See also ebooksgratis.com: no banners, no cookies, totally FREE.

CLASSICISTRANIERI HOME PAGE - YOUTUBE CHANNEL
Privacy Policy Cookie Policy Terms and Conditions
รัฐสภาฝรั่งเศส - วิกิพีเดีย

รัฐสภาฝรั่งเศส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ประเทศฝรั่งเศส

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ:
ระบบการปกครองของ
ประเทศฝรั่งเศส



แม่แบบ  พูดคุย  แก้ไข

รัฐสภาฝรั่งเศส (Parlement français) เป็นสถาบันฝ่ายนิติบัญญัติในระบบการปกครองของประเทศฝรั่งเศส โดยยึดระบบสองสภา (Bicamérisme) ซึ่งประกอบไปด้วย

  • สภาสูง (Chambre haute) หรือเรียกว่า วุฒิสภา (Sénat) ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้แทนท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม
  • สภาล่าง (Chambre basse) หรือเรียกว่า สภาผู้แทนราษฎร (Assemblée nationale française) ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งคือชาวฝรั่งเศสทั้งหญิงและชาย มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี และไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามที่กฎหมายกำหนด

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ


ช่วงเวลา รัฐธรรมนูญ สภาเดี่ยว สภาคู่ สภาอื่น
สภาสูง สภาล่าง สภาร่วม
2334
(ค.ศ. 1791)
รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส พ.ศ. 2334
(Constitution de 1791)
สภานิติบัญญัติแห่งชาติฝรั่งเศส
(Assemblée nationale législative)
2336
(ค.ศ. 1793)
รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส พ.ศ. 2336
(Constitution de l'an I)
สมัชชาแห่งชาติ
(Convention nationale)
23382342
(ค.ศ. 1795 - ค.ศ. 1799)
รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส พ.ศ. 2338
(Constitution de l'an III)
สภาอาวุโส
(Conseil des Anciens)
สภาห้าร้อย
(Conseil des Cinq-Cents)
23422345
(ค.ศ. 1799 - ค.ศ. 1802)
รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส พ.ศ. 2342
(Constitution de l'an VIII)
วุฒิสภา
(Sénat)
องค์กรนิติบัญญัติ
(Corps législatif)
ทรีบูนาต์
(Tribunat)
23452347
(ค.ศ. 1802 - ค.ศ. 1804)
รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส พ.ศ. 2345
(Constitution de l'an X)
วุฒิสภา
(Sénat)
องค์กรนิติบัญญัติ
(Corps législatif)
ทรีบูนาต์
(Tribunat)
23472357
(ค.ศ. 1804 - ค.ศ. 1814)
รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส พ.ศ. 2347
(Constitution de l'an XII)
วุฒิสภา
(Sénat)
องค์กรนิติบัญญัติ
(Corps législatif)
23572358
(ค.ศ. 1814 - ค.ศ. 1815
ธรรมนูญฝรั่งเศส พ.ศ. 2357
(Charte de 1814)
สภาขุนนาง
(Chambre des pairs)
สภาผู้แทนราษฎร
(Chambre des députés)
2358
(ค.ศ. 1815)
พระราชกฤษฎีกาประกอบ
รัฐธรรมนูญแห่งจักรวรรดิฝรั่งเศส

(Acte additionnel aux constitutions de l’Empire)
สภาขุนนาง
(Chambre des pairs)
สภาผู้แทนราษฎร
(Chambre des représentants)
23732391
(ค.ศ. 1830 - ค.ศ. 1848)
ธรรมนูญฝรั่งเศส พ.ศ. 2373
(Charte de 1830)
สภาขุนนาง
(Chambre des pairs)
สภาผู้แทนราษฎร
(Chambre des députés)
23912395
(ค.ศ. 1848 - ค.ศ. 1852)
รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส พ.ศ. 2391
(Constitution de 1848)
สภานิติบัญญัติแห่งชาติฝรั่งเศส
(Assemblée nationale législative)
23952413
(ค.ศ. 1852 - ค.ศ. 1870)
รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส พ.ศ. 2395
(Constitution de 1852)
วุฒิสภา
(Sénat)
องค์กรนิติบัญญัติ
(Corps législatif)
สภาที่ปรึกษาแห่งรัฐ
(Conseil d’État)
24142418
(ค.ศ. 1871 - ค.ศ. 1875)
สภาผู้แทนราษฎร
(Assemblée nationale)
24182483
(ค.ศ. 1875 - ค.ศ. 1940)
กฎหมายรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส พ.ศ. 2418
(Lois constitutionnelles de 1875)
วุฒิสภา
(Sénat)
สภาผู้แทนราษฎร
(Chambre des députés)
สภาผู้แทนราษฎร
(Assemblée nationale)
24832487
(ค.ศ. 1940 - ค.ศ. 1944)
กฎหมายรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส พ.ศ. 2483
(Loi constitutionnelle de 1940)
24872489
(ค.ศ. 1944 - ค.ศ. 1946)
คณะรัฐบาลเฉพาะกาล
(Gouvernement provisoire)
สภาผู้แทนราษฎร
(Assemblée constituante)
24892501
(ค.ศ. 1946 - ค.ศ. 1958)
รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส พ.ศ. 2489
(Constitution de 1946)
สภาแห่งสาธารณรัฐ
(Conseil de la République)
สภาผู้แทนราษฎร
(Assemblée nationale)
รัฐสภา
(Parlement)
พ.ศ. 2501
(ค.ศ. 1958 - )
รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส พ.ศ. 2501
(Constitution de 1958)
วุฒิสภา
(Sénat)
สภาผู้แทนราษฎร
(Assemblée nationale)
สภากงแกรส์
Congrès

[แก้] คุณสมบัติต่างๆ

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (Conditions de candidature et d'éligibilité) มีดังนี้

1. คุณสมบัติ (Eligibilité)

บุคคลสัญชาติฝรั่งเศสทั้งเพศหญิงและชายมีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง นอกจากคุณสมบัติดังกล่าวแล้ว ยังต้องไม่เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด

2. ลักษณะต้องห้าม (Inéligibilité)
2.1 ลักษณะต้องห้ามอันเกี่ยวข้องกับลักษณะบุคคล
• อยู่ภายใต้ความคุ้มครอง การควบคุมในทางปกครอง
• ต้องโทษมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
• ถูกประกาศให้เป็นบุคคลล้มละลาย ถูกห้ามมิให้บริหารงานรัฐวิสาหกิจ หรือต้องสะสางบัญชีทรัพย์สินตามคำสั่งศาล
• ไม่ได้เข้ารับการเกณฑ์ทหารตามกฎหมาย
2.2 ลักษณะต้องห้ามอันเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่
ผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งมีผลประโยชน์ที่อาจก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมแก่ผู้สมัครไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภา กฎหมายได้ระบุถึงตำแหน่งหน้าที่ ขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ และระยะเวลาการดำรงตำแหน่งอันมีลักษณะต้องห้ามไว้ ดังนี้
• เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินของสาธารณรัฐในทุกเขตเลือกตั้ง
• เป็นผู้ว่าการจังหวัดซึ่งดำรงตำแหน่งในเขตเลือกตั้งนั้น หรือได้ปฏิบัติหน้าที่นั้นเป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี
• ผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในเขตเลือกตั้งนั้นหรือเคยปฏิบัติหน้าที่นั้นเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน
• เป็นผู้พิพากษา
• เป็นเจ้าหน้าที่ทหารที่ทำหน้าที่บังคับบัญชาในเขตนั้น
• เป็นข้าราชการ ผู้รับผิดชอบด้านงานบริหาร หรือการกำกับดูแลในองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรระดับภาค องค์กรระดับจังหวัดแห่งสาธารณรัฐ

