ธงชาติพม่า
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การใช้ | ธงชาติ และ ธงเรือพลเรือน และ ธงเรือรัฐบาล |
สัดส่วนธง | 5:9, 2:3, 6:11 |
ประกาศใช้ | 3 มกราคม พ.ศ. 2517 |
ลักษณะ | ธงพื้นสีแดง มีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีน้ำเงินที่มุมธงบนด้านคันธง ภายในมีรูปฟันเฟืองและรวงข้าว ล้อมด้วยดาว 14 ดาว |
การใช้ | ธงราชนาวี |
สัดส่วนธง | 5:9 |
ลักษณะ | ธงพื้นสีขาวมีรูปสมอสีน้ำเงิน ที่มุมธงบนด้านคันธงมีกรอบสี่เหลี่ยมสีแดง ภายในมีดาวห้าแฉกสีขาว |
ธงชาติพม่า ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นธงสี่เหลื่ยมผืนผ้าพื้นสีแดง ที่มุมบนด้านต้นธงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีน้ำเงินขนาดเล็ก ภายในมีรูปช่อรวงข้าวอยู่หน้าฟันเฟือง ล้อมรอบด้วยดาวห้าแฉก 14 ดวงเป็นวงกลม รูปเหล่านี้เป็นสีขาว ธงนี้ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2517 พร้อมกับการประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่าโดย นายพลเนวิน หลายคนมักสับสนระหว่างธงชาติไต้หวันกับธงชาติพม่าอยู่เสมอเนื่องจากธงของทั้งสองชาติมีลักษณะคล้ายกันมาก
เนื้อหา |
[แก้] ความหมายในธงชาติแบบปัจจุบัน
- รูปฟันเฟืองและรวงข้าว เป็นสัญลักษณ์ในเชิงสังคมนิยม หมายถึง ชาวนาและกรรมกร
- ดาวห้าแฉก 14 ดวง หมายถึง เขตการปกครองทั้ง 14 เขตของพม่า (7 รัฐ 7 เขต)
- สีแดง หมายถึง ความกล้าหาญ
- สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์
- สีน้ำเงิน หมายถึง สันติภาพและความอุดมสมบูรณ์
[แก้] ประวัติธงชาติพม่า
ส่วนนี้ของบทความยังไม่สมบูรณ์ คุณสามารถช่วยวิกิพีเดียได้โดยเพิ่มเติมเนื้อหาในส่วนนี้ |
ในอดีตอาณาจักรพม่าสมัยราชวงศ์อลองพญาได้ใช้ธงพื้นขาวกลางมีรูปนกยูงสีแดง (กิงกะหล่า) เป็นธงชาติ เมื่อพม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษโดยผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียเมื่อ พ.ศ. 2428 ธงชาติสหราชอาณาจักรจึงถูกชักขึ้นเหนือดินแดนพม่า[1]
ต่อมาเมื่อพม่าแยกเป็นอาณานิคมโดยตรงอีกแห่งหนึ่งต่างหากจากอินเดียในปี พ.ศ. 2480 รัฐบาลอังกฤษจึงกำหนดให้ใช้ธงเรือหลวงอังกฤษพื้นสีน้ำเงิน (Blue Ensign) มีตรานกยูงในวงกลมอยู่ด้านล่างฝั่งปลายธงเป็นธงประจำดินแดน ซึ่งจะต้องต้องชักคู่กับธงชาติสหราชอาณาจักรอยู่เสมอ ส่วนธงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งพม่า เป็นรูปแบบธงยูเนียนแจ๊คมีตรานกยูงในวงกลมอยู่กลางธง[2]
ธงชาติพม่า สมัยราชวงศ์อลองพญา |
หลังจากพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี พ.ศ. 2491 จึงได้มีการกำหนดแบบธงชาติพม่าใหม่ ลักษณะเป็นธงสี่เหลื่ยมผืนผ้าพื้นสีแดง ที่มุมบนด้านต้นธงเป็นรูปสีเหลี่ยมผืนผ้าสีน้ำเงินขนาดเล็กคล้ายธงชาติพม่าแบบปัจจุบัน ผิดกันแต่ว่าสัญลักษณ์ในธงเป็นรูปดาวห้าแฉกสีขาว 1 ดวง ล้อมรอบด้วยดาวสีขาวดวงเล็กอีก 5 ดวง ดาวดวงใหญ่หมายถึงสหภาพพม่า ดาวดวงเล็กทั้ง 5 หมายถึงชาวพม่า ชาวไทใหญ่ ชาวกะเหรี่ยง ชาวชิน และชาวคะฉิ่น ส่วนสีขาวนั้นหมายถึงความซื่อสัตย์ ธงนี้ได้รับการรับรองด้วยรัฐธรรมนูญแห่งสหภาพพม่า ฉบับลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2490 และชักขึ้นเหนือแผ่นดินพม่าครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2491 เวลา 4.25 น.[2]
ภายหลังนายพลเนวินได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลแห่งสหภาพพม่า และประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่าแทน จึงได้มีการเปลี่ยนธงชาติมาเป็นแบบปัจจุบันเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2517
[แก้] ธงรัฐนาวีแห่งสหภาพพม่า
ธงรัฐนาวีแห่งสหภาพพม่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีขาว ที่มุมธงด้านต้นธงมีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีแดงภายในบรรจุรูปดาวห้าแฉกสีขาว ที่พื้นสีขาวด้านปลายธงส่วนล่างมีเครื่องหมายสมอเรือสีน้ำเงิน ลักษณะโดยรวมคล้ายธงราชนาวีอังกฤษ (White Ensign) แต่ไม่มีรูปธงยูเนียนแจ็คที่มุมธงด้านต้นธง และเครื่องหมายกางเขนแห่งเซนต์จอร์จที่กลางธง
[แก้] การเสนอธงชาติพม่าแบบใหม่ พ.ศ. 2549
ระหว่างการประชุมสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญของพม่า ได้มีการเสนอแบบของธงชาติพม่าใหม่เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ธงนี้เป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบ่งพื้นธงเป็นสามส่วนเท่ากัน แถบบนสุดเป็นสีเขียว หมายถึงสันติภาพ ความสงบและความเขียวชอุ่มของดินแดนพม่า แถบกลางเป็นสีเหลือง หมายถึงความสามัคคี แถบล่างสุดเป็นสีแดง หมายถึงความกล้าหาญและความเด็ดขาด ที่มุมธงด้านต้นธงมีดาวสีขาว หมายถึง สหภาพพม่าจะคงอยู่ชั่วกัลปาวสาน[3]
การเปลี่ยนธงชาติพม่าใหม่ครั้งนี้ได้มีการเสนอเรื่องโดยคณะกรรมาธิการชุดหนึ่งภายใต้การดำเนินการของสภาแห่งชาติพม่า อย่างไรก็ตาม สื่อของทางการพม่าได้กล่าวในภายหลังว่า บรรดาผู้แทนในสภาแห่งชาติพม่าได้เลิกล้มความคิดดังกล่าวแล้ว การเปลี่ยนธงชาติพม่าจึงไม่มีการเกิดขึ้นแต่อย่างใด
[แก้] อ้างอิง
- ^ Burma: historical flags; before British colonial times
- ^ 2.0 2.1 Myanmar (Burma): former flags
- ^ บทความจากหนังสือพิมพ์ New Light of Myanmar
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
ธงชาติพม่า เป็นบทความเกี่ยวกับ ธง หรือธงชาติ ขององค์กรหรือรัฐต่างๆ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ ธงชาติพม่า ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ |