เบอร์ทรานด์ รัสเซิลล์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เบอร์ทรานด์ อาเธอร์ วิลเลียม รัสเซลล์ (Bertrand Arthur William Russell, 18 พ.ค. พ.ศ. 2415 - 2 ก.พ. พ.ศ. 2513) เป็นหนึ่งในนักคณิตศาสตร์ นักปรัชญา นักตรรกวิทยา ที่มีอิทธิพลอย่างสูงในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 เขาเป็นนักปรัชญาการศึกษาหัวรุนแรงที่มีบทบาทสำคัญยิ่งคนหนึ่งของอังกฤษ เป็นผู้ที่ได้สร้างผลงานด้านการศึกษาในแนวปฏิรูปไว้มากมายหลายแขนง ซึ่งเป็นที่ยอมรับและมีอิทธิพลต่อการศึกษาในปัจจุบันอย่างมาก บรรดานักปรัชญารู้จักเขาในฐานะของผู้ให้กำเนิดทฤษฎีความรู้ (Epistemology หรือ Theory of Knowledge) นักคณิตศาสตร์รู้จักรัสเซลในฐานะบิดาแห่งตรรกวิทยา ผู้เขียนตำราคลาสสิกทางคณิตศาสตร์ คือหนังสือชื่อ Principia Mathematica นักฟิสิกส์รู้จักเขาในฐานะของผู้แต่งตำรา ABC of Relativity สำหรับคนทั่วไปรู้จักรัสเซลล์ในฐานะของนักจิตวิทยา นักการศึกษา นักการเมือง และนักเขียนผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม เมื่อปี พ.ศ. 2493
[แก้] ประวัติ
รัสเซลล์ เกิดที่เมืองเทรลเลค (Trelleck) แคว้นมอนเมาธ์ไชร์ (Monmouthshire) สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2415 (ค.ศ. 1872) บิดาเป็นขุนนางชั้นวิสเคานท์ชื่ออัมเบอร์เลย์ (Amberley) ซึ่งเป็นบุตรชายคนที่ 3 ของลอร์ด จอห์น รัสเซลล์ (Lord John Russell) อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย ผู้สนับสนุนพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนฉบับแรก และยังเป็นผู้ส่งเสริมเสรีภาพของประชาชนมาตลอดชีวิต เป็นผู้ที่มีแนวคิดเสรีนิยมจัด ท่านลอร์ด จอห์น รัสเซลล์ ผู้นี้เองเป็นคนริเริ่มส่งเสริมและเปิดให้มีการค้าโดยเสรี ให้คนยิวทำมาหากินอย่างอิสระในอังกฤษ และส่งเสริมเสรีภาพในการนับถือศาสนาอีกด้วย ส่วนมารดาของรัสเซลล์ ชื่อนางแคทธริน เป็นบุตรีของท่านบารอน สแตนเลย์ ขุนนางแห่งเมืองอัลเตอร์เลย์ (Alterley)
รัสเซลล์ เป็นเด็กกำพร้าตั้งแต่อายุได้ 2 ขวบ มารดาของเขาถึงแก่กรรมด้วยโรคคอตีบ อีกปีครึ่งต่อมาบิดาก็ลาโลกไปอีกคน ทิ้งให้รัสเซลล์กับพี่ชายชื่อ แฟรงค์ ซึ่งมีอายุมากกว่าเขา 10 ปี อยู่ในความดูแลของปู่กับย่าที่คฤหาสน์เพรมโปรค ชีวิตในวัยเด็กของรัสเชลจึงค่อนข้างที่จะสุขสบายกว่าเด็กคนอื่นๆ ในวัยเดียวกัน แต่ปู่กับย่าของเขาไม่ยอมส่งไปเข้าโรงเรียนด้วยเกรงว่ารัสเซลล์จะได้รับความลำบาก ย่าของเขาได้ว่าจ้างครูพิเศษไปสอนที่บ้าน ทำให้รัสเซลล์ไม่ค่อยมีโอกาสได้คบหาสมาคมกับเด็กอื่นๆ บ่อยนัก ผู้เป็นย่าเข้มงวดกวดขันในเรื่องวินัย ศาสนา และการศึกษาเป็นอย่างมาก ทำให้เขากลายเป็นเด็กที่มีปมด้อย และมีความคิดรุนแรง แต่กระนั้นเขาก็ได้รับการศึกษาอย่างดียิ่ง และด้วยเหตุที่เขาเป็นเด็กที่มีสติปัญญาเฉียบแหลม จึงเรียนหนังสือได้เร็วและมากกว่าเด็กอื่นๆ เขาอ่านหนังสือแทบทุกประเภท และมีความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับศาสนา ปรากฏว่าอายุเพียง 11 ขวบเศษเท่านั้น รัสเซลก็เมมีความสงสัยในเรื่องศาสนา ว่านรกสวรรค์มีจริงหรือไม่ สงสัยในเรื่องของพระผู้เป็นเจ้า แต่ปู่กับย่าก็มิได้ให้คำตอบที่ถูกต้องแก่เขาเท่าที่ควร
จนกระทั่งอายุได้ 18 ปีเต็ม (ค.ศ. 1890) รัสเซลจึงได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เมื่อเข้าเรียนได้ปีแรกเท่านั้น เขาก็แสดงความไม่พอใจต่อการสอนแบบโบราณ โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ เขาจึงพยายามหาทางปรับปรุงวิธีการสอนคณิตศาสตร์แบบเก่าที่น่าเบื่อหน่าย โดยการศึกษาค้นคว้าตำราคณิตศาสตร์อย่างกว้างขวาง อีก 3 ปีต่อมา เขาก็ไดรับปริญญาเกียรตินิยมสาขาคณิตศาสตร์ และในระหว่างที่ศึกษาอยู่นั้น รัสเซลได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมเกี่ยวกับการเผยแพร่ศาสนาชื่อ “The Apostles”
ปีถัดมา รัสเซลหันมาสนใจเรียนวิชาปรัชญาอีกสาขาหนึ่ง นักปรัชญาที่เขาสนใจผลงานมากที่สุด คือ เฮเกล และบรัดเลย์ ด้วยความตั้งใจเรียนอย่างดีเยี่ยม ประกอบกับมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เขาจึงคว้าปริญญาเกียรตินิยมอันดับ 1 สาขาปรัชญามาครองอย่างไม่ยากเย็นนัก หลังจากจบการศึกษาแล้ว รัสเซลได้ตัดสินใจแต่งงานกับ Alys Pearsall Smith น้องสาวของโลแกน เพียร์เซล สมิธ (Logan Pearsall Smith) นักประพันธ์ชื่อดังแห่งยุคนั้น โดยมิได้ฟังคำทัดทานจากปู่และย่า
ขณะเดียวกัน รัสเซลก็ได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โดยทำการสอนวิชาปรัชญาและคณิตศาสตร์ อีก 2 ปีต่อมาเขาได้รับเชิญให้ไปบรรยายวิชาคณิตศาสตร์แผนใหม่ที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา ทำให้ชื่อเสียงของเขาโด่งดังเป็นที่รู้จักเป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น สำหรับวิชาคณิตศาสตร์นั้น เขาไม่เห็นด้วยกับวิธีการสอนของยูคลิด(Euclid) เขากล่าวว่า “เจตนารมณ์ที่ถูกต้องของวิชาคณิตศาตร์นั้น มิได้มีเพียงความจริงเท่านั้น หากยังประกอบด้วยความงามอย่างลึกซึ้งอีกด้วย คือความงามอย่างประหยัด ปราศจากเครื่องตกแต่งอันหรูหรา ”เขารู้สึกภาคภูมิใจและมั่นใจเป็นอย่างยิ่ง ที่การสอนคณิตศาสตร์ของเขาประสบความสำเร็จ และมีสาระสำคัญยิ่งในสมัยศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะการแก้ปัญหายุ่งยากต่าง ๆ ทางคณิตศาสตร์ ได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ทั้งนี้ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา หลักเกณฑ์ต่าง ๆ ทางคณิตศาสตร์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักของยูคลิด) ยังอยู่กับที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เหมาะสมกับยุคสมัย
ในขณะเดียวกันรัสเซลก็ได้เดินทางไปศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์และการปกครองที่ประเทศเยอรมนี ณ ที่นี้เองที่รัสเซลได้รับอิทธิพลจากลัทธิมาร์กซิสม์มาจนท่วมสมอง ครั้นเขากลับมายังสหราชอาณาจักร ก็ได้ทำการสอนที่เดิม และมหาวิทยาลัยอื่นๆ อีกหลายแห่งในลอนดอน
ในปี พ.ศ. 2439 รัสเซลได้แต่งตำราออกมาเล่มหนึ่งชื่อ German Social Democracy ปรากฏว่าได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง แต่เมื่อถึงปี พ.ศ. 2446 (ค.ศ. 1903) เขาประสบปัญหาทางด้านครอบครัว จนถึงกับต้องแยกทางกับภรรยาคนแรก รัสเซลรู้สึกมีความเสียใจมาก ซึ่งกลายเป็นแรงผลักดันให้เขาเขียนหนังสือออกมาในลักษณะประณามสตรีที่หลงใหลแต่ความสุขจนมิได้เหลียวแลสังคม ทำให้ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างรุนแรง ต่อมาอีก 2 ปี รัสเซลได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสมาคม Royal Society และยังคงตำแหน่งอาจารย์ผู้บรรยายวิชาตรรกวิทยาและปรัชญาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ต่อมา
ระหว่างที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 รัสเซลได้เป็นตัวตั้งตัวตีทำการคัดค้านสงคราม และประณามรัฐบาลอังกฤษที่เกณฑ์เด็กหนุ่มไปรบกับเยอรมนี เขาเห็นว่าเด็กหนุ่มเหล่านั้นจะต้องถูกฆ่าตายโดยปราศจากความยุติธรรม ด้วยเหตุนี้เขาจึงเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมแสวงหาสันติภาพ และไม่เห็นด้วยกับการเกณฑ์ทหาร (No Conscription Fellowship) และในที่สุด สมาคมดังกล่าวก็ถูกรัฐบาลอังกฤษสั่งให้ยุบเลิก และได้จับกุมสมาชิกของสมาคมแทบทุกคนเข้าคุกตามระเบียบ แต่ปรากฏว่ารัสเซลรอดพ้นตะรางมาได้ด้วยบารมีของผู้เป็นปู่นั่นเอง แต่กระนั้นเขาก็ยังยืนหยัดต่อสู้ และเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษยกเลิกกฎหมายบังคับให้คนหนุ่มไปเป็นทหารอีกต่อไป
เขาได้เขียนบทความลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The Tribunel ซึ่งออกโดยสมาคมดังกล่าว โดยได้กล่าวประนามรัฐบาลอย่างรุนแรง ในกรณีที่ได้นำประเทศเข้าสู่ภาวะสงคราม ด้วยการประกาศตัวเป็นปรปักษ์และทำสงครามกับประเทศเยอรมนี ผลปรากฏว่าเขาถูกจับไปกุมขังเป็นเวลาร่วม 6 เดือนเศษ แต่การที่เขาถูกจับไปกุมขังคราวนี้กลับเป็นผลดีต่อการศึกษาอย่างมาก เพราะรัสเซลได้ใช้เวลาทั้งหมดในคุก เขียนตำราชื่อ Introduction of Mathematical Philosophy จนสำเร็จ และตำราเล่มนี้เองที่ถือว่าเป็นบรมครูของวิชาตรรกวิทยา ที่บรรดานักการศึกษาและนักศึกษาในปัจจุบันอาศัยเรียนและอ้างอิงอยู่มิได้ขาด ต่อจากนั้นรัสเซลก็ได้เริ่มงานเขียนขึ้นใหม่ชื่อ The Analysis of Mind (ค.ศ. 1921) เมื่อได้อิสรภาพแล้วรัสเซลก็ได้พบรักครั้งใหม่กับ Dora Black และได้ตัดสินใจแต่งงานกันในปี ค.ศ. 1921 ระหว่างนั้นรัสเซลได้ผลิตผลงานเขียนออกมามิได้หยุดทั้งด้านปรัชญา ตรรกวิทยา คณิตศาสตร์ จริยศาสตร์และการปกครอง
จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2470 (ค.ศ. 1927) รัสเซลกับภรรยาได้เปิดโรงเรียนทดลองขึ้นแห่งหนึ่งที่ Telegraph Houst ใกล้ ๆ กับเมืองปีเตอร์สฟิลด์ โดยทำการสอนเด็กเล็กตามแนวความคิดของเขา ปีเดียวกันนี้เองเขาได้สร้างผลงานเขียนอีกเล่มหนึ่ง ชื่อ ทำไมฉันถึงไม่ใช่คริสเตียน (Why I am not a Christian) ซึ่งเป็นหนังสือต่อต้านความเชื่อเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า เรื่องนรกสวรรค์ใน คริสตศานา โดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรง ตรงไปตรงมา จนทำให้เหล่าอนุรักษ์นิยมและนักวิจารณ์ประนามว่าเขาเป็นคนนอกศาสนา ไร้ศีลธรรม เป็นคนต่อต้านพระเจ้า (Anti Christ) แต่เขาไม่แยแสกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้น
ปี พ.ศ. 2472 (ค.ศ. 1929) รัสเซลได้เขียนหนังสืออีกเล่มหนึ่งชื่อ Marriage and Moral นอกจากจะเขียนวิจารณ์สตรีเพศแล้ว เขายังได้แสดงความคิดเห็นที่ค่อนข้างจะล้ำยุค และอีกเช่นเคยที่เขาจะหลีกเลี่ยงนิสัยส่วนตัวมิได้ คือใช้ถ้อยคำรุนแรง ตรงไปตรงมาอย่างที่สุด ทั้งยังได้แทรกแง่คิดทางด้านจริยศึกษาและทางสังคม ไว้อย่างละเอียด โดยเฉพาะในเรื่องกามารมณ์ ความตอนหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ เขาเขียนไว้ว่า “ตัณหาของมนุษย์จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งเพียงใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกายผู้นั้น แต่ในขณะเดียวกันสภาพสังคมที่เขาอาศัยอยู่นั้น ก็ย่อมมีส่วนอย่างมากทีเดียว ที่จะช่วยกระตุ้นความรู้สึกทางเพศให้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ในสมัยพระนางเจ้าวิกตอเรียนั้น ผู้ชายอังกฤษเพียงแต่เห็นหัวเข่าของสตรี ก็เกิดความรู้สึกทางเพศแล้ว แต่สำหรับปัจจุบัน ดูเหมือนจะไม่รู้สึกอะไรเลย ทั้งนี้เป็นผลมาจากแฟชั่นการแต่งกายของสตรีที่ล้ำยุคอยู่เสมอ นี่ถ้าหากเปลือยกายล่อนจ้อนเป็นแฟชั่นขึ้นมา มันอาจจะไม่กระตุ้นความรู้สึกทางเพศของผู้ชายเลยซักนิดเดียวก็ได้ และถ้าถึงเวลานั้นอาจจะต้องมีการออกกฎหมายบังคับให้ผู้หญิงสวมเสื้อผ้าอาภรณ์ เพื่อล่อใจผู้ชายขึ้นก็ได้ เหมือนคนป่าบางจำพวก เก้าในสิบของแรงกระตุ้นจากนวนิยายประเภทยั่วยุกามารมณ์ (Porrography) นั้นเกิดขึ้นเนื่องจากความรู้สึกหื่นกระหายที่จะเสพกาม ส่วนที่เหลืออีก 1 ส่วนนั้นเกิดจากด้านสรีรวิทยา ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ แม้หลายคนจะไม่เห็นด้วยกับข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าก็เห็นว่ารัฐบาลไม่ควรออกกฎหมายห้ามตีพิมพ์สิ่งยั่วยุกามารมณ์”
ในระหว่างนั้น รัสเซลยังได้รับเชิญให้ไปเป็นอาจารย์พิเศษตามสถาบันต่างๆ ทั้งในสหราชอาณาจักร และในสหรัฐอเมริกาเป็นประจำ เขายังคงดำเนินกิจการโรงเรียนทดลองเรื่อยมา จนถึงปี พ.ศ. 2478 ก็เกิดระหองระแหงกันขึ้นกับภรรยา ในที่สุดต้องหย่าขาดจากกัน รุ่งขึ้นอีก 1 ปี รัสเซลได้พบรักกับพาตริเซีย สเปนซ์ (Patricia Spence) และได้แต่งงานอีกเป็นครั้งที่ 3 ส่วนโรงเรียนทดลองของเขานั้น ได้มอบให้ โดรา แบร็ค (Dora Black) ดำเนินการต่อไป
ต่อมารัสเซลได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัย ณ นครนิวยอร์ก และยังคงทำหน้าที่เป็นผู้บรรยายตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อยู่เหมือนเดิม พร้อมทั้งได้สร้างงานเขียนขึ้นหลายเล่ม นอกจากนั้นรัสเซลยังได้รวบรวมคำบรรยายของเขาตีพิมพ์เป็นเล่ม ชื่อ ประวัติศาสตร์แห่งปรัชญาตะวันตก (History of Western Philosophy) ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) และได้กลายเป็นหนังสือที่ขายดีที่สุดทั้งในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา
ในปี พ.ศ. 2480 (ค.ศ. 1937) รัสเซลได้กระทำสิ่งพิเรนๆ อีกประการหนึ่ง ซึ่งยังไม่เคยปรากฏว่ามีผู้ใดเคยทำมาก่อน คือการเขียนคำไว้อาลัยมรณกรรมของตัวเอง ทั้งยังได้แนะว่าควรจะตีพิมพ์ในนิตยสารไทมส์ ฉบับวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2505 โดยเขาได้ทำนายชีวิตของตัวเองไว้ว่าจะถึงแก่กรรมเมื่ออายุครบ 90 ปี แต่ก็ไม่ปรากฏว่าคำไว้อาลัยของเขาได้ตีพิมพ์ตามกำหนดนั้น เนื่องจากเขามีอายุต่อมาอีกถึง 8 ปี
ระหว่างที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น (พ.ศ. 2481 - 2488) รัสเซลได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมต่อต้านสงคราม เขาได้เขียนบทความโจมตี และประณามประเทศมหาอำนาจที่ก่อภาวะสงครามขึ้นอย่างรุนแรง แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจมากนัก ในขณะเดียวกันรัสเซลยังคงทำหน้าที่เป็นผู้บรรยายตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่นเคย ทั้งยังได้รับเชิญไปบรรยายออกอากาศในรายการ Brains Trust ทางสถานีวิทยุ บี.บี.ซี.เป็นประจำ ทำให้ชื่อเสียงของเขาเป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไปอย่างกว้างขวาง ประกอบกับตำราและหนังสือต่างๆ ที่เขาแต่งขึ้นนั้น ใช้ภาษาได้สละสลวย ใช้ถ้อยคำง่ายๆ ตรงไปตรงมา แต่ใจความลึกซึ้งกินใจ พรสวรรค์ในเรื่องนี้เองที่ทำให้รัสเซลได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม เมื่อปี พ.ศ. 2493 (ค.ศ. 1950)
ชีวิตครอบครัวของรัสเซลนั้นออกจะลุ่มๆ ดอนๆ และเกิดปัญหาแตกร้าวกันหลายครั้ง จนกระทั่งครั้งสุดท้าย เขาได้หย่าขาดจากพราติเซีย สเปนซ์อีกเมื่อปี พ.ศ. 2495 (ค.ศ. 1952) และได้พบรักครั้งที่ 4 กับเอดิธ ฟินซ์ (Edith Finch) สตรีชาวอเมริกัน ต่อมาอีก 2 ปี เขาได้สร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองครั้งสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง โดยการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสถาบันค้นคว้าและวิจัยทางวิทยาศาตร์ของสหรัฐ ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์คนอื่ ๆ จนสามารถสร้างระเบิดไฮโดรเจนได้เป็นผลสำเร็จ เมื่อปี พ.ศ. 2497 (ค.ศ. 1954)
จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961) รัชเซลได้เข้าร่วมกับกลุ่มชน แสดงการไว้อาลัยต่อชีวิตของชาวญี่ปุ่นนับแสนๆ คน ที่ถูกระเบิดปรมาณูลูกแรกของสหรัฐฯ โดยที่เขาได้เปิดการปราศัยขึ้นท่ามกลางฝูงชนนับหมื่นๆ คน ซึ่งเป็นการละเมิดข้อห้ามของรัฐบาลอังกฤษในเวลานั้น ผลที่ได้รับก็คือเขาถูกจับเข้าคุกเป็นเวลาถึง 2 เดือนเศษ ซึ่งในขณะนั้นเขามีอายุร่วม 88 ปีเศษแล้ว บรรดาฝูงชนที่ไปฟังคำพิพากษาตัดสินจำคุกเขาในวันนั้น ต่างอุทานว่าเป็นการกระทำที่น่าอับอายที่สุดของรัฐบาลอังกฤษ ที่จับคนแก่ไปทรมาน แต่สำหรับตัวเขาเองกลับมองไปในแง่ที่ปราศจากอคติ โดยเขาได้เขียนบันทึกไว้ในอัตตชีวประวัติเล่มที่ 3 ของเขาว่า “คำกล่าวประณามรัฐบาลของผู้ที่มาฟังคำพิพากษาในวันนั้นทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกไม่พอใจจริง ๆ ข้าพเจ้าทราบดีว่าผู้คนเหล่านั้นปรารถนาดีต่อข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าก็ได้ตั้งใจทำความผิดทั้งที่รู้อยู่แก่ใจ ข้าพเจ้ามองไม่เห็นว่าอายุของคนจะช่วยระงับยับยั้งมิให้เขาทำผิดได้อย่างไร หากแต่จะมีส่วนส่งเสริมให้ทำผิดบ่อยยิ่งขึ้นเสียมากกว่า ผู้พิพากษาก็คงเข้าใจเรื่องนี้ดี ว่าอะไรควรไม่ควร จึงตัดสินให้ข้าพเจ้าต้องโทษตามกระบิลเมือง”
[แก้] ปรัชญาของรัสเซล
รัสเซลล์เป็นนักปรัชญาชาวอังกฤษ เป็นนักปรัชญาที่สำคัญที่สุดชองลัทธิสัจนิยมใหม่แบบธรรมชาติ เกิดและเติบโตในบรรยากาศที่หดหู่ เคร่งเครียด และว้าเหว่จนน่าเบื่อ จึงไม่ชอบและมีจิตใจเป็นปฏิปักษ์ อายุ 14 ปีเท่านั้นก็คัดค้านคำสอนของศาสนาอายุ 18 ปีเลิกนับถือศาสนา เข้ามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เรียนคณิตศาสตร์และปรัชญา ขณะนั้นลัทธิเฮเก็ลใหม่กำลังรุ่งโรจน์ รัสเซลติดใจและจะยึดเหนี่ยวแทนศาสนาได้ ต่อมาได้รู้จักกับมัวร์ จึงเป็นแนวความคิดมาทางสัจนิยมใหม่ของมัวร์ ครั้นไม่พอใจก็ปรับปรุงแก้ไขเรื่อยไปเป็นระยะๆ ตั้งแต่ปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา มีความตระหนักว่าความเชื่อเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติเปิดโอกาสให้คนฉลาดเอาเปรียบคนโง่ และเป็นฉนวนให้เกิดสงคราม จึงตั้งหน้าล้มล้างศาสนาและความศรัทธาต่อสิ่งเหนือธรรมชาติทุกแบบจนสิ้นอายุขัย คัดค้านสงครามจนถูกจำคุก 2 ครั้ง ตอนปลายชีวิตได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ใฝ่หาสันติภาพตัวอย่าง ได้ตำแหน่งศาสตราจารย์ปรัชญา ได้เป็นราชบัญฑิต และได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมสาขาวรรณกรรมประจำปี พ.ศ. 2493 โดยคณะกรรมการแถลงเหตุผลว่า “ท่านเป็นคนหนึ่งในสมัยของเราที่เป็นปากเป็นเสียงดังที่สุดให้กับปัญหาธรรมและมนุษยธรรม ท่านไม่กลัวที่จะประท้วงเรียกร้องสิทธิในการพูดและคิดอย่างอิสระในซีกโลกตะวันตก”
รัสเซลได้สมญาว่าเป็นว่า “Philosophical Everryman” ของสมัยใหม่ ซึ่งหมายความว่า ความคิดปรัชญาของรัสเซล เราจะพบปัญญาที่สำคัญของปัญหาของปรัชญาปัจจุบัน นับตั้งแต่ปัญหาในระดับสามัญชนขึ้นไปจนถึงปัญญาชน รัสเซลเป็นผู้รอบรู้ในทุกๆด้าน เรื่องราววิชาการปัจจุบันและรู้อย่างดีในทุกๆเรื่อง มิใช่เพียงรู้ งูๆ ปลาๆ สักแต่ว่าพอสำหรับเห็นปัญหาของปรัชญาเท่านั้น รัสเซลล์จึงมองเห็นปัญหาถูกจุดจริงๆ สำหรับมนุษย์ในปัจจุบัน การเข้าถึงปัญหาปรัชญาของรัสเซล จึงเท่ากับเข้าถึงปัญหาอันแท้จริงของมนุษย์ในสมัยปัจจุบันนั้นเอง คำตอบของรัสเซลสำหรับแต่ละปัญหามีหลายมุม สมกับสภาพทางปัญหาของผู้รอยรู้หลายด้าน ปรัชญาของรัสเซลจึงสังกัดอยู่ในหลายลัทธิ แล้วแต่จะพิจารณาคำตอบส่วนไหนของรัสเซล อย่างไรก็ตาม ตลอดอายุแห่งวิวัฒนาการทางความคิดจของปรัชญาของรัสเซลนั้น รัสเซลมีแนวยืนพื้นพอจะสรุปได้ด้วยคำว่าสัจนิยมแบบธรรมชาติ (natural realism)