[แก้] การขัดกันแห่งผลประโยชน์

ปาเลส์ บูร์บง (Palais Bourbon) สถานที่ทำการของสภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศส
ปาเลส์ บูร์บง (Palais Bourbon) สถานที่ทำการของสภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศส

การขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Incompatibilités)

[แก้] รูปแบบ

รูปแบบ (Formes) มี 3 รูปแบบดังนี้

1. การขัดกันแห่งผลประโยชน์กับตำแหน่งทางราชการที่มาจากการเลือกตั้ง (Incompatibilités avec les fonctions publiques électives)
ห้ามบุคคลดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ในเวลาเดียวกัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกรัฐสภายุโรป ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ สมาชิกสภาแคว้น สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาปารีส สมาชิกสภาคอร์ซิกา สมาชิกสภาเทศบาล (จำนวนประชากรในเทศบาลต้องมีไม่ต่ำกว่า 3,500 คน)
ในทางตรงกันข้าม สมาชิกรัฐสภาสามารถดำรงตำแหน่งทางบริหารของท้องถิ่นได้ ได้แก่ ประธานสภาภาค ประธานสภาจังหวัด และนายกเทศมนตรี
2. การขัดกันแห่งผลประโยชน์กับตำแหน่งทางราชการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (Incompatibilités avec les fonctions publiques non électives)
สมาชิกรัฐสภาไม่สามารถดำรงตำแหน่งสมาชิกในคณะรัฐบาล ตุลาการรัฐธรรมนูญ สมาชิกคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคม ผู้พิพากษา สมาชิกของคณะกรรมการตุลาการ และข้ารัฐการ (ยกเว้นอาจารย์มหาวิทยาลัย)
อนึ่ง สมาชิกรัฐสภาสามารถปฏิบัติงานชั่วคราวที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลได้ แต่ต้องใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน
3. การขัดกันแห่งผลประโยชน์กับการทำอาชีพอื่น (Incompatibilités avec les autres activités professionnelles)
ห้ามสมาชิกรัฐสภาทำงานในบริษัทบางประเภท เป็นผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจหรือองค์กรของรัฐ (ไม่รวมถึงเป็นกรรมการบริหาร) และบริษัทเอกชนที่ได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ รวมทั้งเป็นทนายฝ่ายตรงข้ามกับรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรภาครัฐ และสมาชิกรัฐสภา

[แก้] การควบคุมและการลงโทษ

การควบคุมและการลงโทษ (Contrôle et sanctions)

สมาชิกรัฐสภาต้องส่งรายงานการดำรงตำแหน่งที่มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ต่อคณะกรรมการบริหาร (Bureau) ของสภาที่ตนสังกัดภายในระยะเวลา 2 เดือน นับแต่วันที่เข้าดำรงตำแหน่งสมาชิกรัฐสภา สมาชิกที่ไม่ได้ส่งรายงานดังกล่าวจะถูกลงโทษขั้นรุนแรง คือ พ้นจากตำแหน่ง

ในกรณีที่มีข้อสงสัย คณะกรรมการบริหารจะแจ้งไปยังคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (Conseil constitutionnel) และอาจรวมไปถึงผู้พิทักษ์ตราแผ่นดิน (Garde de Sceaux)[1] และสมาชิกผู้เกี่ยวข้อง ถ้าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ สมาชิกผู้นั้นจะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหานั้นภายใน 15 วัน หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะประกาศให้สมาชิกผู้นั้นพ้นจากสมาชิกภาพ

ในกรณีที่สมาชิกดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่ง สมาชิกผู้นั้นต้องเลือกว่าจะลาออกจากตำแหน่งใด ภายในเวลา 2 เดือน

เมื่อมีการกระทำสิ่งต้องห้ามในการแก้คดีหรือในนามของสมาชิกรัฐสภา การลงโทษจะเกิดขึ้นทันที โดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะประกาศให้สมาชิกผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งโดยคำร้องขอของคณะกรรมการบริหารหรือผู้พิทักษ์ตราแผ่นดิน

[แก้] ข้อบังคับและข้อห้ามสำหรับสมาชิกรัฐสภา

ปาเลส์ ดู ลูซองบูร์ก (Palais du Luxembourg) สถานที่ทำการของวุฒิสภาฝรั่งเศส
ปาเลส์ ดู ลูซองบูร์ก (Palais du Luxembourg) สถานที่ทำการของวุฒิสภาฝรั่งเศส

ข้อบังคับและข้อห้ามสำหรับสมาชิกรัฐสภา (Obligations et interdictions qui s'appliquent aux députés)

1. ข้อห้ามเฉพาะ (Interdictions spécifiques) ระบุถึงการกระทำใดการกระทำหนึ่งหรือการอยู่ในฐานะใดฐานะหนึ่ง ซึ่งสมาชิกรัฐสภาไม่สามารถปฏิบัติได้ การห้ามดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างคุณธรรมทางการเมือง ดังรายละเอียดต่อไปนี้
• เพื่อป้องกันมิให้ฝ่ายบริหารสัญญาว่าจะให้แก่สมาชิกรัฐสภา สมาชิกรัฐสภาต้องไม่รับเครื่องรัฐอิสริยาภรณ์หรือเหรียญตราใด ๆ ระหว่างการดำรงตำแหน่งสมาชิก
• เพื่อมิให้เกิดความเสื่อมเสียต่อหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา สมาชิกต้องไม่ประชาสัมพันธ์ถึงคุณสมบัติของตนเอง
• เพื่อมิให้กิจการด้านสื่อซึ่งเจ้าของกิจการดำรงตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาถืออ้างสิทธิเรื่องเอกสิทธิ์แห่งสมาชิกรัฐสภาในการหลีกเลี่ยงการถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดด้านสื่อ บริษัทนั้นต้องแต่งตั้งเจ้าของกิจการร่วมซึ่งไม่ได้รับเอกสิทธิ์แห่งสมาชิกรัฐสภา
2. การแสดงทรัพย์สิน (Déclaration de patrimoine) เพื่อความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ สมาชิกรัฐสภาต้องยื่นรายการแสดงทรัพย์สินต่อคณะกรรมการเพื่อความโปร่งใสทางการเงินของผู้มีอาชีพทางการเมือง (Commission pour la transparence financière de la vie politique) ภายในเวลา 2 เดือน นับแต่วันเข้ารับตำแหน่ง และอย่างเร็วภายในเวลา 2 เดือน หรืออย่างช้า 1 เดือนก่อนการสิ้นสุดสมาชิกภาพ
ในกรณีที่สมาชิกไม่ได้ยื่นรายการแสดงทรัพย์สิน คณะกรรมการดังกล่าวจะแจ้งไปยัง คณะกรรมการบริหารของสภาที่สมาชิกผู้นั้นสังกัด ซึ่งจะส่งเรื่องไปยังคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา หากคณะตุลาการรัฐธรรมนูญพบว่าสมาชิกขาดคุณสมบัติจะประกาศให้สมาชิกผู้นั้นพ้นจากสมาชิกภาพ
นอกจากนี้ ถ้าคณะกรรมการเห็นว่าคำชี้แจงของสมาชิกผู้นั้นไม่เหมาะสม คณะกรรมการจะส่งเรื่องดังกล่าวไปยังแผนกอัยการ

