชาติศัตรูบ้าง และในระยะหลังได้ส่งอาจารย์วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ไปช่วยกระทรวงอบรมครูด้วย แม้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดทำการสอนในวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2488 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาก็ยังปิดต่อไปเพราะไม่มีที่เรียน
เมื่อเสร็จสงคราม จะต้องเจรจาสันติภาพก็จำต้องเปลี่ยนรัฐบาล นายทวี บุณยเกตุเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอีกตำแหน่งหนึ่ง ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน พระตีรณสารวิศวกรรม เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ คณะรัฐบาลชุดนี้อยู่เพียง 17 วันก็ลาออก เปิดทางให้หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมชมาดำรงตำแหน่งแทน พระตีรณสารวิศวกรรมได้กลายเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในคณะรัฐมนตรีใหม่ มีนายสงวน ตุลารักษ์และนายเตียง ศิริขันธ์เป็นรัฐมนตรีสั่งราชการ
[แก้] สังกัดกรมศึกษาธิการ
ความรู้สึกเกี่ยวกับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาระยะนี้ก็ไม่สู้จะดีนัก ทางฝ่ายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเห็นว่านักเรียนเตรียมอุดมศึกษาจำนวนมากนักและก็ไม่ได้เล่าเรียนเต็มเม็ดเต็มหน่วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะรับไว้ไม่ได้ทั้งหมด จะต้องมีการสอบคัดเลือกอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งความวุ่นวายยุ่งเหยิงทั้งหลายเหล่านี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนทางด้านประชาชนทั่วไปนั้นก็ได้วิจารณ์ต่างๆ นานาเช่น
- ทำไมจึงให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาฯ ผูกขาดการเข้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโรงเรียนเดียว
- ขอให้โรงเรียนอื่นๆ เปิดชั้นเตรียมอุดมศึกษาด้วยเถิด ชั้นมัธยมปีที่ 8 ก็เคยสอนมาแล้ว ถ้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาสอนดี นักเรียนเตรียมก็คงจะเข้ามหาวิทยาลัยได้หมดตามเดิมไม่เดือดร้อนอะไร
- อยากให้นักเรียนที่จบมัธยมปีที่ 6 ได้เรียนต่อเพื่อจะได้มีความรู้สูงขึ้นมากกว่าที่จะให้ได้เข้ามหาวิทยาลัย ไม่ให้เข้าก็ไม่เป็นไร
ถึงปลายเดือนพฤศจิกายน ทางมหาวิทยาลัยและโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจึงได้ร่วมกันพิจารณาที่จะเปิดโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาให้ได้ เพราะทนปิดต่อไปไม่ไหวแล้ว กรมสามัญศึกษาจะเอื้อเฟื้อให้ยืมสถานที่ในโรงเรียนบางแห่ง สภามหาวิทยาลัยได้ประชุมเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ตกลงให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาไปเปิดสอนที่โรงเรียนมัธยมวัดไตรมิตร โรงเรียนมัธยมวัดราชาธิวาส โรงเรียนศึกษานารี โดยจัดให้สองสองผลัด นักเรียนหญิงตอนเช้านักเรียนชายตอนบ่าย แต่ยังไม่ทันดำเนินการ ทหารแจ้งว่าต้องการใช้โรงเรียนศึกษานารี จึงต้องเปลี่ยนใหม่ ได้โรงเรียนสตรีวัดมหาพฤฒารามมาแทน โรงเรียนเจ้าของสถานที่เอื้อเฟื้อเป็นอย่างมากโดยจัดนักเรียนของตนไปเรียนเป็นผลัดบ่าย ณ โรงเรียนอื่นแทน
ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้เชิญผู้แทนมหาวิทยาลัยต่างๆ มาประชุม และชี้แจงว่าจำเป็นจะต้องอนุโลมตามเสียงของประชาชน แต่จะตั้งชั้นมัธยมปีที่ 7 - 8 ขึ้นก็ไม่ได้เพราะขัดกับแผนการศึกษา จึงจะให้ขยายโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแทน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่มีอยู่ก็ให้จัดต่อไป แต่จะให้โรงเรียนรัฐบาลแห่งอื่นและโรงเรียนราษฎร์เปิดสอนได้ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยนั้น เมื่อโอนมาอยู่ทางกรมสามัญศึกษาได้ก็ให้โอนมา กระทรวงจะเป็นผู้จัดสอบประโยคเตรียมอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัยต่างๆ จะจัดสอบคัดเลือกผู้ที่จะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยอีกชั้นหนึ่ง ในการประชุมครั้งต่อมา กำหนดให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยรับนักเรียนใหม่ในปีการศึกษา พ.ศ. 2489 จำนวน 100 คนและกำหนดจะให้เปิดสอนชั้นเตรียมอุดมศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลในจังหวัดพระนคร ธนบุรี พระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ สงขลาและอุบลราชธานี จังหวัดละ 2 โรงเรียน
การเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งนี้ก็เท่ากับว่าเป็นการรื้อฟื้นชั้นมัธยมปีที่ 8 กลับมาอีก ไม่เหมือนนโยบายที่ประกาศครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 2484 เพราะกลับเพิ่มชั้นเตรียมอุดมศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลแทนที่จะยุบ เรื่องนี้ได้พูดกันในที่ประชุมกรรมการอำนวยการคุรุสภาครั้งหนึ่ง กรรมการบางท่านไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ บอกว่าเป็นการเตรียมเสมียนและเป็นยาหอมสำหรับประชาชนมากกว่าอย่างอื่น เหตุการณ์นี้เป็นผลให้โรงเรียนเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองมีอันยุบไป
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยก็ได้จัดการสอบคัดเลือกรับนักเรียนสำหรับโรงเรียนของตนเอง ประชาชนยังนิยมอยู่ มีผู้สมัครมากกว่าโรงเรียนอื่นๆ โรงเรียนรัฐบาลในส่วนกลางแห่งหนึ่งมีผู้สมัครเพียง 30 คนเท่านั้น ขณะที่สมัครที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย 1,112 คน ทุกโรงเรียนสอบคัดเลือกพร้อมในวันเดียวกัน พอสอบรับสมัครนักเรียนใหม่แล้ว โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาก็จัดการสอบประจำปี พ.ศ. 2487 ซึ่งค้างเติ่งมาถึงต้นปีการศึกษา 2489 สอบปี 1 และปีที่ 2 พร้อมกัน มีผู้สอบประมาณ 3,000 คน ในจำนวนนี้ จบหลักสูตรได้เข้ามหาวิทยาลัย 664 คน จำนวนนักเรียนที่เหลือศึกษาอยู่ในโรงเรียนจึงมากพอใช้
สิ้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2489 ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรจึงได้คืนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาให้แก่ประเทศไทย โดยมีทหาร ส.ห. เป็นผู้รับมอบแล้วจึงมอบให้แก่โรงเรียนอีกชั้นหนึ่ง บัดนี้นักเรียนก็ได้ทยอยกลับเข้ามาเรียนยังโรงเรียนทีละนิด ผู้อำนวยการโรงเรียนร้องว่าจะซ่อมโรงเรียนไปทำไมกัน เมื่อสภามหาวิทยาลัยประชุมตกลงว่าจะให้ย้ายโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาไปสังกัดกรมสามัญศึกษา ซึ่งขณะนั้นดูเหมือนหมายความว่าจะให้ย้ายอาจารย์และนักเรียนไปจากโรงเรียนเดิมให้หมดด้วย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้ต่อสู้ที่จะอยู่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่เป็นผลสำเร็จ เกิดความยุ่งยากบางอย่างที่ไม่ได้คาดฝัน เช่นในต้น พ.ศ. 2490 ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกรมสามัญศึกษาต่างก็จะไม่วางฎีกาเบิกเงินเดือนให้ครูอาจารย์ เรื่องการโอนโรงเรียนนี้จึงโอ้เอ้กันอยู่นาน ในที่สุดได้โอนกันเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 แต่โอนเฉพาะสังกัด ยังใช้สถานที่โรงเรียนเดิมไม่ต้องโยกย้ายไปที่อื่น
เรื่องนี้กระทบกระเทือนจิตใจอาจารย์โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาไม่น้อยกว่าเมื่อได้ยินวิทยุกระจายเสียงประกาศว่าจะยุบโรงเรียน เสียดายพระเกี้ยว ซึ่งเป็นตราของโรงเรียนอยู่เช่นเดียวกับของมหาวิทยาลัยและเสียดายสร้อยชื่อ "แห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย" ซึ่งหม่อมหลวงปิ่นได้กล่าวว่า
อาคารสถานที่ของโรงเรียนขณะนั้นชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก โรงเรียนจึงต้องดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงเป็นการใหญ่ นอกจากนั้นก็ต้องปรับปรุงจิตใจของนักเรียนด้วย งานทางด้านนี้ที่บังเกิดผลดีคือ ได้จัดตั้งคณะกรรมการนักเรียนขึ้นเพื่อให้จัดการในเรื่องที่ควรปล่อยให้นักเรียนทำเอง ให้ใช้ห้อง ๖๐ ที่โรงหัตถกรรมเป็นสำนักงานเรียกกรรมการนักเรียนนี้ว่า "กรรมการห้อง ๖๐" ซึ่งถือได้ว่า โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจัดตั้งคณะกรรมการนักเรียนขึ้นมาเป็นครั้งแรกของประเทศไทย นอกจากนี้ยังได้แบ่งนักเรียนออกเป็นคณะๆ รวม 6 คณะ แต่ละคณะให้มี "สี" ประจำคณะ ตั้งแต่สีเหลืองของวันจันทร์จนสีม่วงของวันเสาร์ และมีการแข่งขันกีฬาเป็นต้น
