ธงชาติอัฟกานิสถาน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การใช้ | ธงชาติ |
สัดส่วนธง | 2:3 |
ประกาศใช้ | 4 มกราคม พ.ศ. 2547 |
ลักษณะ | ธงสามสีแบ่งตามแนวตั้ง พื้นสีดำ-แดง-เขียว กลางมีตราแผ่นดินสีขาว |
ธงชาติสาธารณรัฐอิสลามอัฟกานิสถาน แบบปัจจุบันนี้ ประกาศใช้ในสมัยรัฐบาลชุดถ่ายโอนอำนาจของรัฐอิสลามของอัฟกานิสถาน (พ.ศ. 2545 - พ.ศ. 2547) ลักษณะเป็นธงสามสี รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในแบ่งตามแนวตั้ง เป็นสีดำ-แดง-เขียว กว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน กลางธงมีรูปตราแผ่นดินของอัฟกานิสถาน ในลักษณะภาพลายเส้นสีขาว ลักษณะของธงชาติยุคนี้ คล้ายคลึงกับธงชาติในสมัยราชอาณาจักรอัฟกานิสถาน ช่วง พ.ศ. 2473 - พ.ศ. 2516 โดยมีความแตกต่างสำคัญที่มีการบรรจุภาพอักษรที่เรียกว่า ชาฮาดาห์ เป็นข้อความซึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า "ข้าพเจ้านับถือว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกเหนือจากอัลลอหฺ และศาสดามุฮัมมัดคือศาสนทูตแห่งอัลลอหฺ" ที่ตอนบนของภาพตรา วันที่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการคือวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2547
ในยุดก่อนสมัยการปกครองของกลุ่มตาลีบันและกลุ่มพันธมิตรอัฟกันตอนเหนือ ธงชาติในยุคนี้มีการใช้ภาพตราแผ่นดินแบบเดียวกับกับธงยุคปัจจุบัน แต่แถบสีนั้นเป็นแถบสีดำ-ขาว-เขียว เรืยงแถบสีธงตามแนวนอน
ประเทศอัฟกานิสถาน ถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธงชาติในสมัยต่างๆ ตลอดช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 มากครั้งที่สุด มากกว่าชาติอื่นใดในโลกนี้ [1]
[แก้] ประวัติ
อัฟกานิสถานมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธงชาติหลายครั้ง ตามการปกครองในแต่ละยุคสมัย เบื้องล่างต่อไปนี้เป็นธงชาติอัฟกานิสถาน นับตั้งแต่ พ.ศ. 2423 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
ช่วงเวลาที่ใช้ธง | ภาพธง | สัดส่วนธง | ชื่อประเทศ | คำอธิบาย |
พ.ศ. 2423 - 2444 | 2:3 | เอมิเรตส์แห่งอัฟกานิสถาน | ธงพื้นสีดำเกลี้ยง ใช้ในสมัยการปกครองของ อับดุร์ เราะห์มาน ข่าน (Abdur Rahman Khan) | |
พ.ศ. 2444 - 2462 | 3:5 | เอมิเรตส์แห่งอัฟกานิสถาน | ธงพื้นสีดำ มีรูปตราสัญลักษณ์ ซึ่งได้ใช้เป็นตราแผ่นดินของอัฟกานิสถานในปัจจุบัน ใช้ในสมัยการปกครองของฮาบิบุลเลาะห์ ข่าน (Habibullah Khan) | |
