See also ebooksgratis.com: no banners, no cookies, totally FREE.

CLASSICISTRANIERI HOME PAGE - YOUTUBE CHANNEL
Privacy Policy Cookie Policy Terms and Conditions
วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร - วิกิพีเดีย

วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร
พระบรมธาตุหริภุญชัย
พระบรมธาตุหริภุญชัย

วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ใจกลาง เมืองลำพูน มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๒๗ ไร่ ๓ งาน ๘๘ ตารางวา

เนื้อหา

[แก้] อาณาเขตวัด

[แก้] ประวัติวัดพระธาตุหริภุญชัย

วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ในรัชสมัยของพญาอาทิตยราช กษัตริย์แห่งราชวงศ์จามเทวีวงศ์ โดยที่แห่งนี้ เคยเป็นพระราชฐานของพระองค์ซึ่งพระราชทานอุทิศถวายให้เป็นวัดพระธาตุฯ เพื่อเป็นพุทธบูชาหลังจากที่พระบรมสารีริกธาตุได้ปรากฏ ให้พระองค์ได้ทอดพระเนตรในบริเวณดังกล่าว มวลสารผงจากองค์พระบรมธาตุหริภุญชัยใช้ทำพระสมเด็จจิตรลดา

[แก้] โบราณสถานที่สำคัญภายในวัด

พระบรมธาตุหริภุญชัย เป็นโบราณสถานอันสำคัญของนครหริภุญชัยที่ พระเจ้าอาทิตยราช เป็นผู้สถาปนาขึ้นในราว พุทธศตวรรษที่ ๑๗ เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ อันมี ธาตุกระหม่อม ธาตุกระดูกอก ธาตุกระดูกนิ้วมือ และธาตุย่อยอีกเต็มบาตรหนึ่ง ตามพุทธทำนายลักษณะทางสถาปัตยกรรมขององค์พระธาตุหริภุญชัย ตามที่ปรากฏในหนังสือตำนานพระธาตุหริภุญชัย กล่าวว่า มีลักษณะ เป็นสถูปสี่เหลี่ยมทรงปราสาท ที่มีซุ้มทวาร เข้า- ออกทะลุกันได้ทั้งสี่ด้าน มีปราสาทสี่เหลี่ยมอยู่ตรงมุมละองค์ก่อด้วยศิลาแลงซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีมากอยู่ในเมืองนี้ ภายในเป็นแท่น สำหรับประดิษฐาน พระโกศที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในสมัยของพญาสรรพสิทธิ์ กษัตริย์แห่งราชวงศ์จามเทวีวงศ์ ทรงโปรดให้ปฏิสังขรณ์เจดีย์เดิมที่พญาอาทิตยราชทรงสร้างไว้และได้ขุดร่องทวารประตูเข้า-ออก ทั้งสี่เพื่อความปลอดภัย รูปทรงสันฐานขององค์พระบรมธาตุยังคงเป็นลักษณะเดิม คือ เป็นทรงปราสาทสี่เหลี่ยมที่กว้างใหญ่และสูง เมื่อ พญามังราย ตีเมืองหริภุญชัยได้ โปรดให้ซ่อมแซมดัดแปลงองค์พระธาตุขึ้นใหม่ การปฏิสังขรณ์ครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงทรวดทรง ขององค์พระธาตุฯ จากทรงปราสาทกลายเป็นทรงเจดีย์ฐานกลมแบบทรงลังกา ในสมัยของพระเจ้าแสนเมืองมาประมาณปี พ.ศ. ๑๙๕๑ โปรดให้มีการปิดทององค์พระธาตุ พ.ศ. ๑๙๙๐ พระเจ้าติโลกราชกษัตริย์องค์สำคัญแห่งเมืองเชียงใหม่ ทรงร่วมกับพระมหาเมธังกรเถระ ก่อพระมหาเจดีย์ให้สูงขึ้นเป็น ๙๒ ศอก กว้างยาวขึ้น ๕๒ ศอก เป็นรูปร่างที่เห็นเป็นอยู่ในปัจจุบัน