แนวปรัชญาของรัสเซล ไม่คงตัว แต่ทว่าวิวัฒน์ไปเรื่อย ๆ ตามอายุขัย ซึ่งพอจะแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ คือ
[แก้] ระยะอุดมการณ์นิยม
ระยะนี้อยู่ในช่วงเวลา พ.ศ. 2438 (ค.ศ. 1895) ถึง พ.ศ. 2443 (ค.ศ. 1900) ขณะที่รัสเซลยังเป็นศิษย์ของบรัดเลย์อยู่นั้น รัสเซลคิดว่าสิ่งต่างๆ ทั้งหลายมีอยู่ย่อมมีความสัมพันธ์ภายในต่อกัน หมายถึงว่าเป็นสารถะของกันและกัน อย่างเช่นเรากล่าวว่า ก อยู่เหนือ ข และถ้าคำพูดของเราตรงกับความจริงก็หมายความว่า ก กับ ข จะต้องมีความสัมพันธ์กันจริงในทำนอง ก อยู่เหนือ ข และความสัมพันธ์นั้นจะต้องเป็นความสัมพันธ์ภายใน คือ ก จะไม่เป็น ก ถ้าหากไม่มี ข อยู่ใต้ และ ข จะไม่เป็น ข ถ้าหากมี ก อยู่เหนือ จึงกล่าวได้ว่าการอยู่เหนือของ ข เป็นส่วนหนึ่งของสารถะของ ก และการอยู่ใต้ ก เป็นส่วนหนึ่งของสารัตถะของ ข ในทำนองเดียวกันถ้านายดำเป็นพ่อของเด็กชายขาว ก็หมายความว่า การเป็นพ่อของเด็กชายขาวเป็นสารัตถะส่วนหนึ่งของนายดำ และการเป็นลูกของนายดำก็เป็นสารัตถะส่วนหนึ่งของเด็กชายขาวเด็กชายขาวจะไม่เป็นเด็กชายขาวตามที่เป็นอยู่จริง ถ้าหากไม่คิดถึงการเป็นลูกของนายดำเข้าเป็นองค์ปรกอบด้วย หรือถ้าเด็กชายขาวไม่เป็นลูกของนายแดง เด็กชายขาวก็จะเป็นเด็กอีกคนหนึ่งซึ่งอาจจะชื่อขาวก็ได้แต่จะเป็นเด็ดชายขาวคนละคนจากที่กล่าวถึง จึงสรุปได้ว่าความสัมพันธ์เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นจริง ความเป็นจริงทุกหน่วยมีความสัมพันธ์ภายในต่อกัน ดังนั้น ทุกสิ่งจึงรวมเอาทุกสิ่งไว้ในสารัตถะของตน เม็ดทราย ก จะเป็นเม็ดทราย ก ก็เพราะกำลังถูกคลื่นซัดบนชายหาดแห่งนี้ ในบ้าเมืองที่กำลังมีสภาพอย่างนี้ ในโลกมี่มีมนุษย์และสัตว์โลกทั้งหลายอาศัยอยู่อย่างนี้ ในเอกภพที่มีสภาวะอยู่อย่างนี้มิฉะนั้นแล้ว ก็ไม่ไช่เม็ดทราย ความสำนึกของเราเล่านี้ก็เป็นสิ่งมีอยู่จริง และเราสามารถสำนึกถึงสิ่งต่าง ๆ ทั้งหลายได้ความสำนึกของเรากับความสำนึกของผู้อื่นก็มีความสัมพันธ์ในต่อกันอย่างแน่นแฟ้นเช่นกัน ทุกสิ่งจึงอยู่ในความสำนึกของเราแล้วอย่างมีความสัมพันธ์กันแน่นแฟ้น จึงไม่แปลกอะไรที่เราจะใช้เหตุผลสืบหาเรื่องราวความจริง เราสามารถคิดกฎคณิตศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ภายในของความสำนึกของเราอยู่แล้ว รวมความว่าสิ่งที่มีอยู่จริงแต่ละสิ่งรวมทุกสิ่งไว้ในตัว และมนัสแต่ละมนัสรวมเอาสิ่งที่อาจจะรู้ได้ทั้งหมดไว้ในตัว
[แก้] ระยะสัจจะนิยมและปรมาณูทางตรรกะ
ระยะนี้อยู่ในช่วงเวลา พ.ศ. 2443 (ค.ศ. 1900) ถึง พ.ศ. 2455 (ค.ศ. 1912) ในราวปี พ.ศ. 2443 รัสเซลเริ่มผละออกจากลัทธิอุดมการณ์นิยมและเริ่มมีความคิดเป็นของตนเอง ร่วมมือกับมัวร์ก่อตั้งและเผยแผ่ลัทธิสัจนิยมใหม่ นับเป็นระยะแรกของวิวัฒนาการทางความคิดปรัชญาของรัสเซล วิจารณ์ความคิดแบบอุดมการนิยมแต่เดิมว่า ความสัมพันธ์เป็นสิ่งภายนอกสารัตถะ เป็นคุณา ความสัมพันธ์ไม่ไช่ส่วนหนึ่งของสารัตถะ ข้อพิสูจน์ก็คือ เมื่อเรามีผัสสะต่อวัตถุใดวัตถุหนึ่ง นอกจากเราจะมีความสำนึกถึงวัตถุชิ้นนั้นแล้ว เรายังมีความสำนึกถึงความสัมพันธ์ของวัตถุชิ้นนั้นกับสิ่งอื่นต่างหากออกไปด้วย เราอาจจะพิจารณาความสัมพันธ์ต่างหากจากวัตถุ เช่น ในคณิตศาสตร์เราเรียนความสัมพันธ์บริสุทธิ์ระหว่างจำนวนเลขหรือระหว่างรูปทรงต่าง ๆ โดยไม่จำเป็นต้องเรียนวัตถุทีมีจำนวนหรือรูปทรงนั้นๆเลย ยิ่งกว่านั้น ประสลบการณ์แห่งการเรียนรู้บอกเราว่าเราเรียนรู้วัตถุก่อน ต่อมารู้จำนวนเลข ต่อมาความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์จะค่อย ๆ ตามมาทีละน้อย ๆ จากข้อสังเกตดังกล่าว รัสเซลตั้งมูลบทขึ้นมาว่า
- ข้อเท็จจริงทั้งหลาย เป็นปรมาณูทางตรรกะ (Facts are logically atomic) (= ลัทธิปรมาณูนิยมทางตรรกะ)
- มีข้อเท็จจริงอยู่มากที่ยังไม่รู้ (There are non-mental facts) (=ลัทธิสัจนิยม)
- ประโยคแสดงความสัมพันธ์กับข้อเท็จจริงปรมาณู ความจริงเท็จของประโยคจึงขึ้นอยู่กับคำพูดที่ประกอบกันเป็นประโยค ( ลัทธิสัจนิยมใหม่ )
- คำที่มีความหมายต้องมีวัตถุตอบสนอง ประโยคทีมีความหมายคือประโยคที่บรรจุแต่คำที่มีความหมายเท่านั้น (= ทฤษฎีอุเทศในปรัชญาของภาษา) ต่อมาลดหย่อนให้บางคำไม่ต้องมีวัตถุตอบสนองก็ได้ แต่อย่างน้อยจะต้องแสดงความสัมพันธ์ระหว่างประโยค จึงจะถือว่ามีความหมาย
- วิธีวิจัยปรัชญาที่เหมาะที่สุดคือการวิเคราะห์ทางตรรกะ นั้นคือวิเคราะห์ความรู้ออกเป็นหน่วยย่อยที่สุดแล้วสังเคราะห์เพื่อเห็นความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยย่อยซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ไป (= ลัทธิปรัชญาวิเคราะห์)
จะเห็นได้ว่า ความคิดริเริ่มของรัสเซลในระยะนี้บุกเบิกแดนใหม่ ให้นักวิจัยทางปรัชญาสามารถวิจัยต่อกันมาหลายด้าน
[แก้] ระยะสัจนิยมและสร้างสรรค์นิยมทางตรรกะ
ระยะนี้อยู่ในช่วงเวลา พ.ศ. 2455 (ค.ศ. 1912) ถึง พ.ศ. 2463 (ค.ศ. 1920) ระยะนี้เริ่มตั้งแต่หนังสือ Principia Mathematica ทีเขียนร่วมกับไวท์เฮดวิจารณ์ปรมาณูนิยมทางตรรกะของตนเองว่า ปรมาณูทางตรรกะไม่สามารถให้ความแน่ใจได้ว่าเป็นจริง เพราะยิ่งคิดไปยิ่งมีปัญหามากขึ้นทุกที ดังนั้นแทนที่จะใช้มโนภาพเป็นมูลบทของความจริง ก็ให้ใช้ประโยคบ้างต้นที่ง่ายที่สุดเป็นมูลบท แล้วไล่เรียงไปหาความจริงของประโยคที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยไป จึงเรียกแนวความคิดเช่นนี้ว่าลัทธิสร้างสรรค์นิยมทางตรรกะ (Logical constructionnal) ซึ่งก็ยังเป็นอีกแบบหนึ่งของสัจนิยม
[แก้] ระยะสัจนิยมและสร้างสรรค์นิยมของมนัส
ระยะนี้อยู่ในช่วงเวลา พ.ศ. 2463 (ค.ศ. 1920) ถึง พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) ตั้งแต่ พ.ศ. 2463 เป็นต้นมา รัสเซลพบว่าสิ่งที่เราแน่ใจในประโยคก็คือข้อมูลไม่ไช่ข้อเท็จจริง ข้อมูลประกอบด้วยข้อเท็จจริงและการทำงานของมนัสร่วมกัน เพื่อจะได้ข้อเท็จจริงเราจำเป็นต้องเปรียบเทียบข้อมูลจากหลาย ๆ ทางเพื่อหาทางคัดส่วนที่เป็นการทำงานของมนัสของเราเองออกไป เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด ลัทธิเช่นนี้ได้ชื่อว่าลัทธิสร้างสรรค์นิยมของมนัส (constructionism of mind) ซึ่งก็ยังเป็นแบบหนึ่งของลัทธิสัจนิยมอยู่นั้นเอง
ควรสังเกตว่า ในทางอภิปรัชญา เมื่อรัสเซลเปลี่ยนแนวความคิดจากลัทธิอุดมการนิยมแล้วก็ยึดมั่นอยู่ในลัทธิสัจนิยมมาโดยตลอด ระหว่างที่ยึดมั่นอยู่ในลัทธิสัจนิยมทางอภิปรัชญานี้เองได้เปลี่ยนแนวความคิดทางญาณปรัชญาเป็น 3 ลัทธิด้วยกัน คือ ปรมาณูนิยมทางตรรกะ สร้างสรรค์นิยมทางตรรกะ และสร้างสรรค์นิยมของมนัส ส่วนวิธีการวิจัยทางปรัชญานั้น รัสเซลยึดมั่นในวิธีการปรัชญาวิเคราะห์มาโดยตลอดตั้งแต่ระยะอุดมการนิยมแล้ว
โรนัลด์ เจเกอร์ (Ronald Jager) แบ่งอีกแบบคือ แบ่งออกเป็น 4 ระยะ อย่างเด็ดขาด ดังนี้
- ระยะอุดมการนิยม (idealist phase) ตั้งแต่ต้นถึง พ.ศ. 2443
- ระยะสัจนิยม (realist phase) พ.ศ. 2443 - 2455
- ระยะปรมาณูนิยม (atomist phae) พ.ศ. 2455 - 2463
- ระยะเอกนิยมแบบเป็นกลาง (neutral monist phase) พ.ศ. 2463 - 2513
อย่างไรก็ตามเจเกอร์อ้างว่าแบ่งเพื่อสะดวกเพื่อสาธยายเท่านั้น มิได้ตั้งใจจะยืนยันเป็นทฤษฎีให้วิพากษ์วิจารณ์
รัสเซลลังเลใจมากเกี่ยวกับอภิปรัชญา บางครั้งก็อ้างว่าเท่าที่ค้นคว้านั้นเป็นเพียงเรื่องของญาณปรัชญา ไม่เกี่ยวกับโครงสร้างอันแท้จริงของมนัสหรือธรรมชาติของสิ่งของ แต่บางครั้งก็อดคิดไม่ได้ว่าเมื่อพูดถึงมนัสว่าเป็นที่รวมของผัสสะและมโนภาพ และแถลงว่าความเป็นจริงทั้งหลายก็ขึ้นจากประสบการณ์บ้างต้น แล้วค่อยๆลำดับเรื่องขึ้นมาจนถึงประบการณ์ซับซ้อนเช่นนั้น ย่อมจะหลีกอภิปรัชญาไปไม่พ้น
ในระยะปรมาณูนิยมทางตรรกะ ท่านมีความเชื่อมั่นว่า ภาษาในอุดมการณ์ (ideal language) จะต้องตรงกับความเป็นจริง ภาษาในอุดมการณ์นี้ได้มาโดยอาศัยหลักความคุ้นเคย (principle of acquaintance) อันเนื่องมาจากประสบการณ์ ตั้งสูตรขึ้นว่า “ ข้อความทุกข้อความที่เราเข้าใจต้องประกอบขึ้นด้วยส่วนประกอบที่เราคุ้นเคยเท่านั้น” นั้นคือรัสเซลเชื่อว่าความคุ้นเคย (acquaintance) เป็นสิ่งค้ำประกันความแน่นอนของความรู้ของเรา และในทำนองนี้สิ่งที่เรามั่นใจได้ก่อนอื่นทั้งหมดมิใช่ข้อความ หรือความสัมพันธ์ (Logical construction) แต่เป็นข้อมูล (data) ซึ่งจะประกอบขึ้นเป็นข้อความปรมาณู (Logical statement) แต่ข้อมูลเป็นเรื่องของอภิปรัชญาส่วนในเรื่องญาณปรัชญาความรู้ของเราต้องเริ่มจากข้อความปรมาณู เช่น "This is white. This is above that." ซึ่งเราจะวิเคราะห์ให้เป็นความเข้าใจที่ง่ายกว่านี้อีกไม่ได้แล้ว เพราะประกอบด้วยข้อมูลน้อยที่สุดและที่เราคุ้นเคยจริง ๆ ข้อความปรมาณูหลายข้อความรวมกันเป็นข้อความเชิงซ้อนหรือข้อความอณู (compound or molecular statement)