พ.ศ. 2462 - 2471 | 2:3 | เอมิเรตส์แห่งอัฟกานิสถาน / ราชอาณาจักรอัฟกานิสถาน | ลักษณะอย่างธงในสมัยก่อนหน้า แต่เพิ่มรัศมี 8 ทิศ ล้อมรอบรูปตราสัญลักษณ์ เริ่มใช้ในสมัยการปกครองของอมานูเลาะห์ ข่าน (Amanullah Khan) (ต่อมาสถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าชาห์ (Shah) เมื่อเปลี่ยนรูปแบบประเทศเป็นราชอาณาจักร ใน พ.ศ. 2469) | |
พ.ศ. 2471 | 2:3 | ราชอาณาจักรอัฟกานิสถาน | ลักษณะอย่างธงเมื่อ พ.ศ. 2462 แต่ยกเอารัศมีล้อมภาพออก และปรับแบบตรา โดยขยายตราให้ใหญ่ขึ้น และมีช่อชัยพฤกษ์รองรับที่ด้านล่างของตรา | |
พ.ศ. 2471 - 2472 | 2:3 | ราชอาณาจักรอัฟกานิสถาน | ธงสามสีแบ่งตามแนวตั้ง พื้นสีดำ-แดง-เขียว หมายถึงเลือดที่หลั่งออกมาเพื่อเอกราช ในสงครามอังกฤษ-อัฟกัน ครั้งที่ 3 และความหวังต่ออนาคตเบื้องหน้า กลางธงมีตราแผ่นดินแบบใหม่ เป็นภาพยอดเขาปกคลุมด้วยหิมะ เบื้องหลังเป็นพระอาทิตย์อุทัย หมายถึง การเริ่มต้นของราชอาณาจักรใหม่ซึ่งมีเอกราชของตนเอง แบบธงนี้เป็นไปได้ว่า พระเจ้าอมานูเลาะห์ชาห์จะทรงได้รับอิทธิพล จากแบบธงชาติในทวีปยุโรป เมื่อพระองค์เสด็จประพาสยุโรปในปี พ.ศ. 2470 | |
พ.ศ. 2472 | 2:3 | ราชอาณาจักรอัฟกานิสถาน | ธงชาติในรัชสมัยพระเจ้าฮาบิบุลเลาะห์คาลาคานี (หรือฮาบิบุลเลาะห์ข่าน (Habibullah Khan) พระนามอย่างเป็นทางการคือ บาชา-อี-ซาเกา หรือ Bacha-i-Saqao) ลักษณะธงสามสี แดง-ดำ-ขาวนี้ เป็นธงของอัฟกานิสถาน อย่างที่เคยใช้ในสมัยการยึดครองโดยจักรวรรดิมองโกล ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 โดยประมาณ | |
พ.ศ. 2472 - 2473 | 2:3 | ราชอาณาจักรอัฟกานิสถาน | ธงนี้เป็นธงชาติในรัชสมัยพระเจ้ามูฮัมหมัด นาดีร์ ชาห์สมัยแรก ในยุคนี้ธงสามสี ดำ-แดง-เขียว ถูกนำมาใช้อีกครั้งหนึ่ง ส่วนภาพตราแผ่นดินกลางธงนั้น ใช้ตราอย่างธงชาติในสมัย พ.ศ. 2462 | |
พ.ศ. 2473 - 2516 | 2:3 | ราชอาณาจักรอัฟกานิสถาน | ธงชาติสมัยพระเจ้ามูฮัมหมัด นาดีร์ ชาห์สมัยหลัง และพระเจ้ามูฮัมหมัด ซาฮีร์ ชาห์ ธงนี้ปรับปรุงจากธงในสมัย พ.ศ. 2472 โดยยกเอารัศมีแปดทิศออก และขยายตราให้ใหญ่ขึ้น ที่ระหว่างรูปสุเหร่าและช่อรวงข้าวที่ล้อมตราสัญลักษณ์นั้น มีเลขฮิจเราะห์ศักราชที่ 1348 เขียนด้วยอักษรอาหรับ (١٣٤٨) ซึ่งเป็นปีที่พระเจ้ามูฮัมหมัด นาดีร์ ชาห์ เสวยราชสมบัติ (ตรงกับ ค.ศ. 1929 ตามปฏิทินเกรกอเรียน หรือ พ.ศ. 2472 โดยประมาณ) | |
พ.ศ. 2516 - 2517 | 2:3 | สาธารณรัฐอัฟกานิสถาน | ธงชาติแบบแรกของสาธารณรัฐอัฟกานิสถาน เป็นการเอาธงในสมัยก่อนหน้ามาใช้เป็นการชั่วคราว โดยลบเลข ฮ.ศ. 1348 ออกเสีย | |
