สวนหลวง ร.9
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ประเภท | สวนชุมชน |
ที่ตั้ง | ถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 เขตประเวศ |
พิกัดภูมิศาสตร์ | |
เนื้อที่ | 500 ไร่ |
วันเปิดทำการ | พ.ศ. 2530 |
สถานะทำการ | 05.00 - 21.00 น. ทุกวัน |
ผู้ดำเนินการ | กรุงเทพมหานคร |
สวนหลวง ร.9 เป็นสวนสาธารณะและสวนพฤกษศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ อยู่ในแขวงหนองบอน เขตประเวศ ทางตะวันออกของกรุงเทพมหานคร จัดสร้างเพื่อสร้างเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในศุภมงคลสมัยเจริญพระชนมพรรษาครบรอบ 60 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530
เนื้อหา |
[แก้] ประวัติ
สวนหลวง ร.9 จัดสร้างขึ้นเนื่องจาก แนวคิดที่จะสร้างสวนน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2525 โดยท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาคเป็นผู้นำ ร่วมกับแนวคิดของกรุงเทพมหานคร ที่ต้องการพื้นที่รับน้ำ และปรับปรุงระบบระบายน้ำให้มีความต่อเนื่อง มีที่พักน้ำท่วมขังก่อนถ่ายเทออกแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. 2523
ได้มีการจัดตั้ง มูลนิธิสวนหลวง และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้ชื่อสวนสาธารณะแห่งใหม่นี้ว่า "สวนหลวง ร.9" มีการระดมทุนจัดซื้อที่ดิน เชิญชวนให้ประชาชนซื้อดินหน่วยละ 1 ตารางวา สร้างสวน กระจายพื้นที่ 500 ไร่ ออกเป็น 800,000 ตารางเมตร ตารางเมตรละ 500 บาท ต่อมาได้ใช้พื้นที่ของกรุงเทพมหานคร แลกเปลี่ยนที่ดินเพิ่มเติมกับเอกชนในบริเวณใกล้เคียง
[แก้] หอรัชมงคล
หอรัชมงคล ลักษณะอาคารเป็นรูปเก้าเหลี่ยมด้านเท่า หลังคาโครงสูง ประกอบด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลืองทอง อันเป็นสีวันพระราชสมภพ เป็นศิลปกรรมประยุกต์แห่งสมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่บนเนิน 9 ระดับ ภายในมีห้อง 9 ห้อง ฝาโดยรอบเป็นกระจกให้ประชาชนชมได้จากภายนอก ภายในห้องจัดแสดงหุ่นจำลอง โครงการในพระราชดำริ และของใช้ส่วนพระองค์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทาน อาทิ เรือใบซูเปอร์มด แซกโซโฟน แผนที่เก่า เป็นต้น บริเวณภายในอาคารเป็นห้องกว้างขนาดใหญ่ ใช้เป็นที่จัดกิจกรรม จุคนได้ประมาณ 500 คน
[แก้] การจัดแบ่งพื้นที่ภายในสวนหลวง ร.9
- บริเวณเฉลิมพระเกียรติ ประกอบด้วยหอรัชมงคล และอุทยานมหาราช ภายในหอรัชมงคลจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ และเครื่องใช้ส่วนพระองค์
- สวนพฤกษศาสตร์ เป็นวัตถุประสงค์สำคัญในการจัดสร้างสวนหลวง ร.9 แห่งนี้ เนื้อที่รวม 150 ไร่ มีการจัดพันธุ์ไม้หลักอนุกรมวิธานและนิเวศน์วิทยา และยังเป็นที่รวบรวมไม้พันธุ์ต่างๆ ของไทย รวมทั้งไม้ที่หายาก และสมุนไพรต่างๆ พร้อมทั้งสวนนานาชาติ เช่น สเปน ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น และอังกฤษ เปิดให้เข้าชมเฉพาะวันจันทร์-เสาร์ บริเวณนี้มีอาคารต่าง ๆ ดังนี้
- หอพฤกษศาสตร์ เป็นที่เก็บรวบรวมตัวอย่างพันธุ์ไม้และเอกสารเกี่ยวกับพันธุ์ไม้
- อาคารถกลพระเกียรติ เป็นที่ประชุม สัมมนาทางวิชาการ และจัดกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดปี
- อาคารพันธุ์ไม้ทะเลทราย (จิโอเดสิกโดม) และภายนอกอาคารเป็นที่รวมพันธุ์ไม้ทะเลทราย และไม้อวบน้ำต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
- อาคารพันธุ์ไม้ในร่ม ภายในอาคารปลูกประดับด้วยไม้ในร่มนานาชนิด นอกจากนี้ยังมีเรือนเฟิร์นและกล้วยไม้ สำหรับรวบรวมพันธุ์เฟิร์นและกล้วยไม้ชนิดต่าง ๆ
- ตระพังแก้วเก็บน้ำ มีเนื้อที่ 40 ไร่ เป็นที่พักเก็บน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณเมืองชั้นใน ใช้ประโยชน์เพื่อการกีฬาทางน้ำ ตลอดจนอนุรักษ์สัตว์น้ำ มีบริการเรือพาย และจักรยานน้ำ
- สวนรมณีย์ เนื้อที่ 50 ไร่ เป็นการจัดสวนเพื่อเลียนแบบธรรมชาติท้องถิ่น มีน้ำตก ลำธาร ตกแต่งด้วยวัสดุ พันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ และสัญลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นนั้นๆ บริเวณนี้ยังมีสวนจีน ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยสร้างน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสวนเชิงผา
- สวนน้ำ เนื้อที่ 40 ไร่ เป็นที่รวบรวมพันธุ์ไม้น้ำสวยงามหลากชนิดปลูกไว้ในลำธาร และบริเวณริมสองฝั่ง
- สนามราษฎร์ และ ลานอเนกประสงค์ เนื้อที่ประมาณ 70 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ลานสนามกว้าง และเวทีกลางแจ้ง เป็นสถานที่จัดการแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีและประกวดผลิตผลทางการเกษตร
- อาคารพันธุ์ไม้ทะเลทราย เป็นที่รวบรวมพันธุ์ไม้ทะเลทราย และไม้อวบน้ำทั้งของไทย และต่างประเทศ
ระหว่างวันที่ 1-10 ธันวาคม ของทุกปี จะมีการจัดงาน งานพรรณไม้อร่ามสวนหลวง ร.9 จัดโดยมูลนิธิสวนหลวง ร.9 ร่วมกับกรุงเทพมหานคร
[แก้] ภาพ
ปทุมาชมพูอ่อน ด้านหน้าอาคารพรรณไม้แขวน |
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- ภาพถ่ายดาวเทียม จาก วิกิแมเปีย หรือ กูเกิลแมป
- แผนที่ จาก มัลติแมป หรือ โกลบอลไกด์
- ภาพถ่ายทางอากาศ จาก เทอร์ราเซิร์ฟเวอร์