[แก้] เอกสิทธิ์และความคุ้มกัน

เอกสิทธิ์และความคุ้มกัน (Immunité parlementaire)

1. เอกสิทธิ์ (Irresponsabilité) : การฟ้องร้อง การติดตาม การจับกุม หน่วงเหนี่ยว กักขังหรือการพิจารณาคดีสมาชิกรัฐสภา เนื่องมาจากการแสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนนในการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกผู้นั้นจะกระทำไม่ได้
2. ความคุ้มกัน (Inviolabilité) : สมาชิกรัฐสภาจะถูกจับกุมหรือถูกดำเนินมาตรการระงับหรือจำกัดเสรีภาพในคดีอาญา ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการบริหารของสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก ยกเว้นในกรณีความผิดอุกฤษโทษ (Crime : เป็นความผิดที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปจนถึงตลอดชีวิต) หรือความผิดซึ่งหน้า หรือการพิจารณาลงโทษอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ ในระหว่างสมัยประชุม สภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกสามารถร้องขอมิให้คุมขัง กระทำการที่ทำให้สูญสิ้นหรือจำกัดอิสรภาพ หรือดำเนินคดีกับสมาชิกรัฐสภาผู้นั้น

[แก้] ค่าตอบแทนของสมาชิกรัฐสภา

ค่าตอบแทนของสมาชิกรัฐสภา (Indemnité parlementaire)

ค่าตอบแทนแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
• ค่าตอบแทนขั้นพื้นฐาน (Indemnité parlementaire de base) กำหนดโดยการอ้างอิงกับเงินเดือนข้าราชการระดับสูงของรัฐ สมาชิกรัฐสภาจะได้รับเงินเป็นจำนวน 5,400.32 ยูโร
• ค่าตอบแทนด้านที่พักอาศัย (Indemnité de résidence) สมาชิกรัฐสภาได้รับเงินค่าที่พักอาศัยคิดเป็นร้อยละ 3 ของค่าตอบแทนขั้นพื้นฐาน หรือคิดเป็นเงิน 162.01 ยูโร
• ค่าตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่ (Indemnité de fonction) สมาชิกรัฐสภาได้รับเงินค่าตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่คิดเป็นร้อยละ 25 ของค่าตอบแทนขั้นพื้นฐาน หรือคิดเป็นเงิน 1,390.58 ยูโร

[แก้] สมัยประชุมของรัฐสภา

สมัยประชุมของรัฐสภา (Session) สามารถแบ่งได้เป็น 2 สมัย ได้แก่

1. สมัยประชุมสามัญ (Session ordinaire)
สมัยประชุมสามัญประจำปี (Session ordinaire annuelle) จะเริ่มในวันทำการแรกของเดือนตุลาคม และสิ้นสุดในวันทำการสุดท้ายของเดือนมิถุนายน มีระยะเวลา 9 เดือน อย่างไรก็ตาม รัฐสภาไม่ได้ทำการประชุมตลอดเวลา 9 เดือน แต่จะประชุมเฉพาะในช่วงสัปดาห์ประชุม (Semaines de séances) ซึ่งกำหนดโดยแต่ละสภาเอง และจะต้องมีวันประชุมไม่เกิน 120 วัน
2. สมัยประชุมวิสามัญ (Session extraordinaire)
รัฐสภาสามารถเปิดการประชุมสมัยวิสามัญได้ตามคำร้องขอของนายกรัฐมนตรี หรือตามมติเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งการเปิดและปิดสมัยประชุมวิสามัญจะกระทำโดยรัฐกฤษฎีกา

[แก้] อำนาจหน้าที่

อำนาจหน้าที่ (Pouvoirs et attributions) มีดังนี้

แบร์นาร์ด อัคโกเยร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศสคนปัจจุบัน
แบร์นาร์ด อัคโกเยร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศสคนปัจจุบัน

[แก้] ด้านนิติบัญญัติ

ด้านนิติบัญญัติ (Pouvoir législatif)

[แก้] ประเภทของกฎหมาย

ประเภทของกฎหมาย (Catégories de lois) มี 3 ประเภทดังนี้

1. กฎหมายที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา (Lois votées par le Parlement)
1.1 กฎหมายทั่วไป (Lois ordinaires) : กฎหมายคือข้อความเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาและประกาศใช้บังคับโดยประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ หรืออาจจะเป็นโดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ข้อความดังกล่าวกำหนดกฎเกณฑ์ในประเด็นเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
• สิทธิพลเมืองและหลักประกันพื้นฐานสำหรับพลเมืองในการใช้เสรีภาพ ตลอดจนการเกณฑ์แรงงานและทรัพย์สินเพื่อการป้องกันประเทศ
• สัญชาติ สถานะและความสามารถทางกฎหมายของบุคคล ระบบกฎหมายว่าด้วยการสมรส การสืบมรดกและการให้โดยเสน่หา
• การกำหนดความผิดอาญาขั้นอุกฤษโทษและมัชฌิมโทษ[2] รวมทั้งการกำหนดโทษสำหรับความผิดดังกล่าว วิธีพิจารณาความอาญา การนิรโทษกรรม การจัดตั้งระบบศาลขึ้นใหม่และสถานภาพของผู้พิพากษา
• ฐานภาษี อัตราและการจัดเก็บภาษีทุกประเภท การออกใช้เงินตรา
• ระบบการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาและสมาชิกสภาท้องถิ่น
• การจัดตั้งประเภทขององค์กรภาครัฐขึ้นใหม่
• หลักประกันขั้นพื้นฐานสำหรับข้ารัฐการพลเรือนและข้ารัฐการทหาร
• การโอนบริษัทเอกชนมาเป็นของรัฐและการโอนทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจไปเป็นของบริษัทเอกชน
นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดหลักการพื้นฐานในเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
• การจัดระเบียบกองทัพ
• การบริหารจัดการที่เป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งอำนาจหน้าที่และรายได้
• การศึกษา
• การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
• ระบบกรรมสิทธิ์ ทรัพยสิทธิและข้อผูกพันทางแพ่งและพาณิชย์
• กฎหมายแรงงาน กฎหมายว่าด้วยสหภาพแรงงานและการประกันสังคม
1.2 กฎหมายรัฐธรรมนูญ (Lois constitutionnelles) : การริเริ่มให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีและของสมาชิกรัฐสภา ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจะต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้ง 2 สภาในเนื้อความเดียวกัน และต้องผ่านการลงประชามติของประชาชน ในกรณีที่ประธานาธิบดีได้พิจารณาแล้วเห็นว่าจะไม่นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาให้ประชาชนลงประชามติ ร่างดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา (Congrès) ด้วยคะแนนเสียง 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกที่ออกเสียง
1.3 กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ (Lois organiques) : สภาที่ได้รับร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเป็นสภาแรกต้องทำการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวภายหลังผ่านพ้นระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่าง ซึ่งร่างกฎหมายจะต้องไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมที่ทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่ทั้ง 2 สภามีความเห็นไม่ตรงกัน ร่างดังกล่าวจะได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาเมื่อสภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ความเห็นชอบในวาระสุดท้ายด้วยคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด ส่วนร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวุฒิสภาจะต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้ง 2 สภาในเนื้อความเดียวกัน

อนึ่ง ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะได้รับการประกาศใช้บังคับก็ต่อเมื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้ประกาศว่าร่างกฎหมายดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