อย่างไรก็ดี ต่อมารัสเซลเองเกิดสงสัยขึ้นมาว่า เราจะเอาอะไรมาตัดสินได้ว่าอะไรเป็นปรมาณูทางตรรกะ เราคุ้นเคยและคิดว่ามันง่ายที่สุดแล้วแต่ความจริงมันอาจจะถูกวิเคราะห์ต่อไปอีกก็ได้ที่สุดรัสเซลก็ละความพยายามที่จะคิดอภิปรัชญา เพราะเห็นว่าประสาทของเราไม่ได้รับรู้ผัสสะทุกอย่างอาจจะมีคุณภาพอีกหลายอย่างที่เราไม่มีประสาทรับ เราจะเข้าถึงความเป็นจริงได้อย่างไรเล่า รัสเซลจึงสนใจแต่จะค้นคว้าเรื่องราวความรู้ที่เรามีสมรรถภาพอยู่เท่านั้น พยายามให้ได้ใกล้ความเป็นจริงที่สุดก็พอแล้ว
[แก้] คณิตศาสตร์กับตรรกวิทยา
รัสเซลมีความคิดว่าคณิตศาสตร์เป็นวิชาสืบเนื่องจากตรรกวิทยา เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยความรู้เบื้องต้นของตรรกวิทยาเอาไปคิดต่อเป็นจำนวนเลข
[แก้] ความคล้ายคลึงและการเชื่อมโยงกัน
จูเซ็ปเป เปอาโน (Giuseppe Peono) นักคณิตศาสตร์ชาวอิตาลีถือว่า ในคณิตศาสตร์มี 3 คำที่นิยามไม่ได้ แต่เป็นพื้นฐานของความรู้อื่น ๆ คือ ศูนย์ ตัวเลข และสิ่งที่รับช่วง (successor) รัสเซลว่านิยามได้โดยใช้ความสัมพันธ์ระหว่างชั้น (Logical relation between classes or sets) เช่น ตัวเลข = a class of classes with the same number of members (having the same number of members = similarity) ความสัมพันธ์ดังกล่าวจะต้องเป็นทำนองหนึ่งต่อหนึ่ง (Relation must be one to one) เช่น X is the husband of Y ต้องเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง X และ Y เท่านั้น husband เรียกว่า domain และ wife เรียกว่า converse domain
กฎของ similarity จึงมีอยู่ว่า A class is similar to another class if there is some one-to-one relation of which the first class is the domain and the second the converse domain. ดังเช่นในหมู่ชนที่นิยมมีผัวเดียวเมียเดียว สามีและภรรยาต่างก็มีลักษณะ similar ต่อกัน
[แก้] Axiom of infinity
เปอาโน ถือว่าถ้าในจักรวาลมีวัตถุอยู่ n หน่วย จำนวนเลขที่มากกว่า n ย่อมเป็นไปไม่ได้นั่นคือ จำนวนเลขไม่รู้จบเป็นของเป็นไปไม่ได้ เพราะอาจจะมีเลขจำนวนสูงสุด ซึ่งไม่มี successor ต่อไป
รัสเซลแก้ว่า axiom of infinity อาจจะชี้แจงได้ดังนี้
เนื่องจากเราถือว่าคุณลักษณะหนึ่งก็จัดเป็นชั้นหนึ่ง เพราะฉะนั้นจำเป็นจะต้องมีชั้นหนึ่ง ซึ่งไม่มีคุณลักษณะใดเลย เพราะฉะนั้นไม่มีสมาชิกเลย เลขศูนย์จึงนับเป็นชั้นที่ไม่มีสมาชิก (class with on members) เพราะฉะนั้นแม้ทั้งจักรวาลจะไม่มีอะไรเลย ก็จะต้องมีเลขอย่างน้อยหนึ่งเลข คือ เลขศูนย์ เป็นอันว่าเราได้เลขศูนย์ไม่มีอะไรเลย และได้ชั้นของความว่างเปล่า (empty class) ทั้งสองรวมกันเป็นสมาชิกของชั้นรวมซึ่งนับได้เป็นอีกชั้นหนึ่ง ทำให้มีสมาชิกเป็น 3 สมมติเป็น A (เลขศูนย์) B (ชั้นของเลขศูนย์) และ C (ชั้นของ A และ B รวมกัน) ต่อไปก็จะมีชั้น D ซึ่งเป็นชั้นรวมของ A + B + C เข้าด้วยกัน และ E ซึ่งเป็นชั้นรวมของ A + B + C + D เข้าด้วยกัน และเป็นเช่นนี้ไปอย่างไม่รู้จบ
[แก้] ปฏิทรรศน์ของรัสเซิลล์ (Russell’s paradox)
ต่อมารัสเซลเองก็ได้เห็นว่า ข้อพิสูจน์ข้างต้นนี้ขัดแย้งตัวเอง เพราะจำนวนเลขและชั้นของจำนวนเลขรวมเข้าเป็นชั้นเดียวกันไม่ได้ เช่น นาย ก กับ คน รวมเป็นชั้นเดียวกันไม่ได้ มิฉะนั้นนาย ก จะเป็นคนและไม่เป็นคนในเวลาเดียวกัน คือ ถ้านาย ก อยู่ในชั้นของ คน คือ ไม่ใช่คน ยุ่งกันใหญ่ เพราะฉะนั้น ข้อพิสูจน์ข้างต้นเป็นปฏิทรรศน์ (paradox)
จากการค้นคว้าของนักตรรกวิทยาพบว่า ชีวิตคนเราอาจจะพบปัญหาที่ไร้คำตอบอีกมาก เป็นเรื่องที่เราต้องยอมรับสภาพ เราพึงดำเนินชีวิตต่อไปตามปกติ ไม่ควรยอมจำนนต่อชีวิตเลยเป็นอันขาด ทั้ง ๆ ที่ยังหาคำตอบไม่ได้ในบางเรื่อง ดังตัวอย่างซึ่งผู้เขียนรวบรวมเป็นตัวอย่างเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
- ปัญหาของจระเข้ แม่ลูกอ่อนคนหนึ่งอุ้มลูกน้อยไปเดินเล่นในสวนสัตว์ ด้วยความเผอเรอปล่อยให้จระเข้ตัวหนึ่งคาบลูกน้อยไปได้ ด้วยความรักลูก แม่จึงไหว้วอนขอให้จระเข้ส่งลูกของตนคืนมา จระเข้ตั้งเงื่อนไขว่าถ้าแม่เดาใจมันถูกสักเรื่องหนึ่งมันจะคืนให้ มิฉะนั้นมันจะกินเสียต่อหน้าต่อตา แม่จึงกล่าวว่า “ เอ็งจะไม่คืนลูกให้ข้า “ จระเข้จึงมาคิดดูว่า ถ้ามันกินเด็กน้อยเสียก็จะตรงกับคำเดาของแม่ มันจะเอาลูกที่ไหนมาคืนให้แม่ แต่ถ้ามันคืนเด็กน้อยให้แม่ไปเสีย ก็หมายความว่าแม่เดาใจมันผิดก็มีสิทธิจะกินเด็กเพื่อมิให้เสียสัตย์ต่อวาจาที่ลั่นออกไป จระเข้จะทำอย่างไรดี ช่วยแนะนำให้หน่อยเถิด มันคาบเด็กรอคำตอบอยู่จนเมื่อยปากแล้ว
- ปัญหาของคนป่า คนป่าเผ่าหนึ่งเป็นมนุษย์กินคน ครั้งหนึ่งจับเชลยมาได้คนหนึ่ง จึงชุมนุมกันทำพิธีสังเวยแล้วก็จะฉลองด้วยอาหารอันโอชะ หัวหน้าเผ่านึกสนุกขึ้นมาจึงลั่นวาจากับเชลยว่า “ไหนเจ้าเชลยตัวดี จงพูดอะไรมาให้ข้าเสี่ยงทายหน่อยซิ ถ้าเจ้าพูดความจริงข้าจะจัดการต้มเจ้า ถ้าเจ้าพูดความเท็จข้าก็จะจัดการย่างเจ้า ถ้าข้าไม่ทำตามคำพูดขอให้เจ้าหักคอข้าเสีย” เชลยคนนั้นดีใจพูดไปว่า “ข้าจะถูกย่าง” หัวหน้าเผ่าจึงสั่งให้ย่าง แต่แม่มดที่อยู่ ณ ที่นั้นค้านว่า ถ้าย่างเขาเจ้าพ่อจะหักคอหัวหน้าเผ่าเพราะเขาพูดความจริงต้องต้ม พ่อมดจึงค้านว่า “ช้าก่อนต้มไม่ได้เพราะถ้าเอาเขาไปต้มก็หมายความว่าเชลยพูดเท็จ ตามคำสาบานของหัวหน้าเผ่าต้องจัดการย่าง มิฉะนั้น เจ้าพ่อจะหักคอ” คนป่าเผ่านั้นยังปรึกษากันอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ว่าจะกินเชลยคนนั้นได้อย่างไร โดยไม่ให้เจ้าพ่อหักคอหัวหน้าเผ่า
- ปัญหาของนักสืบ นักสืบคนหนึ่งไปถามนายดำว่านายขาวเป็นคนอย่างไร นายดำบอกว่า “นายขาวโกหกเสมอ” ครั้นมาถามนายขาวว่านายดำเป็นคนอย่างไร นายขาวบอกว่า “นายดำพูดจริงเสมอ” นักสืบจะสรุปอย่างไรเกี่ยวกับคนทั้งสอง
- ปัญหาของช่างตัดผม ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งเป็นโรคเหากันจนปราบไม่ไหว เจ้าหน้าที่เห็นทางออกทางเดียวคือ สั่งให้ทุกคนในหมู่บ้านโกนผมให้หมด เพื่อให้แน่ใจ เจ้าหน้าที่คนนั้นเรียกช่างตัดผมซึ่งมีอยู่คนเดียวในหมู่บ้านนั้นกำชับว่า “ให้แกออกสำรวจคนในหมู่บ้านทุกคน ถ้าพบผู้ใดไม่โกนผมของตนเองแกต้องโกนให้ แต่ถ้าคนไหนโกนผมของตนเองก็อย่าไปโกนให้คนอื่นเป็นอันขาด ถ้าแกขัดคำสั่งนี้แม้แต่ครั้งเดียวแกจะถูกลงโทษ” ช่างตัดผมขณะนั้นยังไม่ได้โกนผม ถ้าเขาจะไม่โกนก็จะถูกลงโทษ ถ้าเขาลงมือโกนเมื่อใดเขาก็จะต้องระงับตามคำสั่ง เพราะจะโกนให้ผู้ที่โกนผมของตนเองไม่ได้ เขาจะทำอย่างไรดีกับผมของตนเองจึงจะไม่ขัดคำสั่งของเจ้าหน้าที่
- ปัญหาของคนโกหก นักศึกษาคนหนึ่งพูดขึ้นเปรย ๆ ว่า “นักศึกษาย่อมพูดโกหกเสมอ” คำพูดของเขาเช่นนี้เชื่อได้หรือไม่
- ปัญหาของพระราชา พระราชาองค์หนึ่งทรงนึกสนุกขึ้นมาจึงประกาศว่า ถ้าใครสามารถเล่าเรื่องโกหกให้พระองค์เห็นว่าโกหกจริง ๆ ได้ พระองค์จะประทานทองคำให้เป็นรางวัล 1 ไห ได้มีคนมาเล่าเรื่องต่าง ๆ มากมาย พระองค์ก็ตัดสินว่าอาจจะจริงได้ทั้งสิ้น ยังไม่มีใครได้รางวัลไปเลย จนอยู่มาวันหนึ่ง มีชายชราคนหนึ่งมาเล่าว่า “ขอเดชะฯ พระอาญาไม่พ้นเกล้าฯ พระองค์จะเชื่อหรือไม่ก็แล้วแต่จะทรงวินิจฉัย แต่ความเป็นจริงมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งพระราชบิดาของพระองค์ได้ทรงยืมทองคำไปจากข้าพระพุทธเจ้า 1 ไห โดยตรัสให้มาขอคืนจากพระองค์ บัดนี้ข้าพระพุทธเจ้ามาขอคืนตามพระดำรัส ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด พระราชาจึงหาวิธีหลีกเลี่ยงอย่างไรจึงจะไม่เสียทองคำ 1 ไห
[แก้] ทฤษฎีประเภททางตรรกะ (Theory of Logical Types)
รัสเซลพบว่าความยุ่งยากทั้งหลายของประติทรรศน์ข้างต้น เกิดจากการไม่แยกประเภททางตรรกะ (Logical Types) รัสเซลจึงเสนอทฤษฎีประเภททางตรรกะขึ้นมาโดยแถลงว่า หน่วยย่อยและชั้นของหน่วยย่อยเป็นคนละประเภท ( type ) จะรวมเข้าเป็นชั้นเดียวกันไม่ได้ เช่น คนเป็นชั้นหนึ่งหรือประเภทหนึ่งในประเภททั้งหลายของสัตว์ ส่วนนาย ก หาเป็นประเภทไม่ และจะบอกว่าชั้นของคนเป็นสัตว์ตัวหนึ่งก็ไม่ได้ ในทำนองเดียวกัน ชั้นของคนก็หาได้เป็นชั้นของชั้นไม่ เมื่อแยกประเภทกันให้เรียบร้อยเช่นนี้ ประติทรรศน์ก็หมดไป
[แก้] การบ่ง
ตรรกวิทยาไมใช่เป็นวิชาเกี่ยวกับการอนุมาน ( inference ) ดังที่เคยเข้าใจกันมาแต่เป็นวิชาที่เกี่ยวกับการบ่ง (implication มากกว่า นั่นคือเป็นการดำเนินความคิดในทำนอง ถ้า….....ก็ (if – then) Material Implication คือ ความสัมพันธ์ถูกผิดระหว่าง 2 ข้อความ (Propositions Functions) ซึ่งก็เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคุณลักษณะนั่นเอง เช่น If human, then mortal จะเห็นว่าการรู้ตายสืบเนื่องมาจากความเป็นคน X is man, ? X is mortal. ซึ่งจะเขียนเป็นฟังก์ชันได้ดังนี้ (X) (YX ? ZX) ฟังก์ชัน = X ซึ่งมี Y เป็น factors ของฟังก์ชัน
[แก้] วิธีแบ่งปริมาณของฟังก์ชัน (Quantification)
รัสเซลหาวิธีบ่งปริมาณของฟังก์ชันดังนี้ ( x ) yx = for every x, x is a man. ( ?x ) yx = for some x, x is a man. ( Ox ) yx = for no x, x is a man. ( lx ) yx = at least and at most one thing is a man. = exactly one thing is a man. ( 2x ) yx = at least and at most 2 things are men. = exactly two things are men.