[แก้] ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

ตัวพระบรมธาตุ ประกอบด้วย

  • ฐานปัทม์แบบฐานบัวลูกแก้วย่อเก็จ ต่อจากฐานบัวลูกแก้วเป็นฐานเขียงกลมสามชั้นรับฐานบัวซึ่งมีลักษณะคล้าย มาลัยเถาสามชั้นซึ่งตั้งรับองค์ระฆังกลม องค์ระฆังประดับด้วยลวดลายดอกไม้สี่กลีบระหว่างลายดอกไม้สี่กลีบนั้นมีการดุนนูนเป็นภาพพระพุทธรูป รอบองค์ระฆังซึ่งมองเห็นได้อย่างชัดเจน เหนือขึ้นไปเป็นบัลลังก์ย่อมุม ส่วนบนเป็นปล้องไฉน ปลียอดเหนือสุดทำเป็นฉัตรเก้าชั้น นอกจากนี้พระเจ้าติโลกราช ได้โปรดให้ก่อกำแพงโดยรอบเขตพุทธาวาสเพื่อเป็นการป้องกันรักษาองค์พระธาตุอีกชั้นหนึ่ง ทั้งยังทรงให้ก่อสร้างซุ้มประตูโขงประดับด้วยลวดลายปูนปั้นอย่างงดงามทางประตูด้านทิศตะวันออกหน้าวิหารหลวงทางทิศเหนือและทางทิศใต้และ ทิศตะวันตก ปัจจุบันคงเหลือแต่ซุ้มประตูโขง ทางทิศตะวันออก และทางด้านทิศใต้ปี พ.ศ. ๒๐๕๔ พระเมืองแก้ว กษัตริย์นครเชียงใหม่โปรดให้หุ้มบุองค์พระธาตุ ด้วยแผ่นทองจังโกฐ ที่เป็นแผ่นทองแดง และทรงให้ปิดทองทั้งหมดพร้อมๆ กับโปรดให้สร้างระเบียงหอก ทำด้วยทองเหลืองซึ่งสั่งทำจากเมืองเชียงแสนขึ้นเป็นรั้วล้อมโดยรอบขององค์พระธาตุด้วย โปรดให้สร้างวิหารหลวงทางด้านทิศตะวันออกขององค์พระธาตุหริภุญชัยเป็นศิลปะล้านนา นอกจากนี้ยังสร้างกำแพงเมือง และขุดคูโดยรอบกำแพงเมืองใหม่ขึ้น เป็นการย่นย่อตัวเมืองหริภุญชัยให้มีขนาดเล็กลงเพื่อเป็นการสะดวกที่จะดูแลรักษาองค์พระธาตุให้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งในการสร้างกำแพงเมืองในครั้งนี้ทำให้วัดสี่มุมเมืองที่สำคัญและสร้างขึ้นในสมัยของพระนางจามเทวีกลายเป็นวัดนอกเมืองลำพูนไป ในปี พ.ศ. ๒๓๒๙ ในสมัยของพระเจ้ากาวิละเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้มีพระราชศรัธทาตั้งฉัตรหลวงสี่มุม และยกฉัตรยอดเป็นทองคำเนื้อเจ็ด ฐานฉัตรกว้าง ๑ เมตร พระธาตุเจ้าหริภุญชัยเป็นที่เคารพสักการบูชาของชาวลำพูนและชาวเมืองเหนือมาแต่โบราณกาลตราบเท่าทุกวันนี้
  • สุวรรณเจดีย์หรือปทุมวดีเจดีย์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือขององค์พระธาตุหริภุญชัย เป็นเจดีย์ที่มีลักษณะการก่อสร้างแบบเดียวกับ เจดีย์สี่เหลี่ยมหรือเจดีย์กู่กุดที่วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน องค์เจดีย์สร้างด้วยศิลาแลงและอิฐ เป็นเจดีย์ทรงปราสาทมีฐานสี่เหลี่ยมซ้อนชึ้นไปห้าชั้น แต่ละชั้นประดับซุ้มจระนำทั้งสี่ด้าน ด้านละสามซุ้ม ภายในซุ้มจะประดิษฐานพระพุทธรูปดินเผาประทับยืนประทับอยู่ ซึ่งมีร่องรอยของการลงรักปิดทอง ปัจจุบันเหลือให้เห็นเพียงไม่กี่องค์ ส่วนบนสุดของเจดีย์เป็นกลีบบัวปูนปั้นหุ้มด้วยโลหะแผ่น ส่วนยอดปลายสุดทำเป็นกรวยแหลมเรียวยาวขึ้นไป สุวรรณเจดีย์องค์นี้มีพระพิมพ์ที่สำคัญและมีชื่อเสียงของเมืองลำพูนบรรจุอยู่ภายใน คือ พระเปิม
