เก้ง
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อันดับ | Artiodactyla |
อันดับย่อย | Ruminantia |
วงศ์ | Cervidae |
วงศ์ย่อย | Muntiacinae |
สกุล | Muntiacus Rafinesque, 1815 |
สปีชีส์ | M. muntjak |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Muntiacus muntjak Zimmermann, ค.ศ. 1780 |
สถานะอนุรักษ์ | สถานะ : ยังไม่มีข้อมูล |
เก้ง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่งในอันดับสัตว์กีบคู่ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Muntiacus muntjac มีรูปร่างคล้ายกวางทั่วไป แต่มีขนาดเล็กกว่า ขนสั้นมีสีน้ำตาลแกมเหลือง หรือน้ำตาลแกมส้ม แต่เปลี่ยนสีได้ตามฤดูกาล คือ ในช่วงฤดูร้อนสีขนจะซีดอ่อนกว่าในช่วงฤดูหนาว หน้าผากมีสีน้ำตาลไหม้คล้ายรูปตัววี(V) ใต้คาง คอ ท้องตอนล่าง หางและด้านในขามีสีขาว หลังหูไปถึงสันคอมีสีดำเป็นแนวยาวเรื่อยมาลงมาถึงจมูก ตัวผู้มีเขาสั้น ๆ งอกยาวออกมาจากหน้าผาก และมีเขี้ยวงอกยาวออกมาจากริมฝีปาก ลูกที่เกิดใหม่จะมีจุดสีขาวขึ้นประปรายตามลำตัว
มีความยาวลำตัวและหัว 90-105 เซนติเมตร ความยาวหาง 17-19 เซนติเมตร น้ำหนัก 20-28 กิโลกรัม
มีการกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวาง จึงทำให้มีพันธุ์ย่อย (Species) มากถึง 15 ชนิด พบตั้งแต่ภาคตะวันตกของอินเดียเรื่อยมาจนถึงเนปาล ภูฏาน บังคลาเทศ พม่า ภาคใต้ของจีน ไต้หวัน ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย เกาะสุมาตรา เกาะชวาและเกาะบอร์เนียว
เก้ง สามารถอาศัยอยู่ได้ในหลากหลายภูมิประเทศ เช่น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบชื้น ชายป่าใกล้พื้นที่เกษตรกรรม มักอาศัยตามลำพังยกเว้นในช่วงผสมพันธุ์หรือมีลูกอ่อน ที่อาจพบเห็นว่าลงกินดินโป่งด้วยกันมากกว่า 2 ตัวขึ้นไป ออกหากินในเวลากลางวัน ขณะกินอาหารจะรีบเคี้ยวและรีบกลืนลงไปอย่างรวดเร็ว อาหารที่กลืนเข้าไปจะถูกเก็บไว้ในกระเพาะพัก เมื่ออยู่ในที่ปลอดภัยจะขย้อนออกมาแล้วเคี้ยวจนละเอียดอีกครั้ง ส่วนที่เคี้ยวไม่ได้จะคายทิ้งไว้ตามพื้น ใช้จมูกเป็นระบบสัมผัสที่สำคัญ ในฤดูผสมพันธุ์ ตัวผู้จะต่อสู้กันเพื่อแย่งตัวเมีย สามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี แต่ส่วนใหญ่จะผสมพันธุ์กันในช่วงเดือนกันยายน-พฤษภาคม ใช้เวลาตั้งท้องประมาณ 6 เดือน เวลาตกใจจะร้องเสียงดัง " เอิ๊บ เอิ๊บ " แล้ววิ่งหนีไป ดังนั้นจึงได้ชื่อในภาษาอังกฤษว่า " กวางเห่า " (Barking Deer)