[แก้] อภิจริยศาสตร์
รัสเซลทั้งเขียนและปฏิบัติในการผลักดันให้จริยศาสตร์สมบูรณ์ขึ้นสู่ระดับอุดมคติตามความคิดของท่าน จึงนับว่าเป็นนักจริยศาสตร์ที่สำคัญคนหนึ่ง แต่ในทางทฤษฎีความสำคัญของท่านอยู่ในประเภทอภิจริยศาสตร์ (metaethics) คือตั้งปัญหาค้นคว้าพื้นฐานของหลักจริยศาสตร์โดยตรง เช่น ทำไมหลักจริยธรรมต่าง ๆ กัน ข้อสรุปทางจริยธรรมอนุมานจากข้ออ้างธรรมดา ๆ ได้หรือไม่ เป็นต้น
[แก้] ความคิดระยะต้น
ในหนังสือ The Elements of Ethics, 1910 (พื้นฐานจริยศาสตร์) รัสเซลมีแนวความคิดแบบปรนัยเกี่ยวกับหลักความดีความชั่ว โดยถือว่า ดี – ชั่ว เป็นคุณลักษณะปรนัยไม่ขึ้นต่อความคิดเห็นของเรา เช่นเดียวกับกลมหรือเหลี่ยม เมื่อคนสองคนมีความเห็นต่างกันว่าอะไรดี จะมีคนเดียวเท่านั้นที่คิดถูก แม้เป็นการยากที่จะรู้ว่าคนไหนถูก แต่ความยากนี้จะใช้เป็นข้อพิสูจน์ลบล้างความเป็นปรนัยหาได้ไม่ รัสเซลมีความเห็นเหมือนมัวร์ เกี่ยวกับวิบัติทางธรรมชาตินิยม (naturalistic fallacy) ว่า ความรู้เกี่ยวกับว่าอะไรมีอยู่บ้าง ได้มาบ้าง หรือจะมีอะไรต่อไป ไม่สามารถให้ความกระจ่างแก้ปัญหาว่าประพฤติอย่างไรจึงเป็นคนดี
[แก้] ความคิดระยะหลัง
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2464 (ค.ศ. 1921) เป็นต้นมา รัสเซลเปลี่ยนแนวความคิดเป็นอัตนัยนิยม โดยแถลงว่า ถ้าสองคนคิดต่างกันเกี่ยวกับคุณค่า มิใช่ว่าความคิดของเขาขัดแย้งกันเรื่องความจริง แต่เป็นเรื่องของรสนิยมต่างกัน
อัตนัยนิยมของรัสเซล เป็นไปในทางรูปทฤษฎีอาเวค (emotive theory) คือ ถือว่าข้อตัดสินทางศีลธรรม (moral judgement) และกฎจริยธรรมทั้งหลายมิใช่เป็นคำสั่งจริง ๆ แต่เป็นเพียงการแสดงความปรารถนาของผู้พูด (expression of desire) เช่น เมื่อข้าพเจ้ากล่าวว่าเกลียดชังกันเป็นสิ่งเลว ความจริงข้าพเจ้าต้องการจะกล่าวว่า ขออย่าให้มีการเกลียดกันเลย ข้าพเจ้ามิได้ยืนยันอะไร ข้าพเจ้าเพียงแต่แสดงความปรารถนาออกมาอย่างหนึ่งเท่านั้น
รัสเซลแยกความปรารถนาออกเป็นสองประเภท คือ ความปรารถนาส่วนตัว (personal desire) และความปรารถนาส่วนรวม (impersonal desire) หลักจริยธรรมเป็นความปรารถนาประเภทหลัง คือ ปรารถนาให้เป็นกฎเกณฑ์ทั่ว ๆ ไป รัสเซลยกตัวอย่างดังนี้ กษัตริย์องค์หนึ่งตรัสว่า “กษัตราธิปไตยดีกว่าสาธารณรัฐ” ถ้าพระองค์ตรัสด้วยหลักการและเชื่อมั่นว่าสังคมต้องการเช่นนี้จริง ๆ ก็เป็นความปรารถนาส่วนรวม เป็นหลักจริยธรรม อย่างไรก็ดี ในความปรารถนาส่วนรวมก็มีความปรารถนาส่วนตัวรวมอยู่ด้วย เช่น ความปรารถนาในฐานะที่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นความปรารถนาส่วนตัว แต่เป้าหมายของความปรารถนาเป็นความปรารถนาส่วนรวม
รัสเซลหาสาเหตุของความหลายหลากในมาตรการจริยะ พบว่าความคิดเห็นแตกต่างกันมากมายในมาตรการตัดสินดี-ชั่วนั้น เนื่องมาจากการไม่สามารถลงรอยกันในเรื่องจุดหมายของการกระทำของมนุษย์ รัสเซลอ้างตัวอย่างเช่น คริสต์ศาสนาสอนว่าบุคคลแต่ละคนเป็นจุดหมายในตัวเอง แต่นิตเช่อ้างว่าคนธรรมดามีจุดหมายอยู่ที่อภิมนุษย์ เป็นต้น นอกจากนั้น ความเห็นขัดแย้งกันในเรื่องวิธีปฏิบัติก็เป็นสาเหตุอยู่ไม่น้อย เมื่อรวมทั้งสองเข้าด้วยกันแล้ว ความขัดแย้งก็มากมายหลายแง่เหลือเกิน ยากที่จะเป็นปรนัยได้ จึงเป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิงที่จะหาข้อพิสูจน์ว่าอะไรมีค่าภายใน เราไม่สามารถพิสูจน์ให้คนตาบอดเข้าใจได้ว่าหญ้าเป็นสีเขียวหรือสีแดง แต่มีวิธีที่จะพิสูจน์ให้เขาทราบว่า เขาไม่มีสมรรถภาพแยกสีซึ่งคนมีมาก ในการพิสูจน์เรื่องคุณค่า เราไม่มีวิธีดังกล่าว แม้จะหาวิธีหนึ่งเพื่อแสดงให้เห็นว่ามีความแตกต่างในเรื่องคุณค่าก็ยังหาไม่ได้ เราจึงต้องยอมรับข้อสรุปว่าความแตกต่างในเรื่องคุณค่าเป็นเรื่องของรสนิยม ไม่ใช่ เรื่องของความจริงปรนัย
[แก้] ศาสนา
รัสเซลมีความมั่นใจว่า ศาสนาเป็นอุปสรรคต่อความเจริญและความสุขอันแท้จริงของมนุษย์ จึงถือโอกาสโจมตีและชักชวนให้คนทิ้งศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใด ๆ ทั้งสิ้น รัสเซลสารภาพความในใจปี ค.ศ. 1922 ว่า “ตัวข้าพเจ้าเองไม่เห็นด้วยกับศาสนาใดเลยในโลก และข้าพเจ้าหวังว่าความเชื่อทุกอย่างทางศาสนาจะจางหายไปสิ้น... ข้าพเจ้าคิดว่าศาสนาเป็นเรื่องของระดับปัญญามนุษย์ในระยะเริ่มแรก ซึ่งปัจจุบันพ้นระยะไปแล้ว” (Secpitcal Essays)
ต่อมาในปี พ.ศ. 2502 (ค.ศ. 1959) รัสเซลออกรายการทางโทรทัศน์ ก็ยังย้ำความคิดเดิมว่าถ้ามนุษย์ยังต้องดิ้นรนต่อสู้กับความยากลำบากในชีวิตอยู่ตราบใด ศาสนาจะยังคงมีอยู่ต่อไป แต่ถ้ามนุษย์เราสามารถแก้ปัญหาทางสังคมได้เสร็จสิ้น ศาสนาก็จะสูญหายไปทันที
[แก้] พระเจ้าและวิญญาณ
รัสเซลถือว่าข้อพิสูจน์ที่แล้ ๆ มา ไม่พอยืนยัน แต่ก็พิสูจน์ไม่ได้ว่าไม่มีพระเจ้าและวิญญาณ รัสเซลเองมีความโน้มเอียงที่จะคิดว่าไม่น่าจะมี ในทางปฏิบัติแล้วต้องนับว่าเป็นเรื่องไม่ควรเสียเวลาค้นคว้า วิญญาณของเราไม่น่าจะมีอะไรมากไปกว่ากิจกรรมของสมอง
[แก้] โลก
“โลกนี้น่าขยะแขยง” (The world is horrible) เพราะเป็นอยุติธรรมมีอยู่มากเหลือเกิน แต่โลกของเราน่าเกลียดน้อยลง หากเราพยายามตั้งหน้าหาความจริงกันอย่างจริงจังจนพบความจริงมากขึ้น เพราะจะมีความยุติธรรมมากขึ้นในหมู่มนุษย์ตามส่วนที่มนุษย์พบความจริง
- ลัทธิสัจนิยมใหม่ ให้หลักการที่น่าจูงใจมากสำหรับปัญญาชนและนักวิชาการโดยทั่วไป คือ หลักการประนีประนอมระหว่างความรู้ในสาขาต่าง ๆ ในทางปฏิบัติทำได้ยากมาก เพราะไม่มีอำนาจชี้ขาด การถกเถียงจึงดำเนินไปได้อย่างไม่มีวันที่จะตกลงกันได้ ปัญหาที่ตกลงกันยากมีอาทิเช่น จะให้วิชาการใดมีสิทธินำผลสรุปของตนเข้ามาพิจารณาด้วย อย่างเช่นวิชาศาสนศาสตร์ควรจะให้มีสิทธิเหมือนวิทยาศาสตร์หรือไม่ แล้วไสยศาสตร์เล่า และวิชาอื่น ๆ อีกมากที่บางคนก็ยอมรับในคุณค่า แต่บางคนก็ไม่ยอมรับ ปัญหาที่ตกลงกันยากรองลงมาก็คือว่า ในบรรดาวิชาที่ยอมรับรู้คุณค่ายอมให้เข้ามาร่วมประนีประนอมได้นั้น ควรจะให้น้ำหนักเท่ากันหมด หรือให้น้ำหนักแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ตอนนี้แหละความแตกต่างจะมีได้ไม่รู้จบ ใครเลื่อมใสในวิชาก็อยากจะให้วิชาของตนมีน้ำหนักมากเป็นพิเศษเพียงแต่อุปสรรค 2 ข้อนี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับทำให้ขบวนการนี้ไม่อาจบรรลุเป้าหมายดังที่ตั้งใจทั้ง ๆ ที่หลักการดีมาก
- แม้ปรัชญาของลัทธินี้จะมีอุปสรรคในการกำหนดความจริงให้มวลมนุษย์ยึดถือ แต่หลักการที่ลัทธินี้ค้นพบและยึดถืออยู่นั้นมีค่ามากคือ การประนีประนอมความคิดต่าง ๆ ถ้าหากเรานำหลักการนี้มาใช้อย่างจริงจังในการดำเนินชีวิตสังคม ความร่วมมือในระดับต่าง ๆ คงจะดีขึ้นมาก อุปสรรคก็คงจะมีดังที่ขบวนการนี้ประสบมาแล้วในการตกลงเนื้อหาปรัชญา แต่ถ้าเราพยายามแก้ไขกันโดยใช้วิธีการของปรัชญาลัทธิอื่น ๆ เข้าช่วยด้วย เช่น การเคารพความคิดเห็นของกันโดยมี
- 1 ทฤษฎีอุดมการณ์เกิดขึ้นแก่รัสเซลในระยะที่รัสเซลถือลัทธิปรมาณูทางตรรกะ (Logical atomism) อันเป็นที่เขียนหนังสือ Principia Mathematica , 1910 (หลักคณิตศาสตร์) และ Introduction to Mathematical Philosophy, 1918 (แนะนำปรัชญาคณิตศาสตร์) ลัทธิปรมาณูทางตรรกะมีสาระสำคัญว่า ข้อความที่จริงมี 2 ชนิด คือ ข้อความปรมาณูและข้อความอณู ข้อความอณูเกิดจากการรวมข้อความปรมาณูเข้าด้วยกัน ข้อความปรมาณูได้แก่ ข้อความที่บ่งถึงข้อเท็จจริงปรมาณู เช่น This is blue. ข้อความปรมาณูจะต้องประกอบด้วยคำพูดที่ตรงกับส่วนประกอบของข้อเท็จจริงภาษาอุดมการจะมีคำพูดพอสำหรับองค์ประกอบทุกอย่างของข้อเท็จจริง และไม่มีคำพูดเกินกว่าองค์ประกอบของข้อเท็จจริง ภาษาอุดมการณ์เป็นเครื่องมือวิเศษสำหรับวิชาการ เป็นหน้าที่ของนักปรัชญาที่จะต้องกำหนดภาษาอุดมการณ์ขึ้นนเพื่อแยกตัวออกจากภาษาสามัญ ซึ่งมีทั้งคำที่แสดงข้อเท็จจริงและไม่แสดงข้อเท็จจริง
- 2 เฉพาะคำในภาษาอุดมการณ์เท่านั้นที่มีความหมายในวิชาการ เพราะมีองค์ประกอบของข้อเท็จจริงตอบสนอง คำนอกจากนี้ล้วนแต่ไร้ความหมาย ไม่ควรนำเข้ามาเกี่ยวข้องในวิชาการ เพราะจะทำให้ไขว้เขว ปรัชญาในอดีตไขว้เขวกันมามากแล้วก็เพราะเรื่องนี้ คำที่มีความหมาย เช่น George, stout คำที่ไม่มีความหมาย เช่น Bellerophon’s horse, Lich Ness monster, square circle, the allwise and omnipotent being, mortality, justice, the unknowable, the triangle, the ego, the unconscious, etc. คำเหล่านี้แม้จะมีความหมายตามไวยากรณ์ก็ไม่มีความหมายในวิชาการ เพราะมิได้บ่งถึงอะไรเลย
- 3 การถือเอาแบบไวยากรณ์เป็นแบบตรรกวิทยานับเป็นความผิดพลาดอย่างยิ่ง ไม่ควรให้มีอีกในวิชาการ อย่างเช่นประโยคว่า The author of Waverley was Scotch. เรามักจะคิดกันว่ามีความหมาย เพราะมีแบบไวยากรณ์เหมือนประโยคว่า Scott was lame. แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ประโยคหลังมีความหมายเพราะบ่งถึงข้อเท็จจริง แต่ประโยคแรกมิได้บ่งถึงข้อเท็จจริงใดเลย The author of Waverley มิได้บ่งถึงอะไรเลย บังเอิญเรารู้ว่าเป็นชาวสกอตแลนด์เท่านั้น ไม่เชื่อก็ลองปฏิเสธประโยคนี้ดู กลายเป็นว่า It is not the case that the author of Waverley was Scotch. จะพบทางเป็นไปได้ 3 ทาง คือ
- Waverley was never written at all.