  • เจดีย์เชียงยันหรือเจดีย์เชียงยืน เจดีย์องค์นี้ตั้งอยู่นอกกำแพงทางทิศเหนือของพระธาตุหริภุญชัย ตามตำนานกล่าวว่า สร้างขึ้นในสมัยของพญาอาทิตยราช สำหรับเจดีย์ในปัจจุบัน เป็นเจดีย์ที่ได้รับการปฏิสังขรณ์ในสมัยพระเจ้าติโลกราช และกรมศิลปากรก็ได้ทำการบูรณะองค์พระเจดีย์ใหม่ด้วยลักษณะทาสถาปัตยกรรมตรงส่วนของฐานล่างเจดีย์เป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสซ้อนขึ้นไปสี่ชั้น เหนือขึ้นไปทำเป็นบัวคว่ำและบัวถลาเป็นส่วนรองรับฐานสูง เหนือขึ้นไปเป็นเรือนธาตุ ตัวเรือนธาตุทั้งสี่ด้านทำเป็นซุ้มจระนำ แต่ก่อนคงประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ตรงเหนือ ส่วนของเรือนธาตุขึ้นไปเป็นฐานแปดเหลี่ยมซ้อนขึ้นไปรองรับองค์สถูปที่เป็นทรงระฆังแบบลังกา เหนือเรือนธาตุทำเป็นเจดีย์จำลองทรงสี่เหลี่ยมตรงมุมทั้งสี่ เหนือองค์ระฆังไม่มีบัลลังก์แต่ทำเป็นยอดบัวกลุ่มสลับกับบัวลูกแก้วลดหลั่นกันไปถึงส่วนยอดลวดลายที่ประดับและประกอบซุ้มจระนำ และผนังย่อเก็จประกอบไปด้วยลายบัวคอเสื้อประจำยามและบัวเชิงล่างมีลักษณะเป็นลายดอกเบญจมาศและใบไม้ประดิษฐ์ ล้อมรอบในกรอบเส้นลวดซึ่งเป็นรูปแบบของลวดลายที่นิยมทำกันในสมัยพระเจ้าติโลกราช
  • หอระฆัง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์พระธาตุหริภุญชัย เป็นหอสำหรับแขวนระฆังและกังสดาลขนาดใหญ่ สร้างขึ้นโดย พระครูพิทักษ์เจติยานุกิจ (ครูบาคำฟู) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ ด้านบนแขวนระฆังขนาดใหญ่ซึ่งหล่อขึ้นในสมัยเจ้าหลวงดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ ๗ และชั้นล่างห้อยกังสดาลขนาดใหญ่ซึ่งหล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๓ ฝีมือครูบาสูงเม่นโดยกัญจนมหาเถระ เจ้าอาวาสวัดป่าเมืองแพร่ และเจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่ เป็นศรัทธาสร้างหล่อกังสดาลนี้ ในวัดพระสิงห์เมืองเชียงใหม่เพื่อไว้เป็นเครื่องบูชาพระธาตุหริภุญชัย
  • หอไตรหรือหอธรรม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ขององค์พระธาตุหริภุญชัยจากศิลาจารึก ลพ.๑๕ (ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชยจังหวัดลำพูน) เป็นจารึกอักษรไทยล้านนา จารึกขึ้นในราว พ.ศ. ๒๐๔๓ ซึ่งอยู่ในช่วงรัชกาลพระเมืองแก้ว จารึกหลักนี้ประดิษฐานอยู่ที่ วัดพระธาตุหริภุญชัย เรื่องราวในจารึกได้กล่าวถึงพระเมืองแก้ว กับพระราชมารดาของพระองค์ได้ร่วมกันบำเพ็ญพระราชกุศล อันยิ่งใหญ่สถาปนาหอไตรปิฎกหรือหอพระธรรมมณเฑียร เป็นสถานที่เก็บรักษาคัมภีร์พระไตรปิฎก ครบทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พร้อมทั้งอรรถกถาฎีกาและอนุฎีกา รวมทั้งสิ้นเป็นคัมภีร์ ๔๒๐ พระคัมภีร์ซึ่งเป็นพระคัมภีร์ใบลานทั้งหมด ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของหอไตรหลังนี้มีลักษณะเช่นเดียวกับหอไตรของวัดพระสิงห์ และวัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นแบบที่นิยมสร้างกันทั่วไปในดินแดนล้านนา สำหรับหอไตร วัดพระธาตุหริภุญชัยหลังนี้ สร้างเป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ชั้นบนเป็นอาคารเครื่องไม้ ตัวอาคารหอไตร ตั้งอยู่บนฐานขนาดใหญ่ ซึ่งมีบันไดขึ้นทางด้านหน้า สองข้างบันไดมีสิงห์โตหินประดับที่หัวเสา ตัวอาคารหอไตรชั้นล่างที่ก่อด้วยอิฐถือปูนมีประตูทางเข้าทางเดียว ส่วนชั้นบนเป็นเครื่องไม้ทำเป็นบันไดนาคเล็กๆ ตั้งอยู่ด้านหน้าบนประตูทางเข้าชั้นล่าง ตัวอาคารมีการประดับด้วยไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจกอย่างสวยงาม มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หลังคาลดชั้นประดับด้วยช่อฟ้าใบระกาหางหงส์หลังคามุงด้วยแผ่นดีบุก