แต่เรื่องสำคัญที่สุดในปี พ.ศ. 2490 ก็ย่อมเป็นเรื่องขยายการศึกษา กล่าวคือเมื่อโรงเรียนรัฐบาลอื่นๆ และโรงเรียนราษฎร์ต่างก็จัดชั้นเตรียมอุดมศึกษาได้ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจึงไม่มีความสำคัญมากนัก แต่มีผู้มีความสามารถอยู่เป็นจำนวนมาก ประจวบกับเป็นเวลาหลังสงคราม กระทรวงศึกษาธิการกำลังขยายการศึกษา ต้องการครูชั้นสูงเป็นจำนวนมาก คณะรัฐมนตรีจึงได้อนุมัติให้จัดตั้งแผนกฝึกหัดครูมัธยมขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2490 เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยมีอาจารย์หม่อมเจ้าวงษ์มหิป ชยางกูร ได้ทรงเป็นหัวหน้างานใหม่นี้
ปลายปีการศึกษา 2490 (มีนาคม พ.ศ. 2491) โรงเรียนจำใจต้องให้หม่อมเจ้าวงษ์มหิป ชยางกูร โอนไปรับราชการกระทรวงการต่างประเทศ ท่านได้ทรงเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการมาได้ 4 ปี
ในปี พ.ศ. 2503 มีการเปลี่ยนแปลงแผนการศึกษาแห่งชาติใหม่ เรียกชั้นเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 1 และปีที่ 2 เดิมว่า ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ แบ่งเป็นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 5 (มศ.4 - มศ.5) แผนกศิลปะ แผนกวิทยาศาสตร์ และแผนกทั่วไป มีหลักสูตรสองปีเท่าเดิม โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จึงเป็นชื่อเฉพาะที่มีความหมายเช่นเดิม เพราะนักเรียนที่เข้ามาเรียนในโรงเรียนนี้ ส่วนมากต้องการเรียนต่อระดับอุดมศึกษา
ในปี พ.ศ. 2533 กระทรวงศึกษาธิการปรับหลักสูตรระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ โดยหลักสูตร 2 ปี ปรับให้เป็นหลักสูตร 3 ปี (ม.4 - ม.6)
[แก้] เครือข่ายวิชาการแห่งจุฬาฯ
ปัจจุบัน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มีฐานะเป็นโรงเรียนเครือข่ายวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งประกอบด้วยกัน 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน โดยนักเรียนของทั้ง 3 โรงเรียนนี้ จะได้รับสิทธิ์เข้าเรียนโครงการเรียนล่วงหน้าจุฬาฯ (CUAP Program) ในรายวิชาที่นักเรียนสนใจและถนัดเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ ยังมีโครงการพิเศษ สำหรับนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาโดยเฉพาะ ได้แก่ โครงการพัฒนานักอักษรศาสตร์รุ่นใหม่ ซึ่งเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดำเนินการโดยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ในปีการศึกษา 2551 ได้เปิดรับนักเรียนจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม และ โรงเรียนสาธิตปทุมวัน เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษายังเป็นโรงเรียนแรกในประเทศไทยที่มีการเรียนการสอนภาษาสเปน ตามพระดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกด้วย
[แก้] แผนการเรียนต่างๆ
- สาระการเรียนรู้ที่เน้น วิทย์-คณิต
- กลุ่มภาษาฝรั่งเศส
- กลุ่มภาษาเยอรมัน
- กลุ่มภาษาญี่ปุ่น
- กลุ่มวิทย์-คณิตประยุกต์
- กลุ่มคอมพิวเตอร์
- กลุ่มการบริหารจัดการ
- กลุ่มคุณภาพชีวิต
- สาระการเรียนรู้ที่เน้น ภาษา-คณิต
- สาระการเรียนรู้ที่เน้น ภาษา-ฝรั่งเศส
- สาระการเรียนรู้ที่เน้น ภาษา-เยอรมัน
- สาระการเรียนรู้ที่เน้น ภาษา-ญี่ปุ่น
[แก้] สิ่งปลูกสร้างสำคัญภายในโรงเรียน
- ตึก 1
- ตึก 2
- ตึก 3
- ตึก 4 (ห้องสมุดกลาง)
- ตึก 8
- ตึก 9
- ตึกคุณหญิงหรั่ง (หรั่ง กันตารัติ)
- ตึกศิลปะ
- ตึก 50 ปี
- ตึก 55 ปี
- ตึก 60 ปี
- หอประชุม
- ตึกปฏิบัติการวิทยาศาสตร์
- อาคารนันทนาการ
- โรงพลศึกษา
- เรือนเกษตร
- สวนหินปิ่นหทัย
- ศาลาปิ่นหทัย
- ศาลาพระเกี้ยวแก้ว
- ลานอเนกประสงค์ 70 ปี ต.อ.
- สมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษา ในพระบรมราชูปถัมภ์
- อาคารอเนกประสงค์สมาคมนักเรียนเก่าฯ
[แก้] ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง
ดูบทความหลักที่ รายชื่อบุคคลสำคัญจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
- ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม : พระธิดาใน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- จุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา : องคมนตรี ประธานคณะกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ปรึกษาคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) กรรมการบริหารมูลนิธิอานันทมหิดล กรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา
- ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค : พระมาตุจฉาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นผู้ประพันธ์คำร้องภาษาไทยในเพลงพระราชนิพนธ์ ความฝันอันสูงสุด เพลินภูพิงค์ เกิดเป็นไทย ตายเพื่อไทย แผ่นดินของเรา เตือนใจ ไร้เดือน เกาะในฝัน มาร์ชราชนาวิกโยธิน
- ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ : ต.อ.33 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
- คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา : ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนแรก
- อภิรักษ์ โกษะโยธิน : ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
- พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ : ต.อ.10 อดีตนายกรัฐมนตรี
- ชาลิสา บุญครองทรัพย์ : นางสาวไทยปี พ.ศ. 2546
- ลลนา ก้องธรนินทร์ : นางสาวไทยปี พ.ศ. 2549
[แก้] ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
ดูบทความหลักที่ รายนามผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา |
[แก้] สถิติการรับสมัคร
สถิติการรับสมัครนักเรียนเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พ.ศ. 2551 | ||||||||||||||||||
แผนการเรียน —————— วัน |
วิทย์ - คณิต (750) |
ภาษา - คณิต (150) |
ภาษา - ฝรั่งเศส (90) |
ภาษา - เยอรมัน (60) |
ภาษา - ญี่ปุ่น (60) |
รวม (1100) |
||||||||||||
ชาย | หญิง | รวม | ชาย | หญิง | รวม | ชาย | หญิง | รวม | ชาย | หญิง | รวม | ชาย | หญิง | รวม | ชาย | หญิง | รวม | |
14 มีนาคม | 852 | 1,064 | 1,916 | 98 | 253 | 351 | 23 | 123 | 146 | 18 | 76 | 94 | 26 | 134 | 160 | 1,017 | 1,650 | 2,667 |
15 มีนาคม | 1,072 | 1,363 | 2,435 | 126 | 318 | 444 | 39 | 166 | 205 | 16 | 103 | 119 | 30 | 166 | 196 | 1,283 | 2,116 | 3,399 |
16 มีนาคม | 1,193 | 1,437 | 2,630 | 140 | 348 | 488 | 45 | 169 | 214 | 28 | 104 | 132 | 44 | 194 | 238 | 1,450 | 2,252 | 3,702 |
17 มีนาคม | 835 | 992 | 1,827 | 123 | 254 | 377 | 32 | 141 | 173 | 28 | 81 | 109 | 28 | 149 | 177 | 1,046 | 1,617 | 2,663 |
18 มีนาคม | 246 | 211 | 457 | 56 | 83 | 139 | 9 | 45 | 54 | 8 | 40 | 48 | 12 | 40 | 52 | 331 | 419 | 750 |
รวม | 9,265 | 1799 | 792 | 502 | 823 | 13,181 |
[แก้] ดูเพิ่ม
[แก้] อ้างอิง
[แก้] แหล่งข้อมูล
- เว็บไซต์โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
- เว็บบอร์ดเด็กเตรียมฯ ดอตเน็ต
- สารานุกรมเรื่องต่างๆในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
- หนังสือ ๗๐ ปี เตรียมอุดมศึกษา
- ภาพถ่ายดาวเทียม จาก วิกิแมเปีย หรือ กูเกิลแมป
- แผนที่ จาก มัลติแมป หรือ โกลบอลไกด์
- ภาพถ่ายทางอากาศ จาก เทอร์ราเซิร์ฟเวอร์