1.4 กฎหมายงบประมาณ (Lois de finances) : ร่างกฎหมายงบประมาณจะต้องเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อน โดยรัฐสภามีเวลาในการพิจารณา 70 วัน (40 วันสำหรับการพิจารณาวาระที่ 1 ของสภาผู้แทนราษฎรและ 20 วัน สำหรับการพิจารณาวาระที่ 1 ของวุฒิสภา) หากรัฐสภาพิจารณาไม่เสร็จภายในเวลาดังกล่าว ร่างกฎหมายดังกล่าวจะถูกประกาศใช้บังคับโดยรัฐกำหนด

แต่ละสภาจะทำการพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณเพียงวาระเดียว จากนั้นรัฐบาลจะตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาในส่วนที่ทั้ง 2 สภายังมีความเห็นไม่ตรงกัน

คริสเตียง ปงเซอเลต์ ประธานวุฒิสภาฝรั่งเศสคนปัจจุบัน
คริสเตียง ปงเซอเลต์ ประธานวุฒิสภาฝรั่งเศสคนปัจจุบัน
1.5 กฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินด้านสวัสดิการสังคม (Lois de financement de la sécurité sociale) : ร่างกฎหมายนี้ต้องเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อน รัฐสภามีเวลาในการพิจารณา 50 วัน (20 วันสำหรับการพิจารณาวาระที่ 1 ของสภาผู้แทนราษฎรและ 15 วัน สำหรับการพิจารณาวาระที่ 1 ของวุฒิสภา) หากรัฐสภาพิจารณาไม่เสร็จภายในเวลาดังกล่าว ร่างกฎหมายนี้จะถูกบังคับใช้โดยรัฐกำหนด
1.6 กฎหมายด้านแผนการดำเนินงาน (Lois de programme) : กฎหมายด้านแผนการดำเนินงานจะกำหนดวัตถุประสงค์ของการดำเนินการทางเศรษฐกิจและสังคมของรัฐในด้านต่าง ๆ เช่น การศึกษาแห่งชาติ และงบประมาณด้านการทหาร เป็นต้น เพื่อใช้ในช่วงระยะเวลาหลายปี (โดยมาก 5 ปี) และวิธีการด้านงบประมาณ
1.7 กฎหมายอนุมัติการให้สัตยาบันสนธิสัญญา (Lois autorisant la ratification des traités) : ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจะให้สัตยาบันสนธิสัญญาหรือข้อตกลงที่มีความสำคัญได้ก็ต่อเมื่อกฎหมายอนุมัติการให้สัตยาบันได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา สนธิสัญญาหรือข้อตกลงดังกล่าว หมายถึง สนธิสัญญาสงบศึก สนธิสัญญาการค้า สนธิสัญญาหรือข้อตกลงเกี่ยวกับองค์การระหว่างประเทศ สนธิสัญญาหรือข้อตกลงที่มีข้อผูกพันต่องบประมาณของรัฐ สนธิสัญญาหรือข้อตกลงที่มีเนื้อหาแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่มีสถานภาพเป็นกฎหมาย สนธิสัญญาหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสถานภาพของบุคคล และสนธิสัญญาและข้อตกลงเกี่ยวกับการยกให้ การแลกเปลี่ยนหรือการผนวกดินแดน
ในการพิจารณาของสภานั้นจะไม่มีการลงมติเนื้อหาของสนธิสัญญาหรือข้อตกลง และจะเสนอการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของสนธิสัญญาไม่ได้ สภาจะลงมติให้ความเห็นชอบ หรือไม่ให้ความเห็นชอบ หรือให้เลื่อนการพิจารณา (Ajournement)
หากคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้รับแจ้งจากประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 60 คน หรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 60 คน พบว่าข้อผูกพันระหว่างประเทศมีข้อความที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ การอนุมัติการให้สัตยาบันหรือการให้ความเห็นชอบข้อผูกพันระหว่างประเทศที่เกิดปัญหาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น
2. กฎหมายที่ไม่ต้องผ่านความเห็นชอบรัฐสภา : กฎหมายที่ต้องมีการออกเสียงลงประชามติ (Lois référendaires)
ร่างกฎหมายที่จะต้องมีการออกเสียงลงประชามติจะต้องมีเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดระเบียบภาครัฐ การปฏิรูปนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมของชาติ หรือเพื่อการอนุมัติสนธิสัญญาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของสถาบันต่าง ๆ และไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
3. กรณีเฉพาะของกฎหมายมอบอำนาจให้ตรารัฐกำหนด (Lois d'habilitation)
รัฐบาลสามารถร้องขอต่อรัฐสภาในการอนุมัติการตรารัฐกำหนดในเรื่องซึ่งปกติแล้วอยู่ในอำนาจการตรากฎหมายของรัฐสภา การอนุมัติจะทำเป็นกฎหมายที่ระบุระยะเวลาของการมอบอำนาจให้ตรารัฐกำหนด วัตถุประสงค์ และขอบเขตในการดำเนินการ

รัฐกำหนดจะตราขึ้นโดยคณะรัฐมนตรี ภายหลังจากที่ได้รับข้อเสนอแนะจากสภาที่ปรึกษาแห่งรัฐ (Conseil d’Etat)[3] และมีผลใช้บังคับตั้งแต่การประกาศในรัฐกิจจานุเบกษา (Journal official) ซึ่งรัฐกำหนดจะใช้ไม่ได้ถ้าไม่มีการเสนอร่างกฎหมายสัตยาบันต่อรัฐสภาก่อนวันที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมายมอบอำนาจให้ตรารัฐกำหนด เมื่อพ้นเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมายมอบอำนาจให้ตรารัฐกำหนดซึ่งได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว จะสามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐกำหนดในประเด็นที่อยู่ในขอบเขตของกฎหมายก็โดยแต่กฎหมายเท่านั้น

[แก้] กระบวนการนิติบัญญัติ

กระบวนการนิติบัญญัติของฝรั่งเศส (Procédure législative) ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนหลัก คือ การเสนอร่างกฎหมาย การพิจารณาของรัฐสภา และการประกาศใช้บังคับกฎหมายโดยประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ

1. การเสนอร่างกฎหมาย (Dépôt du texte) ผู้มีสิทธิเสนอร่างกฎหมาย คือ นายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา โดยร่างกฎหมายที่เสนอโดยนายกรัฐมนตรี เรียกว่า "projet de loi" ส่วนร่างที่เสนอโดยสมาชิกรัฐสภาจะเรียกว่า "proposition de loi"
ฟรองซัวส์ ฟียง นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสคนปัจจุบันขณะอยู่ในรัฐสภา
ฟรองซัวส์ ฟียง นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสคนปัจจุบันขณะอยู่ในรัฐสภา
ก่อนการพิจารณา ร่างกฎหมายจะต้องเข้าสู่กระบวนการเสนอร่างกฎหมาย ดังนี้
• ร่างกฎหมายที่เสนอโดยรัฐบาลจะต้องส่งไปยังสภาที่ปรึกษาแห่งรัฐ ในฐานะที่ปรึกษาของรัฐบาลเพื่อพิจารณาให้ความเห็น และส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาก่อนเสนอเข้าสู่สภา
• ร่างกฎหมายที่เสนอโดยสมาชิกรัฐสภา ต้องไม่ทำให้รายได้ของรัฐลดลงหรือเพิ่มรายจ่ายของรัฐ โดยคณะกรรมการบริหาร (Bureau) ของแต่ละสภาจะเป็นผู้พิจารณาตรวจสอบเรื่องดังกล่าว
ร่างกฎหมายการคลังและร่างกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินด้านสวัสดิการสังคม ต้องเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาก่อน แต่ถ้าเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการจัดโครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเป็นผู้แทนของชาวฝรั่งเศสที่อยู่นอกประเทศต้องเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณาก่อน ส่วนร่างกฎหมายที่ไม่มีลักษณะข้างต้นจะถูกเสนอต่อสภาของผู้ร่างเป็นอันดับแรก อนึ่ง ร่างกฎหมายประกอบด้วย 2 ส่วน กล่าวคือ
• คำแถลงเหตุผล (Exposé des motifs)
• ตัวบทกฎหมาย (Dispositif)
2. การส่งไป-มา ระหว่าง 2 สภา (Navette) ร่างกฎหมายต้องผ่านการพิจารณาจากทั้งสองสภาเพื่อให้ทั้งสองสภาให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาเดียวกัน และเมื่อร่างกฎหมายได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองสภาแล้วจะถือว่าได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
กระบวนการที่จะทำให้เกิดความเห็นชอบของรัฐสภา คือ การส่งร่างกฎหมายไป-มา ระหว่าง 2 สภา โดยแต่ละสภาจะพิจารณาและแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายที่ได้รับความเห็นชอบจากอีกสภาหนึ่ง โดยจะพิจารณาเพียงมาตราที่ทั้งสองสภามีความเห็นไม่ตรงกันเท่านั้น การส่งไป-มาจะสิ้นสุดลง เมื่อสภาให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายที่ได้รับความเห็นชอบจากอีกสภาหนึ่งแล้วโดยไม่มีการแก้ไข ซึ่งการพิจารณาแต่ละครั้งของสภาจะเรียกว่า "วาระ" (lecture)
2.1 การพิจารณาในวาระที่ 1 (Examen en première lecture)
การพิจารณาร่างกฎหมายที่เสนอต่อสภามีขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้ การพิจารณาของคณะกรรมาธิการ การบรรจุระเบียบวาระการประชุม และการพิจารณาในที่ประชุมสภา หลังจากนั้นร่างกฎหมายจะถูกส่งไปยังอีกสภาหนึ่ง ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของการส่งไป-มา
• การพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (Examen en commission)
เมื่อมีการเสนอร่างกฎหมายต่อสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะส่งร่างดังกล่าวไปยังคณะกรรมาธิการโดยพิจารณาจากอำนาจหน้าที่ของแต่ละคณะ ซึ่งอาจจะเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ (Commission spéciale) ที่ตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว แต่โดยมากแล้วคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภา (Commission permanente) คณะใดคณะหนึ่งจะเป็นผู้พิจารณา โดยคณะกรรมาธิการจะแต่งตั้งผู้นำเสนอรายงาน (Rapporteur) เพื่อทำหน้าที่เสนอรายงานในนามของคณะกรรมาธิการ
สรุปผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการจะแตกต่างกันออกไปตามชนิดของร่างกฎหมาย ดังนี้
• รายงานการพิจารณาร่างกฎหมายที่เสนอโดยรัฐบาลซึ่งอีกสภาหนึ่งได้พิจารณาแล้ว หรือร่างกฎหมายทั้งที่เสนอโดยรัฐบาลและสมาชิกรัฐสภา ซึ่งส่งมาจากอีกสภาหนึ่งหลังจากให้ความเห็นชอบโดยมีการแก้ไขหรือไม่แก้ไข หรือไม่ให้ความเห็นชอบ
• สำหรับการพิจารณาร่างกฎหมายที่เสนอโดยสมาชิกสภานั้น คณะกรรมาธิการจะสรุปจากตัวร่างทั้งหมดตามรูปแบบที่จะพิจารณาในที่ประชุมสภา
• การบรรจุระเบียบวาระการประชุม (Inscription à l’ordre du jour)
เพื่อให้มีการพิจารณาในที่ประชุมสภา จะต้องมีการบรรจุร่างกฎหมายเข้าระเบียบวาระการประชุม
รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้รัฐบาลมีสิทธิในการกำหนดระเบียบวาระการประชุมเป็นฝ่ายแรก จากนั้นแต่ละสภามีสิทธิเสนอเรื่องเข้าบรรจุระเบียบวาระการประชุมเพิ่มเติมจากที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ จากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1995 แต่ละสภาสามารถกำหนดระเบียบวาระการประชุมเองได้เดือนละ 1 ครั้ง
• การพิจารณาในที่ประชุมสภา (Examen en séance publique) แบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ดังนี้
• การพิจารณาทั่วไป (Phase d'examen général) : เป็นขั้นตอนการนำเสนอร่างกฎหมาย โดยเริ่มจากการอภิปรายของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ต่อด้วยผู้นำเสนอรายงานของคณะกรรมาธิการ แต่ในกรณีที่เป็นร่างกฎหมายที่เสนอโดยสมาชิกรัฐสภา ผู้นำเสนอรายงานจะเป็นผู้เริ่มอภิปราย
• การพิจารณารายละเอียด (Phase d'examen détaillé)
• การพิจารณารายมาตรา (Examen des articles) : ที่ประชุมจะทำการพิจารณาเรียงตามลำดับมาตราเพื่อพิจารณาการแก้ไขเพิ่มเติมหรือคำแปรญัตติที่ได้เสนอไว้ โดยสมาชิกผู้เสนอการแก้ไขเพิ่มเติมหรือคำแปรญัตติจะชี้แจงต่อที่ประชุม เมื่อเสร็จสิ้นการชี้แจงและการอภิปรายแล้ว ที่ประชุมจะดำเนินการลงมติ
• เมื่อพิจารณาการแปรญัตติแก้ไขเพิ่มเติมเสร็จแล้ว สภาจะลงมติเนื้อหามาตราตามที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมไว้ทีละมาตราจนจบร่าง ซึ่งในช่วงนี้ รัฐบาลหรือคณะกรรมาธิการมีสิทธิร้องขอให้มีการพิจารณาร่างเป็นครั้งที่ 2 โดยอาจจะพิจารณาทั้งร่างหรือบางส่วนก็ได้ จากนั้นประธานในที่ประชุมจะสั่งให้ลงมติร่างกฎหมายซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมแล้วทั้งร่าง