  • วิหารหลวง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกขององค์พระธาตุ สร้างขึ้นในสมัยพระเมืองแก้วกษัตริย์ผู้ครองนครเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. ๒๐๕๗ เป็นแบบพื้นเมืองทรงล้านนาสวยงามมาก ต่อมาวิหารได้ถูกลมพายุใหญ่พัดปรักหักพังอย่างยับเยิน ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ท่านเจ้าอาวาสพร้อมด้วยศรัทธาประชาชนชาวเมืองลำพูน ได้ช่วยกันบูรณะขึ้นมาใหม่ ภายในวิหารหลวงเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วขาว พระเสตังคมณีศรีเมืองหริภุญชัย ประทับนั่งอยู่เหนือบุษบกที่แกะสลักลงรักปิดทอง อย่างสวยงาม
  • วิหารพระละโว้ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือขององค์พระธาตุหริภุญชัย ตัววิหารสร้างใหม่ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ เรียกว่าพระละโว้
  • วิหารพระพุทธ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ขององค์พระธาตุหริภุญชัย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัยขนาดใหญ่ ลงรักปิดทอง เรียกว่า พระพุทธ
  • วิหารพระทันใจ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกขององค์พระธาตุหริภุญชัย ภายในประดิษฐานพระทันใจ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนซึ่งถือว่าเป็น พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถบันดาลให้ผู้ที่กราบไหว้สัมฤทธิผลได้ดังใจ
  • วิหารพระพันตน ตั้งอยู่หลังวิหารพระละโว้ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปจำนวนมาก
  • วิหารพระบาทสี่รอย ตั้งอยู่หลังวิหารพระพุทธ ภายในประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองมาจากอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
  • วิหารพระไสยาสน์ ตั้งอยู่เหนือวิหารพระละโว้ ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง
  • วิหารพระกลักเกลือหรือพระเจ้าแดง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวิหารพระทันใจ ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย ก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ทาด้วยสีแดง
  • เขาพระสุเมรุจำลอง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ขององค์พระธาตุหริภุญชัย ด้านหน้าหอไตร มีลักษณะคล้ายกับเจดีย์ขนาดเล็กทรงกลม ก่อด้วยอิฐถือปูน ส่วนยอดทำลดหลั่นกันขึ้นไปเจ็ดชั้น มีการประดับสำริดซึ่งหล่อเป็นชั้นๆ แล้วนำมาประกอบเป็นทรงกลมภายหลังส่วนฐานที่รองรับ ยอดปราสาทที่อยู่ด้านบนสุด คือ สัตตบริภัณฑ์หรือภูเขาที่ล้อมรอบพระสุเมรุทั้งเจ็ดชั้น โดยมีเกษียรสมุทรคั่นระหว่างเขาแต่ละชั้น สัตตบริภัณฑ์นี้ช่างได้ทำเป็นรูปป่าไม้ มีสัตว์ป่า มีต้นไม้ และเหล่าอสุร ที่อาศัยอยู่ที่เชิงเขาพระสุเมรุด้าน บนสุดทำเป็นปราสาทซึ่งเป็นที่สถิตของพระอินทร์เทวดาในศาสนาพุทธ ที่มีหน้าที่คอยดูแลความเป็นไปบนโลกและคอยช่วยเหลือคนดีที่ตกทุกข์ได้ยาก โดยทำเป็นปราสาทหกเหลี่ยมเล็กๆ แต่ละด้านมีซุ้มประตูโค้ง ส่วนยอดของปราสาทมีลักษณะเหมือนยอดมณฑปโบราณสถาน ภายในวิหารคต ทั้งหมดของวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๕ ลงวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ และ เล่มที่ ๙๖ ตอนที่ ๑๘๔ ลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๒