พ.ศ. 2517 - 2521 | 2:3 | สาธารณรัฐอัฟกานิสถาน | ธงชาติสาธารณรัฐอัฟกานิสถานแบบที่ 2 ใช้สีอย่างธงชาติเดิม แต่เรียงแถบสีใหม่ตามแนวนอน เป็นสีดำ-แดง-เขียว ตามลำดับ แถบสีเขียวนั้นกว้างเป็นสองเท่าของแถบสีดำและแดง ที่มุมธงบนด้านคันธงใช้ภาพตราสัญลักษณ์ใหม่ เป็นตรานกอินทรีสยายปีกมีรัศมีเปล่งที่ศีรษะ (หมายถึงสาธารณรัฐที่เกิดใหม่) มีรูปที่นั่งแสดงธรรมที่อกนก (หมายถึงสุเหร่า ศาสนาสถานในศาสนาอิสลาม) ล้อมรอบด้วยช่อรวงข้าว รูปเหล่านี้เป็นสีเหลือง สีธงชาติในสมัยนี้มีการนิยามไว้ว่า สีดำหมายถึงประวัติศาสตร์แห่งความมืดมนและทุกข์ยากของชาติ สีแดงหมายถึงเลือดที่หลั่งรินเพื่อเอกราช และสีเขียวหมายถึงความมั่งคั่งจากการทำเกษตรกรรม | |
พ.ศ. 2521 | 2:3 | สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนอัฟกานิสถาน | เมื่อผู้นำของสาธารณรัฐ ถูกสังหารในการรัฐประหารโดยพรรคคอมมิวนิสต์ รัฐบาลระบอบใหม่ของพรรคดังกล่าว จึงได้ยกเอาสัญลักษณ์ในธงชาติของสาธารณรัฐเดิมออกเสีย | |
พ.ศ. 2521 - 2522 | 1:2 | สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนอัฟกานิสถาน | ธงในยุคนี้ใช้ธงแดงมีรูปสํญลักษณ์ประกอบที่มุมธงบนด้านคันธง ตามความนิยมของประเทศที่ปกครองด้วยพรรคคอมมิวนิสต์โดยทั่วไป รูปสัญลักษณ์นั้น มีลักษณะเป็นรูปช่อรวงข้าวมีแพรแถบข้อความที่ตอนล่าง เหนือดวงตรามีรูปดาวสีเหลือง (หมายถึงชนชาติหลัก 5 ชนชาติของประเทศ) ภายในช่อรวงข้าวมีอักษรอาหรับ เป็นข้อความว่า "คาลก์" ("Khalq") แปลว่า ประชาชน ธงนี้เป็นธงเดียวกับธงของกลุ่มคาลก์ ของพรรคสาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนอัฟกานิสถาน ภายใต้การนำของประธานาธิบดี นูร์ มูฮัมหมัด ทารากี จนกระทั่งเขาถูกลอบสังหารเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2522 | |
พ.ศ. 2522 | 1:2 | สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนอัฟกานิสถาน | ธงนี้ใช้อยู่ในระยเวลาอันสั้น ตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2522 ในสมัยที่ประเทศอยู่ภายใต้การนำของฮาฟิซุลเลาะห์ อามิน ลักษณะเป็นธงแดง ภายในมีตรารูปฟันเฟืองกับรวงข้าวซ้อนทับกัน (หมายถึงการเกษตร) ซึ่งธงนี้เดิมก็ได้ใช้เป็นธงประจำพรรคสาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนอัฟกานิสถานด้วย การเข้ายึดครองอัฟกานิสถานโดยสหภาพโซเวียต ในเดือนธันวาคมของปีนั้น ทำให้รัฐบาลของนายฮาฟิซุลเลาะห์ อามิน สิ้นสภาพลง | |
พ.ศ. 2522 - 2530 | 1:2 | สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนอัฟกานิสถาน | หลังจากการโค่นล้มรัฐบาลกลุ่มคาล์กของนายฮาฟิซุลเลาะห์ อามิน โดยกลุ่มปาร์ชาม (Parcham faction - อยู่ภายใต้การนำของนายบาบรัก คาร์มาล หรือ Babrak Karmal) ด้วยความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียต รัฐบาลใหม่ได้นำธงสามสี ดำ-แดง-เขียว กลับมาใช้อีกครั้ง