ฟิล์ม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฟิล์มถ่ายภาพ เป็นแถบวัสดุทำจากพลาสติก (โพลีเอสเตอร์, เซลลูลอยด์ หรือเซลลูโลสอะซิเตด) เคลือบด้วยสารเคมีที่มีส่วนผสมของเกลือเงินไวแสง ที่มีขนาดของผลึกแตกต่างกันตามค่าความไวแสงหรือความละเอียดของเนื้อฟิล์ม เมื่อสารเคมีที่เคลือบไว้ถูกกับแสง (หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าบางชนิด เช่น รังสีเอกซ์) จะทำให้เกิดภาพปรากฏขึ้นบนแผ่นฟิล์ม โดยจะเป็นภาพที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า จำเป็นต้องผ่านกระบวนการล้างฟิล์ม เพื่อให้ภาพที่ได้ปรากฏให้เห็น
ฟิล์มขาวดำจะมีสารเคมีเคลือบไว้ชั้นเดียว เมื่อผ่านการล้างฟิล์มแล้วเกลือเงินจะเปลี่ยนรูปเป็นโลหะเงินทึบแสง ซึ่งจะปรากฏเป็นส่วนสีดำของเนกาทีฟ
ฟิล์มสีจะมีชั้นของสารเคมีอย่างน้อยสามชั้น โดยแต่ละชั้นจะไวต่อแสงต่างสีกัน ชั้นบนสุดเป็นชั้นที่ไวต่อแสงสีน้ำเงิน ชั้นต่ำต่อมาไวต่อแสงสีเขียวและแดงตามลำดับ
[แก้] ประเภทของฟิล์ม
ฟิล์มทั่วไปมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่
- ฟิล์มสี (Print film) เมื่อผ่านการล้าง เนกาทีฟที่ได้จะมีสีกลับด้าน (สีดำมองเห็นเป็นสีขาว สีขาวมองเห็นเป็นสีดำ) ถ้าต้องการเห็นภาพที่มีสีถูกต้อง จะต้องนำไปอัดลงบนกระดาษอัดภาพ ในที่นี้หมายถึงทั้งฟิล์มสำหรับถ่ายภาพสีและถ่ายภาพขาวดำ
- ฟิล์มสไลด์ (Reversal film) เมื่อผ่านการล้าง จะได้แผ่นใสที่มีสีตรงตามความเป็นจริง สามารถส่องดูผ่านแสงได้เลย นิยมใช้ในอุตสาหกรรมการพิมพ์ โดยช่างภาพมืออาชีพ เนื่องจากให้สีสันที่ถูกต้องครบถ้วนกว่าฟิล์มสี
[แก้] ขนาดของฟิล์ม
- ฟิล์ม 35 มม.
- ฟิล์มเอพีเอส (Advanced Photo System)
- ฟิล์ม 120/220
- ฟิล์ม 110
- ฟิล์มแผ่น
[แก้] บริษัทผลิตฟิล์ม
- อักฟ่า
- ฟูจิฟิล์ม
- Ilford
- โกดัก
- โคนิก้า
- โพลารอยด์