aa - ab - af - ak - als - am - an - ang - ar - arc - as - ast - av - ay - az - ba - bar - bat_smg - bcl - be - be_x_old - bg - bh - bi - bm - bn - bo - bpy - br - bs - bug - bxr - ca - cbk_zam - cdo - ce - ceb - ch - cho - chr - chy - co - cr - crh - cs - csb - cu - cv - cy - da - de - diq - dsb - dv - dz - ee - el - eml - en - eo - es - et - eu - ext - fa - ff - fi - fiu_vro - fj - fo - fr - frp - fur - fy - ga - gan - gd - gl - glk - gn - got - gu - gv - ha - hak - haw - he - hi - hif - ho - hr - hsb - ht - hu - hy - hz - ia - id - ie - ig - ii - ik - ilo - io - is - it - iu - ja - jbo - jv - ka - kaa - kab - kg - ki - kj - kk - kl - km - kn - ko - kr - ks - ksh - ku - kv - kw - ky - la - lad - lb - lbe - lg - li - lij - lmo - ln - lo - lt - lv - map_bms - mdf - mg - mh - mi - mk - ml - mn - mo - mr - mt - mus - my - myv - mzn - na - nah - nap - nds - nds_nl - ne - new - ng - nl - nn - no - nov - nrm - nv - ny - oc - om - or - os - pa - pag - pam - pap - pdc - pi - pih - pl - pms - ps - pt - qu - quality - rm - rmy - rn - ro - roa_rup - roa_tara - ru - rw - sa - sah - sc - scn - sco - sd - se - sg - sh - si - simple - sk - sl - sm - sn - so - sr - srn - ss - st - stq - su - sv - sw - szl - ta - te - tet - tg - th - ti - tk - tl - tlh - tn - to - tpi - tr - ts - tt - tum - tw - ty - udm - ug - uk - ur - uz - ve - vec - vi - vls - vo - wa - war - wo - wuu - xal - xh - yi - yo - za - zea - zh - zh_classical - zh_min_nan - zh_yue - zu -