2.2 การส่งร่างกฎหมายและการพิจารณาในวาระต่อไป (Transmission et lectures successives)
เมื่อสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายแล้ว ร่างกฎหมายจะถูกส่งไปยังอีกสภาเพื่อพิจารณา ถ้าหากสภาที่ 2 มีมติให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายโดยไม่มีการแก้ไข ก็จะถือว่าร่างกฎหมายได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ในกรณีตรงกันข้าม สภาที่ 2 มีมติไม่ให้ความเห็นชอบ ก็จะเกิดกระบวนการส่งไป-มาระหว่าง 2 สภา ตั้งแต่การพิจารณาในวาระที่ 2 จะเป็นการพิจารณามาตราที่ทั้ง 2 สภามีความเห็นไม่ตรงกันเท่านั้น การส่งไป-มา จะดำเนินไปเรื่อย ๆ ในวาระที่ 2 วาระที่ 3 จนถึงวาระที่ 40 หรือมากกว่านั้น ตราบเท่าที่ยังมีมาตราที่ทั้ง 2 สภา มีความเห็นไม่ตรงกันอยู่ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับปี 1958 ได้กำหนดให้มีกระบวนการไกล่เกลี่ยซึ่งช่วยให้รัฐบาลสามารถเร่งการให้ความเห็นชอบของรัฐสภาได้โดยการทำให้การส่งไป-มาสิ้นสุดลง
3. กระบวนการไกล่เกลี่ย : คณะกรรมาธิการร่วมกัน (Procédure de conciliation : Commission mixte paritaire) ภายหลังการพิจารณาในวาระที่ 2 ของแต่ละสภา หรือในวาระที่ 1 ในกรณีที่รัฐบาลแจ้งว่าเป็นเรื่องด่วน กระบวนการไกล่เกลี่ยจะเกิดขึ้น โดยการประชุมของคณะกรรมาธิการร่วมกัน (Commission mixte paritaire : CMP) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 7 คน และสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 7 คน
คณะกรรมาธิการร่วมกันจะแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร (Bureau) ประกอบด้วย ประธาน (โดยธรรมเนียมแล้ว จะเป็นประธานของคณะกรรมาธิการซึ่งพิจารณาร่างกฎหมายของสภาที่ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน) รองประธาน (ซึ่งเป็นประธานของคณะกรรมาธิการซึ่งพิจารณาร่างกฎหมายของอีกสภา) และผู้นำเสนอรายงาน 2 คน โดยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คน และสมาชิกวุฒิสภา 1 คน (โดยปกติแล้วมักจะเป็นผู้นำเสนอรายงานของคณะกรรมาธิการซึ่งพิจารณาร่างกฎหมายของแต่ละสภา)
ในการพิจารณา คณะกรรมาธิการร่วมกันจะหาข้อไกล่เกลี่ยในทุกมาตราที่ยังมีปัญหาซึ่งคณะสามารถนำร่างมาตราที่สภาใดสภาหนึ่งให้ความเห็นชอบแล้วมาพิจารณา หรือยกร่างมาตราใหม่ก็ได้ หลังจากพิจารณาเสร็จแล้ว คณะกรรมาธิการร่วมกันจะจัดทำรายงาน ซึ่งแสดงร่างมาตราที่คณะได้ยกร่างและให้ความเห็นชอบแล้ว หรือในกรณีตรงกันข้าม แสดงเหตุผลของความไม่สำเร็จของการไกล่เกลี่ย
ผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมกันมีหลายรูปแบบ ดังนี้
• คณะกรรมาธิการร่วมกันสามารถจัดทำร่างที่ทั้ง 2 สภายอมรับได้
หากแต่ละสภาให้ความเห็นชอบร่างของคณะกรรมาธิการร่วมกันที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมเหมือนกันแล้ว เท่ากับว่ากระบวนการไกล่เกลี่ยประสบความสำเร็จ และร่างกฎหมายได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
• ความล้มเหลวของกระบวนการไกล่เกลี่ย : สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ชี้ขาด
ถ้าร่างของคณะกรรมาธิการร่วมกันไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาใดสภาหนึ่ง หรือถ้าคำแปรญัตติแก้ไขเพิ่มเติมร่างของคณะกรรมาธิการร่วมกันที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาหนึ่ง แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากอีกสภาหนึ่ง เท่ากับว่าเกิดความล้มเหลวของกระบวนการไกล่เกลี่ย ความล้มเหลวนี้หมายรวมถึงการที่คณะกรรมาธิการร่วมกันไม่สามารถจัดทำร่างกฎหมายเพื่อให้ทั้ง 2 สภาพิจารณาได้ ในกรณีล้มเหลว รัฐบาลสามารถร้องขอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงมติชี้ขาดได้
กระบวนการดังกล่าวมี 3 ขั้นตอนตามลำดับ ดังนี้ วาระการพิจารณาครั้งใหม่ของสภาผู้แทนราษฎร วาระการพิจารณาครั้งใหม่ของวุฒิสภา และวาระการพิจารณาชี้ขาดของสภาผู้แทนราษฎร
ในวาระการพิจารณาครั้งใหม่ สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาร่างสุดท้ายที่สภาได้ให้ความเห็นชอบก่อนกระบวนการไกล่เกลี่ย ในกรณีร่างที่เสนอต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณาเป็นสภาแรก สภาผู้แทนราษฎรจะนำร่างที่วุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบแล้วมาพิจารณาอีกครั้ง ร่างกฎหมายที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรจะถูกส่งไปวุฒิสภาเพื่อพิจารณา ถ้าวุฒิสภาให้ความเห็นชอบโดยไม่มีการแก้ไขเท่ากับว่าร่างกฎหมายได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ในกรณีตรงกันข้าม ร่างกฎหมายจะถูกส่งไปสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาชี้ขาด
ในการพิจารณาชี้ขาด สภาผู้แทนราษฎรจะลงมติเสียงข้างมากให้กับร่างกฎหมายที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการร่วมกัน (ถ้ามี) หรือร่างสุดท้ายที่สภาผู้แทนราษฎรได้ให้ความเห็นชอบไปในวาระการพิจารณาครั้งใหม่ ในกรณีหลัง สภาสามารถให้ความเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมซึ่งวุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบในวาระการพิจารณาครั้งใหม่เท่านั้น
4. การบล็อกโหวต (Vote bloqué)
การบล็อกโหวต เป็นกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ รัฐบาลสามารถร้องขอต่อสภาใดสภาหนึ่งให้ทำการลงมติร่างกฎหมายทั้งร่างหรือเพียงบางส่วนเพียงครั้งเดียว โดยยึดเฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติมที่รัฐบาลเสนอหรือให้ความเห็นชอบเท่านั้น
รัฐบาลเป็นผู้มีอำนาจอย่างมากในการใช้กระบวนการนี้ กล่าวคือ รัฐบาลมีอิสระในการเลือกเวลาที่จะใช้กระบวนการนี้ รัฐบาลเป็นผู้กำหนดร่างที่จะให้ลงมติเพียงครั้งเดียว ซึ่งอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของร่างกฎหมาย (1 มาตราหรือหลายมาตรา) หรือทั้งร่าง อีกทั้งรัฐบาลยังเป็นผู้ตัดสินว่าจะให้