- Waverley was written by more persons than one.
- Though one person wrote Waverley, it was not Scotch.
คราวนี้ลองปฏิเสธประโยคที่เป็นไปได้ทั้ง 3 ประโยคนั้นจะได้ประโยคตรงข้ามว่า
- At least one person wrote Waverley.
- At most one person wrote Waverley.
- Whoever wrote Waverley was Scotch.
จะเห็นได้ว่าไม่มีประโยคใดบ่งข้อเท็จจริงเลย เราไม่สามารถรู้ได้ว่าบ่งถึงผู้ใดในโลก รู้แต่เพียงว่าคุณลักษณะรวม ๆ ของผู้เขียนเวเวอร์เลย์เข้าได้กับคุณลักษณะของชาวสกอตแลนด์เท่านั้น 4 คำบ่งถึงอะไร สามานยนามในภาษาอุดมการณ์ของรัสเซลเป็นการสร้างทางตรรกะ (logical construction) นั่นคือเป็นผลิตผลของมนัสของเรา โดยที่มนัสของเราสามารถจัดประสบการณ์เฉพาะหน่วยเข้าเป็นกลุ่ม เช่น คนได้แก่กลุ่มของ ก ข ค ฯลฯ คนแต่ละคนไม่มีส่วนที่เรียกว่า สารัตถะหรือ สาระของคน สาระของคนมิได้มีจริงแต่เป็นเพียงการสร้างทางตรรกะโดยการรวมกลุ่มของปรากฏการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับคน
[แก้] รัสเซลกับการศึกษา
รัสเซลได้แต่งตำราและเขียนหนังสือไว้มากมาย ผลงานของเขาแต่ละเล่มเต็มไปด้วยความรู้และข้อคิดต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อการศึกษาในสมัยปัจจุบันเป็นอย่างมาก แนวความคิดของเขามีส่วนเป็นอย่างมากในการกระตุ้นให้นักศึกษาแก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาพการศึกษาในปัจจุบัน ให้สอดคล้องกับสภาพสังคม จากหนังสือชื่อ On Education (ค.ศ. 1926) เขาได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเป้าหมายของการศึกษาว่า จะต้องเป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งลักษณะที่สมบูรณ์ของปัจเจกบุคคล อันควรประกอบด้วยองค์ 4 ดังนี้
ความแข็งแรงสมบูรณ์ของร่างกาย รัสเซลเห็นว่าถ้าร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดีบุคคลนั้นก็ย่อมมีความสุข ย่อมยินดีกับการมีชีวิต ยิ่งถ้ามีสิ่งแวดล้อมดีก็ย่อมเพิ่มพูนความสุขได้มากขึ้น คนที่มีพลานามัยสมบูรณ์ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ ย่อมหาความสุขได้ง่ายกว่าคนอ่อนแอ ขี้โรค นอกจากนั้นความแข็งแรงของร่างกาย ยังช่วยให้เกิดความสนใจต่อสิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวได้มากขึ้น โดยมิต้องคอยพะวักพะวงกับตัวเอง องค์ประกอบในข้อนี้นับว่าสำคัญมากในอันที่จะช่วยให้คนเรามีสติปัญญาดี รัสเซลเห็นว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้นมักคิดถึงตัวเองก่อนอื่น มักจะไม่ค่อยสนใจสิ่งอื่น ๆ มากไปกว่าตัวเอง ยิ่งถ้าร่างกายอ่อนแอก็มักจะพยายามหาทางทำให้ร่างกายแข็งแรง จึงไม่มีเวลาพอที่จะไปสนใจสิ่งอื่น เมื่อคนมีร่างกายสมบูรณ์แล้ว ความสนใจต่อโลกภายนอกจึงมีมากขึ้น สามารถทำงานหนักได้ สามารถอดทนต่อความอิจฉาริษยา มีความคิดความอ่านและเรียนรู้ได้ดีกว่าคนอ่อนแอ เป้าหมายของการศึกษาจึงควรเพ่งเล็งและมุ่งให้บุคคลมีร่างกายสมบูรณ์เป็นอันดับแรก
ความกล้าหาญ รัสเซลเห็นว่า ความกล้าหาญของมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง การที่จะเอาชนะความกลัวได้นั้น มิใช่จะใช้วิธีเก็บกดความกลัวเอาไว้ หากจะต้องเอาชนะความกลัวทั้งในแง่ของจิตในสำนึกและจิตใต้สำนึกให้ได้ เช่น การที่ชนชั้นปกครองและทหารมักจะแสดงโทสะจริตออกมาหรือมักจะแสดงความกล้าอย่างผิด ๆ รัสเซลเห็นว่า เป็นพฤติกรรมที่ไม่น่าสรรเสริญเลย ทั้งนี้เพราะคนเหล่านั้นยังมีความกลัวแอบแฝงอยู่ภายในจิตใจ หรือคนที่กระทำการทารุณต่อศัตรู ก็เนื่องจากมีความกลัวที่แฝงอยู่ในรูปของความกล้า บังคับจิตใจให้กระทำเช่นนั้น เขาเชื่อว่าเรื่องความกล้าหาญนี้สามารถสอนกันได้ และการที่มนุษย์จะมีความกล้าหาญได้ จะต้องมีร่างกายแข็งแรงและสุขภาพอนามัยดีเป็นอันดับแรก แม้ว่าคนที่ร่างกายไม่สมบูรณ์นักก็อาจจะมีความกล้าขึ้นได้เช่นกัน แต่หากว่ามีองค์ประกอบข้อแรกอยู่ด้วย ก็ย่อมมีความกล้ามากขึ้นและควรฝึกให้มีความกล้าอย่างแท้จริงเกิดขึ้นในจิตใจ เพื่อมิให้เป็นคนหลอกตัวเอง แล้วความเห็นแก่ตัวจะลดน้อยลง โดยมิต้องกังวลต่อเสียงครหานินทาและเสียงสรรเสริญของบุคคลอื่น ๆ
รัสเซลเห็นว่า คนที่มัวพะวักพะวงกับเสียงสรรเสริญและคำครหาของสังคมนั้น หาใช่คนกล้าที่แท้จริงไม่ ตัวเขาเองนั้นไม่เคยแยแสและยินดียินร้ายกับคำประนามหรือยกย่องของสังคมแม้แต่น้อย ข้อเขียนของเขาแต่ละเรื่องล้วนแต้ใช้ถ้อยคำสำนวนที่เป็นตัวของตัวเอง และตรงไปตรงมาอย่างที่สุด รัสเซลเห็นว่า ความถ่อมตัวที่แท้จริงนั้นเกิดจากความรู้จักเคารพตนเอง มีความมั่นใจหรือมีความกล้าหาญนั่นเอง เขาไม่เห็นด้วยกับการถ่อมตัวอย่างไร้เหตุผล เขาเห็นว่าเป็นอาการของคนหน้าไหว้หลังหลอกเสียมากกว่า และไม่ก่อให้เกิดความกล้าที่แท้จริง แต่มิได้หมายความว่าให้เชื่อหรือปฏิเสธคำแนะนำทุกกรณี หากแต่จะต้องเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ร่วมกัน เช่นเดียวกับการเล่นฟุตบอลจะต้องประสานงานกันเป็นคณะและต้องเชื่อฟังหัวหน้าคณะ โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน คือ หวังชัยชนะ กาสรปฏิบัติเช่นนี้ทุกคนพอใจและยินดีเสียสละด้วยความเต็มใจ และไม่ถือว่าเป็นการถ่อมตนอย่างขาดเหตุผล
ความสุขุมคัมภีรภาพ เมื่อร่างกายมีสุขภาพอนามัยดีและแข็งแรง อันเป็นผลให้เกิดความกล้าขึ้นก็ต้องมีความสุขุมรอบคอบไว้คอยระงับความกล้าไว้มิให้เลยเถิด คนที่กล้าอย่างบ้าบิ่น โดยมองไม่เห็นอันตรายนั้น คือ คนโง่เขลา ขาดสติ รัสเซลเห็นว่า คนส่วนมากชอบคำสรรเสริญเยินยอมากกว่าคำตำหนิ เพราะคำสรรเสริญมักจะช่วยกระตุ้นให้คนทำสิ่งต่าง ๆ ได้ แต่ถ้าหากเขามีความสุขุมเพียงพอ ก็จะทราบได้ว่า ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นคนที่ได้รับคำสรรเสริญมากที่สุด มักจะเป็นวีรบุรุษที่ฆ่าคนตายมาแล้วมากมาย ฉะนั้นจึงไม่น่าจะชื่นชมกับคำสรรเสริญประเภทนี้
ความรอบรู้ ครั้งบุคคลมีความสุขุมรอบคอบก็จะทำให้เกิดปัญญา ปัญญาเป็นเรื่องของความคิด คนที่ไม่รู้จักคิดก็จะไม่มีทางที่จะมีปัญญาหรือความรอบรู้ได้ การเรียนการสอนที่จะทำให้เกิดความสุขุมและสติปัญญาได้ จะต้องสอนโดยใช้เหตุผล มิใช่สอนโดยให้ท่องจำโดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ปัญญาในที่นี้หมายถึงความพร้อมที่จะรับรู้สิ่งใหม่ ๆ มิได้หมายถึงการทรงความรู้ ความพร้อมที่จะรับรู้สิ่งใหม่ ๆ นั้นจะต้องอาศัยการฝึกฝน เช่นเดียวกับนักดนตรี เมื่อฝึกบ่อย ๆ ก็ย่อมเกิดความชำนาญ การฝึกความพร้อมที่จะรับรู้ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดปัญญานั้น มิได้หมายความว่าเป็นการบังคับหรือยัดเยียดความรู้ให้ หากแต่จะต้องเกิดจากความอยากรู้อยากเห็นโดยถูกวิธี มิใช่อยากรู้อยากเห็นว่าเขาทำอะไรกันแล้วไปแอบดู ทั้งนี้จะต้องอาศัยวิธีอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น การรู้จักสังเกตและความเชื่อว่าอาจจะหาความรู้ได้ ทั้งนี้ต้องมีความอดทนและขยันหมั่นเพียรด้วย
รัสเซลเห็นว่า ถ้ามนุษย์มีคุณสมบัติพร้อมทั้ง 4 ประการ สังคมก็จะเปลี่ยนโฉมหน้าไปในทางที่ดี ทุกคนจะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บหรือมีก็น้อยลง เนื่องจากทุกคนมีสุขภาพอนามัยดีนั่นเองและคนจนจะถูกเอาเปรียบน้อยลง เพราะคนรู้ความจริงมากขึ้น โดยอาศัยปัญญาหรือความรู้ ความกล้าจะทำให้คนสามารถนำเอาความรู้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ โดยไม่ต้องเกรงกลัวต่อลัทธิและความเชื่อเก่า ๆ รัสเซลเชื่อว่า องค์ประกอบทั้ง 4 ประการนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโลกใบใหม่ที่เต็มไปด้วยความสุขอันสมบูรณ์
รัสเซลกล่าวว่า รูปแบบที่พึงปรารถนาของการศึกษานั้น ก็คือเสรีภาพที่จะตั้งคำถามหรือปัญหาซักถามผู้สอน ในบรรยากาศเช่นนี้นักเรียนจะไม่ถูกบังคับให้เชื่อคำสอนของครูทุกอย่าง อย่างงมงาย แต่จะเชื่อก็ต่อเมื่อสามารถพิสูจน์ให้เห็นจริงแล้วเท่านั้น มิใช่จะเชื่อเพราะถูกแนะนำสั่งสอนโดยผู้รู้มาก่อน เขาเห็นว่า การศึกษาควรจะเน้นถึงวิธีการสืบสวนทางวิทยาศาสตร์แทนที่จะถ่ายทอดความรู้กันต่อ ๆ ไป โดยที่มิได้นำเอาวิธีทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย เขายืนยันอยู่เสมอว่า การศึกษาแบบใหม่ต้องการการสืบสวน ค้นคว้า มิใช่ให้ตอบปัญหาที่คงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงหรือเชื่ออย่างงมงาย
