เจ้าหญิงม็อดแห่งเวลส์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าหญิงม็อดแห่งเวลส์ (ม็อด ชาร์ล็อต แมรี วิกตอเรีย ต่อมาทรงเป็น สมเด็จพระราชินีแห่งนอร์เวย์; 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2412 - 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481) ทรงเป็นสมาชิกของพระราชวงศ์อังกฤษ โดยทรงเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรีย และต่อมาทรงเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งนอร์เวย์ พระมเหสีในสมเด็จพระราชาธิบดีโฮกุนที่ 7 แห่งนอร์เวย์ พระองค์ทรงเป็นพระราชินีแห่งประเทศนอร์เวย์พระองค์แรกนับตั้งแต่ ค.ศ. 1862 ที่มิได้ทรงเป็นทั้งพระราชินีแห่งประเทศเดนมาร์กและประเทศสวีเดน
เนื้อหา |
[แก้] ชีวิตในวัยเยาว์
เจ้าหญิงประสูติเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2412 ณ พระตำหนักมาร์ลโบโรกรุงลอนดอน โดยทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าหญิงม็อดแห่งเวลส์ พระธิดาพระองค์เล็กในเจ้าชายแห่งเวลส์ (ต่อมาภายหลังเสวยราชสมบัติเป็น สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7) พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรียและรัชทายาทอันดับที่ 1 แห่งราชบัลลังก์อังกฤษ ส่วนพระชนนีคือ เจ้าหญิงแห่งเวลส์ หรือ เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเดนมาร์ก
เจ้าหญิงม็อดทรงเข้ารับศีลจุ่มที่พระตำหนักมาร์ลโบโรจากจอห์น แจ็คสัน พระราชาคณะแห่งลอนดอน เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2412 ซึ่งทรงมีพ่อและแม่ทูนหัวคือ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งสวีเดนและนอร์เวย์ เจ้าชายเลโอโพลด์ ดยุคแห่งออลบานี เจ้าชายแห่งเฮสส์ เจ้าชายวิกเตอร์แห่งโฮเฮ็นโลเฮ-แล็งเก็นบูร์ก เจ้าหญิงอเดลไฮด์ ดัชเชสพระชายาแห่งนัสเซา เจ้าหญิงมารี เจ้าหญิงพระชายาแห่งไลนิงเกิน แกรนด์ดัชเชสมาเรีย เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย (ในภายหลังทรงเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งรัสเซีย) มกุฎราชกุมารีหลุยส์แห่งเดนมาร์ก และเซซิเลีย ดัชเชสแห่งอินเวอร์เนส
เจ้าหญิงทรงเป็นเด็กที่มีความกระฉับกระเฉงอย่างมาก จึงทำให้ทรงมีชื่อเรียกแบบเล่นๆว่า "แฮร์รี่" พระองค์ทรงมีส่วนร่วมอย่างมากในการเสด็จเยี่ยมเยียน ครอบครัวของเจ้าหญิงแห่งเวลส์ที่เดนมาร์กเป็นประจำทุกปี และต่อมายังได้โดยเสด็จพระชนนีและพระภคินีบนเรือหลวงไปนอร์เวย์และแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เจ้าหญิงพร้อมด้วยเจ้าหญิงหลุยส์และเจ้าหญิงวิกตอเรีย พระภคินีทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎแห่งอินเดียจากสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2430 และยังทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์วิกตอเรียและอัลเบิร์ต ชั้นที่ 1 และเครื่องราชอิสริยาภรณ์นักบุญจอห์นแห่งเยรูซาเล็ม ชั้นที่ 1 อีกด้วย
[แก้] อภิเษกสมรส
เจ้าหญิงม็อดอภิเษกสมรสกับเจ้าชายคาร์ลแห่งเดนมาร์ก พระญาติสนิทในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2439 ณ โบสถ์ประจำราชวงศ์ ในพระราชวังบัคกิ้งแฮม เจ้าชายคาร์ลทรงเป็นพระโอรสพระองค์ที่สองในมกุฎราชกุมารเฟรเดอริคแห่งเดนมาร์ก พระเชษฐาในสมเด็จพระราชินีอเล็กซานดรา กับเจ้าหญิงหลุยส์แห่งสวีเดน พระชนกของเจ้าหญิงพระราชทานพระตำหนักแอปเปิ้ลตัน ในเขตพระราชฐานแซนดริงแฮมไว้เพื่อให้เป็นตำหนักชนบทสำหรับการเสด็จเยือนอังกฤษอยู่เป็นประจำของพระองค์ และที่แห่งนี้ก็ได้เป็นที่ประสูติของพระโอรสเพียงพระองค์เดียวคือ
- สมเด็จเจ้าฟ้าชายอเล็กซานเดอร์แห่งเดนมาร์ก (อเล็กซานเดอร์ เอ็ดเวิร์ด คริสเตียน เฟรเดริค; 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2446 - 17 มกราคม พ.ศ. 2534)
- ทรงได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็น เจ้าฟ้าชายโอลาฟ มกุฎราชกุมารแห่งนอร์เวย์ ในวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2448 เมื่อพระชนกเสวยราชสมบัติเป็นกษัตริย์แห่งนอร์เวย์
- เสวยราชสมบัติเป็น สมเด็จพระราชาธิบดีโอลาฟที่ 5 แห่งนอร์เวย์ เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2500 หลังจากการเสด็จสวรรคตของพระชนก
- ทรงอภิเษกสมรสเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2472 ณ กรุงออสโล กับ เจ้าหญิงมาร์ธา โซเฟีย โลวิซา แด็กมาร์ ไธราแห่งสวีเดน (28 มีนาคม พ.ศ. 2444 - 5 เมษายน พ.ศ. 2497) ทรงมีพระโอรสและธิดา 3 พระองค์
เจ้าชายคาร์ลทรงปฏิบัติหน้าที่อยู่ในราชนาวีเดนมาร์ก พระองค์และครอบครัวประทับอยู่ในประเทศเดนมาร์กเป็นส่วนใหญ่จนกระทั่งปี พ.ศ. 2448 ในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน รัฐสภาแห่งนอร์เวย์ได้แยกประเทศนอร์เวย์ออกจากการรวมตัวมาเป็นเวลาหนึ่งร้อยปีกับสวีเดนและทูลเกล้าถวายราชบัลลังก์แก่เจ้าชายคาร์ล พระองค์ทรงยอมรับราชบัลลังก์นอร์เวย์หลังจากการสำรวจประชามติของชาวนอร์เวย์ในเดือนพฤศจิกายน โดยทรงมีพระนามว่า สมเด็จพระราชาธิบดีโฮกุนที่ 7 (HM King Haakon VII) ขณะที่พระโอรสทรงใช้พระนามว่า มกุฎราชกุมารโอลาฟ (HRH Crown Prince Olav) ส่วนเจ้าหญิงม็อดทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระราชินีม็อด (HM Queen Maud) ทั้งกษัตริย์โฮกุนและพระราชินีม็อดทรงเข้าพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2449 ณ โบสถ์นิดารอส เมืองทรอนด์ไฮม์ ซึ่งเป็นพระราชพิธีสวมมงกุฎครั้งสุดท้ายของพระประมุขชาวสแกนดิเนเวีย
[แก้] ชีวิตของราชินี
ด้วยเหตุที่เจ้าหญิงม็อดทรงเป็นพระราชธิดาในองค์พระประมุขครองบัลลังก์แห่งสหราชอาณาจักร เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐสภานอร์เวย์ในการมอบราชบัลลังก์ให้แก่เจ้าชายคาร์ลในปี พ.ศ. 2448 เมื่อเจ้าชายทรงยอมรับเจ้าหญิงม็อดจึงทรงเป็นสมเด็จพระราชินีมเหสีแห่งนอร์เวย์พระองค์แรกหลังการแยกออกมาจากการรวมกับประเทศสวีเดน
สมเด็จพระราชินีม็อดทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ มากมายอยู่นอกสายตาสื่อมวลชน พระองค์ทรงมีพระราชภารกิจด้านสังคมและวัฒนธรรมและทรงอุทิศพระองค์ให้กับเรื่องของการกุศลต่างๆ ด้วย ในปี พ.ศ. 2457 พระองค์ทรงมีพระดำริให้ตั้งกองทุนภายใต้พระนามเพื่อช่วยเหลือพสกนิกรในสภาวะยากลำบากหลังจากการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 1
พระองค์ทรงเป็นบุคคลที่เก็บพระองค์ ในสาธารณชนพระองค์จะรู้สึกประหม่าอยู่บ่อยครั้ง แต่เมื่อทรงเป็นส่วนพระองค์ ก็จะทรงมีความอบอุ่นและมีชีวิตชีวา นอกจากนี้ยังทรงเกี่ยวข้องในการเลี้ยงดูมกุฎราชกุมารโอลาฟ พระโอรส และทรงพยายามทำให้เหมือนเด็กชายชาวนอร์เวย์โดยทั่วไป แม้ว่าตัวพระองค์เองจะไม่เคยตรัสภาษานอร์เวย์อย่างคล่องแคล่วเลยก็ตาม
สมเด็จพระราชินีม็อดไม่ทรงเคยหมดรักในประเทศอังกฤษ แต่ก็ทรงสามารถปรับตัวเข้ากับประเทศใหม่และพระราชกรณียกิจฐานะพระมเหสีได้เป็นอย่างดี พระองค์ทรงสนับสนุนองค์กรการกุศลมากมาย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเด็กและสัตว์ และยังได้ทรงสนับสนุนนักดนตรีและศิลปินอีกด้วย นอกจากนี้ยังทรงเรียนการเล่นสกีและจัดสวนแบบอังกฤษในพระตำหนัก Kongsseteren ซึ่งเป็นพระตำหนักหลวงที่มองเห็นทัศนียภาพของกรุงออสโลอย่างชัดเจน การปรากฏพระองค์ครั้งสุดท้ายในอังกฤษของพระองค์คือ การเสด็จร่วมพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระนัดดาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2480 โดยทรงประทับบนพลับพลาในมหาวิหารเวสต์มินส์เตอร์ถัดจากสมเด็จพระราชินีแมรี่ และเจ้าหญิงพระวรราชกุมารี เค้านท์เตสแห่งแฮร์วูด
พระองค์ยังทรงมีกิตติศัพท์ในเรื่องการฉลองพระองค์ด้วยรูปแบบที่นำสมัย นิทรรศการผลงานชิ้นต่างๆ จากอาภรณ์อันงดงามของพระองค์ได้จัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์วิกตอเรียและอัลเบิร์ตในปี พ.ศ. 2548
[แก้] ปลายพระชนม์ชีพ
เจ้าหญิงม็อดสิ้นพระชนม์วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ณ กรุงลอนดอน ด้วยอาการพระหทัยวาย เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนวันประสูติครบรอบ 69 พรรษา 3 วันหลังจากการผ่าตัด พระศพของพระองค์ถูกนำกลับไปสู่ประเทศนอร์เวย์บนเรือหลวง Royal Oak ซึ่งเป็นเรือประดับธงของกองเรือรบที่ 2 แห่งราชนาวีนอร์เวย์ และถูกฝังลงในสุสานหลวงที่วิหารอาเคอร์ชุส