มีความหมายถึงประวัติศาสตร์ของชาติ การเสียสละเพื่อเอกราช และศาสนาอิสลาม ตามลำดับ ที่มุมธงบนด้านคันธง มีรูปตราสัญลักษณ์ใหม่ แสดงภาพพระอาทิตย์อุทัย (ตามนามเดิมของประเทศ ซึ่งมีชื่อว่า โคระส่าน (Khorasan) แปลว่า แดนแห่งพระอาทิตย์อุทัย) ภาพแท่นแสดงธรรมและคัมภีร์อัลกุรอาน (หมายถึง ศาสนาอิสลาม) ฟันเฟืองอันเป็นสัญลักษณ์ของอุตสาหกรรม ดาวแดงแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์ ทั้งหมดล้อมด้วยรูปช่อรวงข้าว พันด้วยแพรแถบสีธงชาติ | |
พ.ศ. 2530 - 2535 | 1:2 | สาธารณรัฐอัฟกานิสถาน | ลักษณะอย่างธงยุคก่อนหน้า แต่รายละเอียดในตราสัญลักษณ์มีการเปลี่ยนแปลงหลายประการ โดยรูปดาวแดงและคัมภีร์อัลกุรอานถูกยกออกไป ย้ายรูปฟันเฟืองมาไว้ตอนล่าง และพื้นสีเขียวในตรานั้นเป็นรูปโค้งแสดงขอบฟ้า | |
พ.ศ. 2535 | 1:2 | สาธารณรัฐอัฟกานิสถาน | ธงของรัฐบาลชั่วคราว หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ลักษณะเป็นธงสามสีแถบสีดำ-ขาว-เขียว แบ่งตามแนวนอน บนแถบสีดำมีข้อความภาษาอาหรับว่า "อัลลอหฺ อัคบาร์" (อัลลอหฺทรงยิ่งใหญ่ที่สุด) แถบกลางมีรูปอักษรที่เรียกว่า ชาฮาดาห์ ซึ่งเป็นข้อความภาษาอาหรับ แปลความได้ว่า "ข้าพเจ้านับถือว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกเหนือจากอัลลอหฺ และศาสดามุฮัมมัดคือศาสนทูตแห่งอัลลอหฺ" | |
พ.ศ. 2535 - 2539 | 1:2 | รัฐอิสลามอัฟกานิสถาน | ธงสามสีแถบสีดำ-ขาว-เขียว จากธงเดิม กลางธงมีรูปตราแผ่นดินแบบลายเส้นสีทอง | |
พ.ศ. 2539 - 2540 | ไม่ทราบ | รัฐเอมิเรตส์อิสลามแห่งอัฟกานิสถาน | กลุ่มตาลีบันใช้ธงพื้นขาวเกลี้ยง เป็นธงชาติอัฟกานิสถานภายใต้การปกครองของตนเอง | |
พ.ศ. 2540 - 2544 | 2:3 | รัฐเอมิเรตส์อิสลามแห่งอัฟกานิสถาน | รูปอักษรชาดาฮาห์ได้มีการเพิ่มลงบนธงพื้นสีขาวในสมัยนี้ | |
พ.ศ. 2544 - 2547 | 1:2 | รัฐบาลแห่งรัฐอิสลามอัฟกานิสถาน ชุดถ่ายโอนอำนาจ | ลักษณะคล้ายกับธงในสมัยราชอาณาจักรยุค พ.ศ. 2472 เป็นพื้นสีดำ-แดง-เขียว แบ่งตามแนวตั้ง กลางธงมีตราแผ่นดินแบบลายเส้นสีทอง ธงนี้แตกต่างจากธงเดิม ตรงที่มีการเพิ่มรูปอักษรชาฮาดาห์ที่ตอนบนของตรา และเลขบนปีฮิจเราะห์ศักราชเป็นปี ฮ.ศ. 1298 (١۲۹٨) ตรงกับปี ค.ศ. 1919 หรือ พ.ศ. 2472 ตามปฏิทินเกรกอเรียน ซึ่งเป็นปีที่ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร | |
ตั้งแต่ พ.ศ. 2547 | 2:3 | สาธารณรัฐอิสลามอัฟกานิสถาน | ลักษณะคล้ายธงก่อนหน้า แต่เปลี่ยนสีตราเป็นแบบลายเส้นสีขาว และปรับขนาดสัดส่วนธงใหม่ นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มรูปอักษร "ชาฮาดาห์" ลงในตอนบนของตราด้วย |
[แก้] ดูเพิ่ม
- ตราแผ่นดินของอัฟกานิสถาน