ยึดการแก้ไขเพิ่มเติมใด

วัตถุประสงค์ของการใช้กระบวนการนี้ คือ เพื่อตัดขั้นตอนการลงมติการแก้ไขเพิ่มเติมและมาตราที่มีการแก้ไข แต่กระบวนการนี้ต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการอภิปรายในทุกมาตราและการแปรญัตติแก้ไขเพิ่มเติมที่ได้รายงานไว้ รวมไปถึงคำแปรญัตติแก้ไขเพิ่มเติมที่รัฐบาลได้เลือกไว้
5. การประกาศใช้บังคับกฎหมาย (Promulgation de la loi)
พระราชวังแวร์ซายส์ สถานที่ทำการที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาฝรั่งเศส
พระราชวังแวร์ซายส์ สถานที่ทำการที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาฝรั่งเศส
5.1 การประกาศใช้บังคับ (Promulgation)
ตามหลักการแล้ว เมื่อร่างกฎหมายได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ขั้นตอนทางรัฐสภาในกระบวนการพิจารณากฎหมายก็เสร็จสิ้นลง และเป็นการเริ่มต้นขั้นตอนการประกาศใช้บังคับกฎหมาย
ร่างกฎหมายที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้วจะถูกส่งไปยังรัฐบาลซึ่งจะส่งร่างกฎหมายดังกล่าวไปยังประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐที่มีอำนาจในการประกาศใช้บังคับกฎหมายเพื่อลงนาม ประธานาธิบดีต้องประกาศใช้บังคับกฎหมายภายในเวลา 15 วัน จากนั้นกฎหมายจะถูกประกาศในรัฐกิจจานุเบกษา (Journal officiel) แห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส
อย่างไรก็ตาม การประกาศใช้บังคับกฎหมายอาจล่าช้าหรือเกิดปัญหาติดขัดได้ใน 2 กรณี คือ การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (Constitutionalité) และการพิจารณากฎหมายครั้งใหม่
5.2 ผลของการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (Effets du contrôle de constitutionnalité)
คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (Conseil constitutionnel) มีหน้าที่ในการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว
• การวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (Saisine du Conseil constitutionnel)
การควบคุมนี้จะใช้กับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ (Lois organiques) ส่วนกฎหมายทั่วไปจะใช้วิธีนี้ได้ก็ต่อเมื่อมีการร้องขอจากประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ นายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 60 คนหรือสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 60 คน
กระบวนการประกาศใช้บังคับกฎหมายจะหยุดลงเมื่อมีการวินิจฉัยดังกล่าวเกิดขึ้น คณะตุลาการรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยให้เสร็จภายใน 1 เดือน หรือ 1 สัปดาห์ ในกรณีที่รัฐบาลร้องขอ
• ผลการวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (Effets des décisions du Conseil constitutionnel)
เมื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญประกาศว่ากฎหมายฉบับนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงสามารถประกาศใช้บังคับกฎหมายได้
ในทางตรงกันข้าม คำวินิจฉัยที่ประกาศว่าร่างกฎหมายทั้งร่างขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเป็นอุปสรรคต่อการประกาศใช้บังคับ วิธีแก้ปัญหาวิธีเดียว คือ การกลับไปเริ่มต้นการพิจารณาใหม่ ยกเว้นกรณีที่หลักการของความไม่สอดคล้องนั้นก่อให้เกิดอุปสรรคที่ยอมรับได้ เช่น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นการล่วงหน้า เป็นต้น
อนึ่ง คณะตุลาการรัฐธรรมนูญสามารถวินิจฉัยว่ากฎหมายชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพียงบางส่วนได้ ในกรณีนี้ กฎหมายจะถูกประกาศใช้ โดยยกเว้นส่วนที่ประกาศว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
5.3 การพิจารณาครั้งใหม่ ซึ่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเป็นผู้ร้องขอ (Nouvelle délibération demandée par le Président de la République)
ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสามารถร้องขอต่อรัฐสภาให้มีการพิจารณาใหม่ก่อนพ้นกำหนด 15 วันในการประกาศใช้บังคับกฎหมาย ซึ่งต้องประกาศเป็นรัฐกฤษฎีกาและมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับคำสั่ง

[แก้] ด้านการควบคุมรัฐบาล

ด้านการควบคุมรัฐบาล (Pouvoir de contrôle) มีวิธีการ 7 วิธีดังนี้

1. การตั้งกระทู้ถาม (Questions) สมาชิกรัฐสภาสามารถตั้งกระทู้ถามรัฐบาลเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ได้ โดยมีรูปแบบดังนี้
1.1 กระทู้ถามที่เป็นลายลักษณ์อักษร (Questions écrites)
สมาชิกรัฐสภาสามารถตั้งกระทู้ถามที่เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อถามรัฐมนตรีเกี่ยวกับการปฏิบัติงานเป็นรายบุคคล โดยในการตั้งกระทู้นั้น สมาชิกผู้นั้นต้องเสนอกระทู้ต่อประธานสภาเพื่อแจ้งไปยังรัฐบาล ซึ่งกระทู้ถามที่เป็นลายลักษณ์อักษรจะได้รับการประกาศในส่วนพิเศษของรัฐกิจจานุเบกษา และรัฐมนตรีต้องตอบในรัฐกิจจานุเบกษาภายในเวลา 2 เดือน นับแต่วันที่กระทู้ถามได้รับการประกาศในรัฐกิจจานุเบกษา
1.2 กระทู้ถามด้วยวาจา (Questions orales)
สมาชิกรัฐสภาสามารถตั้งกระทู้ถามด้วยวาจาเพื่อถามรัฐมนตรี โดยในการตั้งกระทู้นั้น สมาชิกต้องเสนอต่อประธานสภาที่สมาชิกผู้นั้นสังกัดเพื่อแจ้งไปยังรัฐบาล อนึ่ง แต่ละสภาจะดำเนินการพิจารณากระทู้ถามด้วยวาจาตามรูปแบบที่ได้กำหนดไว้ของแต่ละสภา
1.3 กระทู้ถามสดเกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบัน (Questions d'actualité au gouvernement)
สมาชิกสามารถตั้งกระทู้ถามสดถามรัฐบาลเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศฝรั่งเศสและต่างประเทศได้ โดยในการตั้งกระทู้ถามสดนั้น รัฐบาลจะไม่ได้รับทราบเนื้อหาของกระทู้ จะได้รับทราบเพียงชื่อของผู้ตั้งกระทู้ถามเท่านั้น
2. การรับฟังข้อมูล (Auditions) คณะกรรมาธิการสามัญ (หรือคณะกรรมาธิการวิสามัญ) สามารถเรียกบุคคลมาชี้แจง โดยผู้ไม่ไปชี้แจงจะถูกปรับ 7,500 ยูโร เป็นการลงโทษ
3. คณะทำงานด้านข้อมูล (Missions d'information) คณะกรรมาธิการสามัญสามารถจัดตั้งคณะทำงานด้านข้อมูลเพื่อทำหน้าที่หาข้อมูลในด้านต่าง ๆ และจัดทำรายงานด้านข้อมูล (Rapports d'information) เสนอต่อคณะกรรมาธิการ
4. การตั้งคณะกรรมาธิการสอบสวน (Commission d'enquête) การตั้งคณะกรรมาธิการสอบสวนเป็นวิธีการควบคุมการทำงานของรัฐบาลวิธีหนึ่งของสภาซึ่งคณะกรรมาธิการสอบสวนนี้จะช่วยให้สมาชิกในคณะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารงานภาครัฐและเหตุการณ์ที่มีความสำคัญ โดยหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลจะสิ้นสุดลงเมื่อได้นำเสนอรายงาน หรืออย่างช้าที่สุดเมื่อพ้นระยะเวลา 6 เดือนนับแต่วันที่มีมติตั้ง
5. การควบคุมงบประมาณ (Contrôle budgétaire) คณะกรรมาธิการการคลังของแต่ละสภามีหน้าที่ในการติดตามและควบคุมการบังคับใช้กฎหมายทางการคลังและประเมินผลทางด้านการคลังสาธารณะโดยมีอำนาจในการสืบสวนสอบสวน กล่าวคือ การควบคุมด้านสถานที่ สิทธิในการได้รับเอกสารข้อมูล (การควบคุมด้านเอกสาร) และอำนาจในการรับฟังข้อมูลจากบุคคลที่เห็นว่าจำเป็น
6. การควบคุมการบังคับใช้กฎหมาย (Contrôle de l'application des lois) คณะกรรมาธิการสามัญแต่ละคณะของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสามารถทำการติดตามผลการบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะ
7. งานด้านการประเมินผลและการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ (Travaux d'évaluation et d'expertise)
7.1 วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science et technologie)
หน่วยงานประเมินผลของทางเลือกด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของรัฐสภา (Office parlementaire d'évaluation des choix scientifiques et technologiques : OPECST) มีภารกิจในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลของทางเลือกด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่รัฐสภาเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ เพื่อให้ไปตามภารกิจดังกล่าว หน่วยงานจะรวบรวมข้อมูลดำเนินการตามแผนการพิจารณาและทำการประเมินผล
หน่วยงานนี้ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 18 คน และสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 18 คน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากกลุ่มการเมืองตามสัดส่วน ผู้ที่สามารถเสนอให้ตั้งหน่วยงานนี้ได้คือ คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมาธิการ (ทั้งสามัญและวิสามัญ) ของสภาใดสภาหนึ่ง ประธานกลุ่มการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 60 คน หรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 40 คน
7.2 ด้านสาธารณสุข (Santé)
หน่วยงานประเมินผลของนโยบายด้านสาธารณสุขของรัฐสภา (Office parlementaire d'évaluation des politiques de santé) มีหน้าที่ในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลของทางเลือกด้านสาธารณสุขแก่รัฐสภาเพื่อเป็นการสนับสนุนการติดตามการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินด้านสวัสดิการสังคม
หน่วยงานนี้ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 24 คน โดยเป็นประธานของคณะกรรมาธิการที่รับผิดชอบงานด้านกิจการสังคมของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ผู้นำเสนอรายงานของคณะกรรมาธิการที่รับผิดชอบเรื่องการประกันสุขภาพตามกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินด้านสวัสดิการสังคม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 10 คน และสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 10 คน
7.3 ด้านการตรากฎหมาย (Législation)
หน่วยงานประเมินผลด้านการตรากฎหมายของรัฐสภา (Office parlementaire d'évaluation de la législation) ตั้งขึ้นจากการริเริ่มของรัฐสภาและเป็นการดำเนินการในการปฏิรูปการทำงานของรัฐสภา หน่วยงานนี้ประกอบด้วยผู้แทนจาก 2 ฝ่าย คือ ผู้แทนจากสภาผู้แทนราษฎรและผู้แทนจากวุฒิสภา
หน่วยงานนี้มีหน้าที่รับผิดชอบในการรวบรวมข้อมูลและดำเนินการศึกษาเพื่อประเมินความเหมาะสมของการนำกฎหมายไปใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ โดยไม่กระทบกระเทือนอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา รวมทั้งแต่งตั้งคณะทำงานในการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ
7.4 การวางแผน (Planification)