รัสเซลเห็นว่า ในสมัยโบราณผู้ที่เป็นครูนั้น หมายถึง ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเป็นเลิศ มีวาทศิลป์ดีเยี่ยมจนทำให้เป็นที่เคารพนับถือแก่คนทั่วไป นอกจากนั้นครูในสมัยก่อนยังมีวิญญาณของครูอย่างเต็มเปี่ยม แม้ตัวจะตายก็ขอให้คำสอนของตนยังคงอยู่ เช่น โสกราตีส เป็นต้น และครูมีอิสระที่จะสอนความรู้ตามแนวความคิดของตน โดยมิได้อยู่ใต้อาณัติของใคร รัสเซลกล่าวย้ำเป็นนิจว่า ครูจะต้องมีอิสรภาพทางปัญญา งานครูคือการปลูกฝังวิชาความรู้อย่างมีเหตุมีผลให้แก่เด็ก เพื่อให้เป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ประโยชน์แก่สังคม ในสมัยก่อน ๆ ครูทำหน้าที่โดยปราศจากการแทรกแซงจากอิทธิพลใด ๆ ทั้งสิ้น แต่พอมาถึงสมัยกลาง การสอนของครูตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของศาสนาคริสต์ เป็นผลให้ปรัชญาของคนและความเจริญของสังคมอยู่ชะงักไป ในศตวรรษที่ 19 เมื่อความซับซ้อนของสังคมมีมากขึ้น เสรีภาพทางปัญญาของครูดูเหมือนจะถูกจำกัดให้อยู่ในกรอบที่แคบลง จนกระทั่งครูกลายเป็นข้าราชการที่จำต้องยอมรับและปฏิบัติตามคำบัญชาของคณะบุคคล ซึ่งมิได้รับการศึกษาตามแนวทางของครู ไม่เคยเกี่ยวข้องกับเด็ก ไม่เคยเป็นครูมาก่อน แต่มีท่าทีต่อการศึกษาในฐานะของนักโฆษณาชวนเชื่อที่มีอิทธิพลต่อการสอนของครู
รัสเซลเห็นว่า การที่รัฐเข้ามาจัดการศึกษานั้น ไม่อาจประกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะมีสัมฤทธิผลตามเป้าหมายสักครึ่งหนึ่งหรือไม่ และบางประเทศ เช่น รัสเซียกับเยอรมันตะวันออก ถึงกับบังคับให้ครูต้องยอมรับลัทธิคอมมิวนิสต์ มิฉะนั้นจะไปทำการสอนไม่ได้อย่างเด็ดขาด นอกจากนั้นยังจะต้องยอมรับและปฏิบัติตามลัทธิการปกครอง ทั้งยังต้องเลื่อมใสในสิ่งที่น่ารังเกียจ และละเว้นการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ของบ้านเมืองอีกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่น่าขมขื่นของชีวิตครูอย่างยิ่ง ครูในประเทศเหล่านั้นจึงทำหน้าที่เพียงสอนหนังสือกับสูตรคูณเท่านั้น การที่จะนำเอาสิธีสอนที่คิดว่าจะบรรลุผลต่อการเรียนของเด็กมาใช้ในห้องเรียน ก็มักจะถูกเพ่งเล็ง ผลก็คือ เด็กจะถูกสอนให้หลงใหลในลัทธิ ถูกสอนให้รักชาติอย่างงมงาย ถูกสอนให้หวาดกลัว ถูกอบรมให้ยอมรับฟังและเชื่อถือปฏิบัติตามคำสอนของครูเหมือนคนตาบอด
ส่วนในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยนั้น แม้ว่าระบบเผด็จการทางปัญญาและความคิดยังไม่มีมากนัก แต่ก็พอจะมองเห็นเค้าบ้างแล้ว รัสเซลจึงเห็นว่า ผู้ที่เชื่อและยึดมั่นในเสรีภาพทางความคิดจักต้องออกโรงต่อต้านกันบ้างแล้ว เพื่อพิทักษ์อิสรภาพและสลัดเครื่องพันธนาการทางปัญญาให้หมดไป นั่นแหละสังคมประชาธิปไตยจึงจะเจริญมั่นคง
รัสเซล กล่าวว่า ในสังคมปัจจุบันจำต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคเป็นจำนวนมาก แต่ในเมื่อประชากรส่วนใหญ่ยังไม่สามารถอ่านและเขียนหนังสือได้ดี ผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวจะมีขึ้นได้อย่างไร ความจำเป็นเบื้องแรกจะต้องส่งเสริมการศึกษาภาคบังคับให้ทั่วถึง สำหรับประเทศที่เจริญแล้วนั้น เขาถือกันว่าครูเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการป้องกันประเทศในฐานะเป็นผู้ให้การศึกษาแก่เยาวชน เป็นผู้ชี้แนะแนวทางที่ถูกต้อง ความรู้วิชาการต่าง ๆ อันจะนำมาซึ่งความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ แต่ในสภาพปัจจุบันรัสเซลเห็นว่า ครูส่วนมากไม่สามารถกระทำในสิ่งที่ตนสามารถทำได้ดีพอ ทั้งนี้เนื่องจากครูส่วนใหญ่ต้องทำงานหนักเกินไป ถูกบังคับให้สอนตามหลักสูตรเพื่อสอบไล่เด็ก มากกว่าที่จะทำหน้าที่อบรมจิตใจของเด็กให้ยึดมั่นในจริยธรรม เรื่องนี้ไม่มีใครคำนึงถึงความสูญเปล่าอย่างมหาศาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ผลสุดท้ายครูก็จะเกิดความรู้สึกเหนื่อยหน่าย ท้อแท้ ขาดความกระตือรือร้น ไร้สำนึกในหน้าที่ ไม่รู้สึกชื่นชมยินดีกับชีวิตครู ผลเสียก็จะตกอยู่ที่เด็กและประเทศชาติในบั้นปลาย ซึ่งนับเป็นอันตรายอย่างยิ่ง
รัสเซลได้กล่าวย้ำว่า การสอนให้เด็กรู้เห็นแต่สิ่งดีงามเพียงฝ่ายเดียวนั้น นับเป็นความบกพร่องอย่างร้ายแรงประการหนึ่งของผู้บริหารการศึกษา ผู้เป็นครูจะทำหน้าที่ครูที่ดีมิได้เลย เนื่องจากเด็กยังคงซ่อนเร้นความจริงเอาไว้ ผลร้ายก็คือ คุณธรรมความดีงามที่เด็กได้รับไปนั้นจะถึงขั้นแตกสลายไปทันทีที่เด็กได้รับรู้ความจริงเพียงครั้งเดียว การสอนให้เด็กได้สัมผัสกับสิ่งดีงามนั้นนับเป็นสิ่งดี แต่ไม่เป็นการถูกต้องเลยที่จะปิดบังความชั่วต่าง ๆ เอาไว้ เช่น ครูสอนให้เด็กรู้จักความดีของบุคคลหนึ่ง เด็กก็จะชื่นชมยินดีและสรรเสริญคนคนนั้น แต่พอเด็กได้รู้ว่าบุคคลผู้นั้นมิได้มีความดีตามที่ครูสอน หากแต่ยังมีความชั่วหลายอย่างที่ถูกปิดบังเอาไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้เด็กก็จะเสื่อมศรัทธาต่อบุคคลผู้นั้นทันที ซ้ำยังจะพลอยขาดความเชื่อถือในตัวครูไปด้วย และไม่เชื่อในความดีว่าเป็นสิ่งที่ดีจริงตามที่ครูสอน รัสเซลเห็นว่าเรื่องนี้จะโทษครูเพียงฝ่ายเดียวก็ไม่ถูก เพราะครูที่ดีนั้นย่อมมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในตัวศิษย์ มีความรักใคร่ห่วงใยศิษย์อยู่เสมอ แต่ครูไม่อาจตัดสินใจด้วยตัวเองว่าควรจะสอนอะไรให้แก่ศิษย์ เนื่องจากมีบุคคลคณะหนึ่งเป็นผู้วางเกณฑ์ เนื้อหาและขั้นตอนต่าง ๆ ว่า ครูจะต้องสอนอะไรก่อนหลัง ควรใช้วิธีสอนอย่างไร ด้วยเหตุนี้ครูจึงไม่มีเสรีภาพในการถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์ ขาดโอกาสที่จะตัดสินใจด้วนตนเองและถูกแทรกแซงจากบรรดาพวกอวดรู้ทั้งหลาย
คงจะไม่มีใครชื่นชมยินดีหากบรรดาแพทย์ทั้งหลายต้องตกอยู่ภายใต้อาณัติของผู้มีอำนาจที่ไม่เคยรู้เรื่องแพทย์มาก่อน มาบงการให้เยียวยารักษาผู้ป่วย ครูก็เช่นเดียวกันกับแพทย์ในการเยียวยารักษาผู้ป่วย (นักเรียน) ให้หายจากโรคโง่เง่า แต่ครูกลับไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเสรีภาพให้ใช้วิจารณญาณ และประสบการณ์ตลอดจนความรู้ความสามารถของตนตัดสินว่า ควรใช้วิธีแบบไหนจึงจะเหมาะสมที่สุดสำหรับเด็ก แม้แต่ในระดับมหาวิทยาลัย ก็มีอยู่เพียงสองสามแห่งเท่านั้นที่ยังคงหวงแหนและธำรงสิทธิแห่งการตัดสินใจด้วยตนเองเอาไว้ แต่สถาบันการศึกษาส่วนใหญ่ได้ถูกควบคุมโดยคณะบุคคลที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในการสอนอย่างเพียงพอ รัสเซลเห็นว่า มีอยู่ทางเดียวเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ได้ คือต้องออกกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพของครูให้มากที่สุดเท่านั้น
[แก้] รัสเซลกับการนับถือศาสนา
คนจำนวนมากมองรัสเซลว่าเป็นคนไร้ศาสนา เป็นนักต่อต้านศาสนา ทั้งนี้อาจเป็นเพราะคำพูดแบบเถรตรงของเขานั่นเอง ที่ไปกระทบกระทั่งคนเหล่านั้นเข้า เป็นต้นว่า “ถ้าตลอดชีวิตของท่าน ท่านงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต การลักขโมย การผิดประเวณี การกล่าวคำเท็จ คำผรุสวาส หรือท่านมีความเคารพนับถือบิดา มารดา ศาสนา พระมหากษัตริย์ของท่าน ก็เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ท่านเป็นคนดีสมควรได้รับการยกย่องนับถือ มีศีลธรรม ทั้ง ๆ ที่ท่านไม่เคยได้ทำความดีหรือทำอะไรให้เป็นประโยชน์เลยแม้ครั้งเดียว การมองคุณงามความดีในลักษณะเช่นนี้ ยังหาเพียงพอไม่”
