วิศวกรรมโยธา
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิศวกรรมโยธา (civil engineering) เป็นศาสตร์ของสาขาหนึ่งในทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ครอบคลุมการก่อสร้างตึก ตึกระฟ้า อาคาร สะพาน ถนน และระบบขนส่งอื่น ๆ รวมถึงระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น เขื่อน คลอง ตลอดจนการทำรังวัดในงานสำรวจและแผนที่ รวมไปถึงการวิเคราะห์ทางธรณีและชลศาสตร์ และการบริหารจัดการการก่อสร้าง งานในทางด้านวิศวกรรมจะเน้นทางด้านการใช้วัสดุและทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผู้ที่ประกอบวิชาชีพในสาขานี้เรียกว่า วิศวกรโยธา หรือเรียกกันว่า นายช่าง ในการทำงานในประเทศไทย ผู้ที่ประกอบวิชาชีพจะขึ้นทะเบียนกับสภาวิศวกรเพื่อรับ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรม (กว.) โดยจะมีการสอบจัดขึ้นปีละครั้ง
[แก้] สาขาย่อย
- วิศวกรรมโครงสร้าง (Structural Engineering)
- ศึกษาเกี่ยวกับการออกแบบและคำนวณ สิ่งก่อสร้าง การศึกษาในสาขานี้จะเน้นในทางด้านงานคำนวณน้ำหนักของสิ่งก่อสร้าง และแรงต้านทานของวัสดุ งานที่เกี่ยวข้องได้แก่ การก่อสร้างอาคาร เขื่อนหรือสะพาน
- วิศวกรรมก่อสร้างและการจัดการ (Construction Engineering and Management)
- ศึกษาเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารเป็นหลัก โดยเน้นศึกษาทางด้านระบบการสร้างอาคาร การวางแผนงาน การประเมินราคาค่าก่อสร้าง นอกจากนี้ ในบางสถาบันจะมีการสอนเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า ระบบปรับอากาศ และระบบสุขาภิบาลภายในอาคาร
- วิศวกรรมขนส่ง (Transportation Engineering)
- ศึกษาแยกเป็น 2 สาขาหลักคือระบบและวัสดุ โดยงานทางด้านระบบจะเน้นทางด้านการวางผัง การจราจร และการจัดการทางด้านงานจราจร โดยทำการศึกษาถึงประโยชน์และค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างระบบถนน สำหรับงานทางด้านวัสดุจะเน้นในการศึกษาวัสดุในการทำถนน ได้แก่ คอนกรีตและยางมะตอย เป็นหลัก โดยศึกษาถึงกรรมวิธีในการสร้างถนนและปรับปรุงถนน
- วิศวกรรมเทคนิคธรณี (Geotechnical engineering)
- ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติทางด้านฟิสิกส์และวิศวกรรมของดิน เพื่อการวิเคราะห์ ออกแบบ และแก้ปัญหาด้านวิศวกรรมโยธา
- วิศวกรรมธรณี (Geological engineering)
- ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติทางด้านฟิสิกส์ วิศวกรรมของหิน และธรณีวิทยาประยุกต์ เพื่อการวิเคราะห์ ออกแบบ และแก้ปัญหาด้านวิศวกรรมโยธาและเหมืองแร่
- วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental Engineering)
- ศึกษาเกี่ยวกับการจัดการระบบสิ่งแวดล้อมในน้ำและในอากาศ การปรับปรุงคุณภาพของของเสีย
- วิศวกรรมแหล่งน้ำ (Water Resource engineering)
- ศึกษาเกี่ยวกับงานทางด้านแหล่งน้ำ ปริมาณน้ำฝน และระบบการระบายน้ำ รวมทั้งการก่อสร้างคู คลอง และแม่น้ำ
- วิศวกรรมสำรวจ (Survey Engineering)
- ศึกษาเกี่ยวกับวิธีการทำรังวัดและงานทางด้านสำรวจ สำหรับใช้ในทางด้านแผนที่ รวมถึงการศึกษาทางด้าน จีพีเอส (GPS) และ ภูมิสารสนเทศ (Geoinformatics หรือ Geographic information system;GIS)
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ว.ส.ท.)
- ตั้มซีวิล แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับวิศวกรรมโยธา และซอฟต์แวร์]]
- สมาคมคอนกรีตไทย (ส.ค.ท.)
- สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย
- ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
- American Society of Civil Engineers Journal ในสาขาวิศวกรรมโยธา