คณะผู้แทนเพื่อการวางแผนของรัฐสภา (Délégation parlementaire pour la planification) ได้รับการจัดตั้งขึ้นทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มีหน้าที่ในการให้ข้อมูลด้านการร่างและปฏิบัติตามแผนต่อรัฐสภาซึ่งต้องมีการรับฟังข้อมูล การขอเอกสารที่จำเป็นจากรัฐบาลและจัดเตรียมรายงานข้อมูล

7.5 สิทธิสตรี (Droits des femmes)

คณะผู้แทนด้านสิทธิสตรีและความเท่าเทียมกันทางโอกาสระหว่างชายและหญิงของรัฐสภา (Délégation parlementaire aux droits des femmes et à l'égalité des chances entre les hommes et les femmes) จัดตั้งขึ้นในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยคณะผู้แทนแต่ละคณะประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 36 คน มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลของนโยบายรัฐบาลที่มีต่อความเท่าเทียมกันทางโอกาสระหว่างชายและหญิงต่อรัฐสภาในส่วนที่เกี่ยวกับความเท่าเทียมกันด้านโอกาสระหว่างชายและหญิง และติดตามการใช้บังคับกฎหมาย

7.6 การบริหารจัดการท้องถิ่น (Aménagement des territoires)
คณะผู้แทนด้านการบริหารจัดการและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของท้องถิ่นของรัฐสภา (Délégation parlementaire à l'aménagement et au développement durable du territoire) ตั้งขึ้นในทั้ง 2 สภา
คณะผู้แทนแต่ละคณะประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 15 คน มีหน้าที่ในการประเมินแนวนโยบายด้านการบริหารจัดการและการพัฒนาท้องถิ่นและให้ข้อมูลด้านการร่างและปฏิบัติตามแบบแผนของการบริการสาธารณะแก่รัฐสภา
คณะผู้แทนแต่ละคณะจะให้ความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐกฤษฎีกาที่ได้ปฏิบัติตามแผนแม่บทตามที่รัฐบาลร้องขอ

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะมีตำแหน่งสำคัญอีกตำแหน่งซึ่งมีการเรียกควบคู่กันไปกับชื่อตำแหน่งคือผู้พิทักษ์ตราแผ่นดิน (Garde de Sceaux)
  2. ^ ความผิดประเภทอุกฤษโทษหมายถึงความผิดที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปจนถึงตลอดชีวิต ส่วนความผิดประเภทมัชฌิมโทษได้แก่ความผิดที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2 เดือนถึง 5 ปี
  3. ^ สภาที่ปรึกษาแห่งรัฐ (Conseil d’Etat) ทำหน้าที่ 2 ด้าน คือ เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลโดยเป็นผู้พิจารณาร่างกฎหมาย ร่างรัฐกำหนดรวมถึงร่างรัฐกฤษฎีกา ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี โดยเป็นผู้ให้ความเห็นชอบเนื้อหาร่างกฎหมาย รูปแบบและความเป็นไปได้ในการนำไปใช้ และทำหน้าที่เป็นศาลปกครองสูงสุดพิจารณาข้อพิพาททางปกครอง

[แก้] แหล่งข้อมูล


aa - ab - af - ak - als - am - an - ang - ar - arc - as - ast - av - ay - az - ba - bar - bat_smg - bcl - be - be_x_old - bg - bh - bi - bm - bn - bo - bpy - br - bs - bug - bxr - ca - cbk_zam - cdo - ce - ceb - ch - cho - chr - chy - co - cr - crh - cs - csb - cu - cv - cy - da - de - diq - dsb - dv - dz - ee - el - eml - en - eo - es - et - eu - ext - fa - ff - fi - fiu_vro - fj - fo - fr - frp - fur - fy - ga - gan - gd - gl - glk - gn - got - gu - gv - ha - hak - haw - he - hi - hif - ho - hr - hsb - ht - hu - hy - hz - ia - id - ie - ig - ii - ik - ilo - io - is - it - iu - ja - jbo - jv - ka - kaa - kab - kg - ki - kj - kk - kl - km - kn - ko - kr - ks - ksh - ku - kv - kw - ky - la - lad - lb - lbe - lg - li - lij - lmo - ln - lo - lt - lv - map_bms - mdf - mg - mh - mi - mk - ml - mn - mo - mr - mt - mus - my - myv - mzn - na - nah - nap - nds - nds_nl - ne - new - ng - nl - nn - no - nov - nrm - nv - ny - oc - om - or - os - pa - pag - pam - pap - pdc - pi - pih - pl - pms - ps - pt - qu - quality - rm - rmy - rn - ro - roa_rup - roa_tara - ru - rw - sa - sah - sc - scn - sco - sd - se - sg - sh - si - simple - sk - sl - sm - sn - so - sr - srn - ss - st - stq - su - sv - sw - szl - ta - te - tet - tg - th - ti - tk - tl - tlh - tn - to - tpi - tr - ts - tt - tum - tw - ty - udm - ug - uk - ur - uz - ve - vec - vi - vls - vo - wa - war - wo - wuu - xal - xh - yi - yo - za - zea - zh - zh_classical - zh_min_nan - zh_yue - zu -