ตัวรัสเซลเองนั้น มิได้นับถือศาสนาหรือพระเจ้า แต่เขาก็มิได้ทำการต่อต้านศาสนาและพระเจ้า หากแต่เขามีความสงสัยว่าพระเจ้ามีจริงหรือไม่ และเขายังยอมรับคำสอนของพระเยซูที่สอนให้มนุษย์รักกัน อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ตังเขาเองก็มุ่งมั่นที่จะชี้นำทางแห่งความสุขแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เขากล่าวว่า คนที่ไม่เสียสติย่อมเห็นพ้องต้องกันว่า การมีชีวิตอยู่ย่อมดีกว่าการตาย มีอาหารกินดีกว่าอดอยาก และมีอิสรภาพดีกว่าตกเป็นทาสและถูกจองจำ หลายคนต้องการความสุขเพื่อตนเองและพวกพ้อง ทั้งยังมีความรู้สึกพึงพอใจเมื่อได้เห็นความทุกข์ของผู้อื่น และพยายามจะเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นเมื่อมีโอกาส แต่ในปัจจุบันนี้ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มีมากขึ้น และได้ยืนยันแล้วว่า พฤติกรรมเช่นนี้ไม่ถูกต้องเพราะมนุษยชาติจำต้องอาศัยซึ่งกันและกันมากขึ้น การที่จะแสวงหาความสุขถ่ายเดียวโดยมิได้สร้างความสุขให้แก่ผู้อื่นนั้น ผู้นั้นไม่อาจมั่นใจในความสุขของตนได้เลย ดังนั้นถ้าทุกคนปรารถนาความสุข ก็จงหาทางทำให้ผู้อื่นมีความสุขด้วย
แม้ว่ารัสเซลมิได้นับถือศาสนาตามนิตินัย แต่โดยพฤตินัยแล้ว เขาเป็นคริสเตียนมากกว่าชาวคริสต์อีกหลายคน โดยเฉพาะในเรื่องคำสอนที่ให้มนุษย์มีความรักความปรารถนาดีต่อกัน แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ไม่เห็นด้วยกับคำสอนของพระเยซูในเรื่องบาป ซึ่งเขาเห็นว่าคำๆ นี้ถูกนำมาใช้กันจนเฟ้อ จนไม่รู้ว่าอะไรเป็นบาป อะไรเป็นบุญไปเสียแล้ว และก็ยังไม่มีใครให้อรรถาธิบายได้ถูกต้องว่าบาปคืออะไร หากแต่ช่วยกันทำให้เกิดความรู้สึกในลักษณะของความกลัว ความสงสัยและความเกลียดเท่านั้น เขากล่าวย้ำอยู่เสมอว่า ตัวเขาเองสงสัยในพระเจ้าว่ามีอยู่จริงหรือไม่และไม่เชื่อว่าพวกคริสเตียนจะเข้าใจดีว่าอะไรคือความดี อะไรคือความชั่ว เขาเห็นว่าคำสอนของพระเยซูที่ว่าคนที่ไม่เห็นด้วยกัยปัญหาทางเทววิทยาบางอย่างที่ไม่สามารถเข้าใจได้ ควรจะได้รับการทรมานจนตายนั้น เป็นเรื่องเหลวไหล และการที่เขามีความสงสัยในพระเจ้านั้นมิได้ถือว่าเป็นบาปตามคำอ้างของพวกคริสเตียน เขาถือว่าการประนามเช่นนั้นเป็นเรื่องของคนงมงายเสียมากกว่า
เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้รัสเซลไม่นับถือศาสนา คือเรื่องของคำสอนต่างๆ ทางศาสนา ซึ่งเขาเห็นว่ามันไม่เหมาะกับยุคสมัยของสังคมปัจจุบัน เขากล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์จะเปลี่ยนความเชื่อทันที หากได้พบว่าความรู้ใหม่และเชื่อถือได้มากกว่าความรู้เดิม แต่ก็มีอยู่ไม่ใช่น้อยที่ไม่ยอมเปลี่ยนความคิด ยังคงยึดมั่นอยู่ในหลักปรัชญาของตน เช่นเดียวกันในเรื่องของศาสนา ยังมีคนส่วนใหญ่ที่หลงยึดมั่นในศาสนา นักศาสนศาสตร์มักจะยกคำสอนในคัมภีร์ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อหลายศตวรรษมาแล้ว มากล่าวอ้างว่าเป็นอมตสัตย์ แต่ก็ไม่เคยมีใครคิดจะเปลี่ยนแปลงหรือทำการสังคายนาศาสนาก็สักที การที่จะหลงเชื่ออะไรนั้น ควรพิจารณาให้ท่องแท้เสียก่อน เขากล่าวว่า ถ้าความเชื่อนั้นตั้งอยู่บนรากฐานของเหตุผลที่ดี ก็จงสนับสนุนความเชื่อนั้นโดยพยายามหาข้อโต้แย้ง แทนที่จะหลงเชื่ออย่างงมงาย และหากข้อโต้แย้งนั้นมีน้ำหนักมากพอ ก็จงเลิกเชื่อในสิ่งเดิมนั้นเสีย แต่หากเชื่อเพราะแรงศรัทธา ข้อโต้แย้งก็จะหาประโยชน์มิได้ ความเชื่อเช่นนนี้มักจะนำไปสู่ความงมงายและยังเป้นการปิดกั้นความรู้สึกนึกคิดของคนหนุ่มสาวอีกด้วย
รัสเซลกล่าวว่า “พระพุทธศาสนาเป็นการรวมกันของปรัชญาแบบเก็งความจริงกับวิทยาศาสตร์ ศาสนานั้นสนับสนุน วิธีการทางวิทยาศาสตร์ และติดตามวิธีการนั้นจนถึงที่สุด ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นศาสนาแห่งเหตุผล ในพระพุทธศาสนาเราจะได้พบคำตอบที่น่าสนใจ เช่น จิตใจกับวัตถุคืออะไร? ระหว่างจิตกับวัตถุนั้นอย่างไหนสำคัญมากกว่ากัน? เอกภพเคลื่อนไปหาจุดหมายปลายทางหรือไม่? พระพุทธศาสนาพูดถึงเรื่องที่วิทยาศาสตร์ยังนำทางไปได้ไม่ เพราะความจำกัดแห่งเครื่องมือของวิทยาศาสตร์ ชัยชนะของ พระพุทธศาสนาเป็นชัยชนะทางจิตใจ”
|
|
---|---|
ก่อนโสกราตีส • เธลีส • โสกราตีส • เพลโต • อริสโตเติล • เอพิคิวเรียน • ลัทธิสโตอิก • โพลตินัส • พีร์โร • ออกัสตินแห่งฮิปโป • โบอีเทียส • อัลฟาราบี • แอนเซล์มแห่งแคนเทอเบอรี • ปีแยร์ อาเบลา • อะเวร์โรอีส • ไมมอนิดีส • โทมัส อควีนาส • แอลเบอร์ทัส แมกนัส • ดันส์ สโกตัส • รามอง ยูย์ • วิลเลียมแห่งออกคัม • โจวันนี ปีโก เดลลา มีรันโดลา • มาร์ซีลีโอ ฟีชีโน • มิเชล เดอ มงตาญ • เรอเน เดส์การตส์ • โทมัส ฮอบส์ • แบลส ปาสกาล • บารุค สปิโนซา • จอห์น ล็อก • นีโกลา มาลบรองช์ • กอทท์ฟรีด ไลบ์นิซ • จัมบัตติสตา วีโก • ชูเลียง โอเฟรย์ เดอ ลา เมตรี • จอร์จ บาร์กลีย์ • มองเตสกิเออร์ • เดวิด ฮูม • วอลแตร์ • ชอง-ชาก รุสโซ • เดนี ดีเดโร • โยฮันน์ แฮร์เดอร์ • อิมมานูเอิล คานท์ • เจเรอมี เบนทัม • ฟรีดิช ชไลเออร์มาเคอร์ • โยฮันน์ กอทท์ลีบ ฟิคเทอ • G.W.F. เฮเกิล • ฟรีดิช ฟอน เชลลิง • ฟรีดิช ฟอน ชเลเกิล • อาเธอร์ โชเพนเฮาเออร์ • เซอเรน เคียร์เคอกอร์ • เฮนรี เดวิด ทอโร • ราล์ฟ วอลโด เอเมอร์สัน • จอห์น สจวร์ต มิลล์ • คาร์ล มาร์กซ • มีฮาอิล บาคูนิน • ฟรีดิช นีทเชอ • วลาดีมีร์ โซโลวีฟ • วิลเลียม เจมส์ • วิลเฮล์ม ดิลเทย์ • C. S. เพิร์ซ • กอทท์ลอบ เฟรเก้ • เอดมุนด์ ฮุสเซิร์ล • อองรี แบร์ซง • แอนสท์ คัสซิเรอร์ • จอห์น ดิวอี • เบนาเดตโต โกรเช • โคเซ ออร์เตกา อี กัสเซต • แอลฟริด นอร์ท ไวต์เฮด • เบอร์ทรานด์ รัสเซิลล์ • ลุดวิก วิทท์เกนสไตน์ • แอนสท์ บลอค • เกออร์ก ลูคัช • มาร์ติน ไฮเดกเกอร์ • รูดอล์ฟ คาร์นาพ • ซีโมน แวย • มอรีซ แมร์โล-ปงตี • ฌอง ปอล ซาร์ตร์ • ไอย์น แรนด์ • ซีโมน เดอ โบวัวร์ • จอร์จ บาไตลล์ • ธีโอดอร์ อดอร์โน • มักซ์ ฮอร์คไฮเมอร์ • ฮานนาห์ อเรนดท์ • กอร์เนลีอุส กาสโตรีอาดิส
|
|
|
---|---|
พ.ศ.2444-2468 (ค.ศ.1901-1925) |
พรูดอม (1901) • มอมม์เซิน (1902) • บิยอร์สัน (1903) • มิสตราล / ไอซากีร์เร (1904) • ซีนคีวิช (1905) • คาร์ดุชชี (1906) • คิปลิง (1907) • ยูเคน (1908) • ลอเกร์เลิฟ (1909) • เฮเซ (1910) • แมเตอร์ลิงก์ (1911) • เฮาพ์ทมันน์ (1912) • รพินทรนาถ ฐากูร (1913) • โรลองด์ (1915) • ไฮเดนสตัม (1916) • เจลเลอร์รุป / พอนทอปปีดัน (1917) • สปิตเทลเลอร์ (1919) • ฮัมซัน (1920) • ฟรองซ์ (1921) • เบนาเวนเต (1922) • เยทส์ (1923) • เรย์มอนต์ (1924) • ชอว์ (1925) |
พ.ศ.2469-2493 (ค.ศ.1926-1950) |
เดเลดดา (1926) • แบร์กซอง (1927) • อุนด์เซท (1928) • มาน (1929) • ลิวอิส (1930) • คาร์ลเฟลด์ (1931) • กัลสวอร์ธี (1932) • บูนิน (1933) • ปิรันเดลโล (1934) • โอนีล (1936) • มาร์แตง ดู การด์ (1937) • บัค (1938) • ซิลลันปาอา (1939) • เยนเซน (1944) • มิสตราล (1945) • เฮสเส (1946) • ฌีด (1947) • เอเลียต (1948) • ฟอล์คเนอร์ (1949) • รัสเซิลล์ (1950) |
พ.ศ.2494-2518 (ค.ศ.1951-1975) |
ลาเกอร์ควิชต์ (1951) • มอริยัค (1952) • เชอร์ชิลล์ (1953) • เฮมิงเวย์ (1954) • ลักซ์เนส (1955) • ฮิเมเนซ (1956) • กามู (1957) • ปาสเตอร์แนก (1958) • ควาสิโมโด (1959) • แพร์ส (1960) • อันดริก (1961) • สไตน์เบค (1962) • เซเฟริส (1963) • ซาร์ต (1964) • โชโลคอฟ (1965) • อักนอน / ซาคส์ (1966) • อัสตูริอัส (1967) • คะวะบะตะ (1968) • เบคเกต (1969) • โซลซ์เฮนิตซิน (1970) • เนรูดา (1971) • เบิล (1972) • ไวท์ (1973) • จอห์นสัน / มาร์ตินสัน (1974) • มอนตาเล (1975) |
พ.ศ.2519-2543 (ค.ศ.1976-2000) |
เบลโล (1976) • อเลกซานเดอร์ (1977) • ซิงเกอร์ (1978) • เอลีติส (1979) • มีลอซ (1980) • คาเนตติ (1981) • มาร์เกซ (1982) • โกลดิง (1983) • เซเฟอร์ต (1984) • ซิมง (1985) • โซยินกา (1986) • บรอดสกี (1987) • มาห์ฟูซ (1988) • เซลา (1989) • ปาซ (1990) • กอร์ดิเมอร์ (1991) • วัลคอต (1992) • มอร์ริสัน (1993) • โอะเอะ (1994) • ฮีนีย์ (1995) • ซิมบอร์สกา (1996) • โฟ (1997) • ซารามาโก (1998) • กราส (1999) • เกา ซิงเจี้ยน (2000) |
พ.ศ.2544-2568 (ค.ศ.2001-ปัจจุบัน) |
ไนปอล (2001) • เคอร์เตซ (2002) • โคเอตซี (2003) • เยลิเนค (2004) • พินเทอร์ (2005) • พามัค (2006) • เลสซิง (2007) |